ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๑ ขุททกนิกาย มหานิทเทส
ว่าด้วยทำบุญต้องมุ่งนิพพาน
[๘๒๕] คำว่า นรชนพึงเป็นผู้มีใจน้อมไปในนิพพาน ความว่า นรชนบางคนในโลกนี้ ให้ทาน สมาทานศีล รักษาอุโบสถกรรม เข้าไปตั้งไว้ซึ่งน้ำดื่มน้ำใช้ กวาดบริเวณ ไหว้พระเจดีย์ บูชาเครื่องหอมและดอกไม้ที่พระเจดีย์ ทำประทักบิณพระเจดีย์ บำเพ็ญกุศลที่ควรบำเพ็ญอย่างใด อย่างหนึ่งอันเป็นไตรธาตุ ก็ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งคติ ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งอุปบัติ ไม่ บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งปฏิสนธิ ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งภพ ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งสงสาร ไม่ บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งวัฏฏะ เป็นผู้มีความประสงค์ในอันพรากออกจากทุกข์ มีใจน้อมโน้มโอนไป ในนิพพาน ย่อมบำเพ็ญกุศลทั้งปวงนั้น แม้เพราะเหตุอย่างนี้ดังนี้ จึงชื่อว่า นรชนพึงเป็นผู้มีใจ น้อมไปในนิพพาน. อนึ่ง นรชนบังคับจิตให้กลับจากสังขารธาตุอันเป็นไปในไตรภูมิทั้งปวง น้อม จิตเข้าไปในอมตธาตะว่าธรรมชาติใด คือ ความสงบแห่งสังขารทั้งปวง ความสละคืนแห่งอุปธิ ทั้งปวง ความสิ้นตัณหา ความสำรอกตัณหา ความดับตัณหา ความออกจากตัณหาเป็นเครื่อง ร้อยรัด ธรรมชาตินี้สงบ ประณีต แม้ด้วยเหตุอย่างนี้ดังนี้ จึงชื่อว่า นรชนพึงเป็นผู้มีใจน้อม ไปในนิพพาน. สมจริงดังพระพุทธภาษิตว่า บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมไม่ให้ทานเพราะเหตุแห่งสุขอันก่อให้เกิดอุปธิ แต่ บัณฑิตเหล่านั้นย่อมให้ทานเพื่อความหมดสิ้นอุปธิ เพื่อนิพพานอันไม่มี ภพต่อไป โดยส่วนเดียว. บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมไม่เจริญฌานเพราะเหตุ แห่งสุขอันก่อให้เกิดอุปธิ เพื่อภพต่อไป แต่บัณฑิตเหล่านั้น ย่อม เจริญฌาน เพื่อความหมดสิ้นอุปธิ เพื่อนิพพานอันไม่มีภพต่อไป โดย ส่วนเดียว. บัณฑิตเหล่านั้น มุ่งนิพพาน มีจิตเอนไปในนิพพาน น้อมจิตไปในนิพพาน ย่อมให้ทาน บัณฑิตเหล่านั้น ย่อมเป็นผู้มีนิพพาน เป็นเบื้องหน้า เหมือนแม่น้ำทั้งหลายไหลไปสู่ทะเล ฉะนั้น. เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า นรชนพึงเป็นผู้มีใจน้อมไปในนิพพาน. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาค จึงตรัสว่า นรชนพึงปราบความหลับ ความเกียจคร้าน ความย่อท้อ ไม่พึงอยู่ด้วย ความประมาท ไม่พึงตั้งอยู่ในความดูหมิ่น พึงเป็นผู้มีใจน้อมไปใน นิพพาน. [๘๒๖] นรชนพึงออกจากความพูดเท็จ ไม่พึงทำความเสน่หาในรูป พึงกำหนดรู้ มานะ และพึงประพฤติเว้นจากความผลุนผลัน.
ว่าด้วยมุสาวาทมีด้วยอาการ ๓
[๘๒๗] มุสาวาท เรียกว่าความพูดเท็จ ในคำว่า นรชนพึงออกจากความพูดเท็จ. บุคคลบางคนในโลกนี้ อยู่ในที่ประชุม อยู่ในประชุมชน อยู่ในท่ามกลางญาติ อยู่ในท่ามกลาง ข้าราชการ หรืออยู่ในราชสกุล เขาถูกนำไปถามเป็นพยานว่า บุรุผู้เจริญ มาเถิด ท่านรู้สิ่งใด ก็จงบอกสิ่งนั้น บุคคลนั้น เมื่อไม่รู้ก็บอกว่ารู้บ้าง เมื่อรู้ก็บอกว่าไม่รู้บ้าง เมื่อไม่เห็นก็บอกว่า เห็นบ้าง เมื่อเห็นก็บอกว่าไม่เห็นบ้าง เป็นผู้กล่าวคำเท็จทั้งที่รู้ เพราะเหตุตนบ้าง เพราะเหตุ ผู้อื่นบ้าง เพราะเห็นแก่อามิสเล็กน้อยบ้าง ด้วยประการดังนี้ นี้เรียกว่า ความพูดเท็จ. อีกอย่าง หนึ่ง มุสาวาทย่อมมีด้วยอาการ ๓ อาการ ๔ อาการ ๕ อาการ ๖ อาการ ๗ อาการ ๘ ฯลฯ มุสาวาทย่อมมีด้วยอาการ ๘ นี้. คำว่า นรชนพึงออกจากความพูดเท็จ ความว่า ไม่พึงดำเนิน ไม่พึงประกอบ ไม่พึงนำเข้าไปด้วยความพูดเท็จ พึงละ บรรเทา ทำให้สิ้นไป ให้ถึงความไม่มี ซึ่งความพูดเท็จ พึงเป็นผู้งด เว้น เว้นเฉพาะ ออก สลัดออก พ้นขาด ไม่เกี่ยวข้องความ พูดเท็จ พึงเป็นผู้มีจิตปราศจากแดนกิเลสอยู่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า นรชนพึงออกจากความ พูดเท็จ. [๘๒๘] ชื่อว่ารูป ในคำว่า ไม่พึงทำความเสน่หาในรูป คือ มหาภูตรูป ๔ และ อุปาทายรูปแห่งมหาภูตรูป ๔. คำว่า ไม่พึงทำความเสน่หาในรูป ความว่า ไม่ควรทำความเสน่หา ไม่ควรทำความพอใจ ไม่ควรทำความรัก ไม่ควรทำความกำหนัดในรูป คือ ไม่ให้เกิด ไม่ให้เกิด พร้อม ไม่ให้บังเกิด ไม่ให้บังเกิดเฉพาะ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ไม่พึงทำความเสน่หาในรูป.
ว่าด้วยมานะลักษณะต่างๆ
[๘๒๙] ชื่อว่ามานะ ในคำว่า พึงกำหนดรู้มานะ คือ มานะอย่างหนึ่งได้แก่ความฟูขึ้น แห่งจิต. มานะ ๒ อย่าง ได้แก่มานะในความยกตน ๑ มานะในความข่มผู้อื่น ๑ มานะ ๓ อย่าง ได้แก่มานะว่าเราดีกว่าเขา ๑ มานะว่าเราเสมอเขา ๑ มานะว่า เราเลวกว่าเขา ๑. มานะ ๔ อย่าง ได้แก่บุคคลให้มานะเกิดเพราะลาภ ๑ ให้มานะเกิดเพราะยศ ๑ ให้มานะเกิดเพราะสรรเสริญ ๑ ให้มานะเกิดเพราะสุข ๑. มานะ ๕ อย่าง ได้แก่ บุคคลให้มานะเกิดว่า เราได้รูปที่ชอบใจ ๑ ให้มานะเกิดว่า เราได้เสียงที่ชอบใจ ๑ ให้มานะเกิดว่า เราได้กลิ่นที่ชอบใจ ๑ ให้มานะเกิดว่า เราได้รสที่ชอบใจ ๑ ให้มานะเกิดว่า เราได้โผฏฐัพพะที่ชอบใจ ๑. มานะ ๖ อย่าง ได้แก่บุคคล ให้มานะเกิดเพราะความถึงพร้อมแห่งจักษุ ๑ ให้มานะเกิดเพราะความถึงพร้อมแห่งหู ๑ ให้มานะ เกิดเพราะความถึงพร้อมแห่งจมูก ๑ ให้มานะเกิดเพราะความถึงพร้อมแห่งลิ้น ๑ ให้มานะเกิด เพราะความถึงพร้อมแห่งกาย ๑ ให้มานะเกิดเพราะความถึงพร้อมแห่งใจ ๑. มานะ ๗ อย่าง ได้แก่ความถือตัว ๑ ความดูหมิ่น ๑ ความถือตัวและความดูหมิ่น ๑ ความถือตัวต่ำ ๑ ความ ถือตัวสูง ๑ ความถือตัวว่าเรามั่งมี ๑ ความถือตัวผิด ๑. มานะ ๘ อย่าง ได้แก่บุคคลให้ความ ถือตัวเกิดเพราะลาภ ๑ ให้ความถือตัวต่ำเกิดเพราะความเสื่อมลาภ ๑ ให้ความถือตัวเกิดเพราะ ยศ ๑ ให้ความถือตัวต่ำเกิดเพราะความเสื่อมยศ ๑ ให้ความถือตัวเกิดเพราะความสรรเสริญ ๑ ให้ความถือตัวต่ำเกิดเพราะความนินทา ๑ ให้ความถือตัวเกิดเพราะสุข ๑ ให้ความถือตัวต่ำเกิด เพราะทุกข์. มานะ ๙ อย่าง ได้แก่มานะว่าเราดีกว่าคนที่ดี ๑ มานะว่า เราเสมอกับคนที่ดี ๑ มานะว่า เราเลวกว่าคนที่ดี ๑ มานะว่า เราดีกว่าผู้เสมอกัน ๑ มานะว่า เราเสมอกับผู้เสมอกัน ๑ มานะว่า เราเสมอกับผู้เลว ๑ มานะว่า เราดีกว่าผู้เลว ๑ มานะว่า เราเสมอกับผู้เลว ๑ มานะว่า เราเลวกว่าผู้เลว. มานะ ๑๐ อย่าง ได้แก่ บุคคลบางคนในโลกนี้ ยังมานะให้เกิดเพราะชาติบ้าง เพราะโคตรบ้าง ฯลฯ เพราะวัตถุอื่นๆ บ้าง ความถือตัว กิริยาที่ถือตัว ความเป็นผู้ถือตัว ความกำเริบขึ้น ความฟูขึ้น มานะดังว่าธงไชย มานะอันประคองจิตไว้ ความที่จิตใคร่ดังว่า ธงยอดเห็นปานนี้ นี้เรียกว่า มานะ. คำว่า พึงกำหนดรู้มานะ ความว่า พึงกำหนดรู้มานะด้วยปริญญา ๓ คือ ญาตปริญญา ตีรณปริญญา ปหานปริญญา ญาตปริญญาเป็นไฉน? นรชนย่อมรู้จักมานะ คือ ย่อมรู้ ย่อมเห็นว่า นี้เป็นมานะอย่างหนึ่ง ได้แก่ความฟูขึ้นแห่งจิตเป็นมานะ ๒ อย่าง ได้แก่มานะในการยกตน มานะในการข่มผู้อื่น ฯลฯ นี้เป็นมานะ ๑๐ อย่าง ได้แก่บุคคลบางคนในโลกนี้ ยังมานะให้เกิด เพราะชาติบ้าง เพราะโคตรบ้าง ฯลฯ เพราะวัตถุอื่นๆ บ้าง นี้ชื่อว่า ญาตปริญญา. ตีรณปริญญา เป็นไฉน? นรชนรู้อย่างนี้แล้วย่อมพิจารณามานะโดยความเป็นของไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ ฯลฯ โดยอุบายเป็นเครื่องสลัดทุกข์ นี้ชื่อว่า ตีรณปริญญา. ปหานปริญญาเป็นไฉน? นรชน พิจารณาอย่างนี้แล้ว ย่อมละ บรรเทา ทำให้สิ้นไป ให้ถึงความไม่มี ซึ่งมานะ นี้ชื่อว่าปหาน- *ปริญญา. คำว่า พึงกำหนดรู้มานะ คือ พึงกำหนดรู้มานะด้วยปริญญา ๓ นี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พึงกำหนดรู้มานะ. [๘๓๐] ความประพฤติผลุนผลัน ในคำว่า พึงประพฤติเว้นจากความผลุนผลัน เป็น ไฉน? ความประพฤติด้วยราคะแห่งคนผู้กำหนัด ความประพฤติด้วยโทสะแห่งคนผู้ขัดเคือง ความประพฤติด้วยโมหะแห่งคนผู้หลง ความประพฤติด้วยมานะแห่งคนที่มานะผูกพัน ความ ประพฤติด้วยทิฏฐิแห่งคนผู้ถือมั่น ความประพฤติด้วยอุทธัจจะแห่งคนผู้ถึงความฟุ้งซ่าน ความ ประพฤติด้วยวิจิกิจฉาแห่งคนผู้ถึงความไม่ตกลง ความประพฤติด้วยอนุสัยแห่งคนผู้ถึงโดยเรี่ยว- *แรง ชื่อว่าความประพฤติผลุนผลัน (แต่ละอย่าง) นี้ชื่อว่า ความประพฤติผลุนผลัน. คำว่า พึงประพฤติเว้นจากความผลุนผลัน ความว่า นรชนพึงเป็นผู้งด เว้น เว้นเฉพาะ ออก สลัดออก พ้นขาด ไม่เกี่ยวข้องด้วยความประพฤติผลุนผลัน พึงเป็นผู้มีจิตปราศจากแดนกิเลสอยู่ พึง- *ประพฤติ เที่ยวไป ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถ เป็นไป รักษา บำรุง เยียวยา เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พึงประพฤติเว้นจากความผลุนผลัน. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า นรชนพึงออกจากความพูดเท็จ ไม่พึงทำความเสน่หาในรูป พึงกำหนดรู้ มานะ และพึงประพฤติเว้นจากความผลุนผลัน. [๘๓๑] ไม่พึงยินดีสังขารเก่า ไม่พึงทำความชอบใจในสังขารใหม่ เมื่อสังขาร เสื่อมไป ก็ไม่พึงเศร้าโศก ไม่พึงเป็นผู้อาศัยกิเลสเครื่องเกี่ยวข้อง. [๘๓๒] คำว่า ไม่พึงยินดีสังขารเก่า ความว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่ล่วงแล้ว เรียกว่า สังขารเก่า. บุคคลไม่ควรยินดี ไม่ควรบ่นถึง ไม่ควรติดใจ ซึ่งสังขาร ทั้งหลายที่ล่วงแล้วด้วยสามารถแห่งตัณหา ด้วยสามารถแห่งทิฏฐิ พึงละ บรรเทา ทำให้สิ้นไป ให้ถึงความไม่มี ซึ่งความชอบใจ ความบ่นถึง ความติดใจ ความถือ ความยึดถือ ความถือมั่น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ไม่พึงยินดีสังขารเก่า. [๘๓๓] คำว่า ไม่พึงทำความชอบใจสังขารใหม่ ความว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญา เป็นปัจจุบัน เรียกว่า สังขารใหม่. ไม่ควรทำความชอบใจ ความพอใจ ความรัก ความกำหนัด ในสังขารทั้งหลายที่เป็นปัจจุบัน ด้วยสามารถแห่งตัณหา ด้วยสามารถแห่งทิฏฐิ คือ ไม่ให้เกิด ไม่ให้เกิดพร้อม ไม่ให้บังเกิด ไม่ให้บังเกิดเฉพาะ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ไม่พึงทำความชอบใจในสังขารใหม่. [๘๓๔] คำว่า เมื่อสังขารเสื่อมไป ไม่พึงเศร้าโศก ความว่า เมื่อสังขารเสื่อมไป เสียไป ละไป แปรไป หายไป อันตรธานไป ไม่พึงเศร้าโศก ไม่พึงลำบากใจ ไม่พึงถือมั่น ไม่พึงร่ำไร ไม่พึงทุบอกคร่ำครวญ ไม่พึงถึงความหลงใหล คือ เมื่อจักษุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ สกุล คณะ อาวาส ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร เสื่อมไป เสียไป ละไป แปรไป หายไป อันตรธานไป ไม่พึงเศร้าโศก ไม่พึงลำบากใจ ไม่พึงถือมั่น ไม่พึงร่ำไร ไม่พึงทุบอกคร่ำครวญ ไม่พึงถึงความหลงใหล เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เมื่อสังขารเสื่อมไป ไม่พึงเศร้าโศก.
ว่าด้วยกิเลสเครื่องเกี่ยวข้อง
[๘๓๕] ตัณหา เรียกว่ากิเลสเครื่องเกี่ยวข้อง ในคำว่า ไม่พึงเป็นผู้อาศัยกิเลสเครื่อง เกี่ยวข้อง ได้แก่ราคะ สาราคะ ฯลฯ อภิชฌา โลภะ อกุศลมูล. เหตุไรตัณหาจึงเรียกว่ากิเลส เครื่องเกี่ยวข้อง. บุคคลย่อมเกี่ยวข้อง เกาะเกี่ยว ถือ ยึดมั่น ถือมั่น ซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ คติ อุบัติ ปฏิสนธิ ภพ สงสาร วัฏฏะ ด้วยตัณหาใด เหตุนั้น ตัณหา นั้นจึงเรียกว่า กิเลสเครื่องเกี่ยวข้อง. คำว่า ไม่พึงเป็นผู้อาศัยกิเลสเครื่องเกี่ยวข้อง ความว่า บุคคลพึงไม่พึงเป็นผู้อาศัยตัณหา พึงละ บรรเทา ทำให้สิ้นไป ให้ถึงความไม่มีซึ่งตัณหา เป็น ผู้งด เว้น เว้นเฉพาะ ออก สลัดออก พ้นขาด ไม่เกี่ยวข้องตัณหา พึงเป็นผู้มีจิตปราศจาก แดนกิเลสอยู่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ไม่พึงเป็นผู้อาศัยกิเลสเครื่องเกี่ยวข้อง. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ไม่พึงยินดีสังขารเก่า ไม่พึงทำความชอบใจในสังขารใหม่ เมื่อสังขาร เสื่อมไป ไม่พึงเศร้าโศก ไม่พึงเป็นผู้อาศัยกิเลสเครื่องเกี่ยวข้อง. [๘๓๖] เราย่อมกล่าวความกำหนัดว่า เป็นห้วงน้ำใหญ่ กล่าวความว่องไว (อาชวะ) ว่า เป็นความปรารถนา กล่าวอารมณ์ว่า เป็นความกำหนด เปือกตม คือกามเป็นสภาพล่วงได้โดยยาก.
ว่าด้วยเรียกตัณหาว่าเป็นห้วงน้ำใหญ่
[๘๓๗] ตัณหา เรียกว่าความกำหนัด ในคำว่า เราย่อมกล่าวความกำหนัดว่า เป็น ห้วงน้ำใหญ่ ได้แก่ราคะ สาราคะ ฯลฯ อภิชฌา โลภะ อกุศลมูล. ตัณหา เรียกว่าห้วงน้ำ ใหญ่ ได้แก่ราคะ สาราคะ ฯลฯ อภิชฌา โลภะ อกุศลมูล. คำว่า เราย่อมกล่าวความกำหนัดว่า เป็นห้วงน้ำใหญ่ ความว่า เราย่อมกล่าว บอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก ทำให้ตื้น ประกาศความกำหนัดว่า เป็นห้วงน้ำใหญ่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เราย่อมกล่าว ความกำหนัดว่า เป็นห้วงน้ำใหญ่. [๘๓๘] ตัณหา เรียกว่าความว่องไว ในคำว่า กล่าวความว่องไวว่า เป็นความปรารถนา ได้แก่ราคะ สาราคะ ฯลฯ อภิชฌา โลภะ อกุศลมูล. ตัณหาเรียกว่าความปรารถนา ได้แก่ราคะ สาราคะ ฯลฯ อภิชฌา โลภะ อกุศลมูล. คำว่า กล่าวความว่องไวว่า เป็นความปรารถนา ความว่า เราย่อมกล่าว บอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก ทำให้ตื้น ประกาศความ ว่องไวว่า เป็นความปรารถนา เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า กล่าวความว่องไวว่าเป็นความปรารถนา. [๘๓๙] ตัณหา เรียกว่าอารมณ์ ในคำว่า กล่าวอารมณ์ว่า เป็นความกำหนด ได้แก่ ราคะ สาราคะ ฯลฯ อภิชฌา โลภะ อกุศลมูล. ตัณหาเรียกว่า ความกำหนด ได้แก่ราคะ สาราคะ ฯลฯ อภิชฌา โลภะ อกุศลมูล. เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า กล่าวอารมณ์ว่า เป็นความ กำหนด
ว่าด้วยเปรียบกามเหมือนเปือกตม
[๘๔๐] คำว่า เปือกตมคือกามเป็นสภาพล่วงได้โดยยาก ความว่า เปือกตมคือกาม หล่มคือกาม กิเลสคือกาม โคลนคือกาม ความกังวลคือกาม เป็นสภาพล่วงได้โดยยาก ก้าวล่วง ได้โดยยาก ข้ามได้ยาก ข้ามพ้นได้ยาก ก้าวพ้นยาก ล่วงเลยได้ยาก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เปือกตมคือกามเป็นสภาพล่วงได้โดยยาก. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า เราย่อมกล่าวความกำหนัดว่า เป็นห้วงน้ำใหญ่ กล่าวความว่องไวว่า เป็นความปรารถนา กล่าวอารมณ์ว่า เป็นความกำหนด เปือนตมคือกาม เป็นสภาพล่วงได้โดยยาก. [๘๔๑] ผู้เป็นมุนีไม่ก้าวล่วงจากสัจจะ เป็นพราหมณ์ตั้งอยู่บนบก ผู้นั้นสลัด สิ่งทั้งปวงแล้ว ผู้นั้นแลเรากล่าวว่า เป็นผู้สงบ. [๘๔๒] คำว่า ผู้เป็นมุนีไม่ก้าวล่วงจากสัจจะ ความว่า ไม่ก้าวล่วงจากสัจจวาจา ไม่ ก้าวล่วงจากสัมมาทิฏฐิ ไม่ก้าวล่วงจากอริยมรรคมีองค์ ๘. คำว่า มุนี ความว่า ญาณเรียกว่า โมนะ ๑- ได้แก่ปัญญา ความรู้ทั่ว ฯลฯ ก้าวล่วงธรรมเป็นเครื่องข้องและตัณหาเพียงดังข่าย บุคคลนั้น ชื่อว่ามุนี เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้เป็นมุนีไม่ก้าวล่วงจากสัจจะ.
ว่าด้วยอมตนิพพานเรียกว่าบก
[๘๔๓] อมตนิพพาน เรียกว่าบก ในคำว่า เป็นพราหมณ์ตั้งอยู่บนบก ได้แก่ความ สงบสังขารทั้งปวง ความสละคืนอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา ความสำรอกตัณหา ความดับ ตัณหา ความออกจากตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัด. คำว่า พราหมณ์ ๒- ความว่า บุคคลชื่อว่าเป็น พราหมณ์ เพราะเป็นผู้ลอยเสียแล้วซึ่งธรรม ๗ ประการ ฯลฯ ผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยแล้ว เป็นผู้คงที่ ชื่อว่าเป็นพราหมณ์. คำว่า เป็นพราหมณ์ตั้งอยู่บนบก ความว่า เป็นพราหมณ์ตั้ง อยู่บนบก คือตั้งอยู่ในธรรมเป็นที่พึ่ง ตั้งอยู่ในธรรมเป็นที่ป้องกัน ตั้งอยู่ในธรรมเป็นที่พักพิง ตั้งอยู่ในธรรมเป็นสรณะ ตั้งอยู่ในธรรมไม่มีภัย ตั้งอยู่ในธรรมไม่มีความเคลื่อน ตั้งอยู่ในอมตะ ตั้งอยู่ในนิพพาน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เป็นพราหมณ์ตั้งอยู่บนบก. [๘๔๔] คำว่า ผู้นั้นสลัดสิ่งทั้งปวงแล้ว ความว่า อายตนะ ๑๒ คือ จักษุ รูป ฯลฯ ใจ ธรรมารมณ์ เรียกว่าสิ่งทั้งปวง. ฉันทราคะ ในอายตนะภายในและภายนอก เป็นกิเลสอัน ผู้นั้นละแล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำไม่ให้มีที่ตั้งดังตาลยอดด้วน ถึงความไม่มีในภายหลัง มีความ @๑. ดูข้อ ๖๙๗. ๒. ดูข้อ ๖๘๑. ไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา ด้วยเหตุใด แม้ด้วยเหตุเท่านี้ สิ่งทั้งปวงชื่อว่าอันผู้นั้นสละ สำรอก ปล่อย ละ สละคืนแล้ว. ตัณหาก็ดี ทิฏฐิก็ดี มานะก็ดี เป็นกิเลสอันผู้นั้นละแล้ว ตัดราก ขาดแล้ว ทำไม่ให้มีที่ตั้งดังตาลยอดด้วน ถึงความไม่มีในภายหลัง มีความไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็น ธรรมดา ด้วยเหตุใด แม้ด้วยเหตุเท่านี้ สิ่งทั้งปวงชื่อว่า อันผู้นั้นสละ สำรอก ปล่อย ละ สละคืนแล้ว. ปุญญาภิสังขารก็ดี อปุญญาภิสังขารก็ดี อเนญชาภิสังขารก็ดี เป็นสภาพอันผู้นั้น ละแล้ว ตัดราดขาดแล้ว ทำไม่ให้มีที่ตั้งดังตาลยอดด้วน ให้ถึงความไม่มีในภายหลัง มีความ ไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา ด้วยเหตุใด แม้ด้วยเหตุเท่านี้ สิ่งทั้งปวงชื่อว่าอันผู้นั้นสละ สำรอก ปล่อย ละ สละคืนแล้ว เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้นั้นสลัดสิ่งทั้งปวงเสียแล้ว. [๘๔๕] คำว่า ผู้นั้นแลเรากล่าวว่า เป็นผู้สงบ ความว่า ผู้นั้น เราย่อมกล่าว บอก พูด แสดง แถลงว่า เป็นผู้สงบ เข้าไปสงบ เข้าไปสงบวิเศษ ดับ ระงับแล้ว เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้นั้นแลเรากล่าวว่า เป็นผู้สงบ. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ผู้เป็นมุนีไม่ก้าวล่วงจากสัจจะ เป็นพราหมณ์ตั้งอยู่บนบก ผู้นั้นสลัดสิ่ง ทั้งปวงแล้ว ผู้นั้นแลเรากล่าวว่า เป็นผู้สงบ. [๘๔๖] ผู้นั้นแลมีความรู้ เป็นเวทคู รู้ธรรมแล้วไม่อาศัย ผู้นั้นอยู่ในโลกโดย ชอบ ย่อมไม่ใฝ่ฝันต่อใครในโลกนี้. [๘๔๗] คำว่า มีความรู้ ในคำว่า ผู้นั้นแลมีความรู้เป็นเวทคู ความว่า มีความรู้ ถึงวิชชา มีญาณ มีปัญญาเครื่องตรัสรู้ มีปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาทำลายกิเลส. คำว่า เป็นเวทคู ความว่า ญาณในมรรค ๔ เรียกว่า เวท ฯลฯ เป็นผู้ปราศจากความกำหนัดในเวทนาทั้งปวง ล่วง เวทนาทั้งปวงแล้ว ชื่อว่าเป็นเวทคู เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้นั้นแลมีความรู้ เป็นเวทคู. [๘๔๘] คำว่า รู้ธรรมแล้วไม่อาศัย ความว่า รู้แล้ว คือ ทราบพิจารณา เทียบเคียง ทำให้แจ่มแจ้งแล้ว ทำให้เป็นแจ้งแล้วว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ฯลฯ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา. คำว่า ไม่อาศัย ความว่า ความอาศัย ๒ ประการ คือ ความอาศัยด้วยตัณหา ๑ ความอาศัยด้วยทิฏฐิ ๑ ฯลฯ นี้ชื่อว่า ความอาศัยด้วยตัณหา ฯลฯ นี้ชื่อว่า ความอาศัยด้วยทิฏฐิ ผู้นั้นละความอาศัยด้วย ตัณหา สละคืนความอาศัยด้วยทิฏฐิ เป็นผู้ไม่อาศัย ไม่พัวพัน ไม่เข้าถึง ไม่เยื่อใย ไม่น้อม ใจไป ออก สละ พ้นขาด ไม่เกี่ยวข้อง ซึ่งตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ฯลฯ รูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ทราบ และธรรมารมณ์ที่รู้แจ้ง เป็นผู้มีจิตอันทำให้ปราศจาก แดนกิเลสอยู่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า รู้ธรรมแล้วไม่อาศัย. [๘๔๙] คำว่า ผู้นั้นอยู่ในโลกโดยชอบ ความว่า ฉันทราคะในอายตนะภายในและภาย นอก เป็นกิเลสอันผู้นั้นละแล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำไม่ให้มีที่ตั้งดังตาลยอดด้วน ถึงความ ไม่มีในภายหลัง มีความไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา ด้วยเหตุใด แม้ด้วยเหตุเท่านี้ ผู้นั้นชื่อว่า ย่อมเที่ยวไป อยู่ ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถ ประพฤติ รักษา บำรุง เยียวยาอยู่ในโลกโดยชอบ. ปุญญาภิสังขารก็ดี อปุญญาภิสังขารก็ดี อเนญชาภิสังขารก็ดี เป็นสภาพอันผู้นั้นละแล้ว ตัด รากขาดแล้ว ทำไม่ให้มีที่ตั้งดังตาลยอดด้วน ถึงความไม่มีในภายหลัง มีความไม่เกิดขึ้นต่อไป เป็นธรรมดา ด้วยเหตุใด แม้ด้วยเหตุเท่านี้ ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเที่ยวไป อยู่ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถ ประพฤติ รักษา บำรุง เยียวยาอยู่ในโลกโดยชอบ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้นั้นอยู่ในโลก โดยชอบ.
ว่าด้วยตัณหาเรียกว่าความใฝ่ฝัน
[๘๕๐] คำว่า ย่อมไม่ฝันต่อใครๆ ในโลกนี้ ความว่า ตัณหาเรียกว่า ความใฝ่ฝัน ได้แก่ราคะ สาราคะ ฯลฯ อภิชฌา โลภะ อกุศลมูล. ตัณหาอันเป็นความใฝ่ฝันนั้น อันผู้ใด ละ ตัดขาด สงบ ระงับแล้ว ทำไม่ให้ควรเกิดขึ้น เผาเสียแล้วด้วยไฟคือญาณ ผู้นั้นย่อมไม่ ใฝ่ฝันต่อใครๆ เป็นกษัตริย์ก็ตาม เป็นพราหมณ์ก็ตาม เป็นแพศย์ก็ตาม เป็นศูทรก็ตาม เป็นคฤหัสถ์ก็ตาม เป็นบรรพชิตก็ตาม เป็นเทวดาก็ตาม เป็นมนุษย์ก็ตาม เพราะฉะนั้น จึง ชื่อว่า ย่อมไม่ใฝ่ฝันต่อใครๆ ในโลกนี้. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ผู้นั้นแลมีความรู้ เป็นเวทคู รู้ธรรมแล้วไม่อาศัย ผู้นั้นอยู่ในโลกโดย ชอบ ย่อมไม่ใฝ่ฝันต่อใครๆ ในโลกนี้. [๘๕๑] ผู้ใดข้ามพ้นกามทั้งหลาย และเครื่องข้อง ที่ล่วงได้โดยยากในโลก ผู้ นั้นย่อมไม่เศร้าโศก ย่อมไม่เพ่งเล็ง เป็นผู้มีกระแสอันตัดเสียแล้ว มิได้มีเครื่องผูก.
ว่าด้วยกาม ๒ อย่าง
[๘๕๒] คำว่า ผู้ใด ในคำว่า ผู้ใดข้ามพ้นกามทั้งหลาย และเครื่องข้องที่ล่วงได้ โดยยากในโลก ความว่า ผู้ใด คือ เช่นใด ประกอบอย่างไร ชนิดอย่างไร มีประการอย่างไร ถึงฐานะใด ประกอบด้วยธรรมใด เป็นกษัตริย์ก็ตาม เป็นพราหมณ์ก็ตาม เป็นแพศย์ก็ตาม เป็นศูทรก็ตาม เป็นคฤหัสถ์ก็ตาม เป็นบรรพชิตก็ตาม เป็นเทวดาก็ตาม เป็นมนุษย์ก็ตาม โดยอุทานว่ากาม. ได้แก่ กาม ๒ อย่าง คือ วัตถุกาม ๑ กิเลสกาม ๑ ฯลฯ เหล่านี้เรียกว่า วัตถุกาม ฯลฯ เหล่านี้เรียกว่า กิเลสกาม. ชื่อว่าเครื่องข้อง ได้แก่เครื่องข้อง ๗ ประการ คือ เครื่องข้องคือราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ กิเลส ทุจริต. คำว่า ในโลก คือ ใน อบายโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก อายตนโลก. คำว่า ที่ล่วงได้โดยยาก ความว่า ผู้ใดได้ข้าม ข้ามขึ้น ข้ามพ้น ก้าวล่วง เป็นไปล่วงแล้วซึ่งกามและเครื่องข้องที่ล่วง ได้โดยยาก ล่วงไปได้ยาก ข้ามขึ้นได้ยาก ข้ามพ้นได้ยาก ก้าวล่วงได้ยาก เป็นไปล่วงได้ยาก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้ใด ข้ามพ้นกามทั้งหลาย และเครื่องข้องที่ล่วงได้โดยยากในโลก. [๘๕๓] คำว่า ผู้นั้นย่อมไม่เศร้าโศก ย่อมไม่เพ่งเล็ง ความว่า ย่อมไม่เศร้าโศก ถึงวัตถุที่แปรปรวนไป หรือเมื่อวัตถุแปรปรวนไปแล้ว ก็ไม่เศร้าโศกถึง คือ ย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ลำบากใจ ไม่รำพัน ไม่ทุบอกคร่ำครวญ ไม่ถึงความหลงใหลว่า จักษุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ สกุล คณะ อาวาส ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร มารดา บิดา พี่น้องชาย พี่น้องหญิง บุตร ธิดา มิตร พวกพ้อง ญาติสาโลหิต ของเรา แปรปรวนไปแล้ว เพราะฉะนั้น จึงชื่อ ว่า ย่อมไม่เศร้าโศก. คำว่า ย่อมไม่เพ่งเล็ง ความว่า ย่อมไม่เพ่งเล็ง ไม่เพ่งถึง ไม่มุ่งถึง ไม่หมายถึง ไม่มุ่งหมายถึง. อีกอย่างหนึ่ง ผู้นั้นย่อมไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่เคลื่อน ไม่ อุบัติ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้นั้นย่อมไม่เศร้าโศก ย่อมไม่เพ่งเล็ง.
ว่าด้วยตัณหาเรียกว่ากระแส
[๘๕๔] คำว่า เป็นผู้มีกระแสอันตัดเสียแล้ว ไม่มีเครื่องผูก ความว่า ตัณหาเรียกว่า กระแส ได้แก่ราคะ สาราคะ ฯลฯ อภิชฌา โลภะ อกุศลมูล. ตัณหากระแสนั้น เป็น กิเลสชาติอันผู้ใดละ ตัดขาด สงบ ระงับแล้ว ทำไม่ให้ควรเกิดขึ้น เผาเสียแล้วด้วยไฟคือ ญาณ ผู้นั้นเรียกว่าเป็นผู้มีกระแสอันตัดเสียแล้ว. คำว่า ไม่มีเครื่องผูก ความว่า เครื่องผูก ๗ ประการ คือ เครื่องผูกคือราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ กิเลส ทุจริต. เครื่องผูกเหล่านี้ อันผู้ใดละ ตัดขาด สงบ ระงับแล้ว ทำไม่ให้ควรเกิดขึ้น เผาเสียแล้วด้วยไฟคือญาณ ผู้นั้น เรียกว่า ไม่มีเครื่องผูก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เป็นผู้มีกระแสอันตัดเสียแล้ว ไม่มีเครื่องผูก. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ผู้ใดข้ามพ้นกามทั้งหลาย และเครื่องข้องที่ล่วงได้โดยยากในโลก ผู้นั้น ย่อมไม่เศร้าโศก ย่อมไม่เพ่งเล็ง เป็นผู้มีกระแสอันตัดเสียแล้ว ไม่มี เครื่องผูก. [๘๕๕] กิเลสชาติที่พึงเกิดขึ้น เพราะปรารภถึงสังขาร ในกาลก่อน ท่านจงให้ เหือดหายไปเสีย กิเลสชาติเครื่องกังวลที่พึงเกิดขึ้นเพราะปรารภถึง สังขารในภายหลัง อย่าได้มีแก่ท่าน ถ้าท่านจักไม่ถือเอาสังขารในท่าม กลาง ท่านจักเป็นผู้เข้าไปสงบประพฤติไป. [๘๕๖] คำว่า กิเลสชาติที่พึงเกิดขึ้น เพราะปรารภถึงสังขารในกาลก่อน ท่านจงให้ เหือดหายไปเสีย ความว่า กิเลสเหล่าใดพึงเกิดขึ้น เพราะปรารภถึงสังขารทั้งหลายเป็นส่วน อดีต ท่านจงยังกิเลสเหล่านั้นให้เหือดไป เหือดหายไป เหือดแห้งไป คือ จงละ บรรเทา ทำให้สิ้นไป ให้ถึงความไม่มีในภายหลัง แม้ด้วยเหตุอย่างนี้ดังนี้ จึงชื่อว่า กิเลสชาติที่พึงเกิด ขึ้น เพราะปรารภถึงสังขารในกาลก่อน ท่านจงให้เหือดหายไปเสีย. อีกอย่างหนึ่ง อภิสังขาร คือกรรมเป็นส่วนอดีตเหล่าใด ที่ยังมิได้ให้ผล ท่านจงยังอภิสังขารคือกรรมเหล่านั้นให้เหือดไป เหือดหายไป เหือดแห้งไป คือ จงทำให้สิ้นพืช ละ บรรเทา ทำให้สิ้นไป ให้ถึงความไม่มี ในภายหลัง แม้ด้วยเหตุอย่างนี้ดังนี้ จึงชื่อว่า กิเลสชาติที่พึงเกิดขึ้น เพราะปรารภถึงสังขาร ในกาลก่อน ท่านจงให้เหือดหายไป.
ว่าด้วยอนาคตเรียกว่าภายหลัง
[๘๕๗] คำว่า กิเลสชาติเครื่องกังวลที่พึงเกิดขึ้น เพราะปรารภถึงสังขารในภายหลัง อย่าได้มีแก่ท่าน ความว่า อนาคตเรียกว่าภายหลัง. กิเลสชาติเครื่องกังวลเหล่าใด คือ กิเลส ชาติเครื่องกังวลคือราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ กิเลส ทุจริต พึงเกิดขึ้นเพราะปรารภ สังขารทั้งหลายในอนาคต กิเลสชาติเครื่องกังวลเหล่านี้ อย่าได้มีแก่ท่าน คือ ท่านอย่าทำให้ ปรากฏ อย่าให้เกิด อย่าให้เกิดพร้อม อย่าให้บังเกิด อย่าให้บังเกิดเฉพาะ จงละ บรรเทา ทำให้สิ้นไป ให้ถึงความไม่มีในภายหลัง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า กิเลสชาติเครื่องกังวลที่พึง เกิดขึ้น เพราะปรารภถึงสังขารในภายหลัง อย่าได้มีแก่ท่าน. [๘๕๘] คำว่า ถ้าท่านจักไม่ถือเอาสังขารในท่ามกลาง ความว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นปัจจุบัน เรียกว่า ท่ามกลาง. ท่านจักไม่ถือเอา ไม่ยึด ไม่ถือ ไม่ยึด ถือ ไม่ยินดี ไม่พูดถึง ไม่ติดใจ คือ จักละ บรรเทา ทำให้สิ้นไป ให้ถึงความไม่มีในภาย หลัง ซึ่งความยินดี ความพูดถึงความติดใจ ความถือ ความยึดถือ ความถือมั่น ซึ่งสังขาร ทั้งหลายในปัจจุบันนี้ ด้วยสามารถแห่งตัณหา ด้วยสามารถแห่งทิฏฐิ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ถ้าท่านจักไม่ถือเอาสังขารในท่ามกลาง. [๘๕๙] คำว่า ท่านจักเป็นผู้เข้าไปสงบประพฤติไป ความว่า ท่านจักเป็นผู้สงบ เข้า ไปสงบ เข้าไปสงบวิเศษ ดับ ระงับแล้ว เพราะราคะ โทสะ ฯลฯ อกุสลาภิสังขารทั้งปวง เป็นสภาพสงบ สงบเงียบ เข้าไปสงบวิเศษ ถูกเผา ดับ ปราศไป ระงับ ประพฤติ ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถ เป็นไป รักษา บำรุง เยียวยา เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ท่านจักเป็นผู้เข้า ไปสงบประพฤติไป. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า กิเลสชาติที่พึงเกิดขึ้น เพราะปรารภถึงสังขารในกาลก่อน ท่านจงให้ เหือดหายไปเสีย กิเลสชาติเครื่องกังวลที่พึงเกิดขึ้นเพราะปรารภถึง สังขารในภายหลัง อย่าได้มีแก่ท่าน ถ้าท่านจักไม่ถือเอาสังขารในท่าม กลาง ท่านจักเป็นผู้เข้าไปสงบประพฤติไป. [๘๖๐] ความถือว่าของเราในนามรูป ย่อมไม่มีแก่ผู้ใด โดยประการทั้งปวง และผู้ใดย่อมไม่เศร้าโศก เพราะสิ่งที่ถือว่าของเราไม่มีอยู่ ผู้นั้นย่อมไม่ เสื่อมในโลก.
ว่าด้วยนามและรูป
[๘๖๑] คำว่า โดยประการทั้งปวง ในคำว่า ความถือว่า ของเราในนามรูป ย่อมไม่มี แก่ผู้ใดโดยประการทั้งปวง ความว่า ทั้งปวงโดยกำหนดทั้งปวง ทั้งปวงโดยประการทั้งปวง ไม่เหลือ ไม่มีส่วนเหลือ. คำว่า ทั้งปวงนั้น เป็นเครื่องกล่าวรวบหมด. อรูปขันธ์ ๔ ชื่อว่านาม. มหาภูตรูป ๔ และอุปาทายรูปแห่งมหาภูตรูป ๔ ชื่อว่ารูป. คำว่า แก่ผู้ใด คือ แก่พระอรหันต- *ขีณาสพ. ชื่อว่าความถือว่าของเรา ได้แก่ความถือว่าของเรา ๒ อย่าง คือ ความถือว่าของเรา ด้วยตัณหา ๑ ความถือว่าของเราด้วยทิฏฐิ ๑ ฯลฯ นี้ชื่อว่าความถือว่าของเราด้วยตัณหา ฯลฯ นี้ชื่อว่าความถือว่าของเราด้วยทิฏฐิ. คำว่า ความถือว่าของเราในนามรูป ย่อมไม่มีแก่ผู้ใดโดย ประการทั้งปวง ความว่า ความถือว่าของเราในนามรูป ย่อมไม่มี ไม่ปรากฏ ไม่เข้าไปได้แก่ผู้ใด โดยประการทั้งปวง คือ อันผู้ใดละ ตัดขาด สงบ ระงับแล้ว ทำไม่ให้ควรเกิดขึ้น เผาเสียแล้ว ด้วยไฟคือญาณ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ความถือว่าของเราในนามรูป ย่อมไม่มีแก่ผู้ใดโดยประการ ทั้งปวง.
ว่าด้วยผู้ไม่เศร้าโศก
[๘๖๒] คำว่า และผู้ใดย่อมไม่เศร้าโศกเพราะสิ่งที่ถือว่าของเราไม่มีอยู่ ความว่า ย่อมไม่ เศร้าโศกถึงวัตถุที่แปรปรวน หรือ เมื่อวัตถุแปรปรวนไปแล้วก็ย่อมไม่เศร้าโศกถึง คือ ย่อมไม่ เศร้าโศก ไม่ลำบากใจ ไม่รำพัน ไม่ทุบอกคร่ำครวญ ไม่ถึงความหลงใหลว่า จักษุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ สกุล คณะ อาวาส ลาภ ฯลฯ ญาติสาโลหิต ของเราแปรปรวนไปแล้ว แม้ด้วยเหตุอย่างนี้ดังนี้ จึงชื่อว่า ย่อมไม่เศร้าโศกเพราะสิ่งที่ถือว่า ของเราไม่มีอยู่. อีกอย่างหนึ่ง ผู้ใดเป็นผู้อันทุกขเวทนาซึ่งไม่สำราญกระทบ ครอบงำ ย่ำยี มาถึง เข้าแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ลำบากใจ ไม่รำพัน ไม่ทุบอกคร่ำครวญ ไม่ถึงความหลงใหล แม้ด้วยเหตุอย่างนี้ดังนี้ จึงชื่อว่า ย่อมไม่เศร้าโศกเพราะสิ่งที่ถือว่าของเราไม่มีอยู่. อีกอย่างหนึ่ง ผู้ใด เป็นผู้อันโรคตา กระทบ ครอบงำ ฯลฯ เป็นผู้อันสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เสือกคลานกระทบ ครอบงำ ย่ำยี มาถึงเข้าแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ลำบากใจ ไม่รำพัน ไม่ทุบอกคร่ำครวญ ไม่ถึงความหลงใหล แม้ด้วยเหตุอย่างนี้ดังนี้ จึงชื่อว่า ย่อมไม่เศร้าโศก เพราะสิ่งที่ถือว่าของเราไม่มีอยู่. อีกอย่างหนึ่ง เมื่อนามรูปนั้นไม่มี ไม่ปรากฏ ไม่เข้าไปได้ ผู้ใด ย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ลำบากใจ ไม่รำพัน ไม่ทุบอกคร่ำครวญ ไม่ถึงความหลงใหลว่า นามรูป ของเราได้มีแล้วหนอ นามรูปย่อมไม่มีแก่เราหนอ นามรูปของเราพึงมีหนอ เราย่อมไม่ได้นามรูป นั้นหนอ แม้ด้วยเหตุอย่างนี้ดังนี้ จึงชื่อว่า และผู้ใดย่อมไม่เศร้าโศกเพราะสิ่งที่ถือว่าของเราไม่ มีอยู่.
ว่าด้วยความเสื่อมมีแก่ผู้ยึดถือ
[๘๖๓] คำว่า ผู้นั้นย่อมไม่เสื่อมในโลก ความว่า ความถือ ความยึดถือ ความถือมั่น ความชอบใจ ความน้อมใจถึงรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อะไรๆ ว่า สิ่งนี้ของเรา หรือว่า สิ่งนี้ของคนเหล่าอื่น ย่อมมีแก่ผู้ใด ความเสื่อมย่อมมีแก่ผู้นั้น. สมจริงตามภาษิตว่า ท่านเสื่อมแล้วจากรถ ม้า แก้วมณี และกุณฑล เสื่อมแล้วจากบุตร และภรรยา ทั้งจากโภคสมบัติทั้งปวง ที่ไม่ได้เสพ เหตุไร ท่านจึงไม่ เดือดร้อนในเวลาเศร้าโศก. โภคสมบัติทั้งหลาย ย่อมละสัตว์ไปก่อน บ้าง สัตว์ย่อมละโภคสมบัติเหล่านั้นไปก่อนบ้าง ผู้ใคร่กามมีโภคสมบัติ ทั้งหลาย เป็นผู้ไม่มีอะไรเป็นของของตน เหตุนั้น เราจึงไม่เศร้าโศก ในเวลาเศร้าโศก. ดวงจันทร์ย่อมขึ้น ย่อมเต็มดวง ย่อมเสื่อมไป ดวงอาทิตย์อัสดงคตแล้วก็ลับไป โลกธรรมทั้ง ๘ เรารู้แล้ว เหตุนั้น เราจึงไม่เศร้าโศก ในเวลาเศร้าโศก. ความถือ ความยึดถือ ความถือมั่น ความชอบใจ ความน้อมใจ ถึงรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณอะไรๆ ว่า สิ่งนี้ของเรา หรือว่า สิ่งนี้ของคนเหล่าอื่น ย่อมไม่มีแก่ผู้ใด ความเสื่อมก็ ไม่มีแก่ผู้นั้น. สมจริงตามภาษิตว่า. ดูกรสมณะ ท่านย่อมยินดีหรือ ดูกรท่านผู้มีอายุ เราได้ อะไรเล่าจึงจะยินดี ดูกรสมณะ ถ้าอย่างนั้น ท่านย่อมเศร้าโศกหรือ ดูกรท่านผู้มีอายุ สิ่งอะไรๆ เล่าเสื่อมไปแล้วเราจึงจะเศร้าโศก ดูกรสมณะ ถ้าอย่างนั้น ท่านย่อมไม่ยินดี ย่อมไม่เศร้าโศก หรือ เป็นอย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ. และสมจริงตามภาษิตว่า เป็นเวลานานหนอ เราจึงได้เห็นภิกษุผู้เป็นพราหมณ์ ดับรอบแล้ว ไม่มียินดี ไม่มีทุกข์ ข้ามตัณหาเครื่องเกาะเกี่ยวในโลก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้นั้นย่อมไม่เสื่อมในโลก. เพราะ เหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ความถือว่าของเราในนามรูป ย่อมไม่มีแก่ผู้ใดโดยประการทั้งปวง และ ผู้ใดย่อมไม่เศร้าโศก เพราะสิ่งที่ถือว่าของเราไม่มีอยู่ ผู้นั้นย่อมไม่เสื่อม ในโลก. [๘๖๔] ความกังวลอะไรๆ ว่า สิ่งนี้ของเรา หรือว่า สิ่งนี้ของคนเหล่าอื่น ย่อมไม่มีแก่ผู้ใด ผู้นั้น เมื่อไม่ได้ความถือว่าของเรา ก็ไม่เศร้าโศกว่าสิ่งนี้ ย่อมไม่มีแก่เรา. [๘๖๕] คำว่า แก่ผู้ใด ในคำว่า ความกังวลอะไรๆ ว่า สิ่งนี้ของเรา หรือว่าสิ่งนี้ ของคนเหล่าอื่น ย่อมไม่มีแก่ผู้ใด ความว่า แก่พระอรหันตขีณาสพ. ความถือ ความยึดถือ ความถือมั่น ความชอบใจ ความน้อมใจถึงสังขารอะไรๆ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่า สิ่งนี้ของเรา หรือว่า สิ่งนี้ของคนเหล่าอื่น ย่อมไม่มี ไม่ปรากฏ ไม่เข้าไปได้ แก่ผู้ใด คือ อันผู้ใด ละ ตัดขาด สงบ ระงับแล้ว ทำไม่ให้ควรเกิดขึ้น เผาเสียแล้วด้วยไฟ คือญาณ แม้ด้วยเหตุอย่างนี้ดังนี้ จึงชื่อว่า ความกังวลอะไรๆ ว่า สิ่งนี้ของเรา หรือว่าสิ่งนี้ ของคนเหล่าอื่น ย่อมไม่มีแก่ผู้ใด.
ว่าด้วยอิทัปปัจจยตา
สมจริงตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย กายนี้ไม่ใช่ของท่านทั้งหลาย ทั้งไม่ใช่ของคนเหล่าอื่น ดูกรภิกษุทั้งหลาย กายนี้ อันกรรมเก่าควบคุมแล้ว อันจิตประมวล เข้าแล้ว ท่านทั้งหลายพึงเห็นว่าเป็นที่ตั้งแห่งเวทนา ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ย่อมมนสิการถึงปฏิจจสมุปบาท นั่นแหละโดยแยบคายเป็นอย่างดีในกายนั้นว่า เพราะเหตุนี้ๆ เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ก็มี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้ก็เกิดขึ้น เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี เพราะสิ่งนี้ ดับ สิ่งนี้ก็ดับ กล่าวคือ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัยจึงมีวิญญาณ ฯลฯ ความเกิดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้ เพราะอวิชชานั้นแลดับด้วย สามารถความสำรอกโดยไม่เหลือ สังขารจึงดับ ฯลฯ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้ แม้ด้วยเหตุอย่างนี้ดังนี้ จึงชื่อว่า ความกังวลอะไรๆ ว่า สิ่งนี้ของเรา หรือว่า สิ่งนี้ของคนเหล่าอื่น ย่อมไม่มีแก่ผู้ใด. และสมจริงตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรโมฆราช ท่านจงมีสติพิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของสูญ ถอน อัตตานุทิฏฐิเสียแล้ว พึงเป็นผู้ข้ามพ้นมัจจุได้ด้วยอาการอย่างนี้ มัจจุราช ย่อมไม่เห็นบุคคลผู้พิจารณาเห็นโลกอย่างนี้. แม้ด้วยเหตุอย่างนี้ จึงชื่อว่า ความกังวลอะไรๆ ... ย่อมไม่มีแก่ผู้ใด. และสมจริงตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดไม่ใช่ของท่านทั้ง หลาย ท่านทั้งหลายจงละสิ่งนั้นเสียเถิด สิ่งนั้นที่ท่านทั้งหลายละเสียแล้ว จักมีเพื่อประโยชน์ เพื่อสุข ตลอดกาลนาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สิ่งอะไรไม่ใช่ของท่านทั้งหลาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปไม่ใช่ของท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงละรูปเสียเถิด รูปนั้นที่ท่านทั้งหลายละเสียแล้ว จักมี เพื่อประโยชน์เพื่อสุข ตลอดกาลนาน เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่ใช่ของท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลาย จงละวิญญาณนั้นเสียเถิด วิญญาณนั้นที่ท่านทั้งหลายละเสียแล้ว จักมีเพื่อประโยชน์ เพื่อสุขตลอดกาลนาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน? หญ้า ไม้ กิ่งไม้และใบไม้ในวิหารเชตวันนี้คนพึงนำไป เผาเสีย หรือว่าทำตามปัจจัย ท่านทั้งหลายพึงมีความ ดำริอย่างนี้หรือว่า คนย่อมนำไปเผาเสีย ซึ่งเราทั้งหลาย หรือทำตามปัจจัย. ความดำรินั้นไม่ มีเลย พระพุทธเจ้าข้า. ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะเหตุว่า สิ่งนั้นไม่ใช่ตนหรือของเนื่องด้วย ตนแห่งข้าพระองค์ทั้งหลาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดไม่ใช่ของท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงละ สิ่งนั้นเสียเถิด สิ่งนั้นที่ท่านทั้งหลายละเสียแล้ว จักมีเพื่อประโยชน์ เพื่อสุข ตลอดกาลนาน ฉันนั้นแล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สิ่งอะไรไม่ใช่ของท่านทั้งหลาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปไม่ใช่ ของท่านทั้งหลาย ... วิญญาณไม่ใช่ของท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงละวิญญาณนั้นเสียเถิด วิญญาณนั้นท่านทั้งหลายละเสียแล้ว จักมีเพื่อประโยชน์เพื่อสุข ตลอดกาลนาน แม้ด้วยเหตุ อย่างนี้ จึงชื่อว่า ความกังวลอะไรๆ ... ย่อมไม่มีแก่ผู้ใด. และสมจริงตามภาษิตว่า ดูกรคามณี เมื่อบุคคลเห็นความเกิดขึ้นพร้อมแห่งธรรมล้วนและความ สืบต่อแห่งสังขารล้วน ตามเป็นจริง ภัยก็ไม่มี เมื่อใด บุคคลเห็น ขันธโลกเสมอด้วยหญ้าและไม้ ด้วยปัญญา เมื่อนั้น บุคคลนั้นก็ไม่ ปรารถนาอะไรๆ อื่น นอกจากนิพพานอันไม่มีปฏิสนธิ. นางวชิราภิกษุณีได้กล่าวคาถานี้กะมารผู้ลามกว่า ดูกรมาร ทิฏฐิของท่านย่อมเชื่อสิ่งอะไรหนอว่าสัตว์ ร่างกายนี้เป็นกอง แห่งสังขารล้วน บัณฑิตย่อมไม่ได้ที่จะเรียกว่าเป็นสัตว์ในกองสังขาร ล้วนนี้ เสียงว่ารถย่อมมีเพราะคุมกันเข้าแห่งส่วนประกอบ ฉันใด เมื่อ ขันธ์ทั้งหลายมีอยู่ ความสมมติว่าสัตว์ก็มี ฉันนั้น ก็ทุกข์อย่างเดียว ย่อมเกิด ทุกข์ย่อมตั้งอยู่ และย่อมแปรไป นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิด นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับ. แม้ด้วยเหตุอย่างนี้ จึงชื่อว่า ความกังวลอะไรๆ ... ย่อมไม่มีแก่ผู้ใด. และสมจริงตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมค้นหารูปอย่างนั้น แหละ ตลอดถึงคติของรูปที่มีอยู่ ภิกษุย่อมค้นหาเวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณ ตลอด ถึงคติของวิญญาณที่มีอยู่ เมื่อภิกษุนั้น ค้นหารูปตลอดถึงคติของรูปที่มีอยู่ เมื่อค้นหาเวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณ ตลอดถึงคติของวิญญาณที่มีอยู่ แม้ความถือว่าเราก็ดี ว่าของเราก็ดี ว่าเราย่อมมีก็ดี ความถือแม้นั้นก็มิได้มีแก่ภิกษุนั้นๆ แม้ด้วยเหตุอย่างนี้ จึงชื่อว่า ความกังวล อะไรๆ ... ย่อมไม่มีแก่ผู้ใด.
ว่าด้วยโลกสูญ
ท่านพระอานนท์ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ตรัสว่า โลก สูญ โลกสูญ ดังนี้. ด้วยเหตุเท่าไรหนอแล พระองค์จึงตรัสว่า โลกสูญ โลกสูญ. พระผู้มี พระภาคตรัสตอบว่า ดูกรอานนท์ เพราะสูญจากตนหรือจากสิ่งที่เนื่องด้วยตน ฉะนั้น เราจึง กล่าวว่าโลกสูญ. ดูกรอานนท์ ก็สิ่งอะไรที่สูญจากตนหรือจากสิ่งที่เนื่องด้วยตน ดูกรอานนท์ จักษุ สูญจากตนหรือจากสิ่งที่เนื่องด้วยตน รูปก็สูญ ... จักษุวิญญาณ ... จักษุสัมผัส ... สุขเวทนาก็ดี ทุกขเวทนาก็ดี อทุกขมสุขเวทนาก็ดี ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย แม้เวทนานั้นก็สูญ หู ... เสียง ... จมูก ... กลิ่น ... ลิ้น ... รส ... กาย ... โผฏฐัพพะ ... ใจ ... ธรรมารมณ์ ... มโนวิญญาณ ... โมโนสัมผัส ... สุขเวทนาก็ดี ทุกขเวทนาก็ดี อทุกขมสุขเวทนาก็ดี ที่เกิดขึ้นเพราะมโน สัมผัสเป็นปัจจัย แม้เวทนานั้นก็สูญจากตนหรือจากสิ่งที่เนื่องด้วยตน ดูกรอานนท์ เพราะโลก สูญจากตนหรือจากสิ่งที่เนื่องด้วยตน ฉะนั้น เราจึงกล่าวว่า โลกสูญ แม้ด้วยเหตุอย่างนี้ จึงชื่อว่า ความกังวลอะไรๆ ว่า สิ่งนี้ของเรา หรือว่าสิ่งนี้ของคนเหล่าอื่น ย่อมไม่มีแก่ผู้ใด. [๘๖๖] ชื่อว่า ความถือว่าของเรา ในคำว่า ผู้นั้น เมื่อไม่ได้ความถือว่าของเรา ได้ แก่ความถือว่าของเรา ๒ อย่าง คือ ความถือว่าของเราด้วยตัณหา ๑ ความถือว่าของเราด้วย ทิฏฐิ ๑ ฯลฯ นี้ชื่อว่าความถือว่าของเราด้วยตัณหา ฯลฯ นี้ชื่อว่าความถือว่าของเราด้วยทิฏฐิ ผู้ นั้นละความถือว่าของเราด้วยตัณหา สละคืนความถือว่าของเราด้วยทิฏฐิแล้ว เมื่อไม่ได้ ไม่พบ ไม่ประสบ ไม่ได้เฉพาะซึ่งความถือว่าของเรา เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้นั้น เมื่อไม่ได้ความถือ ว่าของเรา. [๘๖๗] คำว่า ก็ไม่เศร้าโศกว่า สิ่งนี้ย่อมไม่มีแก่เรา ความว่า ผู้นั้นย่อมไม่เศร้าโศก ถึงวัตถุที่แปรปรวนไป หรือเมื่อวัตถุนั้นแปรปรวนไปแล้ว ก็ไม่เศร้าโศกถึง และไม่เศร้าโศก ไม่ลำบากใจ ไม่รำพัน ไม่ทุบอกคร่ำครวญ ไม่ถึงความหลงใหลว่า จักษุของเราแปรปรวนไปแล้ว หูของเราแปรปรวนไปแล้ว ฯลฯ สาโลหิตของเราแปรปรวนไปแล้ว เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ก็ ไม่เศร้าโศกว่า สิ่งนี้ย่อมไม่มีแก่เรา. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ความกังวลอะไรๆ ว่า สิ่งนี้ของเรา หรือว่า สิ่งนี้ของคนเหล่าอื่น ย่อม ไม่มีแก่ผู้ใด ผู้นั้น เมื่อไม่ได้ความถือว่าของเรา ก็ไม่เศร้าโศกว่า สิ่ง นี้ย่อมไม่มีแก่เรา. [๘๖๘] บุคคลเป็นผู้ไม่ริษยา ไม่ตามติดใจ ไม่หวั่นไหว เป็นผู้เสมอในอายตนะ ทั้งปวง เราถูกถามถึงบุคคลผู้ไม่มีความหวั่นไหว ก็บอกอานิสงส์นั้น.
ว่าด้วยผู้ไม่ริษยา
[๘๖๙] ความริษยา ในคำว่า เป็นผู้ไม่ริษยา ไม่ตามติดใจเป็นไฉนๆ บุคคลบางคน ในโลกนี้ เป็นผู้ริษยา คือ ย่อมริษยา ชิงชัง ผูกความริษยา ในลาภ สักการะ การเคารพ การนับถือ การไหว้และการบูชาของบุคคลอื่น ความเป็นผู้ริษยา การทำความเป็นผู้ริษยา ความ ริษยา กิริยาที่ริษยา ความเป็นผู้ริษยา ความชิงชัง กิริยาที่ชิงชัง ความเป็นผู้ชิงชัง นี้เรียกว่า ความริษยา. ความริษยานั้น อันผู้ใดละ ตัดขาด สงบ ระงับแล้ว ทำไม่ให้ควรเกิดขึ้น เผาเสียแล้วด้วยไฟคือญาณ ผู้นั้นเรียกว่า เป็นผู้ไม่ริษยา เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เป็นผู้ไม่ริษยา. คำว่า ไม่ตามติดใจ ความว่า ตัณหา เรียกว่าความตามติดใจ ได้แก่ราคะ สาราคะ ฯลฯ อภิชฌา โลภะ อกุศลมูล. ความติดใจนั้น อันผู้ใดละ ตัดขาด สงบ ระงับแล้ว ทำให้ไม่ควรเกิดขึ้น เผาเสียแล้วด้วยไฟคือญาณ ผู้นั้นเรียกว่า เป็นผู้ไม่ตามติดใจ. ผู้นั้นไม่ติดใจ คือ ไม่ถึงความติดใจ ไม่หลง ไม่หมกมุ่นในรูป ฯลฯ ในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน อารมณ์ที่ทราบและธรรมารมณ์ที่รู้แจ้ง คือเป็นผู้ปราศจากความติดใจ หายจากความติดใจ สละความติดใจ สำรอกความติดใจ ปล่อย ความติดใจ ละความติดใจ สละคืนความติดใจแล้ว ปราศจากความกำหนัด หายจากความ กำหนัด สละความกำหนัด สำรอกความกำหนัด ปล่อยความกำหนัด ละความกำหนัด สละคืน ความกำหนัดแล้ว หายหิวแล้ว ดับแล้ว เย็นแล้ว เป็นผู้เสวยสุขมีตนดุจพรหมอยู่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า บุคคลเป็นผู้ไม่ริษยา ไม่ตามติดใจ.
ว่าด้วยผู้ไม่หวั่นไหว
[๘๗๐] คำว่า ไม่หวั่นไหว เป็นผู้เสมอในอายตนะทั้งปวง ความว่า ตัณหา เรียกว่า ความหวั่นไหว ได้แก่ราคะ สาราคะ ฯลฯ อภิชฌา โลภะ อกุศลมูล. ตัณหาอันเป็นความ หวั่นไหวนั้น อันผู้ใด ละ ตัดขาด สงบ ระงับแล้ว ทำไม่ให้ควรเกิดขึ้น เผาเสียแล้วด้วยไฟ คือญาณ ผู้นั้น เรียกว่าเป็นผู้ไม่หวั่นไหว. บุคคลชื่อว่าเป็นผู้ไม่หวั่นไหว เพราะละความหวั่นไหว เสียแล้ว ผู้นั้นย่อมไม่หวั่นไหว เอนเอียง ดิ้นรน ยุ่ง วุ่นไป แม้ในลาภ แม้ในความเสื่อมลาภ แม้ในยศ แม้ในความเสื่อมยศ แม้ในความสรรญเสริญ แม้ในความนินทา แม้ในสุข แม้ใน ทุกข์ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เป็นผู้ไม่หวั่นไหว. คำว่า เป็นผู้เสมอในอายตนะทั้งปวง ความว่า อายตนะ ๑๒ คือ จักษุ รูป ฯลฯ ใจ ธรรมารมณ์ เรียกว่า อายตนะทั้งปวง. เมื่อใด ฉันทราคะ ในอายตนะภายในและภายนอก อันบุคคลละ ตัดรากเสียแล้ว ทำไม่ให้มีที่ตั้งดังตาลยอดด้วน ให้ถึงความไม่มีในภายหลัง มีความไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา เมื่อนั้น ผู้นั้นเรียกว่าเป็นผู้เสมอ คงที่ วางตนเป็นกลาง เพิกเฉย ในอายตนะทั้งปวง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ไม่หวั่นไหว เป็น ผู้เสมอในอายตนะทั้งปวง. [๘๗๑] คำว่า เราถูกถามถึงบุคคลผู้ไม่มีความหวั่นไหว ก็บอกอานิสงส์นั้น ความว่า เราถูกถาม สอบถาม ขอให้บอก อัญเชิญให้บอก ขอให้ประสาท ถึงบุคคลผู้ไม่มีความหวั่นไหว ก็บอกอานิสงส์ ๔ นี้ คือ บอก ชี้แจง ฯลฯ ประกาศว่า บุคคลนั้นเป็นผู้ไม่ริษยา ไม่ตามติดใจ ไม่หวั่นไหว เป็นผู้เสมอในอายตนะทั้งปวง ดังนี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เราถูกถามถึงบุคคล ผู้ไม่มีความหวั่นไหว ก็บอกอานิสงส์นั้น. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า บุคคลเป็นผู้ไม่ริษยา ไม่ตามติดใจ ไม่หวั่นไหว เป็นผู้เสมอในอายตนะ ทั้งปวง เราถูกถามถึงบุคคลผู้ไม่มีความหวั่นไหว ก็บอกอานิสงส์นั้น. [๘๗๒] อภิสังขารอะไรๆ ย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้ไม่หวั่นไหว รู้แจ้งอยู่ บุคคลนั้น งดเว้นแล้วจากอภิสังขาร ย่อมเห็นความปลอดโปร่งในที่ทั้งปวง. [๘๗๓] ตัณหา เรียกว่าความหวั่นไหว ในคำว่า แก่บุคคลผู้ไม่หวั่นไหว รู้แจ้งอยู่ ได้แก่ราคะ สาราคะ ฯลฯ อภิชฌา โลภะ อกุศลมูล. ตัณหาอันเป็นความหวั่นไหวนั้น อันผู้ ใดละ ตัดขาด สงบ ระงับแล้ว ทำไม่ให้ควรเกิดขึ้น เผาเสียแล้วด้วยไฟคือญาณ ผู้นั้น เรียกว่า ผู้ไม่หวั่นไหว. บุคคลชื่อว่าไม่หวั่นไหว เพราะละความหวั่นไหวเสียแล้ว ผู้นั้นย่อม ไม่หวั่นไหว เอนเอียง ดิ้นรน ยุ่ง วุ่นไป แม้ในลาภ แม้ในความเสื่อมลาภ แม้ในยศ แม้ใน ความเสื่อมยศ แม้ในความสรรเสริญ แม้ในความนินทา แม้ในสุข แม้ในทุกข์ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า แก่บุคคลผู้ไม่หวั่นไหว. คำว่า รู้แจ้งอยู่ ความว่า รู้ รู้ทั่ว รู้แจ้งเฉพาะ แทงตลอด ว่าสังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ฯลฯ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า แก่บุคคลผู้ไม่หวั่นไหว รู้แจ้งอยู่. [๘๗๔] คำว่า อภิสังขารอะไรๆ ย่อมไม่มี ความว่า ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อาเนญชาภิสังขาร เรียกว่า อภิสังขาร (นิสังขิติ). ปุญญาภิสังขารก็ดี อปุญญาภิสังขารก็ดี อาเนญชาภิสังขารก็ดี อันบุคคลนั้นละ ตัดรากขาดแล้ว ทำไม่ให้มีที่ตั้งดังตาลยอดด้วน ถึงความ ไม่มีในภายหลัง มีความไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา ด้วยเหตุเท่านี้ อภิสังขารทั้งหลายก็ไม่มี ไม่ปรากฏ ไม่เข้าไปได้ คือ เป็นสภาพอันบุคคลนั้นละ ตัดขาด สงบ ระงับแล้ว ทำให้ไม่ควร เกิดขึ้น เผาเสียแล้วด้วยไฟคือญาณ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า อภิสังขารอะไรๆ ย่อมไม่มี. [๘๗๕] คำว่า บุคคลนั้นงดเว้นแล้วจากอภิสังขาร ความว่า ปุญญาภิสังขาร อปุญญา- *ภิสังขาร อาเนญชาภิสังขาร เรียกว่า อภิสังขาร (วิยารัมภะ). ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อาเนญชาภิสังขาร อันบุคคลนั้นละ ตัดรากขาดแล้ว ทำไม่ให้มีที่ตั้งดังตาลยอดด้วน ให้ถึง ความไม่มีในภายหลัง มีความไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา ด้วยเหตุเท่านี้ บุคคลนั้นชื่อว่าเป็นผู้ งด เว้น เว้นขาด เว้นเฉพาะ ออก สลัดออก พ้นขาด ไม่เกี่ยวข้องอภิสังขาร เป็นผู้มีจิต ปราศจากแดนกิเลสอยู่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า บุคคลนั้นงดเว้นแล้วจากอภิสังขาร. [๘๗๖] คำว่า ย่อมเห็นความปลอดโปร่งในที่ทั้งปวง ความว่า ราคะ โทสะ โมหะ ฯลฯ กิเลสทั้งหลาย อันก่อให้เกิดภัย เพราะผู้นั้นเป็นผู้ละราคะอันก่อให้เกิดภัย ฯลฯ ละกิเลสทั้งหลาย อันก่อให้เกิดภัยเสียแล้ว ชื่อว่าย่อมเห็นความปลอดโปร่งในที่ทั้งปวง คือ ย่อมเห็นความไม่มีภัย ไม่มีเสนียด ไม่มีอุบาทว์ ไม่มีอุปสรรค ความระงับ ในที่ทุกสถาน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ย่อมเห็นความปลอดโปร่งในที่ทั้งปวง. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า อภิสังขารอะไรๆ ย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้หวั่นไหว รู้แจ้งอยู่ บุคคลนั้น งดเว้นแล้วจากอภิสังขาร ย่อมเห็นความปลอดโปร่งในที่ทั้งปวง. [๘๗๗] มุนีย่อมไม่พูดถึงตนในพวกคนที่เสมอกัน ในพวกคนที่ต่ำกว่า ในพวก คนที่สูงกว่า มุนีนั้นเป็นผู้สงบ ผู้ปราศจากความตระหนี่ ย่อมไม่ยึดถือ ย่อมไม่สลัด (พระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้).
ว่าด้วยคุณสมบัติของมุนี
[๘๗๘] คำว่า มุนีย่อมไม่พูดถึงตนในพวกคนที่เสมอกัน ในพวกคนที่ต่ำกว่า ในพวก คนที่สูงกว่า ความว่า ญาณเรียกว่า โมนะ ได้แก่ปัญญา ความรู้ ฯลฯ ก้าวล่วงธรรมเป็นเครื่อง ข้อง และตัณหาเพียงดังข่ายดำรงอยู่ บุคคลนั้นชื่อว่ามุนี. มุนีย่อมไม่พูดถึง ไม่กล่าว ไม่บอก ไม่แสดง ไม่แถลง ว่าเราดีกว่าเขา เราเสมอเขา หรือว่า เราเลวกว่าเขา เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า มุนีย่อมไม่พูดถึงตนในพวกคนที่เสมอกัน ในพวกคนที่ต่ำกว่า ในพวกคนที่สูงกว่า. [๘๗๙] คำว่า เป็นผู้สงบ ในคำว่า มุนีนั้น เป็นผู้สงบปราศจากความตระหนี่ ความว่า ชื่อว่าเป็นผู้สงบ เข้าไปสงบ เข้าไปสงบวิเศษ ดับแล้ว ระงับแล้ว เพราะราคะ โทสะ โมหะ ฯลฯ อกุสลาภิสังขารทั้งปวง เป็นสภาพ สงบ สงบเงียบ เข้าไปสงบวิเศษ ถูกเผา ดับ ปราศไป ระงับแล้ว เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า มุนีนั้นเป็นผู้สงบ. คำว่า ปราศจากความ ตระหนี่ ความว่า ความตระหนี่ ๕ ประการ คือ ความตระหนี่อาวาส ฯลฯ ความหวงไว้ นี้เรียกว่า ความตระหนี่. ความตระหนี่นั้น อันมุนีใดละ ตัดขาด สงบ ระงับแล้ว ทำไม่ ให้ควรเกิดขึ้น เผาเสียแล้วด้วยไฟคือญาณ มุนีนั้นเรียกว่า ผู้ปราศจากความตระหนี่ หายจาก ความตระหนี่ กำจัดความตระหนี่ สำรอกความตระหนี่ พ้นความตระหนี่ ละความตระหนี่ สละคืนความตระหนี่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า มุนีนั้นเป็นผู้สงบ ปราศจากความตระหนี่. [๘๘๐] คำว่า ย่อมไม่ยึดถือ ในความว่า ย่อมไม่ยึดถือ ย่อมไม่สลัด พระผู้มีพระภาค ตรัสดังนี้ ความว่า มุนีนั้น ย่อมไม่ยึดถือ ไม่ถือเอา ไม่เข้าไปถือ ไม่ถือ ไม่ยึดมั่น ไม่ถือ มั่น ซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ คติ อุปบัติ ปฏิสนธิ ภพ สงสาร วัฏฏะ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ไม่ยึดถือ. คำว่า ย่อมไม่สลัด ความว่า มุนีนั้น ย่อมไม่ละ ไม่ บรรเทา ไม่ทำให้สิ้นไป ไม่ให้ถึงความไม่มีซึ่ง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ คติ อุปบัติ ปฏิสนธิ ภพ สงสาร วัฏฏะ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ย่อมไม่สลัด. คำว่า ภควา เป็นคำเครื่องกล่าวโดยเคารพ ฯลฯ บทว่า ภควา นี้เป็นสัจฉิกาบัญญัติ. เพราะเหตุนั้น พระ ผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า มุนีย่อมไม่พูดถึงตนในพวกคนที่เสมอกัน ในพวกคนที่ต่ำกว่า ในพวก คนที่สูงกว่า มุนีนั้นเป็นผู้สงบ ปราศจากความตระหนี่ ย่อมไม่ยึดถือ ย่อมไม่สลัด (พระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้).
จบ อัตตทัณฑสุตตนิทเทสที่ ๑๕.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๙ บรรทัดที่ ๙๖๐๘-๑๐๑๓๖ หน้าที่ ๔๐๓-๔๒๕. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=29&A=9608&Z=10136&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6], [7], [8], [9]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=29&siri=15              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=29&i=788              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [825-880] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=29&item=825&items=56              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=45&A=9860              The Pali Tipitaka in Roman :- [825-880] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=29&item=825&items=56              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=45&A=9860              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ https://84000.org/tipitaka/read/?index_29

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :