ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๑ สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค
คิลานสูตร
ว่าด้วยมีตนเป็นเกาะ
[๗๐๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เวฬุวคาม ใกล้เมืองเวสาลี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้วตรัสว่า มาเถิด ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเข้า จำพรรษาในเมืองเวสาลีโดยรอบ ตามมิตร ตามสหาย ตามพวก (ของตนๆ) เถิด เราจะเข้า จำพรรษา ณ เวฬุวคามนี้แล ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว เข้าจำพรรษา ในเมืองเวสาลีโดยรอบ ตามมิตร ตามสหาย ตามพวก (ของตนๆ). [๗๐๙] ส่วนพระผู้มีพระภาคทรงเข้าจำพรรษา ณ เวฬุวคาม นั้นแหละ เมื่อพระผู้มี พระภาคทรงเข้าจำพรรษาแล้ว อาพาธกล้าบังเกิดขึ้น เวทนาอย่างหนักใกล้มรณะเป็นไปอยู่ ได้ ยินว่า ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคทรงพระดำรงสติสัมปชัญญะ ทรงอดกลั้น ไม่ทรงพรั่นพรึง ครั้งนั้น พระองค์ทรงพระดำริว่า การที่เรายังไม่บอกภิกษุผู้อุปัฏฐาก ยังไม่อำลาภิกษุสงฆ์ แล้ว ปรินิพพานเสียนั้น หาสมควรแก่เราไม่ ไฉนหนอ เราพึงขับไล่อาพาธนี้เสียด้วยความเพียร แล้ว ดำรงชีวิตสังขารอยู่ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงขับไล่พระประชวรนั้นด้วยความเพียร แล้วทรง ดำรงชีวิตสังขารอยู่ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงหายจากพระประชวรแล้ว ทรงหายจากความไข้ ไม่นาน ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้ในร่มแห่งวิหาร. [๗๑๐] ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคม พระผู้มีพระภาคแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้า แต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เห็นพระผู้มีพระภาคทรงอดทน ข้าพระองค์เห็นพระผู้มีพระภาคทรง ยังอัตภาพให้เป็นไป กายของข้าพระองค์ประหนึ่งจะงอมระงมไป แม้ทิศทั้งหลายก็ไม่ปรากฏแก่ข้า พระองค์ แม้ธรรมทั้งหลายก็ไม่แจ่มแจ้งแก่ข้าพระองค์ เพราะความประชวรของพระผู้มีพระภาค แต่ข้าพระองค์มาเบาใจอยู่หน่อยหนึ่งว่า พระผู้มีพระภาคยังไม่ทรงปรารภภิกษุสงฆ์ แล้วตรัส พระพุทธพจน์อันใดอันหนึ่ง จักยังไม่เสด็จปรินิพพานก่อน พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ ก็บัดนี้ ภิกษุสงฆ์จะยังมาหวังอะไรในเราเล่า ธรรมอันเราแสดงแล้วกระทำไม่ให้มีในภายใน ไม่ให้ มีในภายนอก กำมืออาจารย์ในธรรมทั้งหลาย มิได้มีแก่ตถาคต ผู้ใดพึงมีความดำริฉะนี้ว่า เราจัก บริหารภิกษุสงฆ์ หรือว่าภิกษุสงฆ์ยังมีตัวเราเป็นที่เชิดชู ผู้นั้นจะพึงปรารภภิกษุสงฆ์ แล้วกล่าว คำอันใดอันหนึ่งแน่นอน ดูกรอานนท์ ตถาคตมิได้มีความดำริอย่างนี้ว่า เราจักบริหารภิกษุสงฆ์ หรือว่าภิกษุสงฆ์มีตัวเราเป็นที่เชิดชู ดังนี้ ตถาคตจักปรารภภิกษุสงฆ์แล้วกล่าวคำอันใดอันหนึ่ง ทำไมอีกเล่า บัดนี้เราก็แก่เฒ่า เป็นผู้ใหญ่ ล่วงกาลผ่านวัยแล้ว วัยของเราเป็นมาถึง ๘๐ ปีแล้ว เกวียนเก่ายังจะใช้ไปได้ก็เพราะการซ่อมแซมด้วยไม้ไผ่ ฉันใด กายของตถาคตก็ฉันนั้นเหมือนกัน ยังเป็นไปได้ก็คล้ายกับเกวียนเก่าที่ซ่อมแซมแล้วด้วยไม้ไผ่ ฉะนั้น. [๗๑๑] ดูกรอานนท์ สมัยใด ตถาคตเข้าเจโตสมาธิอันไม่มีนิมิต เพราะไม่กระทำ ไว้ในใจซึ่งนิมิตทั้งปวง เพราะดับเวทนาบางเหล่าแล้วอยู่ สมัยนั้น กายของตถาคตย่อมผาสุก เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายจงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ จง มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่เถิด. [๗๑๒] ดูกรอานนท์ ก็ภิกษุเป็นผู้มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกาย ในกายอยู่ ... เวทนาในเวทนา ... จิตในจิต ... ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มี สัมปชัญญะ มีสติกำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสีย ดูกรอานนท์ ภิกษุเป็นผู้มีตนเป็นเกาะมีตน เป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ อย่างนี้แล. [๗๑๓] ดูกรอานนท์ ก็ผู้ใดผู้หนึ่งในบัดนี้ก็ดี ในเวลาที่เราล่วงไปแล้วก็ดี จักเป็น ผู้มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง ภิกษุเหล่าใดเป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษา ภิกษุเหล่านั้นจักเป็นผู้เลิศ.
จบ สูตรที่ ๙

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙ บรรทัดที่ ๔๐๙๒-๔๑๓๕ หน้าที่ ๑๗๑-๑๗๒. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=19&A=4092&Z=4135&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=19&siri=139              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=19&i=708              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [708-713] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=19&item=708&items=6              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=13&A=5979              The Pali Tipitaka in Roman :- [708-713] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=19&item=708&items=6              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=13&A=5979              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๙ https://84000.org/tipitaka/read/?index_19              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/sn47.9/en/sujato https://suttacentral.net/sn47.9/en/bodhi

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :