ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๗ สังยุตตนิกาย สคาถวรรค
พระสุตตันตปิฎก
เล่ม ๗
สังยุตตนิกาย สคาถวรรค
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เทวตาสังยุต
นฬวรรคที่ ๑
โอฆตรณสูตรที่ ๑
[๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว เทวดาองค์หนึ่ง มีวรรณงาม ยังพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่าง เข้าไปเฝ้าพระผู้มี พระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค แล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ [๒] เทวดานั้น ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลคำนี้ กะพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ไม่มีทุกข์ ข้าพระองค์ขอทูลถาม พระองค์ ข้ามโอฆะได้อย่างไร ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ท่านผู้มีอายุ เราไม่พักอยู่ ไม่เพียรอยู่ ข้ามโอฆะได้แล้ว ฯ ท. ข้าแต่พระองค์ผู้ไม่มีทุกข์ ก็พระองค์ไม่พักไม่เพียร ข้ามโอฆะได้ อย่างไรเล่า ฯ พ. ท่านผู้มีอายุ เมื่อใด เรายังพักอยู่ เมื่อนั้น เรายังจมอยู่โดยแท้ เมื่อใดเรายังเพียรอยู่ เมื่อนั้น เรายังลอยอยู่โดยแท้ ท่านผู้มีอายุ เราไม่พัก เรา ไม่เพียร ข้ามโอฆะได้แล้วอย่างนี้แล ฯ เทวดานั้นกล่าวคาถานี้ว่า นานหนอ ข้าพเจ้าจึงจะเห็นขีณาสวพราหมณ์ผู้ดับรอบแล้ว ไม่พัก ไม่เพียรอยู่ ข้ามตัณหาเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวในโลก ฯ [๓] เทวดานั้นกล่าวคำนี้แล้ว พระศาสดาทรงอนุโมทนา ครั้งนั้นแล เทวดานั้นดำริว่า พระศาสดาทรงอนุโมทนาคำของเรา จึงถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วก็หายไป ณ ที่นั้นแล ฯ
นิโมกขสูตรที่ ๒
[๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว เทวดาองค์หนึ่ง มีวรรณงาม ยังพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างเข้าไปเฝ้าพระผู้มี พระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วจึงถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค แล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ [๕] เทวดานั้น ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วแล ได้กราบทูล คำนี้กะพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ไม่มีทุกข์ พระองค์ย่อมทรงทราบมรรค เป็นทางหลีกพ้น ผลเป็นความหลุดพ้น นิพพานเป็นที่สงัด ของสัตว์ทั้งหลาย หรือหนอ ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ท่านผู้มีอายุ เรารู้จักมรรคเป็นทางหลีกพ้น ผลเป็นความหลุดพ้น นิพพานเป็นที่สงัด ของสัตว์ทั้งหลายโดยแท้จริง ฯ ท. ข้าแต่พระองค์ผู้ไม่มีทุกข์ ก็พระองค์ย่อมทรงทราบมรรคเป็นทางหลีก พ้น ผลเป็นความหลุดพ้น นิพพานเป็นที่สงัด ของสัตว์ทั้งหลายอย่างไรเล่า ฯ [๖] พระผู้มีพระภาคทรงวิสัชนาโดยคาถานี้ว่า ท่านผู้มีอายุ เพราะความสิ้นภพอันมีความเพลิดเพลินเป็น มูล เพราะความสิ้นแห่งสัญญาและวิญญาณ เพราะ ความดับ เพราะความสงบแห่งเวทนาทั้งหลาย เราย่อมรู้จัก มรรคเป็นทางหลีกพ้น ผลเป็นความหลุดพ้น นิพพานเป็นที่ สงัด ของสัตว์ทั้งหลายอย่างนี้ ฯ
อุปเนยยสูตรที่ ๓
[๗] เทวดานั้น ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วแล ได้กล่าวคาถา นี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า ชีวิตคืออายุมีประมาณน้อย ถูกต้อนเข้าไปเรื่อย เมื่อบุคคลถูก ชราต้อนเข้าไปแล้ว ย่อมไม่มีผู้ป้องกัน บุคคลเมื่อเห็นภัยนี้ ในมรณะ พึงทำบุญทั้งหลายที่นำความสุขมาให้ ฯ [๘] ชีวิตคืออายุมีประมาณน้อย ถูกต้อนเข้าไปเรื่อย เมื่อบุคคล ถูกชราต้อนเข้าไปแล้ว ย่อมไม่มีผู้ป้องกัน บุคคลเมื่อเห็น ภัยนี้ในมรณะ พึงละอามิสในโลกเสีย มุ่งสันติเถิด ฯ
อัจเจนติสูตรที่ ๔
[๙] เทวดานั้น ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วแล ได้กล่าวคาถา นี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า กาลทั้งหลายย่อมล่วงไป ราตรีทั้งหลายย่อมผ่านไป ชั้นแห่ง วัยย่อมละลำดับไป บุคคลเมื่อเห็นภัยนี้ในมรณะ พึงทำบุญ ทั้งหลายที่นำความสุขมาให้ ฯ [๑๐] กาลทั้งหลายย่อมล่วงไป ราตรีทั้งหลายย่อมผ่านไป ชั้น แห่งวัยย่อมละลำดับไป บุคคลเมื่อเห็นภัยนี้ในมรณะ พึงละ อามิสในโลกเสีย มุ่งสันติเถิด ฯ
กติฉินทิสูตรที่ ๕
[๑๑] เทวดานั้น ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วแล ได้กราบ ทูลถามพระผู้มีพระภาคด้วยคาถานี้ว่า บุคคลควรตัดเท่าไร ควรละเท่าไร ควรบำเพ็ญคุณอันยิ่ง เท่าไร ภิกษุล่วงธรรมเครื่องข้องเท่าไร พระองค์จึงตรัสว่า เป็นผู้ข้ามโอฆะแล้ว ฯ [๑๒] บุคคลควรตัดสังโยชน์เป็นส่วนเบื้องต่ำ ๕ อย่าง ควรละ สังโยชน์เป็นส่วนเบื้องบน ๕ อย่าง ควรบำเพ็ญอินทรีย์อันยิ่ง ๕ อย่าง ภิกษุล่วงธรรมเป็นเครื่องข้อง ๕ อย่าง เรากล่าวว่า เป็นผู้ข้ามโอฆะแล้ว ฯ
ชาครสูตรที่ ๖
[๑๓] เทวดานั้น ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วแล ได้กล่าว คาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า เมื่อธรรมทั้งหลายตื่นอยู่ ธรรมประเภทไหนนับว่าหลับ เมื่อ ธรรมทั้งหลายหลับ ธรรมประเภทไหนนับว่าตื่น บุคคลหมัก หมมธุลีเพราะธรรมประเภทไหน บุคคลบริสุทธิ์เพราะธรรม ประเภทไหน ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า [๑๔] เมื่ออินทรีย์ ๕ อย่างตื่นอยู่ นิวรณ์ ๕ อย่าง นับว่าหลับ เมื่อนิวรณ์ ๕ อย่างหลับ อินทรีย์ ๕ อย่าง นับว่าตื่น บุคคลหมักหมมธุลีเพราะ นิวรณ์ ๕ อย่าง บุคคลบริสุทธิ์เพราะอินทรีย์ ๕ อย่าง ฯ
อัปปฏิวิทิตสูตรที่ ๗
[๑๕] เทวดานั้น ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วแล ได้กล่าว คาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า ธรรมทั้งหลายอันชนพวกใดยังไม่แทงตลอดแล้ว ชนพวกนั้น ย่อมถูกจูงไปในวาทะของชนพวกอื่น ชนพวกนั้นชื่อว่ายังหลับ ไม่ตื่น (กาลนี้) เป็นกาลสมควร เพื่อจะตื่นของชนพวกนั้น ฯ [๑๖] ธรรมทั้งหลาย อันชนพวกใดแทงตลอดดีแล้ว ชนพวกนั้น ย่อมไม่ถูกจูงไปในวาทะของชนพวกอื่น บุคคลผู้รู้ดีทั้งหลาย รู้ทั่วถึงโดยชอบแล้ว ย่อมประพฤติเสมอในหมู่สัตว์ผู้ ประพฤติไม่เสมอ ฯ
สุสัมมุฏฐสูตรที่ ๘
[๑๗] เทวดานั้น ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วแล ได้กล่าว คาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า ธรรมทั้งหลายอันชนพวกใดลืมเลือนแล้ว ชนพวกนั้น ย่อมถูก จูงไปในวาทะของชนพวกอื่น ชนพวกนั้นชื่อว่ายังหลับไม่ตื่น (กาลนี้) เป็นกาลควรเพื่อจะตื่นของชนพวกนั้น ฯ [๑๘] ธรรมทั้งหลาย อันชนพวกใดไม่ลืมเลือนแล้ว ชนพวกนั้น ย่อมไม่ถูกจูงไปในวาทะของชนพวกอื่น บุคคลผู้รู้ดีทั้งหลาย รู้ทั่วถึงโดยชอบแล้ว ย่อมประพฤติเสมอในหมู่สัตว์ผู้ประพฤติ ไม่เสมอ ฯ
มานกามสูตรที่ ๙
[๑๙] เทวดานั้น ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วแล ได้กล่าว คาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า ทมะย่อมไม่มีแก่บุคคลที่ปรารถนามานะ ความรู้ย่อมไม่มีแก่ บุคคลที่มีจิตไม่ตั้งมั่น บุคคลผู้เดียว เมื่ออยู่ในป่า ประมาทแล้ว ไม่พึงข้ามพ้นฝั่งแห่งเตภูมิกวัฏอันเป็นที่ตั้งแห่ง มัจจุได้ ฯ [๒๐] บุคคลละมานะแล้ว มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว มีจิตดี พ้นในธรรม ทั้งปวงแล้ว เป็นผู้เดียว เมื่ออยู่ในป่า ไม่ประมาทแล้ว บุคคลนั้นพึงข้ามฝั่งแห่งเตภูมิกวัฏเป็นที่ตั้งแห่งมัจจุได้ ฯ
อรัญญสูตรที่ ๑๐
[๒๑] เทวดานั้น ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วแล ได้ทูลถาม พระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า วรรณของภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ในป่า ฉันภัตอยู่หนเดียว เป็น สัตบุรุษผู้ประพฤติธรรมอันประเสริฐ ย่อมผ่องใสด้วยเหตุ อะไร ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า [๒๒] ภิกษุทั้งหลายไม่เศร้าโศกถึงปัจจัยที่ล่วงแล้ว ไม่ปรารถนา ปัจจัยที่ยังมาไม่ถึง เลี้ยงตนด้วยปัจจัยที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า วรรณ (ของภิกษุทั้งหลายนั้น) ย่อมผ่องใสด้วยเหตุนั้น เพราะความปรารถนาถึงปัจจัยที่ยังไม่มาถึง และความโศก ถึงปัจจัยที่ล่วงแล้ว พวกพาลภิกษุจึงซูบซีด เหมือนต้นอ้อ สดที่ถูกถอนเสียแล้ว ฉะนั้น
จบ นฬวรรค ที่ ๑
-----------------------------------------------------
สูตรที่กล่าวถึงในวรรคนั้น โอฆตรณสูตร นิโมกขสูตร อุปเนยยสูตร อัจเจนติสูตร กติฉินทิสูตร ชาครสูตร อัปปฏิวิทิตสูตร สุสัมมุฏฐสูตร มานกามสูตร อรัญญสูตร เป็นที่ ๑๐ นฬวรรค ท่านกล่าวด้วยสูตรทั้ง ๑๐ นั้น ฉะนี้แล
-----------------------------------------------------
นันทนวรรคที่ ๒
นันทนสูตรที่ ๑
[๒๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อาราม ของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาค ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสของ พระผู้มีพระภาคแล้ว ฯ [๒๔] พระผู้มีพระภาคตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่อง เคยมีมาแล้ว พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์องค์หนึ่งแวดล้อมด้วยหมู่นางอัปสร อิ่มเอิบ พรั่งพร้อมด้วยเบญจกามคุณอันเป็นทิพย์ พวกนางอัปสรบำเรออยู่ในสวนนันทวัน ได้กล่าวคาถานี้ในเวลานั้นว่า เทวดาเหล่าใดไม่เห็นนันทวัน อันเป็นที่อยู่ของหมู่นรเทพ สามสิบ ผู้มียศ เทวดาเหล่านั้นย่อมไม่รู้จักความสุข ฯ [๒๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเทวดานั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว เทวดาองค์ หนึ่งได้ย้อนกล่าวกะเทวดานั้นด้วยคาถาว่า ดูกรท่านผู้เขลา ท่านย่อมไม่รู้จักคำของพระอรหันต์ทั้งหลาย ว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง มีความเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็น ธรรมดา เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ความสงบระงับสังขารเหล่านั้น เสียได้เป็นสุข ฯ
นันทิสูตรที่ ๒
[๒๖] เทวดานั้น ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วแล ได้กล่าว คาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า คนมีบุตรย่อมยินดีเพราะบุตรทั้งหลาย คนมีโค ย่อมยินดี เพราะโคทั้งหลายเหมือนกันฉะนั้น เพราะอุปธิเป็นความดีของ คน บุคคลใดไม่มีอุปธิ บุคคลนั้นไม่มียินดีเลย ฯ [๒๗] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า บุคคลมีบุตร ย่อมเศร้าโศกเพราะบุตรทั้งหลาย บุคคลมีโค ย่อมเศร้าโศกเพราะโคทั้งหลายเหมือนกันฉะนั้น เพราะอุปธิ เป็นความเศร้าโศกของคน บุคคลใดไม่มีอุปธิ บุคคลนั้น ไม่เศร้าโศกเลย ฯ
นัตถิปุตตสมสูตรที่ ๓
[๒๘] เทวดานั้น ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วแล ได้กล่าว คาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า ความรักเสมอด้วยความรักบุตรไม่มี ทรัพย์เสมอด้วยโคย่อม ไม่มี แสงสว่างเสมอด้วยดวงอาทิตย์ย่อมไม่มี สระทั้งหลาย มีทะเลเป็นอย่างยิ่ง ฯ [๒๙] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ความรักเสมอด้วยความรักตนไม่มี ทรัพย์เสมอด้วยข้าว เปลือกย่อมไม่มี แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาย่อมไม่มี ฝน ต่างหากเป็นสระยอดเยี่ยม ฯ
ขัตติยสูตรที่ ๔
[๓๐] เทวดานั้น ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วแล ได้กล่าว คาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า กษัตริย์ประเสริฐสุดกว่าสัตว์ ๒ เท้า โคประเสริฐสุดกว่า สัตว์ ๔ เท้า ภรรยาที่เป็นนางกุมารีประเสริฐสุดกว่าภรรยา ทั้งหลาย บุตรใดเป็นผู้เกิดก่อน บุตรนั้นประเสริฐสุดกว่า บุตรทั้งหลาย ฯ [๓๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า พระสัมพุทธเจ้าประเสริฐสุดกว่าสัตว์ ๒ เท้า สัตว์อาชาไนย ประเสริฐสุดกว่าสัตว์ ๔ เท้า ภรรยาที่ปรนนิบัติดี ประเสริฐ สุดกว่าภรรยาทั้งหลาย บุตรใดเป็นผู้เชื่อฟัง บุตรนั้น ประเสริฐสุดกว่าบุตรทั้งหลาย ฯ
สกมานสูตรที่ ๕
[๓๒] (เทวดากล่าวว่า) เมื่อนกทั้งหลายพักร้อน ในเวลาตะวันเที่ยง ป่าใหญ่ ประหนึ่งว่าครวญคราง ความครวญครางของป่านั้นเป็นภัย ปรากฏแก่ข้าพเจ้า ฯ [๓๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า) เมื่อนกทั้งหลายพักร้อน ในเวลาตะวันเที่ยง ป่าใหญ่ ประหนึ่งว่าครวญคราง นั้นเป็นความยินดีปรากฏแก่เรา ฯ
นิททาตันทิสูตรที่ ๖
[๓๔] (เทวดากล่าวว่า) อริยมรรคไม่ปรากฏแก่สัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ เพราะความ หลับ ความเกียจคร้าน ความบิดกาย ความไม่ยินดี และ ความมึนเมาเพราะภัต ฯ [๓๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า) เพราะขับไล่ความหลับ ความเกียจคร้าน ความบิดกาย ความไม่ยินดี และความมึนเมาเพราะภัต ด้วยความเพียร อริยมรรคย่อมบริสุทธิ์ได้ ฯ
ทุกกรสูตรที่ ๗
[๓๖] (เทวดากล่าวว่า) ธรรมของสมณะ คนไม่ฉลาด ทำได้ยาก ทนได้ยาก เพราะธรรมของสมณะนั้นมีความลำบากมาก เป็นที่ติดขัดของ คนพาล ฯ [๓๗] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า) คนพาล ประพฤติธรรมของสมณะสิ้นวันเท่าใด หากไม่ห้าม จิต เขาตกอยู่ในอำนาจของความดำริทั้งหลาย พึงติดขัดอยู่ ทุกๆ อารมณ์ ภิกษุยั้งวิตกในใจไว้ได้ เหมือนเต่าหด อวัยวะทั้งหลายไว้ในกระดองของตน อันตัณหานิสัยและ ทิฐินิสัยไม่พัวพันแล้ว ไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น ปรินิพพาน แล้ว ไม่พึงติเตียนใคร ฯ
หิริสูตรที่ ๘
[๓๘] บุรุษที่เกียดกันอกุศลธรรมด้วยหิริ ได้มีอยู่น้อยคนในโลก ภิกษุใดบรรเทาความหลับเหมือนม้าดีหลบแส้ ภิกษุนั้นมีอยู่ น้อยรูปในโลก ฯ [๓๙] ขีณาสวภิกษุพวกใด เป็นผู้เกียดกันอกุศลธรรมด้วยหิริ มีสติประพฤติอยู่ในกาลทั้งปวง ขีณาสวภิกษุพวกนั้นมีน้อย ขีณาสวภิกษุทั้งหลาย บรรลุนิพพานเป็นส่วนสุดแห่งทุกข์ แล้ว เมื่อสัตตนิกายประพฤติไม่เรียบร้อย ย่อมประพฤติ เรียบร้อย ฯ
กุฏิกาสูตรที่ ๙
[๔๐] (เทวดากล่าวว่า) กระท่อมของท่านไม่มีหรือ รังของท่านไม่มีหรือ เครื่อง สืบต่อของท่านไม่มีหรือ ท่านเป็นผู้พ้นแล้วจากเครื่องผูก หรือ ฯ [๔๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า) แน่ละ กระท่อมของเราไม่มี แน่ละ รังของเราไม่มี แน่ละ เครื่องสืบต่อของเราไม่มี แน่ละ เราเป็นผู้พ้นแล้วจาก เครื่องผูก ฯ [๔๒] ข้าพเจ้ากล่าวแก่ท่านว่า อะไรเป็นกระท่อม ข้าพเจ้า กล่าวแก่ท่านว่าอะไรเป็นรัง ข้าพเจ้ากล่าวแก่ท่านว่าอะไรเป็น เครื่องสืบต่อ ข้าพเจ้ากล่าวแก่ท่านว่าอะไรเป็นเครื่องผูก ฯ [๔๓] ท่านกล่าวมารดาว่าเป็นกระท่อม ท่านกล่าวภรรยาว่าเป็นรัง ท่านกล่าวบุตรว่าเป็นเครื่องสืบต่อ ท่านกล่าวตัณหาว่าเป็น เครื่องผูกแก่เรา ฯ ดีจริง กระท่อมของท่านไม่มี ดีจริง รังของท่านไม่มี ดีจริง เครื่องสืบต่อของท่านไม่มี ดีจริง ท่านเป็นผู้พ้นแล้วจาก เครื่องผูก ฯ
สมิทธิสูตรที่ ๑๐
[๔๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ตโปทาราม เขตพระนครราชคฤห์ ครั้งนั้นแล พระสมิทธิเถระผู้มีอายุ ตื่นขึ้นในเวลาใกล้รุ่งแห่งราตรี เข้าไปที่ ลำน้ำตโปทาเพื่อจะล้างตัว ครั้นล้างตัวแล้ว จึงกลับขึ้นยืนมีจีวรผืนเดียวรอให้ ตัวแห้ง ฯ [๔๕] ครั้งนั้นแล เมื่อราตรีใกล้สว่าง เทวดาองค์หนึ่ง มีวรรณงาม ยังลำน้ำตโปทาทั้งสิ้นให้สว่างทั่ว เข้าไปหาพระสมิทธิเถระผู้มีอายุถึงที่ใกล้ ครั้น- *แล้ว จึงลอยอยู่ในอากาศ ได้กล่าวกะพระสมิทธิเถระผู้มีอายุด้วยคาถาว่า ภิกษุ ท่านไม่บริโภคแล้ว ยังขออยู่ ท่านบริโภคแล้ว ก็ไม่ ต้องขอเลย ภิกษุ ท่านบริโภคแล้ว จงขอเถิด กาลอย่า ล่วงท่านไปเสียเลย ฯ [๔๖] ส. เรายังไม่รู้กาล กาลยังลับ มิได้ปรากฏ เพราะ เหตุนั้น เราไม่บริโภคแล้ว จึงยังขออยู่ กาลอย่าล่วงเราไป เสียเลย ฯ [๔๗] ครั้งนั้นแล เทวดานั้นลงมายืนที่พื้นดินแล้ว กล่าวกะพระสมิทธิ- *เถระว่า ภิกษุ ท่านเป็นบรรพชิตยังหนุ่มแน่น มีผมดำประกอบด้วยปฐมวัย จำเริญรุ่น จะเป็นผู้ไม่เพลิดเพลินในกามทั้งหลายเสียแล้ว ภิกษุ ท่านจงบริโภค กามทั้งหลายเป็นของมนุษย์ อย่าละกามที่เห็นประจักษ์เสีย วิ่งไปหาทิพยกามอัน มีโดยกาลเลย ฯ [๔๘] ส. ท่านผู้มีอายุ เราหาได้ละกามที่เห็นประจักษ์ วิ่งเข้าไปหา ทิพยกามอันมีโดยกาลไม่ ท่านผู้มีอายุ เราละกามอันมีโดยกาลแล้ว วิ่งเข้าไปหา โลกุตรธรรมที่เห็นประจักษ์ ท่านผู้มีอายุ ด้วยว่ากามทั้งหลายอันมีโดยกาล (เป็น ของชั่วคราว) พระผู้มีพระภาคตรัสว่า มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกาม ทั้งหลายนั้นมีโทษยิ่ง โลกุตรธรรมนี้ อันบุคคลพึงเห็นเอง ให้ผลไม่มีกาล ควร เรียกร้องผู้อื่นว่า ท่านจงมาดูเถิด ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนทั้งหลายพึง ทราบเฉพาะตน ฯ [๔๙] ท. ภิกษุ ก็กามทั้งหลายอันมีโดยกาล พระผู้มีพระภาคตรัสว่า มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก มีโทษมาก เป็นอย่างไร โลกุตรธรรมนี้ อัน บุคคลพึงเห็นเอง ให้ผลไม่มีกาล ควรร้องเรียกผู้อื่นว่า ท่านจงมาดูเถิด ควร น้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนทั้งหลาย พึงทราบเฉพาะตน เป็นอย่างไร ฯ [๕๐] ส. ท่านผู้มีอายุ เราเป็นผู้ใหม่ บวชไม่นาน เพิ่งมาสู่ธรรมวินัย นี้ เราไม่อาจบอกท่านได้พิสดาร พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต- *สัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จประทับที่ตโปทาราม เขตพระนครราชคฤห์ ท่านเข้า ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นแล้ว ทูลถามเรื่องนี้เถิด พระผู้มีพระภาคทรง พยากรณ์แก่ท่านอย่างใด ท่านพึงทรงจำเรื่องนั้นไว้อย่างนั้นเถิด ฯ ท. พระผู้มีพระภาคนั้น อันพวกเทวดามีบริวารมากจำพวกอื่นแวดล้อม แล้ว ข้าพเจ้าจะเข้าไปเฝ้าไม่ได้ง่ายเลย ภิกษุ ถ้าท่านเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค นั้นแล้วพึงทูลถามเรื่องนี้ แม้ข้าพเจ้าพึงมาเพื่อฟังธรรม ฯ พระสมิทธิเถระผู้มีอายุรับต่อเทวดานั้นว่า ท่านผู้มีอายุ เราจะทูลถาม อย่างนี้ แล้วจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ครั้นเข้าไปแล้ว จึงถวายอภิวาท พระผู้มีพระภาค แล้วนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ [๕๑] พระสมิทธิเถระผู้มีอายุ ครั้นนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ทูลคำนี้กะพระผู้มีพระภาคว่า ข้าพระองค์ขอประทานโอกาสกราบทูล ข้าพระองค์ ตื่นขึ้นในเวลาใกล้รุ่งแห่งราตรี เข้าไปที่ลำน้ำตโปทาเพื่อล้างตัว ครั้นล้างตัวแล้ว กลับขึ้นยืน มีจีวรผืนเดียวรอให้ตัวแห้ง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ครั้งนั้นแล เมื่อ ราตรีใกล้สว่าง เทวดาองค์หนึ่ง มีวรรณงาม ยังลำน้ำตโปทาทั้งสิ้นให้สว่างทั่ว เข้าไปหาข้าพระองค์ ครั้นแล้วจึงลอยอยู่ในอากาศ ได้กล่าวด้วยคาถานี้ว่า ภิกษุ ท่านไม่บริโภคแล้ว ยังขออยู่ ท่านบริโภคแล้ว ก็ ไม่ต้องขอเลย ภิกษุ ท่านบริโภคแล้ว จงขอเถิด กาลอย่า ล่วงท่านไปเสียเลย ฯ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเทวดากล่าวอย่างนี้แล้ว ข้าพระองค์ได้กล่าว กะเทวดานั้นด้วยคาถาว่า เรายังไม่รู้กาล กาลยังลับ มิได้ปรากฏ เพราะเหตุนั้น เราไม่ บริโภคแล้ว จึงยังขออยู่ กาลอย่าล่วงเราไปเสียเลย ฯ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ครั้งนั้นแล เทวดานั้นลงมายืนที่พื้นดินแล้วกล่าว คำนี้กะข้าพระองค์ว่า ภิกษุ ท่านเป็นบรรพชิตยังหนุ่มแน่น มีผมดำ ประกอบ ด้วยปฐมวัยจำเริญรุ่น จะเป็นผู้ไม่เพลิดเพลินในกามทั้งหลายเสียแล้ว ภิกษุ ท่านจงบริโภคกามทั้งหลายเป็นของมนุษย์ อย่าละกามที่เห็นประจักษ์ วิ่งเข้าไป หาทิพยกามอันมีโดยกาลเลย ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเทวดานั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ข้าพระองค์ได้กล่าวคำนี้กะเทวดานั้นว่า ท่านผู้มีอายุ เราหาได้ละกามที่เห็น ประจักษ์ วิ่งเข้าไปหาทิพยกามอันมีโดยกาลไม่ ท่านผู้มีอายุ เราละกามอันมีโดย กาลแล้ว วิ่งเข้าไปหาโลกุตรธรรมที่เห็นประจักษ์ ท่านผู้มีอายุ ด้วยว่ากามทั้งหลาย อันมีโดยกาล พระผู้มีพระภาคตรัสว่า มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกาม ทั้งหลายนั้นมีโทษยิ่ง โลกุตรธรรมนี้ อันบุคคลพึงเห็นเอง ให้ผลไม่มีกาล ควรร้องเรียกผู้อื่นว่า ท่านจงมาดูเถิด ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนทั้งหลาย พึงทราบเฉพาะตน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์กล่าวอย่างนี้แล้ว เทวดานั้นได้กล่าวคำนี้กะข้าพระองค์ว่า ภิกษุ ก็กามทั้งหลายอันมีโดยกาล พระผู้มี พระภาคตรัสว่า มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก มีโทษมากเป็นอย่างไร โลกุตรธรรมนี้ อันบุคคลพึงเห็นเอง ให้ผลไม่มีกาล ควรร้องเรียกผู้อื่นว่า ท่าน จงมาดูเถิด ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนทั้งหลายพึงทราบเฉพาะตน เป็น อย่างไร ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเทวดานั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ข้าพระองค์ได้ กล่าวคำนี้กะเทวดานั้นว่า ท่านผู้มีอายุ เราเป็นผู้บวชใหม่ เพิ่งมาสู่ธรรมวินัยนี้ เราไม่อาจบอกท่านได้พิสดาร พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันตสัมมา- *สัมพุทธเจ้า เสด็จประทับอยู่ที่ตโปทาราม เขตพระนครราชคฤห์ ท่านเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นแล้ว ทูลถามเรื่องนี้เถิด พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ แก่ท่านอย่างไร ท่านพึงทรงจำเรื่องนั้นไว้อย่างนั้นเถิด ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์กล่าวอย่างนี้แล้ว เทวดานั้นได้กล่าวคำนี้กะข้าพระองค์ว่า ภิกษุ พระผู้มีพระภาคนั้น อันพวกเทวดามีบริวารมากจำพวกอื่นแวดล้อมแล้ว ข้าพเจ้า จะเข้าไปเฝ้าไม่ได้ง่ายเลย ภิกษุ ถ้าท่านเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคนั้นแล้วพึงทูล ถามเรื่องนี้ แม้ข้าพเจ้าพึงมาเพื่อฟังธรรม ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าคำของเทวดา นั้นเป็นคำจริง เทวดานั้นพึงมาในที่ใกล้วิหารนี้นี่แล ฯ เมื่อพระสมิทธิเถระทูลอย่างนี้แล้ว เทวดานั้นได้กล่าวคำนี้กะพระสมิทธิ- *เถระผู้มีอายุว่า ทูลถามเถิด ภิกษุ ทูลถามเถิด ภิกษุ ข้าพเจ้าตามมาถึงแล้ว ฯ [๕๒] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะเทวดานั้นด้วยคาถา ทั้งหลายว่า สัตว์ทั้งหลายมีความสำคัญในข้อที่ได้รับบอก ติดอยู่ในข้อที่ได้ รับบอก ไม่กำหนดรู้ข้อที่ได้รับบอก ย่อมมาสู่อำนาจแห่งมัจจุ ส่วนขีณาสวภิกษุกำหนดรู้ข้อที่ได้รับบอก ย่อมไม่สำคัญ ข้อที่ได้รับบอกแล้ว เพราะข้อที่ได้รับบอกนั้น ย่อมไม่มีแก่ ขีณาสวภิกษุนั้น ฉะนั้น เหตุที่จะพึงพูดถึงข้อที่ได้รับบอก จึงมิได้มีแก่ขีณาสวภิกษุนั้น ดูกรเทวดา ถ้าท่านเข้าใจ ก็จงพูด ฯ เทวดานั้นทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่ทราบเนื้อความแห่ง ธรรมนี้ ที่พระผู้มีพระภาคตรัสโดยย่อให้ได้ความโดยพิสดารได้ ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอพระโอกาส ข้าพระองค์พึงทราบเนื้อความแห่งธรรมนี้ ที่ พระผู้มีพระภาคตรัสโดยย่อให้ได้ความโดยพิสดารได้อย่างไร พระผู้มีพระภาค โปรดตรัสแก่ข้าพระองค์อย่างนั้นเถิด ฯ [๕๓] พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปด้วยพระคาถาว่า บุคคลใดสำคัญว่าเราเสมอเขา ว่าเราดีกว่าเขา ว่าเราเลวกว่าเขา บุคคลนั้นพึงวิวาทกับเขา ขีณาสวภิกษุเป็นผู้ไม่หวั่นไหวอยู่ใน มานะ ๓ อย่าง มานะว่าเราเสมอเขา ว่าเราดีกว่าเขา ว่าเราเลว กว่าเขา ย่อมไม่มีแก่ขีณาสวภิกษุนั้น ดูกรเทวดา ถ้าท่าน เข้าใจก็จงพูดเถิด ฯ เทวดานั้นทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่ทราบเนื้อความแห่ง ธรรมนี้ ที่พระผู้มีพระภาคตรัสโดยย่อให้ได้ความโดยพิสดารได้ ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอประทานพระโอกาส ข้าพระองค์พึงทราบเนื้อความแห่ง ธรรมนี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสโดยย่อให้ได้ความโดยพิสดารได้อย่างใด ขอพระผู้มี- *พระภาคโปรดตรัสแก่ข้าพระองค์อย่างนั้นเถิด ฯ [๕๔] พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปด้วยพระคาถาว่า ขีณาสวภิกษุละบัญญัติเสียแล้ว บรรลุธรรมที่ปราศจากมานะ แล้ว ได้ตัดตัณหาในนามรูปนี้เสียแล้ว พวกเทวดา พวกมนุษย์ ในโลกนี้ก็ดี ในโลกอื่นก็ดี ในสวรรค์ทั้งหลายก็ดี ในสถานที่ อาศัยของสัตว์ทั้งปวงก็ดี เที่ยวค้นหาก็ไม่พบขีณาสวภิกษุนั้น ผู้มีเครื่องผูกอันตัดเสียแล้ว ไม่มีทุกข์ ไม่มีตัณหา ดูกรเทวดา ถ้าท่านเข้าใจก็จงพูดเถิด ฯ [๕๕] เทวดานั้นทูลว่า ข้าแต่พระองค์ ข้าพระองค์ทราบเนื้อความแห่ง ธรรมนี้ ที่พระผู้มีพระภาคตรัสโดยย่อให้ได้ความโดยพิสดารอย่างนี้ว่า ไม่ควรทำบาปด้วยวาจา ด้วยใจ และด้วยกาย อย่างไหนๆ ในโลก ทั้งปวง ควรละกามทั้งหลายเสียแล้ว มีสติ มีสัมปชัญญะ ไม่ควรเสพทุกข์อัน ประกอบด้วยโทษ ไม่เป็นประโยชน์ ฯ
จบนันทนวรรคที่ ๒
-----------------------------------------------------
สูตรที่กล่าวในนันทนวรรคนั้น นันทนสูตร นันทิสูตร นัตถิปุตตสมสูตร ขัตติยสูตร สกมานสูตร นิททาตันทิสูตร ทุกกรสูตร หิริสูตร กุฏิกาสูตร เป็นที่ ๙ กับสมิทธิสูตร เป็นที่ ๑๐ ท่านกล่าวแล้วฉะนี้ ฯ
-----------------------------------------------------
สัตติวรรคที่ ๓
สัตติสูตรที่ ๑
[๕๖] เทวดานั้น ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า ภิกษุพึงมีสติ เว้นรอบเพื่อละกามราคะ เหมือนบุรุษที่ถูก ประหารด้วยหอก มุ่งถอนเสีย และเหมือนบุรุษที่ถูกไฟไหม้ บนศีรษะ มุ่งดับไฟ ฉะนั้น ฯ [๕๗] พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถาว่า ภิกษุพึงมีสติ เว้นรอบเพื่ออันละสักกายทิฏฐิ เหมือนบุรุษถูก ประหารด้วยหอก และเหมือนบุรุษที่ถูกไฟไหม้บนศีรษะ ฯ
ผุสติสูตรที่ ๒
[๕๘] ท. วิบากย่อมไม่ถูกบุคคลผู้ไม่ถูกกรรม วิบากพึงถูก บุคคลผู้ถูกกรรมโดยแท้ เพราะฉะนั้น วิบากย่อมถูกบุคคลผู้ถูก กรรม ผู้ประทุษร้าย นรชนผู้ไม่ประทุษร้าย ฯ [๕๙] ภ. บุคคลใดย่อมประทุษร้ายแก่นรชน ผู้ไม่ประทุษร้าย เป็นผู้บริสุทธิ์ ปราศจากกิเลส บาปย่อมกลับมาถึงบุคคลนั้น ผู้เป็นพาลแท้ ประดุจธุลีอันละเอียดที่ซัดไปทวนลม ฉะนั้น ฯ
ชฏาสูตรที่ ๓
[๖๐] ท. หมู่สัตว์รกทั้งภายใน รกทั้งภายนอก ถูกรกชัฏหุ้มห่อ แล้ว ข้าแต่พระโคดม เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์ขอถาม พระองค์ว่า ใครพึงถางรกชัฏนี้ได้ ฯ [๖๑] ภ. นรชนผู้มีปัญญา ตั้งมั่นแล้วในศีล อบรมจิตและ ปัญญาให้เจริญอยู่ เป็นผู้มีความเพียร มีปัญญารักษาตนรอด ภิกษุนั้นพึงถางรกชัฏนี้ได้ ราคะก็ดี โทสะก็ดี อวิชชาก็ดี บุคคลทั้งหลายใด กำจัดเสียแล้ว บุคคลทั้งหลายนั้น เป็น ผู้มีอาสวะสิ้นแล้ว เป็นผู้ไกลจากกิเลส ตัณหาเป็นเครื่องยุ่ง อันบุคคลทั้งหลายนั้นสางเสียแล้ว นามก็ดี รูปก็ดี ปฏิฆสัญญา และรูปสัญญาก็ดี ย่อมดับหมดในที่ใด ตัณหาเป็นเครื่องยุ่ง นั้น ย่อมขาดไปในที่นั้น ฯ
มโนนิวารณสูตรที่ ๔
[๖๒] ท. บุคคลพึงห้ามใจแต่อารมณ์ใดๆ ทุกข์ย่อมไม่มาถึง บุคคลนั้นเพราะอารมณ์นั้นๆ บุคคลนั้นพึงห้ามใจแต่อารมณ์ ทั้งปวง บุคคลนั้นย่อมพ้นจากทุกข์เพราะอารมณ์ทั้งปวง ฯ [๖๓] ภ. บุคคลไม่ควรห้ามใจแต่อารมณ์ทั้งปวง ที่เป็นเหตุให้ ใจมาถึงความสำรวม บาปย่อมเกิดขึ้นแต่อารมณ์ใดๆ บุคคล พึงห้ามใจแต่อารมณ์นั้นๆ ฯ
อรหันตสูตรที่ ๕
[๖๔] ท. ภิกษุใดเป็นผู้ไกลจากกิเลส มีกิจทำเสร็จแล้ว มี อาสวะสิ้นแล้ว เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งร่างกายอันมีในที่สุด ภิกษุนั้น พึงกล่าวว่า เราพูดดังนี้บ้าง บุคคลทั้งหลายอื่นพูดกะเรา ดังนี้บ้าง ฯ [๖๕] ภ. ภิกษุใดเป็นผู้ไกลจากกิเลส มีกิจทำเสร็จแล้ว มี อาสวะสิ้นแล้ว เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งร่างกายอันมีในที่สุด ภิกษุนั้น พึงกล่าวว่า เราพูดดังนี้บ้าง บุคคลทั้งหลายอื่นพูดกะเราดังนี้ บ้าง ภิกษุนั้นฉลาด ทราบคำพูดในโลก พึงกล่าวตามสมมติ ที่พูดกัน ฯ [๖๖] ท. ภิกษุใดเป็นพระอรหันต์ มีกิจทำเสร็จแล้ว มีอาสวะ สิ้นแล้ว เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งร่างกายอันมีในที่สุด ภิกษุนั้นยังติด มานะหรือหนอ จึงกล่าวว่า เราพูดดังนี้บ้าง บุคคลทั้งหลาย อื่นพูดกะเรา ดังนี้บ้าง ฯ [๖๗] ภ. กิเลสเป็นเครื่องผูกทั้งหลาย มิได้มีแก่ภิกษุที่ละมานะ เสียแล้ว มานะและคันถะทั้งปวง อันภิกษุนั้นกำจัดเสียแล้ว ภิกษุเป็นผู้มีปัญญาดี ล่วงเสียแล้วซึ่งความสำคัญ ภิกษุนั้น พึงกล่าวว่า เราพูดดังนี้บ้าง บุคคลทั้งหลายอื่นพูดกะเรา ดังนี้บ้าง ภิกษุนั้นฉลาด ทราบคำพูดในโลก พึงกล่าวตาม สมมติที่พูดกัน ฯ
ปัชโชตสูตรที่ ๖
[๖๘] ท. โลกย่อมรุ่งเรืองเพราะแสงสว่างทั้งหลายใด แสงสว่าง ทั้งหลายนั้นย่อมมีอยู่เท่าไรในโลก ข้าพระองค์ทั้งหลายมา เพื่อจะทูลถามพระผู้มีพระภาค ไฉนจะรู้จักแสงสว่างที่ทูล ถามนั้น ฯ [๖๙] ภ. แสงสว่างทั้งหลายมีอยู่ ๔ อย่างในโลก แสงสว่างที่ ๕ มิได้มีในโลกนี้ ดวงอาทิตย์สว่างในกลางวัน ดวงจันทร์ สว่างในกลางคืน อนึ่ง ไฟย่อมรุ่งเรืองในกลางวันและกลางคืน ทุกหนแห่ง พระสัมพุทธเจ้าประเสริฐกว่าแสงสว่างทั้งหลาย แสงสว่างของพระสัมพุทธเจ้า เป็นแสงสว่างอย่างเยี่ยม ฯ
สรสูตรที่ ๗
[๗๐] ท. สงสารทั้งหลายย่อมกลับแต่ที่ไหน วัฏฏะย่อมไม่เป็น ไปในที่ไหน นามก็ดี รูปก็ดี ย่อมดับหมดในที่ไหน ฯ [๗๑] ภ. น้ำ ดิน ไฟ ลม ย่อมไม่ตั้งอยู่ในที่ใด สงสาร ทั้งหลายย่อมกลับแต่ที่นี้ วัฏฏะย่อมไม่เป็นไปในที่นี้ นามก็ดี รูปก็ดี ย่อมดับหมดในที่นี้ ฯ
มหัทธนสูตรที่ ๘
[๗๒] ท. กษัตริย์ทั้งหลายมีทรัพย์มาก มีสมบัติมาก ทั้งมีแว่น แคว้น ไม่รู้จักพอในกามทั้งหลาย ย่อมขันแข่งซึ่งกันและกัน เมื่อกษัตริย์ทั้งหลายนั้นมัวขวนขวาย ลอยไปตามกระแสแห่ง ภพ บุคคลพวกไหนไม่มีความขวนขวาย ละความโกรธและ ความทะเยอทะยานเสียแล้วในโลก ฯ [๗๓] ภ. บุคคลทั้งหลาย ละเรือน ละบุตร ละปศุสัตว์ที่รัก บวชแล้ว กำจัดราคะ โทสะ และอวิชชาเสียแล้ว เป็นผู้มี อาสวะสิ้นแล้ว เป็นผู้ไกลจากกิเลส บุคคลพวกนั้นเป็นผู้ไม่ ขวนขวายในโลก ฯ
จตุจักกสูตรที่ ๙
[๗๔] ท. ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก สรีระมีจักร ๔ มี ทวาร ๙ เต็มด้วยของไม่สะอาด ประกอบด้วยโลภะ ย่อม เป็นดังว่าเปือกตม ความออกไป (จากทุกข์) ได้ จักมีได้ อย่างไร ฯ [๗๕] ภ. ตัดความผูกโกรธด้วย กิเลสเป็นเครื่องร้อยรัดด้วย ความปรารถนาและความโลภอันลามกด้วย ถอนตัณหาอันมี อวิชชาเป็นมูลเสียแล้วอย่างนี้ ความออกไป (จากทุกข์) จึงจักมีได้ ฯ
เอณิชังคสูตรที่ ๑๐
[๗๖] ท. พวกข้าพระองค์เข้ามาเฝ้าแล้ว ขอทูลถามพระองค์ ผู้มีความเพียรซูบผอม มีแข้งดังเนื้อทราย มีอาหารน้อย ไม่มี ความโลภ เป็นเหมือนราชสีห์และช้างเที่ยวไปผู้เดียว ไม่มี ห่วงใยในกามทั้งหลาย บุคคลจะพ้นจากทุกข์ได้อย่างไร ฯ [๗๗] ภ. กามคุณ ๕ มีใจเป็นที่ ๖ บัณฑิตประกาศแล้วในโลก บุคคลเลิกความพอใจในนามรูปนี้ได้แล้ว ก็พ้นจากทุกข์ได้ อย่างนี้ ฯ
จบสัตติวรรคที่ ๓
-----------------------------------------------------
สูตรที่กล่าวในสัตติวรรคนั้น สัตติสูตร ผุสติสูตร ชฏาสูตร มโน- *นิวารณสูตร อรหันตสูตร ปัชโชตสูตร สรสูตร มหัทธนสูตร จตุจักกสูตร เป็นที่ ๙ กับเอณิชังคสูตร ครบ ๑๐ ฉะนี้แล ฯ
-----------------------------------------------------
สตุลลปกายิกวรรคที่ ๔
สัพภิสูตรที่ ๑
[๗๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว พวกเทวดาสตุลลปกายิกา (ผู้เทิดทูนธรรมของสัตบุรุษ) มากด้วยกัน มีวรรณงาม ยังพระวิหารเชตวันให้สว่างทั่วกัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว จึงถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค แล้วจึงยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ [๗๙] เทวดาองค์หนึ่ง ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าว คาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า บุคคลควรนั่งร่วมกับพวกสัตบุรุษ ควรทำความสนิทกับพวก สัตบุรุษ บุคคลทราบสัทธรรมของพวกสัตบุรุษแล้ว มีแต่คุณ อันประเสริฐ ไม่มีโทษอันลามกเลย ฯ [๘๐] ลำดับนั้น เทวดาอื่นอีกได้กล่าวคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า บุคคลควรนั่งร่วมกับพวกสัตบุรุษ ควรทำความสนิทกับพวก สัตบุรุษ บุคคลทราบสัทธรรมของพวกสัตบุรุษแล้ว ย่อมได้- *ปัญญา หาได้ปัญญาแต่คนอันธพาลอื่นไม่ ฯ [๘๑] ลำดับนั้นแล เทวดาอื่นอีกได้กล่าวคาถานี้ในสำนักพระผู้มี- *พระภาคว่า บุคคลควรนั่งร่วมกับพวกสัตบุรุษ ควรทำความสนิทกับพวก สัตบุรุษ บุคคลทราบสัทธรรมของพวกสัตบุรุษแล้ว ย่อม ไม่เศร้าโศก ในท่ามกลางแห่งเรื่องเป็นที่ตั้งแห่งความเศร้า- *โศก ฯ [๘๒] ลำดับนั้นแล เทวดาอื่นอีกได้กล่าวคาถานี้ในสำนักพระผู้มี- *พระภาคว่า บุคคลควรนั่งร่วมกับพวกสัตบุรุษ ควรทำความสนิทกับพวก สัตบุรุษ บุคคลทราบสัทธรรมของพวกสัตบุรุษแล้ว ย่อม ไพโรจน์ในท่ามกลางแห่งญาติ ฯ [๘๓] ลำดับนั้นแล เทวดาอื่นอีกได้กล่าวคาถานี้ในสำนักพระผู้มี- *พระภาคว่า บุคคลควรนั่งร่วมกับพวกสัตบุรุษ ควรทำความสนิทกับพวก สัตบุรุษ สัตว์ทั้งหลายทราบสัทธรรมของพวกสัตบุรุษแล้ว ย่อมไปสู่สุคติ ฯ [๘๔] ในลำดับนั้นแล เทวดาอื่นอีก ได้กล่าวคาถานี้ในสำนัก พระผู้มีพระภาคว่า บุคคลควรนั่งร่วมกับพวกสัตบุรุษ ควรทำความสนิทกับพวก สัตบุรุษ สัตว์ทั้งหลายทราบสัทธรรมของพวกสัตบุรุษแล้ว ย่อมดำรงอยู่สบายเนืองๆ ฯ ในลำดับนั้นแล เทวดาอื่นอีก ได้กราบทูลคำนี้กะพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค คำของใครหนอแลเป็นสุภาษิต ฯ [๘๕] พระผู้มีพระภาคตรัสบอกว่า คำของพวกท่านทั้งหมดเป็นสุภาษิต โดยปริยาย ก็แต่พวกท่านจงฟังซึ่งคำของเราบ้าง บุคคลควรนั่งร่วมกับพวกสัตบุรุษ ควรทำความสนิทกับพวก สัตบุรุษ บุคคลทราบสัทธรรมของพวกสัตบุรุษแล้ว ย่อมพ้น- *จากทุกข์ทั้งปวง ฯ
มัจฉริสูตรที่ ๒
[๘๖] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อาราม ของท่านอนาถบิณฑิตเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล เมื่อปฐมยามล่วงไป แล้ว พวกเทวดาสตุลลปกายิกามากด้วยกัน มีวรรณงาม ยังพระวิหารเชตวันทั้งสิ้น ให้สว่าง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วจึงถวายอภิวาทพระผู้มี- *พระภาค แล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ [๘๗] เทวดาตนหนึ่ง ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าว คาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า เพราะความตระหนี่ และความประมาทอย่างนี้ บุคคลจึงให้ ทานไม่ได้ บุคคลผู้หวังบุญ รู้แจ้งอยู่ พึงให้ทานได้ ฯ [๘๘] ในลำดับนั้นแล เทวดาอื่นอีก ได้กล่าวคาถาทั้งหลายนี้ในสำนัก พระผู้มีพระภาคว่า คนตระหนี่กลัวภัยใดย่อมให้ทานไม่ได้ ภัยนั้นนั่นแลย่อมมี แก่คนตระหนี่ผู้ไม่ให้ทาน คนตระหนี่ย่อมกลัวความหิวและ ความกระหายใด ความหิวและความกระหายนั้นย่อมถูกต้องคน ตระหนี่นั้นนั่นแลผู้เป็นพาลทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า ฉะนั้น บุคคลควรกำจัดความตระหนี่อันเป็นสนิมในใจ ให้ทานเถิด เพราะบุญทั้งหลายย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในโลกหน้า ฯ [๘๙] ในลำดับนั้นแล เทวดาอื่นอีก ได้กล่าวคาถาทั้งหลายนี้ในสำนัก พระผู้มีพระภาคว่า ชนทั้งหลายเหล่าใด เมื่อของมีน้อยก็แบ่งให้ เหมือนพวกเดิน ทางไกลก็แบ่งของให้แก่พวกที่เดินทางร่วมกัน ชนทั้งหลาย เหล่านั้น เมื่อบุคคลทั้งหลายเหล่าอื่นตายแล้ว ก็ชื่อว่าย่อม ไม่ตาย ธรรมนี้เป็นของบัณฑิตแต่ปางก่อน ชนพวกหนึ่งเมื่อ ของมีน้อยก็แบ่งให้ ชนพวกหนึ่งมีของมากก็ไม่ให้ ทักษิณาที่ ให้แต่ของน้อย นับเสมอด้วยพัน ฯ [๙๐] ในลำดับนั้นแล เทวดาอื่นอีก ได้กล่าวคาถาทั้งหลายนี้ในสำนัก พระผู้มีพระภาคว่า ทาน พวกพาลชนเมื่อให้ ให้ได้ยาก กุศลธรรม พวกพาล- *ชนเมื่อทำ ทำได้ยาก พวกอสัตบุรุษย่อมไม่ทำตาม ธรรม ของสัตบุรุษ อันพวกอสัตบุรุษดำเนินตามได้แสนยาก เพราะ ฉะนั้น การไปจากโลกนี้ของพวกสัตบุรุษและของพวกอสัตบุรุษ จึงต่างกัน พวกอสัตบุรุษย่อมไปสู่นรก พวกสัตบุรุษย่อมเป็น ผู้ดำเนินไปสู่สวรรค์ ฯ ในลำดับนั้นแล เทวดาอื่นอีก ได้กราบทูลคำนี้กะพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค คำของใครหนอแลเป็นสุภาษิต ฯ [๙๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า คำของพวกท่านทั้งหมดเป็นสุภาษิตโดย ปริยาย ก็แต่พวกท่านจงฟังซึ่งคำของเราบ้าง บุคคลแม้ใด ย่อมประพฤติธรรม ประพฤติสะอาด เป็นผู้ เลี้ยงภริยา และเมื่อของมีน้อยก็ให้ได้ เมื่อบุรุษแสนหนึ่ง บูชาภิกษุพันหนึ่ง หรือบริจาคทรัพย์พันกหาปณะ การบูชาของ บุคคลเหล่านั้น ย่อมไม่ถึงส่วนร้อย ของบุคคลอย่างนั้น ฯ [๙๒] ในลำดับนั้นแล เทวดาอื่นอีก ได้กล่าวกะพระผู้มีพระภาค ด้วยคาถาว่า การบูชาอันไพบูลย์ใหญ่โตนี้ ย่อมไม่เท่าถึงส่วนแห่งทานที่ บุคคลให้ด้วยความประพฤติธรรม เพราะเหตุอะไร เมื่อบุรุษ แสนหนึ่งบูชาภิกษุพันหนึ่ง หรือบริจาคทรัพย์พันกหาปณะ การบูชาของบุรุษเหล่านั้นย่อมไม่ถึงส่วนร้อยของบุคคลอย่าง นั้น ฯ [๙๓] ในลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะเทวดานั้นด้วย พระคาถาว่า บุคคลเหล่าหนึ่ง ตั้งอยู่ในกรรมปราศจากความสงบ (ปราศ- *จากธรรม) โบยเขา ฆ่าเขา ทำให้เขาเศร้าโศกแล้วให้ทาน ทานนั้นจัดว่าทานมีหน้าอันนองด้วยน้ำตา จัดว่าทานเป็นไปกับ ด้วยอาชญา จึงย่อมไม่เท่าถึงส่วนแห่งทานที่ให้ด้วยความสงบ (ประพฤติธรรม) เมื่อบุรุษแสนหนึ่งบูชาภิกษุพันหนึ่ง หรือ บริจาคทรัพย์พันกหาปณะ การบูชาของบุรุษเหล่านั้น ย่อมไม่ ถึงส่วนร้อยของบุคคลอย่างนั้น โดยนัยอย่างนี้ ฯ
สาธุสูตรที่ ๓
[๙๔] ครั้งนั้นแล เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว พวกเทวดาสตุลลปกายิกา มากด้วยกัน มีวรรณงาม ยังพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่าง เข้าไปเฝ้าพระผู้มี- *พระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้ว จึงได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ [๙๕] เทวดาองค์หนึ่ง ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้เปล่ง อุทานนี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ไม่มีทุกข์ ทานยังประโยชน์ให้สำเร็จได้แล เพราะความตระหนี่และความประมาทอย่างนี้ บุคคลจึงให้ทาน ไม่ได้ อันบุคคลผู้หวังบุญ รู้แจ้งอยู่ พึงให้ทานได้ ฯ [๙๖] ในลำดับนั้นแล เทวดาอื่นอีก ได้เปล่งอุทานนี้ในสำนักพระผู้มี- *พระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ไม่มีทุกข์ ทานยังประโยชน์ให้สำเร็จได้แล อนึ่ง แม้เมื่อของมีอยู่น้อย ทานก็ยังประโยชน์ให้สำเร็จได้ บุคคลพวกหนึ่ง เมื่อของมีน้อย ย่อมแบ่งให้ได้ บุคคลพวก หนึ่ง มีของมากก็ให้ไม่ได้ ทักษิณาที่ให้แต่ของน้อย ก็นับ เสมอด้วยพัน ฯ [๙๗] ในลำดับนั้นแล เทวดาอื่นอีก ได้เปล่งอุทานนี้ในสำนักพระผู้มี- *พระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ไม่มีทุกข์ ทานยังประโยชน์ให้สำเร็จได้แล แม้เมื่อของมีอยู่น้อย ทานก็ยังประโยชน์ให้สำเร็จได้ อนึ่ง ทานที่ให้แม้ด้วยศรัทธาก็ยังประโยชน์ให้สำเร็จได้ นักปราชญ์ ทั้งหลายกล่าวว่าทานและการรบเสมอกัน พวกวีรบุรุษแม้มี น้อย ย่อมชนะคนขลาดที่มากได้ ถ้าบุคคลเชื่ออยู่ย่อมให้ สิ่งของแม้น้อยได้ เพราะฉะนั้นแล ทายกนั้นย่อมเป็นผู้มี ความสุขในโลกหน้า ฯ [๙๘] ในลำดับนั้นแล เทวดาอื่นอีก ได้เปล่งอุทานนี้ในสำนักพระผู้มี พระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ไม่มีทุกข์ ทานยังประโยชน์ให้สำเร็จได้แล แม้เมื่อของมีอยู่น้อย การให้ทานได้เป็นการดี อนึ่ง ทานที่ ให้แม้ด้วยศรัทธาก็ยังประโยชน์ให้สำเร็จได้ อนึ่ง ทานที่ให้ แก่บุคคลผู้มีธรรมอันได้แล้ว ยิ่งเป็นการดี บุคคลใดเกิดมาย่อม ให้ทานแก่ผู้มีธรรมอันได้แล้ว ผู้มีธรรมอันบรรลุแล้วด้วยความ หมั่นและความเพียร บุคคลนั้นล่วงพ้นนรกแห่งยมราช ย่อม เข้าถึงสถานอันเป็นทิพย์ ฯ [๙๙] ในลำดับนั้นแล เทวดาอื่นอีก ได้เปล่งอุทานนี้ในสำนักพระผู้มี- *พระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ไม่มีทุกข์ ทานยังประโยชน์ให้สำเร็จได้แล แม้เมื่อของมีอยู่น้อย การให้ทานได้เป็นการดี ทานที่ให้แม้ ด้วยศรัทธาก็ยังประโยชน์ให้สำเร็จได้ ทานที่ให้แก่บุคคลผู้มี ธรรมอันได้แล้ว ยิ่งเป็นการดี อนึ่ง ทานที่บุคคลเลือกให้ยิ่ง เป็นการดี ทานที่เลือกให้ พระสุคตทรงสรรเสริญแล้ว บุคคลทั้งหลายผู้ควรแก่ทักษิณา ย่อมมีอยู่ในโลกคือหมู่สัตว์ นี้ ทานทั้งหลาย อันบุคคลให้แล้วในบุคคลทั้งหลายนั้น ย่อม มีผลมาก เหมือนพืชทั้งหลายที่บุคคลหว่านแล้วในนาดี ฯ [๑๐๐] ในลำดับนั้นแล เทวดาอื่นอีก ได้เปล่งอุทานนี้ในสำนัก พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ไม่มีทุกข์ ทานยังประโยชน์ให้สำเร็จได้แล แม้เมื่อของมีอยู่น้อย การให้ทานได้เป็นการดี ทานที่ให้แม้ ด้วยศรัทธาก็ให้ประโยชน์สำเร็จได้ ทานที่ให้แก่บุคคลผู้มี ธรรมอันได้แล้วยิ่งเป็นการดี อนึ่ง ทานที่บุคคลเลือกให้ยิ่ง เป็นการดี อนึ่ง ความสำรวมแม้ในสัตว์ทั้งหลายยิ่งเป็นการดี บุคคลใดประพฤติเป็นผู้ไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายอยู่ ไม่ทำ บาป เพราะกลัวความติเตียนแห่งผู้อื่น บัณฑิตทั้งหลายย่อม สรรเสริญบุคคลซึ่งเป็นผู้กลัวบาป แต่ไม่สรรเสริญบุคคลผู้ กล้าในการทำบาปนั้น สัตบุรุษทั้งหลายย่อมไม่ทำบาป เพราะ ความกลัวบาปแท้จริง ฯ ในลำดับนั้นแล เทวดาอื่นอีก ได้กล่าวคำนี้กะพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค คำของใครหนอแลเป็นสุภาษิต ฯ [๑๐๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า คำของพวกท่านทั้งหมดเป็นสุภาษิต โดยปริยาย แต่ว่าพวกท่านจงฟังซึ่งคำของเราบ้าง ก็ทานอันบัณฑิตสรรเสริญแล้วโดยส่วนมากโดยแท้ ก็แต่ ธรรมบท (นิพพาน) แหละประเสริฐว่าทาน เพราะว่า สัตบุรุษทั้งหลายผู้มีปัญญา ในกาลก่อนก็ดี ในกาลก่อนกว่า ก็ดี บรรลุซึ่งนิพพานแล้วแท้จริง ฯ
นสันติสูตรที่ ๔
[๑๐๒] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ฯ ครั้งนั้นแล เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว พวกเทวดาสตุลลปกายิกามากด้วย กัน มีวรรณงาม ยังพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ ประทับ ครั้นแล้วจึงถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค แล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วน ข้างหนึ่ง ฯ [๑๐๓] เทวดาตนหนึ่ง ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าว คาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า กามทั้งหลายในหมู่มนุษย์ที่เป็นของเที่ยงย่อมไม่มี บุรุษผู้ เกี่ยวข้องแล้ว ผู้ประมาทแล้วในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความ ใคร่ทั้งหลายอันมีอยู่ในหมู่มนุษย์นี้ ไม่มาถึงนิพพานเป็นที่ไม่ กลับมาแต่วัฏฏะเป็นที่ตั้งแห่งมัจจุ เบญจขันธ์เกิดแต่ฉันทะ ทุกข์ก็เกิดแต่ฉันทะ เพราะกำจัดฉันทะเสีย จึงกำจัดเบญจ- *ขันธ์ได้ เพราะกำจัดเบญจขันธ์ได้ จึงกำจัดทุกข์ได้ อารมณ์ อันงามทั้งหลายในโลกไม่เป็นกาม ความกำหนัดที่พร้อมไป ด้วยความดำริเป็นกามของบุรุษ อารมณ์อันงามทั้งหลายย่อม ตั้งอยู่ในโลกอย่างนั้นนั่นแหละ บุคคลผู้มีปัญญาทั้งหลายย่อม กำจัดฉันทะในอารมณ์ทั้งหลายนั้นโดยแท้ บุคคลพึงละความ โกรธเสีย พึงทิ้งมานะเสีย พึงล่วงสังโยชน์ทั้งปวงเสีย ทุกข์ทั้งหลาย ย่อมไม่ตกถึงบุคคลนั้น ผู้ไม่เกี่ยวข้องในนาม รูป ผู้ไม่มีกิเลสเป็นเครื่องกังวล ขีณาสวภิกษุละบัญญัติเสีย แล้ว ไม่ติดมานะแล้ว ได้ตัดตัณหาในนามรูปนี้เสียแล้ว พวกเทวดา พวกมนุษย์ ในโลกนี้ก็ดี ในโลกอื่นก็ดี ใน สวรรค์ทั้งหลายก็ดี ในสถานเป็นที่อาศัยแห่งสัตว์ทั้งปวงก็ดี เที่ยวค้นหา ก็ไม่พบขีณาสวภิกษุนั้น ผู้มีเครื่องผูกอันตัดเสีย แล้ว ไม่มีทุกข์ ไม่มีตัณหา ฯ [๑๐๔] (ท่านพระโมฆราชกล่าว) ก็หากว่า พวกเทวดา พวกมนุษย์ ในโลกนี้ก็ดี ในโลกอื่น ก็ดี ไม่ได้เห็นพระขีณาสพนั้น ผู้อุดมกว่านรชน ผู้ประพฤติ ประโยชน์เพื่อพวกนรชน ผู้พ้นแล้วอย่างนั้น เทวดาและ มนุษย์เหล่าใด ย่อมไหว้พระขีณาสพนั้น เทวดาและมนุษย์ เหล่านั้น ย่อมเป็นผู้อันบัณฑิตพึงสรรเสริญ ฯ [๑๐๕] (พระผู้มีพระภาคตรัส) ดูกรภิกษุ แม้พวกเทวดาและมนุษย์เหล่านั้น ย่อมเป็นผู้อัน บัณฑิตพึงสรรเสริญ พวกเทวดาและมนุษย์เหล่าใด ย่อมไหว้ ขีณาสวภิกษุนั้น ผู้พ้นแล้วอย่างนั้น ดูกรภิกษุ แม้พวก เทวดาและมนุษย์เหล่านั้นรู้ธรรมแล้ว ละวิจิกิจฉาแล้ว ก็ย่อม เป็นผู้ล่วงแล้วซึ่งธรรมเป็นเครื่องข้อง ฯ
อุชฌานสัญญีสูตรที่ ๕
[๑๐๖] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น เมื่อปฐมยามล่วง ไปแล้ว พวกเทวดาผู้มีความมุ่งหมายเพ่งโทษมากด้วยกัน มีวรรณงาม ยังพระ- *วิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ แล้วจึงได้ลอย อยู่ในอากาศ ฯ [๑๐๗] เทวดาตนหนึ่ง ครั้นลอยอยู่ในอากาศแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ใน สำนักพระผู้มีพระภาคว่า บุคคลใดประกาศตนอันมีอยู่โดยอาการอย่างอื่น ให้เขารู้โดย อาการอย่างอื่น บุคคลนั้นลวงปัจจัยเขากินด้วยความเป็น ขโมย เหมือนความลวงกินแห่งพรานนก ก็บุคคลทำกรรมใด ควรพูดถึงกรรมนั้น ไม่ทำกรรมใด ก็ไม่ควรพูดถึงกรรมนั้น บัณฑิตทั้งหลายย่อมรู้จักบุคคลนั้น ผู้ไม่ทำ มัวแต่พูดอยู่ ฯ [๑๐๘] พระผู้มีพระภาคตรัสคาถาทั้งหลายนี้ว่า ใครๆ ไม่อาจดำเนินปฏิปทานี้ด้วยเหตุสักว่าพูด หรือฟัง ส่วนเดียว บุคคลผู้มีปัญญาทั้งหลาย ผู้มีฌาน ย่อมพ้นจาก เครื่องผูกของมาร ด้วยปฏิปทาอันมั่นคงนี้ บุคคลผู้มีปัญญาทั้งหลาย ทราบความเป็นไปของโลกแล้ว รู้แล้ว เป็นผู้ดับกิเลส ข้ามตัณหาเป็นเครื่องเกี่ยวข้องใน โลกแล้วย่อมไม่พูดโดยแท้ ฯ [๑๐๙] ในลำดับนั้นแล เทวดาเหล่านั้นลงมายืนบนแผ่นดิน หมอบ ลงใกล้พระบาททั้งสองของพระผู้มีพระภาคแล้ว ได้ทูลคำนี้กะพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ โทษของพวกข้าพเจ้าล่วงไปแล้ว พวกข้าพเจ้าเหล่า ใด เป็นพาลอย่างไร เป็นผู้หลงแล้วอย่างไร เป็นผู้ไม่ฉลาดอย่างไร ได้สำคัญ แล้วว่าพระผู้มีพระภาคอันพวกเราพึงรุกราน ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ ขอ พระผู้มีพระภาคโปรดอดโทษของพวกข้าพเจ้านั้น เพื่อจะสำรวมในกาลต่อไป ฯ ในลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ทรงยิ้มแย้ม ฯ [๑๑๐] ในลำดับนั้นแล เทวดาเหล่านั้นผู้เพ่งโทษโดยประมาณยิ่ง กลับ ขึ้นไปบนอากาศ เทวดาตนหนึ่งได้กล่าวคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า เมื่อเราแสดงโทษอยู่ ถ้าบุคคลใดมีความโกรธอยู่ในภายใน มีความเคืองหนัก ย่อมไม่อดโทษให้ บุคคลนั้นย่อมสอด สวมเวร หากว่าในโลกนี้ โทษก็ไม่มี ความผิดก็ไม่มี เวร ทั้งหลายก็ไม่สงบ ในโลกนี้ใครพึงเป็นคนฉลาด เพราะ เหตุไร โทษทั้งหลายของใครก็ไม่มี ความผิดของใครก็ไม่มี ใครไม่ถึงแล้วซึ่งความหลงใหล ในโลกนี้ ใครย่อมเป็นผู้มี ปัญญา เป็นผู้มีสติในกาลทั้งปวง ฯ [๑๑๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า โทษทั้งหลายก็ไม่มี ความผิดก็ไม่มีแก่พระตถาคตนั้น ผู้ตรัสรู้ แล้ว ผู้เอ็นดูแก่สัตว์ทั้งปวง พระตถาคตนั้นไม่ถึงแล้วซึ่ง ความหลงใหล พระตถาคตนั้นย่อมเป็นผู้มีปัญญา เป็นผู้มี สติในกาลทั้งปวง เมื่อพวกท่านแสดงโทษอยู่ หากบุคคลใด มีความโกรธอยู่ในภายใน มีความเคืองหนัก ย่อมไม่อด โทษให้ บุคคลนั้นย่อมสอดสวมเวร เราไม่ชอบเวรนั้น เรา ย่อมอดโทษแก่ท่านทั้งหลาย ฯ
สัทธาสูตรที่ ๖
[๑๑๒] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระวิหารเชตวัน อาราม ของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล เมื่อปฐมยามล่วง ไปแล้ว พวกเทวดาสตุลลปกายิกามากด้วยกัน มีวรรณงาม ยังพระวิหารเชตวัน ทั้งสิ้นให้สว่าง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วจึงถวายอภิวาท พระผู้มีพระภาคแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ [๑๑๓] เทวดาตนหนึ่ง ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าว คาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า ศรัทธาเป็นเพื่อนสองของคน หากว่าความเป็นผู้ไม่มีศรัทธา ไม่ตั้งอยู่ แต่นั้นบริวารยศและเกียรติยศย่อมมีแก่เขานั้น อนึ่ง เขานั้นละทิ้งสรีระแล้วก็ไปสู่สวรรค์ บุคคลพึงละความ โกรธเสีย พึงทิ้งมานะเสีย พึงล่วงสังโยชน์ทั้งปวงเสีย กิเลสเป็นเครื่องเกี่ยวข้อง ย่อมไม่เกาะเกี่ยวบุคคลนั้น ผู้ไม่ เกี่ยวข้องในนามรูป ผู้ไม่มีกิเลสเป็นเครื่องกังวล ฯ [๑๑๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า) พวกชนพาลผู้มีปัญญาทราม ย่อมตามประกอบความประมาท ส่วนนักปราชญ์ย่อมรักษาความไม่ประมาท เหมือนบุคคล รักษาทรัพย์อันประเสริฐ บุคคลอย่าตามประกอบความประมาท และอย่าตามประกอบความสนิทสนมด้วยอำนาจความยินดีทาง กาม เพราะว่าบุคคลไม่ประมาทแล้วเพ่งพินิจอยู่ ย่อม บรรลุบรมสุข ฯ
สมยสูตรที่ ๗
[๑๑๕] ข้าพเจ้าสดับมาแล้วอย่างนี้- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่ามหาวัน เขตกรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป ล้วนเป็นพระอรหันต์ ก็พวกเทวดามาแต่โลกธาตุสิบแล้ว ประชุมกันมาก เพื่อจะเห็นพระผู้มีพระภาค และพระภิกษุสงฆ์ ฯ [๑๑๖] ในครั้งนั้นแล เทวดา ๔ องค์ที่เกิดในหมู่พรหมชั้นสุทธาวาส ได้มีความดำริว่า พระผู้มีพระภาคพระองค์นี้แล ประทับอยู่ ณ ป่ามหาวัน เขต กรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป ล้วน เป็นพระอรหันต์ ก็พวกเทวดามาแต่โลกธาตุสิบประชุมกันมาก เพื่อจะเห็นพระผู้มี พระภาคและพระภิกษุสงฆ์ ไฉนหนอแม้เราทั้งหลายควรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว พึงกล่าวคาถาคนละคาถา ในสำนักพระผู้มีพระภาค ฯ [๑๑๗] ในครั้งนั้นแล พวกเทวดาทั้ง ๔ นั้นจึงหายจากหมู่พรหมชั้น สุทธาวาส มาปรากฏอยู่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค เหมือนบุรุษผู้มีกำลัง เหยียดแขนที่คู้ออกหรือคู้แขนที่เหยียดเข้า ฉะนั้น ฯ [๑๑๘] เทวดาองค์หนึ่ง ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วได้กล่าว คาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า การประชุมใหญ่ในป่าใหญ่ มีพวกเทวดามาประชุมกันแล้ว พวกข้าพเจ้ามาสู่ที่ชุมนุมอันเป็นธรรมนี้ เพื่อจะเยี่ยมหมู่ พระผู้ที่ใครๆ ให้แพ้ไม่ได้ ฯ [๑๑๙] ในลำดับนั้นแล เทวดาองค์อื่นอีก ได้กล่าวคาถานี้ในสำนัก พระผู้มีพระภาคว่า ภิกษุทั้งหลายในที่ประชุมนั้นตั้งจิตมั่นแล้ว ได้ทำจิตของตน ให้ตรงแล้ว ภิกษุทั้งปวงนั้นเป็นบัณฑิตย่อมรักษาอินทรีย์ทั้งหลาย ดุจดัง ว่านายสารถีถือบังเหียน ฉะนั้น ฯ [๑๒๐] ในลำดับนั้นแล เทวดาองค์อื่นอีก ได้กล่าวคาถานี้ในสำนัก พระผู้มีพระภาคว่า ภิกษุทั้งหลายนั้นตัดกิเลสดังตะปูเสียแล้ว ตัดกิเลสดังว่าลิ่ม สลักเสียแล้ว ถอนกิเลสดังว่าเสาเขื่อนเสียแล้ว มิได้มี ความหวั่นไหว เป็นผู้หมดจดปราศจากมลทิน อันพระ- *พุทธเจ้าผู้มีจักษุทรงฝึกดีแล้ว เป็นหมู่นาคหนุ่มประพฤติอยู่ ฯ [๑๒๑] ในลำดับนั้นแล เทวดาองค์อื่นอีก ได้กล่าวคาถานี้ในสำนัก พระผู้มีพระภาคว่า ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งถึงแล้วซึ่งพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ชน เหล่านั้นจักไม่ไปสู่อบายภูมิ ละร่างกายอันเป็นของมนุษย์ แล้วจักยังหมู่เทวดาให้บริบูรณ์ ฯ
สกลิกสูตรที่ ๘
[๑๒๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ มิคทายวัน ในสวนมัททกุจฉิ เขตพระนครราชคฤห์ ก็โดยสมัยนั้นแล พระบาทของพระผู้มีพระภาคถูกสะเก็ด หินกระทบแล้ว ได้ยินว่า เวทนาทั้งหลาย ของพระผู้มีพระภาคมาก เป็นความ ลำบากมีในพระสรีระ กล้าแข็ง เผ็ดร้อน ไม่สำราญ ไม่ทรงสบาย ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคทรงมีพระสติสัมปชัญญะอดกลั้นเวทนาทั้งหลาย ไม่ทรงเดือดร้อน ในครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ปูผ้าสังฆาฏิสี่ชั้น ทรงสำเร็จสีหไสยาส โดยพระปรัสเบื้องขวา ซ้อนพระบาทเหลื่อมด้วยพระบาท ทรงมีพระสติ สัมปชัญญะอยู่ ฯ [๑๒๓] ครั้งนั้นแล เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว พวกเทวดาสตุลลปกายิกา เจ็ดร้อย มีวรรณงาม ยังสวนมัททกุจฉิทั้งสิ้นให้สว่าง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ครั้นแล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วน ข้างหนึ่ง ฯ [๑๒๔] เทวดาตนหนึ่งครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้เปล่ง อุทานนี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า พระสมณโคดมผู้เจริญเป็นนาคหนอ ก็แหละ พระสมณโคดม ทรงมีพระสติสัมปชัญญะ ทรงอดกลั้นซึ่งเวทนาทั้งหลายอันมีใน พระสรีระเกิดขึ้นแล้ว เป็นความลำบาก กล้าแข็ง เผ็ดร้อน ไม่สำราญ ไม่ทรง สบาย ด้วยความที่พระสมณโคดมเป็นนาค มิได้ทรงเดือดร้อน ฯ [๑๒๕] ในครั้งนั้นแล เทวดาอื่นอีก ได้เปล่งอุทานนี้ในสำนักพระผู้มี พระภาคว่า พระสมณโคดมผู้เจริญ เป็นสีหะหนอ ก็แหละพระสมณโคดมทรง มีพระสติสัมปชัญญะอดกลั้นซึ่งเวทนาทั้งหลายอันมีในพระสรีระเกิดขึ้นแล้ว เป็น ความลำบาก กล้าแข็ง เผ็ดร้อน ไม่สำราญ ไม่ทรงสบาย ด้วยความที่พระ- *สมณโคดมเป็นสีหะ มิได้ทรงเดือดร้อน ฯ [๑๒๖] ในครั้งนั้นแล เทวดาอื่นอีก ได้เปล่งอุทานนี้ในสำนักพระผู้มี พระภาคว่า พระสมณโคดมผู้เจริญเป็นอาชาไนยหนอ ก็แหละพระสมณโคดม ทรงมีพระสติสัมปชัญญะอดกลั้นเวทนาทั้งหลายอันมีในพระสรีระเกิดขึ้นแล้ว เป็น ความลำบาก กล้าแข็ง เผ็ดร้อน ไม่สำราญ ไม่ทรงสบาย ด้วยความที่พระ- *สมณโคดมเป็นอาชาไนย มิได้ทรงเดือดร้อน ฯ [๑๒๗] ในครั้งนั้นแล เทวดาอื่นอีก ได้เปล่งอุทานนี้ในสำนักพระผู้มี- *พระภาคว่า พระสมณโคดมผู้เจริญเป็นผู้องอาจหนอ ก็แหละพระสมณโคดม ทรงมีพระสติสัมปชัญญะอดกลั้นซึ่งเวทนาทั้งหลาย อันมีในพระสรีระเกิดขึ้นแล้ว เป็นความลำบาก กล้าแข็ง เผ็ดร้อน ไม่สำราญ ไม่ทรงสบาย ด้วยความที่ พระสมณโคดมเป็นผู้องอาจ มิได้ทรงเดือดร้อน ฯ [๑๒๘] ในครั้งนั้นแล เทวดาอื่นอีก ได้เปล่งอุทานนี้ในสำนักพระผู้มี- *พระภาคว่า พระสมณโคดมผู้เจริญเป็นผู้ใฝ่ธุระหนอ ก็แหละพระสมณโคดม ทรงมีพระสติสัมปชัญญะอดกลั้นเวทนาทั้งหลายอันมีในพระสรีระเกิดขึ้นแล้ว เป็น ความลำบาก กล้าแข็ง เผ็ดร้อน ไม่สำราญ ไม่ทรงสบาย ด้วยความที่ พระสมณโคดมเป็นผู้ใฝ่ธุระ มิได้ทรงเดือดร้อน ฯ [๑๒๙] ในครั้งนั้นแล เทวดาอื่นอีก ได้เปล่งอุทานนี้ในสำนักพระผู้มี- *พระภาคว่า พระสมณโคดมผู้เจริญเป็นผู้ฝึกแล้วหนอ ก็แหละพระสมณโคดม ทรงมีพระสติสัมปชัญญะ อดกลั้นซึ่งเวทนาทั้งหลายอันมีในพระสรีระเกิดขึ้นแล้ว เป็นความลำบาก กล้าแข็ง เผ็ดร้อน ไม่สำราญ ไม่ทรงสบาย ด้วยความที่พระ- *สมณโคดมเป็นผู้ฝึกแล้ว มิได้ทรงเดือดร้อน ฯ [๑๓๐] ในครั้งนั้นแล เทวดาอื่นอีก ได้เปล่งอุทานนี้ในสำนักพระผู้มี- *พระภาคว่า ท่านทั้งหลายจงดูสมาธิที่พระสมณโคดมให้เจริญดีแล้ว อนึ่ง จิต พระสมณโคดมให้พ้นดีแล้ว อนึ่ง จิตเป็นไปตามราคะ พระสมณโคดมไม่ให้น้อม ไปเฉพาะแล้ว อนึ่ง จิตเป็นไปตามโทสะ พระสมณโคดมไม่ให้กลับมาแล้ว อนึ่ง จิตพระสมณโคดมหาต้องตั้งใจข่ม ต้องคอยห้ามกันไม่ บุคคลใดพึงสำคัญ พระสมณโคดมผู้เป็นบุรุษนาค เป็นบุรุษสีหะ เป็นบุรุษอาชาไนย เป็นบุรุษองอาจ เป็นบุรุษใฝ่ธุระ เป็นบุรุษฝึกแล้วเห็นปานนี้ว่าเป็นผู้อันตนพึงล่วงเกิน บุคคลนั้น จะเป็นอะไรนอกจากไม่มีตา ฯ เทวดานั้นครั้นกล่าวดังนี้แล้ว ได้กล่าวคาถาทั้งหลายนี้ว่า พราหมณ์ทั้งหลายมีเวทห้า มีตบะ ประพฤติอยู่ตั้งร้อยปี แต่จิตของพราหมณ์เหล่านั้นไม่พ้นแล้วโดยชอบ พราหมณ์ เหล่านั้นมีจิตเลว ย่อมไม่ลุถึงฝั่ง ฯ พราหมณ์เหล่านั้น เป็นผู้อันตัณหาครอบงำแล้ว เกี่ยวข้อง ด้วยพรตและศีล ประพฤติตบะอันเศร้าหมองอยู่ตั้งร้อยปี แต่จิตของพราหมณ์เหล่านั้นไม่พ้นแล้วโดยชอบ พราหมณ์ เหล่านั้นมีจิตเลว ย่อมไม่ลุถึงฝั่ง ฯ ความฝึกฝนย่อมไม่มีแก่บุคคลที่ใคร่มานะ ความรู้ย่อมไม่มี แก่บุคคลที่มีจิตไม่ตั้งมั่น บุคคลผู้เดียวเมื่ออยู่ในป่า ประมาท อยู่แล้ว ไม่พึงข้ามพ้นฝั่งแห่งแดนมัจจุได้ ฯ บุคคลละมานะแล้ว มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว มีจิตดี พ้นในธรรม ทั้งปวงแล้ว ผู้เดียว อยู่ในป่า ไม่ประมาทแล้ว บุคคลนั้น พึงข้ามพ้นฝั่งแห่งแดนมัจจุได้ ฯ
ปฐมปัชชุนนธีตุสูตรที่ ๙
[๑๓๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลาในป่ามหาวัน เขตพระนครเวสาลี ครั้งนั้นแล เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว ธิดาของท้าวปัชชุนนะ ชื่อโกกนทา มีวรรณงาม ยังป่ามหาวันทั้งสิ้นให้สว่าง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ครั้นแล้วจึงถวายอภิวาท แล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ [๑๓๒] ธิดาของท้าวปัชชุนนะ ชื่อโกกนทา ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าวคาถาทั้งหลายนี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า หม่อมฉันชื่อว่าโกกนทา เป็นธิดาของท้าวปัชชุนนะ ย่อมไหว้ เฉพาะพระสัมพุทธเจ้าผู้เลิศกว่าสัตว์ ผู้เสด็จอยู่ในป่า เขต พระนครเวสาลี สุนทรพจน์ว่า ธรรมอันพระสัมพุทธเจ้า ผู้มีพระปัญญาจักษุ ตามตรัสรู้แล้วดังนี้ หม่อมฉันได้ยินแล้ว ในกาลก่อน แท้จริง หม่อมฉันนั้น เมื่อพระสุคตผู้เป็นมุนี ทรงแสดงอยู่ ย่อมรู้ประจักษ์ในกาลนี้ ชนเหล่าใดเหล่า หนึ่งมีปัญญาทราม ติเตียนธรรมอันประเสริฐเที่ยวไปอยู่ ชนเหล่านั้น ย่อมเข้าถึงโรรุวนรกอันร้ายกาจ ประสบทุกข์ ตลอดกาลนาน ส่วนชนทั้งหลายเหล่าใดแล ประกอบด้วย ความอดทนและความสงบในธรรมอันประเสริฐ ชนทั้งหลาย เหล่านั้น ละร่างกายอันเป็นของมนุษย์ แล้วจักยังหมู่ เทวดาให้บริบูรณ์ ฯ
ทุติยปัชชุนนธีตุสูตรที่ ๑๐
[๑๓๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลาในป่ามหาวัน เขตพระนครเวสาลี ครั้งนั้นแล เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว ธิดาของท้าวปัชชุนนะ ชื่อจุลลโกกนทา มีวรรณงาม ยังป่ามหาวันทั้งสิ้นให้สว่าง เข้าไปเฝ้าพระผู้มี- *พระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วจึงถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค แล้วยืนอยู่ ณ ที่ ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ [๑๓๔] ธิดาของท้าวปัชชุนนะ ชื่อจุลลโกกนทา ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง ได้กล่าวคาถาทั้งหลายในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า ธิดาของท้าวปัชชุนนะ ชื่อโกกนทา มีวรรณสว่างดังสายฟ้า มาแล้วในที่นี้ ไหว้พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ได้ กล่าวแล้วซึ่งคาถาทั้งหลายนี้มีประโยชน์เทียว หม่อมฉัน พึงจำแนกธรรมนั้นโดยปริยายแม้มาก ธรรมเช่นนั้นมีอยู่โดย ปริยาย ธรรมเท่าใดที่หม่อมฉันศึกษาแล้วด้วยใจ หม่อมฉัน จักกล่าวอรรถแห่งธรรมนั้นโดยย่อ ใครๆ ไม่ควรทำกรรม อันลามกด้วยวาจา ด้วยใจ หรือด้วยกายอย่างไรๆ ในโลก ทั้งปวง ใครๆ ละกามทั้งหลายแล้ว มีสติสัมปชัญญะ ไม่ พึงเสพทุกข์อันไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ฯ
จบ สตุลลปกายิกวรรค ที่ ๔
-----------------------------------------------------
สูตรที่กล่าวในสตุลลปกายิกวรรคนั้น สัพภิสูตร มัจฉริสูตร สาธุสูตร นสันติสูตร อุชฌานสัญญิสูตร สัทธาสูตร สมยสูตร สกลิกสูตร ปัชชุนน- *ธีตุสูตรทั้ง ๒ สูตร ฉะนี้แล ฯ
-----------------------------------------------------
อาทิตตวรรคที่ ๕
อาทิตตสูตรที่ ๑
[๑๓๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล เมื่อปฐมยามล่วง ไปแล้ว เทวดาองค์หนึ่ง ซึ่งมีวรรณงาม ยังพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่าง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วจึงอภิวาทพระผู้มีพระภาค แล้วยืน อยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ [๑๓๖] เทวดานั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าวคาถา เหล่านี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า เมื่อเรือนถูกไฟไหม้แล้ว เจ้าของเรือนขนเอาภาชนะใดออก ไปได้ ภาชนะนั้นย่อมเป็นประโยชน์แก่เขา ส่วนสิ่งของที่ มิได้ขนออกไป ย่อมไหม้ในไฟนั้น ฉันใด ฯ โลก (คือหมู่สัตว์) อันชราและมรณะเผาแล้ว ก็ฉันนั้น ควร นำออก (ซึ่งโภคสมบัติ) ด้วยการให้ทาน เพราะทานวัตถุ ที่บุคคลให้แล้ว ได้ชื่อว่านำออกดีแล้ว ฯ ทานวัตถุที่บุคคลให้แล้วนั้นย่อมมีสุขเป็นผล ที่ยังมิได้ให้ย่อม ไม่เป็นเหมือนเช่นนั้น โจรยังปล้นได้ พระราชายังริบได้ เพลิงยังไหม้ได้ หรือสูญหายไปได้ ฯ อนึ่ง บุคคลจำต้องละร่างกายพร้อมด้วยสิ่งเครื่องอาศัยด้วย ตายจากไป ผู้มีปัญญารู้ชัด ดั่งนี้แล้ว ควรใช้สอยและ ให้ทาน ฯ เมื่อได้ให้ทานและใช้สอยตามควรแล้ว จะไม่ถูกติฉิน เข้าถึง สถานที่อันเป็นสวรรค์ ฯ
กินททสูตรที่ ๒
[๑๓๗] เทวดาทูลถามว่า บุคคลให้สิ่งอะไรชื่อว่าให้กำลัง ให้สิ่งอะไรชื่อว่าให้วรรณะ ให้สิ่งอะไรชื่อว่าให้ความสุข ให้สิ่งอะไรชื่อว่าให้จักษุ และบุคคลเช่นไรชื่อว่าให้ทุกสิ่งทุกอย่าง ข้าพระองค์ทูลถาม พระองค์ ขอพระองค์ตรัสบอกแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด ฯ [๑๓๘] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า บุคคลให้อาหารชื่อว่าให้กำลัง ให้ผ้าชื่อว่าให้วรรณะ ให้ยาน พาหนะชื่อว่าให้ความสุข ให้ประทีปโคมไฟชื่อว่าให้จักษุและ ผู้ที่ให้ที่พักพาอาศัยชื่อว่าให้ทุกสิ่งทุกอย่าง ส่วนผู้ที่พร่ำสอน ธรรมชื่อว่าให้อมฤตธรรม ฯ
อันนสูตรที่ ๓
[๑๓๙] เทวดากราบทูลว่า เทวดาและมนุษย์ทั้งสองพวก ต่างก็พอใจอาหารด้วยกันทั้งนั้น เออ ก็ผู้ที่ไม่พอใจอาหารชื่อว่ายักษ์โดยแท้ ฯ [๑๔๐] พ. ชนเหล่าใดมีใจผ่องใสแล้ว ให้อาหารนั้นด้วยศรัทธา อาหารนั้นแลย่อมพะนอเขาทั้งในโลกนี้และโลกหน้า เพราะ เหตุนั้นบุคคลพึงนำความตระหนี่ให้ปราศจากไป พึงข่มความ ตระหนี่ซึ่งเป็นตัวมลทินเสียให้ทาน เพราะบุญทั้งหลายเป็นที่ พึ่งของเหล่าสัตว์ในโลกหน้า ฯ
เอกมูลสูตรที่ ๔
[๑๔๑] เทวดากราบทูลว่า บาดาล มีรากอันเดียว มีความวนสอง มีมลทินสาม มี เครื่องลาดห้าเป็นทะเล หมุนไปได้สิบสองด้าน ฤาษีข้ามพ้น แล้ว ฯ
อโนมิยสูตรที่ ๕
[๑๔๒] เทวดากราบทูลว่า ท่านทั้งหลายเชิญดูพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ผู้มีพระนามไม่ ทราม ผู้ทรงเห็นประโยชน์อันละเอียด ผู้ให้ซึ่งปัญญา ไม่ทรงข้องอยู่ในอาลัยคือกาม ตรัสรู้ธรรมทุกอย่าง มี พระปรีชาดี ทรงก้าวไปในทางอันประเสริฐ ผู้ทรงแสวงคุณ อันใหญ่ ฯ
อัจฉราสูตรที่ ๖
[๑๔๓] เทวดาทูลถามว่า ป่าชัฏชื่อโมหนะ อันหมู่นางอัปสรประโคมแล้ว อันหมู่ ปีศาจสิงอยู่แล้ว ทำไฉนจึงจะหนีไปได้ ฯ [๑๔๔] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ทางนั้นชื่อว่าเป็นทางตรง ทิศนั้นชื่อว่าไม่มีภัย รถชื่อว่าไม่มี เสียงดัง ประกอบด้วยล้อคือธรรม หิริเป็นฝาของรถนั้น สติเป็นเกราะกั้นของรถนั้น เรากล่าวธรรมมีสัมมาทิฏฐินำหน้า ว่าเป็นสารถี ยานชนิดนี้มีอยู่แก่ผู้ใด จะเป็นหญิงหรือชาย ก็ตาม เขา (ย่อมไป) ในสำนักพระนิพพานด้วยยาน นี้แหละ ฯ
วนโรปสูตรที่ ๗
[๑๔๕] เทวดาทูลถามว่า ชนพวกไหนมีบุญ เจริญในกาลทุกเมื่อทั้งกลางวันและกลาง- *คืน ชนพวกไหนตั้งอยู่ในธรรม สมบูรณ์ด้วยศีลเป็นผู้ ไปสวรรค์ ฯ [๑๔๖] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ชนเหล่าใดสร้างอาราม (สวนไม้ดอกไม้ผล) ปลูกหมู่ไม้ (ใช้ร่มเงา) สร้างสะพาน และชนเหล่าใดให้โรงน้ำเป็นทาน และบ่อน้ำทั้งบ้านที่พักอาศัย ชนเหล่านั้นย่อมมีบุญ เจริญ ในกาลทุกเมื่อทั้งกลางวันและกลางคืน ชนเหล่านั้นตั้งอยู่ใน ธรรม สมบูรณ์ด้วยศีล เป็นผู้ไปสวรรค์ ฯ
เชตวนสูตรที่ ๘
[๑๔๗] เทวดากราบทูลว่า ก็พระเชตวันมหาวิหารนี้นั้น อันหมู่แห่งท่านผู้แสวงคุณอยู่ อาศัยแล้ว อันพระพุทธเจ้าผู้เป็นพระธรรมราชาประทับอยู่ แล้ว เป็นแหล่งที่เกิดปีติของข้าพระองค์ การงาน ๑ วิชา ๑ ธรรม ๑ ศีล ๑ ชีวิตอย่างสูง ๑ สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ ด้วยคุณธรรม ๕ นี้ หาบริสุทธิ์ด้วยโคตรหรือด้วยทรัพย์ไม่ ฯ เพราะเหตุนั้นแหละ คนผู้ฉลาด เมื่อเห็นประโยชน์ของตน ควรเลือกเฟ้นธรรมโดยอุบายอันแยบคาย เพราะเมื่อเลือก เฟ้นเช่นนี้ ย่อมหมดจดได้ในธรรมเหล่านั้น ฯ พระสารีบุตรรูปเดียวเท่านั้น (เป็นผู้ประเสริฐ) ด้วยปัญญา ศีล และความสงบ ภิกษุใดเป็นผู้ถึงซึ่งฝั่ง ภิกษุนั้นก็มี ท่านพระสารีบุตรนั้นเป็นเยี่ยม ฯ
มัจฉริสูตรที่ ๙
[๑๔๘] เทวดาทูลถามว่า คนเหล่าใดในโลกนี้ เป็นคนตระหนี่ เหนียวแน่น ดีแต่ว่าเขา ทำการกีดขวางคนเหล่าอื่นผู้ให้อยู่ ฯ วิบากของคนพวกนั้นจะเป็นเช่นไร และสัมปรายภพของเขา จะเป็นเช่นไร ฯ ข้าพระองค์มาเพื่อทูลถามพระผู้มีพระภาค ไฉนข้าพระองค์จึง จะรู้ความข้อนั้น ฯ [๑๔๙] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า คนเหล่าใดในโลกนี้ เป็นคนตระหนี่ เหนียวแน่น ดีแต่ว่าเขา ทำการกีดขวางคนเหล่าอื่นผู้ให้อยู่ ฯ คนเหล่านั้นย่อมเข้าถึงนรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน หรือยมโลก ถ้าหากถึงความเป็นมนุษย์ ก็เกิดในสกุลคนยากจน ซึ่งจะหา ท่อนผ้า อาหาร ความร่าเริงและความสนุกสนานได้โดยยาก ฯ คนพาลเหล่านั้นต้องประสงค์สิ่งใดแต่ผู้อื่น เขาย่อมไม่ได้แม้ สิ่งนั้น สมความปรารถนา นั่นเป็นผลในภพนี้ และภพหน้า ก็ยังเป็นทุคติอีกด้วย ฯ [๑๕๐] เทวดาทูลถามว่า ก็ข้อนี้ข้าพระองค์เข้าใจชัดอย่างนี้ (แต่) จะทูลถามข้ออื่น กะพระโคดม ชนเหล่าใดในโลกนี้ได้ความเป็นมนุษย์แล้ว รู้ถ้อยคำ ปราศจากความตระหนี่ เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ เป็นผู้มีความเคารพแรงกล้า วิบาก ของชนเหล่านั้นจะเป็นเช่นไร และสัมปรายภพของเขาจะ เป็นเช่นไร ข้าพระองค์มาเพื่อทูลถามพระผู้มีพระภาค ไฉน ข้าพระองค์จึงจะรู้ความข้อนั้น ฯ [๑๕๑] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ชนเหล่าใดในโลกนี้ได้ความเป็นมนุษย์แล้ว รู้ถ้อยคำ ปราศ- *จากความตระหนี่ เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า พระธรรมและ พระสงฆ์ เป็นผู้มีความเคารพแรงกล้า ชนเหล่านี้ย่อมปรากฏ ในสวรรค์อันเป็นที่อุบัติ หากถึงความเป็นมนุษย์ ย่อมเกิด ในสกุลที่มั่งคั่ง ได้ผ้าอาหารความร่าเริงและความสนุกสนาน โดยไม่ยาก พึงมีอำนาจแผ่ไปในโภคทรัพย์ที่ผู้อื่นหาสะสม ไว้ บันเทิงใจอยู่ นั่นเป็นวิบากในภพนี้ ทั้งภพหน้าก็เป็น สุคติ ฯ
ฆฏิกรสูตรที่ ๑๐
[๑๕๒] ฆฏิกรพรหมกราบทูลว่า ภิกษุ ๗ รูปผู้เข้าถึงพรหมโลกชื่อว่าอวิหา เป็นผู้หลุดพ้นแล้ว มีราคะ โทสะสิ้นแล้ว ข้ามเครื่องเกาะเกี่ยวในโลกได้แล้ว ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ก็ภิกษุเหล่านั้นคือผู้ใดบ้าง ผู้ข้ามเครื่องข้องเป็นบ่วงของมารที่ ข้ามได้แสนยาก ละกายของมนุษย์แล้วก้าวล่วงซึ่งทิพย- *โยคะ ฯ ฆฏิกรพรหมกราบทูลว่า คือท่านอุปกะ ๑ ท่านผลคัณฑะ ๑ ท่านปุกกุสาติ ๑ รวม เป็น ๓ ท่าน ท่านภัททิยะ ๑ ท่านขัณฑเทวะ ๑ ท่านพหุ- *ทันตี ๑ ท่านสิงคิยะ ๑ (รวมเป็น ๗ ท่าน) ท่านเหล่านั้น ล้วนแต่ละกายของมนุษย์ ก้าวล่วงทิพยโยคะได้แล้ว ฯ [๑๕๓] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ท่านเป็นคนมีความฉลาด กล่าวสรรเสริญภิกษุเหล่านั้น ผู้ ละบ่วงมารได้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นตรัสรู้ธรรมของใครเล่า จึง ตัดเครื่องผูกคือภพเสียได้ ฯ [๑๕๔] ฆฏิกรพรหมกราบทูลว่า ท่านเหล่านั้น ตรัสรู้ธรรมของผู้ใดจึงตัดเครื่องผูกคือภพเสียได้ ผู้นั้นไม่มีอื่นไปจากพระผู้มีพระภาค และธรรมนั้นไม่มีอื่นไป จากคำสั่งสอนของพระองค์ ฯ นามและรูปดับไม่เหลือในธรรมใด ท่านเหล่านั้นได้รู้ธรรมนั้น ในพระศาสนานี้ จึงตัดเครื่องผูกคือภพเสียได้ ฯ [๑๕๕] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ท่านกล่าววาจาลึกรู้ได้ยาก เข้าใจให้ดีได้ยาก ท่านรู้ธรรม ของใคร จึงกล่าววาจาเช่นนี้ได้ ฯ [๑๕๖] ฆฏิกรพรหมกราบทูลว่า เมื่อก่อนข้าพระองค์เป็นช่างหม้อ ทำหม้ออยู่ในเวภฬิงคชนบท เป็นผู้เลี้ยงมารดาและบิดา ได้เป็นอุบาสกของพระกัสสป พุทธเจ้า เป็นผู้เว้นจากเมถุนธรรม เป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ไม่เกี่ยวด้วยอามิส ได้เคยเป็นคนร่วมบ้านกับพระองค์ ทั้งได้ เคยเป็นสหายของพระองค์ในกาลปางก่อน ข้าพระองค์รู้จัก ภิกษุ ๗ รูปเหล่านี้ ผู้หลุดพ้นแล้ว มีราคะและโทสะสิ้นแล้ว ผู้ข้ามเครื่องข้องในโลกได้แล้ว ฯ [๑๕๗] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า แน่ะนายช่างหม้อ ท่านกล่าวเรื่องอย่างใด เรื่องนั้นได้เป็น จริงแล้วอย่างนั้นในกาลนั้น เมื่อก่อนท่านเคยเป็นช่างหม้อ ทำหม้ออยู่ในเวภฬิงคชนบท เป็นผู้เลี้ยงมารดาและบิดา เป็น อุบาสกของพระกัสสปพุทธเจ้า เป็นผู้เว้นจากเมถุนธรรม เป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ไม่เกี่ยวด้วยอามิส ได้เป็นคน เคยร่วมบ้านกันกับเรา ทั้งได้เคยเป็นสหายของเราในปาง ก่อน ฯ พระสังคีติกาจารย์กล่าวว่า สหายเก่าทั้งสอง ผู้มีตนอันอบรมแล้ว ทรงไว้ซึ่งสรีระมีใน ที่สุด ได้มาพบกันด้วยอาการอย่างนี้ ฯ
จบ อาทิตตวรรค ที่ ๕
-----------------------------------------------------
สูตรที่กล่าวในอาทิตตวรรคนั้น คือ
อาทิตตสูตร กินททสูตร อันนสูตร เอกมูลสูตร อโนมิยสูตร อัจฉรา สูตร วนโรปสูตร เชตวนสูตร มัจฉริสูตร ฆฏิกรสูตร ฉะนี้แล ฯ
-----------------------------------------------------
ชราวรรคที่ ๖
ชราสูตรที่ ๑
[๑๕๘] เทวดาทูลถามว่า อะไรหนอยังประโยชน์ให้สำเร็จ จนกระทั่งชรา อะไรหนอ ตั้งมั่นแล้วยังประโยชน์ให้สำเร็จ อะไรหนอเป็นรัตนะของคน ทั้งหลาย อะไรหนอโจรลักไปได้ยาก ฯ [๑๕๙] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ศีลยังประโยชน์ให้สำเร็จจนกระทั่งชรา ศรัทธาตั้งมั่นแล้วยัง ประโยชน์ให้สำเร็จ ปัญญาเป็นรัตนะของคนทั้งหลาย บุญ อันโจรลักไปได้ยาก ฯ
อชรสาสูตรที่ ๒
[๑๖๐] เทวดาทูลถามว่า อะไรหนอ เพราะไม่ชำรุดจึงยังประโยชน์ให้สำเร็จ อะไรหนอ ดำรงมั่นแล้ว ยังประโยชน์ให้สำเร็จ อะไรหนอเป็นรัตนะ ของชนทั้งหลาย อะไรหนอบุคคลพึงนำให้พ้นจากพวกโจร ได้ ฯ [๑๖๑] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ศีล เพราะไม่ชำรุดจึงยังประโยชน์ให้สำเร็จ ศรัทธา ดำรงมั่น แล้วยังประโยชน์ให้สำเร็จ ปัญญา เป็นรัตนะของคนทั้งหลาย บุญ อันบุคคลพึงนำไปให้พ้นจากพวกโจรได้ ฯ
มิตตสูตรที่ ๓
[๑๖๒] เทวดาทูลถามว่า อะไรหนอเป็นมิตรของคนเดินทาง อะไรหนอเป็นมิตรใน เรือนของตน อะไรเป็นมิตรของคนมีธุระเกิดขึ้น อะไรหนอ เป็นมิตรติดตามไปถึงภพหน้า ฯ [๑๖๓] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า พวกเกวียน พวกโคต่างเป็นมิตรของคนเดินทาง มารดาเป็น มิตรในเรือนของตน สหายเป็นมิตรของคนผู้มีธุระเกิดขึ้น เนืองๆ บุญที่ตนทำเองเป็นมิตรติดตามไปถึงภพหน้า ฯ
วัตถุสูตรที่ ๔
[๑๖๔] เทวดาทูลถามว่า อะไรหนอเป็นที่ตั้งของมนุษย์ทั้งหลาย อะไรหนอเป็นสหาย อย่างยิ่งในโลกนี้ เหล่าสัตว์มีชีวิตที่อาศัยแผ่นดิน อาศัย อะไรหนอเลี้ยงชีพ ฯ [๑๖๕] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า บุตรเป็นที่ตั้งของมนุษย์ทั้งหลาย ภรรยาเป็นสหายอย่างยิ่ง เหล่าสัตว์มีชีวิตที่อาศัยแผ่นดิน อาศัยฝนเลี้ยงชีพอยู่ ฯ
ปฐมชนสูตรที่ ๕
[๑๖๖] เทวดาทูลถามว่า อะไรหนอยังคนให้เกิด อะไรหนอของเขาย่อมวิ่งพล่าน อะไรหนอเวียนว่ายไปยังสงสาร อะไรหนอเป็นภัยใหญ่ ของเขา ฯ [๑๖๗] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ตัณหายังคนให้เกิด จิตของเขาย่อมวิ่งพล่าน สัตว์เวียนว่าย ไปยังสงสาร ทุกข์เป็นภัยใหญ่ของเขา ฯ
ทุติยชนสูตรที่ ๖
[๑๖๘] เทวดาทูลถามว่า อะไรหนอยังคนให้เกิด อะไรหนอของเขาย่อมวิ่งพล่าน อะไรหนอเวียนว่ายไปยังสงสาร สัตว์ย่อมไม่หลุดพ้นจาก อะไร ฯ [๑๖๙] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ตัณหายังคนให้เกิด จิตของเขาย่อมวิ่งพล่าน สัตว์เวียนว่าย ไปยังสงสาร สัตว์ย่อมไม่หลุดพ้นจากทุกข์ ฯ
ตติยชนสูตรที่ ๗
[๑๗๐] เทวดาทูลถามว่า อะไรหนอยังคนให้เกิด อะไรหนอของเขาย่อมวิ่งพล่าน อะไรหนอเวียนว่ายไปยังสงสาร อะไรหนอเป็นที่พำนักของ สัตว์นั้น ฯ [๑๗๑] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ตัณหายังคนให้เกิด จิตของเขาย่อมวิ่งพล่าน สัตว์เวียนว่าย ไปยังสงสาร กรรมเป็นที่พำนักของสัตว์นั้น ฯ
อุปปถสูตรที่ ๘
[๑๗๒] เทวดาทูลถามว่า อะไรหนอบัณฑิตกล่าวว่าเป็นทางผิด อะไรหนอสิ้นไปตามคืน และวัน อะไรหนอเป็นมลทินของพรหมจรรย์ อะไรหนอ มิใช่น้ำแต่เป็นเครื่องชำระล้าง ฯ [๑๗๓] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ราคะบัณฑิตกล่าวว่าเป็นทางผิด วัยสิ้นไปตามคืนและวัน หญิงเป็นมลทินของพรหมจรรย์ หมู่สัตว์นี้ย่อมติดอยู่ในหญิง นี้ ตบะและพรหมจรรย์นั้น มิใช่น้ำแต่เป็นเครื่องชำระล้าง ฯ
ทุติยสูตรที่ ๙
[๑๗๔] เทวดาทูลถามว่า อะไรหนอเป็นเพื่อนของคน อะไรหนอย่อมปกครองคนนั้น และสัตว์ยินดีในอะไรจึงพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ ฯ [๑๗๕] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ศรัทธาเป็นเพื่อนของคน ปัญญาย่อมปกครองคนนั้น สัตว์ ยินดีในพระนิพพานจึงพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ ฯ
กวิสูตรที่ ๑๐
[๑๗๖] เทวดาทูลถามว่า อะไรหนอเป็นต้นเหตุของคาถา อะไรหนอเป็นเครื่องปรากฏ (พยัญชนะ) ของคาถาเหล่านั้น คาถาอาศัยอะไรหนอ อะไร หนอเป็นที่อาศัยของคาถา ฯ [๑๗๗] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ฉันท์เป็นต้นเหตุของคาถา อักขระเป็นเครื่องปรากฏ (พยัญ- ชนะ) ของคาถา คาถาอาศัยแล้วซึ่งชื่อ กวีเป็นที่อาศัย ของคาถา ฯ
จบ ชราวรรค ที่ ๖
-----------------------------------------------------
สูตรที่กล่าวในชราวรรคนั้น คือ
ชราสูตร อชรสาสูตร มิตตสูตร วัตถุสูตร ชนสูตร ๓ สูตร อุปปถสูตร ทุติยสูตร กับกวิสูตร เต็มวรรคพอดี ฯ
-----------------------------------------------------
อันธวรรคที่ ๗
นามสูตรที่ ๑
[๑๗๘] เทวดาทูลถามว่า อะไรหนอครอบงำสิ่งทั้งปวง สิ่งทั้งปวงที่ยิ่งขึ้นไปกว่าสิ่งอะไร ย่อมไม่มี สิ่งทั้งปวงเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่งคือ อะไร ฯ [๑๗๙] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ชื่อย่อมครอบงำสิ่งทั้งปวง สิ่งทั้งปวงที่ยิ่งขึ้นไปกว่าชื่อไม่มี สิ่งทั้งปวงเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่งคือชื่อ ฯ
จิตตสูตรที่ ๒
[๑๘๐] เทวดาทูลถามว่า โลกอันอะไรย่อมนำไป อันอะไรหนอย่อมเสือกไสไป โลก ทั้งหมดเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่งคืออะไร ฯ [๑๘๑] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โลกอันจิตย่อมนำไป อันจิตย่อมเสือกไสไป โลกทั้งหมด เป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่งคือจิต ฯ
ตัณหาสูตรที่ ๓
[๑๘๒] เทวดาทูลถามว่า โลกอันอะไรหนอย่อมนำไป อันอะไรหนอย่อมเสือกไสไป โลกทั้งหมดเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่งคืออะไร ฯ [๑๘๓] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โลกอันตัณหาย่อมนำไป อันตัณหาย่อมเสือกไสไป โลก ทั้งหมดเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่งคือตัณหา ฯ
สัญโญชนสูตรที่ ๔
[๑๘๔] เทวดาทูลถามว่า โลกมีอะไรหนอเป็นเครื่องประกอบไว้ อะไรหนอเป็นเครื่อง เที่ยวไปของโลกนั้น เพราะละขาดซึ่งธรรมอะไรจึงเรียกว่า นิพพาน ฯ [๑๘๕] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โลกมีความเพลิดเพลินเป็นเครื่องประกอบไว้ วิตกเป็นเครื่อง เที่ยวไปของโลกนั้น เพราะละตัณหาเสียได้ขาด จึงเรียกว่า นิพพาน ฯ
พันธนสูตรที่ ๕
[๑๘๖] เทวดาทูลถามว่า โลกมีอะไรหนอเป็นเครื่องผูกไว้ อะไรหนอเป็นเครื่องเที่ยว ไปของโลกนั้น เพราะละเสียได้ซึ่งอะไร จึงตัดเครื่องผูก ได้หมด ฯ [๑๘๗] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โลกมีความเพลิดเพลินเป็นเครื่องผูกไว้ วิตกเป็นเครื่องเที่ยว ไปของโลกนั้น เพราะละตัณหาเสียได้ขาด จึงตัดเครื่องผูก ได้หมด ฯ
อัพภาหตสูตรที่ ๖
[๑๘๘] เทวดาทูลถามว่า โลกอันอะไรหนอกำจัดแล้ว อันอะไรหนอล้อมไว้แล้ว อัน ลูกศรคืออะไรเสียบแล้ว อันอะไรเผาแล้วในกาลทุกเมื่อ ฯ [๑๘๙] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โลกอันมฤตยูกำจัดแล้ว อันชราล้อมไว้แล้ว อันลูกศรคือ ตัณหาเสียบแล้ว อันความอยากเผาให้ร้อนแล้วในกาล ทุกเมื่อ ฯ
อุฑฑิตสูตรที่ ๗
[๑๙๐] เทวดาทูลถามว่า โลกอันอะไรหนอดักไว้ อันอะไรหนอล้อมไว้ โลกอันอะไร หนอปิดไว้ โลกตั้งอยู่แล้วในอะไร ฯ [๑๙๑] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โลกอันตัณหาดักไว้ อันชราล้อมไว้ โลกอันมฤตยูปิดไว้ โลกตั้งอยู่แล้วในทุกข์ ฯ
ปิหิตสูตรที่ ๘
[๑๙๒] เทวดาทูลถามว่า โลกอันอะไรหนอปิดไว้ โลกตั้งอยู่แล้วในอะไร โลกอัน อะไรหนอดักไว้ อันอะไรหนอล้อมไว้ ฯ [๑๙๓] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โลกอันมฤตยูปิดไว้ โลกตั้งอยู่แล้วในทุกข์ โลกอันตัณหา ดักไว้ อันชราล้อมไว้ ฯ
อิจฉาสูตรที่ ๙
[๑๙๔] เทวดาทูลถามว่า โลกอันอะไรผูกไว้ เพราะกำจัดอะไรเสียจึงจะหลุดพ้น เพราะละอะไรได้ขาด จึงตัดเครื่องผูกได้ทุกอย่าง ฯ [๑๙๕] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โลกอันความอยากผูกไว้ เพราะกำจัดความอยากเสียได้ จึงหลุดพ้น เพราะละความอยากได้ขาด จึงตัดเครื่องผูกได้ ทั้งหมด ฯ
โลกสูตรที่ ๑๐
[๑๙๖] เทวดาทูลถามว่า เมื่ออะไรเกิดขึ้น โลกจึงเกิดขึ้น โลกย่อมชมเชยในอะไร โลกยึดถือซึ่งอะไร โลกย่อมเดือดร้อนเพราะอะไร ฯ [๑๙๗] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า เมื่ออายตนะ ๖ เกิดขึ้น โลกจึงเกิดขึ้น โลกย่อมทำความ ชมเชยในอายตนะ ๖ โลกยึดถืออายตนะ ๖ นั่นแหละ โลกย่อมเดือดร้อนเพราะอายตนะ ๖ ฯ
จบ อันธวรรค ที่ ๗
-----------------------------------------------------
สูตรที่กล่าวในอันธวรรคนั้น คือ
นามสูตร จิตตสูตร ตัณหาสูตร สัญโญชนสูตร พันธนสูตร อัพภาหตสูตร อุฑฑิตสูตร ปิหิตสูตร อิจฉาสูตร กับโลกสูตร รวมเป็น ๑๐ ฯ
-----------------------------------------------------
ฆัตวาวรรคที่ ๘
ฆัตวาสูตรที่ ๑
[๑๙๘] เทวดานั้น ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลพระ- *ผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า ฆ่าอะไรหนอจึงอยู่เป็นสุข ฆ่าอะไรหนอจึงไม่เศร้าโศก ข้าแต่พระโคดม พระองค์ชอบฆ่าอะไรซึ่งเป็นธรรมอันเดียว ฯ [๑๙๙] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ฆ่าความโกรธเสียได้จึงอยู่เป็นสุข ฆ่าความโกรธเสียจึงไม่ เศร้าโศก แน่ะ เทวดา พระอริยเจ้าทั้งหลาย สรรเสริญ การฆ่าความโกรธ ซึ่งมีรากเป็นพิษ มียอดหวาน เพราะฆ่า ความโกรธนั้นเสียแล้วย่อมไม่เศร้าโศก ฯ
รถสูตรที่ ๒
[๒๐๐] เทวดาทูลถามว่า อะไรหนอเป็นสง่าของรถ อะไรหนอเป็นเครื่องปรากฏของไฟ อะไรหนอเป็นสง่าของแว่นแคว้น อะไรหนอเป็นสง่าของ สตรี ฯ

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕ บรรทัดที่ ๑-๑๒๖๗ หน้าที่ ๑-๕๗. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=15&A=1&Z=1267&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=15&item=1&items=957              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=15&item=1&items=957&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=15&item=1&items=957              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=15&item=1&items=957              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=15&i=1              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕ https://84000.org/tipitaka/read/?index_15 https://84000.org/tipitaka/english/?index_15

แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]