ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒
๘. สหธรรมิกวรรค สิกขาบทที่ ๒
เรื่องพระฉัพพัคคีย์
[๖๘๕] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ อนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสวินัยกถา ทรงพรรณนา คุณแห่งพระวินัย ตรัสอานิสงส์แห่งการเรียนพระวินัย ทรงยกย่องโดยเฉพาะท่านอุบาลีเนืองๆ แก่ภิกษุทั้งหลาย โดยอเนกปริยาย ภิกษุทั้งหลายพากันกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคตรัสวินัยกถา ทรงพรรณนาคุณแห่งพระวินัย ตรัสอานิสงส์แห่งการเรียนพระวินัย ทรงยกย่องโดยเฉพาะท่าน พระอุบาลีเนืองๆ โดยอเนกปริยาย อาวุโสทั้งหลาย ดั่งนั้น พวกเราพากันเล่าเรียนพระวินัย ในสำนักท่านพระอุบาลีเถิด ก็ภิกษุเหล่านั้นมากเหล่า เป็นเถระก็มี เป็นมัชฌิมะก็มี เป็นนวกะ ก็มี ต่างพากันเล่าเรียนพระวินัยในสำนักท่านพระอุบาลี. ส่วนพระฉัพพัคคีย์ได้หารือกันว่า อาวุโสทั้งหลาย บัดนี้ ภิกษุเป็นอันมาก ทั้งเถระ มัชฌิมะและนวกะ พากันเล่าเรียนพระวินัยในสำนักท่านพระอุบาลี ถ้าภิกษุเหล่านี้จักเป็นผู้รู้พระ- *บัญญัติในพระวินัย ท่านจักฉุดกระชากผลักไสพวกเราได้ตามใจชอบ อย่ากระนั้นเลย พวกเรา จงช่วยกันก่นพระวินัยเถิด เมื่อตกลงดั่งนั้น พระฉัพพัคคีย์จึงเข้าไปหาภิกษุทั้งหลาย กล่าว อย่างนี้ว่า จะประโยชน์อะไรด้วยสิกขาบทเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ที่ยกขึ้นแสดงแล้ว ช่างเป็นไป เพื่อความรำคาญ เพื่อความลำบาก เพื่อความยุ่งเหยิงนี่กระไร. บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน พระฉัพพัคคีย์ จึงได้พากันก่นพระวินัยเล่า แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
ทรงสอบถาม
พระผู้มีพระภาคทรงสอบพระฉัพพัคคีย์ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า พวกเธอช่วยกันก่น วินัย จริงหรือ? พระฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอจึงได้พากัน ก่นวินัยเล่า การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
พระบัญญัติ
๑๒๑. ๒. อนึ่ง ภิกษุใด เมื่อมีใครสวดปาติโมกข์อยู่ กล่าวอย่างนี้ว่า ประโยชน์อะไรด้วยสิกขาบทเล็กน้อยเหล่านี้ที่สวดขึ้นแล้ว ช่างเป็นไปเพื่อความรำคาญ เพื่อความลำบาก เพื่อความยุ่งเหยิงนี่กระไร เป็นปาจิตตีย์ เพราะก่นสิกขาบท.
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ.
สิกขาบทวิภังค์
[๖๘๖] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ... บทว่า ภิกษุ ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ... นี้ ชื่อว่า ภิกษุ ที่ทรงประสงค์ในอรรถนี้. คำว่า เมื่อมีใครสวดปาติโมกข์อยู่ ความว่า เมื่อมีผู้ใดผู้หนึ่งยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง อยู่ก็ดี ให้ผู้อื่นยกขึ้นแสดงอยู่ก็ดี ท่องบ่นอยู่ก็ดี. คำว่า กล่าวอย่างนี้ ความว่า ก่นพระวินัยแก่อุปสัมบันว่า ก็จะประโยชน์อะไรด้วย สิกขาบทเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ที่ยกขึ้นแสดงแล้ว ช่างเป็นไปเพื่อความรำคาญ เพื่อความ ลำบาก เพื่อความยุ่งเหยิงนี่กระไร ความรำคาญ ความลำบาก ความยุ่งเหยิง ย่อมมีแก่พวก ภิกษุจำพวกที่เล่าเรียนพระวินัยนี้ แต่จำพวกที่ไม่เล่าเรียนหามีไม่ สิกขาบทนี้พวกท่านอย่ายกขึ้น แสดงดีกว่า สิกขาบทนี้พวกท่านไม่สำเหนียกดีกว่า สิกขาบทนี้พวกท่านไม่เรียนดีกว่า สิกขาบท นี้พวกท่านไม่ทรงจำดีกว่า พระวินัยจะได้สาบสูญ หรือภิกษุพวกนี้จะได้ไม่รู้พระบัญญัติ ดังนี้ เป็นต้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
บทภาชนีย์
ติกะปาจิตตีย์
[๖๘๗] อุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าอุปสัมบัน ก่นพระวินัย ต้องอาบัติปาจิตตีย์. อุปสัมบัน ภิกษุมีความสงสัย ก่นพระวินัย ต้องอาบัติปาจิตตีย์. อุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าอนุปสัมบัน ก่นพระวินัย ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
ปัญจกะทุกกฏ
ภิกษุก่นธรรมอย่างอื่น ต้องอาบัติทุกกฏ. ภิกษุก่นพระวินัยหรือพระธรรมอย่างอื่นแก่อนุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ. อนุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าอุปสัมบัน ก่นพระวินัย ต้องอาบัติทุกกฏ. อนุปสัมบัน ภิกษุสงสัย ก่นพระวินัย ต้องอาบัติทุกกฏ. อนุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าอนุปสัมบัน ก่นพระวินัย ต้องอาบัติทุกกฏ.
อนาปัตติวาร
[๖๘๘] ภิกษุผู้ไม่ประสงค์จะก่น พูดตามเหตุว่า นิมนต์ท่านเรียนพระสูตร พระคาถา หรือพระอภิธรรมไปก่อนเถิด ภายหลังจึงค่อยเรียนพระวินัย ดังนี้ ๑ ภิกษุวิกลจริต ๑ ภิกษุ อาทิกัมมิกะ ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.
สหธรรมิกวรรค สิกขาบทที่ ๒ จบ
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ บรรทัดที่ ๑๓๔๐๘-๑๓๔๖๙ หน้าที่ ๕๗๔-๕๗๖. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=2&A=13408&Z=13469&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=2&item=685&items=4              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=2&item=685&items=4&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=2&item=685&items=4              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=2&item=685&items=4              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=2&i=685              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ https://84000.org/tipitaka/read/?index_2 https://84000.org/tipitaka/english/?index_2

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]