ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค
             [๖๐] ดูกรอานนท์ ธรรมทั้งสองเหล่านี้ รวมเป็นอันเดียวกันกับเวทนา
โดยส่วนสอง ด้วยประการดังนี้แล ฯ
             ก็คำนี้ว่า เพราะผัสสะเป็นปัจจัยจึงเกิดเวทนา เรากล่าวอธิบายดังต่อ
ไปนี้
             ดูกรอานนท์ เธอพึงทราบความข้อนี้โดยปริยายแม้นี้ เหมือนที่เราได้กล่าว
ไว้ว่า เพราะผัสสะเป็นปัจจัยจึงเกิดเวทนา ดูกรอานนท์ ก็ถ้าผัสสะมิได้มีแก่ใครๆ
ในภพไหนๆ ทั่วไปทุกแห่งหน คือจักษุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหา-
*สัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส เมื่อไม่มีผัสสะโดยประการทั้งปวง เพราะ
ดับผัสสะเสียได้เวทนาจะพึงปรากฏได้บ้างไหม ฯ
             ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ฯ
             เพราะเหตุนั้นแหละ อานนท์ เหตุ นิทาน สมุทัย ปัจจัยแห่งเวทนา
ก็คือผัสสะนั่นเอง ฯ
             ก็คำนี้ว่า เพราะนามรูปเป็นปัจจัยจึงเกิดผัสสะ เรากล่าวอธิบายดังต่อ
ไปนี้-
             ดูกรอานนท์ เธอพึงทราบความข้อนี้โดยปริยายแม้นี้ เหมือนที่เราได้กล่าว
ไว้ว่า เพราะนามรูปเป็นปัจจัยจึงเกิดผัสสะ ดูกรอานนท์ การบัญญัตินามกาย
ต้องพร้อมด้วยอาการ เพศ นิมิต อุเทศ เมื่ออาการ เพศ นิมิต และอุเทศ
นั้นๆ ไม่มี การสัมผัสเพียงแต่ชื่อในรูปกายจะพึงปรากฏได้บ้างไหม ฯ
             ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ฯ
             ดูกรอานนท์ การบัญญัติรูปกาย ต้องพร้อมด้วยอาการ เพศ นิมิต อุเทศ
เมื่ออาการ เพศ นิมิต อุเทศนั้นๆ ไม่มี การสัมผัสโดยการกระทบ จะพึง
ปรากฏในนามกายได้บ้างไหม ฯ
             ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ฯ
             ดูกรอานนท์ การบัญญัตินามก็ดี รูปกายก็ดี ต้องพร้อมด้วยอาการ เพศ
นิมิต อุเทศ เมื่ออาการ เพศ นิมิต อุเทศนั้นๆ ไม่มี การสัมผัสเพียงแต่ชื่อ
ก็ดี การสัมผัสโดยการกระทบก็ดี จะพึงปรากฏได้บ้างไหม ฯ
             ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ฯ
             ดูกรอานนท์ การบัญญัตินามรูปต้องพร้อมด้วยอาการ เพศ นิมิต อุเทศ
เมื่ออาการ เพศ นิมิต อุเทศนั้นๆ ไม่มี ผัสสะจะพึงปรากฏได้บ้างไหม ฯ
             ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ฯ
             เพราะเหตุนั้นแหละ อานนท์ เหตุ นิทาน สมุทัย ปัจจัยแห่งผัสสะ
ก็คือนามรูปนั่นเอง ฯ
             ก็คำนี้ว่า เพราะวิญญาณเป็นปัจจัยจึงเกิดนามรูป เรากล่าวอธิบายดังต่อ
ไปนี้-
             ดูกรอานนท์ เธอพึงทราบความข้อนี้โดยปริยายแม้นี้ เหมือนที่เราได้กล่าว
ไว้ว่า เพราะวิญญาณเป็นปัจจัยจึงเกิดนามรูป ดูกรอานนท์ ก็วิญญาณจักไม่หยั่งลง
ในท้องแห่งมารดา นามรูปจักขาดในท้องแห่งมารดาได้บ้างไหม ฯ
             ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ฯ
             ดูกรอานนท์ ก็ถ้าวิญญาณหยั่งลงในท้องแห่งมารดาแล้วจักล่วงเลยไป
นามรูปจักบังเกิดเพื่อความเป็นอย่างนี้ได้บ้างไหม ฯ
             ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ฯ
             ดูกรอานนท์ ก็ถ้าวิญญาณ ของกุมารก็ดี ของกุมาริกาก็ดี ผู้ยังเยาว์วัยอยู่
จักขาดความสืบต่อ นามรูปจักถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ ได้บ้างไหม ฯ
             ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ฯ
             เพราะเหตุนั้นแหละ อานนท์ เหตุ นิทาน สมุทัย ปัจจัยแห่งนามรูป
ก็คือวิญญาณนั่นเอง ฯ
             ก็คำนี้ว่า เพราะนามรูปเป็นปัจจัยจึงเกิดวิญญาณ เรากล่าวอธิบายดังต่อ
ไปนี้-
             ดูกรอานนท์ เธอพึงทราบความข้อนี้โดยปริยายแม้นี้ เหมือนที่เราได้กล่าว
ไว้ว่า เพราะนามรูปเป็นปัจจัยจึงเกิดวิญญาณ ดูกรอานนท์ ก็ถ้าวิญญาณจักไม่ได้
อาศัยในนามรูปแล้ว ความเกิดขึ้นแห่งชาติชรามรณะและกองทุกข์ พึงปรากฏ
ต่อไปได้บ้างไหม ฯ
             ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ฯ
             เพราะเหตุนั้นแหละ อานนท์ เหตุ นิทาน สมุทัย ปัจจัยแห่งวิญญาณ
ก็คือนามรูปนั่นเอง ด้วยเหตุผลเพียงเท่านี้แหละ อานนท์ วิญญาณและนามรูป
จึงยังเกิด แก่ ตาย จุติ หรืออุปบัติ ทางแห่งชื่อ ทางแห่งนิรุติ ทางแห่งบัญญัติ
ทางที่กำหนดรู้ด้วยปัญญาและวัฏฏสังสาร ย่อมเป็นไปด้วยเหตุเพียงเท่านี้ๆ ความ
เป็นอย่างนี้ ย่อมมีเพื่อบัญญัติ คือนามรูปกับวิญญาณ ฯ
             [๖๑] ดูกรอานนท์ บุคคลเมื่อจะบัญญัติอัตตา ย่อมบัญญัติด้วยเหตุ
ประมาณเท่าไร ก็เมื่อบุคคลจะบัญญัติอัตตา มีรูปเป็นกามาวจร ย่อมบัญญัติว่า
อัตตาของเรามีรูปเป็นกามาวจร เมื่อบัญญัติอัตตามีรูปหาที่สุดมิได้ ย่อมบัญญัติว่า
อัตตาของเรามีรูปหาที่สุดมิได้ เมื่อบัญญัติอัตตาไม่มีรูปเป็นกามาวจร ย่อมบัญญัติว่า
อัตตาของเราไม่มีรูปเป็นกามาวจร เมื่อบัญญัติอัตตาไม่มีรูปหาที่สุดมิได้ ย่อม
บัญญัติว่า อัตตาของเราไม่มีรูปหาที่สุดมิได้ ฯ
             ดูกรอานนท์ บรรดาความเห็น ๔ อย่างนั้น ผู้ที่บัญญัติอัตตามีรูปเป็น
กามาวจรนั้น ย่อมบัญญัติในกาลบัดนี้ หรือบัญญัติซึ่งสภาพที่เป็นอย่างนั้น หรือ
มีความเห็นว่า เราจักยังสภาพอันไม่เที่ยงแท้ที่มีอยู่ให้สำเร็จ เพื่อเป็นสภาพที่
เที่ยงแท้ อานนท์ การลงความเห็นว่าอัตตาเป็นกามาวจร ย่อมติดสันดานผู้มีรูปที่
เป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น จึงควรกล่าวไว้ด้วย ฯ
             ดูกรอานนท์ บรรดาความเห็น ๔ อย่างนั้น ผู้มีบัญญัติอัตตามีรูปหาที่สุด
มิได้นั้น ย่อมบัญญัติในกาลบัดนี้ หรือบัญญัติซึ่งสภาพที่เป็นอย่างนั้น หรือมี
ความเห็นว่า เราจักยังสภาพที่ไม่เที่ยงแท้อันมีอยู่ให้สำเร็จ เพื่อเป็นสภาพที่เที่ยงแท้
อานนท์ การลงความเห็นว่า อัตตาหาที่สุดมิได้ ย่อมติดสันดานผู้มีรูปที่เป็นอย่างนี้
เพราะฉะนั้น จึงควรกล่าวไว้ด้วย ฯ
             ดูกรอานนท์ บรรดาความเห็น ๔ อย่างนั้น ผู้ที่บัญญัติอัตตาไม่มีรูปเป็น
กามาวจรนั้น ย่อมบัญญัติในกาลบัดนี้ หรือบัญญัติซึ่งสภาพที่เป็นอย่างนั้น หรือ
มีความเห็นว่า เราจักยังสภาพอันไม่เที่ยงแท้ที่มีอยู่ให้สำเร็จ เพื่อเป็นสภาพที่
เที่ยงแท้ อานนท์ การลงความเห็นว่าอัตตาเป็นกามาวจร ย่อมติดสันดานผู้มีอรูป
ที่เป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น จึงควรกล่าวไว้ด้วย ฯ
             ดูกรอานนท์ บรรดาความเห็น ๔ อย่างนั้น ส่วนผู้ที่บัญญัติอัตตาไม่มีรูป
ทั้งหาที่สุดมิได้นั้น ย่อมบัญญัติในกาลบัดนี้ หรือบัญญัติซึ่งสภาพที่เป็นอย่างนั้น
หรือมีความเห็นว่า เราจักยังสภาพที่ไม่เที่ยงแท้อันมีอยู่ให้สำเร็จ เพื่อเป็นสภาพ
ที่เที่ยงแท้ อานนท์ การลงความเห็นว่า อัตตาหาที่สุดมิได้ ย่อมติดสันดาน
ผู้มีอรูป เพราะฉะนั้น จึงควรกล่าวไว้ด้วย ฯ
             ดูกรอานนท์ บุคคลเมื่อจะบัญญัติอัตตาย่อมบัญญัติด้วยเหตุมีประมาณเท่า
นี้แล ฯ
             [๖๒] ดูกรอานนท์ บุคคลเมื่อไม่บัญญัติอัตตา ย่อมไม่บัญญัติด้วยเหตุ
มีประมาณเท่าไร อานนท์ ก็เมื่อบุคคลไม่บัญญัติอัตตามีรูปเป็นกามาวจร ย่อมไม่
บัญญัติว่า อัตตาของเรามีรูปเป็นกามาวจร เมื่อไม่บัญญัติอัตตามีรูปอันหาที่สุดมิได้
ย่อมไม่บัญญัติว่า อัตตาของเรามีรูปหาที่สุดมิได้ หรือเมื่อไม่บัญญัติอัตตาไม่มี
รูปเป็นกามาวจร ย่อมไม่บัญญัติว่า อัตตาของเราไม่มีรูปเป็นกามาจร เมื่อไม่
บัญญัติอัตตาไม่มีรูปหาที่สุดมิได้ ย่อมไม่บัญญัติว่า อัตตาของเราไม่มีรูปหาที่สุดมิได้
อานนท์ บรรดาความเห็น ๔ อย่างนั้น ผู้ที่ไม่บัญญัติอัตตามีรูปเป็นกามาวจรนั้น
ย่อมไม่บัญญัติในกาลบัดนี้ หรือไม่บัญญัติซึ่งสภาพที่เป็นอย่างนั้น หรือไม่มีความ
เห็นว่า เราจักยังสภาพอันไม่เที่ยงแท้ที่มีอยู่ให้สำเร็จ เพื่อเป็นสภาพที่เที่ยงแท้
อานนท์ การลงความเห็นว่า อัตตาเป็นกามาวจร ย่อมไม่ติดสันดานผู้มีรูปที่เป็น
อย่างนี้ เพราะฉะนั้น จึงควรกล่าวไว้ด้วย
             ผู้ที่ไม่บัญญัติอัตตามีรูปหาที่สุดมิได้นั้น ย่อมไม่บัญญัติในกาลบัดนี้ หรือ
ไม่บัญญัติซึ่งสภาพที่เป็นอย่างนั้น หรือไม่มีความเห็นว่า เราจักยังสภาพอัน
ไม่เที่ยงแท้ที่มีอยู่ให้สำเร็จ เพื่อเป็นสภาพที่เที่ยงแท้ อานนท์ การลงความเห็นว่า
อัตตาหาที่สุดมิได้ ย่อมไม่ติดสันดานผู้มีรูปที่เป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น จึงควร
กล่าวไว้ด้วย
             ส่วนผู้ที่ไม่บัญญัติอัตตาไม่มีรูปเป็นกามาวจรนั้น ย่อมไม่บัญญัติในกาล
บัดนี้ หรือไม่บัญญัติซึ่งสภาพที่เป็นอย่างนั้น หรือไม่มีความเห็นว่า เราจักยังสภาพ
อันไม่เที่ยงแท้ที่มีอยู่ให้สำเร็จ เพื่อเป็นสภาพที่เที่ยงแท้ อานนท์ การลงความเห็นว่า
อัตตาเป็นกามาวจร ย่อมไม่ติดสันดานผู้มีอรูปที่เป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น จึงควร
กล่าวไว้ด้วย
             ผู้ที่ไม่บัญญัติอัตตาไม่มีรูปหาที่สุดมิได้นั้น ย่อมไม่บัญญัติในกาลบัดนี้
หรือไม่บัญญัติซึ่งสภาพที่เป็นอย่างนั้น หรือไม่มีความเห็นว่า เราจักยังสภาพอัน
ไม่เที่ยงแท้ที่มีอยู่ให้สำเร็จ เพื่อเป็นสภาพที่เที่ยงแท้ อานนท์ การลงความเห็นว่า
อัตตาหาที่สุดมิได้ ย่อมไม่ติดสันดานผู้มีอรูปที่เป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น จึงควร
กล่าวไว้ด้วย ฯ
             ดูกรอานนท์ บุคคลเมื่อไม่บัญญัติอัตตา ย่อมไม่บัญญัติด้วยเหตุมีประมาณ
เท่านี้แล ฯ
             [๖๓] ดูกรอานนท์ บุคคลเมื่อเล็งเห็นอัตตา ย่อมเล็งเห็นด้วยเหตุมี
ประมาณเท่าไร ก็บุคคลเมื่อเล็งเห็นเวทนาเป็นอัตตา ย่อมเล็งเห็นว่า เวทนาเป็น
อัตตาของเรา ถ้าเวทนาไม่เป็นอัตตาของเราแล้ว อัตตาของเราก็ไม่ต้องเสวยเวทนา
อานนท์ หรือเล็งเห็นอัตตา ดังนี้ว่า เวทนาไม่เป็นอัตตาของเราเลย จะว่าอัตตา
ของเราไม่ต้องเสวยเวทนาก็ไม่ใช่ อัตตาของเรายังต้องเสวยเวทนาอยู่ เพราะฉะนั้น
อัตตาของเรามีเวทนาเป็นธรรมดา อานนท์ บรรดาความเห็น ๓ อย่างนั้น ผู้ที่กล่าว
อย่างนี้ว่า เวทนาเป็นอัตตาของเรา เขาจะพึงถูกซักถามอย่างนี้ว่า อาวุโส เวทนา
มี ๓ อย่างนี้ คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา บรรดาเวทนา
๓ ประการนี้ ท่านเล็งเห็นอันไหนโดยความเป็นอัตตา อานนท์ ในสมัยใด อัตตา
เสวยสุขเวทนา ในสมัยนั้น ไม่ได้เสวยทุกขเวทนา ไม่ได้เสวยอทุกขมสุขเวทนา
คงเสวยแต่สุขเวทนาอย่างเดียวเท่านั้น ในสมัยใดอัตตาเสวยทุกขเวทนาไม่ได้
เสวยสุขเวทนา ไม่ได้เสวยอทุกขมสุขเวทนา คงเสวยแต่ทุกขเวทนาอย่างเดียว
เท่านั้น ในสมัยใด อัตตาเสวยอทุกขมสุขเวทนา ในสมัยนั้นไม่ได้เสวยสุขเวทนา
ไม่ได้เสวยทุกขเวทนา คงเสวยแต่อทุกขมสุขเวทนาอย่างเดียวเท่านั้น
             ดูกรอานนท์ เวทนาแม้ที่เป็นสุขก็ดี แม้ที่เป็นทุกข์ก็ดี แม้ที่เป็นอทุกขม-
*สุขก็ดี ล้วนไม่เที่ยง เป็นเพียงปัจจัยปรุงแต่งขึ้น มีความสิ้นความเสื่อม ความ-
*คลาย และความดับไปเป็นธรรมดา เมื่อเขาเสวยสุขเวทนา ย่อมมีความเห็นว่า
นี้เป็นอัตตาของเรา ต่อสุขเวทนาอันนั้นดับไป จึงมีความเห็นว่า อัตตาของเรา
ดับไปแล้ว เมื่อเสวยทุกขเวทนา ย่อมมีความเห็นว่า นี้เป็นอัตตาของเรา ต่อ
ทุกขเวทนาอันนั้นแลดับไป จึงมีความเห็นว่า อัตตาของเราดับไปแล้ว เมื่อเสวย
อทุกขมสุขเวทนา ย่อมมีความเห็นว่า นี้เป็นอัตตาของเรา ต่ออทุกขมสุขเวทนา
อันนั้นแลดับไป จึงมีความเห็นว่า อัตตาของเราดับไปแล้ว ผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า
เวทนาเป็นอัตตาของเรานั้น เมื่อเล็งเห็นอัตตา ย่อมเล็งเห็นเวทนาอันไม่เที่ยง
เกลื่อนกล่นไปด้วยสุขและทุกข์ มีความเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็นธรรมดา เป็น
อัตตาในปัจจุบันเท่านั้น เพราะเหตุนั้นแหละ อานนท์ ข้อนี้จึงยังไม่ควรที่จะ
เล็งเห็นว่า เวทนาเป็นอัตตาของเรา แม้ด้วยคำดังกล่าวแล้วนี้ ผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า
ถ้าเวทนาไม่เป็นอัตตาของเราแล้ว อัตตาของเราก็ไม่ต้องเสวยเวทนา เขาจะพึง
ถูกซักอย่างนี้ว่า ในรูปขันธ์ล้วนๆ ก็ยังมิได้มีความเสวยอารมณ์อยู่ทั้งหมด ใน
รูปขันธ์นั้น ยังจะเกิดอหังการว่าเป็นเราได้หรือ ฯ
             ไม่ได้ พระเจ้าข้า ฯ
             เพราะเหตุนั้นแหละ อานนท์ ข้อนี้จึงยังไม่ควรที่จะเล็งเห็นว่า ถ้าเวทนา
ไม่เป็นอัตตาของเราแล้ว อัตตาของเราก็ไม่ต้องเสวยเวทนา แม้ด้วยคำดังกล่าว
แล้วนี้ ส่วนผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า เวทนาไม่เป็นอัตตาของเราเลย อัตตาของเราไม่
ต้องเสวยเวทนาก็ไม่ใช่ อัตตาของเรายังต้องเสวยเวทนาอยู่ เพราะว่า อัตตาของ
เรามีเวทนาเป็นธรรมดา เขาจะพึงถูกซักอย่างนี้ว่า อาวุโส ก็เพราะเวทนาจะต้อง
ดับไปทั้งหมดทั้งสิ้น ไม่เหลือเศษ เมื่อเวทนาไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะ
เวทนาดับไป ยังจะเกิดอหังการว่า เป็นเราได้หรือ ในเมื่อขันธ์นั้นๆ ดับ
ไปแล้ว ฯ
             ไม่ได้ พระเจ้าข้า ฯ
             เพราะเหตุนั้นแหละ อานนท์ ข้อนี้จึงยังไม่ควรที่จะเล็งเห็นว่า เวทนา
ไม่เป็นอัตตาของเราแล้ว อัตตาของเราไม่ต้องเสวยเวทนาเลยก็ไม่ใช่ อัตตาของ
เรายังต้องเสวยเวทนาอยู่ เพราะว่า อัตตาของเรามีเวทนาเป็นธรรมดา แม้ด้วยคำ
ดังกล่าวแล้วนี้ ฯ
             [๖๔] ดูกรอานนท์ คราวใดเล่า ภิกษุไม่เล็งเห็นเวทนาเป็นอัตตา ไม่
เล็งเห็นอัตตาว่าไม่ต้องเสวยเวทนาก็ไม่ใช่ ไม่เล็งเห็นว่าอัตตายังต้องเสวยเวทนา
อยู่ เพราะว่า อัตตาของเรามีเวทนาเป็นธรรมดา ภิกษุนั้น เมื่อเล็งเห็นอยู่อย่างนี้
ย่อมไม่ยึดมั่นอะไรๆ ในโลก และเมื่อไม่ยึดมั่น ย่อมไม่สะทกสะท้าน เมื่อไม่
สะทกสะท้านย่อมปรินิพพานได้เฉพาะตน ทั้งรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์
อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี อานนท์
ผู้ใดกล่าวอย่างนี้ว่า ทิฐิว่าเบื้องหน้าแต่ตาย สัตว์ยังมีอยู่ ว่าเบื้องหน้าแต่ตาย
สัตว์ไม่มีอยู่ ว่าเบื้องหน้าแต่ตาย สัตว์มีอยู่ด้วย ไม่มีอยู่ด้วย ว่าเบื้องหน้าแต่ตาย
สัตว์มีอยู่ก็หามิได้ ไม่มีอยู่ก็หามิได้ ดังนี้ กะภิกษุผู้หลุดพ้นแล้วอย่างนี้ การ
กล่าวของบุคคลนั้นไม่สมควร ฯ
             ข้อนั้น เพราะเหตุไร
             ดูกรอานนท์ ชื่อ ทางแห่งชื่อ ทางแห่งนิรุติ บัญญัติ ทางแห่งบัญญัติ
การแต่งตั้ง ทางที่กำหนดรู้ด้วยปัญญา วัฏฏะยังเป็นไปอยู่ตราบใด วัฏฏสงสาร
ยังคงหมุนเวียนอยู่ตราบนั้น เพราะรู้ยิ่ง วัฏฏสงสารนั้น ภิกษุจึงหลุดพ้น ข้อที่มี
ทิฐิว่า ใครๆ ย่อมไม่รู้ ย่อมไม่เห็นภิกษุผู้หลุดพ้น เพราะรู้ยิ่งวัฏฏสงสารนั้น
นั้นไม่สมควร ฯ
             [๖๕] ดูกรอานนท์ วิญญาณฐิติ ๗ อายตนะ ๒ เหล่านี้ วิญญาณฐิติ ๗
เป็นไฉน คือ-
             ๑. สัตว์มีกายต่างกัน มีสัญญาต่างกัน ได้แก่พวกมนุษย์ และพวกเทพ
บางพวก พวกวินิบาตบางพวก นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ ๑
             ๒. สัตว์มีกายต่างกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน ได้แก่พวกเทพผู้นับเนื่อง
ในชั้นพรหมผู้บังเกิดด้วยปฐมฌาน และสัตว์ผู้เกิดในอบาย ๔ นี้เป็นวิญญาณ
ฐิติที่ ๒
             ๓. สัตว์มีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาต่างกัน ได้แก่พวกเทพชั้นอาภัสสร
นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ ๓
             ๔. สัตว์ที่มีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน ได้แก่พวกเทพ
ชั้นสุภกิณหะ นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ ๔
             ๕. สัตว์ที่เข้าถึงชั้นอากาสานัญจายตนะด้วยมนสิการว่า อากาศหาที่สุด
มิได้ เพราะล่วงรูปสัญญา เพราะดับปฏิฆะสัญญา เพราะไม่ใส่ใจถึงนานัตตสัญญา
โดยประการทั้งปวง นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ ๕
             ๖. สัตว์ที่เข้าถึงชั้นวิญญาณัญจายตนะด้วยมนสิการว่า วิญญาณหาที่สุด
มิได้ เพราะล่วงชั้นอากาสานัญจายตนะโดยประการทั้งปวง นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ ๖
             ๗. สัตว์ที่เข้าถึงชั้นอากิญจัญญายตนะ ด้วยมนสิการว่า ไม่มีอะไร
เพราะล่วงชั้นวิญญาณัญจายตนะ โดยประการทั้งปวง นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ ๗
             ส่วนอายตนะอีก ๒ คือ อสัญญีสัตตายตนะ (ข้อที่ ๑) และข้อที่ ๒
คือ เนวสัญญานาสัญญายตนะ
             ดูกรอานนท์ บรรดาวิญญาณฐิติทั้ง ๗ ประการนั้น วิญญาณฐิติข้อที่ ๑ มี
ว่า สัตว์มีกายต่างกัน มีสัญญาต่างกัน ได้แก่พวกมนุษย์และพวกเทพบางพวก
พวกวินิบาตบางพวก ผู้ที่รู้ชัดวิญญาณฐิติข้อนั้น รู้ความเกิดและความดับ รู้คุณ
และโทษ แห่งวิญญาณฐิติข้อนั้น และรู้อุบายเป็นเครื่องออกไปจากวิญญาณฐิติ
ข้อนั้น เขายังจะควรเพื่อเพลิดเพลินวิญญาณฐิตินั้นอีกหรือ ฯ
             ไม่ควร พระเจ้าข้า ฯ
ฯลฯ ฯลฯ
วิญญาณฐิติที่ ๗ มีว่า สัตว์ผู้เข้าถึงชั้นอากิญจัญญายตนะ ด้วยมนสิการ ว่า ไม่มีอะไร เพราะล่วงชั้นวิญญาณณัญจายตนะโดยประการทั้งปวง ผู้ที่รู้ชัด วิญญาณฐิติข้อนั้น รู้ความเกิดและความดับ รู้คุณและโทษ แห่งวิญญาณฐิติ ข้อนั้น และรู้อุบายเป็นเครื่องออกไปจากวิญญาณฐิติข้อนั้น เขายังจะควร เพลิดเพลินวิญญาณฐิตินั้นอีกหรือ ฯ ไม่ควร พระเจ้าข้า ฯ ดูกรอานนท์ ส่วนบรรดาอายตนะทั้ง ๒ นั้นเล่า ข้อที่ ๑ คือ อสัญญี- *สัตตายตนะ ผู้ที่รู้ชัดอสัญญีสัตตายตนะข้อนั้น รู้ความเกิดและความดับ รู้คุณ และโทษ แห่งอสัญญีสัตตายตนะข้อนั้น และรู้อุบายเป็นเครื่องออกไปจาก อสัญญีสัตตายตนะข้อนั้น เขายังจะควรเพื่อเพลิดเพลินอสัญญีสัตตายตนะนั้น อีกหรือ ฯ ไม่ควร พระเจ้าข้า ฯ ส่วนข้อที่ ๒ คือ เนวสัญญานาสัญญายตนะ ผู้ที่รู้ชัดเนวสัญญานา- *สัญญายตนะข้อนั้น รู้ความเกิดและความดับ รู้คุณและโทษแห่งเนวสัญญานา- *สัญญายตนะข้อนั้น และรู้อุบายเป็นเครื่องออกไปจากเนวสัญญานาสัญญายตนะ ข้อนั้น เขายังจะควรเพื่อเพลิดเพลินเนวสัญญานาสัญญายตนะข้อนั้นอีกหรือ ฯ ไม่ควร พระเจ้าข้า ฯ ดูกรอานนท์ เพราะภิกษุมาทราบชัดความเกิดและความดับทั้งคุณและโทษ และอุบายเป็นเครื่องออกไปจากวิญญาณฐิติ ๗ และอายตนะ ๒ เหล่านี้ ตามเป็น จริงแล้ว ย่อมเป็นผู้หลุดพ้นได้ เพราะไม่ยึดมั่น อานนท์ ภิกษุนี้เราเรียกว่า ปัญญาวิมุตติ ฯ [๖๖] ดูกรอานนท์ วิโมกข์ ๘ ประการเหล่านี้ ๘ ประการเป็นไฉน คือ ๑. ผู้ได้รูปฌานย่อมเห็นรูป นี้เป็นวิโมกข์ข้อที่ ๑ ๒. ผู้ไม่มีความสำคัญในรูปในภายใน ย่อมเห็นรูปในภายนอก นี้เป็น วิโมกข์ข้อที่ ๒ ๓. ผู้ที่น้อมใจเชื่อว่า กสิณเป็นของงาม นี้เป็นวิโมกข์ข้อที่ ๓ ๔. ผู้บรรลุอากาสานัญจายตนะด้วยมนสิการว่า อากาศหาที่สุดมิได้ เพราะล่วงรูปสัญญา เพราะดับปฏิฆสัญญา เพราะไม่ใส่ใจถึงนานัตตสัญญา โดย ประการทั้งปวง นี้เป็นวิโมกข์ข้อที่ ๔ ๕. ผู้ที่บรรลุวิญญาณัญจายตนะ ด้วยมนสิการว่า วิญญาณหาที่สุดมิได้ เพราะล่วงชั้นอากาสานัญจายตนะ โดยประการทั้งปวง นี้เป็นวิโมกข์ที่ ๕ ๖. ผู้ที่บรรลุอากิญจัญญายตนะ ด้วยมนสิการว่า ไม่มีอะไร เพราะล่วง วิญญาณัญจายตนะ โดยประการทั้งปวง นี้เป็นวิโมกข์ข้อที่ ๖ ๗. ผู้ที่บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนะ เพราะล่วงอากิญจัญญายตนะ โดยประการทั้งปวง นี้เป็นวิโมกข์ข้อที่ ๗ ๘. ผู้ที่บรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธ เพราะล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนะ โดยประการทั้งปวง นี้เป็นวิโมกข์ข้อที่ ๘ ดูกรอานนท์ เหล่านี้แล วิโมกข์ ๘ ประการ ภิกษุเข้าวิโมกข์ ๘ ประการ เหล่านี้ เป็นอนุโลมบ้าง เป็นปฏิโลมบ้าง เข้าทั้งอนุโลมและปฏิโลมบ้าง เข้าบ้าง ออกบ้าง ตามคราวที่ต้องการ ตามสิ่งที่ปรารถนา และตามกำหนดที่ต้องประสงค์ จึงบรรลุเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะสิ้นไป เพราะ ทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบัน อานนท์ ภิกษุนี้ เราเรียกว่า อุภโตภาควิมุตติ อุภโตภาควิมุตติอื่นจากอุภโตภาควิมุตตินี้ที่จะยิ่งหรือประณีตไป กว่าไม่มี พระผู้มีพระภาคตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ท่านพระอานนท์ยินดี ชื่นชม พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้วแล ฯ
จบมหานิทานสูตร ที่ ๒
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐ บรรทัดที่ ๑๖๔๑-๑๘๘๗ หน้าที่ ๖๗-๗๗. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=10&A=1641&Z=1887&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=10&item=60&items=7              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=10&item=60&items=7&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=10&item=60&items=7              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=10&item=60&items=7              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=10&i=60              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐ https://84000.org/tipitaka/read/?index_10 https://84000.org/tipitaka/english/?index_10

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]