ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
             [๒๘๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระอริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่าย
ทั้งในรูป ทั้งในเวทนา ทั้งในสัญญา ทั้งในสังขารทั้งหลาย ทั้งในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลาย
กำหนัด เพราะคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว ย่อมรู้ชัดว่า
ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มีอีก.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เรากล่าวว่า ผู้มีลิ่มคืออวิชชาอันยกขึ้นแล้ว ดังนี้บ้าง ว่าผู้มีเครื่อง
แวดล้อม คือกัมมาภิสังขารอันรื้อเสียแล้ว ดังนี้บ้าง ว่าผู้มีเสาระเนียดคือตัณหาอันถอนขึ้นแล้ว
ดังนี้บ้าง ว่าผู้ไม่มีบานประตูคือสังโยชน์ ดังนี้บ้าง ว่าผู้ประเสริฐ มีธงคือมานะอันปลงลงแล้ว
มีภาระอันปลงลงแล้ว ผู้พรากแล้ว ดังนี้บ้าง. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้มีลิ่มคืออวิชชาอันยก
ขึ้นแล้ว อย่างไรเล่า? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ละอวิชชาได้แล้ว ตัดราก
ขาดแล้ว กระทำให้เป็นดุจตาลยอดด้วน ถึงความไม่มีสืบไป มีอันไม่บังเกิดขึ้นต่อไปเป็น
ธรรมดา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้มีลิ่มคืออวิชชาอันยกขึ้นแล้วด้วยอาการอย่างนี้แล. ดูกร
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้มีเครื่องแวดล้อม คือกัมมาภิสังขารอันรื้อเสียแล้วอย่างไรเล่า? ดูกร
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ละสังขารคือชาติ อันให้ซึ่งภพใหม่ได้แล้ว ตัดราก
ขาดแล้ว กระทำให้เป็นดุจตาลยอดด้วน ถึงความไม่มีสืบไป มีอันไม่บังเกิดขึ้นต่อไปเป็น
ธรรมดา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้มีเครื่องแวดล้อมคือกัมมาภิสังขารอันรื้อเสียแล้ว ด้วย
อาการอย่างนี้แล. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีเสาระเนียดคือตัณหาอันถอน
ขึ้นอย่างไรเล่า? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ละตัณหาได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว
กระทำให้เป็นดุจตาลยอดด้วน ถึงความไม่มีสืบไป มีอันไม่บังเกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้มีเสาระเนียดคือตัณหาอันถอนขึ้นแล้ว ด้วยอาการอย่างนี้แล. ดูกร
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้ไม่มีบานประตูคือสังโยชน์อย่างไรเล่า? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรม
วินัยนี้ ละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว กระทำให้เป็นดุจตาลยอดด้วน
ถึงความไม่มีสืบไป มีอันไม่บังเกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้ไม่มีบาน
ประตูคือสังโยชน์ ด้วยอาการอย่างนี้แล. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้ประเสริฐ มีธงคือมานะ
อันปลงลงแล้ว มีภาระอันปลงแล้ว พรากแล้วอย่างไรเล่า? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใน
พระธรรมวินัยนี้ ละอัสมิมานะได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว กระทำให้เป็นดุจตาลยอดด้วน ถึงความ
ไม่มีสืบไป มีอันไม่บังเกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้ประเสริฐ มีธงคือ
มานะอันปลงลงแล้ว มีภาระอันปลงลงแล้ว พรากแล้ว ด้วยอาการอย่างนี้แล.
การวางใจเป็นกลางในลาภสักการะ
[๒๘๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เทวดาทั้งหลาย พร้อมด้วยพระอินทร์ พร้อมด้วยพรหม พร้อมด้วยปชาบดี แสวงหาภิกษุผู้มีจิตอันหลุดพ้นแล้วอย่างนี้แล ย่อมไม่ประสบว่า วิญญาณ ของตถาคตอาศัยแล้วซึ่งที่นี้ ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวตถาคต [บุคคลเช่นนั้น] ว่าใครๆ ไม่จำต้องกล่าวในทิฏฐิธรรม. สมณพราหมณ์พวกหนึ่งกล่าวตู่เราผู้ กล่าวอย่างนี้แล ผู้บอกอย่างนี้ ด้วยมุสาวาทเปล่าๆ อันไม่มีจริง อันไม่เป็นจริงว่า พระสมณโคดม เป็นผู้ให้สัตว์พินาศ ย่อมบัญญัติความขาดสูญ ความพินาศ ความเลิกเกิดแห่ง สัตว์ผู้มีอยู่. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจะกล่าวอย่างใด และไม่กล่าวอย่างใดก็หาไม่ ท่านสมณ- *พราหมณ์เล่านั้น ก็ยังกล่าวตู่เราด้วยมุสาวาทเปล่าๆ อันไม่มีจริง อันไม่เป็นจริงว่า พระสมณโคดม เป็นผู้ให้สัตว์พินาศ ย่อมบัญญัติความขาดสูญ ความพินาศ ความเลิกเกิดแห่งสัตว์ผู้มีอยู่. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมบัญญัติทุกข์ และความดับทุกข์ ทั้งในกาลก่อนและในกาลบัดนี้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าว่าบุคคลเหล่าอื่นย่อมด่า ย่อมบริภาษ ย่อมโกรธ ย่อมเบียดเบียน ย่อมกระทบกระเทียบตถาคต ในการประกาศสัจจะ ๔ ประการนั้น ตถาคตก็ไม่มีความอาฆาต ไม่มี ความโทมนัส ไม่มีจิตยินร้าย. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าว่าชนเหล่าอื่น ย่อมสักการะ ย่อมเคารพ ย่อมนับถือ ย่อมบูชาตถาคต ในการประกาศสัจจะ ๔ ประการนั้น ตถาคตก็ไม่มีความยินดี ไม่มีความโสมนัส ไม่มีใจเย่อหยิ่งในปัจจัยทั้งหลาย มีสักการะเป็นต้นนั้น. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าว่าชนเหล่าอื่น ย่อมสักการะ ย่อมเคารพ ย่อมนับถือ ย่อมบูชาตถาคต ในการประกาศ สัจจะ ๔ ประการนั้น ตถาคตมีความดำริอย่างนี้ ในปัจจัยทั้งหลายมีสักการะเป็นต้นนั้นว่า สักการะเห็นปานนี้ บุคคลกระทำแก่เราในขันธปัญจกที่เรากำหนดรู้แล้วในกาลก่อน. [๒๘๗] เพราะเหตุนั้นแล ภิกษุทั้งหลาย ถ้าแม้ว่า ชนเหล่าอื่นพึงด่า พึงบริภาษ พึงโกรธ พึงเบียดเบียน พึงกระทบกระเทียบท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายไม่พึงกระทำความอาฆาต ไม่พึงกระทำความโทมนัส ไม่พึงกระทำความไม่ชอบใจ ในชนเหล่าอื่นนั้น. เพราะเหตุนั้นแล ภิกษุทั้งหลาย แม้ถ้าว่า ชนเหล่าอื่นพึงสักการะ พึงเคารพ พึงนับถือ พึงบูชาท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลาย ไม่พึงกระทำความยินดี ความโสมนัส ไม่พึงกระทำความเย่อหยิ่งแห่งใจในปัจจัย ทั้งหลายมีสักการะเป็นต้นนั้น. เพราะเหตุนั้นแล ภิกษุทั้งหลาย แม้ถ้าว่า ชนเหล่าอื่น พึงสักการะ พึงเคารพ พึงนับถือ พึงบูชาท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลาย พึงดำริอย่างนี้ ในปัจจัย ทั้งหลายมีสักการะเป็นต้นนั้นว่า สักการะเห็นปานนี้ บุคคลกระทำแก่เราทั้งหลาย ในขันธปัญจก ที่เราทั้งหลายกำหนดรู้แล้วในกาลก่อนๆ เพราะเหตุนั้นแล ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดไม่ใช่ของท่าน ทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงละสิ่งนั้นเสีย สิ่งนั้นท่านทั้งหลายละได้แล้ว จักมีเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข สิ้นกาลนาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งอะไรเล่า ไม่ใช่ของท่านทั้งหลาย รูป ไม่ใช่ของท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงละรูปนั้นเสีย รูปนั้นท่านทั้งหลายละได้แล้ว จักมีเพื่อ ประโยชน์ เพื่อความสุข สิ้นกาลนาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เวทนาไม่ใช่ของท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงละเวทนานั้นเสีย เวทนานั้นท่านทั้งหลายละได้แล้ว จักมีเพื่อประโยชน์ เพื่อ ความสุข สิ้นกาลนาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัญญาไม่ใช่ของท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงละ สัญญานั้นเสีย สัญญานั้นท่านทั้งหลายละได้แล้ว จักมีเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข สิ้นกาลนาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายไม่ใช่ของท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงละสังขารเหล่านั้นเสีย สังขารเหล่านั้นท่านทั้งหลายละได้แล้ว จักมีเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข สิ้นกาลนาน. ดูกร ภิกษุทั้งหลาย วิญญาณไม่ใช่ของท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงละวิญญาณนั้นเสีย วิญญาณนั้น ท่านทั้งหลายละได้แล้ว จักมีเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข สิ้นกาลนาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ชนพึงนำไป พึงเผาหรือ พึงกระทำหญ้า ไม้ กิ่งไม้ และใบไม้ ในพระวิหารเชตวันนี้ ตามความปรารถนา ท่านทั้งหลายพึงดำริอย่างนี้ บ้างหรือ หนอว่า ชนย่อมนำไป ย่อมเผา หรือย่อมกระทำเราทั้งหลาย ตามความปรารถนา? ไม่เป็นได้เลย พระเจ้าข้า. ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุแห่งอะไร? ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะว่านั้นไม่ใช่อัตตา หรือบริขารที่เนื่องด้วยอัตตาของ ข้าพระองค์ทั้งหลาย. อย่างนั้นแล ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดไม่ใช่ของท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลาย จงละสิ่งนั้น เสีย สิ่งนั้นท่านทั้งหลายละได้แล้ว จักมีเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข สิ้นกาลนาน. ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย รูปไม่ใช่ของท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงละรูปนั้นเสีย รูปนั้นท่านทั้งหลายละได้แล้ว จักมีเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข สิ้นกาลนาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เวทนาไม่ใช่ของ ท่านทั้งหลาย ... สัญญาไม่ใช่ของท่านทั้งหลาย ... สังขารทั้งหลายไม่ใช่ของท่านทั้งหลาย ... วิญญาณไม่ใช่ของท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงละวิญญาณนั้นเสีย วิญญาณนั้นท่านทั้งหลาย ละได้แล้ว จักมีเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข สิ้นกาลนาน.
ผลแห่งการละกิเลส
[๒๘๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในธรรมที่เรากล่าวไว้ดีแล้วอย่างนี้ เป็นของตื้น เปิดเผย ปรากฏ แยกขยายแล้ว ภิกษุเหล่าใด เป็นพระอรหันต์ มีอาสวะสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว มีกิจที่จำต้องทำ ทำเสร็จแล้ว มีภาระ ปลงลงแล้ว ลุถึงประโยชน์ของตนแล้ว มีสัญโญชน์ใน ภพหมดสิ้นแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ ภิกษุเหล่านั้นย่อมไม่มีวัฏฏะ เพื่อจะบัญญัติต่อไป. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในธรรมที่เรากล่าวไว้ดีแล้วอย่างนี้ เป็นของตื้น เปิดเผย ปรากฏ แยกขยาย แล้ว ภิกษุเหล่าใดละโอรัมภาคิยสัญโญชน์ทั้ง ๕ ประการ ได้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมดเป็น โอปปาติกะ ปรินิพพานในโลกนั้น มีการไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในธรรมที่เรากล่าวไว้ดีแล้วอย่างนี้ เป็นของตื้น เปิดเผย ปรากฏ แยกขยายแล้ว ภิกษุเหล่าใด ละสัญโญชน์ ๓ ประการได้แล้ว กับมีราคะโทสะและโมหะบางเบา ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมด เป็น พระสกทาคามี มาสู่โลกนี้คราวเดียวเท่านั้น จักกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ใน ธรรมที่เรากล่าวไว้ดีแล้วอย่างนี้ เป็นของตื้น เปิดเผย ปรากฏ แยกขยายแล้ว ภิกษุเหล่าใด ละสัญโญชน์ ๓ ประการได้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมด เป็นพระโสดาบัน ผู้มีอันไม่ตกต่ำเป็น ธรรมดา เป็นผู้เที่ยง มีปัญญาเครื่องตรัสรู้เป็นเบื้องหน้า. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในธรรมที่เรา กล่าวไว้ดีแล้วอย่างนี้ เป็นของตื้นเปิดเผย ปรากฏ แยกขยายแล้ว ภิกษุเหล่าใด ผู้เป็นธัมมานุสารี เป็นสัทธานุสารี ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมด มีปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้ดีเป็นที่ไปในเบื้องหน้า. ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ในธรรมที่เรากล่าวไว้ดีแล้วอย่างนี้ เป็นของตื้น เปิดเผย ปรากฏ แยกขยายแล้ว บุคคลเหล่าใด มีเพียงความเชื่อ เพียงความรักในเรา บุคคลเหล่านั้นทั้งหมด เป็นผู้มีสวรรค์ เป็นที่ไปในเบื้องหน้า. พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น มีใจชื่นชม เพลิดเพลินภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล.
จบ อลคัททูปมสูตรที่ ๒
-----------------------------------------------------
๓. วัมมิกสูตร
ว่าด้วยปริศนาจอมปลวก

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ บรรทัดที่ ๔๗๔๓-๔๘๔๗ หน้าที่ ๑๙๒-๑๙๗. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=12&A=4743&Z=4847&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=12&item=285&items=4&mode=bracket              อ่านโดยใช้เนื้อความเป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=12&item=285&items=4              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=12&item=285&items=4&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=12&item=285&items=4&mode=bracket              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=12&i=285              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ https://84000.org/tipitaka/read/?index_12 https://84000.org/tipitaka/english/?index_12

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]