ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๑ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๓ ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค
             [๔๒๑] ธรรม ๖ อย่างมีอุปการะมาก ธรรม ๖ อย่างควรให้เจริญ ธรรม
๖ อย่างควรกำหนดรู้ ธรรม ๖ อย่างควรละ ธรรม ๖ อย่างเป็นไปในส่วนข้างเสื่อม
ธรรม ๖ อย่างเป็นไปในส่วนข้างวิเศษ ธรรม ๖ อย่างแทงตลอดได้ยาก ธรรม ๖
อย่างควรให้บังเกิดขึ้น ธรรม ๖ อย่างควรรู้ยิ่ง ธรรม ๖ อย่างควรทำให้แจ้ง ฯ
             [๔๒๒] ธรรม ๖ อย่างที่มีอุปการะมากเป็นไฉน ได้แก่สาราณียธรรม
๖ คือ ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้เข้าไปตั้งกายกรรม ประกอบ
ด้วยเมตตาในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง แม้นี้ก็เป็น
สาราณียธรรม กระทำให้เป็นที่รัก ให้เป็นที่เคารพ เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน
เพื่อความไม่วิวาทกัน เพื่อความพร้อมเพรียงกัน เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียว
กัน ฯ
             อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเข้าไปตั้งวจีกรรม ประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนพรหม-
*จรรย์ทั้งหลายทั้งต่อหน้าและลับหลัง แม้นี้ก็เป็นสาราณียธรรม ... ฯ
             อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเข้าไปตั้งมโนกรรม ประกอบด้วยเมตตาในเพื่อน
พรหมจรรย์ทั้งหลายทั้งต่อหน้าและลับหลัง แม้นี้ก็เป็นสาราณียธรรม ... ฯ
             อีกข้อหนึ่ง ภิกษุย่อมแบ่งปันลาภอันประกอบด้วยธรรม ได้มาโดยธรรม
โดยที่สุดแม้มาตรว่าอาหารอันนับเนื่องในบาตร คือเฉลี่ยกันบริโภคกับเพื่อนพรหม-
*จรรย์ ผู้มีศีลทั้งหลาย แม้นี้ก็เป็นสาราณียธรรม ... ฯ
             อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มีศีลเสมอกันกับเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายทั้งต่อ
หน้าและลับหลัง ในศีลอันไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไทย อัน
วิญญูชนสรรเสริญแล้ว อันตัณหาและทิฐิ ไม่แตะต้องแล้ว เป็นไปเพื่อสมาธิ
แม้นี้ก็เป็นสาราณียธรรม ... ฯ
             อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มีทิฐิเสมอกันกับเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายทั้งต่อ
หน้าและลับหลัง ในทิฐิอันประเสริฐ นำออกจากทุกข์ นำผู้ปฏิบัติตามเพื่อความ
สิ้นทุกข์ โดยชอบ แม้นี้ก็เป็นสาราณียธรรม กระทำให้เป็นที่รัก ให้เป็นที่เคารพ
เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน เพื่อความไม่วิวาทกัน เพื่อความพร้อมเพรียงกัน
เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ธรรม ๖ อย่างเหล่านี้มีอุปการะมาก ฯ
             [๔๒๓] ธรรม ๖ อย่างที่ควรให้เจริญเป็นไฉน คืออนุสติฐานะ ๖ ได้
แก่ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า ๑ ระลึกถึงคุณพระธรรม ๑ ระลึกถึงคุณพระสงฆ์ ๑
ระลึกถึงศีล ๑ ระลึกถึงทานที่ตนบริจาค ๑ ระลึกถึงคุณที่ทำบุคคลให้เป็นเทวดา ๑
ธรรม ๖ อย่างเหล่านี้ควรให้เจริญ ฯ
             [๔๒๔] ธรรม ๖ อย่างที่ควรกำหนดรู้เป็นไฉน คืออายตนะ ภายใน ๖
ได้แก่อายตนะคือตา ๑ อายตนะคือหู ๑ อายตนะคือจมูก ๑ อายตนะคือลิ้น ๑
อายตนะคือกาย ๑ อายตนะคือใจ ๑ ธรรม ๖ อย่างเหล่านี้ควรกำหนดรู้ ฯ
             [๔๒๕] ธรรม ๖ อย่างที่ควรละเป็นไฉน คือตัณหา ๖ หมู่ได้แก่ตัณหา
ในรูป ๑ ตัณหาในเสียง ๑ ตัณหาในกลิ่น ๑ ตัณหาในรส ๑ ตัณหาใน
โผฏฐัพพะ ๑ ตัณหาในธรรม ๑ ธรรม ๖ อย่างเหล่านี้ควรละ ฯ
             [๔๒๖] ธรรม ๖ อย่างที่เป็นไปในส่วนข้างเสื่อมเป็นไฉน คือความไม่
เคารพ ๖ ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ไม่มีความเคารพ ไม่เชื่อ
ฟังในพระศาสดา ๑ ในพระธรรม ๑ ในพระสงฆ์ ๑ ในความศึกษา ๑ ใน
ความไม่ประมาท ๑ ในปฏิสันถาร ๑ ธรรม ๖ อย่างเหล่านี้เป็นไปในส่วนข้าง
เสื่อม ฯ
             [๔๒๗] ธรรม ๖ อย่างที่เป็นไปในส่วนข้างวิเศษเป็นไฉน คือความ
เคารพ ๖ ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ มีความเคารพเชื่อฟังใน
พระศาสดา ๑ ในพระธรรม ๑ ในพระสงฆ์ ๑ ในความศึกษา ๑ ในความไม่
ประมาท ๑ ในความปฏิสันถาร ๑ ธรรม ๖ อย่างเหล่านี้เป็นไปในส่วนข้างวิเศษ ฯ
             [๔๒๘] ธรรม ๖ อย่างที่แทงตลอดได้ยากเป็นไฉน คือธาตุเป็นที่ตั้งแห่ง
ความสลัดออก คือ
             ๑. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ก็
เมตตาเจโตวิมุตติเราให้เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว กระทำให้เป็นดังยาน กระทำ
ให้เป็นดุจที่ตั้ง คล่องแคล่วแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว และเมื่อเป็นเช่นนั้น
พยาบาทยังครอบงำจิตของเราตั้งอยู่ ภิกษุนั้นพึงถูกว่ากล่าวอย่างนี้ว่า ท่านอย่าได้
พูดอย่างนี้ ท่านผู้มีอายุอย่าได้กล่าวอย่างนี้ อย่าได้กล่าวตู่พระผู้มีพระภาค การ
กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคไม่ดีเลย พระผู้มีพระภาคไม่พึงตรัสอย่างนี้ ข้อนี้มิใช่ฐานะ
มิใช่โอกาส คำที่ว่า เมื่อเมตตาเจโตวิมุตติ ภิกษุให้เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว
กระทำให้เป็นดังยาน กระทำให้เป็นดุจที่ตั้ง คล่องแคล่วแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภ
ดีแล้ว และเมื่อเป็นเช่นนั้น พยาบาทจักครอบงำจิตของภิกษุนั้นตั้งอยู่ ดังนี้นั้น
มิใช่ฐานะที่จะมีได้ ผู้มีอายุทั้งหลาย เพราะว่าเมตตาเจโตวิมุตตินี้ เป็นที่สลัดออก
จากพยาบาท ฯ
             ๒. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ก็
กรุณาเจโตวิมุตติอันเราให้เจริญแล้ว ... ปรารภดีแล้วและเมื่อเป็นเช่นนั้น วิหิงสา
ยังครอบงำจิตของเราตั้งอยู่ ภิกษุนั้นพึงถูกกล่าวว่าอย่างนี้ว่า ท่านอย่าได้พูดอย่างนี้
ท่านผู้มีอายุอย่าได้กล่าวอย่างนี้ อย่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาค การกล่าวตู่พระผู้มี
พระภาคไม่ดีเลย พระผู้มีพระภาคไม่พึงตรัสอย่างนี้ ข้อนี้มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส
คำที่ว่า เมื่อกรุณาเจโตวิมุตติภิกษุให้เจริญแล้ว ... ปรารภดีแล้ว และเมื่อเป็นเช่น
นั้น วิหิงสาจักครอบงำจิตของภิกษุนั้นตั้งอยู่ ดังนี้นั้น มิใช่ฐานะที่จะมีได้ ผู้มีอายุ
ทั้งหลาย เพราะว่ากรุณาเจโตวิมุตตินี้ เป็นที่สลัดออกจากวิหิงสา ฯ
             ๓. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ก็
มุทิตาเจโตวิมุตติเราให้เจริญแล้ว ... ปรารภดีแล้ว และเมื่อเป็นเช่นนั้น อรติยัง
ครอบงำจิตของเราตั้งอยู่ ภิกษุนั้นพึงถูกว่ากล่าวอย่างนี้ว่า ท่านอย่าได้พูดอย่างนี้
ท่านผู้มีอายุ อย่าได้กล่าวอย่างนี้ อย่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาค การกล่าวตู่พระผู้มี
พระภาคไม่ดีเลย พระผู้มีพระภาคไม่พึงตรัสอย่างนี้ ข้อนี้มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส
คำที่ว่า เมื่อมุทิตาเจโตวิมุตติภิกษุให้เจริญแล้ว ... ปรารภดีแล้ว และเมื่อเป็น
เช่นนั้น อรติย่อมครอบงำจิตของภิกษุนั้นตั้งอยู่ดังนี้นั้น มิใช่ฐานะที่จะมีได้ ผู้มี-
*อายุทั้งหลาย เพราะว่ามุทิตาเจโตวิมุตตินี้ เป็นที่สลัดออกจากอรติ ฯ
             ๔. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พึงกล่าว กล่าวอย่าง
นี้ว่า ก็อุเบกขาเจโตวิมุตติเราให้เจริญแล้ว ... ปรารภดีแล้ว และเมื่อเป็นเช่นนั้น
ราคะย่อมครอบงำจิตของเราตั้งอยู่ ภิกษุนั้นพึงถูกว่ากล่าวอย่างนี้ว่า ท่านอย่าได้พูด
อย่างนี้ ท่านผู้มีอายุอย่าได้กล่าวอย่างนี้ อย่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาค การกล่าวตู่
พระผู้มีพระภาคไม่ดีเลย พระผู้มีพระภาคไม่พึงตรัสอย่างนี้ ข้อนี้มิใช่ฐานะ มิใช่
โอกาส คำที่ว่า เมื่ออุเบกขาเจโตวิมุตติ ภิกษุให้เจริญแล้ว ... ปรารภดีแล้ว และ
เมื่อเป็นเช่นนั้น ราคะยังครอบงำจิตของภิกษุนั้นตั้งอยู่ ดังนี้นั้น มิใช่ฐานะที่จะมี
ได้ ผู้มีอายุทั้งหลายเพราะว่าอุเบกขาเจโตวิมุตตินี้ เป็นที่สลัดออกจากราคะ ฯ
             ๕. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า
เจโตวิมุตติอันหานิมิตมิได้เราให้เจริญแล้ว ... ปรารภดีแล้ว และเมื่อเป็นเช่นนั้น
วิญญาณของเราย่อมไปตามนิมิต ภิกษุนั้นพึงถูกว่ากล่าวอย่างนี้ว่า ท่านอย่าพูดอย่าง
นี้ ท่านผู้มีอายุ อย่าได้กล่าวอย่างนี้ อย่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาค การกล่าวตู่
พระผู้มีพระภาคไม่ดีเลย พระผู้มีพระภาคไม่พึงตรัสอย่างนี้ ข้อนี้มิใช่ฐานะ มิใช่
โอกาส คำที่ว่า เมื่อเจโตวิมุตติอันหานิมิตมิได้ ภิกษุให้เจริญแล้ว ... ปรารภดี
แล้ว และเมื่อเป็นเช่นนั้น วิญญาณของภิกษุนั้น จักไปตามนิมิต ดังนี้นั้น มิใช่
ฐานะที่จะมีได้ ผู้มีอายุทั้งหลาย เพราะว่าเจโตวิมุตติอันหานิมิตมิได้นี้ เป็นที่สลัด
ออกจากนิมิตทั้งปวง ฯ
             ๖. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า
เมื่อการถือว่าเรามีอยู่ ดังนี้ ของเราหมดไปแล้ว เราก็มิได้พิจารณาเห็นว่าเรานี้มี
อยู่ และเมื่อเป็นเช่นนั้น ลูกศรคือความเคลือบแคลงสงสัยยังครอบงำจิตของเรา
ตั้งอยู่ ภิกษุนั้นพึงถูกว่ากล่าวอย่างนี้ว่า ท่านอย่าพูดอย่างนี้ ท่านผู้มีอายุ อย่าได้
กล่าวอย่างนี้ อย่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาค การกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคไม่ดีเลย พระ
ผู้มีพระภาคไม่พึงตรัสอย่างนี้ ข้อนี้มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส คำที่ว่า เมื่อการยึดถือ
ว่าเรามีอยู่ดังนี้หมดไปแล้ว และเมื่อเขามิได้พิจารณาเห็นว่าเรานี้มีอยู่ และเมื่อ
เป็นเช่นนั้น ลูกศรคือความเคลือบแคลงสงสัย จักครอบงำจิตของภิกษุนั้นตั้งอยู่
ดังนี้นั้น มิใช่ฐานะที่จะมีได้ ผู้มีอายุทั้งหลาย เพราะว่าความถอนขึ้นซึ่งอัสมิมานะนี้
เป็นที่สลัดออกจากลูกศรคือความเคลือบแคลงสงสัย ธรรม ๖ อย่างเหล่านี้แทง
ตลอดได้ยาก ฯ
             [๔๒๙] ธรรม ๖ อย่างที่ควรให้บังเกิดขึ้นเป็นไฉน คือธรรมเป็นเครื่องอยู่
เนืองๆ ๖ อย่าง ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว
ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ เป็นผู้วางเฉย มีสติสัมปชัญญะอยู่ ๑ ฟังเสียงด้วยหูแล้ว ไม่ดีใจ
ไม่เสียใจ เป็นผู้วางเฉย มีสติสัมปชัญญะอยู่ ๑ สูดกลิ่นด้วยจมูกแล้ว ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ
เป็นผู้วางเฉย มีสติสัมปชัญญะอยู่ ๑ ลิ้มรสด้วยลิ้นแล้ว ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ เป็นผู้วางเฉย
มีสติสัมปชัญญะอยู่ ๑ ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ เป็นผู้วางเฉย
มีสติสัมปชัญญะอยู่ ๑ รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ เป็นผู้วางเฉย
มีสติสัมปชัญญะอยู่ ๑ ธรรม ๖ อย่างเหล่านี้ควรให้บังเกิดขึ้น ฯ
             [๔๓๐] ธรรม ๖ อย่างที่ควรรู้ยิ่งเป็นไฉน คืออนุตตริยะ ๖ ได้แก่ทัส-
*สนานุตตริยะ ๑ สวนานุตตริยะ ๑ ลาภานุตตริยะ ๑ สิกขานุตตริยะ ๑ ปริจริยา
นุตตริยะ ๑ อนุสสตานุตตริยะ ๑ ธรรม ๖ อย่างเหล่านี้ควรรู้ยิ่ง ฯ
             [๔๓๑] ธรรม ๖ อย่างที่ควรทำให้แจ้งเป็นไฉน คืออภิญญา ๖ ภิกษุใน
พระธรรมวินัยนี้ ย่อมบรรลุอิทธิวิธีหลายประการ คือคนเดียวเป็นหลายคนก็ได้
หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายก็ได้ ทะลุฝากำแพงภูเขา
ไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นดำลงแม้ในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้
เดินบนน้ำไม่แตกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ เหาะไปในอากาศเหมือนนกก็ได้
ลูบคลำพระจันทร์พระอาทิตย์ ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมากด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจ
ทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้ เธอย่อมได้ยินเสียง ๒ ชนิด คือ เสียงทิพย์และ
เสียงมนุษย์ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ ด้วยทิพยโสตธาตุอันบริสุทธิ์ล่วงโสตของมนุษย์ ๑
เธอย่อมรู้กำหนดใจของสัตว์อื่นของบุคคลอื่นด้วยใจ คือจิตมีราคะ ก็รู้ว่าจิตมีราคะ
หรือจิตปราศจากราคะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ จิตมีโทสะ ก็รู้ว่าจิตมีโทสะ หรือ
จิตปราศจากโทสะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโทสะ จิตมีโมหะ ก็รู้ว่า จิตมีโมหะ
หรือจิตปราศจากโมหะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโมหะ จิตหดหู่ก็รู้ว่าจิตหดหู่ จิตฟุ้งซ่าน
ก็รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน จิตเป็นมหรคต ๑- ก็รู้ว่าจิตเป็นมหรคต หรือจิตไม่เป็นมหรคต
ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นมหรคต จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า หรือจิตไม่มีจิต
อื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า จิตเป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตเป็นสมาธิ หรือจิต
ไม่เป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นสมาธิ จิตหลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตหลุดพ้น หรือจิตไม่
หลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตไม่หลุดพ้น ๑ เธอย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือระลึก
ได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง
@๑. มหรคตจิต ถึงความเป็นจิตใหญ่ ได้แก่จิตประกอบด้วยฌาน
ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง
พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏกัปเป็น
อันมากบ้าง ตลอดสังวัฏกัปวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า ในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนั้น
มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุข เสวยทุกข์อย่าง
นั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น
แม้ในภพนั้น เราก็มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหาร
อย่างนั้น เสวยสุข เสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจาก
ภพนั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพนี้ เธอย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมากพร้อมทั้ง
อาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ ๑ เธอย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลัง
อุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพย-
*จักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์
เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยะเจ้า เป็นมิจฉา-
*ทิฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฐิ เบื้องหน้า แต่ตายเพราะกายแตก เขา
เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ ประกอบด้วยกายสุจริต วจี
สุจริต ไม่ติเตียนพระอริยะเจ้า เป็นสัมมาทิฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมา-
*ทิฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ดังนี้ เธอย่อมเห็น
หมู่สัตว์กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม
ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่
สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้ ๑ เธอทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญา
วิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองใน
ปัจจุบันเทียวเข้าถึงอยู่ ๑ ธรรม ๖ อย่างเหล่านี้ควรทำให้แจ้ง ฯ
             ธรรมทั้ง ๖๐ ดังพรรณนามานี้ เป็นของจริง แท้ แน่นอน ไม่ผิดพลาด
ไม่เป็นอย่างอื่น อันพระตถาคตตรัสรู้แล้วโดยชอบ ฯ

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๑ บรรทัดที่ ๗๒๙๙-๗๔๕๓ หน้าที่ ๓๐๐-๓๐๖. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=11&A=7299&Z=7453&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=11&item=421&items=11              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=11&item=421&items=11&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=11&item=421&items=11              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=11&item=421&items=11              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=11&i=421              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๑ https://84000.org/tipitaka/read/?index_11 https://84000.org/tipitaka/english/?index_11

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]