ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๑ สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค
เวฬุทวารสูตร
ว่าด้วยธรรมปริยายอันควรน้อมเข้ามาในตน
[๑๔๕๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค เสด็จเที่ยวจาริกไปในโกศลชนบท พร้อมด้วยภิกษุ สงฆ์เป็นอันมาก เสด็จถึงพราหมณคามของชาวโกศลชื่อเวฬุทวาระ [๑๔๕๕] พราหมณ์และคฤหบดีชาวเวฬุทวาระได้สดับข่าวว่า พระสมณโคดมผู้เป็น โอรสของเจ้าศากยะ เสด็จออกผนวชจากศากยสกุลเสด็จเที่ยวจาริกไปในโกศลชนบท พร้อม ด้วยภิกษุสงฆ์เป็นอันมาก เสด็จถึงเวฬุทวารคามแล้ว ก็กิตติศัพท์อันงามของท่านพระโคดมพระองค์ นั้นขจรไปอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดย ชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม พระสมณโคดมพระองค์นั้น ทรงกระทำโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัด ด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์แล้ว ทรงสอนหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ให้รู้ตาม พระองค์ทรงแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ ทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ก็การได้เห็นพระอรหันต์ เห็นปานนั้นเป็นความดี. [๑๔๕๖] ครั้งนั้น พราหมณ์และคฤหบดีชาวเวฬุทวารคามได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ บางพวกถวายบังคมพระผู้มีพระภาค บางพวกได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค บาง พวกประนมอัญชลีไปทางพระผู้มีพระภาค บางพวกประกาศชื่อและโคตรในสำนักพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า [๑๔๕๗] ข้าแต่พระโคดม ข้าพระองค์ทั้งหลาย มีความปรารถนา มีความพอใจ มี ความประสงค์อย่างนี้ๆ ว่า ขอเราทั้งหลายพึงแออัดไปด้วยบุตรอยู่ครองเรือน พึงลูบไล้จันทน์ที่

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๓๕๔.

เขานำมาแต่แคว้นกาสี พึงทัดทรงมาลา ของหอม และเครื่องลูบไล้ พึงยินดีทองและเงิน เมื่อ แตกกายตายไป พึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ข้าพระองค์ทั้งหลายจะพึงแออัดไปด้วยบุตรอยู่ครอง เรือน ... เมื่อแตกกายตายไป พึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ด้วยประการใด ขอท่านพระโคดม โปรดทรงแสดงธรรม ด้วยประการนั้น แก่ข้าพระองค์ทั้งหลาย ผู้มีความปรารถนา ผู้มีความพอใจ ผู้มีความประสงค์อย่างนั้นๆ เถิด. [๑๔๕๘] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย เราจักแสดง ธรรมปริยายอันควรน้อมเข้ามาในตนแก่ท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงฟังธรรมปริยายนั้น จงใส่ใจ ให้ดี เราจักกล่าว พราหมณ์และคฤบดีชาวเวฬุทวารคามทูลรับพระดำรัสพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า [๑๔๕๙] ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ธรรมปริยายที่ควรน้อมเข้ามาในตนเป็น ไฉน? อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราอยากเป็นอยู่ ไม่อยากตาย รัก สุข เกลียดทุกข์ ผู้ใดจะปลงเราผู้อยากเป็นอยู่ ไม่อยากตาย รักสุข เกลียดทุกข์ เสียจากชีวิต ข้อนั้นไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา อนึ่ง เราพึงปลงคนอื่นผู้อยากเป็นอยู่ ไม่อยากตาย รักสุข เกลียดทุกข์ เสียจากชีวิต ข้อนั้นก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจแม้ของคนอื่น ธรรมข้อใด ไม่เป็นที่รัก ที่ชอบใจของเรา ธรรมข้อนั้น ก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจแม้ของผู้อื่น ธรรมข้อใด ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจ ของเรา เราจะพึงประกอบผู้อื่นไว้ด้วยธรรมข้อนั้นอย่างไร? อริยสาวกนั้นพิจารณาเห็นดังนั้นแล้ว ตนเองย่อมงดเว้นจากปาณาติบาตด้วย ชักชวนผู้อื่นเพื่องดเว้นจากปาณาติบาตด้วย กล่าวสรรเสริญ คุณแห่งการงดเว้นปาณาติบาตด้วย กายสมาจารของอริยสาวกนั้น ย่อมบริสุทธิ์โดยส่วนสามอย่างนี้. [๑๔๖๐] ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมพิจารณา เห็นดังนี้ว่า ผู้ใดพึงถือเอาสิ่งของที่เรามิได้ให้ด้วยอาการขโมย ข้อนั้นไม่เป็นที่รักที่ชอบของเรา อนึ่ง เราพึงถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นมิได้ให้ด้วยอาการขโมย ข้อนั้นก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจแม้ของผู้อื่น ธรรมข้อใด ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา ธรรมข้อนั้น ก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจแม้ของผู้อื่น ธรรม ข้อใด ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา เราจะพึงประกอบผู้อื่นไว้ด้วยธรรมข้อนั้นอย่างไร? อริยสาวก นั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ตนเองย่อมงดเว้นจากอทินนาทานด้วย ชักชวนผู้อื่นเพื่อให้งดเว้นจาก อทินนาทานด้วย กล่าวสรรเสริญคุณแห่งการงดเว้นจากอทินนาทานด้วย กายสมาจารของอริยสาวก นั้น ย่อมบริสุทธิ์โดยส่วนสามอย่างนี้.

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๓๕๕.

[๑๔๖๑] ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมพิจารณา เห็นดังนี้ว่า ผู้ใดพึงถึงความประพฤติ (ผิด) ในภริยาของเรา ข้อนั้นไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของ เรา อนึ่ง เราพึงถึงความประพฤติ (ผิด) ในภริยาของคนอื่น ข้อนั้นก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจแม้ ของคนอื่น ธรรมข้อใด ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา ธรรมข้อนั้น ก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจแม้ของ ผู้อื่น ธรรมข้อใด ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา เราจะพึงประกอบผู้อื่นไว้ด้วยธรรมข้อนั้นอย่างไร? อริยสาวกนั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ตนเองย่อมงดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจารด้วย ชักชวนผู้อื่น เพื่อให้งดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจารด้วย กล่าวสรรเสริญคุณแห่งการงดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจารด้วย กายสมาจารของอริยสาวกนั้น ย่อมบริสุทธิ์โดยส่วนสามอย่างนี้. [๑๔๖๒] ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อม พิจารณาเห็นดังนี้ว่า ผู้ใดพึงทำลายประโยชน์ของเราด้วยการกล่าวเท็จ ข้อนั้นไม่เป็นที่รักใคร่ ชอบใจของเรา อนึ่ง เราพึงทำลายประโยชน์ของคนอื่นด้วยการกล่าวเท็จ ข้อนั้นก็ไม่เป็นที่รักที่ ชอบใจแม้ของคนอื่น ธรรมข้อใด ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา ธรรมข้อนั้น ก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจ แม้ของผู้อื่น ธรรมข้อใด ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา เราจะพึงประกอบผู้อื่นไว้ด้วยธรรมข้อนั้น อย่างไร? อริยสาวกนั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ตนเองย่อมงดเว้นจากมุสาวาทด้วย ชักชวนผู้ อื่นเพื่อให้งดเว้นจากมุสาวาทด้วย กล่าวสรรเสริญคุณแห่งการงดเว้นจากมุสาวาทด้วย วจีสมาจาร ของอริยสาวกนั้น ย่อมบริสุทธิ์โดยส่วนสามอย่างนี้. [๑๔๖๓] ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมพิจารณา เห็นดังนี้ว่า ผู้ใดพึงยุยงให้เราแตกจากมิตรด้วยคำส่อเสียด ข้อนั้นไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา อนึ่ง เราพึงยุยงคนอื่นให้แตกจากมิตรด้วยคำส่อเสียด ข้อนั้นก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจแม้ของคนอื่น ธรรมข้อใด ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา ธรรมข้อนั้น ก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจแม้ของคนอื่น ธรรมข้อใด ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา เราจะพึงประกอบผู้อื่นไว้ด้วยธรรมข้อนั้นอย่างไร? อริยสาวกนั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ตนเองย่อมงดเว้นจากปิสุณาวาจาด้วย ชักชวนผู้อื่นเพื่อ ให้เว้นจากปิสุณาวาจาด้วย กล่าวสรรเสริญคุณแห่งการงดเว้นจากปิสุณาวาจาด้วย วจีสมาจาร ของอริยสาวกนั้น ย่อมบริสุทธิ์โดยส่วนสามอย่างนี้. [๑๔๖๔] ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมพิจารณา เห็นดังนี้ว่า ผู้ใดพึงพูดกะเราด้วยคำหยาบ ข้อนั้นไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา อนึ่ง เราพึงพูด กะคนอื่นด้วยคำหยาบ ข้อนั้นก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจแม้ของคนอื่น ธรรมข้อใด ไม่เป็นที่รักที่

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๓๕๖.

ชอบใจของเรา ธรรมข้อนั้น ก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจแม้ของผู้อื่น ธรรมข้อใด ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจ ของเรา เราจะพึงประกอบผู้อื่นไว้ด้วยธรรมข้อนั้นอย่างไร? อริยสาวกนั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ตนเองย่อมงดเว้นจากผรุสวาจาด้วย ชักชวนผู้อื่นเพื่อให้งดเว้นจากผรุสวาจาด้วย กล่าวสรรเสริญ คุณแห่งการงดเว้นจากผรุสวาจาด้วย วจีสมาจารของอริยสาวกนั้น ย่อมบริสุทธิ์โดยส่วนสาม อย่างนี้. [๑๔๖๕] ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมพิจารณา เห็นดังนี้ว่า ผู้ใดพึงพูดกะเราด้วยถ้อยคำเพ้อเจ้อ ข้อนั้นไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา อนึ่ง เราพึง พูดกะคนอื่นด้วยถ้อยคำเพ้อเจ้อ ข้อนั้นก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจแม้ของคนอื่น ธรรมข้อใด ไม่เป็นที่ รักที่ชอบใจของเรา ธรรมข้อนั้น ก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจแม้ของผู้อื่น ธรรมข้อใด ไม่เป็นที่รักที่ ชอบใจของเรา เราจะพึงประกอบผู้อื่นไว้ด้วยธรรมข้อนั้นอย่างไร? อริยสาวกนั้นพิจารณาเห็น ดังนี้แล้ว ตนเองย่อมงดเว้นจากสัมผัปปลาปะด้วย ชักชวนผู้อื่นเพื่อให้งดเว้นจากสัมผัปปลาปะ ด้วยกล่าวสรรเสริญคุณแห่งการงดเว้นจากสัมผัปปลาปะด้วย วจีสมาจารของอริยสาวกนั้น ย่อม บริสุทธิ์โดยส่วนสามอย่างนี้. [๑๔๖๖] อริยสาวกนั้นประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ... ใน พระธรรม ... ในพระสงฆ์ ... ประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ... เป็นไปเพื่อสมาธิ. [๑๔๖๗] ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย เมื่อใด อริยสาวกประกอบด้วยสัทธรรม ๗ ประการนี้ เมื่อนั้น อริยสาวกนั้นหวังอยู่ ด้วยฐานะเป็นที่ตั้งแห่งความหวัง ๔ ประการนี้ พึง พยากรณ์ตนด้วยตนเองได้ว่า เรามีนรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ปิตติวิสัย อบาย ทุคติ วินิบาต สิ้นแล้ว เราเป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า. [๑๔๖๘] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พราหมณ์และคฤหบดีชาวเวฬุทวารคาม ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งยิ่งนัก ข้าแต่ พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งยิ่งนัก ฯลฯ ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ เหล่านี้ ขอถึงท่านพระโคดมกับทั้งพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่า เป็นสรณะ ขอท่านพระโคดม โปรดทรงจำข้าพระองค์ทั้งหลายว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะจนตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯลฯ
จบ สูตรที่ ๗

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๙ บรรทัดที่ ๘๔๔๑-๘๕๔๐ หน้าที่ ๓๕๓-๓๕๖. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=19&A=8441&Z=8540&pagebreak=1 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=19&item=1454&items=15&pagebreak=1              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=19&item=1454&items=15&pagebreak=1&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=19&item=1454&items=15&pagebreak=1              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=19&item=1454&items=15&pagebreak=1              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=19&i=1454              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๙ https://84000.org/tipitaka/read/?index_19 https://84000.org/tipitaka/english/?index_19

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]