ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค

หน้าที่ ๓๔-๓๖.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑. พรหมชาลสูตร]

                                                                 ทิฏฐิ ๖๒ อุจเฉทวาทะ ๗

๔๘. (๖) อัตตาที่ไม่มีที่สุด ยั่งยืน หลังจากตายแล้ว มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ ๔๙. (๗) อัตตาทั้งที่มีที่สุดและไม่มีที่สุด ยั่งยืน หลังจากตายแล้ว มี สัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ ๕๐. (๘) อัตตาที่มีที่สุดก็มิใช่ ไม่มีที่สุดก็มิใช่ ยั่งยืน หลังจากตายแล้ว มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ [๘๓] ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่านั้นมีวาทะว่า อัตตาหลังจากตาย แล้ว มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ บัญญัติอัตตาหลังจากตายแล้วว่า มีสัญญา ก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ ด้วยมูลเหตุ ๘ อย่างนี้แล ก็สมณพราหมณ์เหล่านั้นทุก จำพวกมีวาทะว่า อัตตาหลังจากตายแล้วมีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ บัญญัติ อัตตาหลังจากตายแล้วว่า มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ ด้วยมูลเหตุทั้ง ๘ อย่าง นี้ หรือด้วยมูลเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๘ อย่างนี้ ไม่พ้นไปจากนี้ ฯลฯ อันเป็นเหตุ ให้คนกล่าวยกย่องตถาคตตามความเป็นจริง
อุจเฉทวาทะ๑-
เห็นว่าหลังจากตายแล้วอัตตาขาดสูญ
[๘๔] ภิกษุทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะว่าหลังจากตายแล้ว อัตตาขาดสูญ บัญญัติความขาดสูญ ความพินาศ และความไม่เกิดอีกของสัตว์ ด้วยมูลเหตุ ๗ อย่าง ก็สมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้นอาศัยอะไรปรารภอะไรจึงมี วาทะว่า หลังจากตายแล้ว อัตตาขาดสูญ บัญญัติความขาดสูญ ความพินาศ และ ความไม่เกิดอีกของสัตว์ ด้วยมูลเหตุ ๗ อย่าง [๘๕] ๕๑. (๑) สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้มีวาทะมีทรรศนะอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ อัตตานี้มีรูปมาจากมหาภูตรูป ๔ เกิดจากบิดามารดา หลังจากตายแล้ว อัตตาย่อมขาดสูญพินาศ ไม่เกิดอีก ด้วยเหตุเพียงเท่านี้อัตตานี้จึงขาดสูญเด็ดขาด’ สมณพราหมณ์พวกหนึ่งบัญญัติความขาดสูญ ความพินาศ และความไม่เกิดอีกของ สัตว์อย่างนี้ @เชิงอรรถ : @ ลัทธิที่ถือว่าตายแล้วไม่เกิดอีก เป็นแนวคิดเชิงวัตถุนิยม ลัทธินี้ทำให้หมกมุ่นในกามสุข (ที.สี.อ. ๘๔/๑๑๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๓๔}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑. พรหมชาลสูตร]

                                                                 ทิฏฐิ ๖๒ อุจเฉทวาทะ ๗

[๘๖] ๕๒. (๒) สมณะหรือพราหมณ์คนอื่นกล่าวกับสมณะหรือพราหมณ์คน นั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ อัตตาที่ท่านพูดถึงนั้นมีจริง เราไม่ปฏิเสธว่าไม่มี แต่ อัตตานี้ไม่ใช่ขาดสูญเด็ดขาดเพราะเหตุเพียงเท่านี้ ยังมีอัตตาอื่นที่เป็นทิพย์ มีรูปเป็น กามาวจร๑- บริโภคข้าวเป็นอาหาร ท่านยังไม่รู้ไม่เห็น แต่เรารู้เราเห็น อัตตานั้น หลังจากตายแล้วจะขาดสูญพินาศ ไม่เกิดอีก ด้วยเหตุเพียงเท่านี้อัตตาจึงขาดสูญ เด็ดขาด’ สมณพราหมณ์พวกหนึ่งบัญญัติความขาดสูญ ความพินาศ และความไม่ เกิดอีกของสัตว์อย่างนี้ [๘๗] ๕๓. (๓) สมณะหรือพราหมณ์คนอื่นกล่าวกับสมณะหรือพราหมณ์คน นั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ อัตตาที่ท่านพูดถึงนั้นมีจริง เราไม่ปฏิเสธว่าไม่มี แต่ อัตตานี้ไม่ใช่ขาดสูญเด็ดขาดเพราะเหตุเพียงเท่านี้ ยังมีอัตตาอื่นที่เป็นทิพย์ มีรูป สำเร็จด้วยใจ มีอวัยวะครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง ท่านยังไม่รู้ไม่เห็น แต่เรารู้ เราเห็น อัตตานั้นหลังจากตายแล้วจะขาดสูญพินาศไม่เกิดอีก ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อัตตาจึงขาดสูญเด็ดขาด’ สมณพราหมณ์พวกหนึ่งบัญญัติความขาดสูญ ความ พินาศ และความไม่เกิดอีกของสัตว์อย่างนี้ [๘๘] ๕๔. (๔) สมณะหรือพราหมณ์คนอื่นกล่าวกับสมณะหรือพราหมณ์ คนนั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ อัตตาที่ท่านพูดถึงนั้นมีจริง เราไม่ปฏิเสธว่าไม่มี แต่อัตตานี้ไม่ใช่ขาดสูญเด็ดขาดเพราะเหตุเพียงเท่านี้ ยังมีอัตตาอื่นที่ถึงชั้น อากาสานัญจายตนะ โดยกำหนดว่า อากาศหาที่สุดมิได้ เพราะล่วงรูปสัญญา ดับ ปฏิฆสัญญา ไม่กำหนดนานัตตสัญญาโดยประการทั้งปวง ท่านยังไม่รู้ไม่เห็น แต่ เรารู้เราเห็น อัตตานั้นหลังจากตายแล้วจะขาดสูญพินาศไม่เกิดอีก ด้วยเหตุเพียงเท่า นี้อัตตาจึงขาดสูญเด็ดขาด’ สมณพราหมณ์พวกหนึ่งบัญญัติความขาดสูญ ความ พินาศ และความไม่เกิดอีกของสัตว์อย่างนี้ [๘๙] ๕๕. (๕) สมณะหรือพราหมณ์คนอื่นกล่าวกับสมณะหรือพราหมณ์คน นั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ อัตตาที่ท่านพูดถึงนั้นมีจริง เราไม่ปฏิเสธว่าไม่มี แต่ @เชิงอรรถ : @ เทวดาชั้นกามาวจร ๖ ชั้น คือ จาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี ปรนิมมิตวสวัตดี @(ที.สี.อ. ๘๖/๑๑๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๓๕}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑. พรหมชาลสูตร]

                                                                 ทิฏฐิ ๖๒ อุจเฉทวาทะ ๗

อัตตานี้ไม่ใช่ขาดสูญเด็ดขาดเพราะเหตุเพียงเท่านี้ ยังมีอัตตาอื่นที่ถึงชั้นวิญญาณัญ- จายตนะ โดยกำหนดว่า วิญญาณหาที่สุดมิได้ เพราะล่วงอากาสานัญจายตนะได้โดย ประการทั้งปวง ท่านยังไม่รู้ไม่เห็น แต่เรารู้เราเห็น อัตตานั้นหลังจากตายแล้วจะขาด สูญพินาศไม่เกิดอีก ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อัตตาจึงขาดสูญเด็ดขาด’ สมณพราหมณ์ พวกหนึ่งบัญญัติความขาดสูญ ความพินาศ และความไม่เกิดอีกของสัตว์อย่างนี้ [๙๐] ๕๖. (๖) สมณะหรือพราหมณ์คนอื่นกล่าวกับสมณะหรือพราหมณ์คน นั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ อัตตาที่ท่านพูดถึงนั้นมีจริง เราไม่ปฏิเสธว่าไม่มี แต่ อัตตานี้ไม่ใช่ขาดสูญเด็ดขาดเพราะเหตุเพียงเท่านี้ ยังมีอัตตาอื่นที่ถึงชั้น อากิญจัญญายตนะ โดยกำหนดว่าไม่มีอะไร เพราะล่วงวิญญาณัญจายตนะได้ โดยประการทั้งปวง ท่านยังไม่รู้ไม่เห็น แต่เรารู้เราเห็น อัตตานั้นหลังจากตายแล้ว จะขาดสูญพินาศไม่เกิดอีก ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อัตตาจึงขาดสูญเด็ดขาด’ สมณพราหมณ์พวกหนึ่งบัญญัติความขาดสูญ ความพินาศ และความไม่เกิดอีก ของสัตว์อย่างนี้ [๙๑] ๕๗. (๗) สมณะหรือพราหมณ์คนอื่นกล่าวกับสมณะหรือพราหมณ์คน นั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ อัตตาที่ท่านพูดถึงนั้นมีจริง เราไม่ปฏิเสธว่าไม่มี แต่ อัตตานี้ไม่ใช่ขาดสูญเด็ดขาดเพราะเหตุเพียงเท่านี้ ยังมีอัตตาอื่นที่ถึงชั้นเนว- สัญญานาสัญญายตนะ โดยกำหนดว่านั่นละเอียด นั่นประณีต เพราะล่วง อากิญจัญญายตนะได้โดยประการทั้งปวง ท่านยังไม่รู้ไม่เห็น แต่เรารู้เราเห็น อัตตา นั้นหลังจากตายแล้วจะขาดสูญพินาศไม่เกิดอีก ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อัตตาจึงขาดสูญ เด็ดขาด’ สมณพราหมณ์พวกหนึ่งบัญญัติความขาดสูญ ความพินาศ และความไม่ เกิดอีกของสัตว์อย่างนี้ [๙๒] ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่านั้นมีวาทะว่า หลังจากตายแล้ว อัตตาขาดสูญ บัญญัติความขาดสูญ ความพินาศ และความไม่เกิดอีกของสัตว์ด้วย มูลเหตุ ๗ อย่างนี้แล ก็สมณพราหมณ์เหล่านั้นทุกจำพวกมีวาทะว่าหลังจาก ตายแล้วอัตตาขาดสูญ บัญญัติความขาดสูญ ความพินาศ และความไม่เกิดอีก ของสัตว์ด้วยมูลเหตุทั้ง ๗ อย่างนี้ หรือด้วยมูลเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๗ อย่างนี้ ไม่พ้นไปจากนี้ ฯลฯ อันเป็นเหตุให้คนกล่าวยกย่องตถาคตตามความเป็นจริง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๓๖}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๙ หน้าที่ ๓๔-๓๖. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=9&page=34&pages=3&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=9&A=987 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=9&A=987#p34 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 9 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_9 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu9 https://84000.org/tipitaka/english/?index_9



จบการแสดงผล หน้าที่ ๓๔-๓๖.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]