ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พระไตรปิฎก
หน้า
แสดง
หน้า
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๓ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต

หน้าที่ ๑๗-๒๐.

หน้าที่ ๑๗.

ละอกุศลธรรมอันลามกที่เกิดขึ้นแล้ว ๑ ย่อมยังฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภ ความเพียร ประคองจิต ตั้งจิตมั่น เพื่อให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น ๑ ย่อมยังฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต ตั้งจิตมั่น เพื่อ ความตั้งมั่น เพื่อความไม่หลงลืม เพื่อให้มียิ่งขึ้น เพื่อความไพบูลย์ เพื่อเจริญ เพื่อให้บริบูรณ์แห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัมมัปปธาน ๔ ประการนี้แล ฯ พระขีณาสพเหล่านั้น มีความเพียรอันชอบ ครอบงำเตภูมิกวัฏ อันเป็นบ่วงแห่งมาร เป็นผู้อันกิเลสไม่อาศัยแล้ว ถึงฝั่ง แห่งภัย คือชาติ และมรณะ ท่านเหล่านั้นชนะมารพร้อมทั้ง เสนา ชื่นชมแล้ว เป็นผู้ไม่หวั่นไหว ก้าวล่วงกำลังพระยามาร เสียทั้งหมด (ถึงความสุขแล้ว) ฯ
จบสูตรที่ ๓
สังวรสูตร
[๑๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความเพียร ๔ ประการนี้ ๔ ประการนี้เป็นไฉน คือ สังวรปธาน ๑ ปหานปธาน ๑ ภาวนาปธาน ๑ อนุรักขนาปธาน ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็สังวรปธานเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่ถือโดยนิมิต ไม่ถือโดยอนุพยัญชนะ ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อ ไม่สำรวมแล้ว พึงเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌาและโทมนัส ครอบงำได้ ย่อมรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ ฟังเสียงด้วยหู... สูดกลิ่นด้วยจมูก ... ลิ้มรสด้วยลิ้น ...ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย... รู้ธรรมารมณ์ ด้วยใจแล้ว ไม่ถือโดยนิมิต ไม่ถือโดยอนุพยัญชนะ ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวม มนินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว พึงเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌา และโทมนัสครอบงำได้ ย่อมรักษามนินทรีย์ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์ นี้เรา

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๑๘.

เรียกว่าสังวรปธาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ปหานปธานเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมครอบงำ ย่อมละ ย่อมบรรเทา ย่อมทำให้พินาศ ย่อมให้ถึงความไม่มี ซึ่งกามวิตกที่เกิดขึ้นแล้ว ... ซึ่งพยาบาทวิตกเกิดขึ้นแล้ว ... ซึ่งวิหิงสาวิตก เกิดขึ้นแล้ว ... ซึ่งอกุศลธรรมอันลามกที่เกิดขึ้นแล้ว นี้เราเรียกว่าปหานปธาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภาวนาปธานเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสติ- *สัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในความสละ ย่อมเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ ... ย่อมเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ ... ย่อมเจริญ ปีติสัมโพชฌงค์ ... ย่อมเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ... ย่อมเจริญสมาธิสัมโพช- *ฌงค์ ... ย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัย นิโรธ น้อมไปในความสละ นี้เราเรียกว่าภาวนาปธาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ อนุรักขนาปธานเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมตามรักษาสมาธินิมิตอันเจริญ ที่เกิดขึ้นแล้ว คือ อัฏฐิกสัญญา ปุฬวกสัญญา วินีลกสัญญา วิปุพพกสัญญา วิจฉิทกสัญญา อุทธุมาตกสัญญา นี้เราเรียกว่าอนุรักขนาปธาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความเพียร ๔ ประการนี้แล ฯ ปธาน ๔ ประการนี้ คือ สังวรปธาน ๑ ปหานปธาน ๑ ภาวนาปธาน ๑ อนุรักขนาปธาน ๑ อันพระพุทธเจ้าผู้เป็น เผ่าพันธุ์ พระอาทิตย์ ทรงแสดงแล้ว ซึ่งเป็นเครื่องให้ภิกษุ ในธรรมวินัยนี้ ผู้มีความเพียรพึงถึงความสิ้นทุกข์ได้ ฯ
จบสูตรที่ ๔
ปัญญัติสูตร
[๑๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย การบัญญัติซึ่งสิ่งที่เลิศ ๔ ประการนี้ ๔ ประการ เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาสัตว์ผู้มีอัตภาพ (ใหญ่) อสุรินทราหูเป็นเลิศ บรรดาบุคคลผู้บริโภคกาม พระเจ้ามันธาตุราชเป็นเลิศ บรรดาผู้ใหญ่ยิ่ง มารผู้มี บาปเป็นเลิศ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า อันโลกกล่าวว่าเป็นเลิศในโลก

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๑๙.

ทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและ มนุษย์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย การบัญญัติสิ่งที่เลิศ ๔ ประการเหล่านี้แล ฯ บรรดาสัตว์ผู้มีอัตภาพ (ใหญ่) อสุรินทราหูเป็นเลิศ บรรดา บุคคลผู้บริโภคกาม พระเจ้ามันธาตุราชเป็นเลิศ บรรดาผู้- ใหญ่ยิ่ง มารเป็นเลิศ พระพุทธเจ้าผู้รุ่งเรืองด้วยฤทธิ์ อัน โลกกล่าวว่าเป็นเลิศในโลก ทั้งเทวดาและมนุษย์ ทั่วภูมิเป็น ที่อยู่ของสัตว์ ทั้งเบื้องบน ท่ามกลาง และเบื้องต่ำ ฯ
จบสูตรที่ ๕
โสขุมมสูตร
[๑๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ญาณเป็นเครื่องแทงตลอดลักษณะอันละเอียด ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ ประกอบด้วยญาณอันกำหนดรู้ลักษณะอันละเอียดในรูปอย่างยิ่ง ย่อมไม่พิจารณา เห็นญาณอันกำหนดรู้ลักษณะอันละเอียดในรูปอื่น ซึ่งยิ่งกว่าหรือประณีตกว่าญาณ เป็นเครื่องกำหนดลักษณะอันละเอียดในรูปนั้น และไม่ปรารถนาญาณเป็นเครื่อง กำหนดลักษณะอันละเอียดในรูปอื่น อันยิ่งกว่าหรือประณีตกว่าญาณเป็นเครื่อง กำหนดลักษณะอันละเอียดในรูปนั้น เป็นผู้ประกอบด้วยญาณเป็นเครื่องกำหนด ลักษณะอันละเอียดในเวทนา ... เป็นผู้ประกอบด้วยญาณเป็นเครื่องกำหนดลักษณะ อันละเอียดในสัญญา ... เป็นผู้ประกอบด้วยญาณเป็นเครื่องกำหนดลักษณะอัน ละเอียดในสังขาร ย่อมไม่พิจารณาเห็นซึ่งญาณเป็นเครื่องกำหนดลักษณะอัน ละเอียดในสังขารอื่น ซึ่งยิ่งกว่าหรือประณีตกว่าญาณเป็นเครื่องกำหนดลักษณะอัน ละเอียดในสังขารนั้น และไม่ปรารถนาญาณเป็นเครื่องกำหนดลักษณะอันละเอียด ในสังขารอื่น ซึ่งยิ่งกว่าหรือประณีตกว่าญาณเป็นเครื่องกำหนดลักษณะอันละเอียด ในสังขารนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ญาณเป็นเครื่องกำหนดลักษณะอันละเอียด ๔ ประการนี้แล ฯ

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๐.

ภิกษุใดรู้ความที่รูปขันธ์เป็นของละเอียด รู้ความเกิดแห่ง เวทนา รู้ความเกิดและความดับแห่งสัญญา รู้จักสังขารโดย ความไม่เที่ยง โดยเป็นทุกข์ และโดยความเป็นอนัตตา ภิกษุนั้นแล เป็นผู้เห็นชอบ เป็นผู้สงบ ยินดีในสันติบท ชำนะมารพร้อมทั้งเสนา ย่อมทรงไว้ซึ่งร่างกายมีในที่สุด ฯ
จบสูตรที่ ๖
อคติสูตรที่ ๑
[๑๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย การถึงอคติ ๔ ประการนี้ อคติ ๔ ประการ เป็นไฉน บุคคลย่อมถึงฉันทาคติ ย่อมถึงโทสาคติ ย่อมถึงโมหาคติ ย่อมถึง ภยาคติ ดูกรภิกษุทั้งหลาย การถึงอคติ ๔ ประการนี้แล ฯ ผู้ใดประพฤติล่วงธรรม เพราะความรัก ความชัง ความหลง ความกลัว ยศของผู้นั้นย่อมเสื่อม ดุจพระจันทร์ข้างแรม ฉะนั้น ฯ
จบสูตรที่ ๗
อคติสูตรที่ ๒
[๑๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย การไม่ถึงอคติ ๔ ประการนี้ ๔ ประการ เป็นไฉน บุคคลย่อมไม่ถึงฉันทาคติ ย่อมไม่ถึงโทสาคติ ย่อมไม่ถึงโมหาคติ ย่อมไม่ถึงภยาคติ ดูกรภิกษุทั้งหลาย การไม่ถึงอคติ ๔ ประการนี้แล ฯ ผู้ใดไม่ประพฤติล่วงธรรม เพราะความรัก ความชัง ความหลง ความกลัว ยศของผู้นั้น ย่อมเต็มเปี่ยม ดุจ พระจันทร์ข้างขึ้น ฉะนั้น ฯ
จบสูตรที่ ๘

เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑ บรรทัดที่ ๓๗๗-๔๖๙ หน้าที่ ๑๗-๒๐. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=21&page=17&pages=4&pagebreak=1&edition=thai ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=21&A=377&pagebreak=1 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_line.php?B=21&A=377&pagebreak=1#p17 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 21 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_21 https://84000.org/tipitaka/english/?index_21



จบการแสดงผล หน้าที่ ๑๗-๒๐.

บันทึก ๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]