ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๙ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑
พระสุตตันตปิฎก
เล่ม ๑๙
ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เอกกนิบาตชาดก
๑. อปัณณกวรรค
๑. อปัณณกชาดก
ว่าด้วยการรู้ฐานะและมิใช่ฐานะ
[๑] คนพวกหนึ่งกล่าวฐานะอันหนึ่งว่า ไม่ผิด นักเดาทั้งหลายกล่าวฐานะอัน นั้นว่า เป็นที่สอง คนมีปัญญารู้ฐานะและมิใช่ฐานะนั้นแล้ว ควรถือ เอาฐานะที่ไม่ผิดไว้.
จบ อปัณณกชาดกที่ ๑.
๒. วัณณุปถชาดก
ว่าด้วยผู้ไม่เกียจคร้าน
[๒] ชนทั้งหลายผู้ไม่เกียจคร้าน ขุดภาคพื้นที่ทางทราย ได้พบน้ำในทางนั้น ณ ที่ราบ ฉันใด มุนีผู้ประกอบด้วยความเพียรและกำลัง เป็นผู้ไม่ เกียจคร้าน พึงได้ความสงบใจ ฉันนั้น.
จบ วัณณุปถชาดกที่ ๒.
๓. เสรีววาณิชชาดก
ว่าด้วยเสรีววาณิช
[๓] ถ้าท่านพลาดโสดาปัตติมรรค คือ ความแน่นอนแห่งสัทธรรมในศาสนานี้ ท่านจะต้องเดือดร้อนใจในภายหลังสิ้นกาลนาน ดุจพาณิชชื่อเสรีวะผู้นี้ ฉะนั้น.
จบ เสรีววาณิชชาดกที่ ๓.
๔. จุลลกเศรษฐีชาดก
ว่าด้วยคนฉลาดตั้งตนได้
[๔] คนมีปัญญาเฉลียวฉลาด ย่อมตั้งตนไว้ด้วยต้นทุนแม้น้อย ดุจคนก่อไฟ น้อยๆ ให้เป็นกองใหญ่ ฉะนั้น.
จบ จุลลกเศรษฐีชาดกที่ ๔.
๕. ตัณฑุลนาฬิชาดก
ว่าด้วยราคาข้าวสาร
[๕] ข้าวสารทะนานหนึ่งมีราคาเท่าไร พระนครพาราณสีทั้งภายในภายนอก มีราคาเท่าไร ข้าวสารทะนานเดียวมีค่าเท่าม้า ๕๐๐ เทียวหรือ?
จบ ตัณฑุลนาฬิชาดกที่ ๕.
๖. เทวธรรมชาดก
ว่าด้วยธรรมของเทวดา
[๖] สัปบุรุษผู้สงบระงับ ประกอบด้วยหิริและโอตตัปปะ ตั้งมั่นอยู่ในธรรม อันขาว ท่านเรียกว่าผู้มีธรรมของเทวดาในโลก.
จบ เทวธรรมชาดกที่ ๖.
๗. กัฏฐหาริชาดก
[๗] ข้าแต่พระราชาผู้เป็นใหญ่ ข้าพระบาทเป็นโอรสของพระองค์ ข้าแต่ พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งหมู่ชน ขอพระองค์ได้ทรงโปรดชุบเลี้ยงข้าพระ บาทไว้ แม้คนเหล่าอื่นพระองค์ยังทรงชุบเลี้ยงได้ ไฉนจะไม่ทรงชุบ เลี้ยงโอรสของพระองค์เองเล่า?
จบ กัฏฐหาริชาดกที่ ๗.
๘. คามนิชาดก
ว่าด้วยไม่ใจเร็วด่วนได้
[๘] เออก็ความหวังในผล ย่อมสำเร็จแก่ผู้ไม่ใจเร็วด่วนได้ เรามีพรหมจรรย์ แก่กล้าแล้ว ท่านจงเข้าใจอย่างนี้เถิด พ่อคามนี.
จบ คามนิชาดกที่ ๘.
๙. มฆเทวชาดก
ว่าด้วยเทวทูต
[๙] ผมที่หงอกบนศีรษะของเรานี้ เกิดขึ้นนำเอาวัยไปเสีย เทวทูตปรากฏแล้ว บัดนี้ เป็นสมัยบรรพชาของเรา.
จบ มฆเทวชาดกที่ ๙.
๑๐. สุขวิหาริชาดก
ว่าด้วยการอยู่เป็นสุข
[๑๐] ชนเหล่าอื่นไม่ต้องรักษาผู้ใดด้วย ผู้ใดก็ไม่ต้องรักษาชนเหล่าอื่นด้วย ดูกรมหาบพิตร มหาบพิตรผู้นั้นแล ไม่เยื่อใยในกามทั้งหลาย ย่อมอยู่ เป็นสุข.
จบ สุขวิหาริชาดกที่ ๑๐.
จบ อปัณณกวรรคที่ ๑.
-----------------------------------------------------
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. อปัณณกชาดก ๒. วัณณุปถชาดก ๓. เสรีววาณิชชาดก ๔. จุลลกเศรษฐีชาดก ๕. ตัณฑุลนาฬิชาดก ๖. เทวธรรมชาดก ๗. กัฏฐหาริชาดก ๘. คามนิชาดก ๙. มฆเทวชาดก ๑๐. สุขวิหาริชาดก.
-----------------------------------------------------
๒. สีลวรรค
๑. ลักขณชาดก
ว่าด้วยผู้มีศีล
[๑๑] ความเจริญย่อมมีแก่ชนทั้งหลายผู้มีศีล ประพฤติในปฏิสันถาร ท่านจง ดูลูกเนื้อชื่อลักขณะ ผู้อันหมู่แห่งญาติแวดล้อมกลับมาอยู่ อนึ่ง ท่าน จงดูลูกเนื้อชื่อกาฬะนี้ ผู้เสื่อมจากพวกญาติกลับมาแต่ผู้เดียว.
จบ ลักขณชาดกที่ ๑.
๒. นิโครธมิคชาดก
ว่าด้วยการเลือกคบ
[๑๒] ท่านหรือคนอื่นก็ตาม พึงคบหาแต่พระยาเนื้อชื่อว่านิโครธเท่านั้น ไม่ ควรเข้าไปอาศัยอยู่กับพระยาเนื้อชื่อว่าสาขะ ความตายในสำนักพระยา เนื้อนิโครธประเสริฐกว่า การมีชีวิตอยู่ในสำนักพระยาเนื้อสาขะจะ ประเสริฐอะไร.
จบ นิโครธมิคชาดกที่ ๒.
๓. กัณฑินชาดก
ว่าด้วยผู้ตกอยู่ในอำนาจหญิง
[๑๓] เราติเตียนบุรุษผู้มีลูกศรเป็นอาวุธ ยิงปล่อยไปเต็มกำลัง เราติเตียน ชนบทที่มีหญิงเป็นผู้นำ อนึ่ง สัตว์เหล่าใด ตกอยู่ในอำนาจของหญิง ทั้งหลาย สัตว์เหล่านั้นบัณฑิตติเตียนแล้ว.
จบ กัณฑินชาดกที่ ๓.
๔. วาตมิคชาดก
ว่าด้วยอำนาจของรส
[๑๔] ได้ยินว่า สิ่งอื่นที่จะเลวยิ่งไปกว่ารสทั้งหลายไม่มี รสเป็น สภาพเลวแม้กว่าถิ่นฐาน แม้กว่าความสนิทสนม นายสญชัย อุยยาบาล นำเนื้อสมันซึ่งอาศัยอยู่ในป่าชัฏมาสู่อำนาจของตนได้ด้วยรส ทั้งหลาย.
จบ วาตมิคชาดกที่ ๔.
๕. ขราทิยชาดก
ว่าด้วยผู้ล่วงเลยโอวาท
[๑๕] ดูกรนางเนื้อขราทิยา ฉันไม่สามารถจะสั่งสอนเนื้อตัวนั้น ผู้มี ๘ กีบ มีเขาคดแต่โคนจนถึงปลายเขา ล่วงเลยโอวาทเสียตั้ง ๗ วัน.
จบ ขราทิยาชาดกที่ ๕.
๖. ติปัลลัตถมิคชาดก
ว่าด้วยเล่ห์กลลวงพราน
[๑๖] ฉันยังเนื้อหลานชายผู้มี ๘ กีบ นอนโดยอาการ ๓ ท่า มีเล่ห์กลมารยา หลายอย่าง ดื่มกินน้ำในเวลาเที่ยงคืน ให้เล่าเรียนมายาของเนื้อดีแล้ว ดูกรน้องหญิง เนื้อหลานชายกลั้นลมหายใจไว้ได้ โดยช่องนาสิก ข้างหนึ่งแนบติดอยู่กับพื้น จะทำเล่ห์กลลวงนายพรานด้วยอุบาย ๖ ประการ.
จบ ติปัลลัตถมิคชาดกที่ ๖.
๗. มาลุตชาดก
ว่าด้วยความหนาวเกิดแต่ลม
[๑๗] ข้างขึ้นหรือข้างแรมก็ตาม สมัยใดลมย่อมพัดมา สมัยนั้นย่อมมีความ หนาว เพราะความหนาวเกิดแต่ลม ในปัญหาข้อนี้ ท่านทั้งสองชื่อว่า ไม่แพ้กัน.
จบ มาลุตชาดกที่ ๗.
๘. มตกภัตตชาดก
ว่าด้วยสัตว์ไม่ควรฆ่าสัตว์
[๑๘] ถ้าสัตว์ทั้งหลายพึงรู้อย่างนี้ว่า ชาติสมภพนี้เป็นทุกข์ สัตว์ไม่ควรฆ่า สัตว์ เพราะว่าผู้มีปกติฆ่าสัตว์ย่อมเศร้าโศก.
จบมตกภัตตชาดกที่ ๘.
๙. อายาจิตภัตตชาดก
ว่าด้วยการเปลื้องตน
[๑๙] ถ้าท่านปรารถนาจะเปลื้องตนให้พ้น ท่านละโลกนี้ไปแล้วก็จะพ้นได้ ก็ท่านเปลื้องตนอยู่อย่างนี้ กลับจะติดหนักเข้า เพราะนักปราชญ์หาได้ เปลื้องตนด้วยอาการอย่างนี้ไม่ การเปลื้องตนอย่างนี้ เป็นเครื่องติดของ คนพาล.
จบ อายาจิตภัตตชาดกที่ ๙.
๑๐. นฬปานชาดก
ว่าด้วยการพิจารณา
[๒๐] พระยากระบี่ไม่เห็นรอยเท้าขึ้น เห็นแต่รอยเท้าลง จึงกล่าวว่า เราจัก ดื่มน้ำด้วยไม้อ้อ ท่านก็จักฆ่าเราไม่ได้.
จบ นฬปานชาดกที่ ๑๐.
จบ สีลวรรคที่ ๒.
-----------------------------------------------------
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. ลักขณชาดก ๒. นิโครธมิคชาดก ๓. กัณฑินชาดก ๔. วาตมิคชาดก ๕. ขราทิยชาดก ๖. ติปัลลัตถมิคชาดก ๗. มาลุตชาดก ๘. มตกภัตตชาดก ๙. อายาจิตภัตตชาดก ๑๐. นฬปานชาดก.
-----------------------------------------------------
๓. กุรุงควรรค
๑. กุรุงคมิคชาดก
ว่าด้วยกวางกุรุงคะ
[๒๑] ดูกรไม้มะลื่น การที่ท่านปล่อยผลให้ตกกลิ้งมานั้น เราผู้เป็นกวางรู้แล้ว เราจะไปสู่ไม้มะลื่นต้นอื่น เพราะเราไม่ชอบใจผลของท่าน.
จบ กุรุงคมิคชาดกที่ ๑.
๒. กุกกุรชาดก
ว่าด้วยสุนัขที่ถูกฆ่า
[๒๒] สุนัขเหล่าใดอันบุคคลเลี้ยงไว้ในราชสกุล เกิดในราชสกุล สมบูรณ์ด้วย สีสรรและกำลัง สุนัขเหล่านี้นั้นไม่ถูกฆ่า พวกเรากลับถูกฆ่า เมื่อเป็น เช่นนี้ นี้ชื่อว่าการฆ่าโดยไม่แปลกกันก็หาไม่ กลับชื่อว่าฆ่าแต่สุนัข ทั้งหลายที่ทุรพล.
จบ กุกกุรชาดกที่ ๒.
๓. โภชาชานียชาดก
ว่าด้วยม้าสินธพอาชาไนย
[๒๓] ดูกรนายสารถี ม้าสินธพอาชาไนยถูกลูกศรแทงแล้ว แม้นอนตะแคง อยู่ข้างเดียวก็ยังประเสริฐกว่าม้ากระจอก ท่านจงประกอบฉันออกรบอีก เถิด.
จบ โภชาชานียชาดกที่ ๓.
๔. อาชัญญชาดก
ว่าด้วยม้าอาชาไนยกับม้ากระจอก
[๒๔] ไม่ว่าเมื่อใด ในขณะใด ณ ที่ไหนๆ ณ สถานที่ใดๆ ม้าอาชาไนยใช้ กำลังรบ ม้ากระจอกย่อมถอยหนี.
จบ อาชัญญชาดกที่ ๔.
๕. ติตถชาดก
ว่าด้วยการเบื่อเพราะซ้ำซาก
[๒๕] ดูกรนายสารถี ท่านจงยังม้าให้อาบและดื่มน้ำที่ท่าโน้นบ้าง ท่านี้ บ้าง แม้ข้าวปายาสที่บริโภคบ่อยครั้ง คนก็ยังเบื่อได้.
จบ ติตเถชาดกที่ ๕.
๖. มหิฬามุขชาดก
ว่าด้วยการเสี้ยมสอน
[๒๖] พระยาช้างชื่อมหิฬามุข ได้เที่ยวทุบตีคน เพราะได้พึงฟังคำของพวก โจรมาก่อน พระยาช้างผู้เชือกอุดมตั้งอยู่ในคุณทั้งปวง ก็เพราะได้ฟังคำ ของท่านผู้สำรวมดีแล้ว.
จบ มหิฬามุขชาดกที่ ๖.
๗. อภิณหชาดก
ว่าด้วยการเห็นกันบ่อยๆ
[๒๗] พระยาช้างไม่สามารถจะรับเอาคำข้าว ไม่สามารถจะรับเอาก้อนข้าว ไม่ สามารถจะรับเอาหญ้าทั้งหลาย ไม่สามารถจะขัดสีกาย ข้าพระบาทมา สำคัญว่า พระยาช้างตัวเชือกประเสริฐ ได้ทำความรักใคร่ในสุนัข เพราะได้เห็นกันเนืองๆ.
จบ อภิณหชาดกที่ ๗.
๘. นันทิวิสาลชาดก
ว่าด้วยการพูดดี
[๒๘] บุคคลพึงกล่าวแต่คำที่ไพเราะเท่านั้น ไม่พึงกล่าวคำที่ไม่ไพเราะในกาล ไหนๆ เมื่อพราหมณ์กล่าวคำไพเราะ โคนันทิวิสาลได้ลากเอาภาระอัน หนักไปได้ ทำพราหมณ์ผู้นั้นให้ได้ทรัพย์ด้วย ตนเองก็เป็นผู้ปลื้มใจ เพราะการช่วยเหลือนั้นด้วย.
จบ นันทิวิสาลชาดกที่ ๘.
๙. กัณหชาดก
ว่าด้วยผู้เอาการเอางาน
[๒๙] ในที่ใดๆ มีธุระหนัก ในที่ใดมีร่องน้ำลึก ชนทั้งหลายก็เทียมโคดำใน กาลนั้นทีเดียว โคดำนั้นก็นำเอาธุระนั้นไปได้โดยแท้.
จบ กัณหชาดกที่ ๙.
๑๐. มุณิกชาดก
ว่าด้วยลักษณะของผู้มีอายุยืน
[๓๐] ท่านอย่าริษยาหมู่มุณิกะเลย มันกินอาหารอันเป็นเหตุให้เดือดร้อน ท่าน จงเป็นผู้มีความขวนขวายน้อย กินแต่แกลบเถิด นี่เป็นลักษณะแห่ง ความเป็นผู้มีอายุยืน.
จบ มุณิกชาดกที่ ๑๐.
จบ กุรุงควรรคที่ ๓.
-----------------------------------------------------
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. กุรุงคมิคชาดก ๒. กุกกุรชาดก ๓. โภชาชานียชาดก ๔. อาชัญญชาดก ๕. ติตถชาดก ๖. มหิฬามุขชาดก ๗. อภิณหชาดก ๘. นันทิวิสาลชาดก ๙. กัณหชาดก ๑๐. มุณิกชาดก.
-----------------------------------------------------
๔. กุลาวกวรรค
๑. กุลาวกชาดก
ว่าด้วยการเสียสละ
[๓๑] ดูกรมาตลีเทพบุตร ที่ต้นงิ้วมีลูกนกครุฑจับอยู่ ท่านจงหันหน้ารถกลับ เรายอมสละชีวิตให้พวกอสูร ลูกนกครุฑเหล่านี้อย่าได้แหลกลาญ เสียเลย.
จบ กุลาวกชาดกที่ ๑.
๒. นัจจชาดก
เหตุที่ยังไม่ให้ลูกสาว
[๓๒] เสียงของท่านก็เพราะ หลังของท่านก็งาม คอของท่านก็เปรียบดังสีแก้ว ไพฑูรย์ และหางของท่านก็ยาวตั้งวา เราจะไม่ให้ลูกสาวของเราแก่ท่าน ด้วยการรำแพนหาง.
จบ นัจจชาดกที่ ๒.
๓. สัมโมทมานชาดก
ว่าด้วยพินาศเพราะทะเลาะกัน
[๓๓] นกทั้งหลายพร้อมเพรียงกันพากันเอาข่ายไป เมื่อใด พวกมันทะเลาะกัน เมื่อนั้น พวกมันจักตกอยู่ในอำนาจของเรา.
จบ สัมโมทมานชาดกที่ ๓.
๔. มัจฉชาดก
ว่าด้วยความหึงหวง
[๓๔] ความเย็น ความร้อน และการติดอยู่ในแห ไม่ได้เบียดเบียนเราให้ได้ รับทุกข์เลย แต่ข้อที่นางปลาสำคัญว่า เราไปหลงนางปลาตัวอื่นนั่นแหละ เบียดเบียนเราให้ได้รับทุกข์.
จบ มัจฉชาดกที่ ๔.
๕. วัฏฏกชาดก
ว่าด้วยความจริง
[๓๕] ปีกของเรามีอยู่ แต่ก็บินไม่ได้ เท้าทั้งสองของเราก็มีอยู่ แต่ก็เดินไม่ได้ มารดาและบิดาของเราออกไปหาอาหาร ดูกรไฟ ท่านจงถอยกลับไปเสีย.
จบ วัฏฏกชาดกที่ ๕.
๖. สกุณชาดก
ว่าด้วยที่พึ่งให้โทษ
[๓๖] นกทั้งหลายอาศัยต้นไม้ใด ต้นไม้นั้นย่อมทิ้งเอาไฟลงมา นกทั้งหลายจง พากันหนีไปอยู่เสียที่อื่นเถิด ภัยเกิดจากที่พึ่งของพวกเราแล้ว.
จบ สกุณชาดกที่ ๖.
๗. ติตติรชาดก
ว่าด้วยผู้มีความอ่อนน้อม
[๓๗] นรชนเหล่าใด ฉลาดในธรรม ย่อมนอบน้อมคนผู้เจริญ นรชนเหล่านั้น เป็นผู้ได้รับความสรรเสริญในปัจจุบันนี้ และมีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า.
จบ ติตติรชาดกที่ ๗.
๘. พกชาดก
ว่าด้วยผู้ฉลาดแกมโกง
[๓๘] บุคคลผู้ใช้ปัญญาหลอกลวงคนอื่น ย่อมไม่ได้ความสุขเป็นนิตย์ เพราะผู้- ใช้ปัญญาหลอกลวงคนอื่น ย่อมประสบผลแห่งบาปกรรมที่ตนทำไว้ เหมือนนกยางถูกปูหนีบคอฉะนั้น.
จบ พกชาดกที่ ๘.
๙. นันทชาดก
ว่าด้วยการกล่าวคำหยาบ
[๓๙] ทาสชื่อนันทกะเป็นบุตรของนางทาสี ยืนกล่าวคำหยาบคายในที่ใด เรารู้ ว่ากองแห่งรัตนะทั้งหลาย และดอกไม้ทองมีอยู่ในที่นั้น.
จบ นันทชาดกที่ ๙.
๑๐. ขทิรังคารชาดก
ว่าด้วยผู้มีจิตมั่นคง
[๔๐] เราจะตกนรกมีเท้าขึ้นเบื้องบน มีศีรษะลงเบื้องล่างก็ตาม เราจักไม่ทำ กรรมอันไม่ประเสริฐ ขอเชิญท่านจงรับก้อนข้าวเถิด.
จบ ขทิรังคารชาดกที่ ๑๐.
จบ กุลาวกวรรคที่ ๔.
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. กุลาวกชาดก ๒. นัจจชาดก ๓. สัมโมทมานชาดก ๔. มัจฉชาดก ๕. วัฏฏกชาดก ๖. สกุณชาดก ๗. ติตติรชาดก ๘. พกชาดก ๙. นันทชาดก ๑๐. ขทิรังคารชาดก.
-----------------------------------------------------
๕. อัตถกามวรรค
๑. โลสกชาดก
ว่าด้วยคนที่ต้องเศร้าโศก
[๔๑] ผู้ใดบุคคลกล่าวสอนอยู่ ไม่ทำตามคำสอนของผู้ปรารถนาประโยชน์ ผู้อนุเคราะห์ด้วยประโยชน์เกื้อกูล ผู้นั้นย่อมเศร้าโศก เหมือนนาย มิตกะจับเท้าแพะเศร้าโศกอยู่ ฉะนั้น.
จบ โลสกชาดกที่ ๑.
๒. กโปตกชาดก
ว่าด้วยคนที่ต้องฉิบหาย
[๔๒] ผู้ใดบุคคลกล่าวสอนอยู่ ไม่ทำตามคำสอนของผู้ปรารถนาประโยชน์ ผู้ อนุเคราะห์ด้วยประโยชน์เกื้อกูล ผู้นั้นย่อมถึงความฉิบหาย เศร้าโศกอยู่ เหมือนกาไม่เชื่อฟังคำของนกพิราบ ตกอยู่ในเงื้อมมือของข้าศึก ฉะนั้น.
จบ กโปตกชาดกที่ ๒.
๓. เวฬุกชาดก
ว่าด้วยคนที่นอนตาย
[๔๓] ผู้ใดบุคคลกล่าวสอนอยู่ ไม่ทำตามคำสอนของผู้ปรารถนาประโยชน์ ผู้อนุเคราะห์ด้วยประโยชน์เกื้อกูล ผู้นั้นย่อมนอนตายอยู่ เหมือนดาบส ผู้เป็นบิดาของลูกงูชื่อเวฬุกะ ฉะนั้น.
จบ เวฬุกชาดกที่ ๓.
๔. มกสชาดก
มีศัตรูผู้มีปัญญาดีกว่ามีมิตรโง่
[๔๔] ศัตรูผู้ประกอบด้วยปัญญายังดีกว่า มิตรผู้ไม่มีปัญญาจะดีอะไร เหมือน บุตรของช่างไม้ผู้โง่เขลา คิดว่าจะตียุง ได้ตีศีรษะของบิดาแตกสองเสี่ยง ฉะนั้น.
จบ มกสชาดกที่ ๔.
๕. โรหิณีชาดก
ผู้อนุเคราะห์ที่โง่เขลาไม่ดี
[๔๕] ศัตรูผู้เป็นนักปราชญ์ยังดีกว่า คนโง่เขลาถึงเป็นผู้อนุเคราะห์จะดีอะไร ท่านจงดูนางโรหิณีผู้โง่เขลา ฆ่ามารดาแล้วเศร้าโศกอยู่.
จบ โรหิณีชาดกที่ ๕.
๖. อารามทูสกชาดก
ฉลาดในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ไม่มีความสุข
[๔๖] ผู้ฉลาดในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ถึงจะทำความเจริญ ก็ไม่สามารถจะนำ ความสุขมาให้ ผู้มีปัญญาทรามย่อมทำประโยชน์ให้เสีย เหมือนกับลิง ผู้รักษาสวน ฉะนั้น.
จบ อารามทูสกชาดกที่ ๖.
๗. วารุณิทูสกชาดก
ผู้มีปัญญาทรามทำให้เสียประโยชน์
[๔๗] ผู้ฉลาดในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ถึงจะทำความเจริญ ก็ไม่สามารถจะนำ ความสุขมาให้ ผู้มีปัญญาทรามย่อมทำประโยชน์ให้เสีย เหมือนกับ โกณทัญญบุรุษทำสุราให้เสีย ฉะนั้น.
จบ วารุณิทูสกชาดกที่ ๗.
๘. เวทัพพชาดก
ผู้ปรารถนาประโยชน์โดยไม่แยบคายย่อมเดือดร้อน
[๔๘] ผู้ใดปรารถนาประโยชน์ โดยอุบายอันไม่แยบคาย ผู้นั้นย่อมเดือดร้อน เหมือนพวกโจรชาวเจติรัฐฆ่าเวทัพพพราหมณ์ แล้วพากันถึงความพินาศ หมดสิ้น ฉะนั้น.
จบ เวทัพพชาดกที่ ๘.
๙. นักขัตตชาดก
ว่าด้วยประโยชน์คือฤกษ์
[๔๙] ประโยชน์ได้ล่วงเลยคนโง่เขลาผู้มัวคอยฤกษ์อยู่ ประโยชน์เป็นฤกษ์ของ ประโยชน์ ดวงดาวจักทำอะไรได้.
จบ นักขัตตชาดกที่ ๙.
๑๐. ทุมเมธชาดก
คนโง่ถูกบูชายัญเพราะคนอธรรม
[๕๐] เราได้บนไว้ต่อเทวดา ด้วยคนโง่เขลาหนึ่งพันคน บัดนี้ เราจักต้องบูชา ยัญ เพราะคนอธรรมมีมาก.
จบ ทุมเมธชาดกที่ ๑๐.
จบ อัตถกามวรรคที่ ๕.
จบ ปฐมปัณณาสก์.
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. โลสกชาดก ๒. กโปตกชาดก ๓. เวฬุกชาดก ๔. มกสชาดก ๕. โรหิณีชาดก ๖. อารามทูสกชาดก ๗. วารุณิทูสกชาดก ๘. เวทัพพชาดก ๙. นักขัตตชาดก ๑๐. ทุมเมธชาดก.
-----------------------------------------------------
๖. อาสิงสวรรค
๑. มหาสีลวชาดก
ความสำเร็จเกิดจากความพยายาม
[๕๑] บุรุษผู้เป็นบัณฑิตควรมุ่งหมายไปกว่าจะสำเร็จผล ไม่ควรจะท้อถอย ดูเราเป็นตัวอย่าง เราปรารถนาอย่างใดได้อย่างนั้น.
จบ มหาสีลวชาดกที่ ๑.
๒. จูฬชนกชาดก
เป็นคนควรพยายามร่ำไป
[๕๒] บุรุษผู้เป็นบัณฑิตพึงพยายามไปกว่าประโยชน์จะสำเร็จ ไม่ควรท้อถอย ดูเราขึ้นจากน้ำสู่บกได้เป็นตัวอย่างเถิด.
จบ จูฬชนกชาดกที่ ๒.
๓. ปุณณปาติชาดก
การกล่าวถ้อยคำไม่จริง
[๕๓] ไหสุราทั้งหลาย ยังเต็มอยู่อย่างเดิม ถ้อยคำที่ท่านกล่าวนี้ไม่เป็นจริง เราจึงรู้ได้ด้วยเหตุนี้ว่า สุรานี้เป็นสุราไม่ดีแน่.
จบ ปุณณปาติชาดกที่ ๓.
๔. ผลชาดก
การรู้จักผลไม้
[๕๔] ต้นไม้นี้ขึ้นก็ไม่ยาก ทั้งอยู่ไม่ไกลบ้าน เราจึงรู้ได้ด้วยเหตุนี้ว่า ต้นไม้นี้ ไม่ใช่ต้นไม้มีผลอร่อย.
จบ ผลชาดกที่ ๔.
๕. ปัญจาวุธชาดก
ว่าด้วยการบรรลุธรรมอันเกษม
[๕๕] นรชนใดมีจิตไม่ท้อถอย มีใจไม่หดหู่ เจริญกุศลธรรมเพื่อบรรลุธรรม อันเป็นแดนเกษมจากโยคะ นรชนนั้นพึงบรรลุธรรมเป็นที่สิ้นสังโยชน์ ทั้งปวงโดยลำดับ.
จบ ปัญจาวุธชาดกที่ ๕.
๖. กัญจนขันธชาดก
ว่าด้วยการบรรลุธรรมอันเกษม
[๕๖] นรชนใดมีจิตร่าเริง มีใจเบิกบาน เจริญกุศลธรรมเพื่อบรรลุธรรมอัน เป็นแดนเกษมจากโยคะ นรชนนั้นพึงบรรลุธรรม เป็นที่สิ้นสังโยชน์ ทั้งปวงได้โดยลำดับ.
จบ กัญจนขันธชาดกที่ ๖.
๗. วานรินทชาดก
ธรรมของผู้ล่วงพ้นศัตรู
[๕๗] ดูกรพระยาวานร ผู้ใดมีธรรม ๔ ประการนี้ คือ สัจจะ ธรรมคือวิจารณ- ปัญญา ธิติคือความเพียร จาคะ เหมือนท่าน ผู้นั้นย่อมล่วงพ้นศัตรูได้.
จบ วานรินทชาดกที่ ๗.
๘. ตโยธรรมชาดก
ธรรมของผู้ล่วงพ้นศัตรู
[๕๘] ดูกรพระยาวานร ผู้ใดมีธรรม ๓ ประการนี้ คือ ความขยัน ความแกล้ว กล้า ปัญญาเหมือนท่าน ผู้นั้นย่อมล่วงพ้นศัตรูได้.
จบ ตโยธรรมชาดกที่ ๘.
๙. เภริวาทชาดก
ว่าด้วยการทำเกินประมาณ
[๕๙] ท่านจะตีก็พึงตีเถิด แต่อย่าตีให้เกินประมาณ เพราะการตีเกินประมาณ เป็นการชั่วช้าของเรา ทรัพย์ที่เราได้มาตั้งร้อยเพราะตีกลอง ได้ฉิบหาย ไป เพราะท่านตีกลองเกินประมาณ.
จบ เภริวาทชาดกที่ ๙.
๑๐. สังขธมนชาดก
ว่าด้วยการทำเกินประมาณ
[๖๐] ท่านจะเป่าก็จงเป่าเถิด แต่อย่าเป่าให้เกินประมาณ เพราะการเป่าเกิน ประมาณเป็นการชั่วช้าของเรา โภคะที่เราได้มาเพราะการเป่าสังข์ได้ ฉิบหายไป เพราะท่านเป่าสังข์เกินประมาณ.
จบ สังขธมนชาดกที่ ๑๐.
จบ อาสิงสวรรคที่ ๖.
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. มหาสีลวชาดก ๒. จูฬชนกชาดก ๓. ปุณณปาติชาดก ๔. ผลชาดก ๕. ปัญจาวุธชาดก ๖. กัญจนขันธชาดก ๗. วารินทชาดก ๘. ตโยธรรมชาดก ๙. เภริวาทชาดก ๑๐. สังขธมนชาดก.
-----------------------------------------------------
๗. อิตถีวรรค
๑. อาสาตมันตชาดก
ว่าด้วยหญิงเลวทราม
[๖๑] ขึ้นชื่อว่าหญิงในโลกนี้เลวทราม เพราะหญิงเหล่านั้นไม่มีเขตแดน มีแต่ ความกำหนัดยินดี คึกคะนองไม่มีเลือก เหมือนกับไฟที่ไหม้ไม่เลือก ฉะนั้น เราจักละทิ้งหญิงเหล่านั้นไปบวช พอกพูนวิเวก.
จบ อาสาตมันตชาดกที่ ๑.
๒. อัณฑภูตชาดก
ว่าด้วยการวางใจภรรยา
[๖๒] พราหมณ์ถูกภรรยาผูกหน้าให้ดีดพิณ ก็รู้ไม่ทันภรรยา ที่ท่านนำมาเลี้ยง ไว้แต่ยังไม่คลอด ใครจะวางใจในภรรยาเหล่านั้นได้.
จบ อัณฑภูตชาดกที่ ๒.
๓. ตักกชาดก
ว่าด้วยธรรมดาหญิง
[๖๓] ธรรมดาว่าหญิงเป็นคนมักโกรธ ไม่รู้จักคุณ ชอบส่อเสียด ชอบยุยงให้ แตกกัน ดูกรภิกษุ ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์เถิด ท่านจะไม่เสื่อม จากสุข.
จบ ตักกชาดกที่ ๓.
๔. ทุราชานชาดก
ภาวะของหญิงรู้ยาก
[๖๔] ท่านอย่าดีใจว่าหญิงปรารถนาเรา อย่าเศร้าโศก ว่าหญิงนี้ไม่ปรารถนา เรา ภาวะของหญิงทั้งหลายเป็นของรู้ได้ยาก เหมือนทางไปของปลาใน น้ำ ฉะนั้น.
จบ ทุราชานชาดกที่ ๔.
๕. อนภิรติชาดก
เปรียบหญิงเหมือนของ ๕ อย่าง
[๖๕] แม่น้ำ หนทาง โรงสุรา สภา และบ่อน้ำ ฉันใด ขึ้นชื่อว่าหญิง ในโลก ก็ฉันนั้น บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่โกรธหญิงเหล่านั้น.
จบ อนภิรติชาดกที่ ๕.
๖. มุทุลักขณชาดก
ว่าด้วยความต้องการไม่มีสิ้นสุด
[๖๖] ครั้งยังไม่ได้นางมุทุลักขณาเทวี เกิดความปรารถนาเพียงอย่างเดียว แต่ เมื่อได้นางลักขณาเทวีผู้มีดวงตางามแล้ว ได้เกิดความปรารถนาสิ่งต่างๆ ขึ้นอีก.
จบ มุทุลักขณชาดกที่ ๖.
๗. อุจฉังคชาดก
หญิงหาลูกหาผัวได้ง่าย
[๖๗] ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ บุตรของหม่อมฉันหาได้ง่ายเหมือนกับเมี่ยง ในพก เมื่อหม่อมฉันเดินไปตามทาง สามีก็หาได้ง่าย หม่อมฉันไม่เห็น ประเทศที่จะนำพี่ชายผู้ร่วมอุทรมาได้.
จบ อุจฉังคชาดกที่ ๗.
๘. สาเกตชาดก
ว่าด้วยวางใจคนที่ชอบใจ
[๖๘] ใจฝังอยู่ในผู้ใด แม้จิตก็เลื่อมใสในผู้ใด เป็นคนที่ไม่เคยเห็นกันเลย ก็วางใจในผู้นั้นได้โดยแท้.
จบ สาเกตชาดกที่ ๘.
๙. วิสวันตชาดก
ตายเสียดีกว่าดูดพิษที่คายออกแล้ว
[๖๙] เราจักดูดพิษที่คายออกแล้ว เพราะเหตุแห่งชีวิตอันใด พิษที่คายออก แล้วนั้นน่าติเตียน เราตายเสียประเสริฐกว่าความเป็นอยู่.
จบ วิสวันตชาดกที่ ๙.
๑๐. กุททาลชาดก
ว่าด้วยความชนะที่ดี
[๗๐] ความชนะใดกลับแพ้ได้ ความชนะนั้นเป็นความชนะไม่ดี ความชนะใด ไม่กลับแพ้ ความชนะนั้นแลเป็นความชนะที่ดี.
จบ กุททาลชาดกที่ ๑๐.
จบ อิตถีวรรคที่ ๗.
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. อาสาตมันตชาดก ๒. อัณฑภูตชาดก ๓. ตักกชาดก ๔. ทุราชานชาดก ๕. อนภิรติชาดก ๖. มุทุลักขณชาดก ๗. อุจฉังคชาดก ๘. สาเกตชาดก ๙. วิสวันตชาดก ๑๐. กุททาลชาดก.
-----------------------------------------------------
๘. วรุณวรรค
๑. วรุณชาดก
ว่าด้วยการทำไม่ถูกขั้นตอน
[๗๑] ผู้ใดปรารถนาจะทำกิจที่ควรทำก่อน ในภายหลัง ผู้นั้นย่อมเดือดร้อน ในภายหลัง เหมือนมาณพหักไม้กุ่ม ฉะนั้น.
จบ วรุณชาดกที่ ๑.
๒. สีลวนาคชาดก
คนอกตัญญูมองคนในแง่ร้าย
[๗๒] ถ้าใครๆ จะพึงให้สมบัติในแผ่นดินทั้งหมดแก่คนอกตัญญู ผู้มีปกติมอง หาโทษอยู่เป็นนิตย์ ก็ให้เขาพอใจไม่ได้.
จบ สีลวนาคชาดกที่ ๒.
๓. สัจจังกิรชาดก
ไม้ลอยน้ำดีกว่าคนอกตัญญู
[๗๓] ได้ยินว่า นรชนบางพวกในโลกนี้ ได้กล่าวความจริงไว้อย่างนี้ว่า การ เก็บไม้ที่ลอยน้ำขึ้นมายังดีกว่า ช่วยคนอกตัญญูบางคนขึ้นจากน้ำ ฯ
จบ สัจจังกิรชาดกที่ ๓.
๔. รุกขธรรมชาดก
ต้นไม้โดดเดี่ยวย่อมแพ้ลม
[๗๔] มีญาติมากเป็นความดี อนึ่ง ต้นไม้ที่เกิดขึ้นในป่าหลายต้นเป็นการดี ต้นไม้ที่ขึ้นอยู่โดดเดี่ยว ถึงจะเป็นต้นไม้งอกงามใหญ่โตสักเท่าใด ลมก็ ย่อมพัดให้ล้มลงได้.
จบ รุกขธรรมชาดกที่ ๔.
๕. มัจฉชาดก
ว่าด้วยปลาขอฝน
[๗๕] ข้าแต่ฝน ขอท่านจงตกลงมาเถิด ขอจงทำลายขุมทรัพย์ของกาเสีย จงทำกาให้เศร้าโศก จงช่วยเปลื้องเราและพวกญาติๆ ให้พ้นจากความ เศร้าโศกด้วยเถิด.
จบ มัจฉชาดกที่ ๕.
๖. อสังกิยชาดก
เมตตากรุณาทำให้ปลอดภัย
[๗๖] เราไม่มีความระแวงในบ้าน ไม่มีภัยในป่า เราได้ขึ้นเดินทางตรงด้วย เมตตา และกรุณาแล้ว.
จบ อสังกิยชาดกที่ ๖.
๗. มหาสุบินชาดก
ว่าด้วยมหาสุบิน
[๗๗] หม่อมฉันได้ฝันเห็นโคอุสุภราช ๑ ต้นไม้ ๑ แม่โค ๑ โคสามัญ ๑ ม้า ๑ ถาดทองคำ ๑ สุนัขจิ้งจอก ๑ หม้อน้ำ ๑ สระโบกขรณี ๑ ข้าวสารที่หุง ไม่สุก ๑ แก่นจันทน์ ๑ น้ำเต้าจมน้ำ ๑ หินลอยน้ำ ๑ นางเขียดกลืนกิน งูเห่า ๑ หงส์ทองแวดล้อมกา ๑ เสือกลัวแพะ ๑ ดังนี้ ปริยายอันผิดจะ เป็นไปในยุคนี้ ยังไม่สำเร็จ.
จบ มหาสุบินชาดกที่ ๗.
๘. อิลลีสชาดก
ว่าด้วยคนมีรูปร่างเหมือนกัน
[๗๘] คนทั้ง ๒ คน เป็นคนกระจอก, คนค่อม ตาเหล่ เกิดต่อมที่ศีรษะ ข้าพระบาทไม่รู้ว่าคนไหนเป็นอิลลีสเศรษฐี?
จบ อิลลีสชาดกที่ ๘.
๙. ขรัสสรชาดก
ว่าด้วยบุตรที่มารดาละทิ้ง
[๗๙] เมื่อใดพวกโจรปล้น และฆ่าวัวกิน เผาบ้าน และจับคนไปเป็นเชลย เมื่อนั้น บุตรที่มารดาละทิ้งแล้ว จึงมาตีกลองเสียงดัง.
จบ ขรัสสรชาดกที่ ๙.
๑๐. ภีมเสนชาดก
ว่าด้วยคำแรกกับคำหลังไม่สมกัน
[๘๐] เมื่อก่อนนี้ ท่านพูดอวดเรา แต่ภายหลังเหตุไรท่านจึงถ่ายอุจจาระออกเล่า ดูกรภีมเสน คำทั้ง ๒ ย่อมไม่สมกัน คือ คำที่พูดถึงการรบและบัดนี้ ท่านเดือดร้อนใจอยู่.
จบ ภีมเสนชาดกที่ ๑๐.
จบ วรุณวรรคที่ ๘.
-----------------------------------------------------
รวมชาดกที่มีวรรคนี้ คือ
๑. วรุณชาดก ๒. สีลวนาคชาดก ๓. สัจจังกิรชาดก ๔. รุกขธรรมชาดก ๕. มัจฉชาดก ๖. อสังกิยชาดก ๗. มหาสุบินชาดก ๘. อิลลีสชาดก ๙. ขรัสสรชาดก ๑๐. ภีมเสนชาดก.
-----------------------------------------------------
๙. อปายิมหวรรค
๑. สุราปานชาดก
โทษของการดื่มสุรา
[๘๑] พวกผมได้ดื่มสุราแล้ว พากันฟ้อนรำขับร้อง และร้องไห้ พวกผมดื่มสุรา อันกระทำให้เสียสติแล้ว ท่านอาจารย์ไม่ได้เห็น กลายเป็นเหมือนวานร ไป.
จบ สุราปานชาดกที่ ๑.
๒. มิตตวินทชาดก
ว่าด้วยจักรบดศีรษะ
[๘๒] ท่านเลยปราสาทแก้วผลึก ปราสาทเงิน และปราสาทแก้วมณีมาแล้ว ท่านนั้นเป็นผู้ถูกจักรกรดบนศีรษะแล้ว บาปยังไม่สิ้นตราบใด ท่านยังมี ชีวิตอยู่ ก็จักไม่พ้นจากจักรกรดตราบนั้น.
จบ มิตตวินทชาดกที่ ๒.
๓. กาฬกัณณิชาดก
ว่าด้วยมิตร
[๘๓] บุคคลชื่อว่า เป็นมิตรด้วยการเดินร่วมกัน ๗ ก้าว ชื่อว่าเป็นสหายด้วย การเดินร่วมกัน ๑๒ ก้าว และชื่อว่าเป็นญาติด้วยการอยู่ร่วมกันเดือนหนึ่ง หรือกึ่งเดือน ส่วนผู้ชื่อว่ามีตนเสมอกันก็ด้วยการอยู่รวมกันยิ่งกว่านั้น เราจะละทิ้งมิตร ชื่อว่ากาฬกัณณี ผู้ชอบกันมานาน เพราะความสุข ส่วนตัวได้อย่างไร?
จบ กาฬกัณณิชาดกที่ ๓.
๔. อัตถัสสทวารชาดก
ว่าด้วยคุณธรรม ๖ ประการ
[๘๔] บุคคลควรปรารถนาลาภอย่างเยี่ยม คือ ความไม่มีโรค ๑ ศีล ๑ ความรู้ ของท่านผู้รู้ทั้งหลาย ๑ การสดับฟัง ๑ ความประพฤติตามธรรม ๑ ความ ไม่ท้อถอย ๑ คุณธรรม ๖ ประการนี้ เป็นประตู เป็นประธานแห่งประ- โยชน์.
จบ อัตถัสสทวารชาดกที่ ๔.
๕. กิมปักกชาดก
ว่าด้วยโทษของกาม
[๘๕] ผู้ใดไม่รู้โทษในอนาคต มัวเสพกามอยู่ กามเหล่านั้นจะต้องล้างผลาญ ผู้นั้นในเวลาให้ผล เหมือนผลแห่งต้นกิมปักกพฤกษ์ ทำให้คนผู้ที่บริโภค ตายฉะนั้น.
จบ กิมปักกชาดกที่ ๕.
๖. สีลวีมังสนชาดก
ว่าด้วยผู้มีศีล
[๘๖] ได้ยินว่าศีลเป็นคุณชาติงามเป็นเยี่ยมในโลก เชิดดูงูใหญ่มีพิษร้ายแรง เป็นสัตว์มีศีล เหตุนั้น จึงไม่เบียดเบียนใคร.
จบ สีลวีมังสนชาดกที่ ๖.
๗. มังคลชาดก
ว่าด้วยถือมงคลตื่นข่าว
[๘๗] ผู้ใดไม่ถือมงคลตื่นข่าว ไม่ถืออุกกาบาต ไม่ถือความฝัน ไม่ถือลักษณะดี หรือชั่ว ผู้นั้นชื่อว่าล่วงพ้นโทษแห่งการถือมงคลตื่นข่าว ครอบงำกิเลส เครื่องประกอบสัตว์ไว้ในภพที่เป็นคูกั้น ย่อมไม่กลับมาเกิดอีก.
จบ มังคลชาดกที่ ๗.
๘. สรัมภชาดก
ว่าด้วยการพูดดี-พูดชั่ว
[๘๘] บุคคลพึงเปล่งวาจางามเท่านั้น ไม่พึงเปล่งวาจาชั่วเลย การเปล่งวาจางาม ยังประโยชน์ให้สำเร็จ ผู้เปล่งวาจาชั่วย่อมเดือดร้อน.
จบ สารัมภชาดกที่ ๘.
๙. กุหกชาดก
พูดดีได้เงินได้ทอง
[๘๙] ได้ยินว่า วาจาของท่านผู้พูดคำอ่อนหวานเป็นวาจาไพเราะ ท่านข้องอยู่ เพราะหญ้าเพียงเส้นเดียว แต่นำเอาทอง ๑๐๐ ลิ่มไปไม่ขัดข้อง.
จบ กุหกชาดกที่ ๙.
๑๐. อกตัญญูชาดก
ว่าด้วยคนอกตัญญู
[๙๐] ผู้ใดอันคนอื่นทำความดี ทำประโยชน์ให้ในกาลก่อน แต่ไม่รู้สึกคุณ เมื่อมี กิจเกิดขึ้นในภายหลัง ย่อมไม่ได้ผู้ช่วยเหลือ.
จบ อกตัญญูชาดกที่ ๑๐.
จบ อปายิมหวรรคที่ ๙.
-----------------------------------------------------
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. สุราปานชาดก ๒. มิตตวินทชาดก ๓. กาฬกัณณิชาดก ๔. อัตถัสสทวารชาดก ๕. กิมปักกชาดก ๖. สีลวีมังสนชาดก ๗. มังคลชาดก ๘. สารัมภชาดก ๙. กุหกชาดก ๑๐. อกตัญญูชาดก.
-----------------------------------------------------
๑๐. ลิตตวรรค
๑. ลิตตชาดก
ว่าด้วยลูกสกาอาบยาพิษ
[๙๑] บุรุษกลืนกินลูกสกา อันย้อมด้วยยาพิษอย่างแรงกล้า ย่อมไม่รู้สึก ดูกร เจ้าคนร้าย เจ้านักเลงชั่วช้า จงกลืนกินเถิด จงกลืนกินเถิด เมื่อท่าน กลืนกินลูกสกาแล้ว ภายหลังยาพิษนี้จักแรงจัดขึ้น.
จบ ลิตตชาดกที่ ๑.
๒. มหาสารชาดก
ต้องการคนที่เหมาะกับเหตุการณ์
[๙๒] เมื่อสงครามเกิดขึ้น ย่อมต้องการคนกล้าหาญ เมื่อเกิดข่าวตื่นเต้นขึ้น ย่อมต้องการคนหนักแน่น เมื่อข้าวและน้ำมีบริบูรณ์ ย่อมต้องการคนที่รัก เมื่อข้อความลึกซึ้งเกิดขึ้น ย่อมต้องการบัณฑิต.
จบ มหาสารชาดกที่ ๒.
๓. วิสสาสโภชนชาดก
ว่าด้วยการไว้วางใจ
[๙๓] บุคคลไม่ควรไว้วางใจในผู้ที่ยังไม่คุ้นเคยกัน แม้ผู้ที่คุ้นเคยกันแล้วก็ไม่ ควรไว้วางใจ ภัยย่อมมาจากผู้ที่คุ้นเคยกัน เหมือนภัยของราชสีห์ เกิดจาก แม่เนื้อฉะนั้น.
จบ วิสสาสโภชนชาดกที่ ๓.
๔. โลมหังสชาดก
ว่าด้วยการแสวงหาอย่างประเสริฐ
[๙๔] เราเป็นคนเร่าร้อน มีตัวอันเปียกชุ่ม อยู่แต่ผู้เดียวในป่าที่น่ากลัว เป็น คนเปลือยกาย ถึงแม้ความหนาวเบียดเบียนก็ไม่ผิงไฟ มุนีขวนขวาย ด้วยการแสวงหาอย่างประเสริฐ.
จบ โลมหังสชาดกที่ ๔.
๕. มหาสุทัสสนชาดก
ว่าด้วยสังขาร
[๙๕] สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีความเกิดขึ้น และเสื่อมไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป ความที่สังขารเหล่านั้นสงบระงับเป็นสุข.
จบ มหาสุทัสสนชาดกที่ ๕.
๖. เตลปัตตชาดก
ว่าด้วยการรักษาจิต
[๙๖] บุคคลพึงประคองภาชนะอันเต็มเปี่ยมด้วยน้ำมัน ฉันใด บัณฑิตผู้ปรารถนา จะไปสู่ทิศที่ยังไม่เคยไป ก็พึงตามรักษาจิตของตนไว้ด้วยสติ ฉันนั้น.
จบ เตลปัตตชาดกที่ ๖.
๗. นามสิทธิชาดก
ว่าด้วยชื่อไม่เป็นของสำคัญ
[๙๗] มาณพตนหนึ่งชื่อว่าปาปกะ ได้เห็นคนชื่อว่านายเป็นตายลง เห็นนางทาสี ชื่อว่านางรวยทรัพย์จน เห็นคนชื่อว่านางทางหลงทาง แล้วก็กลับมา.
จบ นามสิทธิชาดกที่ ๗.
๘. กูฏวาณิชชาดก
ว่าด้วยคนผู้เป็นบัณฑิต
[๙๘] ธรรมดาคนที่เป็นบัณฑิตเป็นคนดี คนที่เป็นบัณฑิตเกินไปเป็นคนไม่ดี เราถูกไฟลวกเพราะบุตรที่เป็นบัณฑิตเกินไป.
จบ กูฏวาณิชชาดกที่ ๘.
๙. ปโรสหัสสชาดก
ว่าด้วยคนผู้มีปัญญา
[๙๙] คนโง่เขลาประชุมกัน แม้ตั้งพันคนขึ้นไป พวกเขาไม่มีปัญญาพึงคร่ำ- ครวญอยู่ตลอดร้อยปี ผู้ใดรู้แจ้งเนื้อความแห่งภาษิต ผู้นั้นเป็นบุรุษมี ปัญญา คนเดียวเท่านั้น ประเสริฐ.
จบ ปโรสหัสสชาดก.
๑๐. อสาตรูปชาดก
สิ่งที่ครอบงำคนประมาท
[๑๐๐] สิ่งที่ไม่เป็นที่พอใจ สิ่งที่ไม่เป็นที่รัก สิ่งที่เป็นทุกข์ ย่อมครอบงำ ผู้ประมาทด้วยสิ่งเป็นที่พอใจ สิ่งเป็นที่รัก และสิ่งที่เป็นสุข.
จบ อสาตรูปชาดก.
จบ ลิตตวรรคที่ ๑๐.
จบ มัชฌิมปัณณาสก์.
-----------------------------------------------------
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. ลิตตชาดก ๒. มหาสารชาดก ๓. วิสสาสโภชนชาดก ๔. โลมหังสชาดก ๕. มหาสุทัสสนชาดก ๖. เตลปัตตชาดก ๗. นามสิทธิชาดก ๘. กูฏวาณิชชาดก ๙. ปโรสหัสสชาดก ๑๐. อสาถูปชาดก.
-----------------------------------------------------
๑๑. ปโรสตวรรค
๑. ปโรสตชาดก
คนมีปัญญาคนเดียวดีกว่าคนโง่เขลาตั้งร้อย
[๑๐๑] คนโง่เขลามาประชุมกัน แม้ตั้งร้อยคนขึ้นไป พวกเขาไม่มีปัญญา พึงเพ่ง ดูอยู่ตั้งร้อยปี ผู้ใดรู้แจ้งเนื้อความแห่งภาษิต ผู้นั้นเป็นบุรุษมีปัญญา คนเดียวเท่านั้น ประเสริฐกว่า.
จบ ปโรสตชาดกที่ ๑.
๒. ปัณณิกชาดก
ว่าด้วยที่พึงให้โทษ
[๑๐๒] ผู้ใดเมื่อดิฉันได้รับทุกข์พึงเป็นที่พึ่งได้ ผู้นั้นคือบิดาของดิฉันกลับมาทำ ความประทุษร้ายแก่ดิฉันในป่า ดิฉันจะคร่ำครวญถึงใครในกลางป่า ผู้ใด ควรจะเป็นที่พึ่งของดิฉัน ผู้นั้นกลับมาทำกรรมอย่างสาหัส.
จบ ปัณณิกชาดกที่ ๒.
๓. เวริชาดก
การอยู่ร่วมกับมีเวรกัน
[๑๐๓] คนมีเวรกันอยู่ในที่ใด บัณฑิตไม่ควรอยู่ในที่นั้น เพราะเมื่ออยู่ในพวก คนมีเวรกันคืนเดียว หรือสองคืน ก็อยู่เป็นทุกข์.
จบ เวริชาดกที่ ๓.
๔. มิตตวินทชาดก
โทษผู้ลุอำนาจความปรารถนา
[๑๐๔] ผู้มีความปรารถนาจัด มี ๔ ก็ต้องการ ๘ มี ๘ ก็ต้องการ ๑๖ มี ๑๖ ก็ต้อง การ ๓๒ บัดนี้ มาได้รับกงจักรกรด กงจักรกรดพัดอยู่เหนือศีรษะ ของคนผู้ลุอำนาจความปรารถนา.
จบ มิตตวินทชาดกที่ ๔.
๕. ทุพพลกัฏฐชาดก
ว่าด้วยช้างกลัวไม้แห้ง
[๑๐๕] ลมย่อมพัดไม้แห้งที่ทุรพลในป่านี้ แม้มีจำนวนมากมายให้หักลง ดูกร ช้างตัวประเสริฐ ถ้าท่านมากลัวต่อไม้แห้งนั้น ท่านจักซูบผอมเป็นแน่.
จบ ทุพพลกัฏฐชาดกที่ ๕.
๖. อุทัญจนีชาดก
ว่าด้วยหญิงโจร
[๑๐๖] หญิงโจรผู้นำของไปด้วยหม้อน้ำ เบียดเบียนฉัน ผู้เคยมีชีวิตอยู่เป็นสุข จะขอน้ำมัน หรือเกลือ ก็ด้วยการกล่าวคำอ่อนหวานฐานเป็นภรรยา.
จบ อุทัญจนีชาดกที่ ๖.
๗. สาลิตตกชาดก
ว่าด้วยคนมีศิลปะ
[๑๐๗] ขึ้นชื่อว่าศิลปะแม้อย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมยังประโยชน์ให้สำเร็จโดยแท้ ขอเชิญพระองค์ ทรงทอดพระเนตร บุรุษเปลี้ยได้บ้านส่วยทั้ง ๔ ทิศ ก็เพราะการดีดมูลแพะ.
จบ สาลิตตกชาดกที่ ๗.
๘. พาหิยชาดก
เป็นคนควรศึกษาศิลปะ
[๑๐๘] บุคคลควรศึกษาศิลปะทั้งหลาย ชนทั้งหลายที่พอใจในศิลปะนั้นก็มีอยู่ แม้แต่หญิงที่เกิดในจังหวัดชั้นนอก ก็ยังทำให้พระราชาทรงโปรดปรานได้ ด้วยความกระมิดกระเมี้ยนของเธอ.
จบ พาหิยชาดกที่ ๘.
๙. กุณฑกปูวชาดก
ว่าด้วยมีอย่างไรกินอย่างนั้น
[๑๐๙] บุรุษกินอย่างไร เทวดาของบุรุษนั้นก็กินอย่างนั้น ท่านจงนำเอาขนมรำ นั้นมา อย่าให้ส่วนของเราเสียไปเลย.
จบ กุณฑกปูวชาดกที่ ๙.
๑๐. สัพพสังหารกปัญหา
ว่าด้วยการพูดของหญิง ๒ ประเภท
[๑๑๐] กลิ่นเครื่องอบทั้งปวงไม่มี มีแต่กลิ่นดอกประยงค์ล้วนฟุ้งไป หญิงนักเลง คนนี้ ย่อมกล่าวคำเหลาะแหละ หญิงผู้ใหญ่กล่าวคำจริง.
จบ สัพพสังหารกปัญหาที่ ๑๐.
จบ ปโรสตวรรคที่ ๑๑.
-----------------------------------------------------
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. ปโรสตชาดก ๒. ปัณณิกชาดก ๓. เวริชาดก ๔. มิตตวินทชาดก ๕. ทุพพลกัฏฐชาดก ๖. อุทัญจนีชาดก ๗. สาลิตตกชาดก ๘. พาหิยชาดก ๙. กุณฑกปูวชาดก ๑๐. สัพพสังหารกปัญหา.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๗ บรรทัดที่ ๑-๗๓๔ หน้าที่ ๑-๓๖. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=27&A=1&Z=734&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6], [7], [8]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=27&siri=1              ศึกษาอรรถกถาชาดกนี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=1              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [1-110] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=27&item=1&items=110              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=35&A=1              The Pali Tipitaka in Roman :- [1-110] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=27&item=1&items=110              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=35&A=1              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ https://84000.org/tipitaka/read/?index_27              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/ja1/en/chalmers

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :