ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๑ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๓ ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค
หมวด ๕
[๒๗๘] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรมมีประเภทละ ๕ๆ ที่พระผู้มีพระภาค ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตรัสไว้โดยชอบแล้ว มีอยู่แล พวกเราทั้งหมดด้วยกัน พึงสังคายนา ไม่พึงแก่งแย่งกันในธรรมนั้น การที่พรหมจรรย์นี้พึงยั่งยืน ตั้งอยู่นานนั้น พึงเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ชนมาก เพื่อ ความสุขแก่ชนมาก เพื่อความอนุเคราะห์แก่โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ธรรมมีประเภท ๕ เป็นไฉน
ขันธ์ ๕ อย่าง
๑. รูปขันธ์ [กองรูป] ๒. เวทนาขันธ์ [กองเวทนา]

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๒๔.

๓. สัญญาขันธ์ [กองสัญญา] ๔. สังขารขันธ์ [กองสังขาร] ๕. วิญญาณขันธ์ [กองวิญญาณ] ฯ [๒๗๙] อุปาทานขันธ์ ๕ อย่าง ๑. รูปูปาทานขันธ์ (ขันธ์เป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน คือ รูป) ๒. เวทนูปาทานขันธ์ (ขันธ์เป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน คือ เวทนา) ๓. สัญญูปาทานขันธ์ (ขันธ์เป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน คือ สัญญา) ๔. สังขารูปาทานขันธ์ (ขันธ์เป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน คือ สังขาร) ๕. วิญญาณูปาทานขันธ์ (ขันธ์เป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน คือ วิญญาณ) ฯ [๒๘๐] กามคุณ ๕ อย่าง ๑. รูปที่จะพึงรู้แจ้งได้ด้วยจักษุ ซึ่งน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ น่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ฯ ๒. เสียงที่จะพึงรู้แจ้งได้ด้วยหู ซึ่งน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ น่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ฯ ๓. กลิ่นที่จะพึงรู้แจ้งได้ด้วยจมูก ซึ่งน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ น่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ฯ ๔. รสที่จะพึงรู้แจ้งได้ด้วยลิ้น ซึ่งน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ น่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ฯ ๕. โผฏฐัพพะที่จะพึงรู้แจ้งได้ด้วยกาย ซึ่งน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ น่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ฯ [๒๘๑] คติ ๕ อย่าง ๑. นิรยะ [นรก] ๒. ติรัจฉานโยนิ [กำเนิดดิรัจฉาน] ๓. ปิตติวิสัย [ภูมิแห่งเปรต] ๔. มนุสสะ [มนุษย์] ๕. เทวะ [เทวดา] ฯ [๒๘๒] มัจฉริยะ ๕ อย่าง ๑. อาวาสมัจฉริยะ [ตระหนี่ที่อยู่] ๒. กุลมัจฉริยะ [ตระหนี่สกุล] ๓. ลาภมัจฉริยะ [ตระหนี่ลาภ]

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๒๕.

๔. วัณณมัจฉริยะ [ตระหนี่วรรณะ] ๕. ธัมมมัจฉริยะ [ตระหนี่ธรรม] ฯ [๒๘๓] นีวรณ์ ๕ อย่าง ๑. กามฉันทนีวรณ์ [ธรรมที่กั้นจิต คือ ความพอใจในกาม] ๒. พยาปาทนีวรณ์ [ธรรมที่กั้นจิต คือความพยาบาท] ๓. ถีนมิทธนีวรณ์ [ธรรมที่กั้นจิต คือความที่จิตหดหู่และ เคลิบเคลิ้ม] ๔. อุทธัจจกุกกุจจนีวรณ์ [ธรรมที่กั้นจิต คือความฟุ้งซ่านและ รำคาญ] ๕. วิจิกิจฉานีวรณ์ [ธรรมที่กั้นจิต คือความสงสัย] ฯ [๒๘๔] โอรัมภาคิยสังโยชน์ [สังโยชน์เบื้องต่ำ] ๕ อย่าง ๑. สักกายทิฏฐิ [ความเห็นเป็นเหตุถือตัวถือตน] ๒. วิจิกิจฉา [ความสงสัย] ๓. สีลัพตปรามาส [ความเชื่อถือศักดิ์สิทธิ์ด้วยเข้าใจว่ามี ได้ด้วยศีลหรือพรต] ๔. กามฉันทะ ๑- [ความพอใจด้วยอำนาจแห่งกาม] ๕. พยาบาท ๒- [ความคิดแก้แค้นผู้อื่น] [๒๘๕] อุทธัมภาคิยสังโยชน์ [สังโยชน์เบื้องบน] ๕ อย่าง ๑. รูปราคะ [ความติดใจอยู่ในรูปธรรม] ๒. อรูปราคะ [ความติดใจอยู่ในอรูปธรรม] ๓. มานะ [ความสำคัญว่าเป็นนั่นเป็นนี่] ๔. อุทธัจจะ [ความคิดพล่าน] ๕. อวิชชา [ความหลงอันเป็นเหตุไม่รู้จริง] @๑. ในที่อื่นเป็นกามราคะ ความกำหนัดด้วยอำนาจแห่งกาม @๒. ในที่อื่นเป็นปฏิฆะ ความกระทบกระทั่งแห่งจิต

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๒๖.

[๒๘๖] สิกขาบท ๕ อย่าง ๑. ปาณาติปาตา เวรมณี [เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการ ฆ่าสัตว์] ๒. อทินนาทานา เวรมณี [เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการ ลักทรัพย์] ๓. กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี [เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการ ประพฤติผิดในกาม] ๔. มุสาวาทา เวรมณี [เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการ พูดเท็จ] ๕. สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี [เจตนาเป็นเครื่องงดเว้น จากการดื่มน้ำเมา คือสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท] ฯ [๒๘๗] อภัพพฐาน ๕ อย่าง ๑. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุขีณาสพไม่สามารถที่จะแกล้งปลงสัตว์จาก ชีวิต ๒. ภิกษุขีณาสพไม่สามารถที่จะลักทรัพย์ อันเป็นส่วนแห่งความเป็น ขโมย ๓. ภิกษุขีณาสพไม่สามารถที่จะเสพเมถุนธรรม ๔. ภิกษุขีณาสพไม่สามารถที่จะพูดเท็จทั้งรู้อยู่ ๕. ภิกษุขีณาสพไม่สามารถที่จะกระทำการสั่งสมบริโภคกามเหมือนเมื่อ ครั้งยังเป็นคฤหัสถ์อยู่ ฯ [๒๘๘] พยสนะ ๕ อย่าง ๑. ญาติพยสนะ [ความฉิบหายแห่งญาติ] ๒. โภคพยสนะ [ความฉิบหายแห่งโภคะ] ๓. โรคพยสนะ [ความฉิบหายเพราะโรค]

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๒๗.

๔. สีลพยสนะ [ความฉิบหายแห่งศีล] ๕. ทิฏฐิพยสนะ [ความฉิบหายแห่งทิฐิ] ฯ ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย เพราะเหตุที่ญาติฉิบหายก็ดี เพราะเหตุที่โภคะฉิบหาย ก็ดี เพราะเหตุที่ฉิบหายเพราะโรคก็ดี สัตว์ทั้งหลายย่อมจะไม่ต้องเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ฯ ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย เพราะเหตุที่ศีลพินาศ หรือเพราะเหตุที่ทิฐิพินาศ สัตว์ทั้งหลายย่อมจะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เบื้องหน้าแต่ตายเพราะ กายแตก ฯ [๒๘๙] สัมปทา ๕ อย่าง ๑. ญาติสัมปทา [ความถึงพร้อมด้วยญาติ] ๒. โภคสัมปทา [ความถึงพร้อมด้วยโภคะ] ๓. อาโรคยสัมปทา [ความถึงพร้อมด้วยความไม่มีโรค] ๔. สีลสัมปทา [ความถึงพร้อมด้วยศีล] ๕. ทิฏฐิสัมปทา [ความถึงพร้อมด้วยทิฐิ] ฯ ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย เพราะเหตุแห่งญาติสัมปทาก็ดี เพราะเหตุแห่งโภค สัมปทาก็ดี เพราะเหตุแห่งอาโรคยสัมปทาก็ดี สัตว์ทั้งหลาย ย่อมจะไม่เข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ฯ ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย เพราะเหตุแห่งสีลสัมปทา หรือเพราะเหตุแห่งทิฐิ- *สัมปทา สัตว์ทั้งหลาย ย่อมจะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์เบื้องหน้าแต่ตายเพราะ กายแตก ฯ [๒๙๐] โทษแห่งศีลวิบัติของคนทุศีล ๕ อย่าง ๑. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย คนทุศีลมีศีลวิบัติในโลกนี้ ย่อมเข้าถึงความ เสื่อมแห่งโภคะใหญ่ ซึ่งมีความประมาทเป็นเหตุ นี้โทษแห่งศีลวิบัติของคนทุศีล ข้อที่หนึ่ง ฯ

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๒๘.

๒. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก กิตติศัพท์อันเสียหายของคน ทุศีลมีศีลวิบัติ ย่อมระบือไป นี้โทษแห่งศีลวิบัติของคนทุศีลข้อที่สอง ฯ ๓. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก คนทุศีลมีศีลวิบัติเข้าไปหา บริษัทใดๆ คือ ขัตติยบริษัท พราหมณบริษัท คฤหบดีบริษัท หรือสมณบริษัท เป็นผู้ไม่แกล้วกล้า เป็นคนเก้อเขินเข้าไปหา นี้โทษแห่งศีลวิบัติของคนทุศีล ข้อที่สาม ฯ ๔. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก คนทุศีลมีศีลวิบัติ ย่อมเป็นคน หลงทำกาละ นี้โทษแห่งศีลวิบัติของคนทุศีลข้อที่สี่ ฯ ๕. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก คนทุศีลมีศีลวิบัติ ย่อมเข้าถึง อบาย ทุคติ วินิบาต นรก เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก นี้โทษแห่งศีลวิบัติ ของคนทุศีลข้อที่ห้า ฯ [๒๙๑] อานิสงส์แห่งศีลสมบัติของคนมีศีล ๕ อย่าง ๑. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย คนมีศีลถึงพร้อมแล้วด้วยศีลในโลกนี้ย่อม ประสบกองแห่งโภคะใหญ่ ซึ่งมีความไม่ประมาทเป็นเหตุ นี้อานิสงส์แห่งศีล สมบัติของคนมีศีลข้อที่หนึ่ง ฯ ๒. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก กิตติศัพท์ที่ดีงามของคนมีศีล ถึงพร้อมแล้วด้วยศีล ย่อมระบือไป นี้อานิสงส์ของศีลสมบัติของคนมีศีลข้อที่สอง ฯ ๓. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก คนมีศีลถึงพร้อมแล้วด้วยศีล เข้าไปหาบริษัทใดๆ คือ ขัตติยบริษัท พราหมณบริษัท คฤหบดีบริษัท หรือ สมณบริษัท เป็นผู้แกล้วกล้าไม่เก้อเขินเข้าไปหา นี้อานิสงส์แห่งศีลสมบัติของคน มีศีลข้อที่สาม ฯ ๔. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก คนมีศีลถึงพร้อมแล้วด้วยศีล ย่อมเป็นผู้ไม่หลงทำกาละ นี้อานิสงส์ของศีลสมบัติของคนมีศีลข้อที่สี่ ฯ ๕. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก คนมีศีลถึงพร้อมแล้วด้วยศีล

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๒๙.

ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก นี้อานิสงส์แห่งศีล สมบัติของคนมีศีลข้อที่ห้า ฯ [๒๙๒] ธรรมสำหรับโจทน์ ๕ อย่าง ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย อันภิกษุผู้เป็นโจทก์ที่ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงตั้ง ธรรม ๕ ประการไว้ ณ ภายในแล้วจึงโจทผู้อื่น คือ เราจักกล่าวโดยกาลอันควร จักไม่กล่าวโดยกาลอันไม่ควร เราจักกล่าวด้วยคำจริง จักไม่กล่าวด้วยคำไม่จริง เราจักกล่าวด้วยคำอ่อนหวาน จักไม่กล่าวด้วยคำหยาบ เราจักกล่าวด้วยคำที่ประกอบ ด้วยประโยชน์ จักไม่กล่าวด้วยคำที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ เราจักกล่าวด้วย เมตตาจิต จักไม่กล่าวด้วยมีโทสะในภายใน ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย อันภิกษุผู้เป็น โจทก์ที่ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงตั้งธรรม ๕ ประการนี้ไว้ ณ ภายในแล้วจึงโจท ผู้อื่น ฯ [๒๙๓] องค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียร ๕ อย่าง ๑. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธา เชื่อพระ- *ปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตว่า แม้เพราะนี้ๆ พระผู้มีพระภาคนั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ชอบเอง ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็น สารถีฝึกบุรุษไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม ฯ ๒. ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีอาพาธน้อย มีทุกข์น้อย ประกอบด้วย เตโชธาตุอันมีวิบากเสมอกัน ไม่เย็นนัก ไม่ร้อนนัก เป็นอย่างกลางๆ ควรแก่ ความเพียร ฯ ๓. ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา เปิดเผยตน ตามเป็นจริงในพระศาสดา หรือสพรหมจารีที่เป็นวิญญูชนทั้งหลาย ฯ ๔. ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อจะละอกุศลธรรม เพื่อจะยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อม เป็นผู้มีกำลังใจ มีความบากบั่นมั่น ไม่ทอดธุระ ในบรรดาธรรมที่เป็นกุศล ฯ

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๓๐.

๕. ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาที่เห็น เกิดและดับ เป็นปัญญาอย่างประเสริฐ เป็นไปเพื่อชำแรกกิเลส จะให้ถึงความ สิ้นทุกข์โดยชอบ ฯ [๒๙๔] สุทธาวาส ๕ ๑. อวิหา ๒. อตัปปา ๓. สุทัสสา ๔. สุทัสสี ๕. อกนิฏฐา ฯ [๒๙๕] พระอนาคามี ๕ ๑. อันตราปรินิพพายี [พระอนาคามีผู้ที่จะปรินิพพานในระหว่าง อายุยังไม่ทันถึงกึ่ง] ๒. อุปหัจจปรินิพพายี [พระอนาคามีผู้ที่จะปรินิพพานต่อเมื่ออายุ พ้นกึ่งแล้ว จวนถึงที่สุด] ๓. อสังขารปรินิพพายี [พระอนาคามีผู้ที่จะปรินิพพานด้วย ไม่ต้อง ใช้ความเพียรนัก] ๔. สสังขารปรินิพพายี [พระอนาคามีผู้ที่จะปรินิพพานด้วย ต้องใช้ ความเพียร] ๕. อุทธโสโต อกนิฏฐคามี [พระอนาคามีผู้มีกระแสในเบื้องบนไปสู่ ชั้นอกนิฏฐภพ] ฯ [๒๙๖] ความกระด้างแห่งจิต ๕ อย่าง ๑. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมเคลือบแคลงสงสัย ไม่เชื่อแน่ ไม่เลื่อมใสในพระศาสดา ผู้มีอายุทั้งหลาย จิตของภิกษุผู้เคลือบแคลง สงสัย ไม่เชื่อแน่ ไม่เลื่อมใสในพระศาสดา ย่อมไม่น้อมไปเพื่อความเพียร

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๓๑.

เพื่อความประกอบเนืองๆ เพื่อความกระทำเป็นไปติดต่อ เพื่อความเพียรที่ตั้งมั่น นี้ความกระด้างแห่งจิตข้อที่หนึ่ง ฯ ๒. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก ภิกษุย่อมเคลือบแคลงสงสัย ไม่เชื่อแน่ ไม่เลื่อมใสในพระธรรม ผู้มีอายุทั้งหลาย จิตของภิกษุผู้เคลือบแคลง สงสัย ไม่เชื่อแน่ ไม่เลื่อมใสในพระธรรม ย่อมไม่น้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อ ความประกอบเนืองๆ เพื่อความกระทำเป็นไปติดต่อ เพื่อความเพียรที่ตั้งมั่น นี้ ความกระด้างแห่งจิตข้อที่สอง ฯ ๓. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก ภิกษุย่อมเคลือบแคลงสงสัย ไม่เชื่อแน่ ไม่เลื่อมใสในพระสงฆ์ ผู้มีอายุทั้งหลาย จิตของภิกษุผู้เคลือบแคลง สงสัย ไม่เชื่อแน่ ไม่เลื่อมใสในพระสงฆ์ย่อมไม่น้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อความ ประกอบเนืองๆ เพื่อความกระทำเป็นไปติดต่อ เพื่อความเพียรที่ตั้งมั่น นี้ความ กระด้างแห่งจิตข้อที่สาม ฯ ๔. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก ภิกษุย่อมเคลือบแคลงสงสัย ไม่เชื่อแน่ ไม่เลื่อมใสในสิกขา ผู้มีอายุทั้งหลาย จิตของภิกษุผู้เคลือบแคลง สงสัย ไม่เชื่อแน่ ไม่เลื่อมใสในสิกขา ย่อมไม่น้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อ ความประกอบเนืองๆ เพื่อความกระทำเป็นไปติดต่อ เพื่อความเพียรที่ตั้งมั่น นี้ ความกระด้างแห่งจิตข้อที่สี่ ฯ ๕. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก ภิกษุเป็นผู้โกรธขัดเคือง มีจิต อันโทสะกระทบแล้ว มีจิตเป็นเสมือนตะปูในสพรหมจารีทั้งหลาย ผู้มีอายุ ทั้งหลาย จิตของภิกษุผู้โกรธขัดเคือง มีจิตอันโทสะกระทบแล้ว มีจิตเสมือน ตะปู ย่อมไม่น้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อความประกอบเนืองๆ เพื่อความกระทำ เป็นไปติดต่อ เพื่อความเพียรที่ตั้งมั่น นี้ความกระด้างแห่งจิตข้อที่ห้า ฯ [๒๙๗] ความผูกพันธ์แห่งจิต ๕ อย่าง ๑. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ยังไม่ปราศจาก ความกำหนัด ความพอใจ ความรัก ความระหาย ความกระวนกระวาย ความ

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๓๒.

ทะยานอยากในกามทั้งหลาย ผู้มีอายุทั้งหลาย จิตของภิกษุผู้ยังไม่ปราศจากความ กำหนัด ความพอใจ ความรัก ความระหาย ความกระวนกระวาย ความทะยาน อยากในกามทั้งหลาย ย่อมไม่น้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อความประกอบเนืองๆ เพื่อความกระทำเป็นไปติดต่อ เพื่อความเพียรที่ตั้งมั่น นี้ความผูกพันธ์แห่งจิต ข้อที่หนึ่ง ฯ ๒. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก ภิกษุเป็นผู้ยังไม่ปราศจากความ กำหนัด ความพอใจ ความรัก ความระหาย ความกระวนกระวาย ความทะยาน อยากในกาย ผู้มีอายุทั้งหลาย จิตของภิกษุผู้ยังไม่ปราศจากความกำหนัด ความ พอใจ ความรัก ความระหาย ความกระวนกระวาย ความทะยานอยากในกาย ย่อมไม่น้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อความประกอบเนืองๆ เพื่อความกระทำเป็นไป ติดต่อ เพื่อความเพียรที่ตั้งมั่น นี้ความผูกพันธ์แห่งจิตข้อที่สอง ฯ ๓. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก ภิกษุเป็นผู้ยังไม่ปราศจากความ กำหนัด ความพอใจ ความรัก ความระหาย ความกระวนกระวาย ความทะยาน อยากในรูป ผู้มีอายุทั้งหลาย จิตของภิกษุผู้ยังไม่ปราศจากความกำหนัด ความ พอใจ ความรัก ความระหาย ความกระวนกระวาย ความทะยานอยากในรูป ย่อมไม่น้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อความประกอบเนืองๆ เพื่อความกระทำเป็นไป ติดต่อ เพื่อความเพียรที่ตั้งมั่น นี้ความผูกพันธ์แห่งจิตข้อที่สาม ฯ ๔. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก ภิกษุบริโภคอิ่มหนำพอแก่ความ ต้องการแล้ว ประกอบความสุขในการนอน ความสุขในการเอนข้าง ความสุขใน การหลับอยู่ ภิกษุทั้งหลาย จิตของภิกษุผู้บริโภคอิ่มหนำพอแก่ความต้องการแล้ว ประกอบความสุขในการนอน ความสุขในการเอนข้าง ความสุขในการหลับอยู่ ย่อมไม่น้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อความประกอบเนืองๆ เพื่อความกระทำเป็น ไปติดต่อ เพื่อความเพียรที่ตั้งมั่น นี้ความผูกพันธ์แห่งจิตข้อที่สี่ ฯ ๕. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์ปรารถนา

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๓๓.

หมู่เทพเจ้าหมู่ใดหมู่หนึ่งว่า ด้วยศีล พรต ตบะ หรือพรหมจรรย์นี้ เราจักเป็น เทพเจ้า หรือเป็นเทพองค์ใดองค์หนึ่ง ดังนี้ ผู้มีอายุทั้งหลาย จิตของภิกษุผู้ ประพฤติพรหมจรรย์ปรารถนาหมู่เทพเจ้าหมู่ใดหมู่หนึ่งว่า ด้วยศีล พรต ตบะ หรือพรหมจรรย์นี้ เราจักเป็นเทพเจ้าหรือเป็นเทพองค์ใดองค์หนึ่ง ดังนี้ ย่อมไม่ น้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อความประกอบเนืองๆ เพื่อความกระทำเป็นไปติดต่อ เพื่อความเพียรที่ตั้งมั่น นี้ความผูกพันธ์แห่งจิตข้อที่ห้า ฯ [๒๙๘] อินทรีย์ ๕ อย่าง ๑. จักขุนทรีย์ [อินทรีย์คือตา] ๒. โสตินทรีย์ [อินทรีย์คือหู] ๓. ฆานินทรีย์ [อินทรีย์คือจมูก] ๔. ชิวหินทรีย์ [อินทรีย์คือลิ้น] ๕. กายินทรีย์ [อินทรีย์คือกาย] [๒๙๙] อินทรีย์อีก ๕ อย่าง ๑. สุขินทรีย์ [อินทรีย์คือสุข] ๒. ทุกขินทรีย์ [อินทรีย์คือทุกข์] ๓. โสมนัสสินทรีย์ [อินทรีย์คือโสมนัส] ๔. โทมนัสสินทรีย์ [อินทรีย์คือโทมนัส] ๕. อุเปกขินทรีย์ [อินทรีย์คืออุเบกขา] [๓๐๐] อินทรีย์อีก ๕ อย่าง ๑. สัทธินทรีย์ [อินทรีย์คือศรัทธา] ๒. วิริยินทรีย์ [อินทรีย์คือวิริยะ] ๓. สตินทรีย์ [อินทรีย์คือสติ] ๔. สมาธินทรีย์ [อินทรีย์คือสมาธิ] ๕. ปัญญินทรีย์ [อินทรีย์คือปัญญา]

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๓๔.

[๓๐๑] นิสสารณียธาตุ ๕ อย่าง ๑. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่อภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ มนสิการถึงกาม ทั้งหลายอยู่ จิตย่อมไม่แล่นไป ไม่เลื่อมใส ไม่ตั้งอยู่ ไม่พ้นวิเศษ ในเพราะ กามทั้งหลาย แต่ว่าเมื่อเธอมนสิการถึงเนกขัมมะอยู่แล จิตย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งอยู่ พ้นวิเศษ ในเพราะเนกขัมมะ จิตของเธอนั้นไปดีแล้ว อบรมดีแล้ว ออกดีแล้ว พ้นวิเศษดีแล้ว พรากแล้วจากกามทั้งหลาย และเธอพ้นแล้วจาก อาสวะอันเป็นเหตุเดือดร้อนกระวนกระวาย ซึ่งมีกามเป็นปัจจัยเกิดขึ้น เธอย่อม ไม่เสวยเวทนานั้น ข้อนี้กล่าวได้ว่าเป็นเครื่องสลัดออกซึ่งกามทั้งหลาย ฯ ๒. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก เมื่อภิกษุมนสิการถึงความ พยาบาทอยู่ จิตย่อมไม่แล่นไป ไม่เลื่อมใส ไม่ตั้งอยู่ ไม่พ้นวิเศษในเพราะ ความพยาบาท แต่ว่าเมื่อเธอมนสิการถึงความไม่พยาบาทอยู่แล จิตย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งอยู่ พ้นวิเศษในเพราะความไม่พยาบาท จิตของเธอนั้นไปดีแล้ว อบรมดีแล้ว ออกดีแล้ว พ้นวิเศษดีแล้ว พรากแล้วจากความพยาบาท และเธอ พ้นแล้วจากอาสวะอันเป็นเหตุเดือดร้อนกระวนกระวาย ซึ่งมีความพยาบาทเป็น ปัจจัยเกิดขึ้น เธอย่อมไม่เสวยเวทนานั้น ข้อนี้กล่าวได้ว่าเป็นเครื่องสลัดออกซึ่ง ความพยาบาท ฯ ๓. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก เมื่อภิกษุมนสิการถึงความ เบียดเบียนอยู่ จิตย่อมไม่แล่นไป ไม่เลื่อมใส ไม่ตั้งอยู่ ไม่พ้นวิเศษ ใน เพราะความเบียดเบียน แต่ว่าเมื่อเธอมนสิการถึงความไม่เบียดเบียนอยู่แล จิต ย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งอยู่ พ้นวิเศษในเพราะความไม่เบียดเบียน จิตของ เธอนั้นไปดีแล้ว อบรมดีแล้ว ออกดีแล้ว พ้นวิเศษดีแล้ว พรากแล้วจากความ เบียดเบียน และเธอพ้นแล้วจากอาสวะอันเป็นเหตุเดือดร้อนกระวนกระวาย ซึ่ง มีความเบียดเบียนเป็นปัจจัยเกิดขึ้น และเธอย่อมไม่เสวยเวทนานั้น ข้อนี้กล่าว ได้ว่าเป็นเครื่องสลัดออกซึ่งความเบียดเบียน ฯ

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๓๕.

๔. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก เมื่อภิกษุมนสิการถึงรูปทั้งหลาย อยู่ จิตย่อมไม่แล่นไป ไม่เลื่อมใส ไม่ตั้งอยู่ ไม่พ้นวิเศษในเพราะรูปทั้งหลาย แต่ว่าเมื่อเธอมนสิการถึงอรูปอยู่แล จิตย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งอยู่ พ้นวิเศษ ในเพราะอรูป จิตของเธอนั้นไปดีแล้ว อบรมดีแล้ว ออกดีแล้ว พ้นวิเศษดีแล้ว พรากแล้วจากรูปทั้งหลาย และเธอพ้นแล้วจากอาสวะอันเป็นเหตุเดือดร้อนกระวน กระวาย ซึ่งมีรูปเป็นปัจจัยเกิดขึ้น เธอย่อมไม่เสวยเวทนานั้น ข้อนี้กล่าวได้ว่า เป็นเครื่องสลัดออกซึ่งรูปทั้งหลาย ฯ ๕. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก เมื่อภิกษุมนสิการถึงกายของ ตนอยู่ จิตย่อมไม่แล่นไป ไม่เลื่อมใส ไม่ตั้งใจอยู่ ไม่พ้นวิเศษ ในเพราะกาย ของตน แต่ว่าเมื่อเธอมนสิการถึงความดับแห่งกายของตนอยู่แล จิตย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งอยู่ พ้นวิเศษ ในเพราะความดับแห่งกายของตน จิตของเธอนั้น ไปดีแล้ว อบรมดีแล้ว ออกดีแล้ว พ้นวิเศษดีแล้ว พรากแล้วจากกายของตน และเธอพ้นแล้วจากอาสวะอันเป็นเหตุเดือดร้อนกระวนกระวาย ซึ่งมีกายของตน เป็นปัจจัย เธอย่อมไม่เสวยเวทนานั้น ข้อนี้กล่าวได้ว่าเป็นเครื่องสลัดออกซึ่ง กายของตน ฯ [๓๐๒] วิมุตตายตนะ [แดนแห่งวิมุตติ] ๕ อย่าง ๑. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย พระศาสดาหรือเพื่อนสพรหมจารีองค์ใดองค์ หนึ่ง ซึ่งควรแก่ตำแหน่งครู ย่อมแสดงธรรมแก่ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ผู้มีอายุ ทั้งหลาย ภิกษุนั้นรู้แจ้งอรรถ รู้แจ้งธรรม ในธรรมนั้นโดยประการที่พระศาสดา หรือเพื่อนสพรหมจารีองค์ใดองค์หนึ่ง ซึ่งควรแก่ตำแหน่งครู แสดงแก่เธอ ความปราโมทย์ย่อมเกิดแก่เธอผู้รู้แจ้งอรรถ รู้แจ้งธรรม ความอิ่มใจย่อมเกิดแก่เธอ ผู้ปราโมทย์แล้ว กายของเธอผู้มีใจประกอบด้วยปีติ ย่อมสงบระงับ เธอผู้มีกาย สงบระงับแล้ว ย่อมเสวยความสุข จิตของเธอผู้มีความสุข ย่อมตั้งมั่น นี้แดน วิมุตติข้อที่หนึ่ง ฯ

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๓๖.

๒. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก พระศาสดาหรือเพื่อนสพรหมจารี องค์ใดองค์หนึ่งซึ่งควรแก่ตำแหน่งครู หาได้แสดงธรรมแก่ภิกษุไม่เลย แต่เธอ แสดงธรรมตามที่ได้ฟังได้เรียนไว้แก่คนอื่นๆ โดยพิสดาร ภิกษุนั้นย่อมรู้แจ้งอรรถ รู้แจ้งธรรมในธรรมนั้น โดยอาการที่ตนได้แสดงแก่คนอื่นๆ นั้น ความปราโมทย์ ย่อมเกิดแก่เธอผู้รู้แจ้งอรรถ รู้แจ้งธรรม ความอิ่มใจย่อมเกิดแก่เธอผู้ปราโมทย์แล้ว กายของเธอผู้มีใจประกอบด้วยปีติ ย่อมสงบระงับ เธอผู้มีกายสงบระงับแล้วย่อม เสวยความสุข จิตของเธอผู้มีความสุข ย่อมตั้งมั่น นี้แดนวิมุตติข้อที่สอง ฯ ๓. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก พระศาสดาหรือเพื่อนสพรหมจารี องค์ใดองค์หนึ่งซึ่งควรแก่ตำแหน่งครู หาได้แสดงธรรมแก่ภิกษุไม่เลย แต่เธอ กระทำการสาธยายธรรมตามที่ได้ฟังได้เรียนไว้แล้วโดยพิสดาร ภิกษุนั้นย่อมรู้แจ้ง อรรถรู้แจ้งธรรมในธรรมนั้น โดยอาการที่ตนกระทำการสาธยายนั้น ความปราโมทย์ ย่อมเกิดแก่เธอผู้รู้แจ้งอรรถ รู้แจ้งธรรม ความอิ่มใจย่อมเกิดแก่เธอผู้ปราโมทย์แล้ว กายของเธอผู้มีใจประกอบด้วยปีติ ย่อมสงบระงับ เธอผู้มีกายสงบระงับแล้ว ย่อมเสวยความสุข จิตของเธอผู้มีความสุข ย่อมตั้งมั่น นี้แดนวิมุตติข้อที่สาม ฯ ๔. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก พระศาสดาหรือเพื่อนสพรหมจารี องค์ใดองค์หนึ่งซึ่งควรแก่ตำแหน่งครู หาได้แสดงธรรมแก่ภิกษุไม่เลย แต่ว่าเธอ ตรึกตรองตามซึ่งธรรมตามที่ได้ฟังได้เรียนไว้ด้วยจิต เพ่งตามด้วยใจ ภิกษุนั้นย่อม รู้แจ้งอรรถ รู้แจ้งธรรมในธรรมนั้น โดยอาการที่ตนตรึกตรองตามด้วยจิต เพ่งตาม ด้วยใจนั้น ความปราโมทย์ย่อมเกิดแก่เธอผู้รู้แจ้งอรรถ รู้แจ้งธรรม ความอิ่มใจย่อม เกิดแก่เธอผู้ปราโมทย์แล้ว กายของเธอผู้มีใจประกอบด้วยปีติย่อมสงบระงับ เธอผู้มีกายสงบระงับแล้ว ย่อมเสวยความสุข จิตของเธอผู้มีความสุข ย่อมตั้งมั่น นี้แดนวิมุตติข้อที่สี่ ฯ ๕. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก พระศาสดาหรือเพื่อนสพรหมจารี องค์ใดองค์หนึ่งซึ่งควรแก่ตำแหน่งครู หาได้แสดงธรรมแก่ภิกษุไม่เลย แต่ว่าเธอ เรียนสมาธินิมิตอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยดี ทำไว้ในใจด้วยดี ใคร่ครวญด้วยดี แทง

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๓๗.

ตลอดด้วยดีด้วยปัญญา ภิกษุนั้นย่อมรู้แจ้งอรรถ รู้แจ้งธรรมในธรรมนั้น โดยอาการ ที่ได้เรียนสมาธินิมิตอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยดี ทำไว้ในใจด้วยดี ใคร่ครวญด้วยดี แทงตลอดด้วยดีด้วยปัญญาแล้วนั้น ความปราโมทย์ย่อมเกิดแก่เธอผู้รู้แจ้งอรรถ รู้แจ้งธรรม ความอิ่มใจย่อมเกิดแก่เธอผู้ปราโมทย์แล้ว กายของเธอผู้มีใจประกอบ ด้วยปีติย่อมสงบระงับ เธอผู้มีกายสงบระงับแล้วย่อมเสวยความสุข จิตของเธอผู้ มีความสุข ย่อมตั้งมั่น นี้แดนวิมุตติข้อที่ห้า ฯ [๓๐๓] สัญญาอบรมวิมุตติ ๕ อย่าง ๑. อนิจจสัญญา [สัญญาที่เกิดขึ้นในญาณเป็นเครื่องพิจารณาเห็นว่า เป็นของไม่เที่ยง] ๒. อนิจเจ ทุกขสัญญา [สัญญาที่เกิดขึ้นในญาณเป็นเครื่องพิจารณา เห็นว่าเป็นทุกข์ในสิ่งที่ไม่เที่ยง] ๓. ทุกเข อนัตตสัญญา [สัญญาที่เกิดขึ้นในญาณเป็นเครื่องพิจารณา เห็นว่าไม่ใช่ตนในสิ่งที่เป็นทุกข์] ๔. ปหานสัญญา [สัญญาที่เกิดขึ้นในญาณเป็นเครื่องพิจารณาเห็นว่า ควรละเสีย] ๕. วิราคสัญญา [สัญญาที่เกิดขึ้นในญาณเป็นเครื่องพิจารณาเห็นความ คลายเสียซึ่งความกำหนัด] ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรมมีประเภทละ ๕ๆ เหล่านี้แล อันพระผู้มี- *พระภาคผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตรัสไว้โดย ชอบแล้ว พวกเราทั้งหมดด้วยกันพึงสังคายนา ไม่พึงแก่งแย่งกันในธรรมนั้น การที่พรหมจรรย์นี้จะพึงยั่งยืนตั้งอยู่นานนั้น พึงเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ชนมาก เพื่อความสุขแก่ชนมาก เพื่อความอนุเคราะห์แก่โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ฯ
จบ หมวด ๕
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๑ บรรทัดที่ ๕๔๓๓-๕๗๙๐ หน้าที่ ๒๒๓-๒๓๗. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=11&A=5433&Z=5790&pagebreak=1 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=11&item=278&items=26&pagebreak=1              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=11&item=278&items=26&pagebreak=1&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=11&item=278&items=26&pagebreak=1              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=11&item=278&items=26&pagebreak=1              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=11&i=278              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๑ https://84000.org/tipitaka/read/?index_11 https://84000.org/tipitaka/english/?index_11

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]