ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๑ สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค
อภิสมยวรรคที่ ๖
นขสิขาสูตร
ว่าด้วยทุกข์ของพระอริยะเท่ากับฝุ่นที่ปลายเล็บ
[๑๗๔๗] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงช้อนฝุ่นเล็กน้อย ไว้ที่ปลายพระนขาแล้ว ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้วตรัสถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้น เป็นไฉน ฝุ่นเล็กน้อยที่ปลายเล็บที่เราช้อนขึ้นนี้กับมหาปฐพีนี้ อย่างไหนจะมากกว่ากัน? ภิกษุ ทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มหาปฐพีมากกว่า ฝุ่นเล็กน้อยที่ปลายพระนขาอัน พระผู้มีพระภาคทรงช้อนขึ้นนี้ มีประมาณน้อย เมื่อเทียบกับมหาปฐพีแล้ว ฝุ่นเล็กน้อยที่ปลาย พระนขาที่พระผู้มีพระภาคช้อนขึ้นแล้ว ย่อมไม่ถึงซึ่งการนับ การเปรียบเทียบ หรือแม้ส่วนเสี้ยว. พ. อย่างนั้นเหมือนกัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทุกข์ของบุคคลผู้เป็นอริยสาวกผู้สมบูรณ์ ด้วยทิฏฐิ ผู้ตรัสรู้ ผู้รู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ที่สิ้นไป หมดไป มากกว่า ที่ยังเหลือมีประมาณน้อย ย่อมไม่ถึงซึ่งการนับ การเปรียบเทียบ หรือแม้ ส่วนเสี้ยว เมื่อเทียบกับกองทุกข์อันมีในก่อนที่สิ้นไป หมดไปแล้ว อย่างสูงเพียง ๗ ชาติ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.
จบ สูตรที่ ๑
โปกขรณีสูตร
ว่าด้วยทุกข์ของพระอริยะเท่ากับน้ำปลายหญ้าคา
[๑๗๔๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนสระโบกขรณี โดยยาว ๕๐ โยชน์ โดย กว้าง ๕๐ โยชน์ สูง ๕๐ โยชน์ เต็มด้วยน้ำเปี่ยมฝั่ง กาดื่มกินได้บุรุษเอาปลายหญ้าคาจุ่มน้ำขึ้น จากสระนั้น เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน น้ำที่เขาเอาปลายหญ้าคาจุ่มขึ้น กับน้ำใน สระโบกขรณี ไหนจะมากกว่ากัน? ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น้ำในสระ โบกขรณีมากกว่า น้ำที่เขาเอาปลายหญ้าคาจุ่มขึ้นมีประมาณน้อย เมื่อเทียบกับน้ำในสระโบกขรณี แล้ว น้ำที่เขาเอาปลายหญ้าคาจุ่มขึ้น ย่อมไม่ถึงซึ่งการนับ การเปรียบเทียบ หรือแม้ส่วนเสี้ยว. พ. ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุทั้งหลาย ทุกข์ของบุคคลผู้เป็นอริยสาวก ฯลฯ เธอ ทั้งหลายพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.
จบ สูตรที่ ๒
สัมเภชชสูตรที่ ๑
เปรียบทุกข์ที่ยังเหลือเท่ากับหยดน้ำ
[๑๗๔๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนแม่น้ำใหญ่เหล่านี้ คือ แม่น้ำคงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหี ย่อมไหลไปไม่ขาดสายในที่ใด บุรุษตักน้ำ ๒-๓ หยดขึ้นจากที่นั้น เธอ ทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน น้ำ ๒-๓ หยดที่เขาตักขึ้น กับน้ำที่ไหลไปประจบกัน ไหนจะมากกว่ากัน? ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น้ำที่ไหลไปประจบมากกว่า น้ำ ๒-๓ หยดที่เขาตักขึ้นมีประมาณน้อย เมื่อเทียบกับน้ำที่ไหลไปประจบกัน น้ำ ๒-๓ หยดที่ เขาตักขึ้น ย่อมไม่ถึงซึ่งการนับ การเปรียบเทียบ หรือแม้ส่วนเสี้ยว. พ. ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุทั้งหลาย ทุกข์ของบุคคลผู้เป็นอริยสาวก ฯลฯ เธอ ทั้งหลายพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.
จบ สูตรที่ ๓
สัมเภชชสูตรที่ ๒
เปรียบทุกข์ที่หมดไปเท่ากับน้ำในแม่น้ำ
[๑๗๕๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนแม่น้ำใหญ่เหล่านี้ คือ แม่น้ำคงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหี ย่อมไหลไปไม่ขาดสายในที่ใด น้ำนั้น พึงถึงความสิ้นไป หมดไป ยังเหลือ น้ำ ๒-๓ หยด เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เมื่อเทียบน้ำที่ไหลไปประจบกันซึ่ง สิ้นไป หมดไป กับน้ำ ๒-๓ หยดที่ยังเหลือ ไหนจะมากกว่ากัน? ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น้ำที่ไหลไปประจบกันซึ่งสิ้นไป หมดไป มากกว่า น้ำ ๒-๓ หยดที่ยังเหลือ อยู่ น้อยกว่า เมื่อเทียบกับน้ำที่ไหลไปประจบกัน ซึ่งสิ้นไป หมดไปแล้ว น้ำ ๒-๓ หยดที่ยัง เหลืออยู่ ย่อมไม่ถึงซึ่งการนับ การเปรียบเทียบ หรือแม้ส่วนเสี้ยว. พ. ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุทั้งหลาย ทุกข์ของบุคคลผู้เป็นอริยสาวก ฯลฯ เธอ ทั้งหลายพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.
จบ สูตรที่ ๔
ปฐวีสูตรที่ ๑
เปรียบทุกข์ที่ยังเหลือเท่ากับก้อนดิน
[๑๗๕๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษเก็บก้อนดินประมาณเท่าเมล็ดกระเบา ๗ ก้อนจากแผ่นดินใหญ่ เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ก้อนดินประมาณเท่าเมล็ด กระเบา ๗ ก้อน ที่เขาเก็บไว้ กับแผ่นดินใหญ่ ไหนจะมากกว่ากัน? ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แผ่นดินใหญ่มากกว่า ก้อนดินเท่าเมล็ดกระเบา ๗ ก้อน ที่เขาเก็บไว้ มี ประมาณน้อย เมื่อเทียบกับแผ่นดินใหญ่ ก้อนดินประมาณเท่าเมล็ดกระเบา ๗ ก้อน ที่เขาเก็บไว้ ย่อมไม่ถึงซึ่งการนับ การเปรียบเทียบ หรือแม้ส่วนเสี้ยว. พ. ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุทั้งหลาย ทุกข์ของบุคคลผู้เป็นอริยสาวก ฯลฯ เธอ ทั้งหลายพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.
จบ สูตรที่ ๕
ปฐวีสูตรที่ ๒
เปรียบทุกข์ที่หมดไปเท่ากับแผ่นดิน
[๑๗๕๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย แผ่นดินใหญ่พึงถึงความสิ้นไป หมดไป ยังเหลือ ก้อนดินประมาณเท่าเมล็ดกระเบา ๗ ก้อน เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ความ หมดไป สิ้นไป ของแผ่นดินใหญ่ กับก้อนดินประมาณเท่าเมล็ดกระเบา ๗ ก้อน ที่ยังเหลือ ไหนจะมากกว่ากัน? ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แผ่นดินใหญ่หมดไป สิ้นไป มากกว่า ก้อนดินประมาณเท่าเมล็ดกระเบา ๗ ก้อน ที่ยังเหลืออยู่ มีประมาณน้อย เมื่อเทียบกับแผ่นดินใหญ่ที่หมดไป สิ้นไป ก้อนดินประมาณเท่าเมล็ดกระเบา ๗ ก้อน ที่ยัง เหลืออยู่ ย่อมไม่ถึงซึ่งการนับ การเปรียบเทียบ หรือแม้ส่วนเสี้ยว. พ. ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุทั้งหลาย ทุกข์ของบุคคลผู้เป็นอริยสาวก ฯลฯ เธอ ทั้งหลายพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.
จบ สูตรที่ ๖
สมุททสูตรที่ ๑
เปรียบทุกข์ที่เหลือเท่ากับหยดน้ำ
[๑๗๕๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษตักน้ำมหาสมุทร ๒-๓ หยด เธอ ทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน น้ำ ๒-๓ หยดที่เขาตักขึ้น กับน้ำในมหาสมุทร ไหน จะมากกว่ากัน? ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น้ำในมหาสมุทรมากกว่า น้ำ ๒-๓ หยด ที่เขาตักขึ้นมีประมาณน้อย เมื่อเทียบกับน้ำในมหาสมุทร น้ำ ๒-๓ หยด ที่เขา ตักขึ้น ย่อมไม่ถึงซึ่งการนับ การเปรียบเทียบ หรือแม้ส่วนเสี้ยว. พ. ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุทั้งหลาย ทุกข์ของบุคคลผู้เป็นอริยสาวก ฯลฯ เธอ ทั้งหลายพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.
จบ สูตรที่ ๗
สมุททสูตรที่ ๒
เปรียบทุกข์ที่หมดเท่ากับมหาสมุทร
[๑๗๕๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนมหาสมุทรพึงถึงความสิ้นไป หมดไป ยังเหลือน้ำ ๒-๓ หยด เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน น้ำในมหาสมุทรที่สิ้นไป หมดไป กับน้ำ ๒-๓ หยด ที่ยังเหลือ ไหนจะมากกว่ากัน? ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ น้ำในมหาสมุทรที่สิ้นไป หมดไปมากกว่า น้ำ ๒-๓ หยด ที่ยังเหลือมีประมาณ น้อย เมื่อเทียบกับน้ำในมหาสมุทรที่สิ้นไป หมดไป น้ำ ๒-๓ หยด ที่ยังเหลือ ย่อมไม่ถึงซึ่ง การนับ การเปรียบเทียบ หรือแม้ส่วนเสี้ยว. พ. ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุทั้งหลาย ทุกข์ของบุคคลผู้เป็นอริยสาวก ฯลฯ เธอ ทั้งหลายพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.
จบ สูตรที่ ๘
ปัพพตูปมาสูตรที่ ๑
เปรียบทุกข์ที่เหลือเท่ากับก้อนหิน
[๑๗๕๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษเก็บก้อนหินประมาณเท่าเมล็ดผักกาด ๗ ก้อน แห่งขุนเขาหิมวันต์ เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ก้อนหินประมาณเท่า เมล็ดผักกาด ๗ ก้อน ที่เขาเก็บไว้ กับขุนเขาหิมวันต์ ไหนจะมากกว่ากัน? ภิกษุทั้งหลาย กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขุนเขาหิมวันต์มากกว่า ก้อนหินประมาณเท่าเมล็ดผักกาด ๗ ก้อน ที่เขาเก็บไว้ มีประมาณน้อย เมื่อเทียบกับขุนเขาหิมวันต์ ก้อนหินประมาณเท่าเมล็ดผักกาด ๗ ก้อน ที่เขาเก็บไว้ย่อมไม่ถึงซึ่งการนับ การเปรียบเทียบ หรือแม้ส่วนเสี้ยว. พ. ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุทั้งหลาย ทุกข์ของบุคคลผู้เป็นอริยสาวก ฯลฯ เธอ ทั้งหลายพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.
จบ สูตรที่ ๙
ปัพพตูปมาสูตรที่ ๒
เปรียบทุกข์ที่หมดไปเท่ากับขุนเขา
[๑๗๕๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนขุนเขาหิมวันต์ พึงถึงความสิ้นไป หมดไป ยังเหลือก้อนหินประมาณเท่าเมล็ดผักกาด ๗ ก้อน เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ขุนเขาหิมวันต์ที่สิ้นไป หมดไป กับก้อนหินประมาณเท่าเมล็ดผักกาด ๗ ก้อน ที่ยังเหลืออยู่ ไหนจะมากกว่ากัน? ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขุนเขาหิมวันต์ที่สิ้นไป หมดไป มากกว่าก้อนหินประมาณเท่าเมล็ดผักกาด ๗ ก้อน ที่ยังเหลืออยู่ มีประมาณน้อย เมื่อ เทียบกับขุนเขาหิมวันต์ที่สิ้นไป หมดไป ก้อนหินประมาณเท่าเมล็ดผักกาด ๗ ก้อน ที่ยังเหลืออยู่ ย่อมไม่ถึงซึ่งการนับ การเปรียบเทียบ หรือแม้ส่วนเสี้ยว. พ. ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุทั้งหลาย ทุกข์ของบุคคลผู้เป็นอริยสาวก ผู้สมบูรณ์ ด้วยทิฏฐิ ผู้ตรัสรู้ ผู้รู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ที่สิ้นไป หมด ไป มากกว่า ที่ยังเหลือมีประมาณน้อย ย่อมไม่ถึงซึ่งการนับการเปรียบเทียบ หรือแม้ส่วนเสี้ยว เมื่อเทียบกับกองทุกข์อันมีในก่อนที่สิ้นไป หมดไป อย่างสูงเพียง ๗ ชาติ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.
จบ สูตรที่ ๑๐
จบ อภิสมยวรรคที่ ๖
-----------------------------------------------------
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. นขสิขาสูตร ๒. โปกขรณีสูตร ๓. สัมเภชชสูตรที่ ๑ ๔. สัมเภชชสูตรที่ ๒ ๕. ปฐวีสูตรที่ ๑ ๖. ปฐวีสูตรที่ ๒ ๗. สมุททสูตรที่ ๑ ๘. สมุททสูตรที่ ๒ ๙. ปัพพตูปมาสูตรที่ ๑ ๑๐. ปัพพตูปมาสูตรที่ ๒
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙ บรรทัดที่ ๑๐๗๗๒-๑๐๙๐๑ หน้าที่ ๔๕๑-๔๕๖. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=19&A=10772&Z=10901&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=19&siri=431              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=19&i=1747              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [1747-1756] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=19&item=1747&items=10              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=13&A=8410              The Pali Tipitaka in Roman :- [1747-1756] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=19&item=1747&items=10              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=13&A=8410              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๙ https://84000.org/tipitaka/read/?index_19              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/sn56.51/en/sujato

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :