ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๒ ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส
             [๗๙๙] 	พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าปรารถนาความสิ้นตัณหา ไม่ประมาท
                          ไม่โง่เขลา มีสุตะ มีสติ มีธรรมอันนับพร้อมแล้ว มีธรรม
                          อันแน่นอน มีความเพียร พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด
                          ฉะนั้น.
             [๘๐๐] รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธรรมตัณหา
ชื่อว่า ตัณหา ในอุเทศว่า ตณฺหกฺขยํ ปตฺถยํ อปฺปมตฺโต ดังนี้.
             คำว่า ปรารถนาความสิ้นตัณหา ความว่า ปรารถนา จำนง ประสงค์ซึ่งความสิ้นราคะ
ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะ ความสิ้นคติ ความสิ้นอุปบัติ ความสิ้นปฏิสนธิ ความสิ้นภพ
ความสิ้นสงสาร ความสิ้นวัฏฏะ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ปรารถนาความสิ้นตัณหา.
             คำว่า ไม่ประมาท ความว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ทำโดยเอื้อเฟื้อ ทำโดยติดต่อ
ฯลฯ ไม่ประมาทในกุศลธรรม เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ปรารถนา ความสิ้นตัณหา ไม่ประมาท.
             [๘๐๑] คำว่า ไม่โง่เขลา ในอุเทศว่า อเนลมูโค สุตฺวา สติมา ดังนี้ ความว่า
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นเป็นบัณฑิต มีปัญญา มีปัญญาเป็นเครื่องรู้ มีญาณ มีปัญญาแจ่มแจ้ง
มีปัญญาทำลายกิเลส เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ไม่โง่เขลา.
             คำว่า มีสุตะ ความว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นเป็นพหุสูต ทรงไว้ซึ่งสุตะ สั่งสมสุตะ
คือ เป็นผู้ได้สดับมามาก ทรงจำไว้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิ ซึ่งธรรม
ทั้งหลายอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ ประกาศ
พรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า มีสุตะ.
             คำว่า มีสติ ความว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นเป็นผู้มีสติ ประกอบด้วยสติรอบคอบ
อย่างยิ่ง ระลึกถึงกิจที่ทำและคำที่พูดแล้ว แม้นานได้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ไม่โง่เขลา มีสุตะ
มีสติ.
             [๘๐๒] ญาณ ปัญญา ความรู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลง ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ
ท่านกล่าวว่า สังขตธรรม ในอุเทศว่า สงฺขตธมฺโม นิยโต ปธานวา ดังนี้.
             คำว่า มีธรรมอันนับพร้อมแล้ว ความว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นมีธรรมอันนับพร้อม
แล้ว มีธรรมอันรู้แล้ว มีธรรมอันเทียบเคียงแล้ว มีธรรมอันพิจารณาแล้ว มีธรรมอันเป็นแจ้งแล้ว
มีธรรมแจ่มแจ้งแล้วว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ฯลฯ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา.
             อีกอย่างหนึ่ง พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นพิจารณาขันธ์แล้ว พิจารณาธาตุแล้ว พิจารณา
อายตนะแล้ว พิจารณาคติแล้ว พิจารณาอุปบัติแล้ว พิจารณาปฏิสนธิแล้ว พิจารณาภพแล้ว
พิจารณาสังขารแล้ว พิจารณาวัฏฏะแล้ว.
             อีกอย่างหนึ่ง พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าตั้งอยู่ในขันธ์เป็นที่สุด ในธาตุเป็นที่สุด ในอายตนะ
เป็นที่สุด ในคติเป็นที่สุด ในอุปบัติเป็นที่สุด ในปฏิสนธิเป็นที่สุด ในภพเป็นที่สุด ในสงสาร
เป็นที่สุด ในวัฏฏะเป็นที่สุด ในสังขารเป็นที่สุด ในภพที่สุด พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าทรงไว้
ซึ่งร่างกายอันมีในที่สุด.
                          พระขีณาสพใดมีภพเป็นที่สุด มีอัตภาพ มีสงสารคือชาติ
                          ชราและมรณะ ครั้งหลังสุด พระขีณาสพนั้นไม่มีในภพ
                          ใหม่.
             เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า มีธรรมอันนับพร้อมแล้ว.
             อริยมรรค ๔ ท่านกล่าวว่า ธรรมอันแน่นอน ในคำว่า นิยโต นี้ พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า
ประกอบด้วยอริยมรรค ๔ ชื่อว่ามีธรรมอันแน่นอน คือ ถึงพร้อม ถูกต้อง ทำให้แจ้ง ซึ่งนิยาม-
*ธรรมด้วยอริยมรรคทั้งหลาย เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า มีธรรมอันแน่นอน.
             ความเพียร ความปรารภความเพียร ความก้าวหน้า ความบากบั่น ความหมั่น ความ
เป็นผู้มีความหมั่น เรี่ยวแรง ความพยายามแห่งจิต ความบากบั่นอันไม่ย่อหย่อน ความเป็น
ผู้ไม่ทอดฉันทะ ความเป็นผู้ไม่ทอดธุระ ความประคองธุระ วิริยะ วิริยินทรีย์ วิริยพละ
สัมมาวายามะ ท่านกล่าวว่า ปธาน ในคำว่า ปธานวา.
             พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น เข้าไป เข้าไปพร้อม เข้ามา เข้ามาพร้อม เข้าถึง
เข้าถึงพร้อม ประกอบด้วยความเพียรนี้ เพราะเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึงชื่อว่า
มีความเพียร. เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า มีธรรมอันนับพร้อมแล้ว มีธรรมอันแน่นอน มีความเพียร
พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น.
เพราะเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึงกล่าวว่า
                          พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าปรารถนาความสิ้นตัณหา ไม่ประมาท
                          ไม่โง่เขลา มีสุตะ มีสติ มีธรรมอันนับพร้อมแล้ว มีธรรม
                          อันแน่นอน มีความเพียร พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด
                          ฉะนั้น.

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐ บรรทัดที่ ๗๙๖๕-๘๐๑๘ หน้าที่ ๓๒๒-๓๒๔. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=30&A=7965&Z=8018&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=30&item=799&items=4              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=30&item=799&items=4&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=30&item=799&items=4              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=30&item=799&items=4              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=30&i=799              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐ https://84000.org/tipitaka/read/?index_30 https://84000.org/tipitaka/english/?index_30

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]