ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒
ปาจิตตีย์ วรรคที่ ๓
๓. โอวาทวรรค สิกขาบทที่ ๑
เรื่องพระฉัพพัคคีย์
[๔๐๖] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ อนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น ภิกษุชั้นเถระทั้งหลาย กล่าวสอนพวกภิกษุณี ย่อมได้จีวรบิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร. จึงพระฉัพพัคคีย์ ปรึกษากันว่า อาวุโสทั้งหลาย บัดนี้พระเถระกล่าวสอนพวกภิกษุณี ย่อมได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร เอาเถิด พวกเราจะกล่าวสอนพวกภิกษุณีบ้าง. ครั้นแล้วได้เข้าไปหา พวกภิกษุณี กล่าวคำนี้ว่า มาเถิด น้องหญิงทั้งหลายจงไปหาพวกเราบ้าง แม้พวกเราก็จักกล่าว สอน. หลังจากนั้น ภิกษุณีเหล่านั้นได้เข้าไปหาพระฉัพพัคคีย์ อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วน ข้างหนึ่ง. จึงพระฉัพพัคคีย์ได้ทำธรรมีกถาแก่พวกภิกษุณีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ให้วันเวลาล่วงไป ด้วยติรัจฉานกถา แล้วสั่งให้กลับไปด้วยคำว่า กลับไปเถิด น้องหญิงทั้งหลาย. ลำดับนั้นภิกษุณี เหล่านั้นได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถวายบังคมแล้ว ยืนเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามภิกษุณีเหล่านั้นผู้ยืนเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งนั้นแลว่า ดูกรภิกษุณีทั้งหลาย การกล่าวสอนภิกษุณีได้สัมฤทธิผลดีหรือ? ภิกษุณีทั้งหลายกราบทูลว่า จะสัมฤทธิผลมาแต่ไหน พระพุทธเจ้าข้า, เพราะพระคุณเจ้า เหล่าฉัพพัคคีย์ได้ทำธรรมีกถาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ให้วันเวลาล่วงไปด้วยติรัจฉานกถา แล้วก็สั่ง ให้กลับไป พระพุทธเจ้าข้า. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้ภิกษุณีเหล่านั้นเห็นแจ้งสมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา. ครั้นภิกษุณีเหล่านั้น อันพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาแล้ว ลุกจากอาสน์ถวายอภิวาท ทำประทักษิณหลีกไปแล้ว.
ประชุมสงฆ์ทรงสอบถาม
ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามพระฉัพพัคคีย์ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า พวกเธอ ทำธรรมีกถาแก่พวกภิกษุณีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ให้วันเวลาล่วงไปด้วยติรัจฉานกถา แล้วก็สั่งให้ กลับไป จริงหรือ? พระฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
ทรงติเตียน
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉน พวกเธอจึงได้ทำ ธรรมีกถาแก่พวกภิกษุณี เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ให้วันเวลาล่วงไปด้วยติรัจฉานกถาแล้วสั่งให้กลับ ไปเล่า? การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ... ครั้นแล้วทรงทำธรรมีกถารับสั่งกะภิกษุ ทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สมมติภิกษุเป็นผู้กล่าวสอนภิกษุณี. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลสงฆ์พึงสมมติอย่างนี้.
วิธีสมมติภิกษุผู้สั่งสอนภิกษุณี
พึงขอร้องภิกษุก่อน. ครั้นแล้วภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบ ด้วย ญัตติจตุตถกรรมวาจา ว่าดังนี้:-
กรรมวาจาสมมติ
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า. ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว. สงฆ์ พึงสมมติภิกษุมีชื่อนี้ให้เป็นผู้กล่าวสอนภิกษุณี นี่เป็นญัตติ. ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า. สงฆ์สมมติภิกษุมีชื่อนี้ให้เป็นผู้กล่าวสอน ภิกษุณี. การสมมติภิกษุมีชื่อนี้ให้เป็นผู้กล่าวสอนภิกษุณีชอบแก่ท่านผู้ใด, ท่านผู้นั้น พึงเป็นผู้นิ่ง. ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด, ท่านผู้นั้นพึงพูด. ข้าพเจ้ากล่าวความนี้เป็นครั้งที่สอง ... ข้าพเจ้ากล่าวความนี้เป็นครั้งที่สาม, ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า. สงฆ์ สมมติภิกษุมีชื่อนี้ให้เป็นผู้กล่าวสอนภิกษุณี. การสมมติภิกษุมีชื่อนี้ ให้เป็นผู้กล่าวสอน ภิกษุณีชอบแก่ท่านผู้ใด, ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง. ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด, ท่านผู้นั้น พึงพูด. ภิกษุมีชื่อนี้ สงฆ์สมมติให้เป็นผู้กล่าวสอนภิกษุณีแล้ว ชอบแก่สงฆ์, เหตุนั้น จึงนิ่ง; ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ ด้วยอย่างนี้. ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงติเตียนพระฉัพพัคคีย์โดยอเนกปริยายแล้ว ตรัสโทษ แห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ... รับสั่งว่า ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
พระบัญญัติ
๗๐. ๑. อนึ่ง ภิกษุใดไม่ได้รับสมมติ กล่าวสอนพวกภิกษุณี, เป็นปาจิตตีย์. ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการ ฉะนี้.
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ.
-----------------------------------------------------
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ (ต่อ)
[๔๐๗] ก็แลสมัยนั้น พวกพระเถระทั้งหลายผู้ได้รับสมมติ กล่าวสอนพวกภิกษุณี ก็ยังได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารเหมือนอย่างเดิม. จึงพระ- *ฉัพพัคคีย์ได้ปรึกษากันว่า อาวุโสทั้งหลาย บัดนี้พระเถระทั้งหลายได้รับสมมติ แล้วกล่าวสอน พวกภิกษุณี ก็ยังได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารอยู่เหมือนอย่างเดิม, เอาเถิด แม้พวกเราจะไปนอกสีมาสมมติกันและกันให้เป็นผู้กล่าวสอนภิกษุณี แล้วสั่งสอนพวก ภิกษุณีกันเถิด. ครั้นแล้วพากันไปนอกสีมา สมมติกันและกันให้เป็นผู้กล่าวสอนภิกษุณี แล้วได้ เข้าไปบอกภิกษุณีทั้งหลายว่า ดูกรน้องหญิงทั้งหลาย แม้พวกเราก็ได้รับสมมติ ท่านทั้งหลาย จงเข้าไปหาพวกเรา แม้พวกเราก็จักกล่าวสอน. ต่อมาภิกษุณีเหล่านั้น พากันเข้าไปหา พระฉัพพัคคีย์ กราบไหว้แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง. จึงพระฉัพพัคคีย์ได้ทำธรรมีกถาแก่พวก ภิกษุณีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ให้วันเวลาล่วงไปด้วยติรัจฉานกถาแล้วสั่งให้กลับไปด้วยคำว่า กลับ ไปเถิด น้องหญิงทั้งหลาย. ลำดับนั้นพวกนางได้พากันไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมแล้วยืน เฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง. พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามภิกษุณีผู้ยืนเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งเหล่านั้นแลว่า ดูกร ภิกษุณีทั้งหลาย โอวาทได้สัมฤทธิผลดีหรือ? พวกภิกษุณีกราบทูลว่า จะสัมฤทธิผลมาแต่ไหน พระพุทธเจ้าข้า เพราะพระคุณเจ้าเหล่า ฉัพพัคคีย์ได้ทำธรรมีกถาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ให้วันเวลาล่วงไปด้วยติรัจฉานกถาแล้วสั่งให้กลับ ไป พระพุทธเจ้าข้า. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงยังภิกษุณีเหล่านั้น ให้เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา. ครั้นภิกษุณีเหล่านั้น อันพระผู้มีพระภาคทรงให้เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาแล้ว ลุกจากอาสน์ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณ หลีกไปแล้ว.
ประชุมสงฆ์ทรงสอบถาม
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ใน เพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามพระฉัพพัคคีย์ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า พวกเธอทำ ธรรมีกถาแก่พวกภิกษุณีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ให้วันเวลาล่วงไปด้วยติรัจฉานกถา แล้วสั่งให้ กลับไปจริงหรือ? พระฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
ทรงติเตียน
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอจึงได้ทำ ธรรมีกถาแก่พวกภิกษุณีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ให้วันเวลาล่วงไปด้วยติรัจฉานกถา แล้วสั่งให้กลับ ไปเล่า การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือ เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ...
ทรงอนุญาตให้สมมติภิกษุผู้กล่าวสอนภิกษุณี
ครั้นแล้วทรงทำธรรมีกถา รับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ สมมติภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ ดังต่อไปนี้ เป็นผู้กล่าวสอนภิกษุณี
องค์คุณ ๘ ของภิกษุผู้กล่าวสอนภิกษุณี
๑. เป็นผู้มีศีล คือสำรวมด้วยปาติโมกขสังวรศีล สมบูรณ์ด้วยอาจาระและโคจรอยู่ มีปกติเห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ๒. เป็นพหูสูต คือทรงสุตะ เป็นผู้สั่งสมสุตะ ธรรมเหล่านั้นใด งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะครบบริบูรณ์บริสุทธิ์ ธรรมเห็นปานนั้น อันภิกษุนั้นได้สดับมาก ทรงจำไว้ได้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยปัญญา ๓. พระปาติโมกข์ทั้งสองมาแล้วด้วยดีโดยพิสดาร แก่ภิกษุนั้น คือ ภิกษุนั้นจำแนก ได้ดี คล่องแคล่วดี วินิจฉัยได้เรียบร้อยโดยสูตร โดยอนุพยัญชนะ ๔. เป็นผู้มีวาจาสละสลวย ชัดเจน ๕. เป็นที่นิยมชมชอบของภิกษุณีโดยมาก ๖. เป็นผู้สามารถกล่าวสอนภิกษุณีได้ ๗. เป็นผู้ไม่เคยล่วงครุธรรม กับสตรีผู้ครองผ้ากาสายะซึ่งบวชเฉพาะพระผู้มีพระภาค พระองค์นี้ และ ๘. มีพรรษาได้ ๒๐ หรือเกิน ๒๐ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สมมติภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ คุณ ๘ ประการนี้ ให้เป็น ผู้กล่าวสอนภิกษุณีได้.
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ [ต่อ] จบ.
สิกขาบทวิภังค์
[๔๐๘] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ... บทว่า ภิกษุ ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ... นี้ชื่อว่า ภิกษุ ที่ทรง- *ประสงค์ในอรรถนี้. ที่ชื่อว่า ไม่ได้รับสมมติ คือ สงฆ์ยังไม่ได้สมมติด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจา. ที่ชื่อว่า ภิกษุณี ได้แก่สตรีผู้อุปสมบทแล้วในสงฆ์ ๒ ฝ่าย. [๔๐๙] บทว่า กล่าวสอน ความว่า ภิกษุกล่าวสอนด้วยครุธรรม ๘ ประการ ต้องอาบัติ ปาจิตตีย์ กล่าวสอนด้วยธรรมอย่างอื่น ต้องอาบัติทุกกฏ กล่าวสอนภิกษุณีผู้อุปสมบทในภิกษุณี สงฆ์ฝ่ายเดียว ต้องอาบัติทุกกฏ. [๔๑๐] ภิกษุผู้ได้สมมติแล้วนั้น พึงกวาดบริเวณ ตั้งน้ำฉัน น้ำใช้ ปูอาสนะไว้ แล้วชวนเพื่อนภิกษุไปนั่งอยู่ด้วย. ภิกษุณีทั้งหลายพึงไป ณ ที่นั้น อภิวาทภิกษุนั้นแล้ว นั่ง ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง. ภิกษุผู้ได้รับสมมติแล้วนั้นพึงถามว่า พวกเธอพร้อมเพรียงกันแล้วหรือ น้องหญิงทั้งหลาย ถ้าพวกนางตอบว่า พวกดิฉันพร้อมเพรียงกันแล้ว เจ้าข้า. พึงถามว่า ครุธรรม ๘ ประการ ยังประพฤติกันอยู่หรือ น้องหญิงทั้งหลาย? ถ้าพวกนางตอบว่า ยังประพฤติกันอยู่ เจ้าข้า. พึงสั่งว่า นี่เป็นโอวาท น้องหญิงทั้งหลาย. ถ้าพวกนางตอบว่า ไม่ได้ประพฤติกัน เจ้าข้า. พึงตักเตือนว่าดังนี้:-
ครุธรรม ๘ ประการ
๑. ภิกษุณีอุปสมบทแล้วได้ ๑๐๐ พรรษา ต้องทำการกราบไหว้ การต้อนรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรม แก่ภิกษุผู้อุปสมบทแล้วในวันนั้น ธรรมนี้อันภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ล่วงละเมิดตลอดชีวิต. ๒. ภิกษุณีไม่พึงอยู่จำพรรษาในอาวาสที่ไม่มีภิกษุ ธรรมแม้นี้อันภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ล่วงละเมิดตลอดชีวิต. ๓. ภิกษุณีต้องหวังธรรม ๒ ประการ คือ ถามอุโบสถ ๑ ไปรับโอวาท ๑ จากภิกษุสงฆ์ ทุกกึ่งเดือน ธรรมแม้นี้อันภิกษุณีก็ต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ล่วงละเมิดตลอดชีวิต. ๔. ภิกษุณีผู้จำพรรษาแล้ว ต้องปวารณาในสงฆ์ ๒ ฝ่ายโดยสถานทั้ง ๓ คือ ด้วยได้ เห็น ๑ ด้วยได้ฟัง ๑ ด้วยรังเกียจ ๑ ธรรมแม้นี้อันภิกษุณีก็ต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ล่วงละเมิดตลอดชีวิต. ๕. ภิกษุณีล่วงละเมิดครุธรรมแล้ว ต้องประพฤติปักขมานัตในสงฆ์ ๒ ฝ่าย ธรรมแม้นี้ อันภิกษุณีก็ต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ล่วงละเมิดตลอดชีวิต. ๖. ภิกษุณีต้องแสวงหาอุปสัมปทาในสงฆ์ ๒ ฝ่าย เพื่อสิกขมานาผู้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ประการครบ ๒ ปีแล้ว ธรรมแม้นี้อันภิกษุณีก็ต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ล่วง- *ละเมิดตลอดชีวิต. ๗. ภิกษุณีไม่พึงด่า ไม่พึงบริภาษภิกษุ โดยปริยายอย่างใดอย่างหนึ่ง ธรรมแม้นี้อัน ภิกษุณีก็ต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ล่วงละเมิดตลอดชีวิต. ๘. ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ปิดทางไม่ให้ภิกษุณีทั้งหลายสอนภิกษุ เปิดทางให้ภิกษุ ทั้งหลายสอนภิกษุณีได้ ธรรมแม้นี้อันภิกษุณีก็ต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ล่วงละเมิด ตลอดชีวิต. ถ้าพวกนางตอบว่า พวกดิฉันพร้อมเพรียงกันแล้ว เจ้าข้า. ภิกษุผู้ได้รับสมมติแล้วนั้น สั่งสอนธรรมอย่างอื่น ต้องอาบัติทุกกฏ. ถ้าพวกนางตอบว่า ยังเป็นพรรคอยู่ เจ้าข้า. ภิกษุผู้ได้รับสมมติแล้วนั้น กล่าวสอนครุธรรม ๘ ต้องอาบัติทุกกฏ. ไม่ให้โอวาท สั่งสอนธรรมอย่างอื่น ต้องอาบัติทุกกฏ.
บทภาชนีย์
อัฏฐารสปาจิตตีย์
[๔๑๑] ๑. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่ากรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุณีสงฆ์ยังไม่ พร้อมเพรียงกัน ภิกษุสำคัญว่าไม่พร้อมเพรียงกัน กล่าวสอน ต้องอาบัติปาจิตตีย์. ๒. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่ากรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุณีสงฆ์ยังไม่พร้อมเพรียงกัน ภิกษุสงสัย กล่าวสอน ต้องอาบัติปาจิตตีย์. ๓. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่ากรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุณีสงฆ์ยังไม่พร้อมเพรียง กัน ภิกษุสำคัญว่าพร้อมเพรียงกัน กล่าวสอน ต้องอาบัติปาจิตตีย์. [๔๑๒] ๔. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสงสัย ภิกษุณีสงฆ์ยังไม่พร้อมเพรียงกัน ภิกษุ สำคัญว่าไม่พร้อมเพรียงกัน กล่าวสอน ต้องอาบัติปาจิตตีย์. ๕. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสงสัย ภิกษุณีสงฆ์ยังไม่พร้อมเพรียงกัน ภิกษุสงสัย กล่าวสอน ต้องอาบัติปาจิตตีย์. ๖. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสงสัย ภิกษุณีสงฆ์ยังไม่พร้อมเพรียงกัน ภิกษุสำคัญว่า พร้อมเพรียงกัน กล่าวสอน ต้องอาบัติปาจิตตีย์. [๔๑๓] ๗. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่ากรรมเป็นธรรม ภิกษุณีสงฆ์ยังไม่พร้อม- *เพรียงกัน ภิกษุสำคัญว่าไม่พร้อมเพรียงกัน กล่าวสอน ต้องอาบัติปาจิตตีย์. ๘. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสงสัย ภิกษุณีสงฆ์ยังไม่พร้อมเพรียงกัน ภิกษุสงสัย กล่าวสอน ต้องอาบัติปาจิตตีย์. ๙. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสงสัย ภิกษุณีสงฆ์ยังไม่พร้อมเพรียงกัน ภิกษุสำคัญว่า พร้อมเพรียงกัน กล่าวสอน ต้องอาบัติปาจิตตีย์. [๔๑๔] ๑๐. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่ากรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุณีสงฆ์พร้อม- *เพรียงกัน ภิกษุสำคัญว่ายังไม่พร้อมเพรียงกัน กล่าวสอน ต้องอาบัติปาจิตตีย์. ๑๑. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่ากรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุณีสงฆ์พร้อมเพรียงกัน ภิกษุสงสัย กล่าวสอน ต้องอาบัติปาจิตตีย์. ๑๒. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่ากรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุณีสงฆ์พร้อมเพรียงกัน ภิกษุสำคัญว่าพร้อมเพรียงกัน กล่าวสอน ต้องอาบัติปาจิตตีย์. [๔๑๕] ๑๓. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสงสัย ภิกษุณีสงฆ์พร้อมเพรียงกัน ภิกษุสำคัญ ว่ายังไม่พร้อมเพรียงกัน กล่าวสอน ต้องอาบัติปาจิตตีย์. ๑๔. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสงสัย ภิกษุณีสงฆ์พร้อมเพรียงกัน ภิกษุสงสัย กล่าวสอน ต้องอาบัติปาจิตตีย์. ๑๕. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสงสัย ภิกษุณีสงฆ์พร้อมเพรียงกัน ภิกษุสำคัญว่า พร้อมเพรียงกัน กล่าวสอน ต้องอาบัติปาจิตตีย์. [๔๑๖] ๑๖. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่ากรรมเป็นธรรม ภิกษุณีสงฆ์พร้อมเพรียง กัน ภิกษุสำคัญว่ายังไม่พร้อมเพรียงกัน กล่าวสอน ต้องอาบัติปาจิตตีย์. ๑๗. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่ากรรมเป็นธรรม ภิกษุณีสงฆ์พร้อมเพรียงกัน ภิกษุสงสัย กล่าวสอน ต้องอาบัติปาจิตตีย์. ๑๘. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่ากรรมเป็นธรรม ภิกษุณีสงฆ์พร้อมเพรียงกัน ภิกษุสำคัญว่าพร้อมเพรียงกัน กล่าวสอน ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
สัตตรสทุกกฏ
[๔๑๗] ๑. กรรมเป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่ากรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุณีสงฆ์ยังไม่พร้อม- *เพรียงกัน ภิกษุสำคัญว่ายังไม่พร้อมเพรียงกัน กล่าวสอน ต้องอาบัติทุกกฏ. ๒. กรรมเป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่ากรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุณีสงฆ์ยังไม่พร้อมเพรียงกัน ภิกษุสงสัย กล่าวสอน ต้องอาบัติทุกกฏ. ๓. กรรมเป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่ากรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุณีสงฆ์ยังไม่พร้อมเพรียงกัน ภิกษุสำคัญว่าพร้อมเพรียงกัน กล่าวสอน ต้องอาบัติทุกกฏ. [๔๑๘] ๔. กรรมเป็นธรรม ภิกษุสงสัย ภิกษุณีสงฆ์ยังไม่พร้อมเพรียงกัน ภิกษุ สำคัญว่ายังไม่พร้อมเพรียงกัน กล่าวสอน ต้องอาบัติทุกกฏ. ๕. กรรมเป็นธรรม ภิกษุสงสัย ภิกษุณีสงฆ์ยังไม่พร้อมเพรียงกัน ภิกษุสงสัย กล่าวสอน ต้องอาบัติทุกกฏ. ๖. กรรมเป็นธรรม ภิกษุสงสัย ภิกษุณีสงฆ์ยังไม่พร้อมเพรียงกัน ภิกษุสำคัญว่า พร้อมเพรียงกัน กล่าวสอน ต้องอาบัติทุกกฏ. [๔๑๙] ๗. กรรมเป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่ากรรมเป็นธรรม ภิกษุณีสงฆ์ยังไม่พร้อม- *เพรียงกัน ภิกษุสำคัญว่ายังไม่พร้อมเพรียงกัน กล่าวสอน ต้องอาบัติทุกกฏ. ๘. กรรมเป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่ากรรมเป็นธรรม ภิกษุณีสงฆ์ยังไม่พร้อมเพรียงกัน ภิกษุสงสัย กล่าวสอน ต้องอาบัติทุกกฏ. ๙. กรรมเป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่ากรรมเป็นธรรม ภิกษุณีสงฆ์ยังไม่พร้อมเพรียงกัน ภิกษุสำคัญว่าพร้อมเพรียงกัน กล่าวสอน ต้องอาบัติทุกกฏ. [๔๒๐] ๑๐. กรรมเป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่ากรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุณีสงฆ์พร้อม- *เพรียงกัน ภิกษุสำคัญว่ายังไม่พร้อมเพรียงกัน กล่าวสอน ต้องอาบัติทุกกฏ. ๑๑. กรรมเป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่ากรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุณีสงฆ์พร้อมเพรียงกัน ภิกษุสงสัย กล่าวสอน ต้องอาบัติทุกกฏ. ๑๒. กรรมเป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่ากรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุณีสงฆ์พร้อมเพรียงกัน ภิกษุสำคัญว่าพร้อมเพรียงกัน กล่าวสอน ต้องอาบัติทุกกฏ. [๔๒๑] ๑๓. กรรมเป็นธรรม ภิกษุสงสัย ภิกษุณีสงฆ์พร้อมเพรียงกัน ภิกษุสำคัญ ว่ายังไม่พร้อมเพรียงกัน กล่าวสอน ต้องอาบัติทุกกฏ. ๑๔. กรรมเป็นธรรม ภิกษุสงสัย ภิกษุณีสงฆ์พร้อมเพรียงกัน ภิกษุสงสัย กล่าวสอน ต้องอาบัติทุกกฏ. ๑๕. กรรมเป็นธรรม ภิกษุสงสัย ภิกษุณีสงฆ์พร้อมเพรียงกัน ภิกษุสำคัญว่าพร้อม- *เพรียงกัน กล่าวสอน ต้องอาบัติทุกกฏ. [๔๒๒] ๑๖. กรรมเป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่ากรรมเป็นธรรม ภิกษุณีสงฆ์พร้อมเพรียง กัน ภิกษุสำคัญว่ายังไม่พร้อมเพรียงกัน กล่าวสอน ต้องอาบัติทุกกฏ. ๑๗. กรรมเป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่ากรรมเป็นธรรม ภิกษุณีสงฆ์พร้อมเพรียงกัน ภิกษุ สงสัย กล่าวสอน ต้องอาบัติทุกกฏ.
ไม่ต้องอาบัติ
กรรมเป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่ากรรมเป็นธรรม ภิกษุณีสงฆ์พร้อมเพรียงกัน ภิกษุสำคัญ ว่าพร้อมเพรียงกัน กล่าวสอน ไม่ต้องอาบัติ.
อนาปัตติวาร
[๔๒๓] ภิกษุให้อุเทศ ๑ ภิกษุให้ปริปุจฉา ๑ ภิกษุอันภิกษุณีกล่าวว่า นิมนต์ท่าน สวดเถิด เจ้าข้า ดังนี้ สวดอยู่ ๑ ภิกษุถามปัญหา ๑ ภิกษุถูกถามปัญหาแล้วแก้ ๑ ภิกษุ กล่าวสอนเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นอยู่ แต่พวกภิกษุณีฟังอยู่ด้วย ๑ ภิกษุกล่าวสอนสิกขมานา ๑ ภิกษุกล่าวสอนสามเณรี ๑ ภิกษุวิกลจริต ๑ ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.
โอวาทวรรค สิกขาบทที่ ๑ จบ.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒ บรรทัดที่ ๙๒๖๘-๙๕๐๗ หน้าที่ ๓๘๒-๓๙๑. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=2&A=9268&Z=9507&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=2&siri=57              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=2&i=406              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [406-423] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=2&item=406&items=18              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=7400              The Pali Tipitaka in Roman :- [406-423] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=2&item=406&items=18              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=7400              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ https://84000.org/tipitaka/read/?index_2              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-pc21/en/brahmali

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :