ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๙ สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค
๓. เผณปิณฑสูตร
ว่าด้วยอุปมาขันธ์ ๕
[๒๔๒] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำคงคาใกล้อยุชฌบุรี. ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้วตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม่น้ำคงคานี้ พึงนำ กลุ่มฟองน้ำใหญ่มา บุรุษผู้มีจักษุพึงเห็น เพ่ง พิจารณากลุ่มฟองน้ำใหญ่นั้น โดยแยบคาย เมื่อ บุรุษนั้นเห็น เพ่ง พิจารณาอยู่โดยแยบคาย กลุ่มฟองน้ำนั้น พึงปรากฏเป็นของว่างเปล่า หาสาระมิได้เลย สาระในกลุ่มฟองน้ำ พึงมีได้อย่างไร แม้ฉันใด. ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปอย่าง ใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ฯลฯ อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ ภิกษุย่อมเห็น เพ่ง พิจารณารูปนั้นโดยแยบคาย เมื่อภิกษุนั้นเห็น เพ่ง พิจารณาอยู่โดยแยบคาย รูปนั้นย่อม ปรากฏเป็นของว่างเปล่า หาสาระมิได้ สาระในรูปพึงมีได้อย่างไร ฉันนั้นเหมือนกัน. [๒๔๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อฝนเมล็ดหยาบตกอยู่ในสรทสมัย ฟองน้ำในน้ำ ย่อม บังเกิดขึ้นและดับไป บุรุษผู้มีจักษุ พึงเห็น เพ่ง พิจารณาฟองน้ำนั้นโดยแยบคาย เมื่อบุรุษนั้น เห็น เพ่ง พิจารณาอยู่โดยแยบคาย ฟองน้ำนั้น พึงปรากฏเป็นของว่างเปล่า หาสาระมิได้เลย สาระในฟองน้ำนั้นพึงมีได้อย่างไร แม้ฉันใด. เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๑๓๕.

และปัจจุบัน ฯลฯ อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ ภิกษุย่อมเห็น เพ่ง พิจารณาอยู่โดยแยบคาย เวทนานั้นย่อมปรากฏเป็นของว่างเปล่า หาสาระมิได้ สาระในเวทนาพึงมีได้อย่างไร ฉันนั้น เหมือนกัน. [๒๔๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเดือนสุดท้ายแห่งฤดูร้อนยังอยู่ พยับแดด ย่อมเต้น ระยิบระยับในเวลาเที่ยง บุรุษผู้มีจักษุพึงเห็น เพ่ง พิจารณา พยับแดดนั้นโดยแยบคาย เมื่อ บุรุษนั้นเห็น เพ่ง พิจารณาอยู่โดยแยบคาย พยับแดดนั้น พึงปรากฏเป็นของว่างเปล่า ฯลฯ สาระในพยับแดดพึงมีได้อย่างไร แม้ฉันใด. สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล. [๒๔๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษผู้มีความต้องการด้วยไม้แก่น เสาะหาไม้แก่น เที่ยว แสวงหาไม้แก่นอยู่ ถือเอาจอบอันคม พึงเข้าไปสู่ป่า บุรุษนั้นพึงเห็นต้นกล้วยใหญ่ ตรง ใหม่ ยังไม่เกิดแก่นในป่านั้น พึงตัดโคนต้นกล้วยนั้นแล้วจึงตัดปลาย แล้วจึงปอกกาบใบออก บุรุษ นั้นปอกกาบใบออก ไม่พึงได้แม้กระพี้ในต้นกล้วยใหญ่นั้น จะพึงได้แก่นแต่ที่ไหน บุรุษผู้มีจักษุ พึงเห็น เพ่ง พิจารณาอยู่โดยแยบคาย ซึ่งต้นกล้วยใหญ่นั้น เมื่อบุรุษนั้นเห็น เพ่ง พิจารณา อยู่โดยแยบคาย ต้นกล้วยใหญ่นั้น พึงปรากฏเป็นของว่างเปล่า หาแก่นมิได้ แก่นในต้นกล้วย พึงมีได้อย่างไร แม้ฉันใด. สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ฯลฯ อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ ภิกษุย่อมเห็น เพ่ง พิจารณาสังขารนั้นโดยแยบคาย เมื่อภิกษุนั้นเห็น เพ่ง พิจารณาอยู่โดยแยบคาย สังขารนั้น ย่อมปรากฏเป็นของว่างเปล่า หาสาระมิได้ สาระใน สังขารทั้งหลายพึงมีได้อย่างไร ฉันนั้นเหมือนกันแล. [๒๔๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย นักเล่นกลหรือลูกมือนักเล่นกล พึงแสดงกลที่หนทางใหญ่ สี่แพร่ง บุรุษผู้จักษุพึงเห็น เพ่ง พิจารณากลนั้นโดยแยบคาย เมื่อบุรุษนั้นเห็น เพ่ง พิจารณา อยู่โดยแยบคาย กลนั้น พึงปรากฏเป็นของว่างเปล่า หาสาระมิได้ สาระในกลพึงมีได้อย่างไร แม้ฉันใด. วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ฯลฯ อยู่ในที่ ไกลหรือในที่ใกล้ ภิกษุย่อมเห็น เพ่ง พิจารณาอยู่โดยแยบคาย เมื่อภิกษุเห็น เพ่ง พิจารณาวิญญาณนั้นโดยแยบคาย วิญญาณนั้น ย่อมปรากฏเป็นของว่างเปล่า หาสาระมิได้ สาระในวิญญาณพึงมีได้อย่างไร ฉันนั้นเหมือนกันแล. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในรูป ทั้งในเวทนา ทั้งในสัญญา ทั้งในสังขาร ทั้งในวิญญาณ

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๑๓๖.

เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมี ญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ฯลฯ กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ดังนี้. พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถา ประพันธ์ต่อไปว่า [๒๔๗] พระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์ แห่งพระอาทิตย์ ทรงแสดงแล้วว่า รูปอุปมาด้วยกลุ่มฟองน้ำ เวทนาอุปมาด้วยฟองน้ำ สัญญาอุปมาด้วย พยับแดด สังขารอุปมาด้วยต้นกล้วย และวิญญาณอุปมาด้วยกล. ภิกษุย่อมเพ่งพิจารณาเห็นเบญจขันธ์นั้นโดยแยบคายด้วยประการ ใดๆ เบญจขันธ์นั้น ย่อมปรากฏเป็นของว่าง เป็นของเปล่า ด้วยประการนั้นๆ ก็การละธรรม ๓ อย่าง อันพระพุทธเจ้า ผู้มี ปัญญาดังแผ่นดิน ปรารภกายนี้ทรงแสดงแล้ว ท่านทั้งหลาย จงดูรูปอันบุคคลทิ้งแล้ว. อายุ ไออุ่น และวิญญาณย่อมละ กายนี้เมื่อใด เมื่อนั้น กายนี้อันเขาทอดทิ้งแล้วย่อมเป็นเหยื่อ แห่งสัตว์อื่น หาเจตนามิได้ นอนทับถมแผ่นดิน. นี้เป็น ความสืบต่อเช่นนี้ นี้เป็นกลสำหรับหลอกลวงคนโง่ เบญจขันธ์ เพียงดังว่าเพชฌฆาตผู้หนึ่ง เราบอกแล้ว สาระย่อมไม่มีใน เบญจขันธ์นี้. ภิกษุผู้มีความเพียรอันปรารภแล้วมีสัมปชัญญะ มีสติ พึงพิจารณาขันธ์ทั้งหลายอย่างนี้ ทั้งกลางวัน ทั้งกลางคืน. ภิกษุเมื่อ ปรารถนาบทอันไม่จุติ (นิพพาน) พึงละสังโยชน์ทั้งปวง พึงกระทำ ที่พึ่งแก่ตน พึงประพฤติ ดุจบุคคลผู้มีศีรษะอันไฟไหม้ ดังนี้.
จบ สูตรที่ ๓.

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๗ บรรทัดที่ ๓๑๓๒-๓๑๙๑ หน้าที่ ๑๓๔-๑๓๖. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=17&A=3132&Z=3191&pagebreak=1 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=17&item=242&items=6&pagebreak=1              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=17&item=242&items=6&pagebreak=1&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=17&item=242&items=6&pagebreak=1              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=17&item=242&items=6&pagebreak=1              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=17&i=242              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๗ https://84000.org/tipitaka/read/?index_17 https://84000.org/tipitaka/english/?index_17

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]