ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๑ ขุททกนิกาย มหานิทเทส
             [๓๖๑] 	บุคคลชื่อว่านาค (ท่านผู้ประเสริฐ) สงัดแล้วจากทิฏฐิเหล่าใด พึงเที่ยว
                          ไปในโลก บุคคลชื่อว่านาค ไม่พึงยึดถือทิฏฐิเหล่านั้นกล่าว ดอกบัวมี
                          ก้านขรุขระเกิดแต่อัมพุคือน้ำ อันน้ำและเปือกตมไม่เข้าไปติด ฉันใด
                          มุนีผู้กล่าวความสงบ ไม่ติดพัน ไม่เข้าไปติดในกามและในโลก ฉันนั้น.
             [๓๖๒] คำว่า เหล่าใด ในคำว่า สงัดแล้วจากทิฏฐิเหล่าใด พึงเที่ยวไปในโลก ได้แก่
ทิฏฐิทั้งหลาย. คำว่า สงัดแล้ว คือ สงัด ว่าง เปล่า จากกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต
ราคะ ฯลฯ อกุสลาภิสังขารทั้งปวง. คำว่า พึงเที่ยวไป คือ พึงเที่ยวไป อยู่ เปลี่ยนอิริยาบถ
ประพฤติ รักษา บำรุง เยียวยา. คำว่า ในโลก คือ ในมนุษยโลก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า
สงัดแล้วจากทิฏฐิเหล่าใด พึงเที่ยวไปในโลก.
             [๓๖๓] คำว่า นาค ในคำว่า บุคคลผู้ชื่อว่านาค ไม่พึงยึดถือทิฏฐิเหล่านั้นกล่าว พึง
ทราบอธิบายดังต่อไปนี้ บุคคลชื่อว่าเป็นนาค เพราะไม่ทำความชั่ว เพราะไม่ถึงความชั่ว เพราะ
ไม่มาสู่ความชั่ว.
             บุคคลชื่อว่าเป็นนาค เพราะไม่ทำความชั่วอย่างไร? ธรรมทั้งหลายที่เป็นบาป เป็นอกุศล
อันทำความเศร้าหมอง อันให้เกิดในภพใหม่ มีความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ มีชาติ
ชราและมรณะต่อไป เรียกว่าความชั่ว.
                          (สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรสภิยะ) บุคคลไม่ทำความชั่ว
                          น้อยหนึ่งในโลก สลัดกิเลสเป็นเครื่องผูก ในความประกอบทั้งปวง
                          ไม่เกี่ยวข้องในธรรมทั้งปวง เป็นผู้หลุดพ้นแล้ว บัณฑิตกล่าวบุคคลนั้น
                          ผู้คงที่ว่าเป็นนาค เพราะเป็นผู้เที่ยงตรง.
             บุคคลชื่อว่าเป็นนาค เพราะไม่ทำความชั่วอย่างนี้.
             บุคคลชื่อว่าเป็นนาค เพราะไม่ถึงอย่างไร? บุคคลชื่อว่าเป็นนาค ย่อมไม่ถึงฉันทาคติ
ไม่ถึงโทสาคติ ไม่ถึงโมหาคติ ไม่ถึงภยาคติ ไม่ถึงด้วยสามารถแห่งราคะ ไม่ถึงด้วยสามารถ
แห่งโทสะ ไม่ถึงด้วยสามารถแห่งโมหะ ไม่ถึงด้วยสามารถแห่งมานะ ไม่ถึงด้วยสามารถแห่งทิฏฐิ
ไม่ถึงด้วยสามารถแห่งอุทธัจจะ ไม่ถึงด้วยสามารถแห่งวิจิกิจฉา ไม่ถึงด้วยสามารถแห่งอนุสัย
ย่อมไม่ไป ดำเนินไป เลื่อนลอยไป แล่นไป เพราะธรรมทั้งหลายอันทำความเป็นพวก บุคคล
ชื่อว่าเป็นนาค เพราะไม่ถึงอย่างนี้.
             บุคคลชื่อว่าเป็นนาค เพราะไม่มาอย่างไร? กิเลสเหล่าใด อันบุคคลนั้นละได้แล้ว ด้วย
โสดาปัตติมรรค บุคคลนั้นย่อมไม่มา ไม่ย้อนมา ไม่กลับมาสู่กิเลสเหล่านั้นอีก กิเลสเหล่าใด
อันบุคคลนั้นละได้แล้ว ด้วยสกทาคามิมรรค ... ด้วยอนาคามิมรรค ... ด้วยอรหัตมรรค บุคคลนั้น
ย่อมไม่มา ไม่ย้อนมา ไม่กลับมาสู่กิเลสเหล่านั้นอีก บุคคลชื่อว่าเป็นนาค เพราะไม่มาอย่างนี้.
             คำว่า บุคคลชื่อว่านาค ไม่พึงยึดถือทิฏฐิเหล่านั้นกล่าว ความว่า บุคคล ชื่อว่านาค
ไม่ถือ คือ ไม่พึงจับถือเอา ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่นทิฏฐิเหล่านั้นกล่าว คือ บอก พูด แสดง
แถลงว่า โลกเที่ยง โลกไม่เที่ยง ฯลฯ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเป็นอีกก็หามิได้ ย่อม
ไม่เป็นอีกก็หามิได้ สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า บุคคลชื่อว่านาค ไม่
พึงยึดถือทิฏฐิเหล่านั้นกล่าว.
             [๓๖๔] คำว่า ดอกบัวมีก้านขรุขระเกิดแต่อัมพุคือน้ำ อันน้ำและเปือกตมไม่เข้าไป
ติด ฉันใด ความว่า น้ำเรียกว่าเอละ น้ำเรียกว่าอัมพุ ดอกบัวเรียกว่าอัมพุชะ ก้านขรุขระ
เรียกว่าก้านมีหนาม น้ำเรียกว่าวารี ดอกบัวที่เกิดแต่น้ำ มีในน้ำ เรียกว่าวาริชะ น้ำเรียกว่าชละ
เปือกตมเรียกว่าปังกะ ดอกบัวที่เกิดแต่น้ำ มีในน้ำ อันน้ำและเปือกตมไม่ติด ไม่ติดพร้อม
ไม่เข้าไปติด คือ เป็นของอันน้ำและเปือกตมไม่ติด ไม่ติดพร้อม ไม่เข้าไปติด ฉันใด เพราะ
ฉะนั้น จึงชื่อว่า ดอกบัวมีก้านขรุขระเกิดแต่อัมพุคือน้ำ อันน้ำและเปือกตมไม่เข้าไปติด
ฉันใด.
             [๓๖๕] ศัพท์ว่า เอวํ ในคำว่า มุนีผู้กล่าวสันติธรรม ผู้ไม่ติดพัน ไม่เข้าไปติดแล้ว
ในกามและในโลก ฉันนั้น ดังนี้ เป็นอุปไมยยังอุปมาให้ถึงพร้อม คำว่า มุนี ความว่า ญาณ
เรียกว่าโมนะ ฯลฯ ก้าวล่วงธรรมเป็นเครื่องข้องและตัณหาเพียงดังข่าย บุคคลนั้นชื่อว่า มุนี.
คำว่า ผู้กล่าวความสงบ คือ มุนี ผู้กล่าวธรรมสงบ กล่าวธรรมต้านทาน กล่าวธรรมที่หลีกเร้น
กล่าวธรรมเป็นที่พึ่ง กล่าวธรรมที่ไม่มีภัย กล่าวธรรมที่ไม่เคลื่อน กล่าวธรรมที่ไม่ตาย กล่าว
นิพพาน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า มุนีผู้กล่าวความสงบ ... ฉันนั้น. คำว่า ไม่ติดพัน คือ ตัณหา
เรียกว่า ความติดพัน ได้แก่ ความกำหนัด ความกำหนัดกล้า ฯลฯ อภิชฌา โลภะ อกุศลมูล.
ความติดพันนั้นอันมุนีใดละ ตัดขาด สงบ ระงับแล้ว ทำให้ไม่ควรเกิดขึ้น เผาเสียแล้วด้วย
ไฟคือญาณ มุนีนั้นเรียกว่า ผู้ไม่ติดพัน ไม่พัวพัน. มุนีนั้นไม่ติดพัน ไม่หมกมุ่น ไม่หลุ่มหลง ใน
รูปเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ สกุล คณะ อาวาส ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข จีวร บิณฑบาต
เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร กามธาตุ รูปธาตุ อรูปธาตุ กามภพ รูปภพ อรูปภพ
สัญญาภพ อสัญญาภพ เนวสัญญานาสัญญาภพ เอกโวการภพ จตุโวการภพ ปัญจโวการภพ
อดีต อนาคต ปัจจุบัน ในธรรมที่เห็น ที่ได้ยิน ที่ทราบ ที่รู้แจ้ง คือ เป็นผู้มีความติดพัน
อันปราศจาก สละ คาย พ้น ละ สละคืนแล้ว เป็นผู้มีความกำหนัดอันปราศจาก สละ คาย
พ้น ละ สละคืนแล้ว เป็นผู้ไม่หิว เป็นผู้ดับ เป็นผู้เย็น เป็นผู้มีตนอันประเสริฐเสวยสุขอยู่
เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า มุนีผู้กล่าวความสงบ ไม่ติดพัน ... ฉันนั้น.
             โดยอุทานว่า กาม ในคำว่า ไม่เข้าไปติดในกามและในโลก กามมี ๒ อย่าง คือ
วัตถุกาม ๑ กิเลสกาม ๑ ฯลฯ นี้เรียกว่าวัตถุกาม ฯลฯ นี้เรียกว่ากิเลสกาม. คำว่า ในโลก
คือ ในอบายโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก อายตนโลก. ชื่อว่าความติด ได้
แก่ ความติด ๒ อย่าง คือความติดด้วยตัณหา ๑ ความติดด้วยทิฏฐิ ๑ ฯลฯ นี้ชื่อว่าความติด
ด้วยตัณหา ฯลฯ นี้ชื่อว่าความติดด้วยทิฏฐิ. มุนีละความติดด้วยตัณหา สละคืนความติดด้วย
ทิฏฐิแล้ว ย่อมไม่ติด ไม่ติดพร้อม ไม่เข้าไปติด คือ เป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่ติด ไม่ติด
พร้อม ไม่เข้าไปติด ในกามและในโลก ฯลฯ เป็นผู้ออก สลัดออก พ้นขาด ไม่เกี่ยวข้อง
เป็นผู้มีจิตปราศจากแดนกิเลสอยู่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า มุนีผู้กล่าวความสงบ เป็นผู้ไม่ติดพัน
ไม่เข้าไปติดในกามและในโลก ฉันนั้น. เพราะเหตุนั้น พระภาคผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
                          บุคคลชื่อว่านาค สงัดแล้วจากทิฏฐิเหล่าใด พึงเที่ยวไปในโลก บุคคล
                          ชื่อว่านาค ไม่พึงยึดถือทิฏฐิเหล่านั้นกล่าว ดอกบัวมีก้านขรุขระเกิดแต่
                          อัมพุคือน้ำ อันน้ำและเปือกตมไม่เข้าไปติด ฉันใด มุนีผู้กล่าวความ
                          สงบ ผู้ไม่ติดพัน ไม่เข้าไปติดในกามและในโลก ฉันนั้น.

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ บรรทัดที่ ๔๔๔๐-๔๕๑๐ หน้าที่ ๑๘๖-๑๘๙. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=29&A=4440&Z=4510&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=29&item=361&items=5              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=29&item=361&items=5&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=29&item=361&items=5              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=29&item=361&items=5              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=29&i=361              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ https://84000.org/tipitaka/read/?index_29 https://84000.org/tipitaka/english/?index_29

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]