ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๖ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๖ [ฉบับมหาจุฬาฯ] จุลวรรค ภาค ๑

หน้าที่ ๓๓๘-๓๔๔.


                                                                 พระวินัยปิฎก จูฬรรค [๔. สมถขันธกะ]

                                                                 ๘. อธิกรณะ

วาจา
อนึ่ง วาจาเป็นมูลแห่งอนุวาทาธิกรณ์ เป็นไฉน ในกรณีนี้ ภิกษุบางรูปเป็นคนพูดไม่ดี พูดไม่ชัด พูดระราน ภิกษุทั้งหลายย่อม โจทภิกษุนั้นด้วยวาจาใด วาจานี้เป็นมูลแห่งอนุวาทาธิกรณ์
มูลแห่งอาปัตตาธิกรณ์
[๒๑๘] อะไรเป็นมูลแห่งอาปัตตาธิกรณ์ สมุฏฐานแห่งอาบัติ ๖ อย่าง เป็นมูลแห่งอาปัตตาธิกรณ์ คือ ๑. อาบัติเกิดทางกาย ไม่ใช่ทางวาจา ไม่ใช่ทางจิตก็มี ๒. อาบัติเกิดทางวาจา ไม่ใช่ทางกาย ไม่ใช่ทางจิตก็มี ๓. อาบัติเกิดทางกายกับวาจา ไม่ใช่ทางจิตก็มี ๔. อาบัติเกิดทางกายกับจิต ไม่ใช่ทางวาจาก็มี ๕. อาบัติเกิดทางวาจากับจิต ไม่ใช่ทางกายก็มี ๖. อาบัติเกิดทางกาย วาจา กับจิตก็มี สมุฏฐานแห่งอาบัติ ๖ อย่างเหล่านี้ เป็นมูลแห่งอาปัตตาธิกรณ์
มูลแห่งกิจจาธิกรณ์
[๒๑๙] อะไรเป็นมูลแห่งกิจจาธิกรณ์ สงฆ์เป็นมูลเดียวแห่งกิจจาธิกรณ์ [๒๒๐] วิวาทาธิกรณ์เป็นกุศล อกุศล หรืออัพยากฤต วิวาทาธิกรณ์เป็นกุศล ก็มี เป็นอกุศลก็มี เป็นอัพยากฤตก็มี บรรดาวิวาทาธิกรณ์นั้น วิวาทาธิกรณ์ เป็นกุศล เป็นไฉน ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุทั้งหลายมีจิตเป็นกุศล วิวาทกันว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๖ หน้า : ๓๓๘}

                                                                 พระวินัยปิฎก จูฬรรค [๔. สมถขันธกะ]

                                                                 ๘. อธิกรณะ

๑. นี้ธรรม นี้อธรรม ฯลฯ ๙. นี้อาบัติชั่วหยาบ นี้อาบัติไม่ชั่วหยาบ ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง ความวิวาท การกล่าวต่างกัน การกล่าวโดยประการอื่น การพูดเพื่อความกลัดกลุ้มใจ ความหมายมั่นในเรื่องนั้นใด นี้เรียกว่า วิวาทาธิกรณ์เป็นกุศล บรรดาวิวาทาธิกรณ์นั้น วิวาทาธิกรณ์เป็นอกุศล เป็นไฉน ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุทั้งหลายมีจิตเป็นอกุศล วิวาทกันว่า ๑. นี้ธรรม นี้อธรรม ฯลฯ ๙. นี้อาบัติชั่วหยาบ นี้อาบัติไม่ชั่วหยาบ ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง ความวิวาท การกล่าวต่างกัน การกล่าวโดยประการอื่น การพูดเพื่อความกลัดกลุ้มใจ ความหมายมั่น ในเรื่องนั้นใด นี้เรียกว่า วิวาทาธิกรณ์เป็นอกุศล บรรดาวิวาทาธิกรณ์นั้น วิวาทาธิกรณ์เป็นอัพยากฤต เป็นไฉน ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุทั้งหลายมีจิตเป็นอัพยากฤต วิวาทกันว่า ๑. นี้ธรรม นี้อธรรม ฯลฯ ๙. นี้อาบัติชั่วหยาบ นี้อาบัติไม่ชั่วหยาบ ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง ความวิวาท การกล่าวต่างกัน การกล่าวโดยประการอื่น การพูดเพื่อความกลัดกลุ้มใจ ความหมายมั่น ในเรื่องนั้นใด นี้เรียกว่า วิวาทาธิกรณ์เป็นอัพยากฤต {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๖ หน้า : ๓๓๙}

                                                                 พระวินัยปิฎก จูฬรรค [๔. สมถขันธกะ]

                                                                 ๘. อธิกรณะ

[๒๒๑] อนุวาทาธิกรณ์ เป็นกุศล อกุศล อัพยากฤตหรือ อนุวาทาธิกรณ์ เป็นกุศลก็มี เป็นอกุศลก็มี เป็นอัพยากฤตก็มี บรรดาอนุวาทาธิกรณ์นั้น อนุวาทาธิกรณ์ที่เป็นกุศล เป็นไฉน ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ ภิกษุทั้งหลาย เป็นผู้มีจิตเป็นกุศล ย่อมโจทภิกษุ ด้วยสีลวิบัติ อาจารวิบัติ ทิฏฐิวิบัติ หรืออาชีววิบัติ การโจท การกล่าวหา การ ฟ้องร้อง การประท้วง ความเป็นผู้คล้อยตาม การทำความอุตสาหะโจท การตาม เพิ่มกำลังให้ ในเรื่องนั้นใด นี้เรียกว่า อนุวาทาธิกรณ์เป็นกุศล บรรดาอนุวาทาธิกรณ์นั้น อนุวาทาธิกรณ์ที่เป็นอกุศล เป็นไฉน ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ ภิกษุทั้งหลาย เป็นผู้มีจิตเป็นอกุศล ย่อมโจท ภิกษุด้วยสีลวิบัติ อาจารวิบัติ ทิฏฐิวิบัติ หรืออาชีววิบัติ การโจท การกล่าวหา การฟ้องร้อง การประท้วง ความเป็นผู้คล้อยตาม การทำความอุตสาหะโจท การ ตามเพิ่มกำลังให้ ในเรื่องนั้นใด นี้เรียกว่า อนุวาทาธิกรณ์เป็นอกุศล บรรดาอนุวาทาธิกรณ์นั้น อนุวาทาธิกรณ์ที่เป็นอัพยากฤต เป็นไฉน ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ ภิกษุทั้งหลายเป็นผู้มีจิตเป็นอัพยากฤต ย่อมโจท ภิกษุด้วยสีลวิบัติ อาจารวิบัติ ทิฏฐิวิบัติ หรืออาชีววิบัติ การโจท การกล่าวหา การฟ้องร้อง การประท้วง ความเป็นผู้คล้อยตาม การทำความอุตสาหะโจท การ ตามเพิ่มกำลังให้ ในเรื่องนั้นใด นี้เรียกว่า อนุวาทาธิกรณ์เป็นอัพยากฤต [๒๒๒] อาปัตตาธิกรณ์เป็นอกุศล หรืออัพยากฤต อาปัตตาธิกรณ์เป็น อกุศลก็มี เป็นอัพยากฤตก็มี อาปัตตาธิกรณ์เป็นกุศลไม่มี บรรดาอาปัตตาธิกรณ์นั้น อาปัตตาธิกรณ์ที่เป็นอกุศล เป็นไฉน ภิกษุรู้อยู่ เข้าใจอยู่ จงใจ ฝ่าฝืน ล่วงละเมิดอาบัติใด นี้เรียกว่า อาปัตตาธิกรณ์ เป็นอกุศล บรรดาอาปัตตาธิกรณ์นั้น อาปัตตาธิกรณ์ที่เป็นอัพยากฤต เป็นไฉน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๖ หน้า : ๓๔๐}

                                                                 พระวินัยปิฎก จูฬรรค [๔. สมถขันธกะ]

                                                                 ๘. อธิกรณะ

ภิกษุไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่จงใจ ไม่ฝ่าฝืน ล่วงละเมิดอาบัติใด นี้เรียกว่า อาปัตตาธิกรณ์ เป็นอัพยากฤต [๒๒๓] กิจจาธิกรณ์เป็นกุศล อกุศล หรืออัพยากฤต กิจจาธิกรณ์เป็นกุศลก็มี เป็นอกุศลก็มี เป็นอัพยากฤตก็มี บรรดากิจจาธิกรณ์นั้น กิจจาธิกรณ์ที่เป็นกุศล เป็นไฉน สงฆ์มีจิตเป็นกุศล ทำกรรมใด คือ อปโลกนกรรม ญัตติกรรม ญัตติทุติยกรรม ญัตติจตุตถกรรม นี้เรียกว่า กิจจาธิกรณ์เป็นกุศล บรรดากิจจาธิกรณ์นั้น กิจจาธิกรณ์ที่เป็นอกุศล เป็นไฉน สงฆ์มีจิตเป็นอกุศล ทำกรรมใด คือ อปโลกนกรรม ญัตติกรรม ญัตติทุติยิ- กรรม ญัตติจตุตถกรรม นี้เรียกว่า กิจจาธิกรณ์เป็นอกุศล บรรดากิจจาธิกรณ์นั้น กิจจาธิกรณ์ที่เป็นอัพยากฤต เป็นไฉน สงฆ์มีจิตเป็นอัพยากฤต ทำกรรมใด คือ อปโลกนกรรม ญัตติกรรม ญัตติทุติยกรรม ญัตติจตุตถกรรม นี้เรียกว่า กิจจาธิกรณ์เป็นอัพยากฤต
วิวาทาธิกรณ์
[๒๒๔] วิวาทเป็นวิวาทาธิกรณ์ วิวาทไม่เป็นอธิกรณ์ อธิกรณ์ไม่เป็นวิวาท เป็นอธิกรณ์ด้วย เป็นวิวาทด้วย หรือวิวาทเป็นวิวาทาธิกรณ์ก็มี วิวาทไม่เป็นอธิกรณ์ ก็มี อธิกรณ์ไม่เป็นวิวาทก็มี เป็นอธิกรณ์ด้วย เป็นวิวาทด้วยก็มี บรรดาวิวาทนั้น วิวาทที่เป็นวิวาทาธิกรณ์ เป็นไฉน ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ ภิกษุทั้งหลาย ย่อมวิวาทกันว่า ๑. นี้ธรรม นี้อธรรม ฯลฯ ๙. นี้อาบัติชั่วหยาบ นี้อาบัติไม่ชั่วหยาบ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๖ หน้า : ๓๔๑}

                                                                 พระวินัยปิฎก จูฬรรค [๔. สมถขันธกะ]

                                                                 ๘. อธิกรณะ

ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง ความวิวาท ความกล่าวต่างกัน ความกล่าวโดยประการอื่น การพูดเพื่อความกลัดกลุ้มใจ ความหมายมั่นในเรื่องนั้นใด นี้ชื่อว่า วิวาทเป็นวิวาทาธิกรณ์ บรรดาวิวาทนั้น วิวาทไม่เป็นอธิกรณ์ เป็นไฉน มารดาวิวาทกับบุตรบ้าง บุตรวิวาทกับมารดาบ้าง บิดาวิวาทกับบุตรบ้าง บุตร วิวาทกับบิดาบ้าง พี่ชายวิวาทกับน้องชายบ้าง พี่ชายวิวาทกับน้องหญิงบ้าง น้อง หญิงวิวาทกับพี่ชายบ้าง สหายวิวาทกับสหายบ้าง นี้ชื่อว่าวิวาท ไม่เป็นอธิกรณ์ บรรดาวิวาทนั้น อธิกรณ์ไม่เป็นวิวาท เป็นไฉน อนุวาทาธิกรณ์ อาปัตตาธิกรณ์ กิจจาธิกรณ์ นี้ชื่อว่าอธิกรณ์ ไม่เป็นวิวาท บรรดาวิวาทนั้น อธิกรณ์เป็นอธิกรณ์ด้วย เป็นวิวาทด้วยเป็นไฉน วิวาทาธิกรณ์เป็นอธิกรณ์ด้วย เป็นวิวาทด้วย
อนุวาทาธิกรณ์
[๒๒๕] การโจทเป็นอนุวาทาธิกรณ์ การโจทไม่เป็นอธิกรณ์ อธิกรณ์ไม่เป็น การโจท เป็นอธิกรณ์ด้วย เป็นการโจทด้วยหรือ การโจทเป็นอนุวาทาธิกรณ์ก็มี การโจทไม่เป็นอธิกรณ์ก็มี อธิกรณ์ไม่เป็นการโจทก็มี เป็นอธิกรณ์ด้วย เป็นการโจท ด้วยก็มี บรรดาการโจทนั้น การโจทที่เป็นอนุวาทาธิกรณ์ เป็นไฉน ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ ภิกษุทั้งหลายย่อมโจทภิกษุด้วยสีลวิบัติ อาจารวิบัติ ทิฏฐิวิบัติ หรืออาชีววิบัติ การโจท การกล่าวหา การฟ้องร้อง การประท้วง ความ เป็นผู้คล้อยตาม การทำความอุตสาหะโจท การตามเพิ่มกำลังให้ ในเรื่องนั้นใด นี้ ชื่อว่า การโจทเป็นอนุวาทาธิกรณ์ บรรดาการโจทนั้น การโจทที่ไม่เป็นอธิกรณ์ เป็นไฉน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๖ หน้า : ๓๔๒}

                                                                 พระวินัยปิฎก จูฬรรค [๔. สมถขันธกะ]

                                                                 ๘. อธิกรณะ

มารดากล่าวหาบุตรบ้าง บุตรกล่าวหามารดาบ้าง บิดากล่าวหาบุตรบ้าง บุตร กล่าวหาบิดาบ้าง พี่ชายกล่าวหาน้องชายบ้าง พี่ชายกล่าวหาน้องหญิงบ้าง น้อง หญิงกล่าวหาพี่ชายบ้าง สหายกล่าวหาสหายบ้าง นี้ชื่อว่าการโจท ไม่เป็นอธิกรณ์ บรรดาอธิกรณ์นั้น อธิกรณ์ที่ไม่เป็นการโจท เป็นไฉน อาปัตตาธิกรณ์ กิจจาธิกรณ์ วิวาทาธิกรณ์ นี้ชื่อว่า อธิกรณ์ไม่เป็นการโจท บรรดาอธิกรณ์นั้น อธิกรณ์ที่เป็นอธิกรณ์ด้วย เป็นการโจทด้วย เป็นไฉน อนุวาทาธิกรณ์เป็นอธิกรณ์ด้วย เป็นการโจทด้วย
อาปัตตาธิกรณ์
[๒๒๖] อาบัติเป็นอาปัตตาธิกรณ์ อาบัติไม่เป็นอธิกรณ์ อธิกรณ์ไม่เป็นอาบัติ เป็นอธิกรณ์ด้วย เป็นอาบัติด้วย อาบัติเป็นอาปัตตาธิกรณ์ก็มี อาบัติไม่เป็นอธิกรณ์ก็มี อธิกรณ์ไม่เป็นอาบัติก็มี เป็นอธิกรณ์ด้วย เป็นอาบัติด้วยก็มี บรรดาอธิกรณ์นั้น อาบัติเป็นอาปัตตาธิกรณ์ เป็นไฉน อาบัติ ๕ กองเป็นอาปัตตาธิกรณ์บ้าง อาบัติ ๗ กองเป็นอาปัตตาธิกรณ์บ้าง นี้ชื่อว่า อาบัติเป็นอาปัตตาธิกรณ์ บรรดาอาบัตินั้น อาบัติที่ไม่เป็นอธิกรณ์ เป็นไฉน โสดาบัติ สมาบัติ นี้ชื่อว่า อาบัติไม่เป็นอธิกรณ์ บรรดาอธิกรณ์นั้น อธิกรณ์ที่ไม่เป็นอาบัติ เป็นไฉน กิจจาธิกรณ์ วิวาทาธิกรณ์ อนุวาทาธิกรณ์ นี้ชื่อว่า อธิกรณ์ไม่เป็นอาบัติ บรรดาอธิกรณ์นั้น อธิกรณ์ที่เป็นอธิกรณ์ด้วย เป็นอาบัติด้วย เป็นไฉน อาปัตตาธิกรณ์ เป็นอธิกรณ์ด้วย เป็นอาบัติด้วย [๒๒๗] กิจเป็นกิจจาธิกรณ์ กิจไม่เป็นอธิกรณ์ อธิกรณ์ไม่เป็นกิจ เป็นอธิกรณ์ ด้วย เป็นกิจด้วย หรือกิจเป็นกิจจาธิกรณ์ก็มี กิจไม่เป็นอธิกรณ์ก็มี อธิกรณ์ไม่เป็น กิจก็มี เป็นอธิกรณ์ด้วย เป็นกิจด้วยก็มี {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๖ หน้า : ๓๔๓}

                                                                 พระวินัยปิฎก จูฬรรค [๔. สมถขันธกะ]

                                                                 ๙. อธิกรณวูปสมนสมถะ

บรรดาอธิกรณ์นั้น กิจเป็นกิจจาธิกรณ์ เป็นไฉน ความเป็นหน้าที่ ความเป็นกรณีย์แห่งสงฆ์ใด คือ อปโลกนกรรม ญัตติกรรม ญัตติทุติยกรรม ญัตติจตุตถกรรม นี้ชื่อว่า กิจเป็นกิจจาธิกรณ์ บรรดาอธิกรณ์นั้น กิจไม่เป็นอธิกรณ์ เป็นไฉน กิจที่จะต้องทำแก่พระอาจารย์ กิจที่จะต้องทำแก่พระอุปัชฌาย์ กิจที่จะต้อง ทำแก่ภิกษุผู้เสมออุปัชฌาย์ กิจที่จะต้องทำแก่ภิกษุผู้เสมอพระอาจารย์ นี้ชื่อว่ากิจไม่ เป็นอธิกรณ์ บรรดาอธิกรณ์นั้น อธิกรณ์ไม่เป็นกิจ เป็นไฉน วิวาทาธิกรณ์ อนุวาทาธิกรณ์ อาปัตตาธิกรณ์ นี้ชื่อว่า อธิกรณ์ไม่เป็นกิจ บรรดาอธิกรณ์นั้น อธิกรณ์ที่เป็นอธิกรณ์ด้วย เป็นกิจด้วย เป็นไฉน กิจจาธิกรณ์เป็นอธิกรณ์ด้วย เป็นกิจด้วย
อธิกรณะ จบ
๙. อธิกรณวูปสมนสมถะ
ว่าด้วยความสงบระงับอธิกรณ์
สัมมุขาวินัย
วิวาทาธิกรณ์ระงับด้วยสมถะ ๒ อย่าง
[๒๒๘] วิวาทาธิกรณ์ย่อมระงับด้วยสมถะเท่าไร วิวาทาธิกรณ์ ย่อมระงับด้วยสมถะ ๒ คือ (๑) สัมมุขาวินัย (๒) เยภุยยสิกา บางทีวิวาทาธิกรณ์ไม่อาศัยสมถะอย่างหนึ่ง คือ เยภุยยสิกา พึงระงับด้วย สมถะอย่างเดียว คือ สัมมุขาวินัย บางทีพึงตกลงกันได้ สมจริงดังที่ตรัสไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ ภิกษุทั้งหลาย ย่อมวิวาทกันว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๖ หน้า : ๓๔๔}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๖ หน้าที่ ๓๓๘-๓๔๔. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=6&page=338&pages=7&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=6&A=8945 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=6&A=8945#p338 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 6 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_6 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu6 https://84000.org/tipitaka/english/?index_6



จบการแสดงผล หน้าที่ ๓๓๘-๓๔๔.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]