ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๗ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๗ จุลวรรค ภาค ๒
พระเทวทัตส่งคนไปปลงพระชนม์พระศาสดา
[๓๖๘] ครั้งนั้น พระเทวทัตเข้าไปหาอชาตสัตตุกุมาร แล้วถวายพระพร ว่า ขอถวายพระพร ขอมหาบพิตรจงรับสั่งใช้ ราชบุรุษผู้จักปลงพระชนม์ พระสมณโคดม ลำดับนั้น อชาตสัตตุกุมาร รับสั่งใช้คนทั้งหลายว่า พนาย พระ- *ผู้เป็นเจ้าเทวทัตสั่งอย่างใด ท่านทั้งหลายจงทำอย่างนั้น ลำดับนั้น พระเทวทัตจึง สั่งราชบุรุษคนหนึ่งว่า เจ้าจงไป พระสมณโคดมประทับอยู่ในโอกาสโน้น จง ปลงพระชนม์พระองค์แล้วจงมาทางนี้ ดังนี้ ซุ่มราชบุรุษไว้ ๒ คนริมทางนั้นด้วย สั่งว่า ราชบุรุษใดมาทางนี้ลำพังผู้เดียว เจ้าทั้งสองจงฆ่าราชบุรุษนั้นแล้วมาทางนี้ ได้ซุ่มบุรุษไว้ ๔ คนริมทางนั้นด้วยสั่งว่า ราชบุรุษเหล่าใดมาทางนี้ ๒ คน เจ้า ทั้ง ๔ คน จงฆ่าราชบุรุษ ๒ คนนั้น แล้วมาทางนี้ ได้ซุ่มบุรุษไว้ ๘ คนริมทาง นั้นด้วยสั่งว่า ราชบุรุษเหล่าใดมาทางนี้ ๔ คน เจ้าทั้ง ๘ คน จงฆ่าราชบุรุษ ๔ คน นั้นแล้วมาทางนี้ ได้ซุ่มราชบุรุษไว้ ๑๖ คนริมทางนั้น ด้วยสั่งว่า ราชบุรุษเหล่าใด มาทางนี้ ๘ คน เจ้าทั้ง ๑๖ คน จงฆ่าราชบุรุษ ๘ คนนั้นแล้วมา ฯ
ทรงแสดงอนุปุพพิกถา
[๓๖๙] ครั้งนั้น บุรุษคนเดียวนั้นถือดาบและโล่ห์ผูกสอดแล่งธนู แล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กลัว หวั่นหวาด สะทกสะท้าน มีกายแข็ง ได้ยืน อยู่ในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาคๆ ได้ทอดพระเนตรเห็นบุรุษนั้น ผู้กลัว หวั่นหวาด สะทกสะท้าน มีกายแข็ง ยืนอยู่ ครั้นแล้วได้ตรัสกะบุรุษนั้นว่า มาเถิด เจ้า อย่ากลัวเลย จึงบุรุษนั้นวางดาบและโล่ห์ปลดแล่งธนูวางไว้ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ซบศีรษะลงแทบพระบาทยุคลของพระผู้มีพระภาค แล้วได้กราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า โทษมาถึงซึ่งข้าพระพุทธเจ้าตามความโง่ ตามความหลง ตามอกุศล เพราะข้าพระพุทธเจ้ามีจิตคิดประทุษร้าย มีจิตคิดจะฆ่า เข้ามาถึงที่นี้ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดรับโทษของข้าพระพุทธเจ้านั้น โดยความ เป็นโทษ เพื่อความสำรวมต่อไป พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เอาเถอะเจ้า โทษมาถึงเจ้าตามความโง่ ตาม ความหลง ตามอกุศล เพราะเจ้ามีจิตคิดประทุษร้าย มีจิตคิดจะฆ่า เข้ามาถึงที่นี้ เมื่อใดเจ้าเห็นโทษ โดยความเป็นโทษ แล้วทำคืนตามธรรม เมื่อนั้น เรารับโทษ นั้นของเจ้า เพราะผู้ใดเห็นโทษโดยความเป็นโทษ แล้วทำคืนตามธรรม ถึงความ สำรวมต่อไป ข้อนั้น เป็นความเจริญในอริยวินัย ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอนุปุพพิกถาแก่บุรุษนั้น คือทรง แสดงทาน ศีล สวรรค์ และอาทีนพ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองของกาม ทั้งหลาย แล้วจึงทรงประกาศอานิสงส์ในการออกจากกาม เมื่อพระผู้มีพระภาค ทรงทราบว่า บุรุษนั้นมีจิตคล่อง มีจิตอ่อน มีจิตปลอดจากนิวรณ์ มีจิตสูงขึ้น มีจิตผ่องใส จึงทรงแสดงพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดง ด้วยพระองค์เอง คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ดวงตาเห็นธรรมปราศจากธุลี ปราศจากมลทินว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความ ดับเป็นธรรมดา ได้เกิดแก่บุรุษนั้น ณ ที่นั่นนั้นแล ดุจผ้าที่สะอาดปราศจากมลทิน ควรได้รับน้ำย้อมเป็นอย่างดี ฉะนั้น ครั้งนั้น บุรุษนั้นมีธรรมอันเห็นแล้ว ได้ บรรลุธรรมแล้ว ได้รู้ธรรมแจ่มแจ้งแล้ว มีธรรมอันหยั่งลงแล้ว ข้ามความสงสัย ได้แล้ว ปราศจากถ้อยคำแสดงความสงสัย ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้าไม่ต้องเชื่อ ผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่าข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ภาษิตของพระองค์ไพเราะนัก พระพุทธเจ้าข้า พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยายอย่างนี้ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่ คว่ำเปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทางหรือส่องประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่าคนมี จักษุจักเห็นรูป ดังนี้ ข้าพระพุทธเจ้านี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรม และภิกษุ สงฆ์ว่าเป็นสรณะ จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งกะบุรุษนั้นว่า เจ้าอย่าไปทางนี้ จงไป ทางนี้ แล้วทรงส่งไปทางอื่น ฯ [๓๗๐] ครั้งนั้น บุรุษสองคนนั้นคิดว่า ทำไมหนอ บุรุษคนเดียวนั้น จึงมาช้านัก แล้วเดินสวนทางไป ได้พบพระผู้มีพระภาคประทับนั่ง ณ โคนไม้ แห่งหนึ่ง แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอนุปุพพิกถาแก่บุรุษ ๒ คนนั้น ... พวกเขา ... ไม่ต้อง เชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ภาษิตของพระองค์ไพเราะนัก พระพุทธ- *เจ้าข้า ... ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระพุทธเจ้าทั้งสองว่า เป็นอุบาสกผู้มอบ ชีวิตถึงสรณะ จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งกะบุรุษทั้งสองนั้นว่า เจ้าทั้งสองอย่าไป ทางนี้ จงไปทางนี้ แล้วทรงส่งไปทางอื่น ฯ [๓๗๑] ครั้งนั้น บุรุษ ๔ คนนั้น ... ครั้งนั้น บุรุษ ๘ คนนั้น ... ครั้งนั้น บุรุษ ๑๖ คนนั้น คิดว่าทำไมหนอ บุรุษ ๘ คนนั้นจึงมาช้านัก แล้วเดินสวนทางไป ได้ไปพบพระผู้มีพระภาคประทับนั่ง ณ ที่โคนไม้แห่งหนึ่ง จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระ- *ภาคทรงแสดงอนุปุพพิกถาแก่บุรุษ ๑๖ คนนั้น คือ ทรงแสดงทาน ศีล ... พวกเขา ... ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้า- *แต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ภาษิตของพระองค์ไพเราะนัก พระพุทธเจ้าข้า ... ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระพุทธเจ้าทั้ง ๑๖ คนว่า เป็น อุบาสกผู้มอบชีวิตถึงสรณะ จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป ครั้งนั้น บุรุษคนเดียวนั้นได้เข้าไปหาพระเทวทัต แล้วได้กล่าวว่า ท่าน เจ้าข้า กระผมไม่สามารถจะปลงพระชนม์พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นได้ เพราะ พระองค์มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก พระเทวทัตจึงกล่าวว่า อย่าเลยเจ้า อย่าปลง พระชนม์พระสมณโคดมเลย เรานี้แหละจักปลงพระชนม์พระสมณโคดม ฯ
พระเทวทัตทำโลหิตุปบาท
[๓๗๒] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จจงกรมอยู่ ณ เขาคิชฌกูฏบรรพต ครั้งนั้น พระเทวทัตขึ้นสู่คิชฌกูฏบรรพต แล้วกลิ้งศิลาก้อนใหญ่ด้วยหมายใจว่า จักปลงพระชนม์พระสมณโคดมด้วยศิลานี้ ยอดบรรพตทั้งสองน้อมมารับศิลานั้น ไว้ สะเก็ดกระเด็นจากศิลานั้นต้องพระบาทของพระผู้มีพระภาค ทำพระโลหิตให้ ห้อขึ้นแล้ว ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแหงนขึ้นไปได้ตรัสกะพระเทวทัตว่า ดูกร โมฆบุรุษ เธอสั่งสมบาปมิใช่บุญไว้มากนัก เพราะมีจิตคิดประทุษร้าย มีจิตคิดฆ่า ยังโลหิตของตถาคตให้ห้อขึ้น ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้จัดเป็นอนันตริยกรรมข้อที่ ๑ ที่เทวทัตสั่งสมแล้ว เพราะเธอ มีจิตคิดประทุษร้าย มีจิตคิดฆ่า ทำโลหิตของตถาคตให้ห้อขึ้น ภิกษุทั้งหลายได้ สดับข่าวว่า พระเทวทัตได้ประกอบการปลงพระชนม์พระผู้มีพระภาค ก็ภิกษุ เหล่านั้นจงกรมอยู่รอบๆ วิหารของพระผู้มีพระภาค ทำการสาธยายมีเสียงสูง เสียงดัง เพื่อรักษาคุ้มครองป้องกันพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงสดับเสียง สาธยาย มีเสียงเซงแซ่ แล้วรับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ นั่นเสียง สาธยาย มีเสียงเซงแซ่ อะไรกัน ท่านอานนท์ทูลตอบว่า พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุทั้งหลายได้สดับข่าวว่า พระ เทวทัตได้ประกอบการปลงพระชนม์พระผู้มีพระภาค ก็ภิกษุเหล่านั้นจงกรมอยู่รอบ รอบวิหารของพระผู้มีพระภาคทำการสาธยายมีเสียงเซงแซ่ เพื่อรักษาคุ้มครอง ป้องกันพระผู้มีพระภาค เสียงนั้นนั่น เป็นเสียงสาธยาย มีเสียงเซงแซ่พระพุทธ เจ้าข้า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ ถ้ากระนั้น เธอจงเรียกภิกษุทั้งหลาย เหล่านั้นมาตามคำของเราว่า พระศาสดารับสั่งหาท่านทั้งหลาย ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระพุทธพจน์ แล้วเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้น แจ้งให้ทราบว่า พระศาสดารับสั่งหาท่านทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นรับคำของท่านพระอานนท์แล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมนั่ง ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง เมื่อภิกษุเหล่านั้นนั่งเรียบร้อยแล้ว พระ ผู้มีพระภาครับสั่งว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลจะปลงชีวิตตถาคตด้วยความ พยายามของผู้อื่นนั่น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส เพราะพระตถาคตทั้งหลายย่อมไม่ ปรินิพพานด้วยความพยายามของผู้อื่น
ตรัสเรื่องศาสดา ๕ จำพวก
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ศาสดา ๕ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก ๕ จำพวกเป็น ไฉน คือ ศาสดาบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีศีลไม่บริสุทธิ์ ปฏิญาณว่าเราเป็นผู้มี ศีลบริสุทธิ์ และว่า ศีลของเราบริสุทธิ์ ผุดผ่อง ไม่เศร้าหมอง สาวกทั้งหลาย ย่อมรู้ซึ่งศาสดานั้นนั่นอย่างนี้ว่า ศาสดาผู้เจริญนี้แล เป็นผู้มีศีลไม่บริสุทธิ์ย่อม ปฏิญาณว่า เราเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ และว่า ศีลของเราบริสุทธิ์ ผุดผ่อง ไม่ เศร้าหมอง ก็พวกเรานี่แหละพึงบอกแก่พวกคฤหัสถ์ ศาสดานั้นไม่พึงมีความพอใจ ก็ความไม่พอใจใดแลจะพึงมี พวกเราจะพึงกล่าวกะศาสดานั้นด้วยความไม่พอ ใจนั้นอย่างไร ก็ศาสดานั้นย่อมนับถือบูชาเราด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ท่านจักทำกรรมใดไว้ ท่านก็จักปรากฏด้วยกรรม นั้นเอง ดูกรภิกษุทั้งหลาย สาวกทั้งหลาย ย่อมรักษาศาสดาเห็นปานนี้โดยศีล ก็แลศาสดาเห็นปานนั้น ย่อมหวังการรักษาโดยศีลจากสาวกทั้งหลาย ฯ [๓๗๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ศาสดาบางคนในโลกนี้เป็นผู้มีอาชีวะ ไม่บริสุทธิ์ ปฏิญาณว่า เราเป็นผู้มีอาชีวะบริสุทธิ์ ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย สาวก ทั้งหลายย่อมรักษาศาสดาเห็นปานนั้นโดยอาชีวะ ก็แลศาสดาเห็นปานนั้น ย่อม หวังการรักษาโดยอาชีวะจากสาวกทั้งหลาย ฯ [๓๗๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ศาสดาบางคนในโลกนี้เป็นผู้มีธรรม เทศนาไม่บริสุทธิ์ ปฏิญาณว่า เราเป็นผู้มีธรรมเทศนาบริสุทธิ์ ... ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย สาวกทั้งหลายย่อมรักษาศาสดาเห็นปานนั้น โดยธรรมเทศนา ก็แล ศาสดาเห็นปานนั้น ย่อมหวังการรักษา โดยธรรมเทศนา จากสาวกทั้งหลาย ฯ [๓๗๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ศาสดาบางคนในโลกนี้เป็นผู้มี ไวยากรณ์ไม่บริสุทธิ์ ปฏิญาณว่า เราเป็นผู้มีไวยากรณ์บริสุทธิ์ ... ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย สาวกทั้งหลายย่อมรักษาศาสดาเห็นปานนั้นโดยไวยากรณ์ ก็แล ศาสดา เห็นปานนั้น ย่อมหวังการรักษา โดยไวยากรณ์ จากสาวกทั้งหลาย ฯ [๓๗๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ศาสดาบางคนในโลกนี้เป็นผู้มีญาณ ทัสสนะไม่บริสุทธิ์ ปฏิญาณว่า เราเป็นผู้มีญาณทัสสนะบริสุทธิ์ และว่า ญาณ ทัสสนะของเราบริสุทธิ์ ผุดผ่อง ไม่เศร้าหมอง สาวกทั้งหลายย่อมรู้ซึ่งศาสดานั้น นั่นอย่างนี้ว่า ศาสดาผู้เจริญนี้แล เป็นผู้มีญาณทัสสนะไม่บริสุทธิ์ ปฏิญาณว่า เราเป็นผู้มีญาณทัสสนะบริสุทธิ์ และว่า ญาณทัสสนะของเราบริสุทธิ์ ผุดผ่อง ไม่เศร้าหมอง ก็พวกเรานี้แหละพึงบอกแก่พวกคฤหัสถ์ ศาสดานั้นไม่พึงมีความ พอใจ ก็ความไม่พอใจใดแลจะพึงมี พวกเราจะพึงกล่าวกะศาสดานั้นด้วยความ ไม่พอใจนั้นอย่างไร ก็ศาสดานั้นย่อมนับถือบูชาเรา ด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ท่านจักทำกรรมใดไว้ ท่านก็จักปรากฏด้วยกรรม นั้นเอง ดูกรภิกษุทั้งหลาย สาวกทั้งหลายย่อมรักษาศาสดาเห็นปานนั้นโดยญาณ ทัสสนะ ก็แล ศาสดาเห็นปานนั้น ย่อมหวังการรักษา โดยญาณทัสสนะ จาก สาวกทั้งหลาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ศาสดา ๕ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เราเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ ปฏิญาณว่า เราเป็นผู้มีศีล บริสุทธิ์ และว่า ศีลของเราบริสุทธิ์ ผุดผ่อง ไม่เศร้าหมอง และสาวกทั้งหลาย ย่อมไม่รักษาเราโดยศีล และเราก็ย่อมไม่หวังการรักษาโดยศีล จากสาวกทั้งหลาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง เราเป็นผู้มีอาชีวะบริสุทธิ์ ... ... เป็นผู้มีธรรมเทศนาบริสุทธิ์ ... ... เป็นผู้มีไวยากรณ์บริสุทธิ์ ... ... เป็นผู้มีญาณทัสสนะบริสุทธิ์ ปฏิญาณว่า เราเป็นผู้มีญาณทัสสนะ บริสุทธิ์ และว่า ญาณทัสสนะของเราบริสุทธิ์ ผุดผ่อง ไม่เศร้าหมอง และ สาวกทั้งหลายย่อมไม่รักษาเราโดยญาณทัสสนะ และเราก็ย่อมไม่หวังการรักษาโดย ญาณทัสสนะ จากสาวกทั้งหลาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลจะปลงชีวิตตถาคต ด้วยความพยายามของ ผู้อื่นนั้นมิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส เพราะพระตถาคตทั้งหลาย ย่อมไม่ปรินิพพาน ด้วยความพยายามของผู้อื่น ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงไปที่อยู่ตามเดิม พระตถาคตทั้งหลายอัน พวกเธอไม่ต้องรักษา ฯ
ปล่อยช้างนาฬาคิรี
[๓๗๗] สมัยนั้น ในกรุงราชคฤห์ มีช้างชื่อนาฬาคิรี เป็นสัตว์ดุร้าย ฆ่ามนุษย์ ครั้งนั้น พระเทวทัตเข้าไปสู่กรุงราชคฤห์แล้วไปยังโรงช้างได้กล่าวกะ พวกควาญช้างว่า พนาย เราเป็นพระราชญาติ สามารถจะแต่งตั้งผู้ที่อยู่ในตำแหน่ง ต่ำไว้ในตำแหน่งสูงได้ สามารถจะเพิ่มได้ทั้งเบี้ยเลี้ยงและเงินเดือน พนาย ถ้า กระนั้นเวลาใดพระสมณโคดมทรงพระดำเนินมาตรอกนี้ เวลานั้น พวกท่านจง ปล่อยช้างนาฬาคิรีเข้าไปยังตรอกนี้ ควาญช้างเหล่านั้นรับคำพระเทวทัตแล้ว ครั้น เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกแล้วทรงถือบาตร จีวร เสด็จเข้า ไปยังกรุงราชคฤห์พร้อมกับภิกษุมากรูป ทรงพระดำเนินถึงตรอกนั้น ควาญช้าง เหล่านั้นได้แลเห็นพระผู้มีพระภาคทรงพระดำเนินถึงตรอกนั้น จึงปล่อยช้างนาฬา- *คิรีให้ไปยังตรอกนั้น ช้างนาฬาคิรีได้แลเห็นพระผู้มีพระภาค ทรงพระดำเนินมา แต่ไกลเทียว แล้วได้ชูงวง หูชัน หางชี้ วิ่งรี่ไปทางพระผู้มีพระภาค ภิกษุ เหล่านั้นได้แลเห็นช้างนาฬาคิรีวิ่งมาแต่ไกลเทียว แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ว่า พระพุทธเจ้าข้า ช้างนาฬาคิรีนี้ดุร้าย หยาบช้า ฆ่ามนุษย์ เดินเข้ามายังตรอก นี้แล้ว ขอพระผู้มีพระภาคจงเสด็จกลับเถิด ขอพระสุคตจงเสด็จกลับเถิด พระพุทธ เจ้าข้า พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า มาเถิด ภิกษุทั้งหลาย เธออย่ากลัวเลย ข้อที่ บุคคลจะปลงชีวิตตถาคตด้วยความพยายามของผู้อื่นนั่นไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาส เพราะพระตถาคตทั้งหลายย่อมไม่ปรินิพพานด้วยความพยายามของผู้อื่น แม้ครั้งที่สอง ภิกษุเหล่านั้น ... แม้ครั้งที่สาม ภิกษุเหล่านั้นได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ช้างนาฬาคิรีนี้ ดุร้าย หยาบช้า ฆ่ามนุษย์ เดินเข้ามายังตรอกนี้แล้ว ขอพระผู้มี- *พระภาคจงเสด็จกลับเถิด ขอพระสุคตจงเสด็จกลับเถิด พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า มาเถิดภิกษุทั้งหลาย อย่ากลัวเลย ข้อที่บุคคล จะปลงชีวิตตถาคตด้วยความพยายามของผู้อื่น นั่นไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาส เพราะพระตถาคตทั้งหลายย่อมไม่ปรินิพพานด้วยความพยายามของผู้อื่น ฯ [๓๗๘] คราวนั้น คนทั้งหลาย หนีขึ้นไปอยู่บนปราสาทบ้าง บนเรือน โล้นบ้าง บนหลังคาบ้าง บรรดาคนเหล่านั้น พวกที่ไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใส ไร้ปัญญา กล่าวอย่างนี้ว่า ชาวเราผู้เจริญ พระมหาสมณโคดม พระรูปงาม จัก ถูกช้างเบียดเบียน ส่วนพวกที่มีศรัทธา เลื่อมใส ฉลาด มีปัญญา กล่าวอย่างนี้ว่า ชาวเรา ผู้เจริญ ไม่นานเท่าไรนัก พระพุทธนาคจักทรงทำสงครามกับช้าง ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแผ่เมตตาจิตไปสู่ช้างนาฬาคิรี ลำดับนั้น ช้างนาฬาคิรีได้สัมผัสพระเมตตาจิตของพระผู้มีพระภาคแล้ว ลดงวงลงแล้วเข้าไปทางพระผู้มีพระภาค แล้วได้ยืนอยู่ตรงพระพักตร์พระผู้มี- *พระภาค ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคทรงยกพระหัตถ์ขวาลูบกระพองช้างนาฬาคิรี พลางตรัสกะช้างนาฬาคิรี ด้วยพระคาถา ว่าดังนี้:- [๓๗๙] ดูกรกุญชร เจ้าอย่าเข้าไปหาพระพุทธนาค เพราะการเข้าไปหา พระพุทธนาคด้วยวธกะจิตเป็นเหตุแห่งทุกข์ ผู้ฆ่าพระพุทธนาค จากชาตินี้ไปสู่ชาติหน้าไม่มีสุคติเลย เจ้าอย่าเมา และอย่า ประมาท เพราะคนเหล่านั้น เป็นผู้ประมาทแล้ว จะไปสู่สุคติ ไม่ได้ เจ้านี่แหละ จักทำโดยประการที่จักไปสู่สุคติได้ ฯ [๓๘๐] ลำดับนั้น ช้างนาฬาคิรีเอางวงลูบละอองธุลีพระบาทของพระผู้มี- *พระภาคแล้วพ่นลงบนกระหม่อม ย่อตัวถอยออกไปชั่วระยะที่แลเห็นพระผู้มี- *พระภาค ไปสู่โรงช้างแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ของตน ก็แล ช้างนาฬาคิรีเป็นสัตว์อันพระพุทธนาคทรงทรมานแล้วด้วยประการ นั้น ฯ [๓๘๑] สมัยนั้น คนทั้งหลายขับร้องคาถานี้ ว่าดังนี้:- คนพวกหนึ่งย่อมฝึกช้างและม้า ด้วยใช้ท่อนไม้บ้าง ใช้ขอบ้าง ใช้แส้บ้าง สมเด็จพระพุทธเจ้าผู้แสวงพระคุณใหญ่ทรงทรมาน ช้างโดยมิต้องใช้ท่อนไม้ มิต้องใช้ศัสตรา คนทั้งหลายต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า พระเทวทัตนี้เป็นคน มีบาป ไม่มีบุญ เพราะพยายามปลงพระชนม์พระสมณโคดม ผู้มีฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพมากอย่างนี้ ลาภสักการะของพระเทวทัตเสื่อม ส่วนลาภสักการะของ พระผู้มีพระภาคเจริญยิ่งขึ้น ฯ [๓๘๒] สมัยต่อมา พระเทวทัตเสื่อมลาภสักการะแล้ว พร้อมทั้งบริษัท ได้เที่ยวขอในสกุลทั้งหลายมาฉัน ประชาชนทั้งหลายต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร จึงเที่ยวขอในสกุลทั้งหลาย มาฉันเล่า ของที่ปรุงเสร็จแล้วใครจะไม่พอใจ ของที่ดีใครจะไม่ชอบใจ ภิกษุทั้งหลาย ได้ยินพวกนั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ พวกที่ เป็นผู้มักน้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระเทวทัตพร้อม กับบริษัท จึงเที่ยวขอในสกุลทั้งหลายมาฉันเล่า แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มี- *พระภาค พระผู้มีพระภาค ... ตรัสถามว่า ดูกรเทวทัต ข่าวว่า เธอพร้อมกับบริษัท เที่ยวขอในสกุลทั้งหลายมาฉัน จริงหรือ พระเทวทัตทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียน ... ครั้นแล้วทรงทำธรรมีกถารับสั่งกะ ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติโภชนะสำหรับ ๓ คนในสกุลแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัยอำนาจประโยชน์ ๓ ประการ คือ เพื่อข่ม บุคคลผู้เก้อยาก ๑ เพื่ออยู่ผาสุกของภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑ เพื่ออนุเคราะห์สกุลด้วย หวังว่า ภิกษุทั้งหลายที่มีความปรารถนาลามกอย่าอาศัยฝักฝ่ายทำลายสงฆ์ ๑ ในการ ฉันเป็นหมู่ พึงปรับอาบัติตามธรรม ฯ
เรื่องวัตถุ ๕ ประการ
[๓๘๓] ครั้งนั้น พระเทวทัตเข้าไปหาพระโกกาลิกะ พระกตโมรกติส- *สกะ พระขัณฑเทวีบุตร พระสมุททัตตะ แล้วได้กล่าวว่า มาเถิดท่านทั้งหลาย พวกเราจักทำสังฆเภท จักรเภท แก่พระสมณโคดม เมื่อพระเทวทัตกล่าวอย่างนี้ แล้ว พระโกกาลิกะได้กล่าวว่า พระสมณโคดมมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก พวกเราจักทำสังฆเภท จักรเภท แก่พระสมณโคดมอย่างไรได้ พระเทวทัตกล่าวว่า มาเถิดท่านทั้งหลาย พวกเราจักเข้าไปเฝ้าพระสมณ- *โคดม แล้วทูลขอวัตถุ ๕ ประการว่า พระผู้มีพระภาคตรัสคุณแห่งความเป็นผู้ มักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่ สั่งสม การปรารภความเพียร โดยอเนกปริยาย พระพุทธเจ้าข้า วัตถุ ๕ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักน้อย ความเป็นผู้สันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สั่งสม การปรารภความเพียร โดยอเนกปริยาย ข้าพระพุทธเจ้า ขอประทานพระวโรกาส ภิกษุทั้งหลายพึงถือการอยู่ป่าเป็นวัตรตลอด ชีวิต รูปใดอาศัยบ้านอยู่ รูปนั้นพึงต้องโทษ ภิกษุทั้งหลายพึงถือเที่ยวบิณฑบาต เป็นวัตรตลอดชีวิต รูปใดยินดีกิจนิมนต์ รูปนั้นพึงต้องโทษ ภิกษุทั้งหลายพึงถือ ผ้าบังสุกุลเป็นวัตรตลอดชีวิต รูปใดยินดีคหบดีจีวร รูปนั้นพึงต้องโทษ ภิกษุ ทั้งหลายพึงถืออยู่โคนไม้เป็นวัตรตลอดชีวิต รูปใดเข้าอาศัยที่มุงที่บัง รูปนั้นพึงต้อง- *โทษ ภิกษุทั้งหลายไม่พึงฉันปลาและเนื้อตลอดชีวิต รูปใดฉันปลาและเนื้อ รูปนั้น พึงต้องโทษ พระสมณโคดมจักไม่ทรงอนุญาตวัตถุ ๕ ประการนี้ แต่พวกเรานั้น จักให้ประชาชนเชื่อถือวัตถุ ๕ ประการนี้ พระโกกาลิกะกล่าวว่า ท่านทั้งหลาย พวกเราสามารถเพื่อทำสังฆเภท จักรเภท แก่พระสมณโคดมด้วยวัตถุ ๕ ประการนี้แน่ เพราะมนุษย์ทั้งหลายเลื่อมใส ในความปฏิบัติเศร้าหมอง ฯ
ทูลขอวัตถุ ๕ ประการ
[๓๘๔] ครั้งนั้น พระเทวทัตพร้อมกับบริษัทเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมแล้วนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เมื่อนั่งเรียบร้อยแล้วได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคตรัสคุณแห่งความเป็นผู้มักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส ความไม่สั่งสม การปรารภความเพียร โดยอเนกปริยาย พระพุทธเจ้าข้า วัตถุ ๕ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักน้อย ความเป็นผู้สันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส ความไม่สั่งสม การปรารภความเพียร โดยอเนกปริยาย ข้าพระพุทธเจ้า ขอประทานพระวโรกาส ภิกษุทั้งหลายพึงถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ตลอดชีวิต รูปใดอาศัยบ้านอยู่ รูปนั้นพึงต้องโทษ ภิกษุทั้งหลายพึงถือเที่ยว บิณฑบาตเป็นวัตรตลอดชีวิต รูปใดยินดีกิจนิมนต์ รูปนั้นพึงต้องโทษ ภิกษุ ทั้งหลายพึงถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตรตลอดชีวิต รูปใดยินดีคหบดีจีวร รูปนั้นพึงต้องโทษ ภิกษุทั้งหลายพึงถือการอยู่โคนไม้เป็นวัตรตลอดชีวิต รูปใดเข้าอาศัยที่มุงที่บัง รูป นั้นพึงต้องโทษ ภิกษุทั้งหลายไม่พึงฉันปลาและเนื้อตลอดชีวิต รูปใดฉันปลาและ เนื้อ รูปนั้นพึงต้องโทษ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า อย่าเลย เทวทัต ภิกษุใดปรารถนา ภิกษุนั้น จงถือการอยู่ป่าเป็นวัตร รูปใดปรารถนา จงอยู่ในบ้าน รูปใดปรารถนา จงถือ เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร รูปใดปรารถนา จงยินดีกิจนิมนต์ รูปใดปรารถนา จง ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร รูปใดปรารถนา จงยินดีคหบดีจีวร เราอนุญาตโคนไม้เป็น เสนาสนะ ๘ เดือน เราอนุญาตปลาและเนื้อที่บริสุทธิ์โดยส่วนสาม คือ ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่รังเกียจ ครั้งนั้น พระเทวทัตคิดว่า พระผู้มีพระภาคไม่ทรงอนุญาต วัตถุ ๕ ประการ นี้ จึงร่าเริงดีใจพร้อมกับบริษัทลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำ ประทักษิณ แล้วกลับไป ฯ
โฆษณาวัตถุ ๕ ประการ
[๓๘๕] ต่อมา พระเทวทัตพร้อมกับบริษัทเข้าไปสู่กรุงราชคฤห์แล้ว ประกาศให้ประชาชนเข้าใจวัตถุ ๕ ประการว่า ท่านทั้งหลาย พวกอาตมาเข้าไปเฝ้า พระสมณโคดมทูลขอวัตถุ ๕ ประการว่า พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคตรัสคุณ แห่งความเป็นผู้มักน้อย ... การปรารภความเพียร โดยอเนกปริยาย พระพุทธเจ้าข้า วัตถุ ๕ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักน้อย ... การปรารภความเพียร โดยอเนกปริยาย ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานพระวโรกาส ภิกษุทั้งหลายพึงถืออยู่ ป่าเป็นวัตรตลอดชีวิต รูปใดอาศัยบ้านอยู่ รูปนั้นพึงต้องโทษ ... ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงฉันปลาและเนื้อตลอดชีวิต รูปใดฉันปลาและเนื้อ รูปนั้นพึงต้องโทษ วัตถุ ๕ ประการนี้ พระสมณโคดมไม่ทรงอนุญาต แต่พวกอาตมาสมาทานประพฤติตาม วัตถุ ๕ ประการนี้ ฯ [๓๘๖] บรรดาประชาชนเหล่านั้น พวกที่ไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใส ไร้ปัญญา กล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้ เป็นผู้กำจัด มีความ ประพฤติขัดเกลา ส่วนพระสมณโคดมประพฤติมักมาก ย่อมคิดเพื่อความมักมาก ส่วนพวกที่มีศรัทธา เลื่อมใส เป็นผู้ฉลาด มีปัญญา ย่อมเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระเทวทัตจึงได้พยายามเพื่อทำลายสงฆ์ เพื่อทำลายจักรเล่า ภิกษุทั้งหลายได้ยินพวกนั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ บรรดาที่เป็นผู้มักน้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระเทวทัตจึงได้พยายามเพื่อทำ ลายสงฆ์ เพื่อทำลายจักร แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ... ทรงสอบถามว่า ดูกรเทวทัต ข่าวว่า เธอพยายาม เพื่อทำลายสงฆ์ เพื่อทำลายจักร จริงหรือ พระเทวทัตทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อย่าเลย เทวทัต เธออย่าชอบใจการทำลายสงฆ์ เพราะการทำลายสงฆ์มีโทษหนักนัก ผู้ใดทำลายสงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกันย่อมประสพ- *โทษตั้งกัป ย่อมไหม้ในนรกตลอดกัป ส่วนผู้ใดสมานสงฆ์ผู้แตกกันแล้วให้พร้อม เพรียงกัน ย่อมประสพบุญอันประเสริฐ ย่อมบันเทิงในสวรรค์ตลอดกัป อย่า เลย เทวทัต เธออย่าชอบใจการทำลายสงฆ์เลย เพราะการทำลายสงฆ์มีโทษ หนักนัก ฯ [๓๘๗] ครั้งนั้นเป็นเวลาเช้า ท่านพระอานนท์นุ่งอันตรวาสก ถือบาตร จีวร เข้าไปบิณฑบาตยังกรุงราชคฤห์ พระเทวทัตได้พบท่านพระอานนท์กำลังเที่ยว- *บิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ จึงเข้าไปหาท่านพระอานนท์ แล้วได้กล่าวว่า ท่าน อานนท์ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ผมจักทำอุโบสถ จักทำสังฆกรรม แยกจากพระผู้มี พระภาค แยกจากภิกษุสงฆ์ ครั้นท่านพระอานนท์เที่ยวบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ แล้ว เวลาปัจฉาภัตร กลับจากบิณฑบาตเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคม นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เมื่อนั่งเรียบร้อยแล้วจึงกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า เมื่อเช้านี้ ข้าพระพุทธเจ้านุ่งอันตรวาสก ถือบาตร และจีวร เข้าไปบิณฑบาตยังกรุงราชคฤห์ พระเทวทัตพบข้าพระพุทธเจ้ากำลังเที่ยวบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ แล้วเข้ามาหา ข้าพระพุทธเจ้า ครั้นแล้วกล่าวว่า ท่านอานนท์ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ผมจักทำ อุโบสถ จักทำสังฆกรรม แยกจากพระผู้มีพระภาค แยกจากภิกษุสงฆ์ วันนี้ พระเทวทัตจักทำลายสงฆ์ พระพุทธเจ้าข้า ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเรื่องนั้นแล้ว ทรงเปล่งอุทานในเวลา นั้น ว่าดังนี้:- [๓๘๘] ความดี คนดีทำง่าย ความดี คนชั่วทำยาก ความชั่ว คนชั่วทำง่าย แต่อารยชน ทำความชั่วได้ยาก ฯ
ทุติยภาณวาร จบ
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๗ บรรทัดที่ ๓๕๔๔-๓๘๖๓ หน้าที่ ๑๔๗-๑๖๐. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=7&A=3544&Z=3863&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=7&item=368&items=21              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=7&item=368&items=21&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=7&item=368&items=21              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=7&item=368&items=21              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=7&i=368              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๗ https://84000.org/tipitaka/read/?index_7 https://84000.org/tipitaka/english/?index_7

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]