ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๔ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๖ อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต
เวรสูตร
[๙๒] ครั้งนั้นแล อนาถบิณฑิกคฤหบดีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะอนาถบิณฑิกคฤหบดีว่า ดูกรคฤหบดี เพราะเหตุที่ อริยสาวกเข้าไประงับภัยเวร ๕ ประการเสียได้แล้ว เป็นผู้ประกอบด้วยองค์เครื่อง บรรลุกระแสนิพพาน ๔ ประการ และเป็นผู้เห็นแจ้งแทงตลอดญายธรรมอันเป็น อริยะด้วยปัญญา อริยสาวกนั้น เมื่อหวังอยู่ พึงพยากรณ์ตนด้วยตนเองได้ว่า เรามีนรกสิ้นแล้ว มีกำเนิดดิรัจฉานสิ้นแล้ว มีปิตติวิสัยสิ้นแล้ว มีอบาย ทุคติ และวินิบาตสิ้นแล้ว เราเป็นพระโสดาบันมีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยง ที่จะตรัสรู้ในภายหน้าดังนี้ ภัยเวร ๕ ประการที่อริยสาวกเข้าไประงับแล้วเป็นไฉน คือ บุคคลผู้ฆ่าสัตว์ ย่อมประสบภัยเวรทั้งที่เป็นไปในปัจจุบัน ทั้งที่เป็นไปใน สัมปรายภพ ต้องเสวยทุกขโทมนัสแม้ที่เป็นไปทางใจ เพราะปาณาติบาตเป็น ปัจจัย บุคคลผู้งดเว้นจากปาณาติบาต ย่อมไม่ประสบภัยเวรทั้งที่เป็นไปในปัจจุบัน ทั้งที่เป็นไปในสัมปรายภพ ไม่ต้องเสวยทุกขโทมนัสแม้ที่เป็นไปทางใจ บุคคลผู้ งดเว้นจากปาณาติบาตแล้ว เป็นอันระงับภัยเวรด้วยประการฉะนี้ บุคคลผู้ถือเอา สิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ให้ ... บุคคลผู้ประพฤติผิดในกามทั้งหลาย ... บุคคลผู้กล่าว คำเท็จ ... บุคคลผู้ดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นฐานแห่งความประมาท ย่อม ประสบภัยเวรทั้งที่เป็นไปในปัจจุบัน ทั้งที่เป็นไปในสัมปรายภพ ต้องเสวยทุกข- *โทมนัสแม้ที่เป็นไปในทางใจ บุคคลผู้งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัย อันเป็นฐานแห่งความประมาท ย่อมไม่ประสบภัยเวรทั้งที่เป็นไปในปัจจุบัน ทั้งที่ เป็นไปในสัมปรายภพ ไม่ต้องเสวยทุกขโทมนัสแม้ที่เป็นไปทางใจ บุคคลผู้งดเว้น จากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นฐานแห่งความประมาทแล้ว เป็นอัน ระงับภัยเวรนั้นด้วยประการฉะนี้ ภัยเวร ๕ ประการนี้ ย่อมสงบระงับไป ฯ อริยสาวกผู้ประกอบด้วยองค์ เครื่องบรรลุ กระแสนิพพาน ๔ ประการ เป็นไฉน ดูกรคฤหบดี อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยความ เลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์ นั้น เป็นพระอรหันต์ ... เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม ๑ เป็นผู้ ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรมว่า พระธรรมอันพระผู้มี พระภาคตรัสดีแล้ว ... อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ๑ เป็นผู้ประกอบด้วยความ เลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ ปฏิบัติดีแล้ว ... เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ๑ เป็นผู้ประกอบด้วย ศีลที่พระอริยะใคร่แล้ว ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไทย วิญญูชน สรรเสริญ อันตัณหาและทิฐิลูบคลำไม่ได้ เป็นไปเพื่อสมาธิ ๑ อริยสาวกเป็นผู้ ประกอบด้วยองค์เครื่องบรรลุกระแสนิพพาน ๔ ประการนี้ ฯ ก็ญายธรรมที่เป็นอริยะ อันอริยสาวกนั้นเห็นแจ้งแทงตลอดด้วยปัญญา เป็นไฉน ดูกรคฤหบดี อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เมื่อ สิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้จึงเกิด เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ คือ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงมีสังขาร เพราะสังขาร เป็นปัจจัยจึงมีวิญญาณ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัยจึงมีนามรูป เพราะนามรูปเป็น ปัจจัยจึงมีสฬายตนะ เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัยจึงมีผัสสะ เพราะผัสสะเป็น ปัจจัยจึงมีเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัยจึงมีตัณหา เพราะตัณหาเป็นปัจจัยจึงมี อุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัยจึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัยจึงมีชาติ เพราะ ชาติเป็นปัจจัยจึงมี ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้ ก็เพราะอวิชชาดับ โดยสำรอกหาส่วนเหลือมิได้ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับวิญญาณจึงดับ เพราะ วิญญาณดับนามรูปจึงดับ เพราะนามรูปดับสฬายตนะจึงดับ เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ เพราะผัสสะดับเวทนาจึงดับ เพราะเวทนาดับตัณหาจึงดับ เพราะ ตัณหาดับอุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับภพจึงดับ เพราะภพดับชาติจึงดับ เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาสจึงดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้ ญายธรรมที่เป็นอริยะนี้ อันอริยสาวกนั้นเห็นแจ้งแทงตลอดด้วยปัญญา ฯ ดูกรคฤหบดี เพราะเหตุที่อริยสาวกระงับภัยเวร ๕ ประการนี้ เป็นผู้ ประกอบด้วยองค์เครื่องบรรลุกระแสนิพพาน ๔ ประการนี้ และเป็นผู้เห็นแจ้งแทง ตลอดญายธรรมที่เป็นอริยะด้วยปัญญา อริยสาวกนั้นเมื่อหวังอยู่ พึงพยากรณ์ตน ด้วยตนได้ว่า เรามีนรกสิ้นแล้ว มีกำเนิดดิรัจฉานสิ้นแล้ว มีปิตติวิสัยสิ้นแล้ว มีอบาย ทุคติและวินิบาตสิ้นแล้ว เราเป็นพระโสดาบัน มีอันไม่ตกต่ำเป็น ธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ในภายหน้า ฯ
จบสูตรที่ ๒

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๔ บรรทัดที่ ๔๑๘๒-๔๒๓๙ หน้าที่ ๑๘๑-๑๘๓. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=24&A=4182&Z=4239&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=24&item=92&items=1              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=24&item=92&items=1&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=24&item=92&items=1              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=24&item=92&items=1              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=24&i=92              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๔ https://84000.org/tipitaka/read/?index_24 https://84000.org/tipitaka/english/?index_24

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]