ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๑ ขุททกนิกาย มหานิทเทส
             [๗๖๕] 	ภิกษุไม่พึงเป็นผู้พูดโอ้อวด ไม่พึงกล่าววาจามุ่งได้ ไม่พึงศึกษา
                          ความเป็นผู้คะนอง และไม่พึงกล่าวถ้อยคำแก่งแย่ง.
ว่าด้วยการพูดโอ้อวด
[๗๖๖] พึงทราบอธิบายในคำว่า ภิกษุไม่พึงเป็นผู้พูดโอ้อวดดังต่อไปนี้ ภิกษุบางรูป ในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้พูดโอ้อวด อวดอ้าง ภิกษุนั้นย่อมพูดโอ้อวด อวดอ้างว่า เราเป็นผู้ถึงพร้อม ด้วยศีลบ้าง ถึงพร้อมด้วยวัตรบ้าง ถึงพร้อมด้วยศีลและวัตรบ้าง ถึงพร้อมด้วยชาติบ้าง ถึงพร้อม ด้วยโคตรบ้าง ถึงพร้อมด้วยความเป็นบุตรสกุลบ้าง ถึงพร้อมด้วยความเป็นผู้มีรูปงามบ้าง ถึงพร้อม ด้วยทรัพย์บ้าง ถึงพร้อมด้วยความเชื้อเชิญบ้าง ถึงพร้อมด้วยหน้าที่การงานบ้าง ถึงพร้อมด้วย ศิลปศาสตร์บ้าง ถึงพร้อมด้วยวิทยฐานะบ้าง ถึงพร้อมด้วยการศึกษาบ้าง ถึงพร้อมด้วยปฏิภาณบ้าง ถึงพร้อมด้วยวัตถุอื่นๆ บ้าง เราออกบวชจากสกุลสูงบ้าง ออกบวชจากสกุลมีโภคสมบัติมากบ้าง ออกบวชจากสกุลมีโภคสมบัติยิ่งใหญ่บ้าง เป็นผู้ทรงจำพระสูตรบ้าง เป็นผู้ทรงจำพระวินัยบ้าง เป็นพระธรรมกถึกบ้าง เป็นผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตรบ้าง ฯลฯ เป็นผู้ได้เนวสัญญานาสัญญายตน สมาบัติบ้าง. ภิกษุไม่พูดโอ้อวดอย่างนี้ คือ พึงละ บรรเทา ทำให้สิ้นไป ให้ถึงความไม่มี ซึ่งความพูดโอ้อวด พึงเป็นผู้งด เว้น เว้นเฉพาะ ออก สลัดออก พ้นขาด ไม่เกี่ยวข้องกับการ พูดโอ้อวด พึงเป็นผู้มีจิตปราศจากแดนกิเลสอยู่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุไม่พึงเป็นผู้พูด โอ้อวด.
ว่าด้วยการกล่าววาจามุ่งได้
[๗๖๗] พึงทราบอธิบายในคำว่า ไม่พึงกล่าววาจามุ่งได้ดังต่อไปนี้ วาจามุ่งได้เป็น ไฉน? ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ ย่อมกล่าววาจามุ่งได้จีวร กล่าววาจามุ่งได้บิณฑบาต กล่าววาจา มุ่งได้เสนาสนะ กล่าววาจามุ่งได้คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร วาจานี้เรียกว่า วาจามุ่งได้. อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุพูดจริงบ้าง พูดเท็จบ้าง พูดส่อเสียดบ้าง พูดไม่ส่อเสียดบ้าง พูดหยาบบ้าง พูดไม่หยาบบ้าง พูดเพ้อเจ้อบ้าง พูดไม่เพ้อเจ้อบ้าง พูดด้วยปัญญาบ้าง เพราะเหตุแห่งจีวร เพราะเหตุแห่งบิณฑบาต เพราะเหตุแห่งเสนาสนะ เพราะเหตุแห่งคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร แม้วาจานี้ก็เรียกว่า วาจามุ่งได้. อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุมีจิตเลื่อมใส แสดงธรรมแก่ชนทั้งหลายอื่น ด้วยคิดว่า โอหนอ ขอชนทั้งหลาย พึงฟังธรรมของเรา ครั้นฟังแล้วพึงเลื่อมใสธรรม ครั้นเลื่อมใสแล้วพึงทำอาการของคนผู้เลื่อมใส ต่อเราวาจานี้ก็เรียกว่า วาจามุ่งได้. คำว่า ไม่พึงกล่าววาจามุ่งได้ ความว่า ภิกษุไม่พึงบอก ไม่พึงพูด ไม่พึงแสดง ไม่พึง แถลงวาจามุ่งได้ ตลอดถึงวาจาแสดงธรรมเป็นที่สุดคือ พึงละ บรรเทา ทำให้สิ้นไป ให้ถึงความ ไม่มี ซึ่งวาจามุ่งได้ พึงเป็นผู้งดเว้น เว้นเฉพาะ ออก สลัดออก พ้นขาด ไม่เกี่ยวข้องกับวาจา มุ่งได้ พึงเป็นผู้มีจิตปราศจากแดนกิเลสอยู่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ไม่พึงกล่าววาจามุ่งได้.
ว่าด้วยความคะนอง ๓ อย่าง
[๗๖๘] ชื่อว่า ความคะนอง ในคำว่า ไม่พึงศึกษาความเป็นผู้คะนอง ได้แก่ความ คะนอง ๓ อย่าง คือ ความคะนองทางกาย ๑ ความคะนองทางวาจา ๑ ความคะนองทางใจ ๑. ความคะนองทางกายเป็นไฉน? ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ อยู่ในสงฆ์ก็ดี อยู่ในคณะ ก็ดี อยู่ในโรงฉันก็ดี อยู่ในเรือนไฟก็ดี อยู่ที่ท่าน้ำก็ดี กำลังเข้าไปสู่ละแวกบ้านก็ดี เข้าไปสู่ ละแวกบ้านแล้วก็ดี ก็แสดงความคะนองทางกาย. ภิกษุอยู่ในสงฆ์แสดงความคะนองทางกายอย่างไร? ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ อยู่ใน สงฆ์ ไม่ทำความยำเกรง ยืนเบียดพวกภิกษุที่เป็นเถระบ้าง นั่งเบียดพวกภิกษุที่เป็นเถระบ้าง ยืนบังหน้าบ้าง นั่งบังหน้าบ้าง นั่งบนอาสนะสูงบ้าง นั่งคลุมศีรษะตนบ้าง ยืนตัวแข็ง (ยืนไม่ก้ม) พูดบ้าง ไกวแขนพูดบ้าง ภิกษุอยู่ในสงฆ์แสดงความคะนองทางกายอย่างนี้. ภิกษุอยู่ในคณะแสดงความคะนองทางกายอย่างไร? ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ อยู่ใน คณะ ไม่ทำความยำเกรง เมื่อพวกภิกษุที่เป็นเถระไม่สวมรองเท้าเดินอยู่ ก็สวมรองเท้าเดินไป เมื่อพวกภิกษุที่เป็นเถระเดินอยู่ในที่จงกรมต่ำ ก็เดินในที่จงกรมสูง เมื่อพวกภิกษุที่เป็นเถระ เดินอยู่บนแผ่นดิน ก็เดินในที่จงกรม ยืนเบียดบ้าง นั่งเบียดบ้าง ยืนบังหน้าบ้าง นั่งบังหน้าบ้าง นั่งบนอาสนะสูงบ้าง นั่งคลุมศีรษะตนบ้าง ยืนตัวแข็งพูดบ้าง ไกวแขนพูดบ้าง ภิกษุอยู่ในคณะ แสดงความคะนองทางกายอย่างนี้. ภิกษุอยู่ในโรงฉันแสดงความคะนองทางกายอย่างไร? ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ อยู่ในโรงฉัน ไม่ทำความยำเกรง นั่งแทรกแซงพวกภิกษุที่เป็นเถระบ้าง นั่งกีดกันอาสนะพวก ภิกษุที่เป็นนวกะบ้าง ยืนเบียดบ้าง นั่งเบียดบ้าง ยืนบังหน้าบ้าง นั่งบังหน้าบ้าง นั่งบนอาสนะสูง บ้าง นั่งคลุมศีรษะตนบ้าง ยืนตัวแข็งพูดบ้าง ไกวแขนพูดบ้าง ภิกษุอยู่ในโรงฉันแสดงความ คะนองทางกายอย่างนี้. ภิกษุอยู่ในเรือนไฟแสดงความคะนองทางกายอย่างไร? ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ อยู่ในเรือนไฟ ไม่ทำความยำเกรง ยืนเบียดพวกภิกษุที่เป็นเถระบ้าง นั่งเบียดพวกภิกษุที่เป็นเถระ บ้าง ยืนบังหน้าบ้าง นั่งบังหน้าบ้าง นั่งบนอาสนะสูงบ้าง ไม่บอกก่อนแล้วใส่ฟืนบ้าง ไม่บอก ก่อนแล้วปิดประตูบ้าง ภิกษุอยู่ในเรือนไฟแสดงความคะนองทางกายอย่างนี้. ภิกษุอยู่ที่ท่าน้ำแสดงความคะนองทางกายอย่างไร? ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ อยู่ที่ ท่าน้ำ ไม่ทำความยำเกรง ลงเบียดพวกภิกษุที่เป็นเถระบ้าง ลงข้างหน้าบ้าง อาบเบียดบ้าง อาบข้างหน้าบ้าง อาบข้างเหนือน้ำบ้าง ขึ้นเบียดบ้าง ขึ้นข้างหน้าบ้าง ขึ้นข้างเหนือน้ำบ้าง ภิกษุอยู่ที่ท่าน้ำแสดงความคะนองทางกายอย่างนี้. ภิกษุกำลังเข้าไปสู่ละแวกบ้าน แสดงความคะนองทางกายอย่างไร? ภิกษุบางรูป ในธรรมวินัยนี้ กำลังเข้าไปสู่ละแวกบ้าน ไม่ทำความยำเกรง เดินเบียดพวกภิกษุที่เป็นเถระบ้าง เดินข้างหน้าบ้าง เดินขึ้นหน้าพวกภิกษุที่เป็นเถระบ้าง ภิกษุกำลังเข้าไปสู่ละแวกบ้าน แสดงความ คะนองกายอย่างนี้. ภิกษุเข้าไปในละแวกบ้านแล้ว แสดงความคะนองทางกายอย่างไร? ภิกษุบางรูป ในธรรมวินัยนี้ เข้าไปสู่ละแวกบ้านแล้ว เมื่อเขาไม่บอกว่า เข้าไปเถิดพระคุณเจ้า ก็เข้าไป เมื่อเขาไม่บอกว่า ยืนอยู่เถิดพระคุณเจ้า ก็ยืน เมื่อเขาไม่บอกว่า นั่งเถิดพระคุณเจ้า ก็นั่ง เข้าไป สู่ที่เป็นโอกาสไม่ควรบ้าง ยืนอยู่ในที่เป็นโอกาสไม่ควรบ้าง นั่งอยู่ในที่เป็นโอกาสไม่ควรบ้าง ถลันเข้าไปในห้องเล็กลับปิดบังของสกุล อันเป็นที่นั่งอยู่แห่งพวกหญิงของสกุล ธิดาของสกุล สะใภ้ของสกุล กุมารีของสกุลบ้าง จับศีรษะเด็กบ้าง ภิกษุเข้าไปสู่ละแวกบ้านแล้วแสดงความ คะนองทางกายอย่างนี้. นี้ชื่อว่าความคะนองทางกาย. ความคะนองทางวาจาเป็นไฉน? ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ อยู่ในสงฆ์ก็ดี อยู่ใน คณะก็ดี เข้าไปสู่ละแวกบ้านแล้วก็ดี ก็แสดงความคะนองทางวาจา. ภิกษุอยู่ในสงฆ์แสดงความคะนองทางวาจาอย่างไร? ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ อยู่ในสงฆ์ไม่ทำความยำเกรง ไม่บอกพวกภิกษุที่เป็นเถระก่อน หรืออันพวกภิกษุที่เป็นเถระ ไม่เชื้อเชิญ ก็แสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายที่อยู่ในอารามแก้ปัญหาเอง สวดปาติโมกข์เอง ยืนตัวแข็งพูดบ้าง ไกวแขนพูดบ้าง ภิกษุอยู่ในสงฆ์แสดงความคะนองทางวาจาอย่างนี้. ภิกษุอยู่ในคณะแสดงความคะนองทางวาจาอย่างไร? ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ อยู่ใน คณะไม่แสดงความยำเกรง ไม่บอกพวกภิกษุที่เป็นเถระก่อน หรืออันพวกภิกษุที่เป็นเถระไม่ เชื้อเชิญ ก็แสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายที่อยู่ในอารามแก้ปัญหาเอง ยืนตัวแข็ง พูดบ้าง ไกวแขน พูดบ้าง แสดงธรรมแก่ภิกษุณีทั้งหลายที่อยู่ในอาราม แสดงธรรมแก่อุบาสกทั้งหลายที่อยู่ในอาราม แสดงธรรมแก่อุบาสิกาทั้งหลายที่อยู่ในอาราม แก้ปัญหาเอง ยืนตัวแข็งพูดบ้าง ไกวแขนพูดบ้าง ภิกษุอยู่ในคณะแสดงความคะนองทางวาจาอย่างนี้. ภิกษุเข้าไปสู่ละแวกบ้านแล้ว แสดงความคะนองทางวาจาอย่างไร? ภิกษุบางรูปใน ธรรมวินัยนี้ เข้าไปสู่ละแวกบ้านแล้ว พูดกะสตรีบ้าง กุมารีบ้างและพูดฟุ้งไปว่า ดูกรหญิงมีชื่อ อย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้ สิ่งอะไรมีหรือ ยาคูมีไหม ภัตมีไหม ของควรเคี้ยวมีไหม พวกเราจัก ดื่มอะไร จักฉันอะไร จักเคี้ยวอะไร สิ่งอะไรมีหรือ หรือพวกท่านจะให้อะไรแก่เรา ภิกษุเข้า ไปสู่ละแวกบ้านแล้วแสดงความคะนองทางวาจาอย่างนี้. นี้ชื่อว่าความคะนองทางวาจา. ความคะนองทางใจเป็นไฉน? ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ ไม่ใช่เป็นผู้ออกบวชจาก สกุลสูง ก็มีจิตวางตนเหมือนกับภิกษุที่ออกบวชจากสกุลสูง ไม่ใช่เป็นผู้ออกบวชจากสกุลใหญ่ ก็มีจิตวางตนเหมือนกับภิกษุที่ออกบวชจากสกุลใหญ่ ไม่ใช่เป็นผู้ออกบวชจากสกุลมีโภคสมบัติ มาก ก็มีจิตวางตนเหมือนกับภิกษุที่ออกบวชจากสกุลมีโภคสมบัติมาก ไม่ใช่เป็นผู้ออกบวชจาก สกุลมีโภคสมบัติยิ่งใหญ่ ก็มีจิตวางตนเหมือนกับภิกษุที่ออกบวชจากสกุลมีโภคสมบัติยิ่งใหญ่ ไม่ใช่เป็นผู้ทรงจำพระสูตร ก็มีจิตวางตนเหมือนกับภิกษุที่ทรงจำพระสูตร ไม่ใช่เป็นผู้ทรงวินัย ... ไม่ใช่เป็นพระธรรมกถึก ... ไม่ใช่เป็นผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ... ไม่ใช่เป็นผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็น วัตร ... ไม่ใช่เป็นผู้ถือทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ... ไม่ใช่เป็นผู้ถือทรงไตรจีวรเป็นวัตร ... ไม่ใช่เป็น ผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับตรอกเป็นวัตร ... ไม่ใช่เป็นผู้ถือไม่ฉันภัตหนหลังเป็นวัตร ... ไม่ใช่เป็นผู้ถือเนสัชชิกธุดงค์เป็นวัตร ... ไม่ใช่เป็นผู้ถืออยู่ในเสนาสนะที่เขาจัดให้อย่างไรเป็น วัตร ... ไม่ใช่เป็นผู้ได้ปฐมฌาน ... ไม่ใช่เป็นผู้ได้ทุติยฌาน ... ไม่ใช่เป็นผู้ได้ตติยฌาน ... ไม่ใช่ เป็นผู้ได้จตุตถฌาน ... ไม่ใช่เป็นผู้ได้อากาสานัญจายตนสมาบัติ ... ไม่ใช่เป็นผู้ได้วิญญาณัญจายตน สมาบัติ ... ไม่ใช่เป็นผู้ได้อากิญจัญญายตนสมาบัติ ... ไม่ใช่เป็นผู้ได้เนวสัญญานาสัญญายตน สมาบัติ ก็มีจิตวางตนเหมือนภิกษุผู้ได้เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ นี้ชื่อว่าความคะนองทางใจ. คำว่า ไม่พึงศึกษาความเป็นผู้คะนอง คือ ภิกษุไม่พึงศึกษา ไม่พึงประพฤติเอื้อเฟื้อ ไม่พึงประพฤติเอื้อเฟื้อด้วยดี ไม่พึงสมาทานประพฤติ ซึ่งความเป็นผู้คะนอง คือ พึงละ บรรเทา ทำให้สิ้นไป ให้ถึงความไม่มี ซึ่งความเป็นผู้คะนอง พึงเป็นผู้งด เว้น เว้นเฉพาะ ออก สลัดออก พ้นขาด ไม่เกี่ยวข้องกับความเป็นผู้คะนอง พึงเป็นผู้มีจิตปราศจากแดนกิเลสอยู่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ไม่พึงศึกษาความเป็นผู้คะนอง. [๗๖๙] พึงทราบอธิบายในคำว่า ไม่พึงกล่าวคำแก่งแย่ง ดังต่อไปนี้ ถ้อยคำแก่งแย่ง เป็นไฉน? ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้กล่าวถ้อยคำเห็นปานนี้ว่า ท่านไม่รู้ธรรมวินัยนี้ ฯลฯ หรือจงแก้ไขถ้าท่านสามารถ. สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรโมคคัลลานะ เมื่อถ้อยคำ ที่แก่งแย่งกันมีอยู่ ก็ต้องพูดมาก เมื่อพูดมาก ก็ต้องมีความฟุ้งซ่าน เมื่อฟุ้งซ่าน ความไม่สำรวม ก็ต้องมี เมื่อไม่สำรวม จิตก็ห่างไกลจากสมาธิ ดังนี้. คำว่า ไม่พึงกล่าวถ้อยคำแก่งแย่ง ความว่า ไม่พึงกล่าว พูด แสดง แถลง ถ้อยคำ แก่งแย่ง พึงละ บรรเทา ทำให้สิ้นไป ให้ถึงความไม่มี ซึ่งถ้อยคำแก่งแย่ง พึงเป็นผู้งด เว้น เว้นเฉพาะ ออก สลัดออก พ้นขาด ไม่เกี่ยวข้องกับถ้อยคำแก่งแย่ง พึงเป็นผู้มีจิตปราศจาก แดนกิเลสอยู่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ไม่พึงกล่าว ถ้อยคำแก่งแย่ง. เพราะเหตุนั้น พระผู้มี พระภาคจึงตรัสตอบว่า ภิกษุไม่พึงเป็นผู้พูดโอ้อวด ไม่พึงกล่าววาจามุ่งได้ ไม่พึงศึกษาความ เป็นผู้คะนอง และไม่พึงกล่าวถ้อยคำแก่งแย่ง.

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๙ บรรทัดที่ ๘๘๐๖-๘๙๒๓ หน้าที่ ๓๗๐-๓๗๕. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=29&A=8806&Z=8923&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=29&siri=14              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=29&i=699              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [765-769] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=29&item=765&items=5              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=45&A=8634              The Pali Tipitaka in Roman :- [765-769] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=29&item=765&items=5              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=45&A=8634              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ https://84000.org/tipitaka/read/?index_29

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :