ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๑ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๓ ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค
             [๒๓๘] ปธาน ๔ อย่าง
                          ๑. สังวรปธาน        	[เพียรระวัง]
                          ๒. ปหานปธาน       	[เพียรละ]
                          ๓. ภาวนาปธาน      	[เพียรเจริญ]
                          ๔. อนุรักขนาปธาน 	[เพียรรักษา]
             ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ก็สังวรปธาน เป็นไฉน ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย
ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ
เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้
อกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษาจักขุนทรีย์
ชื่อว่าถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์
             ฟังเสียงด้วยโสตแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ เธอย่อมปฏิบัติ
เพื่อสำรวมโสตินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก
คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษาโสตินทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวม
ในโสตินทรีย์ ฯ
             ดมกลิ่นด้วยฆานะแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ เธอย่อมปฏิบัติ
เพื่อสำรวมฆานินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก
คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษาฆานินทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวม
ในฆานินทรีย์ ฯ
             ลิ้มรสด้วยชิวหาแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ เธอย่อมปฏิบัติ
เพื่อสำรวมชิวหินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก
คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษาชิวหินทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมใน
ชิวหินทรีย์ ฯ
             ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ เธอ
ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมกายินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรม-
*อันลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษากายินทรีย์ ชื่อว่าถึง
ความสำรวมในกายินทรีย์ ฯ
             รู้แจ้งธรรมด้วยใจแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ เธอย่อม
ปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้วจะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอัน
ลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษามนินทรีย์ ชื่อว่าถึงความ
สำรวมในมนินทรีย์ ผู้มีอายุทั้งหลาย นี้เรียกว่า สังวรปธาน ฯ
             ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ปหานปธาน เป็นไฉน ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย
ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมไม่รับไว้ซึ่งกามวิตกที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมละเสีย
บรรเทาเสีย ทำให้สิ้นไป ให้ถึงความไม่มี ย่อมไม่รับไว้ซึ่งพยาบาทวิตกที่เกิด
ขึ้นแล้ว ย่อมละเสีย บรรเทาเสีย ทำให้สิ้นไป ให้ถึงความไม่มี ย่อมไม่รับไว้
ซึ่งวิหิงสาวิตกที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมละเสีย บรรเทาเสีย ทำให้สิ้นไป ให้ถึงความ
ไม่มี ย่อมไม่รับไว้ซึ่งธรรมที่เป็นบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้วๆ ย่อมละเสีย
บรรเทาเสีย ทำให้สิ้นไป ให้ถึงความไม่มี ผู้มีอายุทั้งหลาย นี้เรียกว่าปหาน-
*ปธาน ฯ
             ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ภาวนาปธาน เป็นไฉน ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย
ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยความสงัด อาศัย
ความคลายกำหนัด อาศัยความดับ น้อมไปเพื่อความสละลง ย่อมเจริญ
ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ อันอาศัยความสงัด อาศัยความคลายกำหนัด อาศัยความดับ
อันน้อมไปเพื่อความสละลง ย่อมเจริญวิริยสัมโพชฌงค์อันอาศัยความสงัด อาศัย
ความคลายกำหนัด อาศัยความดับ อันน้อมไปเพื่อความสละลง ย่อมเจริญปีติ-
*สัมโพชฌงค์ อันอาศัยความสงัด อาศัยความคลายกำหนัด อาศัยความดับ อัน
น้อมไปเพื่อความสละลง ย่อมเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ อันอาศัยความสงัด อาศัย
ความคลายกำหนัด อาศัยความดับ อันน้อมไปเพื่อความสละลง ย่อมเจริญปีติ-
*สมาธิสัมโพชฌงค์ อันอาศัยความสงัด อาศัยความคลายกำหนัด อาศัยความดับ
อันน้อมไปเพื่อความสละลง ย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันอาศัยความสงัด
อาศัยความคลายกำหนัด อาศัยความดับ อันน้อมไปเพื่อความสละลง ผู้มีอายุ
ทั้งหลาย นี้เรียกว่า ภาวนาปธาน ฯ
             ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ก็อนุรักขนาปธาน เป็นไฉน ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย
ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมตามรักษาสมาธินิมิตอันเจริญที่บังเกิดขึ้นแล้ว คือ
อัฏฐิกสัญญา ปุฬุวกสัญญา วินีลกสัญญา วิจฉิททกสัญญา อุทธุมาตกสัญญา
ผู้มีอายุทั้งหลาย นี้เรียกว่า อนุรักขนาปธาน ฯ

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๑ บรรทัดที่ ๕๑๐๙-๕๑๖๓ หน้าที่ ๒๑๐-๒๑๒. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=11&A=5109&Z=5163&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=11&item=238&items=1              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=11&item=238&items=1&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=11&item=238&items=1              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=11&item=238&items=1              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=11&i=238              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๑ https://84000.org/tipitaka/read/?index_11 https://84000.org/tipitaka/english/?index_11

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]