ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค

หน้าที่ ๑๑๑-๑๑๖.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๔. โสณทัณฑสูตร]

                                                                 เรื่องพราหมณ์และคหบดีชาวกรุงจัมปา

๔. โสณทัณฑสูตร
ว่าด้วยพราหมณ์ชื่อโสณทัณฑะ
เรื่องพราหมณ์และคหบดีชาวกรุงจัมปา
[๓๐๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นอังคะพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เสด็จถึงกรุงจัมปา ประทับอยู่ใกล้สระโบกขรณีคัคครา สมัยนั้น พราหมณ์โสณทัณฑะปกครองกรุงจัมปา ซึ่งมีประชากรและสัตว์เลี้ยง มากมาย มีพืชพันธุ์ธัญญาหารและน้ำหญ้าอุดมสมบูรณ์ เป็นพระราชทรัพย์ที่พระ เจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธพระราชทานปูนบำเหน็จให้เป็นพรหมไทย (ส่วนพิเศษ) [๓๐๑] พราหมณ์และคหบดีชาวกรุงจัมปาได้ฟังข่าวว่า “ท่านพระสมณโคดม เป็นศากยบุตรเสด็จออกผนวชจากศากยตระกูล เสด็จจาริกอยู่ในแคว้นอังคะ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เสด็จถึงกรุงจัมปาโดยลำดับ ประทับอยู่ใกล้สระโบกขรณีคัคคราในกรุงจัมปา ท่านพระโคดมนั้นมีกิตติศัพท์อัน งามขจรไปอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค พระองค์ทรงรู้แจ้งโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ด้วย พระองค์เองแล้วทรงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม ทรงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มี ความงามในท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้ง อรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน การได้พบพระอรหันต์ทั้งหลายเช่นนี้ เป็นความดีอย่างแท้จริง” ต่อมา พราหมณ์และคหบดีชาวกรุงจัมปา ออกจากกรุงจัมปาเดินรวมกันเป็น หมู่ไปยังสระโบกขรณีคัคครา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๑๑๑}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๔. โสณทัณฑสูตร]

                                                                 ความเป็นผู้ดีของพราหมณ์โสณทัณฑะ

[๓๐๒] สมัยนั้น พราหมณ์โสณทัณฑะพักผ่อนกลางวันอยู่ ณ ปราสาทชั้น บน มองเห็นพราหมณ์และคหบดีชาวกรุงจัมปาซึ่งล้วนออกจากกรุงจัมปาเดินรวม กันเป็นหมู่ไปยังสระโบกขรณีคัคครา จึงเรียกอำมาตย์ที่ปรึกษามาถามว่า “พ่อ อำมาตย์ พราหมณ์และคหบดีชาวกรุงจัมปา ออกจากกรุงจัมปาเดินรวมกันเป็นหมู่ ไปยังสระโบกขรณีคัคคราทำไมกัน” อำมาตย์ที่ปรึกษาตอบว่า “ท่านขอรับ พระสมณโคดมเป็นศากยบุตรเสด็จ ออกผนวชจากศากยตระกูล เสด็จจาริกอยู่ในแคว้นอังคะพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เสด็จถึงกรุงจัมปาโดยลำดับ ประทับอยู่ใกล้สระโบกขรณี คัคคราในกรุงจัมปา ท่านพระโคดมนั้นมีกิตติศัพท์อันงามขจรไปอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะ เหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้ อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็น พระผู้มีพระภาค’ คนเหล่านั้นพากันไปเข้าเฝ้าท่านพระโคดมนั้น” พราหมณ์โสณทัณฑะกล่าวว่า “พ่ออำมาตย์ ถ้าอย่างนั้น ท่านจงไปหาพวก พราหมณ์และคหบดีชาวกรุงจัมปา ครั้นแล้วจงบอกอย่างนี้ว่า ท่านขอรับ พราหมณ์ โสณทัณฑะพูดว่า ขอท่านผู้เจริญทั้งหลายจงรอก่อน พราหมณ์โสณทัณฑะจะไป เข้าเฝ้าพระสมณโคดมด้วย” อำมาตย์ที่ปรึกษารับคำของพราหมณ์โสณทัณฑะแล้ว เข้าไปหาพวกพราหมณ์ และคหบดีชาวกรุงจัมปา ครั้นแล้วก็บอกว่า “ท่านขอรับ พราหมณ์โสณทัณฑะ พูดว่า ขอท่านผู้เจริญทั้งหลายจงรอก่อน พราหมณ์โสณทัณฑะจะไปเข้าเฝ้าพระ สมณโคดมด้วย”
ความเป็นผู้ดีของพราหมณ์โสณทัณฑะ
[๓๐๓] เวลานั้น พราหมณ์ต่างถิ่น ๕๐๐ คน มีธุระเดินทางมาพักอยู่ใน กรุงจัมปา พอได้ฟังว่า ‘พราหมณ์โสณทัณฑะจักไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดมด้วย’ จึงพา กันเข้าไปหาพราหมณ์โสณทัณฑะแล้วถามว่า “ท่านโสณทัณฑะจักไปเข้าเฝ้า พระสมณโคดมจริงหรือ” พราหมณ์โสณทัณฑะตอบว่า “ใช่ เราคิดจะไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๑๑๒}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๔. โสณทัณฑสูตร]

                                                                 ความเป็นผู้ดีของพราหมณ์โสณทัณฑะ

พวกพราหมณ์ห้ามว่า “ท่านโสณทัณฑะอย่าได้ไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม เลย ท่านโสณทัณฑะไม่ควรไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม ถ้าไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม เกียรติยศของท่านโสณทัณฑะจะเสื่อมเสีย เกียรติยศของพระสมณโคดมจะเจริญ รุ่งเรืองยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ ท่านโสณทัณฑะจึงไม่ควรไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม พระ สมณโคดมต่างหากควรจะเสด็จมาหาท่านโสณทัณฑะ เพราะว่า ท่านโสณทัณฑะ เป็นผู้มีชาติกำเนิดดีทั้งฝ่ายบิดาและฝ่ายมารดา ถือปฏิสนธิบริสุทธิ์ดีตลอดเจ็ดชั่ว บรรพบุรุษ๑- ไม่มีใครจะคัดค้านตำหนิได้เพราะอ้างถึงชาติตระกูล ด้วยเหตุนี้ ท่าน โสณทัณฑะจึงไม่ควรไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม พระสมณโคดมต่างหากควรจะเสด็จ มาหาท่านโสณทัณฑะ อนึ่ง ท่านโสณทัณฑะเป็นคนมั่งคั่งมีทรัพย์มาก มีโภคะมาก ฯลฯ เป็นผู้คง แก่เรียน ทรงจำมนตร์ รู้จบไตรเพทพร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์ เกฏุภศาสตร์ อักษรศาสตร์ และประวัติศาสตร์ รู้ตัวบทและไวยากรณ์ ชำนาญโลกายตศาสตร์และ ลักษณะมหาบุรุษ ฯลฯ เป็นผู้มีรูปงามน่าดูน่าเลื่อมใส มีผิวพรรณผุดผ่องยิ่งนักดุจ พรหม มีกายดุจพรหม โอกาสที่จะได้พบเห็นยากนัก ฯลฯ เป็นผู้มีศีล มีศีลที่เจริญ ประกอบด้วยศีลที่เจริญ ฯลฯ เป็นผู้มีวาจาไพเราะสุภาพ ประกอบด้วยถ้อยคำ อ่อนหวานอย่างชาวเมือง นุ่มนวล เข้าใจง่าย ฯลฯ เป็นอาจารย์และปาจารย์ของ หมู่ชน สอนมนตร์แก่มาณพ ๓๐๐ คน เหล่ามาณพผู้ต้องการมนตร์จำนวนมาก จากทิศทางต่างชนบทพากันมาเรียนมนตร์ในสำนักของท่านโสณทัณฑะ ฯลฯ ท่าน โสณทัณฑะเป็นคนแก่คนเฒ่าเป็นผู้ใหญ่ มีชีวิตอยู่หลายรัชสมัย ล่วงกาลผ่านวัย มามาก ส่วนพระสมณโคดมเป็นคนหนุ่ม บวชแต่ยังหนุ่ม ฯลฯ ท่านโสณทัณฑะ เป็นผู้ที่พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธและพราหมณ์โปกขรสาติสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม ฯลฯ ท่านโสณทัณฑะปกครองกรุงจัมปา ซึ่งมีประชากรและสัตว์เลี้ยงมากมาย มี พืชพันธุ์ธัญญาหารและน้ำหญ้าอุดมสมบูรณ์ เป็นพระราชทรัพย์ที่พระเจ้าพิมพิสาร จอมทัพมคธพระราชทานปูนบำเหน็จให้เป็นพรหมไทย ด้วยเหตุนี้ ท่านโสณทัณฑะ จึงไม่ควรไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม พระสมณโคดมต่างหากควรจะเสด็จมาหาท่าน โสณทัณฑะ” @เชิงอรรถ : @ วิธีนับลำดับบรรพบุรุษแบบหนึ่ง เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ของวงศ์สกุล โดยนับจากปัจจุบันขึ้นไป ๗ ชั้น @(ที.สี.อ. ๓๐๓/๒๕๒-๒๕๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๑๑๓}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๔. โสณทัณฑสูตร]

                                                                 พราหมณ์โสณทัณฑะแสดงพระพุทธคุณ

พราหมณ์โสณทัณฑะแสดงพระพุทธคุณ
[๓๐๔] เมื่อพวกพราหมณ์กล่าวอย่างนี้ พราหมณ์โสณทัณฑะได้กล่าวว่า “ท่านทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น พวกท่านโปรดฟังเราบ้าง เรานี่แหละควรไปเข้าเฝ้าท่าน พระโคดม ท่านพระโคดมไม่ควรเสด็จมาหาเรา ได้ทราบว่า พระสมณโคดมทรงเป็น ผู้มีพระชาติกำเนิดดีทั้งฝ่ายพระชนกและฝ่ายพระชนนี ทรงถือปฏิสนธิบริสุทธิ์ดี ตลอดเจ็ดชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านตำหนิได้เพราะอ้างถึงชาติตระกูล ด้วยเหตุ นี้ ท่านพระโคดมจึงไม่ควรเสด็จมาหาเรา เราต่างหากควรไปเข้าเฝ้าท่านพระโคดม ท่านทั้งหลาย ข่าวว่า พระสมณโคดมทรงละพระประยูรญาติผนวชแล้ว ฯลฯ ทรงสละทรัพย์สินเงินทองมากมายทั้งที่ฝังอยู่ในพื้นดินและในอากาศผนวชแล้ว ฯลฯ พระสมณโคดมกำลังหนุ่มแน่นมีพระเกศาดำสนิท ทรงพระเจริญอยู่ในปฐมวัยเสด็จ ออกจากพระราชวังไปผนวชเป็นบรรพชิต ฯลฯ เมื่อพระชนกพระชนนีไม่ทรง ปรารถนา(จะให้เสด็จออกผนวช) มีน้ำพระเนตรชุ่มพระพักตร์ทรงกันแสงอยู่ พระ สมณโคดมทรงปลงพระเกศาและพระมัสสุแล้วครองผ้ากาสาวพัสตร์เสด็จออกจาก พระราชวังไปผนวชเป็นบรรพชิต ฯลฯ พระสมณโคดมมีพระรูปงดงามน่าดูน่าเลื่อมใส มีพระฉวีวรรณผุดผ่องยิ่งนักดุจพรหม มีพระวรกายดุจพรหม โอกาสที่จะได้พบเห็น ยากนัก ฯลฯ พระสมณโคดมทรงมีอริยศีล มีศีลที่เป็นกุศล ประกอบด้วยศีลที่เป็น กุศล ฯลฯ มีพระวาจาไพเราะสุภาพ ประกอบด้วยถ้อยคำอ่อนหวาน อย่างชาว เมือง นุ่มนวล เข้าใจง่าย ฯลฯ ทรงเป็นอาจารย์และปาจารย์ของหมู่ชนมากมาย ฯลฯ ทรงสิ้นกามราคะไม่ประดับตกแต่ง ฯลฯ ทรงเป็นกรรมวาที กิริยวาที ไม่ทรง มุ่งร้ายต่อพราหมณ์ ฯลฯ ผนวชแล้วจากตระกูลสูงคือขัตติยตระกูลอันบริสุทธิ์ ฯลฯ ผนวชแล้วจากตระกูลมั่งคั่งมีทรัพย์มากมีโภคะมาก ฯลฯ ประชาชนต่างบ้านต่าง เมืองพากันมาทูลถามปัญหาพระสมณโคดม ฯลฯ ทวยเทพหลายพันองค์ถวายชีวิต ขอถึงพระสมณโคดมเป็นที่พึ่ง ฯลฯ พระสมณโคดมทรงมีพระกิตติศัพท์อันงามขจร ไปอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็น สารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค ฯลฯ พระสมณโคดมทรงประกอบด้วย ลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ ฯลฯ ทรงมีปกติตรัสเชื้อเชิญ ตรัสผูกมิตรไมตรี {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๑๑๔}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๔. โสณทัณฑสูตร]

                                                                 พราหมณ์โสณทัณฑะแสดงพระพุทธคุณ

อ่อนหวาน ไม่ทรงสยิ้วพระพักตร์ ทรงเบิกบาน มักตรัสทักทายก่อน ฯลฯ ทรงเป็น ผู้ที่บริษัท ๔ ๑- สักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม ฯลฯ เทวดาและมนุษย์ มากมายเลื่อมใสพระสมณโคดม ฯลฯ พวกอมนุษย์ย่อมไม่เบียดเบียนมนุษย์ในหมู่ บ้านหรือนิคมที่พระสมณโคดมทรงพำนักอยู่ ฯลฯ พระสมณโคดมทรงเป็นหัวหน้า ทรงเป็นคณาจารย์ ได้รับการยกย่องว่าทรงเป็นผู้ยอดเยี่ยมกว่าเจ้าลัทธิอื่นๆ ไม่ ทรงรุ่งเรืองพระยศเหมือนพวกสมณพราหมณ์ที่รุ่งเรืองยศ ที่แท้ทรงรุ่งเรืองพระยศ เพราะทรงมีวิชชาและจรณะอันยอดเยี่ยม ฯลฯ พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธ พร้อมทั้งพระราชโอรส พระมเหสี ข้าราชบริพารและหมู่อำมาตย์ต่างมอบชีวิตถึงพระ สมณโคดมเป็นสรณะ ฯลฯ พระเจ้าปเสนทิโกศล พร้อมทั้งพระราชโอรส พระมเหสี ข้าราชบริพารและหมู่อำมาตย์ต่างมอบชีวิตถึงพระสมณโคดมเป็นสรณะ ฯลฯ พราหมณ์โปกขรสาติ พร้อมทั้งบุตร ภรรยา ข้าราชการ และหมู่อำมาตย์ต่างมอบ ชีวิตถึงพระสมณโคดมเป็นสรณะ พระสมณโคดมทรงเป็นผู้ที่พระเจ้าพิมพิสาร จอมทัพมคธทรงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม ฯลฯ ทรงเป็นผู้ที่พระเจ้า ปเสนทิโกศลทรงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม ฯลฯ ทรงเป็นผู้ที่พราหมณ์ โปกขรสาติสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม ฯลฯ พระสมณโคดมเสด็จถึงกรุงจัมปาโดยลำดับ ประทับอยู่ ณ ริมสระโบกขรณี- คัคครา ในกรุงจัมปา ท่านทั้งหลาย สมณพราหมณ์ที่มาสู่เขตหมู่บ้านของเราจัดว่า เป็นแขกของเรา ซึ่งพวกเราควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา และนอบน้อม พระ สมณโคดมเสด็จมาถึงกรุงจัมปาโดยลำดับ ประทับอยู่ ณ ริมสระโบกขรณีคัคครา ในกรุงจัมปา พระสมณโคดมจึงจัดเป็นแขกของเราที่พวกเราควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา และนอบน้อม ฯลฯ ด้วยเหตุนี้ พระสมณโคดมจึงไม่ควรเสด็จมาหา เรา เราต่างหากควรไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม เราทราบพระคุณของพระสมณโคดม เพียงเท่านี้ แต่พระสมณโคดมไม่ใช่ว่าจะมีพระคุณเพียงเท่านี้ แท้จริงแล้ว พระ สมณโคดมมีพระคุณนับประมาณมิได้” @เชิงอรรถ : @ ในที่นี้หมายถึง ผู้เข้าเฝ้าโดยทั่วไป มีอยู่ ๔ จำพวก คือ ขัตติยบริษัท พราหมณบริษัท คหบดีบริษัทและ @สมณบริษัท {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๑๑๕}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๔. โสณทัณฑสูตร]

                                                                 ความคำนึงของพราหมณ์โสณทัณฑะ

[๓๐๕] เมื่อพราหมณ์โสณทัณฑะกล่าวอย่างนี้ พราหมณ์เหล่านั้นได้กล่าวว่า “ท่านโสณทัณฑะกล่าวยกย่องพระสมณโคดมถึงเพียงนี้ ถึงหากท่านพระโคดม พระองค์นั้นจะประทับอยู่ไกลจากที่นี่ตั้ง ๑๐๐ โยชน์ ก็สมควรอยู่ที่กุลบุตรผู้มีศรัทธา จะไปเข้าเฝ้า แม้จะต้องขนเสบียงไปก็ควร” พราหมณ์โสณทัณฑะกล่าวว่า “ถ้าอย่างนั้น พวกเราทั้งหมดจักไปเข้าเฝ้าพระ สมณโคดมด้วยกัน”
ความคิดคำนึงของพราหมณ์โสณทัณฑะ
[๓๐๖] ต่อมา พราหมณ์โสณทัณฑะพร้อมด้วยคณะพราหมณ์หมู่ใหญ่เข้าไป ถึงสระโบกขรณีคัคครา เมื่อผ่านราวป่าไป เขาเกิดความคิดคำนึงว่า ‘ถ้าเราจะถาม ปัญหากับพระสมณโคดม หากพระสมณโคดมตรัสอย่างนี้ว่า พราหมณ์ ปัญหาข้อนี้ ท่านไม่ควรถามอย่างนี้ ที่ถูก ควรจะถามอย่างนี้ บริษัทก็จะดูหมิ่นเราเพราะเหตุนั้น ว่า พราหมณ์โสณทัณฑะโง่เขลา ไม่อาจแยกแยะตั้งคำถามกับพระสมณโคดมได้ ผู้ ถูกบริษัทดูหมิ่นจะพึงเสื่อมยศ ผู้เสื่อมยศก็จะเสื่อมโภคสมบัติ เพราะมียศเราจึงมี โภคสมบัติ ถ้าพระสมณโคดมจะถามปัญหากับเรา และเราตอบไม่ถูกพระทัยของ พระสมณโคดม หากพระสมณโคดมจะตรัสอย่างนี้ว่า พราหมณ์ ปัญหาข้อนี้ท่านไม่ ควรตอบอย่างนี้ ที่ถูก ควรตอบอย่างนี้ บริษัทก็จะดูหมิ่นเราเพราะเหตุนั้นว่า พราหมณ์โสณทัณฑะโง่เขลา ไม่อาจตอบปัญหาให้ถูกพระทัยของพระสมณโคดมได้ ผู้ถูกบริษัทดูหมิ่นจะพึงเสื่อมยศ ผู้เสื่อมยศก็จะเสื่อมโภคสมบัติ เพราะมียศเราจึงมี โภคสมบัติ อนึ่ง เราเข้ามาใกล้ถึงเพียงนี้แล้ว ยังไม่ทันได้เฝ้าเลย แต่คิดจะกลับ บริษัทก็จะดูหมิ่นเราเพราะเหตุนั้นว่า พราหมณ์โสณทัณฑะโง่เขลา ถือตัวมาก ขลาดกลัว ไม่อาจเข้าเฝ้าพระสมณโคดมได้ เข้ามาใกล้ถึงเพียงนี้แล้ว ยังไม่ทันได้เฝ้า เลย ไฉนจึงกลับเสียเล่า ผู้ถูกบริษัทดูหมิ่นจะพึงเสื่อมยศ ผู้เสื่อมยศก็จะเสื่อม โภคสมบัติ เพราะมียศ เราจึงมีโภคสมบัติ’ [๓๐๗] ลำดับนั้น พราหมณ์โสณทัณฑะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนากับพระผู้มีพระภาค ครั้นสนทนาพอคุ้นเคยกันดีแล้วจึงนั่งลง ณ ที่สมควร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๑๑๖}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๙ หน้าที่ ๑๑๑-๑๑๖. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=9&page=111&pages=6&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=9&A=3258 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=9&A=3258#p111 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 9 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_9 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu9 https://84000.org/tipitaka/english/?index_9



จบการแสดงผล หน้าที่ ๑๑๑-๑๑๖.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]