ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑
พระมหากัสสปเถระเดินทางไปทำอุโบสถ
[๑๖๒] ก็โดยสมัยนั้นแล ท่านพระมหากัสสปมาจากอันธกวินทวิหาร สู่พระนครราชคฤห์ เพื่อทำอุโบสถ ในระหว่างทางข้ามแม่น้ำ เกือบถูกน้ำพัดไป จีวรของท่านเปียก. ภิกษุ ทั้งหลายได้ถามท่านพระมหากัสสปว่า อาวุโส เพราะเหตุไร จีวรของท่านจึงเปียก? ท่านตอบว่า อาวุโสทั้งหลาย ผมมาจากอันธกวินทวิหารสู่พระนครราชคฤห์ เพื่อทำอุโบสถ ณ ที่นี้ ได้ข้าม แม่น้ำ ในระหว่างทาง เกือบถูกน้ำพัดไป เพราะเหตุนั้น จีวรของผมจึงเปียก. ภิกษุทั้งหลาย จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สีมานั้นใดอันสงฆ์สมมติไว้แล้วให้มีสังวาสเสมอกัน มีอุโบสถเดียวกัน สงฆ์จงสมมติสีมานั้น ให้เป็นแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร.
วิธีสมมติติจีวราวิปปวาส
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แล พึงสมมติติจีวราวิปปวาสสีมาอย่างนี้. ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้:-
กรรมวาจาสมมติติจีวราวิปปวาส
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สีมานั้นใดอันสงฆ์สมมติไว้แล้ว ให้มีสังวาสเสมอกัน มีอุโบสถเดียวกัน. ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงสมมติสีมานั้น ให้เป็นแดน ไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร. นี้เป็นญัตติ. ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สีมานั้นใดอันสงฆ์สมมติไว้แล้ว ให้มีสังวาส เสมอกัน มีอุโบสถเดียวกัน สงฆ์สมมติอยู่บัดนี้ซึ่งสีมานั้น ให้เป็นแดนไม่อยู่ปราศจาก ไตรจีวร. การสมมติสีมานี้ให้เป็นแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้น พึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด. สีมานั้นสงฆ์สมมติให้เป็นแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวรแล้ว ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้น จึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ ด้วยอย่างนี้. สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตการสมมติติจีวราวิปปวาส แล้ว จึงเก็บจีวรไว้ในละแวกบ้าน. จีวรเหล่านั้นหายบ้าง ถูกไฟไหม้บ้าง ถูกหนูกัดบ้าง. ภิกษุ ทั้งหลายมีแต่ผ้าไม่ดี มีจีวรเศร้าหมอง. ภิกษุทั้งหลายจึงถามกันอย่างนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย เพราะเหตุไร พวกท่านจึงมีแต่ผ้าไม่ดี มีจีวรเศร้าหมองเล่า? ภิกษุเหล่านั้นตอบว่า อาวุโสทั้งหลาย พวกผมทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตการ สมมติติจีวราวิปปวาสแล้ว จึงเก็บจีวรไว้ในละแวกบ้าน ณ ตำบลนี้ จีวรเหล่านั้นหายเสียบ้าง ถูกไฟไหม้บ้าง ถูกหนูกัดบ้าง เพราะเหตุนั้น พวกผมจึงมีแต่ผ้าไม่ดี มีจีวรเศร้าหมอง. ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุ ทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สีมานั้นใดอันสงฆ์สมมติไว้แล้วให้มีสังวาสเสมอกัน มีอุโบสถ เดียวกัน สงฆ์จงสมมติสีมานั้นให้เป็นแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร เว้นบ้านและอุปจารแห่งบ้าน.
วิธีสมมติติจีวราวิปปวาส
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แล พึงสมมติติจีวราวิปปวาสสีมาอย่างนี้. ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้:-
กรรมวาจาสมมติติจีวราวิปปวาส
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สีมานั้นใดอันสงฆ์สมมติไว้แล้ว ให้มีสังวาส เสมอกัน มีอุโบสถเดียวกัน ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงสมมติสีมานั้น ให้เป็นแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร เว้นบ้านและอุปจารแห่งบ้าน. นี้เป็นญัตติ. ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สีมานั้นใดอันสงฆ์สมมติไว้แล้ว ให้มีสังวาส เสมอกัน มีอุโบสถเดียวกัน สงฆ์สมมติอยู่บัดนี้ซึ่งสีมานั้น ให้เป็นแดนไม่อยู่ปราศจาก ไตรจีวร เว้นบ้านและอุปจารแห่งบ้าน. การสมมติสีมานี้ให้เป็นแดนไม่อยู่ปราศจากไตร- *จีวร เว้นบ้านและอุปจารแห่งบ้าน ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด. สีมานั้นสงฆ์สมมติให้เป็นแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร เว้นบ้านและอุปจารแห่งบ้าน แล้ว ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ ด้วยอย่างนี้. [๑๖๓] พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุจะ สมมติสีมา พึงสมมติสมานสังวาสสีมาก่อน ภายหลังจึงสมมติติจีวราวิปปวาส. เมื่อจะถอนสีมา พึงถอนติจีวราวิปปวาสก่อน ภายหลังจึงถอนสมานสังวาสสีมา.
วิธีถอนติจีวราวิปปวาส
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แล พึงถอนติจีวราวิปปวาสอย่างนี้. ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้:-
กรรมวาจาถอนติจีวราวิปปวาส
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า แดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวรนั้นใด อันสงฆ์สมมติ ไว้แล้ว ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงถอนแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวรนั้น. นี้เป็นญัตติ. ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า แดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวรนั้นใด อันสงฆ์ สมมติไว้แล้ว สงฆ์ถอนอยู่บัดนี้ซึ่งแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวรนั้น การถอนแดนไม่อยู่ ปราศจากไตรจีวรนั้น ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่าน ผู้นั้นพึงพูด. แดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวรนั้น สงฆ์ถอนแล้ว ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้า ทรงความนี้ไว้ ด้วยอย่างนี้.
วิธีถอนสมานสังวาสสีมา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แล พึงถอนสมานสังวาสสีมาอย่างนี้. ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้:-
กรรมวาจาถอนสมานสังวาสสีมา
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สีมานั้นใดอันสงฆ์สมมติไว้แล้ว ให้มีสังวาส เสมอกัน ให้มีอุโบสถเดียวกัน ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงถอนสีมานั้น. นี้เป็นญัตติ. ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สีมานั้นใดอันสงฆ์สมมติไว้แล้ว ให้มีสังวาส เสมอกัน ให้มีอุโบสถเดียวกัน สงฆ์ถอนอยู่บัดนี้ซึ่งสีมานั้น การถอนสีมามีสังวาสเสมอกัน มีอุโบสถเดียวกันนี้ ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้น พึงพูด. สีมามีสังวาสเสมอกัน มีอุโบสถเดียวกันนั้น อันสงฆ์ถอนแล้ว ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้น จึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ ด้วยอย่างนี้.
อพัทธสีมา
[๑๖๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อสงฆ์ยังไม่ได้สมมติ ยังไม่ได้กำหนดสีมา ภิกษุเข้าอาศัย บ้านหรือนิคมใดอยู่ เขตของบ้านนั้น เป็นคามสีมาบ้าง เขตของนิคมนั้น เป็นนิคมสีมาบ้าง สีมานี้มีสังวาสเสมอกัน มีอุโบสถเดียวกัน ในบ้านหรือนิคมนั้น. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าในป่าหาคนตั้งบ้านเรือนมิได้ ชั่ว ๗ อัพภันดรโดยรอบ เป็น สัตตัพภันดรสีมา สีมานี้มีสังวาสเสมอกัน มีอุโบสถเดียวกันในป่านั้น. ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม่น้ำทั้งหมด สมมติเป็นสีมาไม่ได้ สมุทรทั้งหมด สมมติเป็น สีมาไม่ได้ ชาตสระทั้งหมด สมมติเป็นสีมาไม่ได้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในแม่น้ำ ในสมุทร หรือในชาตสระ ชั่ววักน้ำสาด โดยรอบแห่ง มัชฌิมบุรุษ เป็นอุทกุกเขปสีมา สีมานี้มีสังวาสเสมอกัน มีอุโบสถเดียวกัน ในน่านน้ำนั้น.
สีมาสังกระ
[๑๖๕] ก็โดยสมัยนั้นแล พระฉัพพัคคีย์สมมติสีมาคาบเกี่ยวสีมา. ภิกษุทั้งหลายกราบ ทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สีมาอันภิกษุเหล่าใดสมมติไว้ก่อนแล้ว กรรมนั้นของภิกษุเหล่านั้นเป็นธรรม ไม่กำเริบ ควรแก่ ฐานะ สีมาอันภิกษุเหล่าใดสมมติแล้วในภายหลัง กรรมนั้นของภิกษุเหล่านั้นไม่เป็นธรรม กำเริบ ไม่ควรแก่ฐานะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสมมติสีมาคาบเกี่ยวสีมา รูปใดสมมติคาบเกี่ยว ต้อง อาบัติทุกกฏ.
สีมาทับสีมา
สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์สมมติสีมาทับสีมา. ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มี พระภาค. พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สีมาอันภิกษุเหล่าใด สมมติไว้ก่อนแล้ว กรรมนั้นของภิกษุเหล่านั้นเป็นธรรม ไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะ สีมาอันภิกษุ เหล่าใดสมมติแล้วในภายหลัง กรรมนั้นของภิกษุเหล่านั้นไม่เป็นธรรม กำเริบ ไม่ควรแก่ฐานะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสมมติสีมาทับสีมา รูปใดสมมติทับ ต้องอาบัติทุกกฏ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้จะสมมติสีมา เว้นสีมันตริกไว้ แล้วสมมติสีมา.

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ บรรทัดที่ ๔๓๑๙-๔๔๑๙ หน้าที่ ๑๗๗-๑๘๑. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=4&A=4319&Z=4419&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=4&siri=56              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=4&i=162              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [162-165] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=4&item=162&items=4              The Pali Tipitaka in Roman :- [162-165] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=4&item=162&items=4              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ https://84000.org/tipitaka/read/?index_4              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/04i147-e.php#topic12 https://suttacentral.net/pli-tv-kd2/en/brahmali#pli-tv-kd2:12.1.0 https://suttacentral.net/pli-tv-kd2/en/horner-brahmali#Kd.2.12.1

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :