ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค
             [๑๒๐] ก็สมัยนั้น โอรสเจ้ามัลละนามว่า ปุกกุสะ เป็นสาวกของ
อาฬารดาบสกาลามโคตร ออกจากเมืองกุสินารา เดินทางไกลไปยังเมืองปาวา
ปุกกุสมัลลบุตรได้เห็นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่โคนไม้ต้นหนึ่ง จึงเข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง
ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เมื่อโอรสเจ้ามัลละนามว่า ปุกกุสะ นั่งเรียบร้อยแล้ว
ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว พวกบรรพชิต
ย่อมอยู่ด้วยวิหารธรรมอันสงบหนอ เรื่องเคยมีมาแล้ว อาฬารดาบสกาลามโคตร
เดินทางไกล แวะออกจากหนทางนั่งพักกลางวันที่โคนไม้ต้นหนึ่ง ในที่ไม่ไกล
ครั้งนั้น เกวียนประมาณ ๕๐๐ เล่ม ได้ผ่านอาฬารดาบสกาลามโคตร ติดกันไป
บุรุษคนหนึ่งซึ่งเดินทางตามหลังหมู่เกวียนมา เข้าไปหาอาฬารดาบส กาลามโคตร
ถึงที่พัก ครั้นเข้าไปหาแล้วถามท่านอาฬารดาบสกาลามโคตรว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ
ท่านได้เห็นเกวียนประมาณ ๕๐๐ เล่มผ่านไปบ้างหรือ ฯ
             อ. ท่านผู้มีอายุ เรามิได้เห็น ฯ
             บ. ก็ท่านไม่ได้ยินเสียงหรือ ฯ
             เราไม่ได้ยิน ฯ
             ท่านหลับหรือ ฯ
             เรามิได้หลับ ฯ
             ท่านยังมีสัญญาอยู่หรือ ฯ
             อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ ฯ
             ท่านยังมีสัญญา ตื่นอยู่ ไม่ได้เห็นเกวียนประมาณ ๕๐๐ เล่ม ซึ่งผ่าน
ติดๆ กันไป และไม่ได้ยินเสียง ก็ผ้าของท่านเปรอะเปื้อนไปด้วยธุลีบ้างหรือ ฯ
             อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ ฯ
             ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ลำดับนั้น บุรุษนั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า น่าอัศจรรย์
หนอ เหตุไม่เคยมีมามีแล้ว พวกบรรพชิตย่อมอยู่ด้วยวิหารธรรมอันสงบหนอ
ดังที่ท่านผู้ยังมีสัญญาตื่นอยู่ ไม่ได้เห็นเกวียนประมาณ ๕๐๐ เล่ม ซึ่งผ่านติดๆ
กันไป และไม่ได้ยินเสียง บุรุษนั้นประกาศความเลื่อมใสอย่างยิ่ง ในอาฬารดาบส
กาลามโคตรแล้วหลีกไป ฯ
             พระผู้มีพระภาคตรัสถามปุกกุสมัลลบุตรว่า ดูกรปุกกุสะ ท่านจะสำคัญ
ความข้อนั้นเป็นไฉน ผู้ยังมีสัญญาตื่นอยู่ ไม่เห็นเกวียนประมาณ ๕๐๐ เล่ม ซึ่งผ่าน
ติดๆ กันไป และไม่ได้ยินเสียงอย่างหนึ่ง ผู้ที่ยังมีสัญญาตื่นอยู่ เมื่อฝนกำลังตก
ตกอย่างหนัก ฟ้าลั่นอยู่ ฟ้าผ่าอยู่ มิได้เห็น และไม่ได้ยินเสียง อย่างหนึ่ง ทั้งสอง
อย่างนี้ อย่างไหนจะทำได้ยากกว่ากัน หรือให้เกิดขึ้นได้ยากกว่ากัน ปุกกุสมัลล
บุตรกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เกวียน ๕๐๐ เล่ม ๖๐๐ เล่ม ๗๐๐ เล่ม
๘๐๐ เล่ม ๙๐๐ เล่ม ๑,๐๐๐ เล่ม ฯลฯ ๑๐๐,๐๐๐ เล่ม จักกระทำอะไรได้ ผู้ที่ยังมี
สัญญาตื่นอยู่ เมื่อฝนกำลังตก ตกอย่างหนัก ฟ้าลั่นอยู่ ฟ้าผ่าอยู่ มิได้เห็น
และไม่ได้ยินเสียง อย่างนี้แหละ ทำได้ยากกว่า และให้เกิดขึ้นได้ยากกว่า ฯ
             [๑๒๑] ดูกรปุกกุสะ สมัยหนึ่ง เราอยู่ในโรงกระเดื่องในเมืองอาตุมา
สมัยนั้น เมื่อฝนกำลังตก ตกอย่างหนัก ฟ้าลั่นอยู่ ฟ้าผ่าอยู่ ชาวนาสองพี่น้อง
และโคพลิพัทสี่ตัวถูกสายฟ้าฟาด ในที่ใกล้โรงกระเดื่อง ลำดับนั้น หมู่มหาชน
ในเมืองอาตุมา พากันออกมา แล้วเข้าไปหาชาวนาสองพี่น้องนั้น และโคพลิพัท
สี่ตัว ซึ่งถูกสายฟ้าฟาด สมัยนั้นเราออกจากโรงกระเดื่อง จงกรมอยู่ในที่แจ้ง
ใกล้ประตูโรงกระเดื่อง ครั้งนั้น บุรุษคนหนึ่ง ออกมาจากหมู่มหาชนนั้น เข้ามาหาเรา
ครั้นเข้ามาหาแล้ว อภิวาทเราแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งเราได้กล่าวกะบุรุษนั้น
ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ หมู่มหาชนนั้นประชุมกันทำไมหนอ ฯ
             บ. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เมื่อกี้นี้ เมื่อฝนกำลังตก ตกอย่างหนัก ฟ้าลั่นอยู่
ฟ้าผ่าอยู่ ชาวนาสองพี่น้อง และโคพลิพัทสี่ตัวถูกสายฟ้าฟาด หมู่มหาชน
ประชุมกัน เพราะเหตุนี้ ก็ท่านอยู่ในที่ไหนเล่า ฯ
             เราอยู่ในที่นี้เอง ฯ
             ก็ท่านไม่เห็นหรือ ฯ
             เราไม่ได้เห็น ฯ
             ก็ท่านไม่ได้ยินเสียงหรือ ฯ
             เราไม่ได้ยิน ฯ
             ก็ท่านหลับหรือ ฯ
             เราไม่ได้หลับ ฯ
             ก็ท่านยังมีสัญญาหรือ ฯ
             อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ ฯ
             ก็ท่านยังมีสัญญาตื่นอยู่ เมื่อฝนกำลังตก ตกอย่างหนัก ฟ้าลั่นอยู่ ฟ้า
ผ่าอยู่ ไม่ได้เห็น และ ไม่ได้ยินเสียงหรือ ฯ
             อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ ฯ
             ดูกรปุกกุสะ ลำดับนั้น บุรุษนั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า น่าอัศจรรย์หนอ
เหตุไม่เคยมีมามีแล้ว พวกบรรพชิตย่อมอยู่ด้วยวิหารธรรมอันสงบหนอ ดังที่ท่าน
ผู้ยังมีสัญญาตื่นอยู่ เมื่อฝนกำลังตก ตกอย่างหนัก ฟ้าลั่นอยู่ ฟ้าผ่าอยู่ ไม่ได้
เห็น และไม่ได้ยินเสียงบุรุษนั้นประกาศความเลื่อมใสอย่างยิ่งในเรา กระทำ
ประทักษิณแล้วหลีกไป ฯ
             เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ปุกกุสมัลลบุตรได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์โปรยความเลื่อมใสในอาฬารดาบส
กาลามโคตร ลงในพายุใหญ่ หรือลอยเสียในแม่น้ำมีกระแสอันเชี่ยว ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิต
ของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอก
ทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยคิดว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูป ดังนี้
ฉันใด พระผู้มีพระภาคทรงประกาศพระธรรมโดยอเนกปริยาย ฉันนั้นเหมือนกัน
ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาคพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอ
พระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วัน
นี้เป็นต้นไป ฯ
             ลำดับนั้น ปุกกุสมัลลบุตรสั่งบุรุษคนหนึ่งว่า ดูกรพนาย ท่านจงช่วยนำ
คู่ผ้าเนื้อละเอียดมีสีดังทองสิงคี ซึ่งเป็นผ้าทรงของเรามา บุรุษนั้นรับคำปุกกุสมัลล
บุตรแล้ว นำคู่ผ้าเนื้อละเอียดมีสีดังทองสิงคี ซึ่งเป็นผ้าทรงของเขามาแล้ว ปุกกุส
มัลลบุตร จึงน้อมคู่ผ้าเนื้อละเอียดมีสีดังทองสิงคี ซึ่งเป็นผ้าทรงนั้น เข้าไปถวาย
แด่พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คู่ผ้าเนื้อละเอียดมีสีดังทองสิงคีนี้
เป็นผ้าทรง ขอพระผู้มีพระภาคจงอาศัยความอนุเคราะห์ ทรงรับคู่ผ้านั้นของข้า
พระองค์เถิด พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรปุกกุสะ ถ้าเช่นนั้นท่านจงให้เราครอง
ผืนหนึ่ง ให้อานนท์ครองผืนหนึ่ง ปุกกุสมัลลบุตรรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค
แล้ว ยังพระผู้มีพระภาคให้ทรงครองผืนหนึ่ง ให้ท่านพระอานนท์ครองผืนหนึ่ง
พระผู้มีพระภาคทรงยังปุกกุสมัลลบุตรให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้
รื่นเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ปุกกุสมัลลบุตร อันพระผู้มีพระภาคทรงให้เห็นแจ้ง
ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริง ด้วยธรรมีกถาแล้วลุกจากอาสนะ ถวาย
บังคมพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป ฯ
             [๑๒๒] ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ เมื่อปุกกุสมัลลบุตรหลีกไปแล้วไม่
นาน ได้น้อมคู่ผ้าเนื้อละเอียดมีสีดังทองสิงคี ซึ่งเป็นผ้าทรงนั้นเข้าไปสู่พระกาย
ของพระผู้มีพระภาค ผ้าที่ท่านพระอานนท์น้อมเข้าไปสู่พระกายของพระผู้มีพระภาค
นั้น ย่อมปรากฏดังถ่านไฟที่ปราศจากเปลวฉะนั้น ท่านพระอานนท์ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ เหตุไม่เคยมีมามีแล้ว
พระฉวีวรรณของพระตถาคตบริสุทธิ์ผุดผ่องยิ่งนัก คู่ผ้าเนื้อละเอียดมีสีดังทองสิงคี
ซึ่งเป็นผ้าทรงนี้ ข้าพระองค์น้อมเข้าไปสู่พระกายของพระผู้มีพระภาค ย่อมปรากฏ
ดังถ่านไฟที่ปราศจากเปลว ฯ
             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ข้อนี้เป็นอย่างนั้น อานนท์ ในกาลทั้งสอง
กายของตถาคตย่อมบริสุทธิ์ ฉวีวรรณผุดผ่องยิ่งนัก ในกาลทั้งสองเป็นไฉน คือ
ในราตรีที่ตถาคตตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ๑ ในราตรีที่ตถาคตปรินิพพาน
ด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ๑ ในกาลทั้งสองนี้แล กายของตถาคตย่อมบริสุทธิ์
ฉวีวรรณผุดผ่องยิ่งนัก ดูกรอานนท์ ในปัจฉิมยามแห่งราตรีวันนี้แล ความ
ปรินิพพานของตถาคตจักมีในระหว่างไม้สาละทั้งคู่ ในสาลวันอันเป็นที่แวะพัก
ของมัลลกษัตริย์ทั้งหลาย ในเมืองกุสินารา มาไปกันเถิด อานนท์ เราจักไปยัง
แม่น้ำกกุธานที ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว ฯ
             [๑๒๓] ปุกกุสะนำผ้าเนื้อละเอียดมีสีดังทองสิงคีเข้าไปถวายพระศาสดา
ทรงครองคู่ผ้านั้นแล้ว มีพระวรรณดังทอง งดงามแล้ว ฯ

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐ บรรทัดที่ ๓๑๐๒-๓๒๐๖ หน้าที่ ๑๒๗-๑๓๑. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=10&A=3102&Z=3206&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=10&item=120&items=4              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=10&item=120&items=4&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=10&item=120&items=4              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=10&item=120&items=4              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=10&i=120              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐ https://84000.org/tipitaka/read/?index_10 https://84000.org/tipitaka/english/?index_10

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]