ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๔ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๖ อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต
             [๘๗] ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงปรารภพระกาฬกภิกษุ ตรัสเรียก
ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระ
ผู้มีพระภาคได้ตรัสพระดำรัสนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ก่อ
อธิกรณ์ ไม่กล่าวสรรเสริญการระงับอธิกรณ์ แม้ข้อที่ภิกษุเป็นผู้ก่ออธิกรณ์ไม่กล่าว
สรรเสริญการระงับอธิกรณ์นี้ ย่อมไม่เป็นไปเพื่อความเป็นที่รัก ที่เคารพ ที่ยกย่อง
ที่เสมอกัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ฯ
             อีกประการหนึ่ง ภิกษุไม่เป็นผู้ใคร่ในการศึกษา ไม่กล่าวสรรเสริญการ
สมาทานในการศึกษา แม้ข้อที่ภิกษุไม่เป็นผู้ใคร่ในการศึกษา ไม่กล่าวสรรเสริญ
การสมาทานในการศึกษานี้ ย่อมไม่เป็นไปเพื่อความเป็นที่รัก ที่เคารพ ที่ยกย่อง
ที่เสมอกัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ฯ
             อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มีความปรารถนาลามก ไม่กล่าวสรรเสริญการ
กำจัดความปรารถนา แม้ข้อที่ภิกษุเป็นผู้มีความปรารถนาลามกไม่กล่าวสรรเสริญ
การกำจัดความปรารถนานี้ ย่อมไม่เป็นไปเพื่อความเป็นที่รัก ที่เคารพ ที่ยกย่อง
ที่เสมอกัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ฯ
             อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มักโกรธ ไม่กล่าวสรรเสริญการกำจัดความ
โกรธ แม้ข้อที่ภิกษุเป็นผู้มักโกรธ ไม่กล่าวสรรเสริญการกำจัดความโกรธนี้ ย่อม
ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นที่รัก ที่เคารพ ที่ยกย่อง ที่เสมอกัน เป็นอันหนึ่งอัน
เดียวกัน ฯ
             อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ลบหลู่ ไม่กล่าวสรรเสริญการกำจัดความ
ลบหลู่ แม้ข้อที่ภิกษุเป็นผู้ลบหลู่ ไม่กล่าวสรรเสริญการกำจัดความลบหลู่นี้ ย่อม
ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นที่รัก ที่เคารพ ที่ยกย่อง ที่เสมอกัน เป็นอันหนึ่งอัน
เดียวกัน ฯ
             อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้โอ้อวด ไม่กล่าวสรรเสริญการกำจัดความ
โอ้อวด แม้ข้อที่ภิกษุเป็นผู้โอ้อวด ไม่กล่าวสรรเสริญการกำจัดความโอ้อวดนี้ ย่อม
ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นที่รัก ที่เคารพ ที่ยกย่อง ที่เสมอกัน เป็นอันหนึ่ง
อันเดียวกัน ฯ
             อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มีมายา ไม่กล่าวสรรเสริญการกำจัดมายา แม้
ข้อที่ภิกษุเป็นผู้มีมายา ไม่กล่าวสรรเสริญการกำจัดมายานี้ ย่อมไม่เป็นไปเพื่อความ
เป็นที่รัก ที่เคารพ ที่ยกย่อง ที่เสมอกัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ฯ
             อีกประการหนึ่ง ภิกษุไม่เป็นผู้เพ่งเล็งธรรมทั้งหลาย ไม่กล่าวสรรเสริญ
การเพ่งเล็งธรรม แม้ข้อที่ภิกษุไม่เป็นผู้เพ่งเล็งธรรมทั้งหลาย ไม่กล่าวสรรเสริญ
การเพ่งเล็งธรรมนี้ ย่อมไม่เป็นไปเพื่อความเป็นที่รัก ที่เคารพ ที่ยกย่อง ที่เสมอ
กัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ฯ
             อีกประการหนึ่ง ภิกษุไม่เป็นผู้หลีกออกเร้นอยู่ ไม่กล่าวสรรเสริญการ
หลีกออกเร้น แม้ข้อที่ภิกษุไม่เป็นผู้หลีกออกเร้นอยู่ ไม่กล่าวสรรเสริญการหลีก
ออกเร้นนี้ ย่อมไม่เป็นไปเพื่อความเป็นที่รัก ที่เคารพ ที่ยกย่อง ที่เสมอกัน เป็น
อันหนึ่งอันเดียวกัน ฯ
             อีกประการหนึ่ง ภิกษุไม่เป็นผู้กระทำการปฏิสันถารเพื่อนพรหมจรรย์
ทั้งหลาย ไม่กล่าวสรรเสริญการกระทำปฏิสันถาร แม้ข้อที่ภิกษุไม่กระทำการ
ปฏิสันถารเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ไม่กล่าวสรรเสริญการกระทำปฏิสันถารนี้
ย่อมไม่เป็นไปเพื่อความเป็นที่รัก ที่เคารพ ที่ยกย่อง ที่เสมอกัน เป็นอันหนึ่ง
อันเดียวกัน ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความปรารถนาพึงบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุเห็นปานนี้อย่างนี้ว่า
โอหนอ ขอเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเรา ดังนี้
แม้ถึงอย่างนั้น เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายก็ไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่
บูชาภิกษุนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายผู้เป็นวิญญู
ย่อมพิจารณาเห็นซึ่งอกุศลธรรมทั้งหลายอันลามกที่ยังละไม่ได้ของเธอ ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนความปรารถนาพึงบังเกิดขึ้นแก่ม้าตัวโง่
เขลาอย่างนี้ว่า โอหนอ ขอมนุษย์ทั้งหลายพึงตั้งเราไว้ในตำแหน่งม้าอาชาไนยเถิด
พึงให้เรากินอาหารสำหรับม้าอาชาไนยเถิด และพึงขัดสีเราให้เหมือนม้าอาชาไนย
เถิด ดังนี้ แม้ถึงอย่างนั้น มนุษย์ทั้งหลายก็ไม่ตั้งม้านั้นไว้ในตำแหน่งม้าอาชาไนย
ไม่ให้กินอาหารเหมือนม้าอาชาไนย ไม่ขัดสีให้เหมือนม้าอาชาไนย ข้อนี้เพราะ
เหตุไร เพราะมนุษย์ทั้งหลายผู้เป็นวิญญูพิจารณาเห็นความโอ้อวด ความโกง
ความไม่ตรง ความคด ซึ่งยังละไม่ได้ของม้านั้น แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ความปรารถนาพึงบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุเห็นปานนั้นอย่างนี้ว่า โอหนอ ขอเพื่อน
พรหมจรรย์ทั้งหลายพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเรา ดังนี้ แม้ถึงอย่างนั้น
เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายก็ไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่บูชาภิกษุนั้น
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายผู้เป็นวิญญู ย่อมพิจารณาเห็น
อกุศลธรรมอันลามกซึ่งยังละไม่ได้ของภิกษุนั้น ฉันนั้นเหมือนกันแล ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่ก่ออธิกรณ์ กล่าว
สรรเสริญการระงับอธิกรณ์ แม้ข้อที่ภิกษุไม่เป็นผู้ก่ออธิกรณ์กล่าวสรรเสริญการ
ระงับอธิกรณ์นี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นที่รัก ที่เคารพ ที่ยกย่อง ที่เสมอกัน
เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ฯ
             อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ใคร่ในการศึกษา กล่าวสรรเสริญการสมาทาน
ในการศึกษา แม้ข้อที่ภิกษุเป็นผู้ใคร่ในการศึกษากล่าวสรรเสริญการสมาทานใน
การศึกษานี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นที่รัก ที่เคารพ ที่ยกย่อง ที่เสมอกัน เป็น
อันหนึ่งอันเดียวกัน ฯ
             อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย กล่าวสรรเสริญการ
กำจัดความปรารถนา แม้ข้อที่ภิกษุเป็นผู้ปรารถนาน้อย กล่าวสรรเสริญการกำจัด
ความปรารถนานี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นที่รัก ที่เคารพ ที่ยกย่อง ที่เสมอกัน
เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ฯ
             อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ไม่โกรธ กล่าวสรรเสริญการกำจัดความโกรธ
แม้ข้อที่ภิกษุเป็นผู้ไม่โกรธกล่าวสรรเสริญการกำจัดความโกรธนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อ
ความเป็นที่รัก ที่เคารพ ที่ยกย่อง ที่เสมอกัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ฯ
             อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ไม่ลบหลู่ กล่าวสรรเสริญการกำจัดความ
ลบหลู่ แม้ข้อที่ภิกษุเป็นผู้ไม่ลบหลู่ กล่าวสรรเสริญการกำจัดความลบหลู่นี้ ย่อม
เป็นไปเพื่อความเป็นที่รัก ที่เคารพ ที่ยกย่อง ที่เสมอกัน เป็นอันหนึ่งอัน
เดียวกัน ฯ
             อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ไม่โอ้อวด กล่าวสรรเสริญการกำจัดความ
โอ้อวด แม้ข้อที่ภิกษุเป็นผู้ไม่โอ้อวด กล่าวสรรเสริญการกำจัดความโอ้อวดนี้ ย่อม
เป็นไปเพื่อความเป็นที่รัก ที่เคารพ ที่ยกย่อง ที่เสมอกัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ฯ
             อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ไม่มีมายา กล่าวสรรเสริญการกำจัดมายา
ข้อที่ภิกษุเป็นผู้ไม่มีมายากล่าวสรรเสริญการกำจัดมายานี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็น
ที่รัก ที่เคารพ ที่ยกย่อง ที่เสมอกัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ฯ
             อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้เพ่งเล็งธรรมทั้งหลาย กล่าวสรรเสริญการ
เพ่งเล็งธรรมทั้งหลาย ข้อที่ภิกษุเป็นผู้เพ่งเล็งธรรมทั้งหลาย กล่าวสรรเสริญการ
เพ่งเล็งธรรมทั้งหลายนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นที่รัก ที่เคารพ ที่ยกย่อง ที่
เสมอกัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ฯ
             อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้หลีกออกเร้นอยู่ กล่าวสรรเสริญการหลีก
ออกเร้น แม้ข้อที่ภิกษุเป็นผู้หลีกออกเร้นอยู่กล่าวสรรเสริญการหลีกออกเร้นนี้
ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นที่รัก ที่เคารพ ที่ยกย่อง ที่เสมอกัน เป็นอันหนึ่งอัน
เดียวกัน ฯ
             อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้กระทำการปฏิสันถารเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย
กล่าวสรรเสริญการกระทำปฏิสันถาร แม้ข้อที่ภิกษุเป็นผู้กระทำปฏิสันถารเพื่อน
พรหมจรรย์ทั้งหลาย กล่าวสรรเสริญการกระทำปฏิสันถารนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความ
เป็นที่รัก ที่เคารพ ที่ยกย่อง ที่เสมอกัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย ถึงความปรารถนาไม่พึงบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุเห็นปานนี้อย่างนี้ว่า โอหนอ
ขอเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเรา ดังนี้ ถึงอย่าง
นั้น เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายก็สักการะ เคารพ นับถือ บูชาภิกษุนั้น ข้อนั้น
เพราะเหตุไร เพราะเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายผู้เป็นวิญญู ย่อมพิจารณาเห็นอกุศล-
*ธรรมทั้งหลายอันลามกที่ละได้แล้วของเธอ ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนความปรารถนาไม่พึงบังเกิดขึ้นแก่ม้าอาชา
ไนยตัวเจริญอย่างนี้ว่า โอหนอ มนุษย์ทั้งหลายพึงตั้งเราไว้ในตำแหน่งม้าอาชาไนย
พึงให้เรากินอาหารสำหรับม้าอาชาไนย และพึงขัดสีเราให้เหมือนขัดสีม้าอาชาไนย
เถิด แม้ถึงอย่างนั้น มนุษย์ทั้งหลายก็ย่อมตั้งม้านั้นไว้ในตำแหน่งม้าอาชาไนย
ย่อมให้กินอาหารสำหรับม้าอาชาไนย ย่อมขัดสีให้เหมือนขัดสีม้าอาชาไนย ข้อ
นั้นเพราะเหตุไร เพราะมนุษย์ทั้งหลายผู้เป็นวิญญู ย่อมเห็นความโอ้อวด ความ
โกง ความไม่ตรง ความคด ซึ่งละได้แล้วของม้านั้น แม้ฉันใด ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย ถึงความปรารถนาไม่พึงบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุเห็นปานนี้อย่างนี้ว่า โอหนอ
ขอเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเรา ดังนี้ ถึง
อย่างนั้น เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายก็สักการะ เคารพ นับถือ บูชาภิกษุนั้น ข้อ
นั้นเพราะเหตุไร เพราะเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายผู้เป็นวิญญู ย่อมพิจารณาเห็น
อกุศลธรรมอันลามกที่ละได้แล้วของเธอฉันนั้นเหมือนกันแล ฯ
จบสูตรที่ ๗
พยสนสูตร

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๔ บรรทัดที่ ๓๗๙๐-๓๙๐๔ หน้าที่ ๑๖๓-๑๖๘. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=24&A=3790&Z=3904&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=24&item=87&items=1&mode=bracket              อ่านโดยใช้เนื้อความเป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=24&item=87&items=1              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=24&item=87&items=1&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=24&item=87&items=1&mode=bracket              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=24&i=87              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๔ https://84000.org/tipitaka/read/?index_24 https://84000.org/tipitaka/english/?index_24

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]