ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๗ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๗ จุลวรรค ภาค ๒
พระอัครสาวกพาภิกษุ ๕๐๐ กลับ
[๓๙๓] สมัยนั้น พระเทวทัตอันบริษัทหมู่ใหญ่แวดล้อม แล้วนั่งแสดง ธรรมอยู่ เธอได้เห็นพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ มาแต่ไกล จึงเตือนภิกษุ ทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เห็นไหม ธรรมเรากล่าวดีแล้ว พระสารีบุตร โมคคัลลานะอัครสาวกของพระสมณโคดม พากันมาสู่สำนักเรา ต้องชอบใจธรรม ของเรา เมื่อพระเทวทัตกล่าวอย่างนี้แล้ว พระโกกาลิกะ ได้กล่าวกะพระเทวทัต ว่า ท่านเทวทัต ท่านอย่าไว้วางใจพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ เพราะเธอ ทั้งสองมีความปรารถนาลามก ลุอำนาจแก่ความปรารถนาลามก พระเทวทัตกล่าวว่า อย่าเลย คุณ ท่านทั้งสองมาดี เพราะชอบใจธรรมของเรา ลำดับนั้น ท่านพระเทวทัตนิมนต์ท่านพระสารีบุตรด้วยอาสนะกึ่งหนึ่งว่า มาเถิด ท่านสารีบุตร นิมนต์นั่งบนอาสนะนี้ ท่านพระสารีบุตรห้ามว่า อย่าเลยท่าน แล้วถืออาสนะแห่งหนึ่งนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แม้ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ก็ถืออาสนะแห่งหนึ่งนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ลำดับนั้น พระเทวทัตแสดงธรรม- *กถาให้ภิกษุทั้งหลายเห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง หลายราตรี แล้วเชื้อเชิญ ท่านพระสารีบุตรว่า ท่านสารีบุตร ภิกษุสงฆ์ปราศจากถีนมิทธะแล้ว ธรรมีกถา ของภิกษุทั้งหลายจงแจ่มแจ้งกะท่าน เราเมื่อยหลังจักเอน ท่านพระสารีบุตรรับคำ พระเทวทัตแล้ว ลำดับนั้น พระเทวทัตปูผ้าสังฆาฏิ ๔ ชั้น แล้วจำวัตรโดยข้างเบื้องขวา เธอเหน็ดเหนื่อยหมดสติสัมปชัญญะ ครู่เดียวเท่านั้น ก็หลับไป ฯ [๓๙๔] ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรกล่าวสอน พร่ำสอนภิกษุทั้งหลาย ด้วยธรรมีกถาอันเป็นอนุศาสนีเจือด้วยอาเทสนาปาฏิหาริย์ท่านพระมหาโมคคัลลานะ กล่าวสอน พร่ำสอน ภิกษุทั้งหลายด้วยธรรมีกถาอันเป็นอนุศาสนีเจือด้วยอิทธิ ปาฏิหาริย์ ขณะเมื่อภิกษุเหล่านั้นอันท่านพระสารีบุตรกล่าวสอนอยู่ พร่ำสอนอยู่ ด้วยอนุศาสนีเจือด้วยอาเทศนาปาฏิหาริย์ และอันท่านพระมหาโมคคัลลานะกล่าว สอนอยู่ พร่ำสอนอยู่ ด้วยอนุศาสนีเจือด้วยอิทธิปาฏิหาริย์ ดวงตาเห็นธรรมที่ ปราศจากธุลี ปราศจากมลทินได้เกิดขึ้นว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับเป็นธรรมดา ที่นั้น ท่านพระสารีบุตรเรียกภิกษุทั้งหลาย มาว่า ท่านทั้งหลาย เราจักไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ผู้ใดชอบใจธรรมของพระผู้มี พระภาคนั้น ผู้นั้นจงมา ครั้งนั้น พระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ พาภิกษุ ๕๐๐ รูปนั้นเข้า ไปทางพระเวฬุวัน ครั้งนั้น พระโกกาลิกะปลุกพระเทวทัตให้ลุกขึ้นด้วยคำว่าท่านเทวทัต ลุก ขึ้นเถิด พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะพาภิกษุเหล่านั้นไปแล้ว เราบอกท่านแล้ว มิใช่หรือว่า อย่าไว้วางใจพระสารีบุตรพระโมคคัลลานะ เพราะเธอทั้งสองมีความ ปรารถนาลามก ถึงอำนาจความปรารถนาลามก ครั้งนั้น โลหิตร้อนได้พุ่งออกจากปากพระเทวทัต ในที่นั้นเอง ฯ [๓๙๕] ครั้งนั้น พระสารีบุตรพระโมคคัลลานะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เมื่อท่านพระสารีบุตรนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้ กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ขอประทานพระวโรกาส ภิกษุทั้งหลาย ผู้ประพฤติตามภิกษุผู้ทำลาย พึงอุปสมบทใหม่ พ. อย่าเลย สารีบุตร เธออย่าพอใจการอุปสมบทใหม่ของพวกภิกษุผู้ ประพฤติตามภิกษุผู้ทำลายเลย ดูกรสารีบุตร ถ้าเช่นนั้น เธอจงให้พวกภิกษุผู้ ประพฤติตามภิกษุผู้ทำลายแสดงอาบัติถุลลัจจัย ก็เทวทัตปฏิบัติแก่เธออย่างไร ส. พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาให้ภิกษุทั้งหลาย เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ตลอดราตรีเป็นอันมาก แล้วได้รับสั่งกะ- *ข้าพระพุทธเจ้าว่า ดูกรสารีบุตร ภิกษุสงฆ์ปราศจากถีนมิทธะแล้ว ธรรมีกถาของภิกษุ ทั้งหลายจงแจ่มแจ้งแก่เธอ เราเมื่อยหลัง ดังนี้ ฉันใด พระเทวทัต ก็ได้ปฏิบัติ ฉันนั้นเหมือนกัน พระพุทธเจ้าข้า ฯ [๓๙๖] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว มีสระใหญ่อยู่ในราวป่า ช้างทั้งหลายอาศัยสระนั้นอยู่ และพวกมันพากันลงสระนั้น เอางวงถอนเหง้าและรากบัวล้างให้สะอาดจนไม่มีตม แล้วเคี้ยวกลืนกินเหง้าและรากบัวนั้น เหง้าและรากบัวนั้น ย่อมบำรุงวรรณะและ กำลังของช้างเหล่านั้น และช้างเหล่านั้นก็ไม่เข้าถึงความตาย หรือความทุกข์ปางตาย มีข้อนั้นเป็นเหตุ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนลูกช้างตัวเล็กๆ เอาอย่างช้างใหญ่เหล่านั้น และพากันลงสระนั้น เอางวงถอนเหง้าและรากบัวแล้วไม่ล้างให้สะอาดเคี้ยวกลืน กินทั้งที่มีตม เหง้าและรากบัวนั้น ย่อมไม่บำรุงวรรณะและกำลังของลูกช้างเหล่านั้น และพวกมันย่อมเข้าถึงความตาย หรือความทุกข์ปางตาย มีข้อนั้นเป็นเหตุ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เทวทัตเลียนแบบเราจักตายอย่างคนกำพร้า อย่างนั้น เหมือนกัน ฯ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสประพันธคาถา ว่าดังนี้:- [๓๙๗] เมื่อช้างใหญ่คุมฝูง ขุดดิน กินเหง้าบัวอยู่ในสระใหญ่ ลูกช้าง กินเหง้าบัวทั้งที่มีตมแล้วตาย ฉันใด เทวทัตเลียนแบบเราแล้ว จักตายอย่างคนกำพร้า ฉันนั้น ฯ
องค์แห่งทูต
[๓๙๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ ควรทำหน้าที่ทูต องค์ ๘ เป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ๑. รับฟัง ๒. ให้ผู้อื่นฟัง ๓. กำหนด ๔. ทรงจำ ๕. เข้าใจความ ๖. ให้ผู้อื่นเข้าใจความ ๗. ฉลาดต่อประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ ๘. ไม่ก่อความทะเลาะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แล ควรทำหน้าที่ทูต ฯ [๓๙๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ ควรทำหน้าที่ ทูต องค์ ๘ เป็นไฉน คือ:- ๑. สารีบุตรเป็นผู้รับฟัง ๒. ให้ผู้อื่นฟัง ๓. กำหนด ๔. ทรงจำ ๕. เข้าใจความ ๖. ให้ผู้อื่นเข้าใจความ ๗. ฉลาดต่อประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ ๘. ไม่ก่อความทะเลาะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แล ควรทำ หน้าที่ทูต พระผู้มีพระภาคตรัสประพันธคาถา ว่าดังนี้:- [๔๐๐] ภิกษุใด เข้าไปสู่บริษัทที่พูดคำหยาบก็ไม่สะทกสะท้าน ไม่ยังคำพูดให้เสีย ไม่ปกปิดข่าวสาส์นพูดจนหมดความสงสัย และถูกถามก็ไม่โกรธ ภิกษุผู้เช่นนั้นแล ย่อมควรทำหน้าที่ทูต ฯ
พระเทวทัตจักเกิดในอบาย
[๔๐๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เทวทัตมีจิตอันอสัทธรรม ๘ ประการ ครอบงำ ย่ำยีแล้ว จักเกิดในอบาย ตกนรกชั่วกัปช่วยเหลือไม่ได้ อสัทธรรม ๘ ประการ เป็นไฉน คือ ๑. เทวทัตมีจิตอันลาภครอบงำ ย่ำยีแล้ว จักเกิดในอบายตกนรก ตั้ง อยู่ตลอดกัป ช่วยเหลือไม่ได้ ๒. เทวทัตมีจิตอันความเสื่อมลาภครอบงำ ย่ำยีแล้ว ... ๓. เทวทัตมีจิตอันยศครอบงำ ย่ำยีแล้ว ... ๔. เทวทัตมีจิตอันความเสื่อมยศครอบงำ ย่ำยีแล้ว ... ๕. เทวทัตมีจิตอันสักการะครอบงำ ย่ำยีแล้ว ... ๖. เทวทัตมีจิตอันความเสื่อมสักการะครอบงำ ย่ำยีแล้ว ... ๗. เทวทัตมีจิตอันความปรารถนาลามกครอบงำ ย่ำยีแล้ว ... ๘. เทวทัตมีจิตอันความเป็นมิตรชั่วครอบงำ ย่ำยีแล้วจักเกิดในอบาย ตกนรก ตั้งอยู่ตลอดกัป ช่วยเหลือไม่ได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เทวทัตมีจิตอันอสัทธรรม ๘ ประการนี้แล ครอบงำ ย่ำยีแล้ว จักเกิดในอบาย ตกนรก ตั้งอยู่ตลอดกัป ช่วยเหลือไม่ได้ ดีละ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงครอบงำ ย่ำยี ลาภที่เกิดขึ้นแล้วอยู่ ... ความเสื่อมลาภที่เกิดขึ้นแล้วอยู่ ... ยศที่เกิดขึ้นแล้วอยู่ ... ความเสื่อมยศที่เกิดขึ้นแล้วอยู่ ... สักการะที่เกิดขึ้นแล้วอยู่ ... ความเสื่อมสักการะที่เกิดขึ้นแล้วอยู่ ... ความปรารถนาลามกที่เกิดขึ้นแล้วอยู่ ภิกษุพึงครอบงำ ย่ำยี ความเป็นมิตรลามกที่เกิดขึ้นแล้วอยู่ ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ก็ภิกษุอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร จึงครอบงำ ย่ำยี ลาภที่เกิดขึ้น แล้วอยู่ ... ความเสื่อมลาภที่เกิดขึ้นแล้วอยู่ ... ยศที่เกิดขึ้นแล้วอยู่ ... ความเสื่อมยศที่เกิดขึ้นแล้วอยู่ ... สักการะที่เกิดขึ้นแล้วอยู่ ... ความเสื่อมสักการะที่เกิดขึ้นแล้วอยู่ ... ความปรารถนาลามกที่เกิดขึ้นแล้วอยู่ ภิกษุครอบงำ ย่ำยี ความเป็นมิตรลามกที่เกิดขึ้นแล้วอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อภิกษุนั้นไม่ครอบงำลาภที่เกิดขึ้นแล้วอยู่ อาสวะ ทั้งหลาย ที่ทำความคับแค้นและรุ่มร้อนพึงเกิดขึ้น เมื่อครอบงำ ย่ำยี ลาภที่เกิดขึ้น แล้วอยู่ อาสวะเหล่านั้น ที่ทำความคับแค้นและรุ่มร้อน ย่อมไม่มีแก่เธอ ด้วย อาการอย่างนี้ ก็เมื่อเธอไม่ครอบงำความเสื่อมลาภที่เกิดขึ้นแล้วอยู่ ... ... ยศที่เกิดขึ้นแล้วอยู่ ... ... ความเสื่อมยศที่เกิดขึ้นแล้วอยู่ ... ... สักการะที่เกิดขึ้นแล้วอยู่ ... ... ความเสื่อมสักการะที่เกิดขึ้นแล้วอยู่ ... ... ความปรารถนาลามกที่เกิดขึ้นแล้วอยู่ ... เมื่อเธอไม่ครอบงำความมีมิตรชั่วที่เกิดขึ้นแล้วอยู่ อาสวะทั้งหลาย ที่ทำ ความคับแค้นและรุ่มร้อน พึงเกิดขึ้น ... ครอบงำ ย่ำยี ความเสื่อมลาภที่เกิดขึ้นแล้วอยู่ ... ... ครอบงำ ย่ำยี ความมีมิตรลามกที่เกิดขึ้นแล้วอยู่ อาสวะเหล่านั้น ที่ทำความคับแค้นและรุ่มร้อน ย่อมไม่มีแก่เธอ ด้วยอาการอย่างนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอาศัยอำนาจประโยชน์นี้แล พึงครอบงำ ย่ำยี ลาภที่เกิดขึ้นแล้วอยู่ ... ความเสื่อมลาภที่เกิดขึ้นแล้วอยู่ ... ... ยศที่เกิดขึ้นแล้วอยู่ ... ... ความเสื่อมยศที่เกิดขึ้นแล้วอยู่ ... ... สักการะที่เกิดขึ้นแล้วอยู่ ... ... ความเสื่อมสักการะที่เกิดขึ้นแล้วอยู่ ... ... ความปรารถนาลามกที่เกิดขึ้นแล้วอยู่ ... พึงครอบงำ ย่ำยี ความมีมิตรชั่วที่เกิดขึ้นแล้วอยู่ เพราะเหตุนั้นแล ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึงศึกษาว่า พวกเราจักครอบงำ ย่ำยีลาภที่เกิดขึ้นแล้วอยู่ ... ความเสื่อมลาภที่เกิดขึ้นแล้วอยู่ ... ยศที่เกิดขึ้นแล้วอยู่ ... ความเสื่อมยศที่เกิดขึ้นแล้วอยู่ ... สักการะที่เกิดขึ้นแล้วอยู่ ... ความเสื่อมสักการะที่เกิดขึ้นแล้วอยู่ ... ความปรารถนาลามกที่เกิดขึ้นแล้วอยู่ พวกเราจักครอบงำ ย่ำยี ความมีมิตรลามกที่เกิดขึ้นแล้วอยู่ ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย พวกเธอพึงศึกษาอย่างนี้แล ฯ [๔๐๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เทวทัตมีจิตอันอสัทธรรม ๓ ประการ ครอบงำ ย่ำยี จักเกิดในอบาย ตกนรก ตั้งอยู่ตลอดกัป ช่วยเหลือไม่ได้ อสัทธรรม ๓ ประการ เป็นไฉน คือ:- ๑. ความปรารถนาลามก ๒. ความมีมิตรชั่ว ๓. พอบรรลุคุณวิเศษเพียงขั้นต่ำ ก็เลิกเสีย ในระหว่าง ดูกรภิกษุทั้งหลาย เทวทัตมีจิตอันอสัทธรรม ๓ ประการนี้แล ครอบงำ ย่ำยี จักเกิดในอบาย ตกนรก ตั้งอยู่ตลอดกัป ช่วยเหลือไม่ได้
นิคมคาถา
[๔๐๓] ใครๆ จงอย่าเกิดเป็นคนปรารถนาลามก ในโลก ท่านทั้งหลายจง รู้จักเทวทัตนั้นตามเหตุแม้นี้ว่า มีคติเหมือนคติของคนปรารถนา ลามก เทวทัตปรากฏว่า เป็นบัณฑิต รู้กันว่าเป็นผู้อบรมตนแล้ว เราก็ได้ทราบว่าเทวทัตตั้งอยู่ดุจผู้รุ่งเรืองด้วยยศ เธอสั่งสมความ ประมาทเบียดเบียนตถาคตนั้น จึงตกนรกอเวจี มีประตูถึง ๔ ประตู อันน่ากลัว ก็ผู้ใดประทุษร้ายต่อผู้ไม่ประทุษร้าย ผู้ไม่ทำบาป กรรม บาปย่อมถูกต้องเฉพาะผู้นั้น ผู้มีจิตประทุษร้าย ไม่เอื้อเฟื้อ ผู้ใดตั้งใจประทุษร้ายมหาสมุทร ด้วยยาพิษเป็นหม้อๆ ผู้นั้นไม่ ควรประทุษร้ายด้วยยาพิษนั้นเพราะมหาสมุทรเป็นสิ่งที่น่ากลัว ฉันใด ผู้ใดเบียดเบียนตถาคตผู้เสด็จไปดีแล้ว มีพระทัยสงบ ด้วยกล่าวติเตียน การกล่าวติเตียนในตถาคตนั้นฟังไม่ขึ้น ฉันนั้น เหมือนกัน ภิกษุผู้ดำเนินตามมรรคาของพระพุทธเจ้า หรือสาวก ของพระพุทธเจ้าพระองค์ใด พึงถึงความสิ้นทุกข์ บัณฑิตพึง กระทำพระพุทธเจ้า หรือสาวกของพระพุทธเจ้า ผู้เช่นนั้นให้ เป็นมิตร และพึงคบหาท่าน ฯ

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๗ บรรทัดที่ ๓๘๙๗-๔๐๗๗ หน้าที่ ๑๖๒-๑๖๙. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=7&A=3897&Z=4077&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=7&siri=54              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=7&i=401              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [393-403] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=7&item=393&items=11              The Pali Tipitaka in Roman :- [393-403] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=7&item=393&items=11              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๗ https://84000.org/tipitaka/read/?index_7              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-kd17/en/brahmali#pli-tv-kd17:4.2.1 https://suttacentral.net/pli-tv-kd17/en/horner-brahmali#Kd.17.4.2

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :