ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๑ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๓ ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค
หมวด ๖
[๓๐๔] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรมมีประเภทละ ๖ๆ ที่พระผู้มีพระภาค ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตรัสไว้โดยชอบ แล้วมีอยู่แล พวกเราทั้งหมดด้วยกันพึงสังคายนา ไม่พึงแก่งแย่งกันในธรรมนั้น การที่พรหมจรรย์นี้จะพึงยั่งยืนตั้งอยู่นานนั้น พึงเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ชนมาก เพื่อความสุขแก่ชนมาก เพื่อความอนุเคราะห์แก่โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ฯ
อายตนะภายใน ๖ อย่าง
๑. อายตนะ คือตา ๒. อายตนะ คือหู ๓. อายตนะ คือจมูก ๔. อายตนะ คือลิ้น ๕. อายตนะ คือกาย ๖. อายตนะ คือใจ [๓๐๕] อายตนะภายนอก ๖ อย่าง ๑. อายตนะ คือ รูป ๒. อายตนะ คือ เสียง ๓. อายตนะ คือ กลิ่น ๔. อายตนะ คือ รส ๕. อายตนะ คือ โผฏฐัพพะ ๖. อายตนะ คือ ธรรม [๓๐๖] หมวดวิญญาณ ๖ ๑. จักขุวิญญาณ [ความรู้สึกอาศัยตา] ๒. โสตวิญญาณ [ความรู้สึกอาศัยหู] ๓. ฆานวิญญาณ [ความรู้สึกอาศัยจมูก] ๔. ชิวหาวิญญาณ [ความรู้สึกอาศัยลิ้น] ๕. กายวิญญาณ [ความรู้สึกอาศัยกาย] ๖. มโนวิญญาณ [ความรู้สึกอาศัยใจ] [๓๐๗] หมวดผัสสะ ๖ ๑. จักขุสัมผัสส์ [ความถูกต้องอาศัยตา] ๒. โสตสัมผัสส์ [ความถูกต้องอาศัยหู] ๓. ฆานสัมผัสส์ [ความถูกต้องอาศัยจมูก] ๔. ชิวหาสัมผัสส์ [ความถูกต้องอาศัยลิ้น] ๕. กายสัมผัสส์ [ความถูกต้องอาศัยกาย] ๖. มโนสัมผัสส์ [ความถูกต้องอาศัยใจ] [๓๐๘] หมวดเวทนา ๖ ๑. จักขุสัมผัสสชาเวทนา [เวทนาที่เกิดแต่ความถูกต้องอาศัยตา] ๒. โสตสัมผัสสชาเวทนา [เวทนาที่เกิดแต่ความถูกต้องอาศัยหู] ๓. ฆานสัมผัสสชาเวทนา [เวทนาที่เกิดแต่ความถูกต้องอาศัยจมูก] ๔. ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา [เวทนาที่เกิดแต่ความถูกต้องอาศัยลิ้น] ๕. กายสัมผัสสชาเวทนา [เวทนาที่เกิดแต่ความถูกต้องอาศัยกาย] ๖. มโนสัมผัสสชาเวทนา [เวทนาที่เกิดแต่ความถูกต้องอาศัยใจ] [๓๐๙] หมวดสัญญา ๖ ๑. รูปสัญญา [สัญญาที่เกิดขึ้นยึดรูปเป็นอารมณ์] ๒. สัททสัญญา [สัญญาที่เกิดขึ้นยึดเสียงเป็นอารมณ์] ๓. คันธสัญญา [สัญญาที่เกิดขึ้นยึดกลิ่นเป็นอารมณ์] ๔. รสสัญญา [สัญญาที่เกิดขึ้นยึดรสเป็นอารมณ์] ๕. โผฏฐัพพสัญญา [สัญญาที่เกิดขึ้นยึดโผฏฐัพพะเป็นอารมณ์] ๖. ธัมมสัญญา [สัญญาที่เกิดขึ้นยึดธรรมเป็นอารมณ์] [๓๑๐] หมวดสัญเจตนา ๖ ๑. รูปสัญเจตนา [ความจงใจที่เกิดขึ้นยึดรูปเป็นอารมณ์] ๒. สัททสัญเจตนา [ความจงใจที่เกิดขึ้นยึดเสียงเป็นอารมณ์] ๓. คันธสัญเจตนา [ความจงใจที่เกิดขึ้นยึดกลิ่นเป็นอารมณ์] ๔. รสสัญเจตนา [ความจงใจที่เกิดขึ้นยึดรสเป็นอารมณ์] ๕. โผฏฐัพพสัญเจตนา [ความจงใจที่เกิดขึ้นยึดโผฏฐัพพะเป็นอารมณ์] ๖. ธัมมสัญเจตนา [ความจงใจที่เกิดขึ้นยึดธรรมเป็นอารมณ์] [๓๑๑] หมวดตัณหา ๖ ๑. รูปตัณหา [ตัณหาที่เกิดขึ้นยึดรูปเป็นอารมณ์] ๒. สัททตัณหา [ตัณหาที่เกิดขึ้นยึดเสียงเป็นอารมณ์] ๓. คันธตัณหา [ตัณหาที่เกิดขึ้นยึดกลิ่นเป็นอารมณ์] ๔. รสตัณหา [ตัณหาที่เกิดขึ้นยึดรสเป็นอารมณ์] ๕. โผฏฐัพพตัณหา [ตัณหาที่เกิดขึ้นยึดโผฏฐัพพะเป็นอารมณ์] ๖. ธัมมตัณหา [ตัณหาที่เกิดขึ้นยึดธรรมเป็นอารมณ์] [๓๑๒] อคารวะ ๖ อย่าง ๑. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่เคารพ ไม่ยำเกรงในพระศาสดาอยู่ ๒. เป็นผู้ไม่เคารพ ไม่ยำเกรงในพระธรรมอยู่ ๓. เป็นผู้ไม่เคารพ ไม่ยำเกรงในพระสงฆ์อยู่ ๔. เป็นผู้ไม่เคารพ ไม่ยำเกรงในการศึกษาอยู่ ๕. เป็นผู้ไม่เคารพ ไม่ยำเกรงในความไม่ประมาทอยู่ ๖. เป็นผู้ไม่เคารพ ไม่ยำเกรงในการปฏิสันถารอยู่ ฯ [๓๑๓] คารวะ ๖ อย่าง ๑. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้เคารพยำเกรง ในพระศาสดาอยู่ ๒. เป็นผู้เคารพยำเกรงในพระธรรมอยู่ ๓. เป็นผู้เคารพยำเกรงในพระสงฆ์อยู่ ๔. เป็นผู้เคารพยำเกรงในการศึกษาอยู่ ๕. เป็นผู้เคารพยำเกรงในความไม่ประมาทอยู่ ๖. เป็นผู้เคารพยำเกรงในการปฏิสันถารอยู่ ฯ [๓๑๔] โสมนัสสุปวิจาร ๖ อย่าง ๑. เห็นรูปด้วยตาแล้ว เข้าไปใคร่ครวญรูปอันเป็นที่ตั้งแห่งโสมนัส ๒. ได้ยินเสียงด้วยหูแล้ว เข้าไปใคร่ครวญเสียงอันเป็นที่ตั้งแห่งโสมนัส ๓. ได้ดมกลิ่นด้วยจมูกแล้ว เข้าไปใคร่ครวญกลิ่นอันเป็นที่ตั้งแห่ง โสมนัส ๔. ได้ลิ้มรสด้วยลิ้นแล้ว เข้าไปใคร่ครวญรสอันเป็นที่ตั้งแห่งโสมนัส ๕. ได้ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว เข้าไปใคร่ครวญโผฏฐัพพะอันเป็น ที่ตั้งแห่งโสมนัส ๖. รู้แจ้งธรรมด้วยใจแล้ว เข้าไปใคร่ครวญธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่ง โสมนัส ฯ [๓๑๕] โทมนัสสุปวิจาร ๖ อย่าง ๑. เห็นรูปด้วยตาแล้ว เข้าไปใคร่ครวญรูปอันเป็นที่ตั้งแห่งโทมนัส ๒. ได้ยินเสียงด้วยหูแล้ว เข้าไปใคร่ครวญเสียงอันเป็นที่ตั้งแห่งโทมนัส ๓. ได้ดมกลิ่นด้วยจมูกแล้ว เข้าไปใคร่ครวญกลิ่นอันเป็นที่ตั้งแห่ง โทมนัส ๔. ได้ลิ้มรสด้วยลิ้นแล้ว เข้าไปใคร่ครวญรสอันเป็นที่ตั้งแห่งโทมนัส ๕. ได้ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว เข้าไปใคร่ครวญโผฏฐัพพะอัน เป็นที่ตั้งแห่งโทมนัส ๖. รู้แจ้งธรรมด้วยใจแล้ว เข้าไปใคร่ครวญธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่ง โทมนัส ฯ [๓๑๖] อุเปกขูปวิจาร ๖ อย่าง ๑. เห็นรูปด้วยตาแล้ว เข้าไปใคร่ครวญรูปอันเป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขา ๒. ได้ยินเสียงด้วยหูแล้ว เข้าไปใคร่ครวญเสียงอันเป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขา ๓. ได้ดมกลิ่นด้วยจมูกแล้ว เข้าไปใคร่ครวญกลิ่นอันเป็นที่ตั้งแห่ง อุเบกขา ๔. ได้ลิ้มรสด้วยลิ้นแล้ว เข้าไปใคร่ครวญรสอันเป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขา ๕. ได้ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว เข้าไปใคร่ครวญโผฏฐัพพะอัน เป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขา ๖. รู้แจ้งธรรมด้วยใจแล้ว เข้าไปใคร่ครวญธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่ง อุเบกขา ฯ [๓๑๗] สาราณียธรรม ๖ อย่าง ๑. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เข้าไปตั้งกายกรรม ประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ธรรมข้อ นี้เป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึง เป็นเครื่องกระทำให้เป็นที่รัก เป็นเครื่องกระทำให้ เป็นที่เคารพ เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์ เพื่อความไม่วิวาท เพื่อความพร้อมเพรียง เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ฯ ๒. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เข้าไป ตั้งวจีกรรมประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ธรรมแม้ข้อนี้ก็เป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึง เป็นเครื่องกระทำให้เป็นที่รัก เป็น เครื่องกระทำให้เป็นที่เคารพ เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์ เพื่อความไม่วิวาท เพื่อ ความพร้อมเพรียง เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ฯ ๓. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เข้าไป ตั้งมโนกรรมประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ธรรมแม้ข้อนี้ก็เป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึง เป็นเครื่องกระทำให้เป็นที่รัก เป็น เครื่องกระทำให้เป็นที่เคารพ เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์ เพื่อความไม่วิวาท เพื่อ ความพร้อมเพรียง เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ฯ ๔. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก ลาภอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งประกอบ ด้วยธรรม ได้มาแล้วโดยธรรม โดยที่สุดแม้เพียงอาหารในบาตร ไม่หวงกันด้วย ลาภเห็นปานดังนั้น แบ่งปันกับเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลายผู้มีศีล ธรรมแม้ข้อนี้ก็ เป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึง เป็นเครื่องกระทำให้เป็นที่รัก เป็นเครื่องกระทำให้เป็น ที่เคารพ เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์ เพื่อความไม่วิวาท เพื่อความพร้อมเพรียง เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ฯ ๕. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก ศีลอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไทย อันวิญญูชนสรรเสริญ ไม่เกี่ยวด้วยตัณหา และทิฐิ เป็นไปเพื่อสมาธิ ภิกษุเป็นผู้ถึงความเป็นผู้เสมอกันโดยศีลในศีลเห็น ปานดังนั้น กับเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลังอยู่ ธรรมแม้ข้อนี้ ก็เป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึง เป็นเครื่องกระทำให้เป็นที่รัก เป็นเครื่องกระทำให้ เป็นที่เคารพ เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์ เพื่อความไม่วิวาท เพื่อความพร้อมเพรียง เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ฯ ๖. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก ทิฐิอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งประเสริฐ เป็นเครื่องนำสัตว์ออกจากทุกข์ ย่อมนำออกเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบแก่ผู้กระทำ ทิฐินั้น ภิกษุเป็นผู้ถึงความเป็นผู้เสมอกัน โดยทิฐิในทิฐิเห็นปานดังนั้น กับเพื่อน สพรหมจารีทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลังอยู่ ธรรมแม้ข้อนี้ก็เป็นที่ตั้งแห่งความ ระลึกถึง เป็นเครื่องกระทำให้เป็นที่รัก เป็นเครื่องกระทำให้เป็นที่เคารพ เป็นไป เพื่อความสงเคราะห์ เพื่อความไม่วิวาท เพื่อความพร้อมเพรียง เพื่อความเป็น อันหนึ่งอันเดียวกัน ฯ [๓๑๘] มูลเหตุแห่งการวิวาท ๖ อย่าง ๑. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มักโกรธ มักผูก โกรธไว้ ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุผู้มักโกรธ มักผูกโกรธไว้นั้น ย่อมจะไม่เคารพ ไม่ยำเกรงแม้ในพระศาสดาอยู่ ย่อมจะไม่เคารพ ไม่ยำเกรงแม้ในพระธรรมอยู่ ย่อมจะไม่เคารพ ไม่ยำเกรงแม้ในพระสงฆ์อยู่ ย่อมจะไม่เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ แม้ในสิกขา ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุผู้ไม่เคารพ ไม่ยำเกรงในพระศาสดาอยู่ ไม่ เคารพไม่ยำเกรงในพระธรรมอยู่ ไม่เคารพไม่ยำเกรงในพระสงฆ์อยู่ ไม่กระทำให้ บริบูรณ์ในสิกขา ย่อมจะก่อความวิวาทซึ่งเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์แก่ชนมาก เพื่อมิใช่สุขแก่ชนมาก เพื่อความพินาศแก่ชนมาก เพื่อมิใช่ประโยชน์ เพื่อทุกข์ แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายขึ้นในสงฆ์ ผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าพวกท่านพิจารณา เห็นมูลเหตุแห่งความวิวาทเห็นปานดังนี้ ทั้งภายในภายนอก พึงพยายามที่จะละ มูลเหตุแห่งความวิวาทอันเลวทรามเช่นนั้นเสีย ผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าพวกท่าน พิจารณาไม่เห็นมูลเหตุ แห่งความวิวาทเห็นปานดังนี้ ทั้งภายในภายนอก พึงปฏิบัติ เพื่อไม่ให้มีมูลเหตุแห่งความวิวาทอันเลวทรามเช่นนั้นต่อไป เมื่อพยายามได้เช่นนี้ ย่อมจะละมูลเหตุแห่งความวิวาทอันเลวทรามเช่นนี้เสียได้ เมื่อปฏิบัติได้เช่นนี้ มูลเหตุแห่งความวิวาทอันเลวทรามเช่นนี้ ย่อมจะมีไม่ได้อีกต่อไป ฯ ๒. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ ลบหลู่ตีเสมอ ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุผู้ลบหลู่ตีเสมอย่อมจะไม่เคารพ ไม่ยำเกรง แม้ในพระศาสดาอยู่ ย่อมจะไม่เคารพ ไม่ยำเกรงแม้ในพระธรรมอยู่ ย่อมจะ ไม่เคารพ ไม่ยำเกรงแม้ในพระสงฆ์อยู่ ย่อมจะไม่เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์แม้ใน สิกขา ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุผู้ไม่เคารพ ไม่ยำเกรงในพระศาสดาอยู่ ไม่เคารพ ไม่ยำเกรงในพระธรรมอยู่ ไม่เคารพ ไม่ยำเกรงในพระสงฆ์อยู่ ไม่กระทำให้ บริบูรณ์ในสิกขา ย่อมจะก่อความวิวาทซึ่งเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์แก่ชนมาก เพื่อมิใช่สุขแก่ชนมาก เพื่อความพินาศแก่ชนมาก เพื่อมิใช่ประโยชน์ เพื่อทุกข์ แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายขึ้นในสงฆ์ ผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าพวกท่านพิจารณา เห็นมูลเหตุแห่งความวิวาทเห็นปานดังนี้ ทั้งภายในภายนอก พึงพยายามที่จะละ มูลเหตุแห่งความวิวาทอันเลวทรามเช่นนั้นเสีย ผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าพวกท่าน พิจารณาไม่เห็นมูลเหตุแห่งความวิวาทเห็นปานดังนี้ ทั้งภายในภายนอก พึงปฏิบัติ เพื่อไม่ให้มีมูลเหตุแห่งความวิวาทอันเลวทรามเช่นนั้นต่อไป เมื่อพยายามได้เช่นนี้ ย่อมจะละมูลเหตุแห่งความวิวาทอันเลวทรามเช่นนี้เสียได้ เมื่อปฏิบัติได้เช่นนี้ มูลเหตุแห่งความวิวาทอันเลวทรามเช่นนี้ ย่อมจะมีไม่ได้อีกต่อไป ฯ ๓. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มักริษยา มีความ ตระหนี่ ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุผู้มักริษยามีความตระหนี่ย่อมจะไม่เคารพ ไม่ยำเกรง แม้ในพระศาสดาอยู่ ย่อมจะไม่เคารพ ไม่ยำเกรงแม้ในพระธรรมอยู่ ย่อมจะไม่ เคารพ ไม่ยำเกรงแม้ในพระสงฆ์อยู่ ย่อมจะไม่เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์แม้ในสิกขา ภิกษุผู้ไม่เคารพ ไม่ยำเกรงในพระศาสดาอยู่ ไม่เคารพ ไม่ยำเกรงในพระธรรมอยู่ ไม่เคารพ ไม่ยำเกรงในพระสงฆ์อยู่ ไม่กระทำให้บริบูรณ์ในสิกขา ย่อมจะก่อ ความวิวาทซึ่งเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์แก่ชนมาก เพื่อมิใช่สุขแก่ชนมาก เพื่อ ความพินาศแก่ชนมาก เพื่อมิใช่ประโยชน์ เพื่อทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ขึ้นในสงฆ์ ผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าพวกท่านพิจารณาเห็นมูลเหตุแห่งความวิวาท เห็นปานดังนี้ ทั้งภายในภายนอก พึงพยายามที่จะละมูลเหตุแห่งความวิวาทอันเลว ทรามเช่นนั้นเสีย ผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าพวกท่านพิจารณาไม่เห็นมูลเหตุแห่งความ วิวาทเห็นปานดังนี้ ทั้งภายในภายนอก พึงปฏิบัติเพื่อไม่ให้มีมูลเหตุแห่งความวิวาท อันเลวทรามเช่นนั้นต่อไป เมื่อพยายามได้เช่นนี้ ย่อมจะละมูลเหตุแห่งความวิวาท อันเลวทรามเช่นนั้นเสียได้ เมื่อปฏิบัติได้เช่นนี้ มูลเหตุแห่งความวิวาทอันเลวทราม เช่นนี้ ย่อมจะมีไม่ได้อีกต่อไป ฯ ๔. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้โอ้อวด มีมารยา ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุผู้โอ้อวดมีมารยา ย่อมจะไม่เคารพไม่ยำเกรงแม้ในพระศาสดา อยู่ ย่อมจะไม่เคารพไม่ยำเกรงแม้ในพระธรรมอยู่ ย่อมจะไม่เคารพไม่ยำเกรง แม้ในพระสงฆ์อยู่ ย่อมจะไม่เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์แม้ในสิกขา ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุผู้ไม่เคารพไม่ยำเกรงในพระศาสดาอยู่ ไม่เคารพไม่ยำเกรงในพระธรรมอยู่ ไม่เคารพไม่ยำเกรงในพระสงฆ์อยู่ ไม่กระทำให้บริบูรณ์ในสิกขา ย่อมจะก่อความ วิวาทซึ่งเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์แก่ชนมาก เพื่อมิใช่สุขแก่ชนมาก เพื่อความ พินาศแก่ชนมาก เพื่อมิใช่ประโยชน์ เพื่อทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายขึ้นใน สงฆ์ ผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าพวกท่านพิจารณาเห็นมูลเหตุแห่งความวิวาทเห็นปานดังนี้ ทั้งภายในภายนอก พึงพยายามที่จะละมูลเหตุแห่งความวิวาทอันเลวทรามเช่นนั้น เสีย ถ้าพวกท่านพิจารณาไม่เห็นมูลเหตุแห่งความวิวาทเห็นปานดังนี้ ทั้งภายใน ภายนอก พึงปฏิบัติเพื่อไม่ให้มีมูลเหตุแห่งความวิวาทอันเลวทรามเช่นนั้นต่อไป เมื่อพยายามได้เช่นนี้ ย่อมจะละมูลเหตุแห่งความวิวาทอันเลวทรามเช่นนี้เสียได้ เมื่อปฏิบัติได้เช่นนี้ มูลเหตุแห่งความวิวาทอันเลวทรามเช่นนี้ ย่อมจะมีไม่ได้อีก ต่อไป ฯ ๕. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีความปรารถนา ลามก มีความเห็นผิด ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีความปรารถนาลามก มีความเห็น ผิด ย่อมจะไม่เคารพ ไม่ยำเกรงแม้ในพระศาสดาอยู่ ย่อมจะไม่เคารพ ไม่ยำเกรง แม้ในพระธรรมอยู่ ย่อมจะไม่เคารพไม่ยำเกรงแม้ในพระสงฆ์อยู่ ย่อมจะไม่เป็น ผู้กระทำให้บริบูรณ์แม้ในสิกขา ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุผู้ไม่เคารพไม่ยำเกรงใน พระศาสดาอยู่ ไม่เคารพไม่ยำเกรงในพระธรรมอยู่ ไม่เคารพไม่ยำเกรงในพระสงฆ์ อยู่ไม่กระทำให้บริบูรณ์ในสิกขา ย่อมจะก่อความวิวาทซึ่งเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์ แก่ชนมาก เพื่อมิใช่สุขแก่ชนมาก เพื่อความพินาศแก่ชนมาก เพื่อมิใช่ประโยชน์ เพื่อทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายขึ้นในสงฆ์ ผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าพวกท่าน พิจารณาเห็นมูลเหตุแห่งความวิวาทเห็นปานดังนี้ ทั้งภายในภายนอก พึงพยายาม ที่จะละมูลเหตุแห่งความวิวาทอันเลวทรามเช่นนั้นเสียได้ ผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้า พวกท่านพิจารณาไม่เห็นมูลเหตุแห่งความวิวาทเห็นปานดังนี้ ทั้งภายในภายนอก พึงปฏิบัติเพื่อไม่ให้มีมูลเหตุแห่งความวิวาทอันเลวทรามเช่นนั้นต่อไป เมื่อพยายาม ได้เช่นนี้ ย่อมจะละมูลเหตุแห่งความวิวาทอันเลวทรามเช่นนี้เสียได้ เมื่อปฏิบัติ ได้เช่นนี้ มูลเหตุแห่งความวิวาทอันเลวทรามเช่นนี้ ย่อมจะมีไม่ได้อีกต่อไป ฯ ๖. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ยึดมั่นในความ เห็นของตน มักถือรั้น คลายได้ยาก ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุผู้ยึดมั่นในความเห็น ของตน มักถือรั้น คลายได้ยาก ย่อมจะไม่เคารพไม่ยำเกรงแม้ในพระศาสดาอยู่ ย่อมจะไม่เคารพไม่ยำเกรงแม้ในพระธรรมอยู่ ย่อมจะไม่เคารพไม่ยำเกรงแม้ใน พระสงฆ์อยู่ ย่อมเป็นผู้ไม่กระทำให้บริบูรณ์แม้ในสิกขา ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุ ผู้ไม่เคารพไม่ยำเกรงในพระศาสดาอยู่ ไม่เคารพไม่ยำเกรงในพระธรรมอยู่ ไม่เคารพ ไม่ยำเกรงในพระสงฆ์อยู่ ไม่กระทำให้บริบูรณ์ในสิกขา ย่อมจะก่อความวิวาทซึ่ง เป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์แก่ชนมาก เพื่อมิใช่สุขแก่ชนมาก เพื่อความพินาศ แก่ชนมาก เพื่อมิใช่ประโยชน์ เพื่อทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายขึ้นในสงฆ์ ผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าพวกท่านพิจารณาเห็นมูลเหตุแห่งความวิวาทเห็นปานดังนี้ ทั้ง ภายในภายนอก พึงพยายามที่จะละมูลเหตุแห่งความวิวาทอันเลวทรามเช่นนั้นเสีย ผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าพวกท่านพิจารณาไม่เห็นมูลเหตุแห่งความวิวาทเห็นปานดังนี้ ทั้ง ภายในภายนอก พึงปฏิบัติเพื่อไม่ให้มีมูลเหตุแห่งความวิวาทอันเลวทรามเช่นนี้ต่อไป เมื่อพยายามได้เช่นนี้ ย่อมจะละมูลเหตุแห่งความวิวาทอันเลวทรามเช่นนี้เสียได้ เมื่อปฏิบัติได้เช่นนี้ มูลเหตุแห่งความวิวาทอันเลวทรามเช่นนี้ ย่อมจะมีไม่ได้ อีกต่อไป ฯ [๓๑๙] ธาตุ ๖ อย่าง ๑. ปฐวีธาตุ [ธาตุดิน] ๒. อาโปธาตุ [ธาตุน้ำ] ๓. เตโชธาตุ [ธาตุไฟ] ๔. วาโยธาตุ [ธาตุลม] ๕. อากาศธาตุ [ธาตุอากาศ ช่องว่างมีในกาย] ๖. วิญญาณธาตุ [ธาตุวิญญาณ ความรู้อะไรได้] ฯ [๓๒๐] นิสสารณียธาตุ ๖ อย่าง ๑. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า เจโตวิมุติที่ประกอบด้วยเมตตาแล อันเราอบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว ทำให้ เป็นยานแล้ว ทำให้เป็นที่ตั้งแล้ว คล่องแคล่วแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว แต่ถึงอย่างนั้น พยาบาทก็ยังครอบงำจิตของเราตั้งอยู่ได้ ดังนี้ เธอควรถูกว่ากล่าว ดังนี้ว่า ท่านอย่าได้กล่าวอย่างนี้ ผู้มีอายุอย่าได้พูดอย่างนี้ ท่านอย่าได้กล่าวตู่พระผู้มี- *พระภาค การกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคไม่ดีเลย พระผู้มีพระภาคไม่พึงตรัสไว้อย่างนี้ เลย ผู้มีอายุทั้งหลาย ข้อที่ว่าเมื่อบุคคลอบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็น ยานแล้ว คล่องแคล่วแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว ซึ่งเจโตวิมุติที่ประกอบ ด้วยเมตตา แต่ถึงอย่างนั้น พยาบาทก็ยังจักครอบงำจิตของเขาตั้งอยู่ได้ ดังนี้ มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส ข้อนี้มิใช่ฐานะจะมีได้ ผู้มีอายุทั้งหลาย เพราะธรรมชาติ คือเจโตวิมุติที่ประกอบด้วยเมตตานี้ เป็นเครื่องสลัดออกซึ่งความพยาบาท ฯ ๒. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า เจโตวิมุติที่ประกอบด้วยกรุณาแล อันเราอบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็น ยานแล้ว ทำให้เป็นที่ตั้งแล้ว คล่องแคล่วแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว แต่ถึง อย่างนั้น วิเหสาก็ยังครอบงำจิตของเราตั้งอยู่ได้ ดังนี้ เธอควรถูกว่ากล่าวดังนี้ว่า ท่านอย่าได้กล่าวอย่างนี้ ผู้มีอายุอย่าได้พูดอย่างนี้ ท่านอย่าได้กล่าวตู่พระผู้มีพระภาค การกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคไม่ดีเลย พระผู้มีพระภาคไม่พึงตรัสไว้อย่างนี้เลย ผู้มีอายุ ทั้งหลาย ข้อที่ว่าเมื่อบุคคลอบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นยานแล้ว ทำให้ เป็นที่ตั้งแล้ว คล่องแคล่วแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว ซึ่งเจโตวิมุตติที่ประกอบ ด้วยกรุณา แต่ถึงอย่างนั้น วิเหสาก็จักยังครอบงำจิตของเขาตั้งอยู่ได้ ดังนี้ มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส ข้อนี้มิใช่ฐานะจะมีได้ ผู้มีอายุทั้งหลาย เพราะธรรมชาติ คือเจโตวิมุติที่ประกอบด้วยกรุณานี้ เป็นเครื่องสลัดออกซึ่งวิเหสา ฯ ๓. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า เจโตวิมุติที่ประกอบด้วยมุทิตาแล อันเราอบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็น ยานแล้ว ทำให้เป็นที่ตั้งแล้ว คล่องแคล่วแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว แต่ถึง อย่างนั้น อรติก็ยังครอบงำจิตของเราตั้งอยู่ได้ เธอควรถูกว่ากล่าวดังนี้ว่า ท่านอย่า ได้กล่าวอย่างนี้ ผู้มีอายุอย่าได้พูดอย่างนี้ ท่านอย่าได้กล่าวตู่พระผู้มีพระภาค การกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคไม่ดีเลย พระผู้มีพระภาคไม่พึงตรัสไว้อย่างนี้เลย ผู้มีอายุ ทั้งหลาย ข้อที่ว่าเมื่อบุคคลอบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นยานแล้ว ทำให้ เป็นที่ตั้งแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว ซึ่งเจโตวิมุติที่ประกอบด้วยมุทิตา แต่ถึง อย่างนั้น อรติก็จักยังครอบงำจิตของเขาตั้งอยู่ได้ ดังนี้ มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส ข้อนี้มิใช่ฐานะจะมีได้ ผู้มีอายุทั้งหลาย เพราะธรรมชาติคือเจโตวิมุติที่ประกอบ ด้วยมุทิตานี้เป็นเครื่องสลัดออกซึ่งอรติ ฯ ๔. ผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า เจโตวิมุติ ที่ประกอบด้วยอุเบกขาแล อันเราอบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นยานแล้ว ทำให้เป็นที่ตั้งแล้ว คล่องแคล่วแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว แต่ถึงอย่างนั้น ราคะก็ยังครอบงำจิตของเราตั้งอยู่ได้ ดังนี้ เธอควรถูกว่ากล่าวดังนี้ว่า ท่านอย่าได้ กล่าวอย่างนี้ ผู้มีอายุอย่าได้พูดอย่างนี้ ท่านอย่าได้กล่าวตู่พระผู้มีพระภาค การกล่าว ตู่พระผู้มีพระภาคไม่ดีเลย พระผู้มีพระภาคไม่พึงตรัสไว้อย่างนี้เลย ผู้มีอายุทั้งหลาย ข้อที่ว่าเมื่อบุคคลอบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นยานแล้ว ทำให้เป็นที่ตั้งแล้ว คล่องแคล่วแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว ซึ่งเจโตวิมุติที่ประกอบด้วยอุเบกขา แต่ถึงอย่างนั้น ราคะก็จักยังครอบงำจิตของเขาตั้งอยู่ได้ ดังนี้ มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส ข้อนี้มิใช่ฐานะจะมีได้ ผู้มีอายุทั้งหลาย เพราะธรรมชาติคือเจโตวิมุติที่ประกอบด้วย อุเบกขานี้เป็นเครื่องสลัดออกซึ่งราคะ ฯ ๕. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า เจโตวิมุติที่ไม่มีนิมิตแล อันเราอบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นยานแล้ว ทำให้เป็นที่ตั้งแล้ว คล่องแคล่วแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว แต่ถึงอย่างนั้น วิญญาณที่แล่นไปตามนิมิตนี้ ก็ยังมีอยู่แก่เรา ดังนี้ เธอควรถูกว่ากล่าวดังนี้ว่า ท่านอย่าได้กล่าวอย่างนี้ ผู้มีอายุอย่าได้พูดอย่างนี้ ท่านอย่าได้กล่าวตู่พระผู้มีพระภาค การกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคไม่ดีเลย พระผู้มีพระภาคไม่พึงตรัสไว้อย่างนี้เลย ผู้มีอายุ ทั้งหลาย ข้อที่ว่าเมื่อบุคคลอบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นยานแล้ว ทำให้ เป็นที่ตั้งแล้ว คล่องแคล่วแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว ซึ่งเจโตวิมุติที่หานิมิต มิได้ แต่ถึงอย่างนั้น วิญญาณที่แล่นไปตามนิมิตก็ยังจักมีแก่เขา ดังนี้ มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส ข้อนี้มิใช่ฐานะจะมีได้ ผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรมชาติคือเจโตวิมุติที่ไม่มี นิมิตนี้ เป็นเครื่องสลัดออกซึ่งนิมิตทุกอย่าง ฯ ๖. ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า เมื่อการ ถือว่าเรามีอยู่ ดังนี้ ของเราหมดไปแล้ว เราก็มิได้พิจารณาเห็นว่า เรานี้มีอยู่ แต่ถึงอย่างนั้น ลูกศรคือความเคลือบแคลงสงสัยก็ยังครอบงำจิตของเราตั้งอยู่ได้ ดังนี้ เธอควรถูกว่ากล่าวดังนี้ว่า ท่านอย่าได้กล่าวอย่างนี้ ผู้มีอายุอย่าได้พูดอย่างนี้ ท่านอย่าได้กล่าวตู่พระผู้มีพระภาค การกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคไม่ดีเลย พระผู้มี พระภาคไม่พึงตรัสไว้อย่างนี้เลย ผู้มีอายุทั้งหลาย ข้อที่ว่าเมื่อการถือว่าเรามีอยู่ดังนี้ หมดไปแล้ว และเมื่อเขามิได้พิจารณาเห็นว่า เรานี้มีอยู่ แต่ถึงอย่างนั้น ลูกศร คือความเคลือบแคลงสงสัย ก็จักยังครอบงำจิตของเขาตั้งอยู่ได้ ดังนี้ มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส ข้อนี้มิใช่ฐานะจะมีได้ ผู้มีอายุทั้งหลาย เพราะธรรมชาติคือการ เพิกถอน การถือว่าเรามีอยู่นี้ เป็นเครื่องสลัดออก ซึ่งลูกศรคือความเคลือบแคลง สงสัย ฯ [๓๒๑] อนุตตริยะ ๖ อย่าง ๑. ทัสสนานุตตริยะ [การเห็นอย่างยอดเยี่ยม] ๒. สวนานุตตริยะ [การฟังอย่างยอดเยี่ยม] ๓. ลาภานุตตริยะ [การได้อย่างยอดเยี่ยม] ๔. สิกขานุตตริยะ [การศึกษาอย่างยอดเยี่ยม] ๕. ปาริจริยานุตตริยะ [การบำเรออย่างยอดเยี่ยม] ๖. อนุสสตานุตตริยะ [การระลึกถึงอย่างยอดเยี่ยม] [๓๒๒] อนุสสติฐาน ๖ อย่าง ๑. พุทธานุสสติ [ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า] ๒. ธัมมานุสสติ [ระลึกถึงคุณของพระธรรม] ๓. สังฆานุสสติ [ระลึกถึงคุณของพระสงฆ์] ๔. สีลานุสสติ [ระลึกถึงศีล] ๕. จาคานุสสติ [ระลึกถึงทานที่ตนบริจาค] ๖. เทวตานุสสติ [ระลึกถึงเทวดา] [๓๒๓] สตตวิหาร [ธรรมเป็นเครื่องอยู่เนืองๆ] ๖ อย่าง ๑. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยนัยน์ตาแล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ แต่เป็นผู้วางเฉย มีสติสัมปชัญญะอยู่ ๒. ฟังเสียงด้วยหูแล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่ดีใจไม่เสียใจ แต่เป็นผู้วางเฉย มีสติสัมปชัญญะอยู่ ๓. ดมกลิ่นด้วยจมูกแล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่ดีใจไม่เสียใจ แต่เป็นผู้วางเฉย มีสติสัมปชัญญะอยู่ ๔. ลิ้มรสด้วยลิ้นแล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่ดีใจไม่เสียใจ แต่เป็นผู้วางเฉย มีสติสัมปชัญญะอยู่ ๕. ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่ดีใจไม่เสียใจ แต่เป็น ผู้วางเฉย มีสติสัมปชัญญะอยู่ ๖. รู้แจ้งธรรมด้วยใจแล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่ดีใจไม่เสียใจ แต่เป็นผู้วางเฉย มีสติสัมปชัญญะอยู่ ฯ [๓๒๔] อภิชาติ ๖ อย่าง ๑. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ เกิดในที่ดำ ประสพ ธรรมฝ่ายดำ ๒. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ เกิดในที่ดำ ประสพ ธรรมฝ่ายขาว ๓. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ เกิดในที่ดำ ประสพ พระนิพพานซึ่งเป็นฝ่ายที่ไม่ดำไม่ขาว ๔. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ เกิดในที่ขาว ประสพ ธรรมฝ่ายขาว ๕. ผู้มีอายุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ เกิดในที่ขาว ประสพ ธรรมฝ่ายดำ ๖. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ เกิดในที่ขาว ประสพ พระนิพพานซึ่งเป็นฝ่ายที่ไม่ดำไม่ขาว ฯ [๓๒๕] นิพเพธภาคิยสัญญา ๖ อย่าง ๑. อนิจจสัญญา [กำหนดหมายความไม่เที่ยง] ๒. อนิจเจ ทุกขสัญญา [กำหนดหมายความเป็นทุกข์ในสิ่งที่ไม่เที่ยง] ๓. ทุกเข อนัตตสัญญา [กำหนดหมายความเป็นอนัตตาในสิ่งที่ เป็นทุกข์] ๔. ปหานสัญญา [กำหนดหมายเพื่อละ] ๕. วิราคสัญญา [กำหนดหมายเพื่อคลายเสียซึ่งความกำหนัด] ๖. นิโรธสัญญา [กำหนดหมายเพื่อความดับสนิท] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรมมีประเภทละ ๖ๆ เหล่านี้แล อันพระผู้มี- *พระภาคผู้ทรงรู้ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตรัสไว้ โดยชอบแล้ว พวกเราทั้งหมดด้วยกัน พึงสังคายนาเป็นอันเดียวกัน ไม่พึงแก่ง แย่งกันในธรรมนั้น การที่พรหมจรรย์นี้พึงยั่งยืนตั้งอยู่นานนั้น พึงเป็นไปเพื่อ ประโยชน์แก่ชนมาก เพื่อความสุขแก่ชนมาก เพื่ออนุเคราะห์แก่โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ฯ
จบหมวด ๖
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๑ บรรทัดที่ ๕๗๙๑-๖๑๕๗ หน้าที่ ๒๓๘-๒๕๒. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=11&A=5791&Z=6157&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=11&item=304&items=22              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=11&item=304&items=22&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=11&item=304&items=22              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=11&item=304&items=22              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=11&i=304              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๑ https://84000.org/tipitaka/read/?index_11 https://84000.org/tipitaka/english/?index_11

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]