ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒
ปาฏิเทสนียกัณฑ์
ท่านทั้งหลาย ก็ธรรมคือปาฏิเทสนียะ ๔ สิกขาบทเหล่านี้แล มาสู่อุเทศ
ปาฏิเทสนียะ สิกขาบทที่ ๑
เรื่องภิกษุณีรูปหนึ่ง
[๗๘๑] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวันอาราม ของอนาถ- *บิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีรูปหนึ่งเที่ยวบิณฑบาตไปในพระนครสาวัตถี เวลากลับ พบภิกษุรูปหนึ่งแล้วได้กล่าวคำนี้ว่า ข้าแต่พระคุณเจ้า นิมนต์พระคุณเจ้าโปรดรับภิกษา ภิกษุนั้นกล่าวว่า ดีละ น้องหญิงแล้วได้รับภิกษาไปทั้งหมด ครั้นเวลาเที่ยงใกล้เข้าไป ภิกษุณีนั้น ไม่อาจไปเที่ยวบิณฑบาตได้ จึงอดอาหาร ครั้นต่อมาวันที่ ๒ ... ต่อมาวันที่ ๓ ภิกษุณีนั้นเที่ยวไป บิณฑบาตในพระนครสาวัตถี เวลากลับพบภิกษุรูปนั้นแล้วได้กล่าวคำนี้ว่า ข้าแต่พระคุณเจ้า นิมนต์พระคุณเจ้าโปรดรับภิกษา ภิกษุนั้นกล่าวว่า ดีละ น้องหญิง แล้วรับภิกษาไปทั้งหมด ครั้นเวลาเที่ยงใกล้เข้าไป ภิกษุณีนั้นไม่อาจไปเที่ยวบิณฑบาตได้ จึงอดอาหาร ครั้นต่อมาวันที่ ๔ ภิกษุณีนั้นเดินซวนเซไปตามถนน เศรษฐีคหบดีขึ้นรถสวนทางมา ได้กล่าวคำนี้กะภิกษุณีนั้นว่า นิมนต์หลีกไปหน่อยแม่เจ้า ภิกษุณีนั้นหลีกหลบล้มลงในที่นั้นเอง เศรษฐีคหบดีได้ขอขมาโทษ ภิกษุณีนั้นว่า ข้าแต่แม่เจ้า ขอท่านโปรดอดโทษแก่ข้าพเจ้าที่ทำให้ท่านล้มลง เจ้าข้า. ภิกษุณีตอบว่า ดูกรคหบดี ท่านไม่ได้ทำให้ฉันล้ม ฉันเองต่างหากที่มีกำลังน้อย. เศรษฐีคหบดีถามว่า ข้าแต่แม่เจ้า ก็เพราะเหตุไรเล่า แม่เจ้าจึงมีกำลังน้อย จึงภิกษุณี นั้นได้แจ้งเรื่องนั้นให้เศรษฐีคหบดีทราบ เศรษฐีคหบดีจึงนำภิกษุณีนั้นไปให้ฉันที่เรือน แล้วเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระคุณเจ้าผู้เจริญทั้งหลาย จึงได้รับอามิสจากมือภิกษุณีเล่า เพราะ มาตุคามมีลาภอัตคัด ภิกษุทั้งหลายได้ยินเศรษฐีคหบดีเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ บรรดาที่ เป็นผู้มักน้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนภิกษุจึงได้รับอามิสจากมือภิกษุณีเล่า แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
ทรงสอบถาม
พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุรูปนั้นว่า ดูกรภิกษุ ข่าวว่า เธอรับอามิสจากมือภิกษุณี จริงหรือ? ภิกษุรูปนั้นทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า. ภ. ดูกรภิกษุ ภิกษุณีนั้นเป็นญาติของเธอหรือมิใช่ญาติ ภิ. มิใช่ญาติ พระพุทธเจ้าข้า
ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษ ภิกษุผู้มิใช่ญาติ ย่อมไม่รู้การกระทำ อันสมควรหรือไม่สมควร ของที่มีอยู่หรือไม่มี ของภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ ไฉนเธอจึงได้รับอามิส จากมือภิกษุณีผู้มิใช่ญาติเล่า การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยัง ไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
พระบัญญัติ
๑๔๒. ๑. อนึ่ง ภิกษุใด รับของเคี้ยวก็ดี ของฉันก็ดี ด้วยมือของตน จากมือ ของภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ ผู้เข้าไปและสู่ละแวกบ้าน แล้วเคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี อันภิกษุนั้นพึง แสดงคืนว่า แน่ะเธอ ฉันต้องธรรมที่น่าติ ไม่เป็นที่สบาย ควรจะแสดงคืน ฉันแสดง คืนธรรมนั้น.
เรื่องภิกษุณีรูปหนึ่ง จบ.
สิกขาบทวิภังค์
[๗๘๒] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ... บทว่า ภิกษุ ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ... นี้ชื่อว่า ภิกษุ ที่ทรง ประสงค์ในอรรถนี้. ที่ชื่อว่า ผู้มิใช่ญาติ คือ ไม่ใช่คนเนื่องถึงกันทางมารดาก็ดี ทางบิดาก็ดี ตลอดเจ็ด- *ชั่วบุรพชนก. ที่ชื่อว่า ภิกษุณี ได้แก่ สตรีผู้อุปสมบทแล้วในสงฆ์สองฝ่าย. ที่ชื่อว่า ละแวกบ้าน ได้แก่ ถนน ตรอกตัน ทางสามแยก เรือนตระกูล. ที่ชื่อว่า ของเคี้ยว คือ ยกโภชนะทั้งห้า ยามกาลิก สัตตาหกาลิก และยาวชีวิก นอกจากนี้ชื่อว่าของเคี้ยว. ที่ชื่อว่า ของฉัน ได้แก่ โภชนะทั้งห้า คือ ข้าวสุก ๑ ขนมสด ๑ ขนมแห้ง ๑ ปลา ๑ เนื้อ ๑. ภิกษุรับประเคนไว้ด้วยหมายใจว่า จักเคี้ยว จักฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ กลืน ต้องอาบัติ ปาฏิเทสนียะ ทุกๆ คำกลืน.
บทภาชนีย์
ติกปาฏิเทสนียะ
ภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ ภิกษุสำคัญว่ามิใช่ญาติ รับของเคี้ยวก็ดี ของฉันก็ดี ด้วยมือของตน จากมือของภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ ผู้เข้าไปแล้วสู่ละแวกบ้าน แล้วเคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ต้องอาบัติ ปาฏิเทสนียะ. ภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ ภิกษุสงสัยอยู่ รับของเคี้ยวก็ดี ของฉันก็ดี ด้วยมือของตนจากมือ ภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ ผู้เข้าไปแล้วสู่ละแวกบ้าน แล้วเคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ต้องอาบัติปาทิเทสนียะ. ภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ ภิกษุสำคัญว่าเป็นญาติ รับของเคี้ยวก็ดี ของฉันก็ดี ด้วยมือของตน จากมือของภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ ผู้เข้าไปแล้วสู่ละแวกบ้าน แล้วเคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ต้องอาบัติ ปาฏิเทสนียะ.
จตุกกทุกกฏ
ภิกษุรับของที่เป็นยามกาลิก สัตตาหกาลิก ยาวชีวิก เพื่อทำเป็นอาหาร ต้องอาบัติทุกกฏ กลืน ต้องอาบัติทุกกฏ ทุกๆ คำกลืน. ภิกษุรับ ... จากมือของภิกษุณีผู้อุปสมบทแล้วในสงฆ์ฝ่ายเดียว ด้วยตั้งใจว่า จักเคี้ยว จักฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ กลืน ต้องอาบัติทุกกฏ ทุกๆ คำกลืน. ภิกษุณีผู้เป็นญาติ ภิกษุสำคัญว่ามิใช่ญาติ ... ต้องอาบัติทุกกฏ. ภิกษุณีผู้เป็นญาติ ภิกษุสงสัยอยู่ ... ต้องอาบัติทุกกฏ.
ไม่ต้องอาบัติ
ภิกษุณีผู้เป็นญาติ ภิกษุสำคัญว่าเป็นญาติ ... ไม่ต้องอาบัติ.
อนาปัตติวาร
[๗๘๓] ภิกษุณีผู้เป็นญาติ ๑ ภิกษุณีผู้มิใช่ญาติสั่งให้ถวาย มิได้ถวายเอง ๑ เก็บวางไว้ ถวาย ๑ ถวายในอาราม ๑ ในสำนักภิกษุณี ๑ ในสำนักเดียรถีย์ ๑ ในโรงฉัน ๑ นำออกจาก บ้านแล้วถวาย ๑ ถวายยามกาลิก สัตตาหกาลิก ยาวชีวิก ด้วยคำว่า เมื่อปัจจัยมีอยู่ นิมนต์ฉัน ได้ ๑ สิกขมานาถวาย ๑ สามเณรีถวาย ๑ ภิกษุวิกลจริต ๑ ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.
ปาฏิเทสนียะ สิกขาบทที่ ๑ จบ.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ บรรทัดที่ ๑๔๗๘๕-๑๔๘๖๔ หน้าที่ ๖๔๐-๖๔๓. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=2&A=14785&Z=14864&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=2&item=781&items=3              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=2&item=781&items=3&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=2&item=781&items=3              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=2&item=781&items=3              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=2&i=781              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ https://84000.org/tipitaka/read/?index_2 https://84000.org/tipitaka/english/?index_2

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]