ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๘ ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา
มหาวรรคที่ ๔.
๑. อัมพสักขรเปตวัตถุ
ว่าด้วยพระเจ้าอัมพสักขระทรงสนทนากับเปรตเปลือย
[๑๒๑] มีนครของชาววัชชีนครหนึ่งนามว่าเวสาลี ในนครเวสาลีนั้นมีกษัตริย์ ลิจฉวีทรงพระนามว่าอัมพสักขระ ได้ทอดพระเนตรเห็นเปรตตนหนึ่ง ที่ภายนอกพระนคร มีพระประสงค์จะทรงทราบเหตุ จึงตรัสถามเปรต นั้นในที่นั้นนั่นเองว่า การนอน การนั่ง การเดินไปเดินมา การลิ้ม การดื่ม การเคี้ยว การนุ่งห่ม แม้หญิงบำเรอของบุคคลผู้ถูกเสียบไว้บน หลาวนี้ ย่อมไม่มี ชนเหล่าใดผู้เป็นญาติ เป็นมิตรสหาย เคยเห็น เคยฟังร่วมกันมา เคยมีความเอ็นดูกรุณา ของบุคคลใดมีอยู่ในกาลก่อน เดี๋ยวนี้ชนเหล่านั้นแม้จะเยี่ยมเยียนบุคคลนั้นก็ไม่ได้ บุรุษนี้มีตนอันญาติ เป็นต้นสละแล้ว มิตรสหายย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้ตกยาก พวกมิตรสหาย ทราบว่าผู้ใดขาดแคลน ย่อมละทิ้งผู้นั้น และเห็นใครมั่งคั่งบริบูรณ์ก็พา กันไปห้อมล้อม คนที่มั่งคั่งด้วยสมบัติ ย่อมมีมิตรสหายมาก ส่วน บุคคลผู้เสื่อมจากทรัพย์สมบัติ เป็นผู้ฝืดเคืองด้วยโภคะ ย่อมหามิตร สหายยาก [นี้เป็นธรรมดาของโลก] บุรุษผู้ถูกหลาวเสียบนี้ มีร่างกาย เปื้อนด้วยเลือดตัวทะลุเป็นช่องๆ ชีวิตของบุรุษนี้จักดับไปในวันนี้พรุ่งนี้ เหมือนหยาดน้ำค้างอันติดอยู่บนปลายหญ้า ฉะนั้น เมื่อเป็นอย่างนี้ เพราะเหตุไร ท่านจึงพูดกะบุรุษผู้ถึงความลำบากอย่างยิ่ง นอนหงายอยู่ บนหลาวไม้สะเดาเช่นนี้ว่า ดูกรบุรุษผู้เจริญ ขอท่านจงมีชีวิตอยู่เถิด การ ที่มีชีวิตอยู่เท่านั้นเป็นของประเสริฐ. เปรตนั้นกราบทูลว่า ข้าแต่พระราชา บุรุษนี้เป็นสายโลหิตของข้าพระองค์ ข้าพระองค์ระลึกชาติ ก่อนข้าพระองค์เห็นแล้วมีความกรุณาแก่เขาว่าขออย่าให้บุรุษผู้เลวทรามนี้ ไปตกนรกเลย ข้าแต่กษัตริย์ลิจฉวี บุรุษผู้ทำกรรมชั่วนี้ จุติจากอัตภาพนี้ แล้ว จักเข้าถึงนรกอันยัดเยียดไปด้วยสัตว์ผู้ทำบาป เป็นสถานร้ายกาจ มีความเร่าร้อนมาก เผ็ดร้อนให้เกิดความน่ากลัว หลาวนี้ประเสริฐกว่า นรกนั้นตั้งหลายพันเท่า ขออย่าให้บุรุษนี้ไปตกนรกอันมีแต่ความทุกข์ โดยส่วนเดียว เผ็ดร้อน ให้เกิดความน่ากลัวมีความทุกข์กล้าแข็งอย่าง เดียว บุรุษนี้ฟังคำของข้าพระองค์อย่างนี้แล้ว ประหนึ่งว่าข้าพระองค์ น้อมเข้าไปสู่ทุกข์ในนรกนั้น จะพึงสละชีวิตของตนเสีย เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์จะไม่พูดในที่ใกล้เขา ด้วยหวังว่า ชีวิตของบุรุษนี้อย่าได้ดับ ไปเสียเพราะคำของข้าพระองค์เลย เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์จึงพูดว่า ขอท่านจงมีชีวิตอยู่เถิด การมีชีวิตอยู่เป็นของประเสริฐ. เมื่อเปรตแสดงความประสงค์ของตนอย่างนี้แล้ว พระราชาทรงขอโอกาสเพื่อจะ ตรัสถามความเป็นไปของนางเปรตนั้นอีก จึงได้ตรัสพระคาถานี้ความว่า เรื่องของบุรุษนี้เรารู้แล้ว แต่เราปรารถนาจะถามท่านถึงเรื่องอื่น ถ้าท่าน ให้โอกาสแก่เรา เราจะขอถามท่าน และท่านไม่ควรโกรธเรา. เปรตนั้นกราบทูลว่า ข้าพระองค์ได้ให้ปฏิญาณไว้ในกาลนั้นแน่นอนแล้ว การไม่บอกย่อมมีแก่ ผู้ไม่เลื่อมใส บัดนี้ข้าพระองค์มีวาจาที่ควรเชื่อถือได้ แม้โดยพระองค์ จะไม่ทรงเลื่อมใส เพราะเหตุนั้น ขอเชิญพระองค์ตรัสถามข้าพระองค์ ตามพระประสงค์เถิด ข้าพระองค์จะกราบทูลตามที่สามารถจะกราบทูล ได้. เมื่อเปรตให้โอกาสเช่นนั้นแล้ว พระเจ้าอัมพสักขระจึงตรัสถามว่า เราเห็น สิ่งใดสิ่งหนึ่งด้วยจักษุ เราควรเชื่อสิ่งนั้นแม้ทั้งสิ้น ถ้าเราเห็นสิ่งนั้น แล้วไม่เชื่อ ก็ขอให้ลงโทษถอดยศเราเถิดท่าน. เปรตนั้นทูลว่า ขอสัจจปฏิญาณของพระองค์นี้จงมีแก่ข้าพระองค์ พระองค์ได้ทรงฟังธรรม ที่ข้าพระองค์กล่าวแล้ว จงทรงได้ความเลื่อมใส ข้าพระองค์มีความ ต้องการอย่างอื่น ไม่ได้มีจิตประทุษร้ายข้าพระองค์จะกราบทูลธรรมทั้งหมด ที่ข้าพระองค์ได้สดับแล้วบ้าง หรือไม่สดับแล้วบ้าง แก่พระองค์ ตามที่ ข้าพระองค์รู้. พระเจ้าอัมพสักขระตรัสว่า ท่านขี่ม้าขาวอันประดับประดาแล้ว เข้าไปยังสำนักของบุรุษที่ถูกเสียบ หลาว ม้าขาวตัวนี้เป็นม้าน่าอัศจรรย์ น่าดูน่าชม นี้เป็นผลแห่งกรรม อะไร? เปรตนั้นกราบทูลว่า ที่กลางเมืองเวสาลีนั้น มีหลุมที่หนทางลื่น ข้าพระองค์มีจิตเลื่อมใส เอาศีรษะโคศีรษะหนึ่งวางทอดที่หลุมให้เป็นสะพาน ข้าพระองค์และ บุคคลอื่นเหยียบบนศีรษะโคนั้นเดินไปได้สะดวก ม้านี้เป็นม้าน่าอัศจรรย์ น่าดูน่าชม นี้เป็นผลแห่งกรรมนั้น. พระเจ้าอัมพสักขระตรัสถามว่า ท่านมีรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศ และมีกลิ่นหอมฟุ้งไป ท่านได้สำเร็จฤทธิ์ แห่งเทวดาเป็นผู้มีอานุภาพมาก แต่ท่านเปลือยกาย นี้เป็นผลแห่งกรรม อะไร? เปรตนั้นกราบทูลว่า เมื่อก่อน ข้าพระองค์เป็นคนไม่มักโกรธ แต่มีใจเลื่อมใสเป็นนิตย์ พูดกับ คนทั้งหลายด้วยวาจาอ่อนหวาน ข้าพระองค์มีรัศมีทิพย์สว่างไสวอยู่เนือง นิตย์ นี้เป็นผลแห่งกรรมนั้น ข้าพระองค์เห็นยศ และชื่อเสียงของบุคคล ผู้ตั้งอยู่ในธรรมมีจิตเลื่อมใสกล่าวสรรเสริญ ข้าพระองค์มีกลิ่นทิพย์หอม ฟุ้งไปเนืองนิตย์ นี้เป็นผลแห่งกรรมนั้น เมื่อพวกสหายของข้าพระองค์ อาบน้ำที่ท่าน้ำ ข้าพระองค์ลักเอาผ้าซ่อนไว้บนบกไม่มีความประสงค์จะ ลักขโมยและไม่มีจิตคิดประทุษร้าย เพราะกรรมนั้น ข้าพระองค์จึงเป็นคน เปลือยกายเป็นอยู่อย่างฝืดเคือง. พระเจ้าอัมพสักขระตรัสถามว่า ผู้ใดทำบาปเล่นๆ นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่า ผู้นั้นได้รับผลกรรมเช่นนี้ ส่วนผู้ใดตั้งใจทำบาปจริงๆ นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวผลกรรมของผู้นั้นว่า เป็นอย่างไร? เปรตนั้นกราบทูลว่า มนุษย์เหล่าใดมีความดำริชั่วร้าย เป็นผู้เศร้าหมองด้วยกายและวาจา เมื่อ ตายไป มนุษย์เหล่านั้นย่อมเข้าถึงนรกในสัมปรายภพโดยไม่ต้องสงสัย ส่วนชนเหล่าอื่นปรารถนาสุคติยินดียิ่งในทาน มีอัตภาพอันสงเคราะห์ แล้ว เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงสุคติในสัมปรายภพโดยไม่ต้องสงสัย. เมื่อเปรตนั้น ชี้แจงจำแนกผลกรรมแต่โดยย่ออย่างนี้ พระราชาไม่ทรงเชื่อ จึง ตรัสถามเปรตนั้นว่า เราจะพึงรู้เรื่องนั้นได้อย่างไรว่า นี้เป็นผลแห่งกรรมดีและกรรมชั่ว หรือ เราจะพึงเห็นอย่างไร จึงจะเชื่อถือได้ หรือแม้ใครจะพึงทำให้เราเชื่อถือ เรื่องนั้นได้? เปรตนั้นกราบทูลว่า พระองค์ได้ทรงเห็นแล้วและได้ทรงสดับมาแล้ว ก็จงทรงเชื่อเถิดว่า นี้ เป็นผลแห่งกรรมดีและกรรมชั่ว เมื่อมีกรรมดีและกรรมชั่วทั้งสอง ก็พึงมีสัตว์ไปสู่สุคติและทุคติ ถ้าสัตว์ทั้งหลายในมนุษยโลกนี้ ไม่พึงทำ กรรมดีและกรรมชั่ว สัตว์ผู้ไปสู่สุคติ ทุคติ เลว และประณีต ก็ไม่มี ในมนุษยโลกนี้ แต่เพราะสัตว์ทั้งหลาย ในมนุษยโลกทำกรรมดีและ กรรมชั่วไว้ ฉะนั้น จึงไปสู่สุคติ ไปสู่ทุคติ เลวบ้าง ประณีตบ้าง นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าววิบากแห่งกรรมทั้งสองนั้นว่า เป็นที่ตั้งแห่งการ เสวยสุขและทุกข์ เทวดาย่อมพากันห้อมล้อมพวกชน ผู้ได้เสวยผล อันเป็นสุข คนพาลผู้ไม่เห็นบาปและบุญทั้งสอง ย่อมเดือดร้อน กรรมที่ข้าพระองค์เองทำไว้ในชาติก่อน ซึ่งจะเป็นเหตุให้ได้เครื่องนุ่งห่ม เป็นต้นในบัดนี้ มิได้มีแก่ข้าพระองค์ และบุคคลผู้ที่ให้ผ้านุ่งผ้าห่ม ที่นอนที่นั่งข้าวและน้ำ แก่สมณพราหมณ์ทั้งหลายแล้วพึงอุทิศส่วนบุญมา ให้ข้าพระองค์มิได้มี เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์จึงเป็นคนเปลือยกาย มีความเป็นอยู่อย่างฝืดเคือง. พระเจ้าอัมพสักขระตรัสถามว่า ดูกรยักษ์ เหตุอะไรๆ ที่จะให้ท่านได้เครื่องนุ่งห่มพึงมีอยู่หรือ ถ้าเหตุ ที่ควรเชื่อพอจะฟังเป็นเหตุได้มีอยู่ ขอท่านจงบอกเหตุนั้นแก่เรา? เปรตนั้นกราบทูลว่า ในเมืองเวสาลีนี้ มีภิกษุรูปหนึ่งนามว่ากัปปิตกะเป็นผู้ได้ฌานมีศีลบริสุทธิ์ เป็นพระอรหันต์ผู้หลุดพ้น มีอินทรีย์อันคุ้มครองแล้ว สำรวมในพระ ปาติโมกข์ เยือกเย็น บรรลุผลอันสูงสุด มีวาจาสละสลวย รู้ความ ประสงค์ของผู้ขอ ว่าง่าย มีหน้าเบิกบาน เป็นผู้มาดีไปดี พูดจาโต้ตอบดี เป็นเนื้อนาบุญของโลก มีปกติอยู่ด้วยเมตตา เป็นทักขิไณยบุคคลของ เทวดาและมนุษย์ สงบระงับ กำจัดมิจฉาวิตกได้ ไม่มีทุกข์ ไม่มีตัณหา หลุดพ้นแล้ว ปราศจากลูกศร ไม่ถือเราถือเขา ไม่คดกายวาจาใจ ไม่มีอุปธิ สิ้นกิเลสเป็นเครื่องเนิ่นช้าทั้งปวง ได้บรรลุวิชชา ๓ มีความ รุ่งเรือง ไม่มีชื่อเสียงปรากฏเพราะความเป็นผู้มีคุณวิเศษอันปกปิดไว้ แม้ใครๆ เห็นก็ไม่รู้ว่าเป็นคนดีในหมู่ชนชาววัชชี เขาพากันเรียกท่านว่า มุนี รู้กันว่าท่านเป็นผู้ประเสริฐ หนักแน่น ไม่หวั่นไหว มีธรรมอันดีงาม เที่ยวไปในโลก ถ้าพระองค์ทรงถวายผ้าคู่หนึ่งหรือสองคู่แก่ภิกษุนั้น แล้วทรงอุทิศส่วนกุศลให้ข้าพระองค์ เมื่อพระองค์ทรงถวายแล้ว และ ท่านรับผ้านั้นแล้ว พระองค์ก็จะทรงเห็นข้าพระองค์นุ่งห่มผ้าเรียบร้อย. พระเจ้าอัมพสักขระตรัสถามว่า บัดนี้ สมณะนั้นอยู่ที่ประเทศไหน เราจักไปพบท่านที่ไหนใครจะพึง แก้ไขความสงสัยสนเท่ห์ อันเป็นเสี้ยนหนามแห่งความเห็นของเราได้ ในวันนี้? เปรตนั้นกราบทูลว่า ท่านอยู่ที่เมืองกปินัจจนา มีหมู่เทวดาเป็นอันมากห้อมล้อม เป็นผู้มีนาม จริงแท้ และเป็นผู้ไม่ประมาท แสดงธรรมีกถาอยู่ในหมู่ของตน. พระเจ้าอัมพสักขระตรัสว่า เราจักไปแล้วจักทำตามที่ท่านสั่งนั้นเดี๋ยวนี้ จักให้สมณะนั้นนุ่งห่มผ้า ขอท่านจงดูคู่ผ้าเหล่านั้น อันสมณะนั้นรับประเคนแล้ว และเราจักคอย ดูท่านนุ่งห่มผ้าเป็นอันดี. เปรตนั้นกราบทูลว่า ขอรับประทานพระวโรกาส ขอพระองค์อย่าเสด็จเข้าไปหาบรรพชิตใน เวลาไม่ควร การเสด็จเข้าไปหาบรรพชิตในเวลาไม่ควรนี้ ไม่เป็นธรรม เนียมที่ดีของกษัตริย์ลิจฉวีทั้งหลาย ก็เมื่อพระองค์เสด็จเข้าไปหาในเวลา สมควร ก็จักทรงเห็นภิกษุนั้นนั่งอยู่ในที่สงัดในที่นั้นเอง. พระเจ้าลิจฉวีตรัสอย่างนั้นแล้ว ก็แวดล้อมด้วยหมู่ข้าราชบริพาร เสด็จ ไปในนครนั้น ครั้นเสด็จเข้าไปยังนครนั้นแล้ว จึงเสด็จเข้าไปยังที่ประทับ ในนิเวสน์ของพระองค์ ทรงกระทำกิจของคฤหัสถ์ทั้งหลาย ทรงสรง สนาน และทรงดื่มน้ำแล้วได้เวลาอันควร จึงทรงเลือกผ้า ๘ คู่จากหีบ รับสั่งให้หมู่ข้าราชบริพารถือไป พระราชาครั้นเสด็จเข้าไปในประเทศนั้น แล้ว ได้ทอดพระเนตรเห็นสมณะรูปหนึ่งผู้มีจิตสงบระงับกลับจากที่โคจร เป็นผู้เยือกเย็นนั่งอยู่ที่โคนต้นไม้ ครั้นแล้วได้ตรัสถามสมณะนั้นถึงความ เป็นผู้มีอาพาธน้อย การอยู่สำราญและตรัสบอกนามของพระองค์ให้ ทรงทราบว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ โยมเป็นกษัตริย์ลิจฉวีอยู่ในเมืองเวสาลี ชาวลิจฉวีเรียกโยมว่าอัมพสักขระ ขอท่านจงรับผ้า ๘ คู่นี้ของดิฉัน โยมขอถวายท่าน โยมมาในที่นี้ด้วยความประสงค์เพียงเท่านี้ โยมมีความ ปลื้มใจนัก. พระเถระทูลถามว่า สมณพราหมณ์ทั้งหลาย พากันละเว้นพระราชนิเวสน์ของมหาบพิตรแต่ที่ ไกลทีเดียว เพราะในพระราชนิเวสน์ของมหาบพิตร บาตรย่อมแตก แม้สังฆาฏิก็ถูกเขาฉีก เมื่อก่อนสมณะทั้งหลายมีศีรษะห้อยลง ตกลงไป จากเขียงเท้า มหาบพิตรได้เบียดเบียนบรรพชิตเช่นนี้ สมณะทั้งหลายเคย ถูกมหาบพิตรทำการเบียดเบียนแล้ว มหาบพิตรไม่เคยพระราชทานแม้แต่ น้ำมันสักหยดหนึ่งเลย ไม่ตรัสบอกทางให้คนหลงทาง ชิงเอาไม้เท้า จากมือคนตาบอดเสียเอง มหาบพิตรเป็นคนตระหนี่ ไม่สำรวมเช่นนี้ แต่บัดนี้ เพราะเหตุอะไร มหาบพิตรทรงเห็นผลอะไร จึงทรงจำแนกแจก จ่ายกับอาตมภาพทั้งหลายเล่า? พระราชาตรัสว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ โยมขอรับผิด โยมได้เบียดเบียนสมณะทั้งหลาย ดังคำ ที่ท่านพูด ข้าแต่ท่านผู้เจริญ โยมมีความประสงค์จะล้อเล่น ไม่ได้มีจิต ประทุษร้าย แต่กรรมอันชั่วช้านั้นโยมทำแล้ว เด็กหนุ่มเปลือยกาย มีโภคะ น้อย ได้สั่งสมบาปเพื่อจะล้อเล่น จึงต้องเสวยทุกข์ ก็ทุกข์อะไรเล่าที่ เป็นทุกข์กว่าความเปลือยกาย ย่อมมีแก่เปรตนั้น ข้าแต่ท่านผู้เจริญ โยมเห็นเหตุอันน่าสังเวชและเศร้าหมองนั้นแล้วจึงให้ทาน เพราะเหตุ นั้นเป็นปัจจัย ขอท่านจงรับผ้า ๘ คู่นี้ ทักษิณาที่โยมถวายนี้ จงสำเร็จผล แก่เปรตนั้น เพราะการให้ทาน นักปราชญ์มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น สรรเสริญแล้วโดยมากแน่แท้. พระเถระทูลว่า อาตมภาพจะรับผ้า ๘ คู่ของมหาบพิตร ขอทักษิณาทานเหล่านี้ จงสำเร็จ ผลแก่เปรตนั้น ลำดับนั้น พระเจ้าลิจฉวีทรงชำระพระหัตถ์และพระบาท แล้ว ทรงถวายผ้า ๘ คู่แก่พระเถระ พอพระเถระรับประเคนผ้าเหล่านั้น แล้ว พระราชาทรงเห็นเปรตนุ่งห่มผ้าเรียบร้อย ลูบไล้ด้วยจรุณจันทน์ แดง มีผิวพรรณเปล่งปลั่งประดับประดา นุ่งผ้าดี ขี่ม้าอาชาไนย มีบริวาร ห้อมล้อม สำเร็จมหิทธิฤทธิ์ของเทวดา ครั้นทรงเห็นเช่นนั้นแล้ว ทรง ปลื้มพระทัย เกิดปีติปราโมทย์ มีพระทัยร่าเริงเบิกบาน พระเจ้าลิจฉวี ได้ทรงเห็นกรรมและวิบากแห่งกรรม แจ้งประจักษ์ด้วยพระองค์เองแล้ว จึงเสด็จเข้าไปใกล้ แล้วตรัสกะเปรตนั้นว่า เราจักให้ทานแก่สมณ- พราหมณ์ทั้งหลาย เราควรให้ทานทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ ดูกรเปรตท่านมี อุปการะแก่เรามาก. เปรตนั้นกราบทูลว่า ข้าแต่กษัตริย์ลิจฉวี ก็พระองค์ได้พระราชทานเพื่อข้าพระองค์ส่วนหนึ่ง แต่การพระราชทานนั้นมิได้ไร้ผล ข้าพระองค์เป็นเทวดา จักทำความเป็น สหายกับพระองค์ผู้เป็นมนุษย์. พระราชาตรัสว่า ท่านเป็นคติ เป็นเผ่าพันธุ์ เป็นที่ยึดเหนี่ยว เป็นมิตร และเป็นเทวดา ของเรา ดูกรเปรต เราขอทำอัญชลีท่าน ปรารถนาเพื่อจะเห็นท่านแม้อีก เปรตกราบทูลว่า ถ้าพระองค์จักเป็นผู้ไม่มีศรัทธา มีความตระหนี่ มีจิตไม่เลื่อมใส พระองค์จักไม่ได้เห็นข้าพระองค์ และข้าพระองค์ก็จักไม่ได้เห็นไม่ได้ เจรจากะพระองค์อีก ถ้าพระองค์จะทรงเคารพธรรม ทรงยินดีในการ บริจาคทาน ทรงสงเคราะห์ ทรงเป็นดังบ่อน้ำของสมณพราหมณ์ทั้งหลาย ด้วยอาการอย่างนี้พระองค์ก็จักได้ทรงเห็นข้าพระองค์ และข้าพระองค์จัก ได้เห็น ได้เจรจากะพระองค์ ขอพระองค์โปรดทรงปล่อยบุรุษนี้จากหลาว โดยเร็วเถิด เพราะการปล่อยบุรุษนี้ เราทั้งสองจักได้เป็นสหายกัน ข้าพระองค์เข้าใจว่า เราทั้งสองจักได้เป็นสหายกันและกัน เพราะเหตุ แห่งบุรุษถูกหลาวเสียบ ก็บุรุษถูกหลาวเสียบนี้ อันพระองค์ทรงรีบ ปล่อยแล้ว พึงเป็นผู้ประพฤติธรรมโดยเคารพ พึงพ้นจากนรกนั้นแน่นอน พึงพ้นจากกรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งเวทนา พระองค์เสด็จเข้าไปหากัปปิตก- ภิกษุแล้ว ทรงจำแนกทานกับท่าน ในเวลาที่ควร จงเสด็จเข้าไปหาแล้ว ตรัสถามด้วยพระองค์เอง ท่านจักกราบทูลเนื้อความนั้นแก่พระองค์ ก็พระองค์ทรงประสงค์บุญ มีจิตไม่ประทุษร้ายก็เชิญเสด็จเข้าไปหาภิกษุ นั้นเถิด ท่านจักแสดงธรรมทั้งปวงที่ทรงสดับแล้ว และยังไม่ได้ทรงสดับ แก่พระองค์ ตามความรู้เห็น พระองค์ได้ทรงฟังธรรมนั้นแล้วจักทรงเห็น สุคติ. พระเจ้ารหัส ทรงเจรจาทำความเป็นสหายกับเทวดานั้นแล้วเสด็จไป ส่วนเปรตนั้นได้กล่าวกะบริษัทแห่งกษัตริย์ลิจฉวีทั้งหลาย พร้อมกับบุตร ของตน ซึ่งนั่งประชุมกันอยู่ว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ขอจงฟังคำอย่างหนึ่ง ของเรา เราจักเลือกพร จักได้ประโยชน์ บุรุษที่ถูกเสียบหลาว มีกรรม อันหยาบช้า มีอาชญาอันตั้งไว้แล้ว ถูกหลาวร้อยจะตายหรือไม่ตาย ประมาณ ๒๐ ราตรีเท่านี้ เดี๋ยวนี้ เราจักปล่อยเขาตามความชอบใจของเรา ขอหมู่ท่านจงอนุญาต จงรีบปล่อยบุรุษนั้นและบุรุษอื่นที่พระราชารับสั่ง ให้ลงอาชญาโดยเร็วเถิด ใครพึงบอกท่านผู้ทำกรรมอย่างนั้น ท่านรู้อย่างไร จึงทำอย่างนั้น หมู่ท่านย่อมอนุญาตตามชอบใจ พระเจ้าลิจฉวีเสด็จเข้า ไปสู่ประเทศนั้นแล้ว รีบปล่อยบุรุษที่ถูกเสียบหลาวโดยเร็วและได้ตรัส กะบุรุษนั้นว่า อย่ากลัวเลยเพื่อนและรับสั่งให้หมอพยาบาล แล้วเสด็จ เข้าไปหากัปปิตกภิกษุ แล้วทรงถวายทานกับท่านในเวลาอันควร มีพระ ประสงค์จะทรงทราบเหตุ จึงเสด็จเข้าไปใกล้แล้วตรัสถามด้วยพระองค์ เองว่า บุรุษผู้ถูกเสียบหลาว มีกรรมอันหยาบช้า มีอาชญาอันตั้งไว้แล้ว ถูกหลาวร้อยจะตายหรือไม่ตายประมาณ ๒๐ ราตรีเท่านี้ ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เดี๋ยวนี้ ดิฉันปล่อยเขาไปแล้ว เขาไปบอกเปรตนั้น เหตุอะไรๆ ที่จะ ไม่ต้องไปสู่นรกนั้น พึงมีหรือหนอ ถ้ามี ขอท่านโปรดบอกแก่ดิฉัน ดิฉันรอฟังเหตุที่ควรเชื่อถือจากท่าน. กัปปิตกภิกษุทูลว่า ความพินาศแห่งกรรมเหล่านั้นย่อมไม่มี ความพินาศในโลกนี้เกิดขึ้น เพราะความไม่รู้แจ้ง ถ้าเขาพึงเป็นผู้ไม่ประมาท ประพฤติธรรมทั้งหลาย โดยเคารพตลอดคืนและวัน เขาพึงพ้นจากนรกนั้นได้แน่ กรรมอันเว้น จากการให้ผลพึงมี. พระราชาตรัสว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ผู้มีปัญญากว้างขวาง ประโยชน์ของบุรุษผู้นี้ดิฉันรู้ทั่วถึง แล้ว บัดนี้ ขอท่านอนุเคราะห์ดิฉันบ้าง ขอท่านได้กล่าวตักเตือนพร่ำสอน ดิฉัน โดยวิธีที่ดิฉันจะไม่พึงไปสู่นรกด้วยเถิด. กัปปิตกภิกษุทูลว่า วันนี้ ขอมหาบพิตรทรงมีพระทัยเลื่อมใสถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมและ สงฆ์ เป็นสรณะ จงทรงสิกขาบท ๕ อย่าให้ขาดและด่างพร้อย จงทรง งดเว้นจาการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ทรงยินดีด้วยพระมเหสีของพระองค์ ไม่ทรงพูดเท็จ ไม่ทรงดื่มน้ำจัณฑ์ และทรงสมาทานอุโบสถศีลอันประ- กอบด้วยองค์ ๘ ประการอันประเสริฐ เป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร จงทรง พระราชทานจีวร บิณฑบาต ที่นอน ที่นั่ง คิลานปัจจัย ข้าว น้ำ ของกิน ของเคี้ยว ผ้า เสนาสนะ ในภิกษุผู้มีจิตซื่อตรงทั้งหลาย บุญย่อมเจริญ ทุกเมื่อ ทรงอังคาสภิกษุทั้งหลายผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ปราศจากราคะ เป็น พหูสูต ให้อิ่มหนำด้วยข้าวและน้ำ บุญย่อมเพิ่มพูนทุกเมื่อ เมื่อบุคคล เป็นผู้ไม่ประมาท ประพฤติธรรมโดยเคารพตลอดคืนและวันอย่างนี้ พึงพ้นจากนรกนั้น กรรมที่เว้นจากการให้ผลพึงมี. พระราชาตรัสว่า วันนี้ ดิฉันมีจิตเลื่อมใส ขอถึงพระพุทธเจ้าพระธรรมและพระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ ขอสมาทานสิกขาบท ๕ ไม่ให้ขาดและด่างพร้อย ของด เว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ยินดีด้วยภรรยาของตน ไม่กล่าวเท็จ ไม่ดื่มน้ำเมา และจักสมาทานอุโบสถศีล อันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ อันประเสริฐ เป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร จักถวายจีวร บิณฑบาต ที่นอน ที่นั่ง คิลานปัจจัย ข้าว น้ำ ของกิน ของเคี้ยว ผ้า และเสนาสนะ แก่ภิกษุทั้งหลายผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ปราศจากราคะ เป็นพหูสูต จักไม่ กำหนัด ยินดีแล้วในศาสนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย. พระเจ้าลิจฉวีทรงพระนามว่าอัมพสักขระ ได้เป็นอุบาสกคนหนึ่งในเมือง เวสาลี ทรงมีศรัทธามีพระหฤทัยอ่อนโยนทรงทำอุปการะแก่ภิกษุ ทรงบำรุง สงฆ์โดยความเคารพ ในกาลนั้นบุรุษผู้ถูกเสียบหลาว หายโรค เป็นสุข สบายดี ได้เข้าถึงบรรพชา แม้ชนทั้งสองอาศัยกัปปีตกภิกษุผู้ประเสริฐ ได้บรรลุสามัญผล การคบหาสัปบุรุษเช่นนี้ย่อมมีผลมากตั้งร้อยแก่วิญญูชน ผู้รู้แจ้ง บุรุษผู้ถูกเสียบหลาวได้บรรลุผลอันยอดเยี่ยม ส่วนพระเจ้า อัมพสักขระได้บรรลุโสดาปัตติผล.
จบอัมพสักขรเปตวัตถุที่ ๑

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๖ บรรทัดที่ ๔๓๒๓-๔๕๘๕ หน้าที่ ๑๗๗-๑๘๖. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=26&A=4323&Z=4585&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=26&siri=121              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=26&i=121              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [121] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=26&item=121&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=31&A=5073              The Pali Tipitaka in Roman :- [121] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=26&item=121&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=31&A=5073              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ https://84000.org/tipitaka/read/?index_26              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pv36/en/kiribathgoda

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :