ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๕ พระอภิธรรมปิฎกเล่มที่ ๒ วิภังคปกรณ์
             [๘๔๔] ญาณรู้ความแก่กล้าและไม่แก่กล้าแห่งอินทรีย์ของสัตว์
เหล่าอื่น ของบุคคลเหล่าอื่น ตามความเป็นจริง ของพระตถาคต
เป็นไฉน
             พระตถาคตในโลกนี้ ย่อมทรงทราบอาสยะ อนุสัย จริต และอัธยาศัย
ของสัตว์ทั้งหลาย ย่อมทรงทราบเหล่าสัตว์ที่มีธุลีคือกิเลสน้อย มีธุลีคือกิเลสมาก
มีอินทรีย์แก่กล้า มีอินทรีย์อ่อน มีอาการดี มีอาการชั่ว แนะนำให้รู้ได้ง่ายและ
แนะนำให้รู้ได้ยาก ควรแก่การตรัสรู้และไม่ควรแก่การตรัสรู้
             ก็อาสยะของสัตว์ทั้งหลาย เป็นไฉน
             ความเห็นว่า โลกเที่ยง หรือความเห็นว่าโลกไม่เที่ยง ความเห็นว่าโลก
มีที่สุด หรือความเห็นว่าโลกไม่มีที่สุด ความเห็นว่าชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น
หรือความเห็นว่า ชีพเป็นอย่างอื่น สรีระก็เป็นอย่างอื่น ความเห็นว่าสัตว์เบื้องหน้า
แต่ตายแล้วย่อมเกิดอีก หรือความเห็นว่าสัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมไม่เกิดอีก
ความเห็นว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็มี ย่อมไม่เกิดอีกก็มี หรือ
ความเห็นว่าสัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิ
ได้ สัตว์ทั้งหลายผู้อาศัยภวทิฏฐิหรือวิภวทิฏฐิดังที่กล่าวมานี้ก็มี หรือสัตว์ทั้งหลาย
ไม่เข้าไปอาศัยส่วนสุดทั้ง ๒ นี้ ได้อนุโลมิกขันติ ในธรรมทั้งหลายอันเป็นปัจจัย
ของกันและกันและอาศัยกันและกันเกิดขึ้นก็มี หรือญาณความรู้ตามความเป็นจริง
นี้เรียกว่า อาสยะของสัตว์ทั้งหลาย
             ก็อนุสัยของสัตว์ทั้งหลาย เป็นไฉน
             อนุสัย ๗ คือ กามราคานุสัย ปฏิฆานุสัย มานานุสัย ทิฏฐานุสัย
วิจิกิจฉานุสัย ภวราคานุสัย อวิชชานุสัย
             ราคานุสัยของสัตว์ทั้งหลาย ย่อมนอนเนื่องอยู่ในปิยรูป สาตรูปในโลก
ปฏิฆานุสัยของสัตว์ทั้งหลาย ย่อมนอนเนื่องอยู่ในอัปปิยรูป อสาตรูปในโลก
อวิชชาตกไปแล้วในธรรมทั้ง ๒ นี้ ด้วยอาการอย่างนี้ มานะ ทิฏฐิ และวิจิกิจฉา
พึงเห็นว่าตั้งอยู่ในที่แห่งเดียวกันกับอวิชชานั้น นี้เรียกว่า อนุสัยของสัตว์ทั้งหลาย
             จริตของสัตว์ทั้งหลาย เป็นไฉน
             ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อเนญชาภิสังขาร อันเป็นกามาวจรภูมิ
หรือรูปาวจรภูมิและอรูปาวจรภูมิ นี้ชื่อว่า จริตของสัตว์ทั้งหลาย
             อัธยาศัยของสัตว์ทั้งหลาย เป็นไฉน
             สัตว์ทั้งหลายที่มีอัธยาศัยทรามก็มี สัตว์ทั้งหลายที่มีอัธยาศัยประณีตก็มี
สัตว์ทั้งหลายที่มีอัธยาศัยทราม ย่อมคบหาสมาคมเข้าใกล้กับสัตว์ทั้งหลายที่มี
อัธยาศัยทราม สัตว์ทั้งหลายที่มีอัธยาศัยประณีต ย่อมคบหาสมาคมเข้าใกล้กับสัตว์
ทั้งหลายที่มีอัธยาศัยประณีต แม้ในอดีตกาล สัตว์ทั้งหลายที่มีอัธยาศัยทราม ได้
คบหาสมาคมเข้าใกล้กับสัตว์ทั้งหลายที่มีอัธยาศัยทรามมาแล้ว สัตว์ทั้งหลายที่มี
อัธยาศัยประณีต ได้คบหาสมาคมเข้าใกล้กับสัตว์ทั้งหลายที่มีอัธยาศัยประณีตมา
แล้ว แม้ในอนาคตกาล สัตว์ทั้งหลายที่มีอัธยาศัยทราม จักคบหาสมาคมเข้าใกล้
กับสัตว์ทั้งหลายที่มีอัธยาศัยทราม สัตว์ทั้งหลายที่มีอัธยาศัยประณีต จักคบหา
สมาคมเข้าใกล้กับสัตว์ทั้งหลายที่มีอัธยาศัยประณีต นี้ชื่อว่า อัธยาศัยของสัตว์
ทั้งหลาย
             สัตว์ทั้งหลายผู้มีธุลีคือกิเลสมากเหล่านั้น เป็นไฉน
             กิเลสวัตถุ ๑๐ คือ โลภะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ วิจิกิจฉา ถีนะ
อุทธัจจะ อหิริกะ อโนตตัปปะ กิเลสวัตถุ ๑๐ เหล่านี้ อันสัตว์เหล่าใด เสพ
มากแล้ว ทำให้เกิดแล้ว ทำให้มากแล้ว เพิ่มพูนขึ้นแล้ว สัตว์เหล่านี้นั้น ชื่อว่า
ผู้มีธุลีคือกิเลสมาก
             สัตว์ทั้งหลายผู้มีธุลีคือกิเลสน้อยเหล่านั้น เป็นไฉน
             กิเลสวัตถุ ๑๐ เหล่านี้ อันสัตว์เหล่าใดมิได้เสพมากแล้ว มิได้ทำให้
เกิดแล้ว มิได้ทำให้มากแล้ว มิได้เพิ่มพูนขึ้นแล้ว สัตว์เหล่านี้นั้น ชื่อว่า มีธุลี
คือกิเลสน้อย
             สัตว์ทั้งหลายผู้มีอินทรีย์อ่อนเหล่านั้น เป็นไฉน
             อินทรีย์ ๕ คือ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญิน-
*ทรีย์ อินทรีย์ ๕ เหล่านี้ อันสัตว์เหล่าใดมิได้เสพให้มากแล้ว มิได้อบรมแล้ว
มิได้ทำให้มากแล้ว มิได้เพิ่มพูนขึ้นแล้ว สัตว์เหล่านี้นั้น ชื่อว่า ผู้มีอินทรีย์อ่อน
             สัตว์ทั้งหลายผู้มีอินทรีย์แก่กล้าเหล่านั้น เป็นไฉน
             อินทรีย์ ๕ เหล่านี้ อันสัตว์เหล่าใดเสพมากแล้ว อบรมแล้ว ทำให้มาก
แล้ว เพิ่มพูนขึ้นแล้ว สัตว์เหล่านี้นั้น ชื่อว่า ผู้มีอินทรีย์แก่กล้า
             สัตว์ทั้งหลายผู้มีอาการชั่วเหล่านั้น เป็นไฉน
             สัตว์เหล่านั้นใด มีอาสยะชั่ว มีอนุสัยชั่ว มีจริตชั่ว มีอัธยาศัยชั่ว มีธุลี
คือกิเลสมาก มีอินทรีย์อ่อน สัตว์เหล่านี้นั้น ชื่อว่า มีอาการชั่ว
             สัตว์ทั้งหลายผู้มีอาการดีเหล่านั้น เป็นไฉน
             สัตว์เหล่านั้นใด มีอาสยะดี มีอนุสัยดี มีจริตดี มีอัธยาศัยดี มีธุลีคือ
กิเลสน้อย มีอินทรีย์แก่กล้า สัตว์เหล่านี้นั้น ชื่อว่า มีอาการดี
             สัตว์ทั้งหลายที่แนะนำให้รู้ได้ยากเหล่านั้น เป็นไฉน
             สัตว์เหล่านั้นใด มีอาการชั่ว สัตว์เหล่านี้นั้น ชื่อว่า แนะนำให้รู้ได้ยาก
ส่วนสัตว์เหล่าใดมีอาการดี สัตว์เหล่านั้นแล ชื่อว่า แนะนำให้รู้ได้ง่าย
             สัตว์ทั้งหลายผู้ไม่ควรแก่การตรัสรู้เหล่านั้น เป็นไฉน
             สัตว์เหล่านั้นใด ประกอบด้วยเครื่องกั้นกาง คือ กรรม ประกอบด้วย
เครื่องกั้นกาง คือ กิเลส ประกอบด้วยเครื่องกั้นกาง คือ วิบาก ไม่มีศรัทธา ไม่มี
ฉันทะ มีปัญญาทราม ไม่ควรเพื่อจะหยั่งลงสู่สัมมัตตนิยามในกุศลธรรมทั้งหลาย
ได้ สัตว์เหล่านี้นั้น ชื่อว่า ผู้ไม่ควรแก่การตรัสรู้
             สัตว์ทั้งหลายผู้ควรแก่การตรัสรู้เหล่านั้น เป็นไฉน
             สัตว์เหล่านั้นใด ไม่ประกอบด้วยเครื่องกั้นกาง คือ กรรม ไม่ประกอบ
ด้วยเครื่องกั้นกาง คือ กิเลส ไม่ประกอบเครื่องกั้นกาง คือ วิบาก มีศรัทธา มี
ฉันทะ มีปัญญา ควรที่จะหยั่งลงสู่สัมมัตตนิยามในกุศลธรรมทั้งหลายได้ สัตว์
เหล่านี้นั้น ชื่อว่า ผู้ควรแก่การตรัสรู้
             ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลง ความวิจัยธรรม สัมมาทิฏฐิ
ในความแก่กล้าและไม่แก่กล้าแห่งอินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลายนั้น อันใด นี้ชื่อว่า
ญาณรู้ความแก่กล้าและไม่แก่กล้าแห่งอินทรีย์ของสัตว์เหล่าอื่น ของบุคคลเหล่าอื่น
ตามความเป็นจริง ของพระตถาคต

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๕ บรรทัดที่ ๑๑๕๕๒-๑๑๖๒๙ หน้าที่ ๔๙๗-๕๐๐. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=35&A=11552&Z=11629&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=35&item=844&items=1              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=35&item=844&items=1&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=35&item=844&items=1              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=35&item=844&items=1              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=35&i=844              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๕ https://84000.org/tipitaka/read/?index_35 https://84000.org/tipitaka/english/?index_35

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]