ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๗ สังยุตตนิกาย สคาถวรรค
             [๓๘๑] พระผู้มีพระภาคประทับ ... เขตพระนครสาวัตถี ...
พระเจ้าปเสนทิโกศลประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระโอกาส ความปริวิตกแห่งใจ
บังเกิดขึ้นแก่ข้าพระองค์ผู้เข้าที่ลับพักผ่อนอยู่อย่างนี้ว่า ธรรมที่พระผู้มีพระภาค
ตรัสดีแล้วนั่นแหละ สำหรับผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีจิตน้อมไปในคนที่ดี ไม่ใช่
สำหรับผู้มีมิตรชั่ว มีสหายชั่ว มีจิตน้อมไปในคนที่ชั่ว ฯ
             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรมหาบพิตร ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ดูกรมหา-
*บพิตร ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ดูกรมหาบพิตร ธรรมที่อาตมภาพกล่าวดีแล้วนั่นแหละ
สำหรับผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีจิตน้อมไปในคนดี ไม่ใช่สำหรับผู้มีมิตรชั่ว มี
สหายชั่ว มีจิตน้อมไปในคนที่ชั่ว ฯ
             [๓๘๒] ดูกรมหาบพิตร สมัยหนึ่ง อาตมภาพอยู่ที่นิคมของหมู่เจ้า
ศากยะ ชื่อว่านครกะ ในสักกชนบท ดูกรมหาบพิตร ครั้งนั้น ภิกษุอานนท์
เข้าไปหาอาตมภาพถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว ก็อภิวาทอาตมภาพ แล้วนั่งอยู่ ณ ที่ควร
ส่วนข้างหนึ่ง ดูกรมหาบพิตร ภิกษุอานนท์นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว
ได้กล่าวกะอาตมภาพว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี
มีจิตน้อมไปในคนที่ดี เป็นคุณกึ่งหนึ่งแห่งพรหมจรรย์ ดูกรมหาบพิตร เมื่อภิกษุ
อานนท์กล่าวอย่างนี้แล้ว อาตมภาพได้กล่าวกะภิกษุอานนท์ว่า ดูกรอานนท์
เธออย่ากล่าวอย่างนั้น ดูกรอานนท์ ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีจิตน้อมไป
ในคนที่ดีนี้ เป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้นทีเดียว ดูกรอานนท์ นี่ภิกษุผู้มีมิตรดีพึง
ปรารถนา ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีจิตน้อมไปในคนที่ดี จักเจริญอริยมรรค
มีองค์แปด จักกระทำซึ่งอริยมรรคมีองค์แปดให้มากได้ ฯ
             [๓๘๓] ดูกรอานนท์ ก็ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีจิตน้อมไปในคนที่ดี
ย่อมเจริญอริยมรรคมีองค์แปด ย่อมกระทำซึ่งอริยมรรคมีองค์แปดให้มากได้
อย่างไร ฯ
             ดูกรอานนท์ ภิกษุในศาสนานี้ ย่อมเจริญสัมมาทิฐิ อันอาศัยวิเวก
อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปเพื่อความสละคืน ย่อมเจริญสัมมาสังกัปปะ ...
ย่อมเจริญสัมมาวาจา ... ย่อมเจริญสัมมากัมมันตะ ... ย่อมเจริญสัมมาอาชีวะ ...
ย่อมเจริญสัมมาวายามะ ... ย่อมเจริญสัมมาสติ ... ย่อมเจริญสัมมาสมาธิ อัน
อาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปเพื่อความสละคืน ฯ
             ดูกรอานนท์ ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีจิตน้อมไปในคนที่ดี ย่อมเจริญ
อริยมรรคมีองค์แปด ย่อมกระทำซึ่งอริยมรรคมีองค์แปดให้มากได้ อย่างนี้แล ฯ
             ดูกรอานนท์ โดยปริยายแม้นี้ พึงทราบว่า ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี
มีจิตน้อมไปในคนที่ดี นี้เป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้นทีเดียว ฯ
             ดูกรอานนท์ ด้วยว่าอาศัยเราเป็นมิตรดี สัตว์ทั้งหลายผู้มีความเกิดเป็น
ธรรมดา ย่อมหลุดพ้นจากความเกิดได้ สัตว์ทั้งหลายผู้มีความแก่เป็นธรรมดา ย่อม
หลุดพ้นจากความแก่ได้ สัตว์ทั้งหลายผู้มีความเจ็บป่วยเป็นธรรมดา ย่อมหลุดพ้น
จากความเจ็บป่วยได้ สัตว์ทั้งหลายผู้มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมหลุดพ้นจาก
ความตายได้ สัตว์ทั้งหลายผู้มีความโศก ความร่ำไร ความทุกข์ ความเสียใจ
และความคับแค้นใจเป็นธรรมดา ย่อมหลุดพ้นจากความโศก ความร่ำไร
ความทุกข์ ความเสียใจ และความคับแค้นใจได้ ฯ
             ดูกรอานนท์ โดยปริยายนี้แล พึงทราบว่า ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี
มีจิตน้อมไปในคนที่ดีนี้ เป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้นทีเดียว ฯ
             [๓๘๔] ดูกรมหาบพิตร เพราะเหตุนั้นแหละ พระองค์พึงทรงสำเหนียก
อย่างนี้ว่า เราจักเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีจิตน้อมไปในคนที่ดี ดูกรมหาบพิตร
พระองค์พึงทรงสำเหนียกอย่างนี้แล ฯ
             ดูกรมหาบพิตร ธรรมอย่างหนึ่งนี้ คือความไม่ประมาทในกุศลธรรม
ทั้งหลาย พระองค์ผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีจิตน้อมไปในคนที่ดี พึงทรงอาศัย
อยู่เถิด ฯ
             ดูกรมหาบพิตร เมื่อพระองค์ไม่ประมาท อาศัยความไม่ประมาท หมู่นาง
สนมผู้ตามเสด็จจักมีความคิดอย่างนี้ว่า พระราชาเป็นผู้ไม่ประมาท อาศัยความ
ไม่ประมาท ถ้ากระนั้น แม้พวกเราก็จักเป็นผู้ไม่ประมาท อาศัยความไม่ประมาท ฯ
             ดูกรมหาบพิตร เมื่อพระองค์ไม่ประมาท อาศัยความไม่ประมาท แม้
กษัตริย์ทั้งหลายผู้ตามเสด็จจักมีความคิดอย่างนี้ว่า พระราชาเป็นผู้ไม่ประมาท อาศัย
ความไม่ประมาท ถ้ากระนั้น แม้พวกเราก็จักเป็นผู้ไม่ประมาท อาศัยความไม่
ประมาท ฯ
             ดูกรมหาบพิตร เมื่อพระองค์ไม่ประมาท อาศัยความไม่ประมาท แม้
กองทัพ (ข้าราชการฝ่ายทหาร) ก็จักมีความคิดอย่างนี้ว่า พระราชาเป็นผู้ไม่
ประมาท อาศัยความไม่ประมาท ถ้ากระนั้น แม้พวกเราก็จักเป็นผู้ไม่ประมาท
อาศัยความไม่ประมาท ฯ
             ดูกรมหาบพิตร เมื่อพระองค์ไม่ประมาท อาศัยความไม่ประมาท แม้
ชาวนิคมและชาวชนบทก็จักมีความคิดอย่างนี้ว่า พระราชาเป็นผู้ไม่ประมาท อาศัย
ความไม่ประมาท ถ้ากระนั้น แม้พวกเราก็จักเป็นผู้ไม่ประมาท อาศัยความไม่
ประมาท ฯ
             ดูกรมหาบพิตร เมื่อพระองค์ไม่ประมาท อาศัยความไม่ประมาท แม้
พระองค์เองก็จักเป็นผู้ได้รับคุ้มครองแล้ว ได้รับรักษาแล้ว แม้หมู่นางสนมก็จัก
เป็นผู้ได้รับคุ้มครองแล้ว ได้รับรักษาแล้ว แม้เรือนคลังก็จักเป็นอันได้รับ
คุ้มครองแล้ว ได้รับรักษาแล้ว ฯ
             [๓๘๕] พระผู้มีพระภาคผู้พระสุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้
จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
                          บุคคลผู้ปรารถนาโภคะอันโอฬารต่อๆ ไป พึงบำเพ็ญความ
                          ไม่ประมาท บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมสรรเสริญความไม่ประมาท
                          ในบุญกิริยาทั้งหลาย บัณฑิตผู้ไม่ประมาทย่อมยึดไว้ได้ซึ่ง
                          ประโยชน์ทั้ง ๒ คือประโยชน์ภพนี้ และประโยชน์ภพหน้า
                          เพราะยึดไว้ได้ซึ่งประโยชน์ ผู้มีปัญญาจึงได้นามว่า
                          "บัณฑิต" ฯ
ปฐมาปุตตกสูตรที่ ๙

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕ บรรทัดที่ ๒๗๙๒-๒๘๖๗ หน้าที่ ๑๒๓-๑๒๖. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=15&A=2792&Z=2867&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=15&item=381&items=5&mode=bracket              อ่านโดยใช้เนื้อความเป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=15&item=381&items=5              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=15&item=381&items=5&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=15&item=381&items=5&mode=bracket              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=15&i=381              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕ https://84000.org/tipitaka/read/?index_15 https://84000.org/tipitaka/english/?index_15

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]