ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๔ อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต

หน้าที่ ๒๕๔.

๖. วินิพันธสูตร
[๒๐๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เครื่องผูกพันใจ ๕ ประการนี้ ๕ ประการ เป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ยังไม่ปราศจากความกำหนัด ยังไม่ ปราศจากความพอใจ ยังไม่ปราศจากความรัก ยังไม่ปราศจากความระหาย ยังไม่ ปราศจากความทะยานอยากในกาม ภิกษุใด เป็นผู้ยังไม่ปราศจากความกำหนัด ... ยังไม่ปราศจากความทะยานอยากในกาม จิตของภิกษุนั้นย่อมไม่น้อมไปเพื่อความ เพียร เพื่อความประกอบเนืองๆ เพื่อกระทำติดต่อ เพื่อบำเพ็ญเพียร นี้เป็น เครื่องผูกใจข้อที่ ๑ ฯ อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ยังไม่ปราศจากความกำหนัด ... ยังไม่ปราศจาก ความทะยานอยากในกาย ภิกษุใด เป็นผู้ยังไม่ปราศจากความกำหนัด ... ยังไม่ ปราศจากความทะยานอยากในกาย จิตของภิกษุนั้นย่อมไม่น้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อประกอบเนืองๆ เพื่อกระทำติดต่อ เพื่อบำเพ็ญเพียร นี้เป็นเครื่องผูกพันใจ ข้อที่ ๒ ฯ อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ยังไม่ปราศจากความกำหนัด ... ยังไม่ ปราศจากความทะยานอยากในรูป ภิกษุใด เป็นผู้ยังไม่ปราศจากความกำหนัด ... ยังไม่ปราศจากความทะยานอยากในรูป จิตของภิกษุนั้นย่อมไม่น้อมไปเพื่อความ เพียร เพื่อความประกอบเนืองๆ เพื่อกระทำติดต่อ เพื่อบำเพ็ญเพียร นี้เป็น เครื่องผูกพันใจข้อที่ ๓ ฯ อีกประการหนึ่ง ภิกษุฉันอาหารจนอิ่มตามต้องการแล้ว ประกอบความสุข ในการนอน ความสุขในการเอน ความสุขในการหลับอยู่ ภิกษุใด ฉันอาหาร จนอิ่มตามความต้องการแล้ว ประกอบความสุขในการนอน ความสุขในการเอน ความสุขในการหลับอยู่ จิตของภิกษุนั้นย่อมไม่น้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อความ ประกอบเนืองๆ เพื่อกระทำติดต่อ เพื่อบำเพ็ญเพียร นี้เป็นเครื่องผูกพันใจ ข้อที่ ๔ ฯ

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๕๕.

อีกประการหนึ่ง ภิกษุปรารถนาเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่งประพฤติพรหมจรรย์ ด้วยตั้งใจว่า เราจักเป็นเทวดา หรือเป็นเทพองค์ใดองค์หนึ่ง ด้วยศีล พรต ตบะ หรือพรหมจรรย์นี้ ภิกษุใดปรารถนาเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่ง ประพฤติพรหมจรรย์ ด้วยตั้งใจว่า เราจักเป็นเทวดา หรือเป็นเทพองค์ใดองค์หนึ่ง ด้วยศีล พรต ตบะ หรือพรหมจรรย์นี้ จิตของภิกษุนั้นย่อมไม่น้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อประกอบ เนืองๆ เพื่อกระทำติดต่อ เพื่อบำเพ็ญเพียร นี้เป็นเครื่องผูกพันใจข้อที่ ๕ ดูกร- *ภิกษุทั้งหลาย เครื่องผูกพันใจ ๕ ประการนี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๖
๗. ยาคุสูตร
[๒๐๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ของข้าวยาคู ๕ ประการนี้ ๕ ประการ เป็นไฉน คือ บรรเทาความหิว ๑ ระงับความระหาย ๑ ยังลมให้เดินคล่อง ๑ ชำระลำไส้ ๑ เผาอาหารเก่าที่ยังไม่ย่อย ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ของข้าว ยาคู ๕ ประการนี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๗
๘. ทันตกัฏฐสูตร
[๒๐๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย โทษเพราะไม่เคี้ยวไม้สีฟัน ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ตาฟาง ๑ ปากเหม็น ๑ ประสาทที่นำรสอาหารไม่หมด จดดี ๑ เสมหะย่อมหุ้มห่ออาหาร ๑ อาหารย่อมไม่อร่อยแก่เขา ๑ ดูกรภิกษุ- *ทั้งหลาย โทษเพราะไม่เคี้ยวไม้สีฟัน ๕ ประการนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์เพราะเคี้ยวไม้สีฟัน ๕ ประการนี้ ๕ ประการ เป็นไฉน คือ ตาสว่าง ๑ ปากไม่เหม็น ๑ ประสาทที่นำรสอาหารหมดจดดี ๑ เสมหะย่อมไม่หุ้มห่ออาหาร ๑ อาหารย่อมอร่อยแก่เขา ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์เพราะเคี้ยวไม้สีฟัน ๕ ประการนี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๘

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๕๖.

๙. คีตสูตร
[๒๐๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย โทษของภิกษุผู้กล่าวธรรมด้วยเสียงขับที่ ยาว ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ตนเองย่อมกำหนัดในเสียงนั้นบ้าง ผู้อื่นย่อมกำหนัดในเสียงนั้นบ้าง พวกคฤหบดีย่อมยกโทษว่า พวกสมณศากยบุตร เหล่านี้ย่อมขับเหมือนพวกเราขับบ้าง เมื่อภิกษุพอใจกระทำเสียง ความเสื่อมแห่ง สมาธิย่อมมีบ้าง ประชุมชนรุ่นหลังย่อมถือเป็นแบบอย่างบ้าง ดูกรภิกษุทั้งหลาย โทษของภิกษุผู้กล่าวธรรมด้วยเสียงขับที่ยาว ๕ ประการ นี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๙
๑๐. มุฏฐัสสติสูตร
[๒๑๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย โทษแห่งภิกษุผู้ลืมสติ ไม่มีสัมปชัญญะ นอนหลับ ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ย่อมหลับเป็นทุกข์ ๑ ย่อมตื่น เป็นทุกข์ ๑ ย่อมฝันลามก ๑ เทวดาย่อมไม่รักษา ๑ น้ำอสุจิย่อมเคลื่อน ๑ ดูกร- *ภิกษุทั้งหลาย โทษแห่งภิกษุผู้ลืมสติ ไม่มีสัมปชัญญะ นอนหลับ ๕ ประการ นี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์แห่งภิกษุผู้มีสติตั้งมั่น มีสัมปชัญญะ นอน หลับ ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ย่อมหลับเป็นสุข ๑ ย่อมตื่น เป็นสุข ๑ ย่อมไม่ฝันลามก ๑ เทวดาย่อมรักษา ๑ น้ำอสุจิย่อมไม่เคลื่อน ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์แห่งภิกษุผู้มีสติตั้งมั่น มีสัมปชัญญะ นอนหลับ ๕ ประการ นี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๑๐
จบกิมพิลวรรคที่ ๑
-----------------------------------------------------

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๕๗.

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. กิมพิลสูตร ๒. ธัมมัสสวนสูตร ๓. อาชานิยสูตร ๔. พลสูตร ๕. เจโตขีลสูตร ๖. วินิพันธสูตร ๗. ยาคุสูตร ๘. ทันตกัฏฐสูตร ๙. คีตสูตร ๑๐. มุฏฐัสสติสูตร ฯ
-----------------------------------------------------

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๕๘.

อักโกสกวรรคที่ ๒
๑. อักโกสกสูตร
[๒๑๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใดชอบด่า ชอบบริภาษเพื่อน พรหมจรรย์ ชอบติเตียนพระอริยเจ้า ภิกษุนั้นพึงหวังได้โทษ ๕ ประการ ๕ ประการเป็นไฉน คือ เธอย่อมต้องอาบัติปาราชิก ขาดทางบรรลุโลกุตรธรรม ๑ ย่อมต้องอาบัติที่เศร้าหมองอย่างอื่น ๑ ย่อมได้รับโรคเรื้อรังอย่างหนัก ๑ ย่อม เป็นผู้หลงกระทำกาละ ๑ เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใดชอบด่า ชอบบริภาษเพื่อนพรหมจรรย์ ชอบติเตียน พระอริยเจ้า ภิกษุนั้นพึงหวังได้โทษ ๕ ประการนี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๑
๒. ภัณทนสูตร
[๒๑๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใดผู้ทำความบาดหมาง ทำการทะเลาะ ทำการอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ ภิกษุนั้นพึงหวังได้โทษ ๕ ประการ ๕ ประการ เป็นไฉน คือ ย่อมไม่ได้บรรลุคุณวิเศษที่ยังไม่ได้บรรลุ ๑ ย่อมเสื่อมจากคุณที่ ได้บรรลุแล้ว ๑ กิตติศัพท์ที่ชั่วย่อมฟุ้งไป ๑ ย่อมเป็นผู้หลงกระทำกาละ ๑ เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใด ทำความบาดหมาง ทำการทะเลาะ ทำการวิวาท ทำการอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ใน- *สงฆ์ ภิกษุนั้นพึงหวังได้โทษ ๕ ประการนี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๒
๓. สีลสูตร
[๒๑๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย โทษของคนทุศีล เพราะศีลวิบัติ ๕ ประการ นี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ผู้ทุศีล มีศีลวิบัติ ในธรรมวินัยนี้ ย่อมถึงความ

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๕๙.

เสื่อมโภคทรัพย์อย่างมากอันมีความประมาทเป็นเหตุ นี้เป็นโทษข้อที่ ๑ ของคน ทุศีล เพราะศีลวิบัติ อีกประการหนึ่ง กิตติศัพท์ที่ชั่วของผู้ทุศีล มีศีลวิบัติย่อมฟุ้ง ไป นี้เป็นโทษข้อที่ ๒ ของคนทุศีล เพราะศีลวิบัติ อีกประการหนึ่ง ผู้ทุศีล มีศีลวิบัติ จะเข้าสู่บริษัทใดๆ คือ ขัตติยบริษัท พราหมณบริษัท คฤหบดีบริษัท สมณบริษัทย่อมไม่องอาจ เก้อเขินเข้าไปนี้เป็นโทษข้อที่ ๓ ของคนทุศีล เพราะศีล วิบัติอีกประการหนึ่งคนทุศีล มีศีลวิบัติ ย่อมเป็นผู้หลงกระทำกาละ นี้เป็นโทษข้อ ที่ ๔ ของคนทุศีล เพราะศีลวิบัติ อีกประการหนึ่ง คนทุศีล มีศีลวิบัติ เมื่อ ตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก นี้เป็นโทษ ข้อที่ ๕ ของคนทุศีล เพราะศีลวิบัติ ดูกรภิกษุทั้งหลาย โทษของคนทุศีล เพราะศีลวิบัติ ๕ ประการ นี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ของคนมีศีล เพราะความถึงพร้อมด้วยศีล ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ คนมีศีล ถึงพร้อมด้วยศีล ในธรรมวินัยนี้ ย่อมถึงกองโภคทรัพย์มากมาย อันมีความไม่ประมาทเป็นเหตุ นี้เป็นอานิสงส์ข้อ ที่ ๑ ของคนมีศีล เพราะความถึงพร้อมด้วยศีล อีกประการหนึ่ง กิตติศัพท์อัน งามของคนมีศีล ถึงพร้อมด้วยศีล ย่อมฟุ้งไป นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๒ ของคน มีศีล เพราะความถึงพร้อมด้วยศีล อีกประการหนึ่ง คนมีศีล ถึงพร้อมด้วยศีล จะเข้าสู่บริษัทใดๆ คือ ขัตติยบริษัท พราหมณบริษัท คฤหบดีบริษัท สมณบริษัท ย่อมองอาจ ไม่เก้อเขินเข้าไป นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๓ ของคนมีศีล เพราะความ ถึงพร้อมด้วยศีล อีกประการหนึ่ง คนมีศีล ถึงพร้อมด้วยศีล ย่อมเป็นผู้ไม่หลง กระทำกาละ นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๔ ของคนมีศีล เพราะความถึงพร้อมด้วยศีล อีกประการหนึ่ง คนมีศีล ถึงพร้อมด้วยศีล เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๕ ของคนมีศีล เพราะความถึงพร้อมด้วยศีล ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย อานิสงส์ของคนมีศีล เพราะความถึงพร้อมด้วยศีล ๕ ประการนี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๓

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๖๐.

๔. พหุภาณีสูตร
[๒๑๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย โทษ ๕ ประการนี้ มีอยู่ในบุคคลผู้พูด มาก ๕ ประการเป็นไฉน คือ พูดเท็จ ๑ พูดส่อเสียด ๑ พูดคำหยาบ ๑ พูดเพ้อเจ้อ ๑ เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ๑ ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย โทษ ๕ ประการนี้แล มีอยู่ในบุคคลผู้พูดมาก ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ ๕ ประการนี้ มีอยู่ในบุคคลผู้พูดพอ ประมาณ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ไม่พูดเท็จ ๑ ไม่พูดส่อเสียด ๑ ไม่พูดคำ หยาบ ๑ ไม่พูดเพ้อเจ้อ ๑ เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ ๕ ประการนี้แล มีอยู่ในบุคคลผู้พูดพอประมาณ ฯ
จบสูตรที่ ๔

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ บรรทัดที่ ๕๘๐๗-๕๙๓๗ หน้าที่ ๒๕๔-๒๖๐. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=22&A=5807&Z=5937&pagebreak=1 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=22&item=206&items=9&pagebreak=1              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=22&item=206&items=9&pagebreak=1&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=22&item=206&items=9&pagebreak=1              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=22&item=206&items=9&pagebreak=1              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=22&i=206              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ https://84000.org/tipitaka/read/?index_22 https://84000.org/tipitaka/english/?index_22

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]