ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๒ ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส
             [๖๗๒] 	บุคคลเมื่ออนุเคราะห์พวกมิตรและพวกที่มีใจดี ย่อมให้
                          ประโยชน์เสื่อมไป. ย่อมเป็นผู้มีจิตผูกพัน. บุคคลเมื่อเห็น
                          ภัยนั้นในความสนิทสนม พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด
                          ฉะนั้น.
             [๖๗๓] ชื่อว่า มิตร ในอุเทศว่า มิตฺเต สหชฺเช อนุกมฺปมาโนหาเปติ อตฺถํ
ปฏิพทฺธจิตฺโต ดังนี้ มิตรมี ๒ จำพวก คือ มิตรคฤหัสถ์ ๑ มิตรบรรพชิต ๑.
             มิตรคฤหัสถ์เป็นไฉน? คฤหัสถ์บางคนในโลกนี้ ย่อมให้ของที่ให้กันยาก ย่อมสละ
ของที่สละกันยาก ย่อมทำกิจที่ทำกันยาก ย่อมอดทนอารมณ์ที่อดทนกันยาก ย่อมบอกความลับ
แก่มิตร ย่อมปิดบังความลับของมิตร ย่อมไม่ละทิ้งในคราวที่มีอันตราย ถึงชีวิตก็ยอมสละเพื่อ
ประโยชน์แก่มิตร เมื่อมิตรหมดสิ้น (ยากจน) ก็ไม่ดูหมิ่น. นี้ชื่อว่ามิตรคฤหัสถ์.
             มิตรบรรพชิตเป็นไฉน? ภิกษุในศาสนานี้ เป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจ เป็นที่เคารพ
เป็นผู้ควรแก่ความสรรเสริญ เป็นผู้อดทนถ้อยคำ เป็นผู้ทำถ้อยคำลึก และย่อมไม่ชักชวนใน
เหตุอันไม่ควร ย่อมชักชวนในอธิศีล ย่อมชักชวนในการขวนขวาย บำเพ็ญสติปัฏฐาน ๔
สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ ย่อมชักชวนในการขวนขวาย
บำเพ็ญอริยมรรคมีองค์ ๘. นี้ชื่อว่ามิตรบรรพชิต.
             การไปสบาย การมาสบาย การไปและการมาสบาย การยืนสบาย การนั่งสบาย
การนอนสบาย การพูดสบาย การเจรจาสบาย การสนทนาสบาย การปราศรัยสบายกับบุคคล
เหล่าใด บุคคลเหล่านั้นท่านกล่าวว่า คนที่มีใจดี.
             คำว่า บุคคลเมื่ออนุเคราะห์พวกมิตรและพวกคนที่มีใจดี ย่อมให้ประโยชน์เสื่อมไป
ความว่า บุคคลเมื่ออนุเคราะห์ อุดหนุนเกื้อกูลพวกมิตรและพวกคนที่มีใจดี คือ พวกมิตรที่
เห็นกันมา พวกมิตรที่คบกันมาและพวกสหาย ย่อมทำให้ประโยชน์ตนบ้าง ประโยชน์ผู้อื่นบ้าง
ประโยชน์ทั้งสองบ้าง ประโยชน์มีในชาตินี้บ้าง ประโยชน์มีในชาติหน้าบ้าง ประโยชน์อย่างยิ่ง
บ้าง เสื่อมไป เสียไป ละไป อันตรธานไป เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า บุคคลเมื่ออนุเคราะห์
พวกมิตรและพวกคนที่มีใจดี ย่อมให้ประโยชน์เสื่อมไป.
             คำว่า เป็นผู้มีจิตผูกพัน ความว่า เป็นผู้มีจิตผูกพันด้วยเหตุ ๒ อย่าง คือ เมื่อตั้งตน
ไว้ต่ำ ตั้งคนอื่นไว้สูง ชื่อว่า เป็นผู้มีจิตผูกพัน ๑ เมื่อตั้งตนไว้สูง ตั้งคนอื่นไว้ต่ำ ชื่อว่า
เป็นผู้มีจิตผูกพัน ๑.
             เมื่อตั้งตนไว้ต่ำ ตั้งคนอื่นไว้สูง ชื่อว่าเป็นผู้มีจิตผูกพันอย่างไร? บุคคลเมื่อตั้งตนไว้ต่ำ
ตั้งคนอื่นไว้สูง ชื่อว่าเป็นผู้มีจิตผูกพันโดยถ้อยคำอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายมีอุปการะมากแก่ฉัน
ฉันอาศัยท่านทั้งหลาย ย่อมได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร. คนอื่นๆ
ย่อมสำคัญเพื่อจะให้หรือเพื่อจะทำแก่ฉัน. คนเหล่านั้นย่อมเป็นผู้อาศัยท่านทั้งหลาย เห็นกะท่าน
ทั้งหลาย. ชื่อและสกุลของมารดาบิดาเก่าแก่ของฉันเสื่อมไปแล้ว. ฉันย่อมรู้ได้เพราะท่านทั้งหลาย
ฉันเป็นกุลุปกะของอุบาสกโน้น เป็นกุลุปกะของอุบาสิกาโน้น (ก็เพราะท่านทั้งหลาย).
             เมื่อตั้งตนไว้สูง ตั้งคนอื่นไว้ต่ำ ชื่อว่าเป็นผู้มีจิตผูกพันอย่างไร? บุคคลเมื่อตั้งตนไว้สูง
ตั้งคนอื่นไว้ต่ำ ชื่อว่าเป็นผู้มีจิตผูกพัน โดยถ้อยคำอย่างนี้ว่า ฉันมีอุปการะมากแก่ท่านทั้งหลาย.
ท่านทั้งหลายอาศัยฉัน จึงถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ถึงพระธรรมเป็นสรณะ ถึงพระสงฆ์เป็น
สรณะ เป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาต งดเว้นจากอทินนาทาน งดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร งดเว้น
จากมุสาวาท งดเว้นจากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท. ฉันย่อม
บอกบาลีบ้าง อรรถกถาบ้าง ศีลบ้าง อุโบสถบ้าง แก่ท่านทั้งหลาย. ฉันย่อมอธิษฐานนวกรรม
(เพื่อท่านทั้งหลาย). ก็แหละเมื่อเป็นดังนั้น ท่านทั้งหลายยังสละฉันไปสักการะเคารพนับถือบูชา
บุคคลอื่น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า บุคคลเมื่ออนุเคราะห์พวกมิตรและพวกคนที่มีใจดี ย่อมให้
ประโยชน์เสื่อมไป ย่อมเป็นผู้มีจิตผูกพัน.
             [๖๗๔] คำว่า ภัย ในอุเทศว่า เอตํ ภยํ สนฺถเว เปกฺขมาโน ดังนี้ คือ ชาติภัย
ชราภัย พยาธิภัย มรณภัย ราชภัย โจรภัย อัคคีภัย อุทกภัย ภัยคือการติเตียนตน
ภัยคือการติเตียนผู้อื่น ภัยคืออาชญา ภัยคือทุคติ ภัยแต่คลื่น ภัยแต่จระเข้ ภัยแต่น้ำวน
ภัยแต่ปลาฉลาม ภัยแต่การแสวงหาเครื่องบำรุงชีพ ภัยแต่ความติเตียน ภัยคือความครั่นคร้าม
ในบริษัท เหตุที่น่ากลัว ความเป็นผู้ครั่นคร้าม ความเป็นผู้มีขนลุกขนพอง ความที่จิตหวาดเสียว
ความที่จิตสะดุ้ง.
             ความสนิทสนม ในคำว่า สนฺถเว มี ๒ อย่าง คือ ความสนิทสนมด้วยอำนาจตัณหา ๑
ความสนิทสนมด้วยอำนาจทิฏฐิ ๑. ฯลฯ นี้ชื่อว่าความสนิทสนมด้วยอำนาจตัณหา. ฯลฯ นี้ชื่อว่า
ความสนิทสนมด้วยอำนาจทิฏฐิ.
             คำว่า เมื่อเห็นภัยนี้ในความสนิทสนม ความว่า เมื่อเห็น เมื่อแลเห็น เมื่อเพ่งดู
พิจารณาดู ซึ่งภัยนี้ในความสนิทสนม เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เมื่อเห็นภัยนี้ในความสนิทสนม
พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น. เพราะเหตุนั้นพระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึงกล่าวว่า
                          บุคคลเมื่ออนุเคราะห์พวกมิตรและพวกที่มีใจดี ย่อมให้
                          ประโยชน์เสื่อมไป. ย่อมเป็นผู้มีจิตผูกพัน. บุคคลเมื่อเห็น
                          ภัยนี้ในความสนิทสนม พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด
                          ฉะนั้น.

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐ บรรทัดที่ ๖๔๑๔-๖๔๗๑ หน้าที่ ๒๖๑-๒๖๓. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=30&A=6414&Z=6471&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=30&item=672&items=3              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=30&item=672&items=3&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=30&item=672&items=3              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=30&item=672&items=3              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=30&i=672              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐ https://84000.org/tipitaka/read/?index_30 https://84000.org/tipitaka/english/?index_30

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]