ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๙ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑
พระสุตตันตปิฎก
เล่ม ๑๙
ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เอกกนิบาตชาดก
๑. อปัณณกวรรค
๑. อปัณณกชาดก
ว่าด้วยการรู้ฐานะและมิใช่ฐานะ
[๑] คนพวกหนึ่งกล่าวฐานะอันหนึ่งว่า ไม่ผิด นักเดาทั้งหลายกล่าวฐานะอัน นั้นว่า เป็นที่สอง คนมีปัญญารู้ฐานะและมิใช่ฐานะนั้นแล้ว ควรถือ เอาฐานะที่ไม่ผิดไว้.
จบ อปัณณกชาดกที่ ๑.
๒. วัณณุปถชาดก
ว่าด้วยผู้ไม่เกียจคร้าน
[๒] ชนทั้งหลายผู้ไม่เกียจคร้าน ขุดภาคพื้นที่ทางทราย ได้พบน้ำในทางนั้น ณ ที่ราบ ฉันใด มุนีผู้ประกอบด้วยความเพียรและกำลัง เป็นผู้ไม่ เกียจคร้าน พึงได้ความสงบใจ ฉันนั้น.
จบ วัณณุปถชาดกที่ ๒.
๓. เสรีววาณิชชาดก
ว่าด้วยเสรีววาณิช
[๓] ถ้าท่านพลาดโสดาปัตติมรรค คือ ความแน่นอนแห่งสัทธรรมในศาสนานี้ ท่านจะต้องเดือดร้อนใจในภายหลังสิ้นกาลนาน ดุจพาณิชชื่อเสรีวะผู้นี้ ฉะนั้น.
จบ เสรีววาณิชชาดกที่ ๓.
๔. จุลลกเศรษฐีชาดก
ว่าด้วยคนฉลาดตั้งตนได้
[๔] คนมีปัญญาเฉลียวฉลาด ย่อมตั้งตนไว้ด้วยต้นทุนแม้น้อย ดุจคนก่อไฟ น้อยๆ ให้เป็นกองใหญ่ ฉะนั้น.
จบ จุลลกเศรษฐีชาดกที่ ๔.
๕. ตัณฑุลนาฬิชาดก
ว่าด้วยราคาข้าวสาร
[๕] ข้าวสารทะนานหนึ่งมีราคาเท่าไร พระนครพาราณสีทั้งภายในภายนอก มีราคาเท่าไร ข้าวสารทะนานเดียวมีค่าเท่าม้า ๕๐๐ เทียวหรือ?
จบ ตัณฑุลนาฬิชาดกที่ ๕.
๖. เทวธรรมชาดก
ว่าด้วยธรรมของเทวดา
[๖] สัปบุรุษผู้สงบระงับ ประกอบด้วยหิริและโอตตัปปะ ตั้งมั่นอยู่ในธรรม อันขาว ท่านเรียกว่าผู้มีธรรมของเทวดาในโลก.
จบ เทวธรรมชาดกที่ ๖.
๗. กัฏฐหาริชาดก
[๗] ข้าแต่พระราชาผู้เป็นใหญ่ ข้าพระบาทเป็นโอรสของพระองค์ ข้าแต่ พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งหมู่ชน ขอพระองค์ได้ทรงโปรดชุบเลี้ยงข้าพระ บาทไว้ แม้คนเหล่าอื่นพระองค์ยังทรงชุบเลี้ยงได้ ไฉนจะไม่ทรงชุบ เลี้ยงโอรสของพระองค์เองเล่า?
จบ กัฏฐหาริชาดกที่ ๗.
๘. คามนิชาดก
ว่าด้วยไม่ใจเร็วด่วนได้
[๘] เออก็ความหวังในผล ย่อมสำเร็จแก่ผู้ไม่ใจเร็วด่วนได้ เรามีพรหมจรรย์ แก่กล้าแล้ว ท่านจงเข้าใจอย่างนี้เถิด พ่อคามนี.
จบ คามนิชาดกที่ ๘.
๙. มฆเทวชาดก
ว่าด้วยเทวทูต
[๙] ผมที่หงอกบนศีรษะของเรานี้ เกิดขึ้นนำเอาวัยไปเสีย เทวทูตปรากฏแล้ว บัดนี้ เป็นสมัยบรรพชาของเรา.
จบ มฆเทวชาดกที่ ๙.
๑๐. สุขวิหาริชาดก
ว่าด้วยการอยู่เป็นสุข
[๑๐] ชนเหล่าอื่นไม่ต้องรักษาผู้ใดด้วย ผู้ใดก็ไม่ต้องรักษาชนเหล่าอื่นด้วย ดูกรมหาบพิตร มหาบพิตรผู้นั้นแล ไม่เยื่อใยในกามทั้งหลาย ย่อมอยู่ เป็นสุข.
จบ สุขวิหาริชาดกที่ ๑๐.
จบ อปัณณกวรรคที่ ๑.
-----------------------------------------------------
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. อปัณณกชาดก ๒. วัณณุปถชาดก ๓. เสรีววาณิชชาดก ๔. จุลลกเศรษฐีชาดก ๕. ตัณฑุลนาฬิชาดก ๖. เทวธรรมชาดก ๗. กัฏฐหาริชาดก ๘. คามนิชาดก ๙. มฆเทวชาดก ๑๐. สุขวิหาริชาดก.
-----------------------------------------------------
๒. สีลวรรค
๑. ลักขณชาดก
ว่าด้วยผู้มีศีล
[๑๑] ความเจริญย่อมมีแก่ชนทั้งหลายผู้มีศีล ประพฤติในปฏิสันถาร ท่านจง ดูลูกเนื้อชื่อลักขณะ ผู้อันหมู่แห่งญาติแวดล้อมกลับมาอยู่ อนึ่ง ท่าน จงดูลูกเนื้อชื่อกาฬะนี้ ผู้เสื่อมจากพวกญาติกลับมาแต่ผู้เดียว.
จบ ลักขณชาดกที่ ๑.
๒. นิโครธมิคชาดก
ว่าด้วยการเลือกคบ
[๑๒] ท่านหรือคนอื่นก็ตาม พึงคบหาแต่พระยาเนื้อชื่อว่านิโครธเท่านั้น ไม่ ควรเข้าไปอาศัยอยู่กับพระยาเนื้อชื่อว่าสาขะ ความตายในสำนักพระยา เนื้อนิโครธประเสริฐกว่า การมีชีวิตอยู่ในสำนักพระยาเนื้อสาขะจะ ประเสริฐอะไร.
จบ นิโครธมิคชาดกที่ ๒.
๓. กัณฑินชาดก
ว่าด้วยผู้ตกอยู่ในอำนาจหญิง
[๑๓] เราติเตียนบุรุษผู้มีลูกศรเป็นอาวุธ ยิงปล่อยไปเต็มกำลัง เราติเตียน ชนบทที่มีหญิงเป็นผู้นำ อนึ่ง สัตว์เหล่าใด ตกอยู่ในอำนาจของหญิง ทั้งหลาย สัตว์เหล่านั้นบัณฑิตติเตียนแล้ว.
จบ กัณฑินชาดกที่ ๓.
๔. วาตมิคชาดก
ว่าด้วยอำนาจของรส
[๑๔] ได้ยินว่า สิ่งอื่นที่จะเลวยิ่งไปกว่ารสทั้งหลายไม่มี รสเป็น สภาพเลวแม้กว่าถิ่นฐาน แม้กว่าความสนิทสนม นายสญชัย อุยยาบาล นำเนื้อสมันซึ่งอาศัยอยู่ในป่าชัฏมาสู่อำนาจของตนได้ด้วยรส ทั้งหลาย.
จบ วาตมิคชาดกที่ ๔.
๕. ขราทิยชาดก
ว่าด้วยผู้ล่วงเลยโอวาท
[๑๕] ดูกรนางเนื้อขราทิยา ฉันไม่สามารถจะสั่งสอนเนื้อตัวนั้น ผู้มี ๘ กีบ มีเขาคดแต่โคนจนถึงปลายเขา ล่วงเลยโอวาทเสียตั้ง ๗ วัน.
จบ ขราทิยาชาดกที่ ๕.
๖. ติปัลลัตถมิคชาดก
ว่าด้วยเล่ห์กลลวงพราน
[๑๖] ฉันยังเนื้อหลานชายผู้มี ๘ กีบ นอนโดยอาการ ๓ ท่า มีเล่ห์กลมารยา หลายอย่าง ดื่มกินน้ำในเวลาเที่ยงคืน ให้เล่าเรียนมายาของเนื้อดีแล้ว ดูกรน้องหญิง เนื้อหลานชายกลั้นลมหายใจไว้ได้ โดยช่องนาสิก ข้างหนึ่งแนบติดอยู่กับพื้น จะทำเล่ห์กลลวงนายพรานด้วยอุบาย ๖ ประการ.
จบ ติปัลลัตถมิคชาดกที่ ๖.
๗. มาลุตชาดก
ว่าด้วยความหนาวเกิดแต่ลม
[๑๗] ข้างขึ้นหรือข้างแรมก็ตาม สมัยใดลมย่อมพัดมา สมัยนั้นย่อมมีความ หนาว เพราะความหนาวเกิดแต่ลม ในปัญหาข้อนี้ ท่านทั้งสองชื่อว่า ไม่แพ้กัน.
จบ มาลุตชาดกที่ ๗.
๘. มตกภัตตชาดก
ว่าด้วยสัตว์ไม่ควรฆ่าสัตว์
[๑๘] ถ้าสัตว์ทั้งหลายพึงรู้อย่างนี้ว่า ชาติสมภพนี้เป็นทุกข์ สัตว์ไม่ควรฆ่า สัตว์ เพราะว่าผู้มีปกติฆ่าสัตว์ย่อมเศร้าโศก.
จบมตกภัตตชาดกที่ ๘.
๙. อายาจิตภัตตชาดก
ว่าด้วยการเปลื้องตน
[๑๙] ถ้าท่านปรารถนาจะเปลื้องตนให้พ้น ท่านละโลกนี้ไปแล้วก็จะพ้นได้ ก็ท่านเปลื้องตนอยู่อย่างนี้ กลับจะติดหนักเข้า เพราะนักปราชญ์หาได้ เปลื้องตนด้วยอาการอย่างนี้ไม่ การเปลื้องตนอย่างนี้ เป็นเครื่องติดของ คนพาล.
จบ อายาจิตภัตตชาดกที่ ๙.
๑๐. นฬปานชาดก
ว่าด้วยการพิจารณา
[๒๐] พระยากระบี่ไม่เห็นรอยเท้าขึ้น เห็นแต่รอยเท้าลง จึงกล่าวว่า เราจัก ดื่มน้ำด้วยไม้อ้อ ท่านก็จักฆ่าเราไม่ได้.
จบ นฬปานชาดกที่ ๑๐.
จบ สีลวรรคที่ ๒.
-----------------------------------------------------
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. ลักขณชาดก ๒. นิโครธมิคชาดก ๓. กัณฑินชาดก ๔. วาตมิคชาดก ๕. ขราทิยชาดก ๖. ติปัลลัตถมิคชาดก ๗. มาลุตชาดก ๘. มตกภัตตชาดก ๙. อายาจิตภัตตชาดก ๑๐. นฬปานชาดก.
-----------------------------------------------------
๓. กุรุงควรรค
๑. กุรุงคมิคชาดก
ว่าด้วยกวางกุรุงคะ
[๒๑] ดูกรไม้มะลื่น การที่ท่านปล่อยผลให้ตกกลิ้งมานั้น เราผู้เป็นกวางรู้แล้ว เราจะไปสู่ไม้มะลื่นต้นอื่น เพราะเราไม่ชอบใจผลของท่าน.
จบ กุรุงคมิคชาดกที่ ๑.
๒. กุกกุรชาดก
ว่าด้วยสุนัขที่ถูกฆ่า
[๒๒] สุนัขเหล่าใดอันบุคคลเลี้ยงไว้ในราชสกุล เกิดในราชสกุล สมบูรณ์ด้วย สีสรรและกำลัง สุนัขเหล่านี้นั้นไม่ถูกฆ่า พวกเรากลับถูกฆ่า เมื่อเป็น เช่นนี้ นี้ชื่อว่าการฆ่าโดยไม่แปลกกันก็หาไม่ กลับชื่อว่าฆ่าแต่สุนัข ทั้งหลายที่ทุรพล.
จบ กุกกุรชาดกที่ ๒.
๓. โภชาชานียชาดก
ว่าด้วยม้าสินธพอาชาไนย
[๒๓] ดูกรนายสารถี ม้าสินธพอาชาไนยถูกลูกศรแทงแล้ว แม้นอนตะแคง อยู่ข้างเดียวก็ยังประเสริฐกว่าม้ากระจอก ท่านจงประกอบฉันออกรบอีก เถิด.
จบ โภชาชานียชาดกที่ ๓.
๔. อาชัญญชาดก
ว่าด้วยม้าอาชาไนยกับม้ากระจอก
[๒๔] ไม่ว่าเมื่อใด ในขณะใด ณ ที่ไหนๆ ณ สถานที่ใดๆ ม้าอาชาไนยใช้ กำลังรบ ม้ากระจอกย่อมถอยหนี.
จบ อาชัญญชาดกที่ ๔.
๕. ติตถชาดก
ว่าด้วยการเบื่อเพราะซ้ำซาก
[๒๕] ดูกรนายสารถี ท่านจงยังม้าให้อาบและดื่มน้ำที่ท่าโน้นบ้าง ท่านี้ บ้าง แม้ข้าวปายาสที่บริโภคบ่อยครั้ง คนก็ยังเบื่อได้.
จบ ติตเถชาดกที่ ๕.
๖. มหิฬามุขชาดก
ว่าด้วยการเสี้ยมสอน
[๒๖] พระยาช้างชื่อมหิฬามุข ได้เที่ยวทุบตีคน เพราะได้พึงฟังคำของพวก โจรมาก่อน พระยาช้างผู้เชือกอุดมตั้งอยู่ในคุณทั้งปวง ก็เพราะได้ฟังคำ ของท่านผู้สำรวมดีแล้ว.
จบ มหิฬามุขชาดกที่ ๖.
๗. อภิณหชาดก
ว่าด้วยการเห็นกันบ่อยๆ
[๒๗] พระยาช้างไม่สามารถจะรับเอาคำข้าว ไม่สามารถจะรับเอาก้อนข้าว ไม่ สามารถจะรับเอาหญ้าทั้งหลาย ไม่สามารถจะขัดสีกาย ข้าพระบาทมา สำคัญว่า พระยาช้างตัวเชือกประเสริฐ ได้ทำความรักใคร่ในสุนัข เพราะได้เห็นกันเนืองๆ.
จบ อภิณหชาดกที่ ๗.
๘. นันทิวิสาลชาดก
ว่าด้วยการพูดดี
[๒๘] บุคคลพึงกล่าวแต่คำที่ไพเราะเท่านั้น ไม่พึงกล่าวคำที่ไม่ไพเราะในกาล ไหนๆ เมื่อพราหมณ์กล่าวคำไพเราะ โคนันทิวิสาลได้ลากเอาภาระอัน หนักไปได้ ทำพราหมณ์ผู้นั้นให้ได้ทรัพย์ด้วย ตนเองก็เป็นผู้ปลื้มใจ เพราะการช่วยเหลือนั้นด้วย.
จบ นันทิวิสาลชาดกที่ ๘.
๙. กัณหชาดก
ว่าด้วยผู้เอาการเอางาน
[๒๙] ในที่ใดๆ มีธุระหนัก ในที่ใดมีร่องน้ำลึก ชนทั้งหลายก็เทียมโคดำใน กาลนั้นทีเดียว โคดำนั้นก็นำเอาธุระนั้นไปได้โดยแท้.
จบ กัณหชาดกที่ ๙.
๑๐. มุณิกชาดก
ว่าด้วยลักษณะของผู้มีอายุยืน
[๓๐] ท่านอย่าริษยาหมู่มุณิกะเลย มันกินอาหารอันเป็นเหตุให้เดือดร้อน ท่าน จงเป็นผู้มีความขวนขวายน้อย กินแต่แกลบเถิด นี่เป็นลักษณะแห่ง ความเป็นผู้มีอายุยืน.
จบ มุณิกชาดกที่ ๑๐.
จบ กุรุงควรรคที่ ๓.
-----------------------------------------------------
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. กุรุงคมิคชาดก ๒. กุกกุรชาดก ๓. โภชาชานียชาดก ๔. อาชัญญชาดก ๕. ติตถชาดก ๖. มหิฬามุขชาดก ๗. อภิณหชาดก ๘. นันทิวิสาลชาดก ๙. กัณหชาดก ๑๐. มุณิกชาดก.
-----------------------------------------------------
๔. กุลาวกวรรค
๑. กุลาวกชาดก
ว่าด้วยการเสียสละ
[๓๑] ดูกรมาตลีเทพบุตร ที่ต้นงิ้วมีลูกนกครุฑจับอยู่ ท่านจงหันหน้ารถกลับ เรายอมสละชีวิตให้พวกอสูร ลูกนกครุฑเหล่านี้อย่าได้แหลกลาญ เสียเลย.
จบ กุลาวกชาดกที่ ๑.
๒. นัจจชาดก
เหตุที่ยังไม่ให้ลูกสาว
[๓๒] เสียงของท่านก็เพราะ หลังของท่านก็งาม คอของท่านก็เปรียบดังสีแก้ว ไพฑูรย์ และหางของท่านก็ยาวตั้งวา เราจะไม่ให้ลูกสาวของเราแก่ท่าน ด้วยการรำแพนหาง.
จบ นัจจชาดกที่ ๒.
๓. สัมโมทมานชาดก
ว่าด้วยพินาศเพราะทะเลาะกัน
[๓๓] นกทั้งหลายพร้อมเพรียงกันพากันเอาข่ายไป เมื่อใด พวกมันทะเลาะกัน เมื่อนั้น พวกมันจักตกอยู่ในอำนาจของเรา.
จบ สัมโมทมานชาดกที่ ๓.
๔. มัจฉชาดก
ว่าด้วยความหึงหวง
[๓๔] ความเย็น ความร้อน และการติดอยู่ในแห ไม่ได้เบียดเบียนเราให้ได้ รับทุกข์เลย แต่ข้อที่นางปลาสำคัญว่า เราไปหลงนางปลาตัวอื่นนั่นแหละ เบียดเบียนเราให้ได้รับทุกข์.
จบ มัจฉชาดกที่ ๔.
๕. วัฏฏกชาดก
ว่าด้วยความจริง
[๓๕] ปีกของเรามีอยู่ แต่ก็บินไม่ได้ เท้าทั้งสองของเราก็มีอยู่ แต่ก็เดินไม่ได้ มารดาและบิดาของเราออกไปหาอาหาร ดูกรไฟ ท่านจงถอยกลับไปเสีย.
จบ วัฏฏกชาดกที่ ๕.
๖. สกุณชาดก
ว่าด้วยที่พึ่งให้โทษ
[๓๖] นกทั้งหลายอาศัยต้นไม้ใด ต้นไม้นั้นย่อมทิ้งเอาไฟลงมา นกทั้งหลายจง พากันหนีไปอยู่เสียที่อื่นเถิด ภัยเกิดจากที่พึ่งของพวกเราแล้ว.
จบ สกุณชาดกที่ ๖.
๗. ติตติรชาดก
ว่าด้วยผู้มีความอ่อนน้อม
[๓๗] นรชนเหล่าใด ฉลาดในธรรม ย่อมนอบน้อมคนผู้เจริญ นรชนเหล่านั้น เป็นผู้ได้รับความสรรเสริญในปัจจุบันนี้ และมีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า.
จบ ติตติรชาดกที่ ๗.
๘. พกชาดก
ว่าด้วยผู้ฉลาดแกมโกง
[๓๘] บุคคลผู้ใช้ปัญญาหลอกลวงคนอื่น ย่อมไม่ได้ความสุขเป็นนิตย์ เพราะผู้- ใช้ปัญญาหลอกลวงคนอื่น ย่อมประสบผลแห่งบาปกรรมที่ตนทำไว้ เหมือนนกยางถูกปูหนีบคอฉะนั้น.
จบ พกชาดกที่ ๘.
๙. นันทชาดก
ว่าด้วยการกล่าวคำหยาบ
[๓๙] ทาสชื่อนันทกะเป็นบุตรของนางทาสี ยืนกล่าวคำหยาบคายในที่ใด เรารู้ ว่ากองแห่งรัตนะทั้งหลาย และดอกไม้ทองมีอยู่ในที่นั้น.
จบ นันทชาดกที่ ๙.
๑๐. ขทิรังคารชาดก
ว่าด้วยผู้มีจิตมั่นคง
[๔๐] เราจะตกนรกมีเท้าขึ้นเบื้องบน มีศีรษะลงเบื้องล่างก็ตาม เราจักไม่ทำ กรรมอันไม่ประเสริฐ ขอเชิญท่านจงรับก้อนข้าวเถิด.
จบ ขทิรังคารชาดกที่ ๑๐.
จบ กุลาวกวรรคที่ ๔.
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. กุลาวกชาดก ๒. นัจจชาดก ๓. สัมโมทมานชาดก ๔. มัจฉชาดก ๕. วัฏฏกชาดก ๖. สกุณชาดก ๗. ติตติรชาดก ๘. พกชาดก ๙. นันทชาดก ๑๐. ขทิรังคารชาดก.
-----------------------------------------------------
๕. อัตถกามวรรค
๑. โลสกชาดก
ว่าด้วยคนที่ต้องเศร้าโศก
[๔๑] ผู้ใดบุคคลกล่าวสอนอยู่ ไม่ทำตามคำสอนของผู้ปรารถนาประโยชน์ ผู้อนุเคราะห์ด้วยประโยชน์เกื้อกูล ผู้นั้นย่อมเศร้าโศก เหมือนนาย มิตกะจับเท้าแพะเศร้าโศกอยู่ ฉะนั้น.
จบ โลสกชาดกที่ ๑.
๒. กโปตกชาดก
ว่าด้วยคนที่ต้องฉิบหาย
[๔๒] ผู้ใดบุคคลกล่าวสอนอยู่ ไม่ทำตามคำสอนของผู้ปรารถนาประโยชน์ ผู้ อนุเคราะห์ด้วยประโยชน์เกื้อกูล ผู้นั้นย่อมถึงความฉิบหาย เศร้าโศกอยู่ เหมือนกาไม่เชื่อฟังคำของนกพิราบ ตกอยู่ในเงื้อมมือของข้าศึก ฉะนั้น.
จบ กโปตกชาดกที่ ๒.
๓. เวฬุกชาดก
ว่าด้วยคนที่นอนตาย
[๔๓] ผู้ใดบุคคลกล่าวสอนอยู่ ไม่ทำตามคำสอนของผู้ปรารถนาประโยชน์ ผู้อนุเคราะห์ด้วยประโยชน์เกื้อกูล ผู้นั้นย่อมนอนตายอยู่ เหมือนดาบส ผู้เป็นบิดาของลูกงูชื่อเวฬุกะ ฉะนั้น.
จบ เวฬุกชาดกที่ ๓.
๔. มกสชาดก
มีศัตรูผู้มีปัญญาดีกว่ามีมิตรโง่
[๔๔] ศัตรูผู้ประกอบด้วยปัญญายังดีกว่า มิตรผู้ไม่มีปัญญาจะดีอะไร เหมือน บุตรของช่างไม้ผู้โง่เขลา คิดว่าจะตียุง ได้ตีศีรษะของบิดาแตกสองเสี่ยง ฉะนั้น.
จบ มกสชาดกที่ ๔.
๕. โรหิณีชาดก
ผู้อนุเคราะห์ที่โง่เขลาไม่ดี
[๔๕] ศัตรูผู้เป็นนักปราชญ์ยังดีกว่า คนโง่เขลาถึงเป็นผู้อนุเคราะห์จะดีอะไร ท่านจงดูนางโรหิณีผู้โง่เขลา ฆ่ามารดาแล้วเศร้าโศกอยู่.
จบ โรหิณีชาดกที่ ๕.
๖. อารามทูสกชาดก
ฉลาดในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ไม่มีความสุข
[๔๖] ผู้ฉลาดในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ถึงจะทำความเจริญ ก็ไม่สามารถจะนำ ความสุขมาให้ ผู้มีปัญญาทรามย่อมทำประโยชน์ให้เสีย เหมือนกับลิง ผู้รักษาสวน ฉะนั้น.
จบ อารามทูสกชาดกที่ ๖.
๗. วารุณิทูสกชาดก
ผู้มีปัญญาทรามทำให้เสียประโยชน์
[๔๗] ผู้ฉลาดในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ถึงจะทำความเจริญ ก็ไม่สามารถจะนำ ความสุขมาให้ ผู้มีปัญญาทรามย่อมทำประโยชน์ให้เสีย เหมือนกับ โกณทัญญบุรุษทำสุราให้เสีย ฉะนั้น.
จบ วารุณิทูสกชาดกที่ ๗.
๘. เวทัพพชาดก
ผู้ปรารถนาประโยชน์โดยไม่แยบคายย่อมเดือดร้อน
[๔๘] ผู้ใดปรารถนาประโยชน์ โดยอุบายอันไม่แยบคาย ผู้นั้นย่อมเดือดร้อน เหมือนพวกโจรชาวเจติรัฐฆ่าเวทัพพพราหมณ์ แล้วพากันถึงความพินาศ หมดสิ้น ฉะนั้น.
จบ เวทัพพชาดกที่ ๘.
๙. นักขัตตชาดก
ว่าด้วยประโยชน์คือฤกษ์
[๔๙] ประโยชน์ได้ล่วงเลยคนโง่เขลาผู้มัวคอยฤกษ์อยู่ ประโยชน์เป็นฤกษ์ของ ประโยชน์ ดวงดาวจักทำอะไรได้.
จบ นักขัตตชาดกที่ ๙.
๑๐. ทุมเมธชาดก
คนโง่ถูกบูชายัญเพราะคนอธรรม
[๕๐] เราได้บนไว้ต่อเทวดา ด้วยคนโง่เขลาหนึ่งพันคน บัดนี้ เราจักต้องบูชา ยัญ เพราะคนอธรรมมีมาก.
จบ ทุมเมธชาดกที่ ๑๐.
จบ อัตถกามวรรคที่ ๕.
จบ ปฐมปัณณาสก์.
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. โลสกชาดก ๒. กโปตกชาดก ๓. เวฬุกชาดก ๔. มกสชาดก ๕. โรหิณีชาดก ๖. อารามทูสกชาดก ๗. วารุณิทูสกชาดก ๘. เวทัพพชาดก ๙. นักขัตตชาดก ๑๐. ทุมเมธชาดก.
-----------------------------------------------------
๖. อาสิงสวรรค
๑. มหาสีลวชาดก
ความสำเร็จเกิดจากความพยายาม
[๕๑] บุรุษผู้เป็นบัณฑิตควรมุ่งหมายไปกว่าจะสำเร็จผล ไม่ควรจะท้อถอย ดูเราเป็นตัวอย่าง เราปรารถนาอย่างใดได้อย่างนั้น.
จบ มหาสีลวชาดกที่ ๑.
๒. จูฬชนกชาดก
เป็นคนควรพยายามร่ำไป
[๕๒] บุรุษผู้เป็นบัณฑิตพึงพยายามไปกว่าประโยชน์จะสำเร็จ ไม่ควรท้อถอย ดูเราขึ้นจากน้ำสู่บกได้เป็นตัวอย่างเถิด.
จบ จูฬชนกชาดกที่ ๒.
๓. ปุณณปาติชาดก
การกล่าวถ้อยคำไม่จริง
[๕๓] ไหสุราทั้งหลาย ยังเต็มอยู่อย่างเดิม ถ้อยคำที่ท่านกล่าวนี้ไม่เป็นจริง เราจึงรู้ได้ด้วยเหตุนี้ว่า สุรานี้เป็นสุราไม่ดีแน่.
จบ ปุณณปาติชาดกที่ ๓.
๔. ผลชาดก
การรู้จักผลไม้
[๕๔] ต้นไม้นี้ขึ้นก็ไม่ยาก ทั้งอยู่ไม่ไกลบ้าน เราจึงรู้ได้ด้วยเหตุนี้ว่า ต้นไม้นี้ ไม่ใช่ต้นไม้มีผลอร่อย.
จบ ผลชาดกที่ ๔.
๕. ปัญจาวุธชาดก
ว่าด้วยการบรรลุธรรมอันเกษม
[๕๕] นรชนใดมีจิตไม่ท้อถอย มีใจไม่หดหู่ เจริญกุศลธรรมเพื่อบรรลุธรรม อันเป็นแดนเกษมจากโยคะ นรชนนั้นพึงบรรลุธรรมเป็นที่สิ้นสังโยชน์ ทั้งปวงโดยลำดับ.
จบ ปัญจาวุธชาดกที่ ๕.
๖. กัญจนขันธชาดก
ว่าด้วยการบรรลุธรรมอันเกษม
[๕๖] นรชนใดมีจิตร่าเริง มีใจเบิกบาน เจริญกุศลธรรมเพื่อบรรลุธรรมอัน เป็นแดนเกษมจากโยคะ นรชนนั้นพึงบรรลุธรรม เป็นที่สิ้นสังโยชน์ ทั้งปวงได้โดยลำดับ.
จบ กัญจนขันธชาดกที่ ๖.
๗. วานรินทชาดก
ธรรมของผู้ล่วงพ้นศัตรู
[๕๗] ดูกรพระยาวานร ผู้ใดมีธรรม ๔ ประการนี้ คือ สัจจะ ธรรมคือวิจารณ- ปัญญา ธิติคือความเพียร จาคะ เหมือนท่าน ผู้นั้นย่อมล่วงพ้นศัตรูได้.
จบ วานรินทชาดกที่ ๗.
๘. ตโยธรรมชาดก
ธรรมของผู้ล่วงพ้นศัตรู
[๕๘] ดูกรพระยาวานร ผู้ใดมีธรรม ๓ ประการนี้ คือ ความขยัน ความแกล้ว กล้า ปัญญาเหมือนท่าน ผู้นั้นย่อมล่วงพ้นศัตรูได้.
จบ ตโยธรรมชาดกที่ ๘.
๙. เภริวาทชาดก
ว่าด้วยการทำเกินประมาณ
[๕๙] ท่านจะตีก็พึงตีเถิด แต่อย่าตีให้เกินประมาณ เพราะการตีเกินประมาณ เป็นการชั่วช้าของเรา ทรัพย์ที่เราได้มาตั้งร้อยเพราะตีกลอง ได้ฉิบหาย ไป เพราะท่านตีกลองเกินประมาณ.
จบ เภริวาทชาดกที่ ๙.
๑๐. สังขธมนชาดก
ว่าด้วยการทำเกินประมาณ
[๖๐] ท่านจะเป่าก็จงเป่าเถิด แต่อย่าเป่าให้เกินประมาณ เพราะการเป่าเกิน ประมาณเป็นการชั่วช้าของเรา โภคะที่เราได้มาเพราะการเป่าสังข์ได้ ฉิบหายไป เพราะท่านเป่าสังข์เกินประมาณ.
จบ สังขธมนชาดกที่ ๑๐.
จบ อาสิงสวรรคที่ ๖.
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. มหาสีลวชาดก ๒. จูฬชนกชาดก ๓. ปุณณปาติชาดก ๔. ผลชาดก ๕. ปัญจาวุธชาดก ๖. กัญจนขันธชาดก ๗. วารินทชาดก ๘. ตโยธรรมชาดก ๙. เภริวาทชาดก ๑๐. สังขธมนชาดก.
-----------------------------------------------------
๗. อิตถีวรรค
๑. อาสาตมันตชาดก
ว่าด้วยหญิงเลวทราม
[๖๑] ขึ้นชื่อว่าหญิงในโลกนี้เลวทราม เพราะหญิงเหล่านั้นไม่มีเขตแดน มีแต่ ความกำหนัดยินดี คึกคะนองไม่มีเลือก เหมือนกับไฟที่ไหม้ไม่เลือก ฉะนั้น เราจักละทิ้งหญิงเหล่านั้นไปบวช พอกพูนวิเวก.
จบ อาสาตมันตชาดกที่ ๑.
๒. อัณฑภูตชาดก
ว่าด้วยการวางใจภรรยา
[๖๒] พราหมณ์ถูกภรรยาผูกหน้าให้ดีดพิณ ก็รู้ไม่ทันภรรยา ที่ท่านนำมาเลี้ยง ไว้แต่ยังไม่คลอด ใครจะวางใจในภรรยาเหล่านั้นได้.
จบ อัณฑภูตชาดกที่ ๒.
๓. ตักกชาดก
ว่าด้วยธรรมดาหญิง
[๖๓] ธรรมดาว่าหญิงเป็นคนมักโกรธ ไม่รู้จักคุณ ชอบส่อเสียด ชอบยุยงให้ แตกกัน ดูกรภิกษุ ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์เถิด ท่านจะไม่เสื่อม จากสุข.
จบ ตักกชาดกที่ ๓.
๔. ทุราชานชาดก
ภาวะของหญิงรู้ยาก
[๖๔] ท่านอย่าดีใจว่าหญิงปรารถนาเรา อย่าเศร้าโศก ว่าหญิงนี้ไม่ปรารถนา เรา ภาวะของหญิงทั้งหลายเป็นของรู้ได้ยาก เหมือนทางไปของปลาใน น้ำ ฉะนั้น.
จบ ทุราชานชาดกที่ ๔.
๕. อนภิรติชาดก
เปรียบหญิงเหมือนของ ๕ อย่าง
[๖๕] แม่น้ำ หนทาง โรงสุรา สภา และบ่อน้ำ ฉันใด ขึ้นชื่อว่าหญิง ในโลก ก็ฉันนั้น บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่โกรธหญิงเหล่านั้น.
จบ อนภิรติชาดกที่ ๕.
๖. มุทุลักขณชาดก
ว่าด้วยความต้องการไม่มีสิ้นสุด
[๖๖] ครั้งยังไม่ได้นางมุทุลักขณาเทวี เกิดความปรารถนาเพียงอย่างเดียว แต่ เมื่อได้นางลักขณาเทวีผู้มีดวงตางามแล้ว ได้เกิดความปรารถนาสิ่งต่างๆ ขึ้นอีก.
จบ มุทุลักขณชาดกที่ ๖.
๗. อุจฉังคชาดก
หญิงหาลูกหาผัวได้ง่าย
[๖๗] ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ บุตรของหม่อมฉันหาได้ง่ายเหมือนกับเมี่ยง ในพก เมื่อหม่อมฉันเดินไปตามทาง สามีก็หาได้ง่าย หม่อมฉันไม่เห็น ประเทศที่จะนำพี่ชายผู้ร่วมอุทรมาได้.
จบ อุจฉังคชาดกที่ ๗.
๘. สาเกตชาดก
ว่าด้วยวางใจคนที่ชอบใจ
[๖๘] ใจฝังอยู่ในผู้ใด แม้จิตก็เลื่อมใสในผู้ใด เป็นคนที่ไม่เคยเห็นกันเลย ก็วางใจในผู้นั้นได้โดยแท้.
จบ สาเกตชาดกที่ ๘.
๙. วิสวันตชาดก
ตายเสียดีกว่าดูดพิษที่คายออกแล้ว
[๖๙] เราจักดูดพิษที่คายออกแล้ว เพราะเหตุแห่งชีวิตอันใด พิษที่คายออก แล้วนั้นน่าติเตียน เราตายเสียประเสริฐกว่าความเป็นอยู่.
จบ วิสวันตชาดกที่ ๙.
๑๐. กุททาลชาดก
ว่าด้วยความชนะที่ดี
[๗๐] ความชนะใดกลับแพ้ได้ ความชนะนั้นเป็นความชนะไม่ดี ความชนะใด ไม่กลับแพ้ ความชนะนั้นแลเป็นความชนะที่ดี.
จบ กุททาลชาดกที่ ๑๐.
จบ อิตถีวรรคที่ ๗.
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. อาสาตมันตชาดก ๒. อัณฑภูตชาดก ๓. ตักกชาดก ๔. ทุราชานชาดก ๕. อนภิรติชาดก ๖. มุทุลักขณชาดก ๗. อุจฉังคชาดก ๘. สาเกตชาดก ๙. วิสวันตชาดก ๑๐. กุททาลชาดก.
-----------------------------------------------------
๘. วรุณวรรค
๑. วรุณชาดก
ว่าด้วยการทำไม่ถูกขั้นตอน
[๗๑] ผู้ใดปรารถนาจะทำกิจที่ควรทำก่อน ในภายหลัง ผู้นั้นย่อมเดือดร้อน ในภายหลัง เหมือนมาณพหักไม้กุ่ม ฉะนั้น.
จบ วรุณชาดกที่ ๑.
๒. สีลวนาคชาดก
คนอกตัญญูมองคนในแง่ร้าย
[๗๒] ถ้าใครๆ จะพึงให้สมบัติในแผ่นดินทั้งหมดแก่คนอกตัญญู ผู้มีปกติมอง หาโทษอยู่เป็นนิตย์ ก็ให้เขาพอใจไม่ได้.
จบ สีลวนาคชาดกที่ ๒.
๓. สัจจังกิรชาดก
ไม้ลอยน้ำดีกว่าคนอกตัญญู
[๗๓] ได้ยินว่า นรชนบางพวกในโลกนี้ ได้กล่าวความจริงไว้อย่างนี้ว่า การ เก็บไม้ที่ลอยน้ำขึ้นมายังดีกว่า ช่วยคนอกตัญญูบางคนขึ้นจากน้ำ ฯ
จบ สัจจังกิรชาดกที่ ๓.
๔. รุกขธรรมชาดก
ต้นไม้โดดเดี่ยวย่อมแพ้ลม
[๗๔] มีญาติมากเป็นความดี อนึ่ง ต้นไม้ที่เกิดขึ้นในป่าหลายต้นเป็นการดี ต้นไม้ที่ขึ้นอยู่โดดเดี่ยว ถึงจะเป็นต้นไม้งอกงามใหญ่โตสักเท่าใด ลมก็ ย่อมพัดให้ล้มลงได้.
จบ รุกขธรรมชาดกที่ ๔.
๕. มัจฉชาดก
ว่าด้วยปลาขอฝน
[๗๕] ข้าแต่ฝน ขอท่านจงตกลงมาเถิด ขอจงทำลายขุมทรัพย์ของกาเสีย จงทำกาให้เศร้าโศก จงช่วยเปลื้องเราและพวกญาติๆ ให้พ้นจากความ เศร้าโศกด้วยเถิด.
จบ มัจฉชาดกที่ ๕.
๖. อสังกิยชาดก
เมตตากรุณาทำให้ปลอดภัย
[๗๖] เราไม่มีความระแวงในบ้าน ไม่มีภัยในป่า เราได้ขึ้นเดินทางตรงด้วย เมตตา และกรุณาแล้ว.
จบ อสังกิยชาดกที่ ๖.
๗. มหาสุบินชาดก
ว่าด้วยมหาสุบิน
[๗๗] หม่อมฉันได้ฝันเห็นโคอุสุภราช ๑ ต้นไม้ ๑ แม่โค ๑ โคสามัญ ๑ ม้า ๑ ถาดทองคำ ๑ สุนัขจิ้งจอก ๑ หม้อน้ำ ๑ สระโบกขรณี ๑ ข้าวสารที่หุง ไม่สุก ๑ แก่นจันทน์ ๑ น้ำเต้าจมน้ำ ๑ หินลอยน้ำ ๑ นางเขียดกลืนกิน งูเห่า ๑ หงส์ทองแวดล้อมกา ๑ เสือกลัวแพะ ๑ ดังนี้ ปริยายอันผิดจะ เป็นไปในยุคนี้ ยังไม่สำเร็จ.
จบ มหาสุบินชาดกที่ ๗.
๘. อิลลีสชาดก
ว่าด้วยคนมีรูปร่างเหมือนกัน
[๗๘] คนทั้ง ๒ คน เป็นคนกระจอก, คนค่อม ตาเหล่ เกิดต่อมที่ศีรษะ ข้าพระบาทไม่รู้ว่าคนไหนเป็นอิลลีสเศรษฐี?
จบ อิลลีสชาดกที่ ๘.
๙. ขรัสสรชาดก
ว่าด้วยบุตรที่มารดาละทิ้ง
[๗๙] เมื่อใดพวกโจรปล้น และฆ่าวัวกิน เผาบ้าน และจับคนไปเป็นเชลย เมื่อนั้น บุตรที่มารดาละทิ้งแล้ว จึงมาตีกลองเสียงดัง.
จบ ขรัสสรชาดกที่ ๙.
๑๐. ภีมเสนชาดก
ว่าด้วยคำแรกกับคำหลังไม่สมกัน
[๘๐] เมื่อก่อนนี้ ท่านพูดอวดเรา แต่ภายหลังเหตุไรท่านจึงถ่ายอุจจาระออกเล่า ดูกรภีมเสน คำทั้ง ๒ ย่อมไม่สมกัน คือ คำที่พูดถึงการรบและบัดนี้ ท่านเดือดร้อนใจอยู่.
จบ ภีมเสนชาดกที่ ๑๐.
จบ วรุณวรรคที่ ๘.
-----------------------------------------------------
รวมชาดกที่มีวรรคนี้ คือ
๑. วรุณชาดก ๒. สีลวนาคชาดก ๓. สัจจังกิรชาดก ๔. รุกขธรรมชาดก ๕. มัจฉชาดก ๖. อสังกิยชาดก ๗. มหาสุบินชาดก ๘. อิลลีสชาดก ๙. ขรัสสรชาดก ๑๐. ภีมเสนชาดก.
-----------------------------------------------------
๙. อปายิมหวรรค
๑. สุราปานชาดก
โทษของการดื่มสุรา
[๘๑] พวกผมได้ดื่มสุราแล้ว พากันฟ้อนรำขับร้อง และร้องไห้ พวกผมดื่มสุรา อันกระทำให้เสียสติแล้ว ท่านอาจารย์ไม่ได้เห็น กลายเป็นเหมือนวานร ไป.
จบ สุราปานชาดกที่ ๑.
๒. มิตตวินทชาดก
ว่าด้วยจักรบดศีรษะ
[๘๒] ท่านเลยปราสาทแก้วผลึก ปราสาทเงิน และปราสาทแก้วมณีมาแล้ว ท่านนั้นเป็นผู้ถูกจักรกรดบนศีรษะแล้ว บาปยังไม่สิ้นตราบใด ท่านยังมี ชีวิตอยู่ ก็จักไม่พ้นจากจักรกรดตราบนั้น.
จบ มิตตวินทชาดกที่ ๒.
๓. กาฬกัณณิชาดก
ว่าด้วยมิตร
[๘๓] บุคคลชื่อว่า เป็นมิตรด้วยการเดินร่วมกัน ๗ ก้าว ชื่อว่าเป็นสหายด้วย การเดินร่วมกัน ๑๒ ก้าว และชื่อว่าเป็นญาติด้วยการอยู่ร่วมกันเดือนหนึ่ง หรือกึ่งเดือน ส่วนผู้ชื่อว่ามีตนเสมอกันก็ด้วยการอยู่รวมกันยิ่งกว่านั้น เราจะละทิ้งมิตร ชื่อว่ากาฬกัณณี ผู้ชอบกันมานาน เพราะความสุข ส่วนตัวได้อย่างไร?
จบ กาฬกัณณิชาดกที่ ๓.
๔. อัตถัสสทวารชาดก
ว่าด้วยคุณธรรม ๖ ประการ
[๘๔] บุคคลควรปรารถนาลาภอย่างเยี่ยม คือ ความไม่มีโรค ๑ ศีล ๑ ความรู้ ของท่านผู้รู้ทั้งหลาย ๑ การสดับฟัง ๑ ความประพฤติตามธรรม ๑ ความ ไม่ท้อถอย ๑ คุณธรรม ๖ ประการนี้ เป็นประตู เป็นประธานแห่งประ- โยชน์.
จบ อัตถัสสทวารชาดกที่ ๔.
๕. กิมปักกชาดก
ว่าด้วยโทษของกาม
[๘๕] ผู้ใดไม่รู้โทษในอนาคต มัวเสพกามอยู่ กามเหล่านั้นจะต้องล้างผลาญ ผู้นั้นในเวลาให้ผล เหมือนผลแห่งต้นกิมปักกพฤกษ์ ทำให้คนผู้ที่บริโภค ตายฉะนั้น.
จบ กิมปักกชาดกที่ ๕.
๖. สีลวีมังสนชาดก
ว่าด้วยผู้มีศีล
[๘๖] ได้ยินว่าศีลเป็นคุณชาติงามเป็นเยี่ยมในโลก เชิดดูงูใหญ่มีพิษร้ายแรง เป็นสัตว์มีศีล เหตุนั้น จึงไม่เบียดเบียนใคร.
จบ สีลวีมังสนชาดกที่ ๖.
๗. มังคลชาดก
ว่าด้วยถือมงคลตื่นข่าว
[๘๗] ผู้ใดไม่ถือมงคลตื่นข่าว ไม่ถืออุกกาบาต ไม่ถือความฝัน ไม่ถือลักษณะดี หรือชั่ว ผู้นั้นชื่อว่าล่วงพ้นโทษแห่งการถือมงคลตื่นข่าว ครอบงำกิเลส เครื่องประกอบสัตว์ไว้ในภพที่เป็นคูกั้น ย่อมไม่กลับมาเกิดอีก.
จบ มังคลชาดกที่ ๗.
๘. สรัมภชาดก
ว่าด้วยการพูดดี-พูดชั่ว
[๘๘] บุคคลพึงเปล่งวาจางามเท่านั้น ไม่พึงเปล่งวาจาชั่วเลย การเปล่งวาจางาม ยังประโยชน์ให้สำเร็จ ผู้เปล่งวาจาชั่วย่อมเดือดร้อน.
จบ สารัมภชาดกที่ ๘.
๙. กุหกชาดก
พูดดีได้เงินได้ทอง
[๘๙] ได้ยินว่า วาจาของท่านผู้พูดคำอ่อนหวานเป็นวาจาไพเราะ ท่านข้องอยู่ เพราะหญ้าเพียงเส้นเดียว แต่นำเอาทอง ๑๐๐ ลิ่มไปไม่ขัดข้อง.
จบ กุหกชาดกที่ ๙.
๑๐. อกตัญญูชาดก
ว่าด้วยคนอกตัญญู
[๙๐] ผู้ใดอันคนอื่นทำความดี ทำประโยชน์ให้ในกาลก่อน แต่ไม่รู้สึกคุณ เมื่อมี กิจเกิดขึ้นในภายหลัง ย่อมไม่ได้ผู้ช่วยเหลือ.
จบ อกตัญญูชาดกที่ ๑๐.
จบ อปายิมหวรรคที่ ๙.
-----------------------------------------------------
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. สุราปานชาดก ๒. มิตตวินทชาดก ๓. กาฬกัณณิชาดก ๔. อัตถัสสทวารชาดก ๕. กิมปักกชาดก ๖. สีลวีมังสนชาดก ๗. มังคลชาดก ๘. สารัมภชาดก ๙. กุหกชาดก ๑๐. อกตัญญูชาดก.
-----------------------------------------------------
๑๐. ลิตตวรรค
๑. ลิตตชาดก
ว่าด้วยลูกสกาอาบยาพิษ
[๙๑] บุรุษกลืนกินลูกสกา อันย้อมด้วยยาพิษอย่างแรงกล้า ย่อมไม่รู้สึก ดูกร เจ้าคนร้าย เจ้านักเลงชั่วช้า จงกลืนกินเถิด จงกลืนกินเถิด เมื่อท่าน กลืนกินลูกสกาแล้ว ภายหลังยาพิษนี้จักแรงจัดขึ้น.
จบ ลิตตชาดกที่ ๑.
๒. มหาสารชาดก
ต้องการคนที่เหมาะกับเหตุการณ์
[๙๒] เมื่อสงครามเกิดขึ้น ย่อมต้องการคนกล้าหาญ เมื่อเกิดข่าวตื่นเต้นขึ้น ย่อมต้องการคนหนักแน่น เมื่อข้าวและน้ำมีบริบูรณ์ ย่อมต้องการคนที่รัก เมื่อข้อความลึกซึ้งเกิดขึ้น ย่อมต้องการบัณฑิต.
จบ มหาสารชาดกที่ ๒.
๓. วิสสาสโภชนชาดก
ว่าด้วยการไว้วางใจ
[๙๓] บุคคลไม่ควรไว้วางใจในผู้ที่ยังไม่คุ้นเคยกัน แม้ผู้ที่คุ้นเคยกันแล้วก็ไม่ ควรไว้วางใจ ภัยย่อมมาจากผู้ที่คุ้นเคยกัน เหมือนภัยของราชสีห์ เกิดจาก แม่เนื้อฉะนั้น.
จบ วิสสาสโภชนชาดกที่ ๓.
๔. โลมหังสชาดก
ว่าด้วยการแสวงหาอย่างประเสริฐ
[๙๔] เราเป็นคนเร่าร้อน มีตัวอันเปียกชุ่ม อยู่แต่ผู้เดียวในป่าที่น่ากลัว เป็น คนเปลือยกาย ถึงแม้ความหนาวเบียดเบียนก็ไม่ผิงไฟ มุนีขวนขวาย ด้วยการแสวงหาอย่างประเสริฐ.
จบ โลมหังสชาดกที่ ๔.
๕. มหาสุทัสสนชาดก
ว่าด้วยสังขาร
[๙๕] สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีความเกิดขึ้น และเสื่อมไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป ความที่สังขารเหล่านั้นสงบระงับเป็นสุข.
จบ มหาสุทัสสนชาดกที่ ๕.
๖. เตลปัตตชาดก
ว่าด้วยการรักษาจิต
[๙๖] บุคคลพึงประคองภาชนะอันเต็มเปี่ยมด้วยน้ำมัน ฉันใด บัณฑิตผู้ปรารถนา จะไปสู่ทิศที่ยังไม่เคยไป ก็พึงตามรักษาจิตของตนไว้ด้วยสติ ฉันนั้น.
จบ เตลปัตตชาดกที่ ๖.
๗. นามสิทธิชาดก
ว่าด้วยชื่อไม่เป็นของสำคัญ
[๙๗] มาณพตนหนึ่งชื่อว่าปาปกะ ได้เห็นคนชื่อว่านายเป็นตายลง เห็นนางทาสี ชื่อว่านางรวยทรัพย์จน เห็นคนชื่อว่านางทางหลงทาง แล้วก็กลับมา.
จบ นามสิทธิชาดกที่ ๗.
๘. กูฏวาณิชชาดก
ว่าด้วยคนผู้เป็นบัณฑิต
[๙๘] ธรรมดาคนที่เป็นบัณฑิตเป็นคนดี คนที่เป็นบัณฑิตเกินไปเป็นคนไม่ดี เราถูกไฟลวกเพราะบุตรที่เป็นบัณฑิตเกินไป.
จบ กูฏวาณิชชาดกที่ ๘.
๙. ปโรสหัสสชาดก
ว่าด้วยคนผู้มีปัญญา
[๙๙] คนโง่เขลาประชุมกัน แม้ตั้งพันคนขึ้นไป พวกเขาไม่มีปัญญาพึงคร่ำ- ครวญอยู่ตลอดร้อยปี ผู้ใดรู้แจ้งเนื้อความแห่งภาษิต ผู้นั้นเป็นบุรุษมี ปัญญา คนเดียวเท่านั้น ประเสริฐ.
จบ ปโรสหัสสชาดก.
๑๐. อสาตรูปชาดก
สิ่งที่ครอบงำคนประมาท
[๑๐๐] สิ่งที่ไม่เป็นที่พอใจ สิ่งที่ไม่เป็นที่รัก สิ่งที่เป็นทุกข์ ย่อมครอบงำ ผู้ประมาทด้วยสิ่งเป็นที่พอใจ สิ่งเป็นที่รัก และสิ่งที่เป็นสุข.
จบ อสาตรูปชาดก.
จบ ลิตตวรรคที่ ๑๐.
จบ มัชฌิมปัณณาสก์.
-----------------------------------------------------
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. ลิตตชาดก ๒. มหาสารชาดก ๓. วิสสาสโภชนชาดก ๔. โลมหังสชาดก ๕. มหาสุทัสสนชาดก ๖. เตลปัตตชาดก ๗. นามสิทธิชาดก ๘. กูฏวาณิชชาดก ๙. ปโรสหัสสชาดก ๑๐. อสาถูปชาดก.
-----------------------------------------------------
๑๑. ปโรสตวรรค
๑. ปโรสตชาดก
คนมีปัญญาคนเดียวดีกว่าคนโง่เขลาตั้งร้อย
[๑๐๑] คนโง่เขลามาประชุมกัน แม้ตั้งร้อยคนขึ้นไป พวกเขาไม่มีปัญญา พึงเพ่ง ดูอยู่ตั้งร้อยปี ผู้ใดรู้แจ้งเนื้อความแห่งภาษิต ผู้นั้นเป็นบุรุษมีปัญญา คนเดียวเท่านั้น ประเสริฐกว่า.
จบ ปโรสตชาดกที่ ๑.
๒. ปัณณิกชาดก
ว่าด้วยที่พึงให้โทษ
[๑๐๒] ผู้ใดเมื่อดิฉันได้รับทุกข์พึงเป็นที่พึ่งได้ ผู้นั้นคือบิดาของดิฉันกลับมาทำ ความประทุษร้ายแก่ดิฉันในป่า ดิฉันจะคร่ำครวญถึงใครในกลางป่า ผู้ใด ควรจะเป็นที่พึ่งของดิฉัน ผู้นั้นกลับมาทำกรรมอย่างสาหัส.
จบ ปัณณิกชาดกที่ ๒.
๓. เวริชาดก
การอยู่ร่วมกับมีเวรกัน
[๑๐๓] คนมีเวรกันอยู่ในที่ใด บัณฑิตไม่ควรอยู่ในที่นั้น เพราะเมื่ออยู่ในพวก คนมีเวรกันคืนเดียว หรือสองคืน ก็อยู่เป็นทุกข์.
จบ เวริชาดกที่ ๓.
๔. มิตตวินทชาดก
โทษผู้ลุอำนาจความปรารถนา
[๑๐๔] ผู้มีความปรารถนาจัด มี ๔ ก็ต้องการ ๘ มี ๘ ก็ต้องการ ๑๖ มี ๑๖ ก็ต้อง การ ๓๒ บัดนี้ มาได้รับกงจักรกรด กงจักรกรดพัดอยู่เหนือศีรษะ ของคนผู้ลุอำนาจความปรารถนา.
จบ มิตตวินทชาดกที่ ๔.
๕. ทุพพลกัฏฐชาดก
ว่าด้วยช้างกลัวไม้แห้ง
[๑๐๕] ลมย่อมพัดไม้แห้งที่ทุรพลในป่านี้ แม้มีจำนวนมากมายให้หักลง ดูกร ช้างตัวประเสริฐ ถ้าท่านมากลัวต่อไม้แห้งนั้น ท่านจักซูบผอมเป็นแน่.
จบ ทุพพลกัฏฐชาดกที่ ๕.
๖. อุทัญจนีชาดก
ว่าด้วยหญิงโจร
[๑๐๖] หญิงโจรผู้นำของไปด้วยหม้อน้ำ เบียดเบียนฉัน ผู้เคยมีชีวิตอยู่เป็นสุข จะขอน้ำมัน หรือเกลือ ก็ด้วยการกล่าวคำอ่อนหวานฐานเป็นภรรยา.
จบ อุทัญจนีชาดกที่ ๖.
๗. สาลิตตกชาดก
ว่าด้วยคนมีศิลปะ
[๑๐๗] ขึ้นชื่อว่าศิลปะแม้อย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมยังประโยชน์ให้สำเร็จโดยแท้ ขอเชิญพระองค์ ทรงทอดพระเนตร บุรุษเปลี้ยได้บ้านส่วยทั้ง ๔ ทิศ ก็เพราะการดีดมูลแพะ.
จบ สาลิตตกชาดกที่ ๗.
๘. พาหิยชาดก
เป็นคนควรศึกษาศิลปะ
[๑๐๘] บุคคลควรศึกษาศิลปะทั้งหลาย ชนทั้งหลายที่พอใจในศิลปะนั้นก็มีอยู่ แม้แต่หญิงที่เกิดในจังหวัดชั้นนอก ก็ยังทำให้พระราชาทรงโปรดปรานได้ ด้วยความกระมิดกระเมี้ยนของเธอ.
จบ พาหิยชาดกที่ ๘.
๙. กุณฑกปูวชาดก
ว่าด้วยมีอย่างไรกินอย่างนั้น
[๑๐๙] บุรุษกินอย่างไร เทวดาของบุรุษนั้นก็กินอย่างนั้น ท่านจงนำเอาขนมรำ นั้นมา อย่าให้ส่วนของเราเสียไปเลย.
จบ กุณฑกปูวชาดกที่ ๙.
๑๐. สัพพสังหารกปัญหา
ว่าด้วยการพูดของหญิง ๒ ประเภท
[๑๑๐] กลิ่นเครื่องอบทั้งปวงไม่มี มีแต่กลิ่นดอกประยงค์ล้วนฟุ้งไป หญิงนักเลง คนนี้ ย่อมกล่าวคำเหลาะแหละ หญิงผู้ใหญ่กล่าวคำจริง.
จบ สัพพสังหารกปัญหาที่ ๑๐.
จบ ปโรสตวรรคที่ ๑๑.
-----------------------------------------------------
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. ปโรสตชาดก ๒. ปัณณิกชาดก ๓. เวริชาดก ๔. มิตตวินทชาดก ๕. ทุพพลกัฏฐชาดก ๖. อุทัญจนีชาดก ๗. สาลิตตกชาดก ๘. พาหิยชาดก ๙. กุณฑกปูวชาดก ๑๐. สัพพสังหารกปัญหา.
-----------------------------------------------------
๑๒. หังสิวรรค
๑. คัทรภปัญหา
ว่าด้วยลากับม้าอัสดร
[๑๑๑] ข้าแต่พระราชาผู้ประเสริฐ ถ้าพระองค์ทรงสำคัญอย่างนี้ว่าบิดาประเสริฐ กว่าบุตรไซร้ มิฉะนั้น ลาตัวนี้ก็ประเสริฐกว่าม้าอัสดรของพระองค์ เพราะว่าลาเป็นพ่อม้าอัสดร.
จบ คัทรภปัญหาที่ ๑.
๒. อมราเทวีปัญหา
บอกใบ้หนทางไปบ้าน
[๑๑๒] ร้านขายข้าวสัตตู ร้านขายน้ำส้มพะอูม และต้นทองหลางใบมนซึ่งมีดอก บานแล้ว มีอยู่ ณ ที่ใด ท่านจงไป ณ ที่นั้นเถิด ฉันให้ของด้วยมือใด ฉันย่อมกล่าวด้วยมือนั้น ฉันไม่ได้ของด้วยมือใด ฉันไม่กล่าวด้วยมือนั้น นี่เป็นหนทางของบ้านชื่อว่ายวมัชฌกคาม ท่านจงรู้ทางที่ฉันกล่าวปกปิด นี้เองเถิด.
จบ อมราเทวีปัญหา ที่ ๒.
๓. สิคาลชาดก
ว่าด้วยพราหมณ์เชื่อสุนัข
[๑๑๓] ดูกรพราหมณ์ ท่านเชื่อสุนัขผู้ดื่มสุราหรือ เพียง ๑๐๐ เบี้ยก็ไม่มี อย่าว่า ถึง ๒๐๐ กหาปณะเลย?
จบ สิคาลชาดกที่ ๓.
๔. มิตจินติชาดก
ว่าด้วยปลาช่วยปลาให้พ้นข่าย
[๑๑๔] ปลา ๒ ตัวคือ ปลาพหูจินตี และปลาอัปปจินตี ติดอยู่ในข่าย ปลาชื่อ มิตจินตีได้ช่วยให้พ้นจากข่าย ปลาทั้ง ๒ ตัวจึงได้มาพร้อมกันกับปลา จินตี ในแม่น้ำนั้น.
จบ มิตจินติชาดกที่ ๔.
๕. อนุสาสิกชาดก
ว่าด้วยดีแต่สอนผู้อื่น
[๑๑๕] นางนกสาลิกาตัวใด สั่งสอนนกตัวอื่นอยู่เนืองๆ ตัวเองมีปกติเที่ยวไป ด้วยละโมบ นางนกสาลิกาตัวนั้นถูกล้อบดแล้วมีปีกหักนอนอยู่.
จบ อนุสาสิกชาดกที่ ๕.
๖. ทุพพจชาดก
ได้รับโทษเพราะทำเกินไป
[๑๑๖] ท่านอาจารย์ ท่านได้ทำเกินไป การกระทำของท่านนั้นไม่ชอบใจแม้แก่ ข้าพเจ้า ท่านโดดพ้นหอกเล่มที่ ๔ แล้ว ถูกหอกเล่มที่ ๕ เสียบเข้าแล้ว.
จบ ทุพพจชาดกที่ ๖.
๗. ติตติรชาดก
ว่าด้วยตายเพราะปาก
[๑๑๗] วาจาที่ดังเกินไป ความเป็นผู้มีกำลังแรงเกินไป บุคคลกล่าวล่วงเวลา ย่อมฆ่าบุคคลผู้มีปัญญาทรามเสีย ดุจวาจาที่ฆ่านกกระทาผู้ขันดังเกินไป ฉะนั้น.
จบ ติตติรชาดกที่ ๗.
๘. วัฏฏกชาดก
ว่าด้วยการใช้ความคิด
[๑๑๘] บุรุษเมื่อไม่คิดก็ย่อมไม่ได้ผลพิเศษ ท่านจงดูผลแห่งอุบายที่เราคิดเถิด เราพ้นแล้วจากการฆ่าและจองจำ ก็ด้วยอุบายนั้น.
จบ วัฏฏกชาดกที่ ๘.
๙. อกาลราวิชาดก
ว่าด้วยไก่ขันไม่ถูกเวลา
[๑๑๙] ไก่ตัวนี้ไม่ได้เติบโตอยู่กับพ่อแม่ ไม่ได้อยู่ในสำนักอาจารย์ ย่อมไม่รู้จัก กาลที่ควรขัน และไม่ควรขัน.
จบ อกาลราวิชาดกที่ ๙.
๑๐. พันธนโมกขชาดก
ว่าด้วยการหลุดพ้นจากเครื่องผูกมัด
[๑๒๐] คนพาลทั้งหลายผู้ไม่ถูกผูกมัด กล่าวขึ้นในที่ใด ก็ย่อมถูกผูกมัดในที่นั้น ส่วนบัณฑิต แม้ถูกผูกมัดแล้ว กล่าวขึ้นในที่ใด ก็หลุดพ้นได้ในที่นั้น.
จบ พันธนโมกขชาดกที่ ๑๐.
จบ หังสิวรรคที่ ๑๒.
-----------------------------------------------------
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. คัทรภปัญหา ๒. อมราเทวีปัญหา ๓. สิคาลชาดก ๔. มิตจินติชาดก ๕. อนุสาสิกชาดก ๖. ทุพพจชาดก ๗. ติตติรชาดก ๘. วัฏฏกชาดก ๙. อกาลราวิชาดก ๑๐. พันธนโมกขชาดก.
-----------------------------------------------------
๑๓. กุสนาฬิวรรค
๑. กุสนาฬิชาดก
ว่าด้วยประโยชน์ของการผูกมิตร
[๑๒๑] บุคคลผู้เสมอกัน ประเสริฐกว่ากัน หรือเลวกว่ากัน พึงกระทำมิตร ธรรมเถิด เพราะมิตรเหล่านั้น เมื่อความเสื่อมเกิดขึ้น ก็พึงทำประโยชน์ อันอุดมให้ได้ ดุจเราผู้เป็นรุกขเทวดาและกุสนาฬิเทวดา คบหาเป็น มิตรกัน ฉะนั้น.
จบ กุสนาฬิชาดกที่ ๑.
๒. ทุมเมธชาดก
คนโง่ได้ยศไม่เป็นประโยชน์
[๑๒๒] ผู้มีปัญญาทรามได้ยศแล้ว ย่อมประพฤติสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่ตน ย่อมปฏิบัติเพื่อความเบียดเบียนตนและคนอื่น ฯ
จบ ทุมเมธชาดกที่ ๒.
๓. นังคลีสชาดก
คนพาลกล่าวคำที่ไม่ควรกล่าว
[๑๒๓] คนพาล ย่อมกล่าวคำที่ไม่ควรกล่าวทุกอย่างได้ในทุกแห่ง คนพาลนี้ ไม่รู้จักเนยข้น และงอนไถ ย่อมสำคัญเนยข้นและนมสดว่าเหมือน งอนไถ.
จบ นังคลีสชาดกที่ ๓.
๔. อัมพชาดก
บัณฑิตควรพยายามร่ำไป
[๑๒๔] บุรุษผู้เป็นบัณฑิตควรพยายามร่ำไป ไม่ควรเบื่อหน่าย จงดูผลแห่ง ความพยายาม ผลมะม่วงทั้งหลายที่หล่นให้บริโภคอยู่ก็ด้วยความพยายาม ทั้งนั้น ไม่ใช่ของที่ได้บินมาเลย.
จบ อัมพชาดกที่ ๔.
๕. กฏาหกชาดก
ว่าด้วยคนขี้โอ่
[๑๒๕] ผู้ใดไปสู่ชนบทอื่น ผู้นั้นพึงกล่าวอวดแม้มากมาย ดูกรกฏาหกะ เจ้าของเงินจะติดตามมาประทุษร้ายเอา เชิญท่านบริโภคอาหารเสีย เถิด.
จบ กฏาหกชาดกที่ ๕.
๖. อสิลักขณชาดก
ว่าด้วยเหตุอย่างเดียวคนได้ผลต่างกัน
[๑๒๖] เหตุอย่างเดียวกันนั่นแหละ เป็นผลดีแก่คนคนหนึ่ง แต่เป็นผลร้ายแก่ อีกคนหนึ่งได้ เพราะฉะนั้น เหตุอย่างเดียวกัน มิใช่ว่าจะเป็นผลดีไป ทั้งหมด และมิใช่ว่าจะเป็นผลร้ายไปทั้งหมด.
จบ อสิลักขณชาดกที่ ๖.
๗. กลัณฑุกชาดก
ว่าด้วยสกุลของนายกลัณฑุกะ
[๑๒๗] สกุลของท่านไม่ใช่สกุลสูง เราผู้เที่ยวอยู่ในป่าก็ยังรู้ได้ นายของท่าน ทราบแน่แล้วพึงจับท่านไป ดูกรนายกลัณฑุกะ ท่านจงดื่มน้ำนมเสียเถิด.
จบ กลัณฑุกชาดกที่ ๗.
๘. มูสิกชาดก
ว่าด้วยผู้เอาธรรมบังหน้า
[๑๒๘] ผู้ใดแลทำธรรมให้เป็นธง แต่ซ่อนความประพฤติไม่ดีไว้ล่อผู้อื่นให้ ตายใจ ความประพฤติของผู้นั้นชื่อว่า เป็นความประพฤติของแมว.
จบ มูสิกชาดกที่ ๘.
๙. อัคคิกชาดก
ว่าด้วยท่านอัคคิกะ
[๑๒๙] แหยมนี้ไม่มีอยู่เพราะเหตุแห่งบุญ มีอยู่เพราะเหตุจะกินผู้อื่น ฝูงหนู ย่อมไม่ถึงวิธีนับชื่ออังคุฏฐิ พอทีเถอะท่านอัคคิกะ.
จบ อัคคิกชาดกที่ ๙.
๑๐. โกสิยชาดก
ว่าด้วยถ้อยคำกับการกินไม่สมกัน
[๑๓๐] ดูกรท่านผู้โกสิยะ ท่านจงกินยาให้สมกับที่ท่านอ้างว่าป่วย หรือจงทำ การงานให้สมกับอาหารที่ท่านบริโภค เพราะถ้อยคำกับการกินของท่าน ทั้ง ๒ ประการ ไม่สมกัน.
จบ โกสิยชาดกที่ ๑๐.
จบ กุสนาฬิวรรคที่ ๑๓.
-----------------------------------------------------
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. กุสนาฬิชาดก ๒. ทุมเมธชาดก ๓. นังคลีสชาดก ๔. อัมพชาดก ๕. กฏาหกชาดก ๖. อสิลักขณชาดก ๗. กลัณฑุกชาดก ๘. มูสิกชาดก ๙. อัคคิกชาดก ๑๐. โกสิยชาดก.
๑๔. อสัมปทานวรรค
๑. อสัมปทานชาดก
การไม่รับของทำให้เกิดการแตกร้าว
[๑๓๑] ความไมตรีของผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งเป็นคนพาล ย่อมเป็นโทษแตกร้าวจากกัน เพราะไม่รับของไว้ เพราะฉะนั้น เราจึงรับเอาข้าวลีบกึ่ง ๑- มานะไว้ ด้วยมาคิดว่า ความไมตรีของเราอย่าได้แตกร้าวเสียเลย ขอให้ไมตรีของ เรานี้ ดำรงยั่งยืนต่อไปเถิด.
จบ อสัมปทานชาดกที่ ๑.
๒. ปัญจภีรุกชาดก
ว่าด้วยความสวัสดี
[๑๓๒] เราไม่ตกอยู่ในอำนาจของพวกผีเสื้อน้ำ เพราะความเพียรมั่นคง ดำรง อยู่ในคำแนะนำของผู้ฉลาด และเป็นผู้ขลาดต่อภัย ความสวัสดีจากภัย ใหญ่นั้น เกิดขึ้นแล้วแก่เรา.
จบ ปัญจภีรุกชาดกที่ ๒.
๓. ฆตาสนชาดก
ว่าด้วยภัยเกิดจากที่พึ่ง
[๑๓๓] ความเกษมมีอยู่บนหลังน้ำใด บนหลังน้ำนั้น มีข้าศึกมารบกวน ไฟลุก โพลงอยู่ ณ ท่ามกลางน้ำ วันนี้ การอยู่ของพวกเราที่ต้นไม้อันเกิดที่ แผ่นดินนี้ไม่มี ท่านทั้งหลายจงพากันหลีกไปเสียยังทิศทั้งหลายเถิด วันนี้ ภัยเกิดขึ้นจากที่พึ่งของพวกเรา.
จบ ฆตาสนชาดกที่ ๓.
@๑. ประมาณสี่ทะนาน
๔. ฌานโสธนชาดก
ว่าด้วยสุขเกิดจากสมาบัติ
[๑๓๔] สัตว์เหล่าใดเป็นผู้มีสัญญา แม้สัตว์เหล่านั้นก็ชื่อว่าเป็นทุคตะ สัตว์เหล่าใดเป็นผู้ไม่มีสัญญา ถึงสัตว์เหล่านั้นก็ชื่อว่า เป็นทุคตะ ท่าน จงละเว้นความเป็นสัญญีสัตว์และอสัญญีสัตว์ทั้ง ๒ นี้เสีย สุขอันเกิด จากสมาบัตินั้น เป็นของไม่มีกิเลสเครื่องยั่วยวน.
จบ ฌานโสธนชาดกที่ ๔.
๕. จันทาภชาดก
ว่าด้วยผู้เข้าถึงอาภัสสรพรหม
[๑๓๕] ในโลกนี้ ผู้ใดหยั่งลงสู่แสงจันทร์และแสงอาทิตย์ด้วยปัญญา ผู้นั้นย่อม เข้าถึงอาภัสสรพรหมโลก ด้วยฌานอันไม่มีวิตก
จบ จันทาภชาดกที่ ๕.
๖. สุวรรณหังสชาดก
โลภมากลาภหาย
[๑๓๖] บุคคลได้สิ่งใด ควรยินดีด้วยสิ่งนั้น เพราะความโลภเกินประมาณ เป็นความลามก นางพราหมณีจับพระยาหงส์ได้แล้ว ก็เสื่อมจาก ทองคำ.
จบ สุวรรณหังสชาดกที่ ๖.
๗. พัพพุชาดก
ว่าด้วยวิธีให้แมวตาย
[๑๓๗] แมวตัวที่ ๑ ได้หนูหรือเนื้อในที่ใด แมวตัวที่ ๒ ที่ ๓ และ ที่ ๔ ก็ เกิดขึ้นในที่นั้น แมวเหล่านั้นได้พากันเอาอกฟาดปล่องแก้วผลึกนี้ แล้ว ถึงความสิ้นชีวิตทั้งหมด.
จบ พัพพุชาดกที่ ๗.
๘. โคธชาดก
ว่าด้วยฤาษีหลอกกินเหี้ย
[๑๓๘] ดูกรท่านผู้มีปัญญาทราม ประโยชน์อะไรแก่ท่านด้วยชฎาทั้งหลาย ประโยชน์อะไรแก่ท่านด้วยหนังเสือ ภายในของท่านขรุขระ ท่านย่อม ขัดสีแต่ภายนอก.
จบ โคธชาดกที่ ๘.
๙. อุภโตภัฏฐชาดก
ว่าด้วยผู้เสียหายหมดทุกอย่าง
[๑๓๙] ตาของท่านก็แตก ผ้าของท่านก็หาย ภรรยาของท่านก็ทะเลาะกับหญิง เพื่อนบ้าน ท่านมีการงานเสีย ๒ ทาง คือ ทั้งทางน้ำและทางบก.
จบ อุภโตภัฏฐชาดกที่ ๙.
๑๐. กากชาดก
ว่าด้วยกาไม่มีมันเหลว
[๑๔๐] ขึ้นชื่อว่ากาทั้งหลาย มีใจหวาดเสียวอยู่เป็นนิตย์ เป็นผู้เบียดเบียนสัตว์ ทั้งปวง เพราะฉะนั้น กาทั้งหลายผู้เป็นญาติของเราจึงไม่มีมันเหลว.
จบ กากชาดกที่ ๑๐.
จบ อสัมปทานวรรคที่ ๑๔.
-----------------------------------------------------
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. อสัมปทานชาดก ๒. ปัญจภีรุกชาดก ๓. ฆตาสนชาดก ๔. ฌานโสธนชาดก ๕. จันทาภชาดก ๖. สุวรรณหังสชาดก ๗. พัพพุชาดก ๘. โคธชาดก ๙. อุภโตภัฏฐชาดก ๑๐. กากชาดก.
-----------------------------------------------------
๑๕. กกัณฏกวรรค
๑. โคธชาดก
คบคนชั่วไม่มีความสุข
[๑๔๑] ผู้คบคนชั่ว ย่อมไม่ได้ความสุขโดยส่วนเดียว เขาย่อมทำตนให้ถึง ความพินาศ เหมือนตระกูลเหี้ย ไม่ได้ความสุขจากกิ้งก่า ฉะนั้น.
จบ โคธชาดกที่ ๑.
๒. สิคาลชาดก
ว่าด้วยทำอุบายนอนตาย
[๑๔๒] เหตุที่ท่านทำเป็นเหมือนนอนตายนี้ รู้ได้ยากอยู่ เพราะว่า เมื่อเราคาบ ปลายไม้ค้อนฉุดไป ไม้ค้อนก็ไม่หลุดจากมือของท่าน.
จบ สิคาลชาดกที่ ๒.
๓. วิโรจนชาดก
ว่าด้วยผู้ถูกเยาะเย้ย
[๑๔๓] มันสมองของท่านไหลออกแล้ว กระหม่อมของท่านก็ถูกทำลายแล้ว ซี่โครงของท่านหักพังไปสิ้นแล้ว วันนี้ ท่านย่อมรุ่งเรืองแท้.
จบ วิโรจนชาดกที่ ๓.
๔. นังคุฏฐชาดก
ว่าด้วยบูชาไฟด้วยหางวัว
[๑๔๔] ดูกรไฟผู้ชาติชั่ว หางวัวสำหรับที่ข้าพเจ้าจะบูชาท่านนี้มีมาก วันนี้ เนื้อวัว ไม่มีจะบูชาท่านผู้ไม่สมควรแก่เนื้อวัว ท่านจงรับแต่หางวัวเถิด.
จบ นังคุฏฐชาดกที่ ๔.
๕. ราธชาดก
ว่าด้วยพูดเพ้อเจ้อเพราะความเขลา
[๑๔๕] ดูกรราธะ ท่านไม่รู้จักคนทั้งหลายที่ยังไม่มาในเวลาปฐมยาม ท่านพูด เพ้อเจ้อไปตามความโง่เขลา นางพราหมณีผู้โกสิยโคตรเป็นหญิงไม่ดี หมดความรักใคร่ในบิดาของท่าน.
จบ ราธชาดกที่ ๕.
๖. กากชาดก
ว่าด้วยกาวิดน้ำด้วยปาก
[๑๔๖] เออก็คางของเราเมื่อยล้าแล้ว และปากของเราก็ซูบซีด เราพากันเลิก เถอะ อย่าวิดเลย เพราะมหาสมุทรก็ยังเต็มอยู่ตามเดิม.
จบ กากชาดกที่ ๖.
๗. บุปผรัตตชาดก
เป็นทุกข์เพราะภรรยาไม่ได้ผ้าย้อมดอกคำ
[๑๔๗] ความทุกข์เพราะถูกเสียบหลาวนี้ก็ดี ความทุกข์ที่ถูกกาจิกเราก็ดี ก็ไม่ เป็นความทุกข์ของเรา ความทุกข์ที่ว่าภรรยาของเราจะไม่ได้นุ่งห่มผ้าย้อม ดอกคำเที่ยวเล่นมหรสพในเดือน ๑๒ นี้ เป็นทุกข์ของเรา.
จบ บุปผรัตตชาดกที่ ๗.
๘. สิคาลชาดก
ว่าด้วยสุนัขเข้าอยู่ในท้องช้าง
[๑๔๘] เราจะไม่เข้าไปสู่ท้องช้างบ่อยๆ อีกต่อไปแล้ว เพราะในเวลาที่เข้าไป อยู่ในท้องช้าง เราถูกภัยคุกคามแล้ว.
จบ สิคาลชาดกที่ ๘.
๙. เอกปัณณชาดก
ว่าด้วยต้นไม้ใบเดียว
[๑๔๙] ต้นไม้นี้มีเพียงใบเดียว จากพื้นสูงไม่เกิน ๔ นิ้ว ยังมีรสเช่นกับยาพิษ ต้นไม้นี้เติบโตขึ้นจักขมสักเพียงไหน?
จบ เอกปัณณชาดกที่ ๙.
๑๐. สัญชีวชาดก
ว่าด้วยโทษที่ยกย่องอสัตบุรุษ
[๑๕๐] ผู้ใดยกย่องอสัตบุรุษ และคบหาอสัตบุรุษ อสัตบุรุษย่อมทำผู้นั้นแหละ ให้เป็นอาหาร เหมือนเสือโคร่งที่ตายแล้ว สัญชีวมาณพร่ายมนต์ให้กลับ ฟื้นขึ้นมา ทำสัญชีวมาณพให้เป็นเหยื่อ ฉะนั้น.
จบ สัญชีวชาดกที่ ๑๐.
จบ กกัณฏกวรรคที่ ๑๕.
-----------------------------------------------------
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. โคธชาดก ๒. สิคาลชาดก ๓. วิโรจนชาดก ๔. นังคุฏฐชาดก ๕. ราธชาดก ๖. กากชาดก ๗. บุปผรัตตชาดก ๘. สิคาลชาดก ๙. เอกปัณณชาดก ๑๐. สัญชีวชาดก.
-----------------------------------------------------
รวมวรรคที่มีในเอกกนิบาตนี้ คือ
๑. อปัณณกวรรค ๒. สีลวรรค ๓. กุรุงควรรค ๔. กุลาวกวรรค ๕. อัตถกามวรรค ๖. อาสิงสวรรค ๗. อิตถีวรรค ๘. วรุณวรรค ๙. อปายิมหวรรค ๑๐. ลิตตวรรค ๑๑. ปโรสตวรรค ๑๒. หังสิวรรค ๑๓. กุสนาฬิวรรค ๑๔. อสัมปทานวรรค ๑๕. กกัณฏกวรรค.
จบ เอกกนิบาตชาดก
-----------------------------------------------------
ทุกนิบาตชาดก
๑. ทัฬหวรรค
๑. ราโชวาทชาดก
ว่าด้วยวิธีชนะ
[๑๕๑] พระเจ้าพัลลิกราชทรงแข็งต่อผู้ที่แข็ง ทรงชำนะคนอ่อนด้วยความอ่อน ทรงชำนะคนดีด้วยความดี ทรงชำนะคนไม่ดีด้วยความไม่ดี พระราชา พระองค์นี้ เป็นเช่นนี้ ดูกรนายสารถี ท่านจงหลีกทางถวายพระราชาของ เราเถิด. [๑๕๒] พระเจ้าพาราณสีทรงชำนะคนโกรธด้วยความไม่โกรธ ทรงชำนะคน ไม่ดีด้วยความดี ทรงชำนะคนตระหนี่ด้วยการให้ ทรงชำนะคนพูดเหลาะ แหละด้วยคำสัตย์ พระราชาพระองค์นี้ เป็นเช่นนี้ ดูกรนายสารถี ท่านจงหลีกทางถวายพระราชาของเราเถิด.
จบ ราโชวาทชาดกที่ ๑.
๒. สิคาลชาดก
ว่าด้วยการทำโดยไม่พิจารณา
[๑๕๓] การงานเหล่านั้น ย่อมเผาบุคคลผู้มีการงานอันไม่ได้พิจารณาแล้ว รีบร้อน จะทำให้สำเร็จ เหมือนกับของร้อนที่บุคคลไม่พิจารณาก่อนแล้ว ใส่เข้า ไปในปาก ฉะนั้น. [๑๕๔] อนึ่ง ราชสีห์ได้แผดสีหนาทที่ภูเขาเงิน สุนัขจิ้งจอกอยู่ในภูเขาเงิน ได้ฟังราชสีห์แผดเสียงก็กลัวตาย หวาดกลัว หัวใจแตกตาย.
จบ สิคาลชาดกที่ ๒.
๓. สูกรชาดก
ว่าด้วยหมูท้าราชสีห์
[๑๕๕] ดูกรสหาย เราก็มี ๔ เท้า แม้ท่านก็มี ๔ เท้า จงกลับมาสู้กันก่อนเถิด สหาย ท่านกลัวหรือ จึงหนีไป? [๑๕๖] ดูกรหมู ท่านเป็นสัตว์สกปรก มีขนเหม็นเน่า มีกลิ่นเหม็นฟุ้งไป ดูกรสหาย ถ้าท่านประสงค์จะสู้รบกับเรา เราก็จะให้ชัยชนะแก่ท่าน.
จบ สูกรชาดกที่ ๓.
๔. อุรคชาดก
ว่าด้วยงูผู้มีคุณธรรมสูง
[๑๕๗] ในที่นี้ พระยานาคประเสริฐกว่างูทั้งหลาย พระยานาคต้องการจะพ้น ไปจากสำนักของข้าพเจ้าแปลงเพศเป็นดุจท่อนแก้วมณี เข้าไปอยู่ภายใน ผ้าเปลือกไม้นี้ ข้าพเจ้าเคารพยำเกรงเพศของพระคุณเจ้า ซึ่งเป็นเพศ ประเสริฐนัก แม้จะหิวก็ไม่อาจจะจับนาค ซึ่งเข้าไปอยู่ภายในผ้าเปลือก ไม้นั้นออกมากินได้. [๑๕๘] ท่านนั้น เคารพยำเกรงผู้มีเพศประเสริฐ แม้จะหิวก็ไม่อาจจะจับนาคซึ่ง เข้าไปอยู่ภายในผ้าเปลือกไม้นั้นออกมากินได้ ขอท่านนั้น จงเป็นผู้อัน พรหมคุ้มครอง ดำรงชีพอยู่สิ้นกาลนานเถิด อนึ่ง ขอภักษาหารอัน เป็นทิพย์จงปรากฏแก่ท่านเถิด.
จบ อุรคชาดกที่ ๓.
๕. ภัคคชาดก
ว่าด้วยอายุ
[๑๕๙] ข้าแต่ท่านบิดา ขอท่านจงเป็นอยู่ ๑๒๐ ปี ขอปีศาจจงอย่ากินฉันเลย ท่านจงเป็นอยู่ ๑๒๐ ปี เถิด. [๑๖๐] แม้ท่านก็จงเป็นอยู่ ๑๒๐ ปี พวกปีศาจจงกินยาพิษ ท่านจงเป็นอยู่ ๑๒๐ ปี.
จบ ภัคคชาดกที่ ๕.
๖. อลีนจิตตชาดก
ว่าด้วยกัลยาณมิตร
[๑๖๑] เสนาหมู่ใหญ่อาศัยเจ้าอลีนจิต มีใจรื่นเริง ได้จับเป็นพระเจ้าโกศล ผู้ไม่ทรงอิ่มพระทัยด้วยราชสมบัติของพระองค์ ฉันใด. [๑๖๒] ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยกัลยาณมิตรเป็นที่พึ่งอาศัย ปรารภความเพียร เจริญ กุศลธรรม เพื่อบรรลุนิพพานอันเกษมจากโยคะ พึงบรรลุธรรมเป็นที่สิ้น ไปแห่งสังโยชน์ทั้งปวงโดยลำดับ ก็ฉันนั้น.
จบ อลีนจิตตชาดกที่ ๖.
๗. คุณชาดก
ว่าด้วยมิตรธรรม
[๑๖๓] ผู้เป็นใหญ่ย่อมขับไล่ผู้น้อยได้ตามความต้องการของตน นี่เป็นธรรมดา ของผู้มีกำลัง นางมฤคีผู้มีฟันคมแหลมของท่าน ได้คุกคามบุตรและภรรยา ของเรา ขอท่านจงทราบเถิด ภัยเกิดแต่ที่พึ่งแล้ว. [๑๖๔] ถ้าผู้ใด เป็นมิตรแม้จะมีกำลังน้อย แต่ตั้งอยู่ในมิตรธรรม ผู้นั้นชื่อว่า เป็นญาติ เป็นเผ่าพันธุ์ เป็นมิตร และเป็นสหายของเรา แน่ะนางมฤคี ท่านอย่าดูหมิ่นสหายของเราอีกนะ เพราะว่า สุนัขจิ้งจอกตัวนี้ให้ชีวิต เราไว้.
จบ คุณชาดกที่ ๗.
๘. สุหนุชาดก
ว่าด้วยการเปรียบเทียบม้า ๒ ม้า
[๑๖๕] การที่ม้าโกงสุหนุกระทำความรักกับม้าโสณะนี้ ย่อมมีด้วยปกติที่ไม่ เสมอกันก็หามิได้ ม้าโสณะ เป็นเช่นใด แม้ม้าสุหนุก็เป็นเช่นนั้น ม้าโสณะมีความประพฤติเช่นใด ม้าสุหนุก็มีความประพฤติเช่นนั้น. [๑๖๖] ม้าทั้งสองนั้น ย่อมเสมอกันด้วยการวิ่งไปด้วยความคะนอง และ ด้วยกัดเชือกที่ล่ามอยู่เป็นนิจ ความชั่วย่อมสมกับความชั่ว ความไม่ดี ย่อมสมกับความไม่ดี.
จบ สุหนุชาดกที่ ๘.
๙. โมรชาดก
ว่าด้วยนกยูงเจริญพระปริตต์
[๑๖๗] พระอาทิตย์นี้ เป็นดวงตาของโลก เป็นเจ้าแห่งแสงสว่างอย่างเอก กำลังอุทัยขึ้นมาทอแสงอร่ามสว่างไปทั่วปฐพี เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าขอ นอบน้อมพระอาทิตย์นั้น ซึ่งทอแสงอร่ามสว่างไปทั่วปฐพี ข้าพเจ้าอัน ท่านช่วยคุ้มกันแล้วในวันนี้ พึงอยู่เป็นสุขตลอดวัน พราหมณ์เหล่าใด ผู้ถึงฝั่งแห่งเวทในธรรมทั้งปวง ขอพราหมณ์เหล่านั้น จงรับความนอบ น้อมของข้าพเจ้า และขอจงคุ้มครองข้าพเจ้าด้วย ข้าพเจ้าขอนอบน้อม แด่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระโพธิญาณ ข้าพเจ้า ขอนอบน้อมแด่ท่านผู้หลุดพ้นแล้ว ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่วิมุตติธรรม ของท่านผู้หลุดพ้นแล้ว นกยูงนั้น เจริญพระปริตต์นี้แล้วจึงเที่ยวไปแสวง หาอาหาร. [๑๖๘] พระอาทิตย์นี้ เป็นดวงตาของโลก เป็นเจ้าแห่งแสงสว่างอย่างเอก ส่องแสงสว่างไปทั่วปฐพีแล้วอัสดงคตไป เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าขอ นอบน้อมพระอาทิตย์นั้น ซึ่งส่องสว่างไปทั่วปฐพี ข้าพเจ้าอันท่านช่วย คุ้มครองแล้วในวันนี้ พึงอยู่เป็นสุขตลอดคืน พราหมณ์เหล่าใด ผู้ถึง ฝั่งแห่งเวทในธรรมทั้งปวง ขอพราหมณ์เหล่านั้น จงรับความนอบน้อม ของข้าพเจ้า และขอจงคุ้มครองข้าพเจ้าด้วย ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่ พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระโพธิญาณ ข้าพเจ้าขอ นอบน้อมแด่ท่านผู้หลุดพ้นแล้ว ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่วิมุตติธรรมของ ท่านผู้หลุดพ้นแล้ว นกยูงนั้นเจริญพระปริตต์นี้แล้วจึงสำเร็จการอยู่.
จบ โมรชาดกที่ ๙.
๑๐. วินีลกชาดก
ว่าด้วยการเลือกทำเลผิด
[๑๖๙] หงส์ ๒ ตัว พาเราผู้ชื่อว่าวินีลกะไป ฉันใด ม้าอาชาไนยก็พาพระเจ้า วิเทหราชผู้ครองเมืองมิถิลาให้เสด็จไป ฉันนั้นเหมือนกัน. [๑๗๐] แน่ะเจ้าวินีลกะ เจ้ามาคบ มาเสพ ภูเขาอันมิใช่ภูมิภาคทำเลของเจ้า เจ้าจงไปเสพอาศัยสถานที่ใกล้บ้านเถิด นั่นเป็นที่อยู่อาศัยของเจ้าและ มารดาของเจ้า.
จบ วินีลกชาดกที่ ๑๐.
จบ ทัฬหวรรคที่ ๑.
-----------------------------------------------------
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้
๑. ราโชวาทชาดก ๒. สิคาลชาดก ๓. สูกรชาดก ๔. อุรคชาดก ๕. ภัคคชาดก ๖. อลีนจิตตชาดก ๗. คุณชาดก ๘. สุหนุชาดก ๙. โมรชาดก ๑๐. วินีลกชาดก.
-----------------------------------------------------
๒. สันถวรรค
๑. อินทสมานโคตตชาดก
ว่าด้วยการสมาคมกับสัตบุรุษ
[๑๗๑] บุคคลไม่พึงทำความสนิทสนมกับบุรุษชั่วช้า ท่านผู้เป็นอริยะ รู้ประโยชน์ อยู่ ไม่พึงทำความสนิทสนมกับอนารยชน เพราะอนารยชนนั้น แม้อยู่ ร่วมกันเป็นเวลานาน ก็ย่อมทำบาปกรรม ดุจช้างผู้ทำลายล้างดาบสชื่อ อินทสมานโคตร ฉะนั้น. [๑๗๒] บุคคลพึงรู้บุคคลใดว่า ผู้นี้เช่นเดียวกับเรา โดยศีล ปัญญา และสุตะ พึงทำไมตรีกับบุคคลนั้นนั่นแล เพราะการสมาคมกับสัตบุรุษนำมาซึ่ง ความสุขแท้.
จบ อินทสมานโคตตชาดกที่ ๑.
๒. สันถวชาดก
ว่าด้วยความสนิทสนม
[๑๗๓] สิ่งอื่นที่จะชั่วช้ายิ่งขึ้นไปกว่าความสนิทสนมเป็นไม่มี ความสนิทสนม กับบุรุษเลวทราม เป็นความชั่วช้า เพราะไฟนี้เราให้อิ่มหนำแล้วด้วย สัปปิและข้าวปายาส ยังไหม้บรรณศาลาที่เราทำได้ยากให้พินาศ. [๑๗๔] สิ่งอื่นที่จะประเสริฐยิ่งไปกว่าความสนิทสนมเป็นไม่มี ความสนิทสนม กับสัตบุรุษ เป็นความประเสริฐ สามามฤคีเลียปากราชสีห์ เสือโคร่ง และเสือเหลืองได้ ก็เพราะความรักใคร่สนิทสนมกัน.
จบ สันถวชาดกที่ ๒.
๓. สุสีมชาดก
ว่าด้วยพระเจ้าสุสีมะ
[๑๗๕] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระนามว่าสุสีมะ ช้างประมาณ ๑๐๐ เชือกเศษนี้ ประดับด้วยข่ายทอง เป็นของพระองค์ พระองค์ทรงระลึกถึงการกระทำ แห่งพระบิดา และพระอัยยกาของพระองค์อยู่เนืองๆ ตรัสว่า เราจะให้ ช้างเหล่านั้นแก่พราหมณ์เหล่าอื่น ดังนี้ เป็นความจริงหรือ พระเจ้าข้า? [๑๗๖] ดูกรพ่อมาณพ ช้างประมาณ ๑๐๐ เชือกเศษนี้ประดับด้วยข่ายทอง ซึ่ง เป็นของเรา เราระลึกถึงการกระทำแห่งพระบิดา และพระอัยยกาอยู่ เนืองๆ พูดว่า เราจะให้ช้างเหล่านั้นแก่พราหมณ์เหล่าอื่น ดังนี้ เป็น ความจริง.
จบ สุสีมชาดกที่ ๓.
๔. คิชฌชาดก
ว่าด้วยสายตาแร้ง
[๑๗๗] เออก็ (เขากล่าวกันว่า) แร้งย่อมเห็นซากศพทั้งหลายได้ถึงร้อยโยชน์ เหตุไร ท่านมาถึงข่ายและบ่วงจึงไม่รู้เล่า? [๑๗๘] ความเสื่อมจะมีในเวลาใด สัตว์ใกล้จะสิ้นชีวิตในเวลาใด ในเวลานั้น ถึงจะมาใกล้ข่าย และบ่วงก็รู้ไม่ได้ ฯ
จบ คิชฌชาดกที่ ๔.
๕. นกุลชาดก
ว่าด้วยอย่าวางใจมิตร
[๑๗๙] ดูกรพังพอน ท่านได้ทำมิตรภาพกับงูผู้เป็นศัตรูแล้ว ไฉนจึงยังนอน แยกเขี้ยวอยู่อีกเล่า ภัยที่ไหนจะมาถึงแก่ท่านอีก? [๑๘๐] บุคคลพึงระแวงในศัตรูไว้ แม้ในมิตรก็ไม่ควรวางใจ ภัยเกิดขึ้นแล้ว จากมิตร ย่อมตัดมูลรากทั้งหลายเสีย.
จบ นกุลชาดกที่ ๕.
๖. อุปสาฬหกชาดก
ว่าด้วยคุณธรรมที่ไม่ตายไปจากโลก
[๑๘๑] พราหมณ์ชื่อว่าอุปสาฬหกทั้งหลาย ถูกญาติทั้งหลายเผาเสียในประเทศนี้ ประมาณหมื่นสี่พันชาติแล้ว สถานที่อันใครๆ ไม่เคยตายแล้ว ย่อม ไม่มีในโลก. [๑๘๒] สัจจะ ๑ ธรรม ๑ อหิงสา ๑ สัญญมะ ๑ ทมะ ๑ มีอยู่ในบุคคลใด พระอริยะทั้งหลายย่อมคบหาบุคคลนั้น คุณชาตินี้แลชื่อว่า ไม่ตายในโลก.
จบ อุปสาฬหกชาดกที่ ๖.
๗. สมิทธิชาดก
ว่าด้วยการไม่รู้เวลาตาย
[๑๘๓] ดูกรภิกษุ ท่านยังไม่ทันได้บริโภคกามเลย มาเที่ยวภิกษาเสีย ท่าน จะบริโภคกามเสียก่อนแล้วจึงเที่ยวภิกษาไม่ดีหรือ ดูกรภิกษุ ท่านจง บริโภคกามเสียก่อนแล้วจึงเที่ยวภิกษาเถิด เวลาบริโภคกามอย่าล่วงเลย ท่านไปเสียเลย. [๑๘๔] เรารู้เวลาตายไม่ได้โดยแท้ เวลาตายยังปกปิดอยู่ หาปรากฏไม่ เพราะ เหตุนั้น เราจึงไม่บริโภคกามแล้วเที่ยวภิกษา เวลากระทำสมณธรรมอย่า ล่วงเลยเราไปเสีย.
จบ สมิทธิชาดกที่ ๗.
๘. สกุณัคฆิชาดก
ว่าด้วยเหยี่ยวนกเขา
[๑๘๕] เหยี่ยวนกเขาบินโผลงด้วยกำลัง หมายใจว่า จะเฉี่ยวเอานกมูลไถ ซึ่ง จับอยู่ที่ชายดงเพื่อหาเหยื่อ โดยฉับพลัน เพราะเหตุนั้น จึงถึงความตาย. [๑๘๖] เรานั้น เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยอุบาย ยินดีแล้วในโคจรอันเนื่องมาแต่บิดา เห็นอยู่ซึ่งประโยชน์ของตน จึงหลีกพ้นไปจากศัตรู ย่อมเบิกบานใจ.
จบ สกุณัคฆิชาดกที่ ๘.
๙. อรกชาดก
ว่าด้วยการแผ่เมตตา
[๑๘๗] ผู้ใดแล ย่อมอนุเคราะห์สัตว์โลกทั้งปวง ด้วยจิตเมตตาหาประมาณ มิได้ ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ และเบื้องขวาง โดยประการทั้งปวง. [๑๘๘] จิตเกื้อกูลหาประมาณมิได้ เป็นจิตบริบูรณ์อัน ผู้นั้นอบรมดีแล้ว กรรมใด ที่เขาทำแล้วพอประมาณ กรรมนั้น จักไม่เหลืออยู่ในจิตนั้น.
จบ อรกชาดกที่ ๙.
๑๐. กกัณฏกชาดก
ว่าด้วยกิ้งก่าได้ทรัพย์
[๑๘๙] กิ้งก่าบนปลายเสาระเนียดนี้ ย่อมไม่อ่อนน้อมเหมือนเมื่อวันก่อน ดูกร มโหสถ ท่านจงรู้ว่า กิ้งก่ากระด้างเพราะเหตุไร? [๑๙๐] กิ้งก่ามันได้ทรัพย์กึ่งมาสกซึ่งมันไม่เคยได้ จึงได้ดูหมิ่นพระเจ้าวิเทหราช ผู้ครองเมืองมิถิลา.
จบ กกัณฏกชาดกที่ ๑๐.
จบ สันถวรรคที่ ๒.
-----------------------------------------------------
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. อินทสมานโคตตชาดก ๒. สันถวชาดก ๓. สุสีมชาดก ๔. คิชฌชาดก ๕. นกุลชาดก ๖. อุปสาฬหกชาดก ๗. สมิทธิชาดก ๘. สกุณัคฆิชาดก ๙. อรกชาดก ๑๐. กกัณฏกชาดก
-----------------------------------------------------
๓. กัลยาณธรรมวรรค
๑. กัลยาณธรรมชาดก
ผู้มีกัลยาณธรรม
[๑๙๑] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งชน กาลใด บุคคลได้ธรรมสมัญญาในโลกว่า ผู้มีกัลยาณธรรม กาลนั้น นรชนผู้มีปัญญา ไม่พึงทำตนให้เสื่อมจาก สมัญญานั้นเสีย สัตบุรุษทั้งหลายย่อมถือไว้ซึ่งธุระด้วยหิริและโอตตัปปะ. [๑๙๒] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งชน สมัญญาว่า ผู้มีกัลยาณธรรมในโลกนี้ มาถึงข้าพระพุทธเจ้าแล้วในวันนี้ ข้าพระพุทธเจ้าพิจารณาเห็นสมัญญาอัน นั้น จึงได้บวชเสียในคราวนี้ ความพอใจในการบริโภคกามในโลกนี้ มิได้มีแก่ข้าพระพุทธเจ้าเลย.
จบ กัลยาณธรรมชาดกที่ ๑.
๒. ทัททรชาดก
ราชสีห์กับสุนัขจิ้งจอก
[๑๙๓] ข้าแต่คุณพ่อผู้ครอบงำมฤคชาติทั้งหลาย ใครหนอมีเสียงใหญ่โตจริง ย่อมทำทัททรบรรพตให้บันลือสนั่นยิ่งนัก ราชสีห์ทั้งหลาย ย่อมไม่อาจ บันลือโต้ตอบมันได้ นั่นเรียกว่า สัตว์อะไร? [๑๙๔] ลูกเอ๋ย นั่นคือสุนัขจิ้งจอก เป็นสัตว์เลวทรามต่ำช้ากว่ามฤคชาติทั้งหลาย มันหอนอยู่ ราชสีห์ทั้งหลายรังเกียจชาติของมัน จึงได้พากันนิ่งเฉยเสีย.
จบ ทัททรชาดกที่ ๒.
๓. มักกฏชาดก
ว่าด้วยลิง
[๑๙๕] คุณพ่อครับ มาณพนั่นมายืนพิงต้นตาลอยู่ อนึ่ง เรือนของเรานี้ก็มีอยู่ ถ้ากระไร เราจะให้เรือนแก่มาณพนั้น. [๑๙๖] ลูกเอ๋ย เจ้าอย่าเรียกมันมาเลย มันเข้ามาแล้ว จะพึงประทุษร้ายเรือน ของเรา หน้าของพราหมณ์ผู้มีศีลบริสุทธิ์ หาเป็นเช่นนี้ไม่.
จบ มักกฏชาดกที่ ๓.
๔. ทุพภิยมักกฏชาดก
ว่าด้วยการคบคนชั่ว
[๑๙๗] เราได้ให้น้ำเป็นอันมากแก่เจ้า ผู้ถูกความร้อนแผดเผา หิวกระหายอยู่ บัดนี้ เจ้าได้ดื่มน้ำแล้ว ยังหลอกล้อเปล่งเสียงว่า กิกิ อยู่ได้ การคบหา กับคนชั่ว ไม่ประเสริฐเลย. [๑๙๘] ท่านได้ยิน หรือได้เห็นมาบ้างหรือว่า ลิงตัวไหนชื่อว่า เป็นสัตว์มีศีล เราจะถ่ายอุจจาระรดศีรษะท่านเดี๋ยวนี้แล้วจึงจะไป นี่เป็นธรรมดาของ พวกเรา.
จบ ทุพภิยมักกฏชาดกที่ ๔.
๕. อาทิจจุปัฏฐานชาดก
ว่าด้วยลิงไหว้พระอาทิตย์
[๑๙๙] ได้ยินว่า ในบรรดาสัตว์ทั้งปวง สัตว์ผู้ตั้งมั่นอยู่ในศีลมีอยู่ ท่านจง ดูลิงผู้ลามก ยืนไหว้พระอาทิตย์อยู่เถิด. [๒๐๐] ท่านทั้งหลาย ไม่รู้จักปกติของมัน เพราะเหตุไม่รู้จึงได้พากันสรรเสริญ ลิงตัวนี้มันเผาโรงไฟเสีย และทุบต่อยคณโฑน้ำเสียสองใบ.
จบ อาทิจจุปัฏฐานชาดกที่ ๕.

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ บรรทัดที่ ๑-๑๒๕๙ หน้าที่ ๑-๖๓. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=27&A=1&Z=1259&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=27&item=1&items=2549              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=27&item=1&items=2549&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=27&item=1&items=2549              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=27&item=1&items=2549              ศึกษาอรรถกถาชาดกนี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=1              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ https://84000.org/tipitaka/read/?index_27 https://84000.org/tipitaka/english/?index_27

แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]