ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต
             [๓๐๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของ
ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล เป็นเวลาเช้า พระผู้มี
พระภาคทรงครองอันตรวาสกแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปบิณฑบาต
ยังพระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล อัคคิกภารทวาชพราหมณ์ก่อไฟแล้วตกแต่ง
ของที่ควรบูชา อยู่ในนิเวศน์ ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเสด็จเที่ยวบิณฑบาต
ตามลำดับตรอก ในพระนครสาวัตถี เสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของอัคคิกภารทวาช-
*พราหมณ์ อัคคิกภารทวาชพราหมณ์ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาแต่ไกลทีเดียว
ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า หยุดอยู่ที่นั่นแหละคนโล้น หยุดอยู่ที่
นั่นแหละสมณะ หยุดอยู่ที่นั่นแหละคนถ่อย ฯ
             เมื่ออัคคิกภารทวาชพราหมณ์กราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัส
ถามว่า ดูกรพราหมณ์ ก็ท่านรู้จักคนถ่อย หรือธรรมเป็นเครื่องกระทำให้เป็น
คนถ่อยหรือ ฯ
             อ. ท่านพระโคดม ข้าพเจ้าไม่รู้จักคนถ่อยหรือธรรมเป็นเครื่องกระทำ
ให้เป็นคนถ่อย ดีละ ขอท่านพระโคดมจงแสดงธรรมตามที่ข้าพเจ้าจะพึงรู้จักคน
ถ่อยหรือธรรมเป็นเครื่องกระทำให้เป็นคนถ่อยเถิด ฯ
             พ. ดูกรพราหมณ์ ถ้าอย่างนั้น ท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว
อัคคิกภารทวาชพราหมณ์ทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระ-
*คาถาประพันธ์นี้ว่า
             [๓๐๖] 	๑. คนมักโกรธ ผูกโกรธ ลบหลู่อย่างเลว มีทิฐิวิบัติ และ
                          มีมายา พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย
                          ๒. คนผู้เบียดเบียนสัตว์ที่เกิดหนเดียว แม้หรือเกิดสองหน
                          ไม่มีความเอ็นดูในสัตว์ พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ
                          ๓. คนเบียดเบียน เที่ยวปล้น มีชื่อเสียงว่า ฆ่าชาวบ้าน
                          และชาวนิคม พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ
                          ๔. คนลักทรัพย์ที่ผู้อื่นหวงแหน ไม่ได้อนุญาตให้ ใน
                          บ้านหรือในป่า พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ
                          ๕. คนที่กู้หนี้มาใช้แล้วกล่าวว่า หาได้เป็นหนี้ท่านไม่ หนี
                          ไปเสีย พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ
                          ๖. คนฆ่าคนเดินทาง ชิงเอาสิ่งของ เพราะอยากได้สิ่งของ
                          พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ
                          ๗. คนถูกเขาถามเป็นพยาน แล้วกล่าวคำเท็จ เพราะเหตุ
                          แห่งตนก็ดี  เพราะเหตุแห่งผู้อื่นก็ดี เพราะเหตุแห่งทรัพย์
                          ก็ดี พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ
                          ๘. คนผู้ประพฤติล่วงเกิน ในภริยาของญาติก็ตาม ของ
                          เพื่อนก็ตาม ด้วยข่มขืนหรือด้วยการร่วมรักกัน พึงรู้ว่าเป็น
                          คนถ่อย ฯ
                          ๙. คนผู้สามารถ แต่ไม่เลี้ยงมารดาหรือบิดาผู้แก่เฒ่าผ่านวัย
                          หนุ่มสาวไปแล้ว พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ
                          ๑๐. คนผู้ทุบตีด่าว่ามารดาบิดา พี่ชายพี่สาว พ่อตาแม่ยาย
                          แม่ผัวหรือพ่อผัว พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ
                          ๑๑. คนผู้ถูกถามถึงประโยชน์ บอกสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์
                          พูดกลบเกลื่อนเสีย พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ
                          ๑๒. คนทำกรรมชั่วแล้ว ปรารถนาว่าใครอย่าพึงรู้เรา ปกปิด
                          ไว้ พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ
                          ๑๓. คนผู้ไปสู่สกุลอื่นแล้ว และบริโภคโภชนะที่สะอาด
                          ย่อมไม่ตอบแทนเขาผู้มาสู่สกุลของตน พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ
                          ๑๔. คนผู้ลวงสมณะ พราหมณ์ หรือแม้วณิพกอื่น ด้วย
                          มุสาวาท พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ
                          ๑๕. เมื่อเวลาบริโภคอาหาร คนผู้ด่าสมณะหรือพราหมณ์
                          และไม่ให้โภชนะ พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ
                          ๑๖. คนในโลกนี้ ผู้อันโมหะครอบงำแล้ว ปรารถนา
                          ของเล็กน้อย พูดอวดสิ่งที่ไม่มี พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ
                          ๑๗. คนเลวทราม ยกตนและดูหมิ่นผู้อื่น ด้วยมานะ
                          ของตน พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ
                          ๑๘. คนฉุนเฉียว กระด้าง มีความปรารถนาลามก มี
                          ความตระหนี่ โอ้อวด ไม่ละอาย ไม่สะดุ้งกลัว
                          พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ
                          ๑๙. คนติเตียนพระพุทธเจ้า หรือติเตียนบรรพชิต หรือ
                          คฤหัสถ์สาวกของพระพุทธเจ้า พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ
                          ๒๐. ผู้ใดแลไม่เป็นพระอรหันต์ แต่ปฏิญาณว่าเป็นพระ-
                          อรหันต์ ผู้นั้นแลเป็นคนถ่อยต่ำช้า เป็นโจรในโลกพร้อม
                          ทั้งพรหมโลก คนเหล่าใด เราประกาศแก่ท่านแล้ว
                          คนเหล่านั้นนั่นแล เรากล่าวว่าเป็นคนถ่อย ฯ
                          บุคคลไม่เป็นคนถ่อยเพราะชาติ ไม่เป็นพราหมณ์เพราะชาติ
                          แต่เป็นคนถ่อยเพราะกรรม เป็นพราหมณ์เพราะกรรม ท่าน
                          จงรู้ข้อนั้น ตามที่เราแสดงนี้ บุตรของคนจัณฑาลเลี้ยง
                          ตัวเองได้ ปรากฏชื่อว่าตังมาคะ เป็นคนกินของที่ตนให้
                          สุกเอง เขาได้ยศอย่างสูงที่ได้แสนยาก กษัตริย์และ
                          พราหมณ์เป็นอันมากได้มาสู่ที่บำรุงของเขา เขาขึ้นยานอัน
                          ประเสริฐ ไปสู่หนทางใหญ่อันไม่มีฝุ่น เขาสำรอกกาม-
                          ราคะเสียได้แล้ว เป็นผู้เข้าถึงพรหมโลก ชาติไม่ได้
                          ห้ามเขาให้เข้าถึงพรหมโลก พราหมณ์เกิดในสกุลผู้สาธยาย-
                          มนต์ เป็นพวกร่ายมนต์ แต่พวกเขาปรากฏในบาปกรรม
                          อยู่เนืองๆ พึงถูกติเตียนในปัจจุบันทีเดียว และภพหน้า
                          ก็เป็นทุคติ ชาติห้ามกันพวกเขาจากทุคติหรือจากครหาไม่ได้
                          บุคคลไม่เป็นคนถ่อยเพราะชาติ ไม่เป็นพราหมณ์เพราะชาติ
                          แต่เป็นคนถ่อยเพราะกรรม เป็นพราหมณ์เพราะกรรม ฯ
             [๓๐๗] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว อัคคิกภารทวาชพราหมณ์
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์
แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระองค์
ทรงประกาศธรรม โดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด
บอกทางแก่คนหลงทาง หรือตามประทีปไว้ในที่มืด ด้วยหวังว่า คนมีจักษุ
จักเห็นรูปได้ ฉะนั้น ข้าพระองค์ขอถึงพระองค์กับทั้งพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์
เป็นสรณะ ขอพระองค์ทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต
จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ
จบวสลสูตรที่ ๗
เมตตสูตรที่ ๘

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ บรรทัดที่ ๗๒๙๓-๗๓๘๐ หน้าที่ ๓๒๐-๓๒๓. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=25&A=7293&Z=7380&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=25&item=305&items=3&mode=bracket              อ่านโดยใช้เนื้อความเป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=25&item=305&items=3              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=25&item=305&items=3&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=25&item=305&items=3&mode=bracket              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=305              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ https://84000.org/tipitaka/read/?index_25 https://84000.org/tipitaka/english/?index_25

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]