ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
๘. มหาหัตถิปโทปมสูตร
อุปมาอริยสัจกับรอยเท้าช้าง
[๓๔๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถ บิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี. สมัยนั้นแล ท่านพระสารีบุตร เรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า ดูกรภิกษุทั้งหลายผู้มีอายุ. ภิกษุเหล่านั้นรับคำของท่านพระสารีบุตรแล้ว. พระสารีบุตรได้กล่าวว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย รอยเท้าเหล่าใดเหล่าหนึ่งแห่งสัตว์ ทั้งหลายผู้เที่ยวไปบนแผ่นดิน รอยเท้าเหล่านั้นทั้งหมด ย่อมถึงการประชุมลงในรอยเท้าช้าง รอยเท้าช้างชาวโลกย่อมกล่าวว่า เป็นยอดของรอยเท้าเหล่านั้น เพราะรอยเท้าช้างเป็นของใหญ่ แม้ฉันใด ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย กุศลธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่ง กุศลธรรมเหล่านั้นทั้งหมด ย่อมถึงการสงเคราะห์เข้าในอริยสัจสี่ ฉันนั้นเห็นเหมือนกันแล. ในอริยสัจสี่เหล่าไหน? คือ ใน ทุกขอริยสัจ ในทุกขสมุทัยอริยสัจ ในทุกขนิโรธอริยสัจ ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ. [๓๔๑] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ทุกขอริยสัจเป็นไฉน? คือ แม้ความเกิดเป็นทุกข์ แม้ความแก่เป็นทุกข์ แม้ความตายเป็นทุกข์ แม้ความโศก ความรำพัน ความทุกข์กาย ความ ทุกข์ใจ ความคับแค้นใจ ก็เป็นทุกข์ แม้ความที่ไม่ได้สิ่งที่ตนอยากได้ ก็เป็นทุกข์ โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็อุปาทานขันธ์ห้าเป็นไฉน? คืออุปาทานขันธ์ คือ รูป อุปาทานขันธ์คือเวทนา อุปาทานขันธ์คือสัญญา อุปาทานขันธ์คือสังขาร อุปาทานขันธ์คือ วิญญาณ. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็อุปาทานขันธ์คือรูปเป็นไฉน? คือ มหาภูตรูป ๔ และรูป ที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็มหาภูตรูป ๔ เป็นไฉน? คือปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ.
ปฐวีธาตุ
[๓๔๒] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ปฐวีธาตุเป็นไฉน? คือ ปฐวีธาตุที่เป็นไปภายใน ก็มี ปฐมวีธาตุที่เป็นไปภายนอกก็มี. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ปฐวีธาตุ ที่เป็นไปภายในเป็น ไฉน? คือ สิ่งที่เป็นอุปาทินนกรูปอันเป็นภายใน เป็นของเฉพาะตน เป็นของแข้นแข็ง เป็น ของหยาบ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ก็หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งเป็นอุปาทินนกรูป อันเป็นภายใน เป็นของเฉพาะตน เป็นของแข้นแข็ง เป็นของ หยาบอย่างอื่น นี้เรียกว่า ปฐวีธาตุ เป็นไปภายใน. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ปฐวีธาตุอันใด แล เป็นไปภายใน และปฐวีธาตุอันใด เป็นไปภายนอก นั่นเป็นปฐวีธาตุแล. บัณฑิตพึงเห็น ปฐวีธาตุนั้น นั่น ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็น นั่น นั่นไม่เป็นตนของเรา. บัณฑิตครั้นเห็นปฐวีธาตุนั่น ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง อย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในปฐวีธาตุ ย่อมยังจิตให้คลายกำหนัดในปฐวีธาตุ. ดูกรท่านผู้มี อายุทั้งหลาย สมัยที่ปฐวีธาตุที่เป็นไปภายนอกกำเริบ ย่อมจะมีได้แล ในสมัยนั้น ปฐวีธาตุ อันเป็นภายนอกจะเป็นของอันตรธานไป. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ชื่อว่าความที่แห่ง ปฐวีธาตุอันเป็นไปภายนอกนั้น ซึ่งใหญ่ถึงเพียงนั้น เป็นของไม่เที่ยง จักปรากฏได้ ความเป็น ของสิ้นไปเป็นธรรมดา จักปรากฏได้ ความเป็นของเสื่อมไปเป็นธรรมดา จักปรากฏได้ ความเป็น ของแปรปรวนไปเป็นธรรมดา จักปรากฏได้. ก็ไฉนความที่แห่งกายอันตัณหาเข้าไปถือเอาแล้ว ว่าเรา ว่าของเรา ว่าเรามีอยู่ อันตั้งอยู่ตลอดกาลนิดหน่อยนี้ เป็นของไม่เที่ยง เป็นของมีความสิ้นไปเป็น ธรรมดา เป็นของมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เป็นของมีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา จักไม่ ปรากฏเล่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ความยึดถือด้วยสามารถตัณหามานะและทิฏฐิในปฐวีธาตุ อันเป็นภายใน นั้นจะไม่มีแก่ผู้นั้นเลย. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า ชนเหล่าอื่นจะด่า จะตัดพ้อ กระทบ กระเทียบ จะเบียดเบียน ภิกษุนั้นไซร้. ภิกษุนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า ทุกขเวทนาอันเกิดแต่ โสตสัมผัสนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็แต่ว่า ทุกขเวทนานั้นแล อาศัยเหตุจึงมีได้ ไม่อาศัยเหตุจะมี ไม่ได้ ทุกขเวทนานี้ อาศัยอะไรจึงมีได้ ทุกขเวทนาอาศัยผัสสะจึงมีได้. ภิกษุนั้น ย่อมเห็นว่า ผัสสะเป็นของไม่เที่ยง ย่อมเห็นว่า เวทนาเป็นของไม่เที่ยง ย่อมเห็นว่า สัญญาเป็นของไม่เที่ยง ย่อมเห็นว่า สังขารทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง ย่อมเห็นว่า วิญญาณเป็นของไม่เที่ยง จิตอันมี ธาตุเป็นอารมณ์นั่นเทียวของภิกษุนั้น ย่อมแล่นไป ย่อมเสื่อมใส ย่อมตั้งอยู่ด้วยดี ย่อม หลุดพ้น. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า ชนเหล่าอื่นจะพยายามทำร้ายภิกษุนั้น ด้วยอาการ ที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าชอบใจ คือด้วยการประหารด้วยฝ่ามือบ้าง ด้วยการประหาร ด้วยก้อนดินบ้าง ด้วยการประหารด้วยท่อนไม้บ้าง ด้วยการประหารด้วยศาตราบ้าง. ภิกษุนั้นย่อมรู้ ชัดอย่างนี้ว่า กายนี้เป็นสภาพเป็นที่เป็นไปแห่งการประหารด้วยฝ่ามือบ้าง เป็นที่เป็นไปแห่งการ ประหารก้อนดินบ้าง เป็นที่เป็นไปแห่งการประหารด้วยท่อนไม้บ้าง เป็นที่เป็นไปแห่งการประหาร ด้วยศาตราบ้าง. อนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ในพระโอวาทอันเปรียบด้วยเลื่อยดังนี้ว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แม้หากว่า พวกโจรผู้มีความประพฤติต่ำช้า พึงตัดทอนอวัยวะใหญ่น้อยทั้งหลายด้วย เลื่อยอันมีด้ามสองข้างไซร้ ภิกษุผู้ที่ยังใจให้ประทุษร้าย ในพวกโจร แม้นั้น ย่อมไม่เป็นผู้ชื่อว่า ทำตามคำสั่งสอนของเราด้วยเหตุนั้น ดังนี้. อนึ่ง ความเพียรอันเราปรารภแล้ว จักเป็นคุณชาติ ไม่ย่อหย่อน สติอันเราเข้าไปตั้งไว้แล้ว จักเป็นคุณชาติไม่หลงลืม กายอันเราให้สงบแล้ว จักเป็นสภาพไม่กระวนกระวาย จิตอันเราให้ตั้งมั่นแล้ว จักเป็นธรรมชาติมีอารมณ์เป็นอย่างเดียว คราวนี้ การประหารด้วยฝ่ามือทั้งหลาย จงเป็นไปในกายนี้ก็ดี การประหารด้วยก้อนดินทั้งหลาย จงเป็นไปในกายนี้ก็ดี การประหารด้วยท่อนไม้ทั้งหลาย จงเป็นไปในกายนี้ก็ดี การประหาร ด้วยศาตราทั้งหลาย จงเป็นไปในกายนี้ก็ดี ตามทีเถิด คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายนี้ เราจะ ทำให้จงได้ ดังนี้. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า เมื่อภิกษุนั้นระลึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรม ย่อมไม่ ตั้งอยู่พร้อมได้. ภิกษุนั้นย่อมสลดใจ ย่อมถึงความสลดใจ เพราะเหตุนั้นว่า ไม่เป็นลาภของเราหนอ ลาภไม่มีแก่เราหนอ เราได้ไม่ดีแล้วหนอ การได้ด้วยดีไม่มีแก่เราหนอ ที่เราระลึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่ อย่างนี้ ระลึกถึงพระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรม ไม่ตั้งอยู่ได้ด้วยดี ดังนี้. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หญิงสะใภ้เห็นพ่อผัวแล้ว ย่อมสลดใจ ย่อมถึง ความสลดใจ แม้ฉันใด ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า เมื่อภิกษุนั้นระลึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรม ไม่ตั้งอยู่ ได้ด้วยดี. ภิกษุนั้นย่อมสลดใจ ย่อมถึงความสลดใจ เพราะเหตุนั้นว่า ไม่เป็นลาภของเราหนอ ลาภของเราไม่มีหนอ เราได้ไม่ดีแล้วหนอ การได้ด้วยดีไม่มีแก่เราหนอ ที่เราระลึกถึงพระพุทธเจ้า อยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัย กุศลธรรม ย่อมไม่ตั้งอยู่ได้ด้วยดี ดังนี้. ฉันนั้นเหมือนกันแล. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า เมื่อภิกษุนั้นระลึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์อยู่ อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรม ย่อมตั้งอยู่ได้ด้วยดีไซร้. ภิกษุนั้น ย่อมเป็นผู้ปลื้มใจ เพราะเหตุนั้น. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ด้วยเหตุแม้มีประมาณเท่านี้แล คำสอนของพระผู้มี พระภาคเป็นอันภิกษุทำให้มากแล้ว.
อาโปธาตุ
[๓๔๓] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็อาโปธาตุเป็นไฉน? คือ อาโปธาตุที่เป็นไปภายใน ก็มี อาโปธาตุที่เป็นไปภายนอกก็มี. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็อาโปธาตุที่เป็นไปภายในเป็น ไฉน? คือ สิ่งที่เป็นอุปาทินนกรูปอันเป็นภายในเป็นของเฉพาะตน เป็นของเอิบอาบ ถึงความ เอิบอาบ คือ ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ น้ำมูตร ก็หรือ สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งเป็นอุปาทินนกรูปอันเป็นภายใน เป็นของเฉพาะตน เป็นของเอิบอาบ ถึงความเป็นของเอิบอาบอย่างอื่น นี้เรียกว่า อาโปธาตุเป็นไปภายใน. ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็อาโปธาตุอันใดแล เป็นไปภายใน และอาโปธาตุอันใด เป็นไปภายนอก นั้นเป็นอาโปธาตุแล. บัณฑิตพึงเห็นอาโปธาตุนั้นนั่น ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง อย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่เป็นตนของเรา. ครั้นเห็นอาโปธาตุนั่น ด้วย ปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในอาโปธาตุ ย่อมยังจิตให้คลาย กำหนัดในอาโปธาตุ. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยที่อาโปธาตุ ที่เป็นไปภายนอกกำเริบ ย่อม จะมีได้แล อาโปธาตุ อันเป็นภายนอกนั้น ย่อมพัดเอาบ้านไปบ้าง พัดเอานิคมไปบ้าง พัดเอา เมืองไปบ้าง พัดเอาชนบทไปบ้าง ย่อมพัดเอาประเทศแห่งชนบทไปบ้าง. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยที่น้ำในมหาสมุทรย่อมลึกลงไปร้อยโยชน์บ้าง สองร้อยโยชน์บ้าง สามร้อยโยชน์บ้าง สี่ร้อยโยชน์บ้าง ห้าร้อยโยชน์บ้าง หกร้อยโยชน์บ้าง เจ็ดร้อยโยชน์บ้าง ย่อมมีได้แล. ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยที่น้ำในมหาสมุทรขังอยู่เจ็ดชั่วลำตาลบ้าง หกชั่วลำตาลบ้าง ห้าชั่ว ลำตาลบ้าง สี่ชั่วลำตาลบ้าง สามชั่วลำตาลบ้าง สองชั่วลำตาลบ้าง ชั่วลำตาลหนึ่งบ้าง ย่อมมี ได้แล. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยที่น้ำในมหาสมุทรขังอยู่ ได้เจ็ดชั่วบุรุษบ้าง หกชั่วบุรุษ บ้าง ห้าชั่วบุรุษบ้าง สี่ชั่วบุรุษบ้าง สามชั่วบุรุษบ้าง สองชั่วบุรุษบ้าง ประมาณชั่วบุรุษหนึ่ง บ้าง ย่อมมีได้แล. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็สมัยที่น้ำในมหาสมุทรขังอยู่ กึ่งชั่วบุรุษบ้าง ประมาณเพียงสะเอวบ้าง ประมาณเพียงเข่าบ้าง ประมาณเพียงข้อเท้าบ้าง ย่อมมีได้แล. ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยที่น้ำแม้ประมาณพอเปียกข้อนิ้วมือจะไม่มีในมหาสมุทร ก็ย่อมมีได้ แล. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ชื่อว่า ความที่แห่งอาโปธาตุอันเป็นไปภายนอกนั้น ซึ่งมากถึง เพียงนั้นเป็นของไม่เที่ยง จักปรากฏได้ ความเป็นของสิ้นไปเป็นธรรมดา จักปรากฏได้ ความ เป็นของเสื่อมไปเป็นธรรมดา จักปรากฏได้ ความเป็นของแปรปรวนไปเป็นธรรมดา จักปรากฏ ได้. ก็ไฉนความที่แห่งกายอันตัณหาเข้าไปถือเอาแล้ว ว่าเรา ว่าของเรา ว่าเรามีอยู่ อันตั้งอยู่ ตลอดกาลนิดหน่อยนี้ เป็นของไม่เที่ยง เป็นของมีความสิ้นไปเป็นธรรมดา เป็นของมีความ เสื่อมไปเป็นธรรมดา เป็นของมีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา จักไม่ปรากฏเล่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ความยึดถือด้วยสามารถตัณหามานะและทิฏฐิ ในอาโปธาตุอันเป็นภายนอกนั้น จะไม่มีแก่ผู้นั้น เลย. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า เมื่อภิกษุนั้นระลึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่อย่างนี้ ระลึกถึง พระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรม ย่อมตั้งอยู่ได้ด้วยดี ไซร้ ภิกษุนั้น ย่อมเป็นผู้ปลื้มใจเพราะเหตุนั้น. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ด้วยเหตุแม้มีประมาณ เท่านี้แล คำสอนของพระผู้มีพระภาคเป็นอันภิกษุทำให้มากแล้ว. [๓๔๔] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็เตโชธาตุเป็นไฉน? คือ เตโชธาตุที่เป็นไปภายใน ก็มี เตโชธาตุที่เป็นไปภายนอกก็มี. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็เตโชธาตุที่เป็นไปภายในเป็น ไฉน? คือ สิ่งที่เป็นอุปาทินนกรูปอันเป็นภายใน เป็นของเฉพาะตน เป็นของเร่าร้อน ถึง ความเป็นของเร่าร้อน คือ สิ่งที่เป็นเครื่องอบอุ่นแห่งกาย สิ่งที่เป็นเครื่องทรุดโทรมแห่งกาย สิ่งที่เป็นเครื่องเร่าร้อนแห่งกาย สิ่งที่เป็นเครื่องถึงความแปรปรวนไปด้วยดีแห่งของที่กินแล้ว ดื่มแล้ว เคี้ยวแล้ว และของที่ลิ้มรสแล้ว ก็หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นอุปาทินนกรูป อันเป็นภายใน เป็นของเฉพาะตน เป็นของเร่าร้อน ถึงความเป็นของเร่าร้อน อย่างอื่น นี้เรียกว่า เตโชธาตุ อันเป็นไปภายใน. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็เตโชธาตุอันใดแล เป็นไปภายใน และเตโชธาตุ อันใด เป็นภายนอก นั่นเป็นเตโชธาตุแล. บัณฑิตพึงเห็นเตโชธาตุนั้นนั่น ด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่เป็นของเรา. บัณฑิต ครั้นเห็นเตโชธาตุนั่น ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายใน เตโชธาตุ ย่อมยังจิตให้คลาย กำหนัดในเตโชธาตุ. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัย ที่เตโชธาตุอันเป็นไปภายนอก กำเริบ ย่อมจะมีได้แล เตโชธาตุอันเป็นภายนอกนั้น ย่อม ไหม้บ้านบ้าง ย่อมไหม้บ้านเมืองบ้าง ย่อมไหม้นิคมบ้าง ย่อมไหม้ชนบทบ้าง ย่อมไหม้ประเทศ แห่งชนบทบ้าง. เตโชธาตุอันเป็นภายนอกนั้นมาถึงหญ้าสด หนทาง ภูเขา น้ำ หรือภูมิภาค อันเป็นที่รื่นรมย์ ไม่มีเชื้อ ย่อมดับไปเอง. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยที่ชนทั้งหลายแสวง หาไฟด้วยขนไก่บ้าง ด้วยการขูดหนังบ้าง ย่อมมีได้แล. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ชื่อว่า ความที่แห่งเตโชธาตุ อันเป็นไปภายนอกนั้นซึ่งใหญ่ถึงเพียงนั้นเป็นของไม่เที่ยง จักปรากฏได้ ความเป็นของสิ้นไปเป็นธรรมดา จักปรากฏได้ ความเป็นของเสื่อมไปเป็นธรรมดา จักปรากฏได้ ความเป็นของแปรปรวนไปเป็นธรรมดา จักปรากฏได้. ก็ไฉนความที่แห่งกายอันตัณหาเข้าไปถือ เอาแล้ว ว่าเรา ว่าของเรา ว่าเรามีอยู่ อันตั้งอยู่ตลอดกาลนิดหน่อยนี้ เป็นของไม่เที่ยง เป็น ของมีความสิ้นไปเป็นธรรมดา เป็นของมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เป็นของมีความแปรปรวน ไปเป็นธรรมดา จักไม่ปรากฏเล่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ความยึดถือด้วยสามารถตัณหามานะ และทิฏฐิในเตโชธาตุนั้น จะไม่มีแก่ผู้นั้นเลย. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า เมื่อภิกษุ นั้นระลึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรม ย่อมตั้งอยู่ได้ด้วยดีไซร้. ภิกษุนั้น ย่อมเป็นผู้ปลื้มใจเพราะเหตุนั้น. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ด้วยเหตุแม้มีประมาณเท่านั้นแล คำสอนของพระผู้มีพระภาคเป็นอัน ภิกษุทำให้มากแล้ว.
วาโยธาตุ
[๓๔๕] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็วาโยธาตุเป็นไฉน? คือ วาโยธาตุที่เป็นไปภายใน ก็มี วาโยธาตุที่เป็นภายนอกก็มี. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็วาโยธาตุที่เป็นไปภายในเป็น ไฉน? คือ สิ่งที่เป็นอุปาทินนกรูปอันเป็นภายใน เป็นของเฉพาะตน เป็นของพัดไปมา ถึง ความเป็นของพัดไปมา คือ ลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องต่ำ ลมอันอยู่ในท้อง ลมอันอยู่ ในลำไส้ ลมอันแล่นไปตามอวัยวะน้อยใหญ่ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ก็หรือสิ่งใด สิ่งหนึ่งซึ่งเป็นอุปาทินนกรูป อันเป็นภายใน เป็นของเฉพาะตน เป็นของพัดไปมา ถึงความ เป็นของพัดไปมา อย่างอื่น นี้เรียกว่า วาโยธาตุเป็นไปภายใน. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็วาโยธาตุอันใดแล เป็นไปภายใน และวาโยธาตุอันใด เป็นไปภายนอก นั่นเป็น วาโยธาตุแล. บัณฑิตพึงเห็นวาโยธาตุนั้นนั่น ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่เป็นตนของเรา. บัณฑิตครั้นเห็นวาโยธาตุนั้น ด้วย ปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในวาโยธาตุ ย่อมยังจิตให้คลาย กำหนัดในวาโยธาตุ. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยที่วาโยธาตุอันเป็นไปภายนอกกำเริบ ย่อมจะมีได้แล วาโยธาตุอันเป็นภายนอกนั้น ย่อมพัดเอาบ้านไปบ้าง ย่อมพัดเอานิคมไป บ้าง ย่อมพัดเอานครไปบ้าง ย่อมพัดเอาชนบทไปบ้าง ย่อมพัดเอาประเทศแห่งชนบท ไปบ้าง. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยที่ชนทั้งหลาย แสวงหาลมด้วยพัดใบตาลบ้าง ด้วย พัดสำหรับพัดไฟบ้าง ในเดือนท้ายแห่งฤดูร้อน แม้ในที่ชายคา หญ้าทั้งหลายก็ไม่ไหว ย่อม มีได้แล. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ชื่อว่าความที่แห่งวาโยธาตุ อันเป็นไปภายนอกนั้น ซึ่ง ใหญ่ถึงเพียงนั้น เป็นของไม่เที่ยง จักปรากฏได้ ความเป็นของสิ้นไปเป็นธรรมดา จักปรากฏได้ ความเป็นของเสื่อมไปเป็นธรรมดา จักปรากฏได้ ความเป็นของแปรปรวนไปเป็นธรรมดา จักปรา- *กฏได้. ก็ไฉนความที่แห่งกายอันตัณหาเข้ายึดถือเอาแล้ว ว่าเรา ว่าของเรา ว่าเรามีอยู่ อันตั้ง อยู่ตลอดกาลนิดหน่อยนี้ เป็นของไม่เที่ยง เป็นของมีความสิ้นไปเป็นธรรมดา เป็น ของมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เป็นของมีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา จักไม่ปรากฏเล่า เมื่อ เป็นเช่นนี้ ความยึดถือด้วยสามารถตัณหามานะและทิฏฐิในวาโยธาตุนั้น จะไม่มีแก่ผู้นั้นเลย. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า ชนเหล่าอื่นจะด่า จะตัดพ้อ จะกระทบกระเทียบ จะ เบียดเบียนภิกษุนั้นไซร้. ภิกษุนั้น ย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า ทุกขเวทนาอันเกิดแต่โสตสัมผัสนี้ เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็แต่ว่า ทุกขเวทนานั้นแล อาศัยเหตุพึงมีได้ ไม่อาศัยเหตุจะมีไม่ได้ ทุกขเวทนานี้อาศัยอะไร จึงมีได้ ทุกขเวทนานี้อาศัยผัสสะ จึงมีได้. ภิกษุนั้นย่อมเห็นว่า ผัสสะเป็นของไม่เที่ยง ย่อมเห็นว่า เวทนาเป็นของไม่เที่ยง ย่อมเห็นว่า สัญญาเป็นของ ไม่เที่ยง ย่อมเห็นว่า สังขารทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง ย่อมเห็นว่า วิญญาณเป็นของไม่เที่ยง จิตอันมีธาตุเป็นอารมณ์นั่นเทียวของภิกษุนั้น ย่อมแล่นไป ย่อมเลื่อมใส ย่อมตั้งอยู่ด้วยดี ย่อมหลุดพ้น.
การทำตามพระโอวาท
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากชนเหล่าอื่นจะพยายามทำร้ายภิกษุนั้น ด้วยอาการที่ไม่น่า ปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ คือ ด้วยการประหารด้วยฝ่ามือบ้าง ด้วยการประหารด้วย ก้อนดินบ้าง ด้วยการประหารด้วยท่อนไม้บ้าง ด้วยการประหารด้วยศาตราบ้าง. ภิกษุนั้น ย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า กายนี้เป็นสภาพเป็นที่เป็นไปแห่งการประหารด้วยฝ่ามือบ้าง เป็นที่เป็น ไปแห่งการประหารด้วยก้อนดินบ้าง เป็นที่เป็นไปแห่งการประหารด้วยท่อนไม้บ้าง เป็นที่เป็น ไปแห่งการประหารด้วยศาตราบ้าง. อนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ในพระโอวาท อันเปรียบ ด้วยเลื่อยดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ว่าพวกโจรผู้มีความประพฤติต่ำช้า พึงตัดทอนอวัยวะ ใหญ่น้อยทั้งหลาย ด้วยเลื่อยอันมีด้ามสองข้างไซร้ ภิกษุผู้ที่ยังใจให้ประทุษร้ายในพวกโจรแม้ นั้น. ย่อมไม่เป็นผู้ชื่อว่าทำตามคำสอนของเราด้วยเหตุนั้น ดังนี้. อนึ่ง ความเพียรอันเรา ปรารภแล้ว จักเป็นคุณชาติไม่ย่อหย่อน สติอันเราเข้าไปตั้งไว้แล้ว จักเป็นคุณชาติไม่หลงลืม กายอันเราให้สงบแล้ว จักเป็นสภาพไม่กระวนกระวาย จิตอันเราให้ตั้งมั่นแล้ว จักเป็น ธรรมชาติมีอารมณ์เป็นอย่างเดียว คราวนี้ การประหารด้วยฝ่ามือทั้งหลาย จงเป็นไปใน กายนี้ก็ดี การประหารด้วยก้อนดินทั้งหลาย จงเป็นไปในกายนี้ก็ดี การประหารด้วยท่อนไม้ ทั้งหลาย จงเป็นไปในกายนี้ก็ดี การประหารด้วยศาตราทั้งหลาย จงเป็นไปในกายนี้ก็ดี ตามทีเถิด คำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายนี้เราจะทำให้จงได้ ดังนี้. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า เมื่อภิกษุนั้นระลึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึง พระสงฆ์อยู่อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรม ย่อมไม่ตั้งอยู่ได้พร้อม. ภิกษุนั้นย่อมสลดใจ ย่อมถึงความสลดใจ เพราะเหตุนั้นว่า ไม่เป็นลาภของเราหนอ ลาภไม่มีแก่เราหนอ เราได้ไม่ ดีแล้วหนอ การได้ด้วยดีไม่มีแก่เราแล้วหนอ ที่เราระลึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่อย่างนี้ ระลึกถึง พระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรมไม่ตั้งอยู่ได้ด้วยดี ดังนี้. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หญิงสะใภ้เห็นพ่อผัวแล้ว ย่อมสลดใจ ย่อมถึงความสลดใจ แม้ฉันใด ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า เมื่อภิกษุนั้นระลึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่อย่างนี้ ระลึก ถึงพระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรม ไม่ตั้งอยู่ได้ ด้วยดี. ภิกษุนั้นย่อมสลดใจ ย่อมถึงความสลดใจ เพราะเหตุนั้นว่า ไม่เป็นลาภของเราหนอ ลาภของเราไม่มีหนอ เราได้ไม่ดีแล้วหนอ การได้ด้วยดีไม่มีแก่เราหนอ ที่เราระลึกถึงพระพุทธ- *เจ้าอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัย กุศลธรรม ย่อมไม่ตั้งอยู่ได้ด้วยดี ดังนี้ ฉันนั้นเหมือนกันแล. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า เมื่อภิกษุนั้นระลึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์ อย่างนี้ อุเบกขาอาศัยกุศลธรรม ย่อมตั้งอยู่ด้วยดีไซร้. ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้ปลื้มใจเพราะเหตุนั้น. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล คำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นอันภิกษุ ทำให้มากแล้ว.
ผู้เห็นธรรม
[๓๔๖] ดูกรท่านมีอายุทั้งหลาย อากาศอาศัยไม้และอาศัยเถาวัลย์ ดินเหนียวและหญ้า แวดล้อมแล้ว ย่อมถึงความนับว่า เป็นเรือนฉันใด ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย อากาศอาศัยกระดูก และอาศัยเอ็นเนื้อและหนังแวดล้อมแล้ว ย่อมถึงความนับว่า รูป ฉันนั้นเหมือนกันแล. ดูกรท่าน ผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า จักษุอันเป็นไปในภายใน เป็นของไม่แตกทำลายแล้ว และรูปทั้งหลาย อันเป็นภายนอกย่อมไม่มาสู่คลองจักษุ ทั้งความกำหนดอันเกิดแต่จักษุและรูปนั้นก็ไม่มี ความ ปรากฏแห่งส่วนแห่งวิญญาณอันเกิดแต่จักษุ และรูปนั้น ก็ยังมีไม่ได้ก่อน. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้ง หลาย หากว่า จักษุอันเป็นไปในภายใน เป็นของไม่แตกทำลายแล้ว และรูปทั้งหลายอันเป็น ภายนอก ย่อมมาสู่คลองจักษุ แต่ความกำหนดอันเกิดแต่จักษุ และรูปนั้นไม่มี ความปรากฏ แห่งส่วนแห่งวิญญาณอันเกิดแต่จักษุ และรูปนั้นก็ยังมีไม่ได้ก่อน. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย แต่ว่าในกาลใดแลจักษุอันเป็นไปในภายในเป็นของไม่แตกไม่ทำลายแล้ว และรูปทั้งหลายอันเป็น ภายนอก ย่อมมาสู่คลองจักษุ ทั้งความกำหนดอันเกิดแต่จักษุและรูปก็ย่อมมีในกาลนั้น ความ ปรากฏแห่งส่วนแห่งวิญญาณอันเกิดแต่จักษุและรูปนั้น ย่อมมีได้ด้วยอาการอย่างนี้. รูปแห่ง สภาพที่เป็นแล้วอย่างนั้นอันใด รูปนั้น ย่อมถึงความสงเคราะห์ ในอุปาทานขันธ์ คือ รูป เวทนาแห่งสภาพที่เป็นแล้วอย่างนั้นอันใด เวทนานั้น ย่อมถึงความสงเคราะห์ในอุปาทานขันธ์ คือ เวทนา สัญญาแห่งสภาพที่เป็นแล้วอย่างนั้นอันใด สัญญานั้น ย่อมถึงความสงเคราะห์ ในอุปาทานขันธ์ คือ สัญญา สังขารแห่งสภาพที่เป็นแล้วอย่างนั้นเหล่าใด สังขารเหล่านั้น ย่อม ถึงความสงเคราะห์ในอุปาทาน คือ สังขาร วิญญาณแห่งสภาพที่เป็นแล้วอย่างนั้นอันใด วิญญาณนั้น ย่อมถึงความสงเคราะห์ ในอุปาทานขันธ์ คือ วิญญาณ. ภิกษุนั้น ย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า ได้ยินว่า การสงเคราะห์ การประชุมพร้อม หมวดหมู่แห่งอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ ย่อมมีได้ ด้วยประ การอย่างนี้. อนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ไว้ว่า ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นชื่อ ว่าเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเห็นปฏิจจสมุปบาท ดังนี้. ก็อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ใด อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ชื่อว่า ปฏิจจสมุปปันนธรรมแล. ความพอใจความอาลัย ความยินดี ความ ชื่นชอบ ในอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้อันใด อันนั้นชื่อว่าทุกขสมุทัย การกำจัดความกำหนัดด้วย สามารถความพอใจ การละความกำหนัดด้วยสามารถความพอใจในอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้อันใด อันนั้นชื่อว่าทุกขนิโรธแล. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ด้วยเหตุแม้มีประมาณเท่านี้แล. คำสอนของ พระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นอันภิกษุทำให้มากแล้ว. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า โสตะอันเป็นไปในภายในเป็นของไม่แตกทำลาย แล้ว ฯลฯ ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า ฆานะอันเป็นไปในภายใน เป็นของไม่แตกทำลาย แล้ว ฯลฯ ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า ชิวหา อันเป็นไปในภายใน เป็นของไม่แตกทำลาย แล้ว ฯลฯ ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า กายอันเป็นไปในภายใน เป็นของไม่แตกทำลาย แล้ว ฯลฯ ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า มนะอันเป็นไปในภายใน เป็นของไม่แตกทำลาย แล้ว และธรรมารมณ์ทั้งหลายอันเป็นภายนอก ย่อมไม่มาสู่คลอง ทั้งความกำหนดอันเกิด แต่มนะ และธรรมารมณ์นั้น ก็ไม่มี ความปรากฏแห่งส่วนแห่งวิญญาณอันเกิดแต่มนะและ ธรรมารมณ์นั้น ก็ยังมีไม่ได้ก่อน. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า มนะอันเป็นไปในภาย ใน เป็นของไม่แตกทำลายแล้ว และธรรมารมณ์ทั้งหลายอันเป็นภายนอก ย่อมมาสู่คลอง แต่ความกำหนดอันเกิดแต่มนะและธรรมารมณ์นั้นไม่มี ความปรากฏแห่งส่วนแห่งวิญญาณอัน เกิดแต่มนะและธรรมารมณ์นั้น ก็ยังมีไม่ได้ก่อน. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย แต่ว่าในกาลใด แล มนะอันเป็นไปในภายในเป็นของไม่แตกทำลายแล้ว และธรรมารมณ์ทั้งหลายอันเป็นภาย นอก ย่อมมาสู่คลอง ทั้งความกำหนดอันเกิดแต่มนะและธรรมารมณ์นั้น ก็ย่อมมี ในกาล นั้น ความปรากฏแห่งส่วนแห่งส่วนแห่งวิญญาณอันเกิดแต่มนะและธรรมารมณ์นั้น ย่อมมีได้ ด้วยอาการอย่างนี้. รูปแห่งสภาพที่เป็นแล้วอย่างนั้นอันใด รูปนั้น ย่อมถึงความสงเคราะห์ ใน อุปาทานขันธ์คือรูป เวทนาแห่งสภาพที่เป็นแล้วอย่างนั้นอันใด เวทนานั้น ย่อมถึงความ สงเคราะห์ ในอุปาทานขันธ์คือเวทนา สัญญาแห่งสภาพที่เป็นแล้วอย่างนั้นอันใด สัญญานั้น ย่อมถึงความสงเคราะห์ ในอุปาทานขันธ์คือสัญญา สังขารทั้งหลายแห่งสภาพที่เป็นแล้วอย่างนั้น เหล่าใด สังขารเหล่านั้น ย่อมถึงความสงเคราะห์ ในอุปาทานขันธ์คือสังขาร วิญญาณ แห่งสภาพที่เป็นแล้วอย่างนั้นอันใด วิญญาณนั้น ย่อมถึงความสงเคราะห์ ในอุปาทานขันธ์ คือวิญญาณ. ภิกษุนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า ได้ยินว่า การสงเคราะห์ การประชุมพร้อม หมวดหมู่แห่งอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ ย่อมมีได้ ด้วยประการอย่างนี้. อนึ่ง พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ไว้ว่า ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นชื่อว่าเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้น ชื่อว่าเห็นปฏิจจสมุปบาท ดังนี้. ก็อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ใด อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ ชื่อว่า ปฏิจจสมุปปันนธรรมแล. ความพอใจ ความอาลัย ความยินดี ความชื่นชอบ ในอุปาทาน- *ขันธ์ ๕ เหล่านี้อันใด อันนี้ชื่อว่าทุกขสมุทัย การกำจัดความกำหนัดด้วยสามารถความพอใจ การละความกำหนัดด้วยสามารถความพอใจ ในอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ อันใด อันนั้นชื่อว่า ทุกขนิโรธแล. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ด้วยเหตุแม้มีประมาณเท่านี้แล คำสอนของพระผู้มี พระภาค เป็นอันภิกษุทำให้มากแล้ว. ท่านพระสารีบุตร ได้กล่าวธรรมปริยายนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้น ชื่นชม ยินดีภาษิต ของท่านพระสารีบุตรแล้วแล.
จบ. มหาหัตถิปโทปมสูตรที่ ๘
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ บรรทัดที่ ๖๐๔๒-๖๓๐๘ หน้าที่ ๒๔๕-๒๕๕. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=12&A=6042&Z=6308&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=12&item=340&items=7              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=12&item=340&items=7&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=12&item=340&items=7              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=12&item=340&items=7              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=12&i=340              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ https://84000.org/tipitaka/read/?index_12 https://84000.org/tipitaka/english/?index_12

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]