ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๕ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์
การเข้าไปหาอาฬารดาบส
[๔๘๙] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรราชกุมาร ก่อนแต่ตรัสรู้ แม้เมื่ออาตมภาพยังไม่ได้ ตรัสรู้ ยังเป็นโพธิสัตว์อยู่ ก็มีความคิดเห็นว่า ความสุขอันบุคคลจะพึงถึงได้ด้วยความสุขไม่มี ความสุขอันบุคคลจะพึงถึงได้ด้วยทุกข์แล ดูกรราชกุมาร สมัยต่อมา เมื่ออาตมภาพยังเป็นหนุ่ม มีผมดำสนิท ประกอบด้วยวัยกำลังเจริญ เป็นปฐมวัย เมื่อมารดาบิดาไม่ปรารถนา (จะให้บวช) ร้องไห้น้ำตานองหน้าอยู่ ได้ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต. ครั้นบวชอย่างนี้แล้ว แสวงหาว่าอะไรจะเป็นกุศล ค้นคว้าสันติวรบทอันไม่มีสิ่งอื่นยิ่งขึ้น ไปกว่า จึงได้เข้าไปอาฬารดาบส กาลามโคตร แล้วได้กล่าวว่า ดูกรท่านกาลามะ ข้าพเจ้า ปรารถนาจะประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยนี้. ดูกรราชกุมาร เมื่ออาตมภาพกล่าวเช่นนี้แล้ว อาฬารดาบส กาลามโคตรได้กล่าวกะอาตมภาพว่า ท่านจงอยู่เถิด ธรรมนี้เป็นเช่นเดียวกับธรรม ที่บุรุษผู้ฉลาด พึงทำลัทธิของอาจารย์ตนให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วบรรลุไม่นานเลย อาตมภาพเล่าเรียนธรรมนั้นได้โดยฉับพลันไม่นานเลย. กล่าวญาณวาทและเถรวาทได้ด้วยอาการ เพียงหุบปากเจรจาเท่านั้น อนึ่ง ทั้งอาตมภาพและผู้อื่นปฏิญาณได้ว่าเรารู้เราเห็น. อาตมภาพนั้น มีความคิดว่า อาฬารดาบส กาลามโคตร จะประกาศได้ว่า เราทำให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเอง บรรลุถึงธรรมนี้ด้วยเหตุเพียงศรัทธาเท่านั้น ดังนี้ ก็หาไม่ ที่จริงอาฬารดาบส กาลามโคตร รู้เห็นธรรมนี้อยู่. ครั้นแล้วอาตมภาพเข้าไปหาอาฬารดาบส กาลามโคตรแล้วได้ถามว่า ดูกรท่าน กาลามะ ท่านทำธรรมนี้ให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเอง บรรลุแล้วประกาศให้ทราบด้วยเหตุเพียง เท่าไรหนอ? เมื่ออาตมภาพกล่าวเช่นนี้แล้ว อาฬารดาบส กาลามโคตรได้ประกาศอากิญจัญญาย- *ตนะ. อาตมภาพได้มีความคิดเห็นว่า อาฬารดาบส กาลามโคตรเท่านั้น มีศรัทธาหามิได้ ถึงเรา ก็มีศรัทธา อาฬารดาบส กาลามโคตรเท่านั้น มีความเพียร ... มีสติ ... มีสมาธิ ... มีปัญญา หามิได้ ถึงเราก็มีความเพียร ... มีสติ ... มีสมาธิ ... มีปัญญา อย่ากระนั้นเลย เราพึงตั้งความเพียรเพื่อทำ ธรรมที่อาฬารดาบส กาลามโคตรประกาศว่า ทำให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว เข้าถึงอยู่นั้น ให้แจ้งเถิด. อาตมภาพนั้นทำให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วบรรลุธรรมนั้นโดยฉับพลัน ไม่นานเลย. ครั้นแล้วได้เข้าไปหาอาฬารดาบส กาลามโคตรแล้วได้ถามว่า ดูกรท่านกาลามะ ท่านทำให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเอง บรรลุธรรมนี้ประกาศให้ทราบ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้หรือ? อาฬารดาบส กาลามโคตรตอบว่า ดูกรอาวุโส เราทำให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเอง บรรลุธรรมนี้แล้วประกาศให้ทราบด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล. อาตมภาพได้กล่าวว่า ดูกรอาวุโส แม้เราก็ทำให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเอง บรรลุ ธรรมนี้แล้วประกาศให้ทราบด้วยเหตุเพียงเท่านี้. อาฬารดาบส กาลามโคตรกล่าวว่า ดูกรอาวุโส เป็นลาภของเราทั้งหลายหนอ เราทั้งหลาย ได้ดีแล้ว ที่เราทั้งหลายได้พบท่านสพรหมจารีเช่นท่าน เราทำให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเอง บรรลุธรรมใดแล้วประกาศให้ทราบ ท่านก็ทำให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเอง บรรลุธรรมนั้นอยู่ ท่านทำให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเอง บรรลุธรรมใด เราก็ทำให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเอง บรรลุธรรมนั้นแล้วประกาศให้ทราบ ดังนี้ เรารู้ธรรมใด ท่านก็รู้ธรรมนั้น ท่านรู้ธรรมใด เราก็รู้ธรรมนั้น ดังนี้ เราเช่นใด ท่านก็เช่นนั้น ท่านเช่นใด เราก็เช่นนั้น ดังนี้ ดูกรอาวุโส บัดนี้ เราทั้งสองจงมาอยู่ช่วยกันบริหารหมู่คณะเถิด. ดูกรราชกุมาร อาฬารดาบส กาลามโคตร เป็นอาจารย์ของอาตมภาพ ยังตั้งให้อาตมภาพผู้เป็นอันเตวาสิกไว้เสมอ ตน และยังบูชาอาตมภาพด้วยการบูชาอย่างยิ่ง ด้วยประการฉะนี้. อาตมภาพนั้นมีความคิดเห็นว่า ธรรมนี้ไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับสนิท เพื่อสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ย่อมเป็นไปเพียงให้อุปบัติในอากิญจัญญายตนพรหมเท่านั้น. อาตมภาพ ไม่พอใจธรรมนั้น เบื่อจากธรรมนั้นแล้วหลีกไปเสีย.
การเข้าไปหาอุทกดาบส
[๔๙๐] ดูกรราชกุมาร เมื่ออาตมภาพแสวงหาอะไรเป็นกุศล ค้นคว้าสันติวรบทอันไม่มี สิ่งอื่นยิ่งไปกว่า จึงเข้าไปหาอุทกดาบส รามบุตรแล้วได้กล่าวว่า ดูกรท่านรามะ ข้าพเจ้าปรารถนา จะประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยนี้. เมื่ออาตมภาพกล่าวเช่นนี้แล้ว อุทกดาบส รามบุตรได้ กล่าวว่า อยู่เถิดท่าน บุรุษผู้ฉลาดพึงทำให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ไม่นานเลยก็บรรลุลัทธิ ของอาจารย์ตนแล้ว อยู่ในธรรมใด ธรรมนี้เช่นนั้น. อาตมภาพเล่าเรียนธรรมนั้นได้โดยฉับพลัน ไม่นานเลย. กล่าวญาณวาทและเถรวาทได้ด้วยอาการเพียงหุบปากเจรจาเท่านั้น อนึ่ง ทั้งอาตมภาพ และผู้อื่นปฏิญาณได้ว่า เรารู้เราเห็น. อาตมภาพมีความคิดเห็นว่า ท่านรามบุตรจะได้ประกาศว่า เราทำให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเอง บรรลุถึงธรรมนี้ด้วยอาการเพียงศรัทธาเท่านั้น ดังนี้ ก็หาไม่ ที่จริงท่านรามบุตรรู้เห็นธรรมนี้อยู่. ครั้นแล้วอาตมภาพจึงเข้าไปหาอุทกดาบส รามบุตร แล้วได้ ถามว่า ดูกรท่านรามะ ท่านทำธรรมนี้ให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเอง บรรลุแล้วประกาศให้ทราบ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ. เมื่ออาตมภาพกล่าวเช่นนี้ อุทกดาบส รามบุตรได้ประกาศเนวสัญญา- *นาสัญญายตนะ. อาตมภาพมีความคิดเห็นว่าท่านรามะเท่านั้นมีศรัทธาหามิได้ ถึงเราก็มีศรัทธา ท่านรามะเท่านั้น มีความเพียร ... มีสติ ... มีสมาธิ ... มีปัญญาหามิได้ ถึงเราก็มีความเพียร ... มีสติ ... มีสมาธิ ... มีปัญญา อย่ากระนั้นเลย เราพึงตั้งความเพียรเพื่อทำธรรมที่ท่านรามะประกาศ ว่า ทำให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วบรรลุธรรมนั้นให้แจ้งเถิด. อาตมภาพได้ทำให้แจ้งชัด ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วบรรลุธรรมนั้นโดยฉับพลัน ไม่นานเลย. ครั้นแล้วอาตมภาพเข้าไปหา อุทกดาบส รามบุตรแล้วได้ถามว่า ดูกรท่านรามะ ท่านทำให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเอง บรรลุ ธรรมนี้แล้วประกาศให้ทราบด้วยเหตุเพียงเท่านี้หรือ? อุทกดาบส รามบุตรตอบว่า ดูกรอาวุโส เราทำให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเอง บรรลุ ธรรมนี้แล้วประกาศให้ทราบด้วยเหตุเพียงเท่านี้. อาตมภาพได้กล่าวว่า ดูกรอาวุโส แม้เราก็ทำให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเอง บรรลุถึง ธรรมนี้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้. อุทกดาบส รามบุตรกล่าวว่า ดูกรอาวุโส เป็นลาภของเราทั้งหลาย เราทั้งหลายได้ดีแล้ว ที่เราทั้งหลายได้พบท่านสพรหมจารีเช่นท่าน รามะทำให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเอง บรรลุถึง ธรรมใดแล้วประกาศให้ทราบ ท่านก็ทำให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเอง บรรลุถึงธรรมนั้นอยู่ ท่าน ทำให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเอง บรรลุถึงธรรมใด รามะก็ทำให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเอง บรรลุถึงธรรมนั้นแล้วประกาศให้ทราบ ดังนี้ รามะรู้ยิ่งธรรมใด ท่านก็รู้ธรรมนั้น ท่านรู้ธรรมใด รามะก็รู้ยิ่งธรรมนั้น ดังนี้ รามะเช่นใด ท่านก็เช่นนั้น ท่านเช่นใด รามะก็เช่นนั้น ดังนี้ ดูกรอาวุโส บัดนี้เชิญท่านมาบริหารหมู่คณะนี้เถิด. ดูกรราชกุมาร อุทกดาบสรามบุตรเป็นเพื่อน สพรหมจารีของอาตมภาพ ตั้งอาตมภาพไว้ในตำแหน่งอาจารย์ และบูชาอาตมภาพด้วยการบูชา อย่างยิ่ง. อาตมภาพ มีความคิดเห็นว่า ธรรมนี้ไม่เป็นไปเพื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ สนิท เพื่อสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน เป็นไปเพียงให้อุปบัติใน เนวสัญญานาสัญญายตนพรหมเท่านั้น. อาตมภาพไม่พอใจธรรมนั้น เบื่อจากธรรมนั้นหลีกไป.

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ บรรทัดที่ ๗๗๑๕-๗๗๘๙ หน้าที่ ๓๓๖-๓๓๙. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=7715&Z=7789&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=13&item=489&items=2              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=13&item=489&items=2&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=13&item=489&items=2              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=13&item=489&items=2              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=489              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ https://84000.org/tipitaka/read/?index_13 https://84000.org/tipitaka/english/?index_13

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]