ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๒ อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต
ติกรรณสูตร
[๔๙๘] ครั้งนั้นแล ติกรรณพราหมณ์ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึง ที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกัน แล้ว นั่งลง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วพูดสรรเสริญคุณของพราหมณ์ผู้ได้ วิชชาเฉพาะพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคว่า พราหมณ์ผู้ได้วิชชา ๓ เป็นอย่างนี้ พราหมณ์ผู้ได้วิชชา ๓ เป็นเช่นนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรพราหมณ์ พวก พราหมณ์ย่อมบัญญัติพราหมณ์ว่าได้วิชชา ๓ อย่างไร ฯ ติ. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พราหมณ์ในโลกนี้ เป็นอุภโตสุชาติ ข้าง ฝ่ายมารดาและบิดา มีครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิสะอาดดีตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านติเตียนได้ด้วยอ้างถึงชาติ เป็นผู้เล่าเรียน ทรงจำมนต์ รู้จบ ไตรเพท พร้อมทั้งคัมภีร์นิฆัณฑุ คัมภีร์เกฏุภะ พร้อมทั้งประเภทอักษรมีคัมภีร์ อิติหาสเป็นที่ ๕ เป็นผู้เข้าใจตัวบท เป็นผู้เข้าใจไวยากรณ์ ชำนาญในคัมภีร์ โลกายตะ และตำราทายมหาปุริสลักษณะ ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พวกพราหมณ์ ย่อมบัญญัติพราหมณ์ว่าได้วิชชา ๓ อย่างนี้แล ฯ พ. ดูกรพราหมณ์ พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติพราหมณ์ว่าได้วิชชา ๓ อย่าง หนึ่ง ก็แหละผู้ได้วิชชา ๓ ในอริยวินัยเป็นอีกอย่างหนึ่ง ฯ ติ. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ผู้ได้วิชชา ๓ ในอริยวินัย ย่อมมีอย่างไร ขอประทานพระวโรกาส ขอพระองค์โปรดทรงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์ตามที่ผู้ได้ วิชชา ๓ มีในอริยวินัย ฯ พ. ดูกรพราหมณ์ ถ้ากระนั้นจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ติกรรณ พราหมณ์ทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตกวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่ง จิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ มีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วย นามกายเพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระอริยทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะ ละสุขละทุกข์และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์ อยู่ ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อปุพเพ นิวาสานุสสติญาณ เธอย่อมระลึกชาติก่อนๆ ได้เป็นอันมาก คือ ระลึก ได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติ บ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏกัปเป็นอัน มากบ้าง ตลอดวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า ใน ภพโน้นเรามีชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้ มีผิวพรรณอย่างนี้ มีอาหารอย่างนี้ เสวย สุขเสวยทุกข์อย่างนี้ๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านี้ ครั้นจุติจากภพนั้นแล้วไปเกิดใน ภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็ได้ชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้ มีผิวพรรณอย่างนี้ มีอาหารอย่างนี้ เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนี้ๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านี้ ครั้นจุติ จากภพนั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพนี้ เธอย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ วิชชาข้อแรกเป็นอันเธอได้ บรรลุแล้ว ดังนี้ อวิชชาสูญไป วิชชาเกิดขึ้น ความมืดสูญไป แสงสว่างเกิดขึ้น เช่นเดียวกันกับของภิกษุผู้ไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปแล้วอยู่ ฉะนั้น ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อรู้จุติและ อุปบัติของสัตว์ทั้งหลาย เธอเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มี ผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของ มนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกาย ทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฐิ ยึดถือการทำ ด้วยอำนาจมิจฉาทิฐิ เมื่อแตกกายตายไป ต้องเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระ อริยเจ้า เป็นสัมมาทิฐิ ยึดถือการทำด้วยอำนาจสัมมาทิฐิ เมื่อแตกกายตายไป ได้เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ดังนี้ เธอย่อมเห็นหมู่สัตว์กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้ วิชชาข้อที่สอง ย่อมเป็นอันเธอได้บรรลุแล้ว ดังนี้ อวิชชาสูญไป วิชชา เกิดขึ้น ความมืดสูญไป แสงสว่างเกิดขึ้น เช่นเดียวกันกับของภิกษุผู้ไม่ ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปแล้วอยู่ ฉะนั้น ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ ย่อมรู้ชัดตามความ เป็นจริงว่านี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เหล่านี้ อาสวะ นี้เหตุเกิดอาสวะ นี้ความดับอาสวะ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะ เมื่อเธอรู้เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นแม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จาก อวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็น อย่างนี้มิได้มี วิชชาข้อที่สาม ย่อมเป็นอันเธอได้บรรลุแล้ว ดังนี้ อวิชชาสูญไป วิชชาเกิดขึ้น ความมืดสูญไป แสงสว่างเกิดขึ้น เช่นเดียวกันกับของภิกษุผู้ไม่ ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปแล้วอยู่ ฉะนั้น ฯ จิตของพระโคดมองค์ใดซึ่งมีศีลไม่ลุ่มๆ ดอนๆ มีปัญญา และมีความเพ่งพินิจ เป็นจิตมีความชำนาญ เป็นเอกัคคตา เป็นสมาธิดีแล้ว พระโคดมพระองค์นั้นแลบัณฑิตกล่าวว่า บรรเทาความมืดได้ เป็นนักปราชญ์ ได้วิชชา ๓ ละทิ้งมัจจุ เกื้อกูลแก่เทวดาและมนุษย์ ละบาปธรรมเสียได้ทุกอย่าง สาวกทั้งหลายย่อมนมัสการพระโคดมพระองค์นั้น ผู้สมบูรณ์ ด้วยวิชชา ๓ ไม่หลงใหลอยู่ ผู้ตื่นแล้ว มีสรีระเป็นครั้งสุดท้าย ผู้ใดตรัสรู้ปุพเพนิวาสญาณ เห็นทั้งสวรรค์ทั้งอบาย บรรลุถึง ธรรมเป็นที่สิ้นชาติ เป็นมุนีผู้อยู่จบพรหมจรรย์ เพราะรู้ด้วย ปัญญาอันยิ่ง เป็นพราหมณ์ผู้ได้วิชชา ๓ โดยวิชชา ๓ นี้ เรากล่าวผู้นั้นว่าได้วิชชา ๓ เราย่อมไม่กล่าวถึงคนอื่นตามถ้อย คำที่คนอื่นกล่าวว่าได้วิชชา ๓ ฯ ดูกรพราหมณ์ ผู้ได้วิชชา ๓ ในอริยวินัยเป็นอย่างนี้แล ฯ ติ. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ผู้ได้วิชชา ๓ ของพวกพราหมณ์เป็นอย่าง หนึ่ง ก็แหละผู้ได้วิชชา ๓ ในอริยวินัยเป็นอย่างหนึ่ง ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ผู้ได้วิชชา ๓ ของพวกพราหมณ์ ไม่ถึงส่วนที่ ๑๖ ซึ่งจำแนกไป ๑๖ ครั้งของผู้ได้ วิชชา ๓ ในอริยวินัยนี้ ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ฯลฯ ขอท่านพระโคดมโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต จำ เดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๐ บรรทัดที่ ๔๒๘๕-๔๓๗๑ หน้าที่ ๑๘๔-๑๘๘. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=20&A=4285&Z=4371&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=20&item=498&items=1              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=20&item=498&items=1&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=20&item=498&items=1              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=20&item=498&items=1              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=20&i=498              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๐ https://84000.org/tipitaka/read/?index_20 https://84000.org/tipitaka/english/?index_20

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]