ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฏก เล่มที่ ๑๘ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๐ สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค
ฉฬวรรคที่ ๕
สังคัยหสูตรที่ ๑
[๑๒๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผัสสายตนะ ๖ ประการนี้ ที่บุคคลไม่ฝึกฝน ไม่คุ้มครอง ไม่รักษา ไม่สำรวมระวังแล้ว ย่อมนำทุกข์หนักมาให้ ผัสสายตนะ ๖ ประการเป็นไฉน คือ จักษุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย ใจ ที่บุคคลไม่ ฝึกฝน ไม่คุ้มครอง ไม่รักษา ไม่สำรวมระวังแล้ว ย่อมนำทุกข์หนักมาให้ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ผัสสายตนะ ๖ ประการนี้แล ที่บุคคลไม่ฝึกฝน ไม่คุ้มครอง ไม่ รักษา ไม่สำรวมระวังแล้ว ย่อมนำทุกข์หนักมาให้ ฯ [๑๒๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผัสสายตนะ ๖ ประการนี้ ที่บุคคลฝึกฝนดี คุ้มครองดี รักษาดี สำรวมระวังดีแล้ว ย่อมนำสุขมากมาให้ ผัสสายตนะ ๖ เป็นไฉน คือ จักษุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย ใจ ที่บุคคลฝึกฝนดี คุ้มครองดี รักษาดี สำรวมระวังดีแล้ว ย่อมนำสุขมากมาให้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผัสสายตนะ ๖ ประการนี้แล ที่บุคคลฝึกฝนดี คุ้มครองดี รักษาดี สำรวมระวังดีแล้ว ย่อม นำสุขมากมาให้ พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลง แล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า ฯ [๑๓๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลไม่สำรวมผัสสายตนะ ๖ นั่นแหละ เว้นการสำรวมในอายตนะใด ย่อมเข้าถึงทุกข์ บุคคลเหล่าใด ได้สำรวมระวังอายตนะเหล่านั้น บุคคล เหล่านั้น มีศรัทธาเป็นเพื่อนสอง ย่อมเป็นผู้อันราคะไม่ชุ่มอยู่ บุคคลเห็นรูปที่ชอบใจและเห็นรูปที่ไม่ชอบใจแล้ว พึง บรรเทาราคะในรูปที่ชอบใจ และไม่พึงเสียใจว่า รูปไม่น่ารัก ของเรา (เราเห็นรูปไม่น่ารักเข้าแล้ว) ได้ยินเสียงที่น่ารัก และเสียงที่ไม่น่ารัก พึงสงบใจในเสียงที่น่ารัก และพึง บรรเทาโทสะในเสียงที่ไม่น่ารัก และไม่พึงเสียใจว่า เสียงไม่ น่ารักของเรา (เราได้ฟังเสียงที่ไม่น่ารักเข้าแล้ว) ได้ดมกลิ่น ที่ชอบใจอันน่ายินดี และได้ดมกลิ่นที่ไม่สะอาด ไม่น่ารัก ใคร่ พึงบรรเทาความหงุดหงิดในกลิ่นที่ไม่น่าใคร่ และไม่ พึงพอใจในกลิ่นที่น่าใคร่ ได้ลิ้มรสที่อร่อยเล็กน้อย และ ลิ้มรสที่ไม่อร่อยในบางคราว ไม่พึงลิ้มรสที่อร่อยด้วยความ ติดใจ และไม่ควรยินร้ายในเมื่อลิ้มรสที่ไม่อร่อย ถูกสัมผัส ที่เป็นสุขกระทบเข้าแล้ว และถูกผัสสะที่เป็นทุกข์กระทบเข้า แล้ว ไม่พึงหวั่นไหวในระหว่างๆ ควรวางเฉยผัสสะทั้งที่ เป็นสุข ทั้งที่เป็นทุกข์ทั้งสอง ไม่ควรยินดี ไม่ควรยินร้าย เพราะผัสสะอะไรๆ นรชนทั้งหลายที่ทรามปัญญา มีความ สำคัญในกิเลสเป็นเหตุให้เนิ่นช้า ยินดีอยู่ด้วยกิเลสเป็นเหตุ ให้เนิ่นช้า เป็นสัตว์ที่มีสัญญา ย่อมวกเวียนอยู่ ก็บุคคล บรรเทาใจ ที่ประกอบด้วยปัญจกามคุณทั้งปวงแล้ว ย่อมรักษา ใจให้ประกอบด้วยเนกขัมมะ ใจที่บุคคลเจริญดีแล้วใน อารมณ์ ๖ อย่างนี้ ในกาลใด ในกาลนั้น จิตของบุคคลนั้น อันสุขสัมผัสกระทบเข้าแล้ว ย่อมไม่หวั่นไหวในที่ไหนๆ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายปราบราคะและโทสะเสียแล้ว ย่อมเป็นผู้ถึงนิพพานซึ่งเป็นฝั่งข้างโน้นแห่งชาติและมรณะ ฯ
จบสูตรที่ ๑

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๘ บรรทัดที่ ๑๗๔๕-๑๗๘๗ หน้าที่ ๗๖ - ๗๗. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=18&A=1745&Z=1787&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_item.php?item=130&book=18              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=18&siri=74              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=18&i=128              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_read.php?B=18&A=1752              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_read.php?B=18&A=1752              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๘ http://84000.org/tipitaka/read/?index_18

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]