ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๐ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒
๔. กุณาลชาดก
ว่าด้วยนางนกดุเหว่า
[๒๙๖] เล่ากันมาอย่างนี้ ได้ยินมาอย่างนี้ ดูกรท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ที่ภูเขา หิมพานต์ อันทรงไว้ซึ่งแผ่นดินซึ่งมีโอสถทุกชนิด ดาดาษไปด้วยดอกไม้และของหอมมากมาย หลายพันธุ์ เป็นที่สัญจรไปมาแห่งช้าง โค กระบือ กวางทอง จามรี เนื้อฟาน แรด ระมาด ราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง หมี หมาไน เสือดาว นาค ชะมด เสือปลา กระต่าย และ วัวกระทิง เป็นที่อยู่อาศัยแห่งหมู่ช้างใหญ่ ช้างตระกูลอันประเสริฐ เกลื่อนกล่นอยู่ทั่วปริมณฑล อันราบเรียบ มีค่าง ลิง อีเห็น ละมั่ง เนื้อสมัน เนื้อฟาน ม้า และลา กินนร ยักษ์ และรากษส อยู่อาศัย ดาดาษไปด้วยหมู่ไม้นับไม่ถ้วน ทรงไว้ซึ่งดอกตูมและก้าน มีดอกบานตลอดปลาย มี นกเขา นกโพระโดก นกหัสดีลิงค์ นกยูง นกพิราบ นกพริก นกกระจาบ นกยาง นกแขก เต้า และนกการะเวก ส่งเสียงร้องกึกก้องไพเราะ เป็นประเทศที่ประดับไปด้วยแร่ธาตุหลายร้อย ชนิดเป็นต้นว่า อัญชัน มโนศิลา หรดาล มหาหิงค์ ทอง เงินและทองคำ เป็นไพรสัณฑ์อัน น่ารื่นรมย์เห็นปานนี้ มีนกดุเหว่าชื่อกุณาละ มีตัว ปีกและขนงดงามยิ่งนัก อาศัยอยู่ และนก ดุเหว่าชื่อกุณาละนั้น มีนางนกดุเหว่าเป็นนางบำเรอประมาณ ๓๕๐๐ ตัว นางนกดุเหว่าสองตัวเอา ปากคาบท่อนไม้ให้นกดุเหว่าชื่อกุณาละนั้น จับตรงกลางแล้วพากันบินไป ด้วยความประสงค์ว่า นกดุเหว่ากุณาละนั้น อย่าได้มีความเหน็ดเหนื่อยในหนทางไกลเลย นางนกดุเหว่า ๕๐๐ ตัว บิน ไปเบื้องต่ำด้วยความประสงค์ว่า ถ้านกกุณาละนี้จะตกจากคอน พวกเราจะเอาปีกรับไว้ นางนก ดุเหว่าอีก ๕๐๐ ตัว บินไปข้างบนด้วยความประสงค์ว่า แดดอย่าได้ส่งถูกนกกุณาละเลย นาง นกดุเหว่าบินไปโดยข้างทั้งสองข้างละ ๕๐๐ ตัว ด้วยความประสงค์ว่า ความหนาว ความร้อน หญ้า ละออง ลม หรือน้ำค้าง อย่าได้ถูกนกกุณาละนี้เลย นางนกดุเหว่าอีก ๕๐๐ ตัว บินไป ข้างหน้าด้วยความประสงค์ว่า คนเลี้ยงโค คนเลี้ยงปศุสัตว์ คนเกี่ยวหญ้า คนหาฟืน หรือคนทำ การงานในป่า อย่าได้ขว้างปานกกุณาละนั้นด้วยท่อนไม้ กระเบื้อง ก้อนหิน ก้อนดิน กระบอง ศาตรา หรือก้อนกรวดเลย นกกุณาละนี้อย่าได้กระทบด้วยกอไม้ เครือเถา ต้นไม้ กิ่งไม้ เสา หิน หรือพวกนกที่มีกำลังกว่าเลย นางนกดุเหว่าอีก ๕๐๐ ตัวบินไปข้างหลังเจรจาด้วยถ้อยคำอัน เกลี้ยงเกลา อ่อนหวาน ไพเราะจับใจ ด้วยความประสงค์ว่า นกกุณาละนี้ อย่าได้เงียบเหงาอยู่ บนคอนนี้เลย นางนกดุเหว่าอีก ๕๐๐ ตัว บินไปยังทิศานุทิศ นำผลไม้นานาชนิดจากต้นไม้ ต่างๆ มาให้ด้วยความประสงค์ว่า นกกุณาละนี้อย่าได้ลำบากเพราะความหิวเลย ได้ยินว่า นาง นกดุเหว่าเหล่านั้นพานกกุณาละนั้นจากป่านี้ไปสู่ป่าโน้น จากสวนนี้ไปสู่สวนโน้น จากท่าน้ำนี้ ไปสู่ท่าน้ำโน้น จากยอดเขานี้ไปสู่ยอดเขาโน้น จากสวนมะม่วงนี้ไปสู่สวนมะม่วงโน้น จาก สวนชมพู่นี้ไปสู่สวนชมพู่โน้น จากสวนขนุนสัมมะลอนี้ไปสู่สวนขนุนสัมมะลอโน้น จาก สวนมะพร้าวนี้ไปสู่สวนมะพร้าวโน้น โดยรวดเร็ว เพื่อต้องการให้ร่าเริง ยินดี นกกุณาละอัน นางนกดุเหว่าเหล่านั้นบำเรออยู่ทุกๆ วันอย่างนี้ ยังรุกรานอย่างนี้ว่า อีถ่อยฉิบหาย อีถ่อย ละลาย อีนางโจร อีนางนักเลง อีเผอเรอ อีใจง่าย อีไม่รู้จักคุณคน อีไปตามใจเหมือนลม. [๒๙๗] ดูกรท่านผู้เจริญ ได้ยินว่า ณ ด้านทิศบูรพาแห่งขุนเขาหิมพานต์มีแม่น้ำอันไหล มาแต่ซอกเขาอันละเอียดสุขุม มีสีเขียว ณ ภูเขาหิมพานต์อันเป็นประเทศที่น่ารื่นเริงบันเทิงใจ ด้วยกลิ่นหอม อันเกิดเดี๋ยวนั้น จากดอกอุบล ดอกปทุม ดอกโกมุท ดอกบัวขม ดอกบัวผัน ดอกจงกลณี และดอกบัวเผื่อน เป็นป่าทึบมากไปด้วยไม้ต่างๆ ชนิด คือ ไม้โกฏดำ ไม้จิก ไม้เกต ไม้ยางทราย ไม้อ้อยช้าง ต้นบุนนาค ต้นพิกุล ต้นหมากหอม ต้นประยงค์ ต้นขมิ้น ต้นสาละ ต้นสน ต้นจำปา ต้นอโศก ต้นกากะทิง ต้นหงอนไก่ ต้นราชดัด ต้นโลทนง และต้นจันทน์ เป็นราวป่าที่สล้างไปด้วยต้นกฤษณาดำ ต้นปทุม ต้นประยงค์ ต้นเทพทาโร และต้นกล้วย ทรงไว้ ซึ่งต้นรกฟ้า ต้นมวกเหล็ก ต้นปรู ต้นทราก ต้นกัณณิการ์ ต้นชบา ต้นว่านหางช้าง ต้นทองหลาง ต้นทองกวาว ต้นคัดเค้า ต้นมะลิป่า ต้นแก้ว ต้นซึกและต้นขานางอันงามยิ่งนัก และมีไม้ดอก สำหรับร้อยเป็นพวงมาลัยดาดาษไปด้วยดอกมะลิ ว่านเปราะหอม ต้นคนธา ต้นกำยาน ต้นแฝก หอม ต้นกระเบา และไม้กอ เป็นประเทศอันประดับไปด้วยลดาวัลย์ดาดาษยิ่งนัก มีหมู่หงส์ นก นางนวล นกกาน้ำ และนกเป็ดน้ำ ส่งเสียงร้องกึกก้อง เป็นที่สถิตอยู่แห่งหมู่ฤาษีสิทธิ์วิทยาธร สมณะ และดาบส เป็นประเทศที่ท่องเที่ยวไปแห่งหมู่มนุษย์ เทพยดา ยักษ์ รากษส ทานพ คนธรรพ์ กินนร และพญานาค เป็นไพรสณฑ์ที่น่ารื่นรมย์เห็นปานนี้ มีนกดุเหว่าขาวชื่อ ปุณณมุขะ มีถ้อยคำอันไพเราะยิ่งนัก มีนัยน์ตาแดงดังนัยน์ตาคนเมาสอดส่ายไปมา อาศัยอยู่ ได้ยินว่า พระยา นกปุณณมุขะนี้ มีนางนกดุเหว่าบำเรอ ๓๕๐ ตัว เล่ากันมาว่า นางนกดุเหว่า ๒ ตัว เอาปากคาบ ท่อนไม้ให้พระยานกปุณณมุขะนั้นจับตรงกลางพาบินไป ด้วยความประสงค์ว่า พระยานกปุณณ มุขะนั้นอย่าได้มีความเหน็ดเหนื่อยในหนทางไกลเลย นางนกดุเหว่า ๕๐ ตัว บินไปเบื้องต่ำด้วย ความประสงค์ว่า ถ้าพระยานกปุณณมุขะนี้จักพลาดจากคอน พวกเราจักเอาปีกทั้งสองรับไว้ นาง นกดุเหว่าอีก ๕๐ ตัว บินขึ้นไปข้างบนด้วยความประสงค์ว่า แสงแดดอย่าได้แผดเผานกดุเหว่าขาว ชื่อปุณณมุขะนั้นเลย นางนกดุเหว่าบินไปโดยข้างทั้งสองข้างละ ๕๐ ตัว ด้วยความประสงค์ว่า ความหนาว ความร้อน หญ้า ธุลี หรือน้ำค้าง อย่าได้ตกต้องนกดุเหว่าขาวชื่อปุณณะมุขะนั้นเลย นางนกดุเหว่าอีก ๕๐ ตัว บินขึ้นไปข้างหน้าด้วยความประสงค์ว่า คนเลี้ยงโค คนเลี้ยงปศุสัตว์ คนเกี่ยวหญ้า คนหาฟืน หรือคนทำงานในป่า อย่าได้ขว้างปานกดุเหว่าขาวชื่อปุณณมุขะนั้นด้วย ท่อนไม้ กระเบื้อง ก้อนหิน ก้อนดิน ไม้ค้อน ศาตรา หรือก้อนกรวดเลย และนกดุเหว่า ขาวชื่อปุณณมุขะนี้ อย่าได้กระทบกับกอไม้ เถาวัลย์ ต้นไม้ กิ่งไม้ เสา หิน หรือกับนก ที่มีกำลังมากกว่าเลย นางนกดุเหว่าอีก ๕๐ ตัว บินไปข้างหลังเจรจาด้วยวาจาอันเกลี้ยงเกลา อ่อนหวาน ไพเราะจับใจ ด้วยความประสงค์ว่า นกดุเหว่าขาวชื่อปุณณะมุขะนี้อย่าเงียบเหงา บนคอนเลย นางนกดุเหว่าอีก ๕๐ ตัว บินไปยังทิศานุทิศ นำเอาผลไม้นานาชนิดจากต้นไม้ ต่างๆ มาให้ด้วยความประสงค์ว่า นกดุเหว่าชื่อปุณณมุขะนี้ อย่าได้ลำบากเพราะความหิวเลย ได้ยินว่า นางนกดุเหว่าเหล่านั้น พานกดุเหว่าขาวชื่อปุณณมุขะนั้น จากป่านี้ไปสู่ป่าโน้น จาก สวนนี้ไปสู่สวนโน้น จากท่าน้ำนี้ไปสู่ท่าน้ำโน้น จากยอดเขานี้ไปสู่ยอดเขาโน้น จากสวน มะม่วงนี้ไปสู่สวนมะม่วงโน้น จากสวนชมพู่นี้ไปสู่สวนชมพู่โน้น จากสวนขนุนสัมมะลอนี้ ไปสู่สวนขนุนสัมมะลอโน้น จากสวนมะพร้าวนี้ไปสู่สวนมะพร้าวโน้น โดยรวดเร็ว เพื่อต้อง การให้ร่าเริง ได้ยินว่า นกดุเหว่าขาวชื่อปุณณมุขะ อันนางนกดุเหว่าเหล่านั้นบำเรออยู่ทุกวัน ๆ ย่อมสรรเสริญอย่างนี้ว่า ดีละๆ น้องหญิงทั้งหลาย การที่เธอทั้งหลายบำรุงบำเรอสามีอย่างนี้ สมควรแก่เธอทั้งหลายผู้เป็นกุลธิดา. [๒๙๘] ได้ยินว่า ในกาลต่อมา นกดุเหว่าขาวชื่อปุณณมุขะได้เข้าไปหาพระยานกกุณาละ ถึงที่อยู่ พวกนางนกดุเหว่าบริจาริกาของพระยานกกุณาละ ได้เห็นพระยานกปุณณมุขะนั้นกำลัง บินมาแต่ไกล จึงพากันเข้าไปหา แล้วพูดกะพระยานกปุณณมุขะนั้นว่า ดูกรสหายปุณณมุขะ พระ ยานกกุณาละนี้ เป็นนกหยาบช้า มีวาจาหยาบคายเหลือเกิน แม้ไฉน พวกเราจะพึงได้วาจาอันน่ารัก เพราะอาศัยท่านบ้าง พระยานกปุณณมุขะจึงตอบว่า บางทีจะได้กระมังน้องหญิงทั้งหลาย แล้ว เข้าไปหาพระยานกกุมาละกล่าวสัมโมทนียกถากับพระยานกกุณาละแล้ว สถิตอยู่ ณ ที่ควรส่วน ข้างหนึ่ง ครั้นแล้วพระยานกปุณณมุขะได้กล่าวกะพระยานกกุณาละว่า ดูกรสหายกุณาละ เพราะ เหตุไร ท่านจึงปฏิบัติผิดต่อนางนกทั้งหลายผู้มีชาติเสมอกัน เป็นลูกของผู้มีสกุล ซึ่งปฏิบัติดีต่อท่าน เล่า ดูกรสหายกุณาละ นางนกทั้งหลายถึงเขาจะไม่พูดไม่ถูกใจ เราก็ควรจะพูดให้ถูกใจ จะป่วย กล่าวไปไยถึงนางนกที่พูดถูกใจเล่า เมื่อพระยานกปุณณมุขะกล่าวอย่างนี้แล้ว พระยานกกุณาละ ได้รุกรานพระยานกปุณณมุขะอย่างนี้ว่า แนะสหายลามกชั่วถ่อย เจ้าฉิบหาย เจ้าละลาย ใครจะเป็นผู้ฉลาดด้วยการชนะเมียยิ่งไปกว่าเจ้า ก็แหละพระยานกปุณณมุขะถูกรุกรานอย่างนี้แล้ว ก็กลับไปเสียจากที่นั้น. [๒๙๙] ได้ยินว่า สมัยต่อมา โดยกาลล่วงไปไม่นานนัก อาพาธอันแรงกล้าเกิดขึ้นแก่ พระยานกปุณณมุขะ คือ ลงเป็นโลหิต เกิดเวทนากล้าแข็ง จวนจะตาย ครั้งนั้น พวกนางนก ดุเหว่า ผู้เป็นบริจาริกาของพระยานกปุณณมุขะ เกิดความปริวิตกว่า พระยานกปุณณมุขะนี้ อาพาธ หนักนักแล ไฉนจะพึงหายจากอาพาธนี้หนอ นางนกดุเหว่าเหล่านั้น ละทิ้งพระยานกปุณณ- *มุขะไว้แต่ผู้เดียว ไม่มีเพื่อนสอง พากันเข้าไปหาพระยานกกุณาละ พระยานกกุณาละได้เห็นนาง นกดุเหว่าเหล่านั้นพากันมาแต่ไกล ครั้นแล้วได้กล่าวกะนางนกดุเหว่าเหล่านั้นว่า พวกอีถ่อย ผัวของ เจ้าไปไหนเสียเล่า นางนกดุเหว่าเหล่านั้นจึงตอบว่า ท่านสหายกุณาละ พระยานกปุณณมุขะ อาพาธหนักนักแล ไฉนจะพึงหายจากอาพาธหนักนั้น เมื่อนางนกดุเหว่าเหล่านั้นกล่าวอย่างนี้ แล้ว พระยานกกุณาละได้รุกรานนางนกดุเหว่าเหล่านั้นอย่างนี้ว่า อีถ่อยฉิบหาย อีถ่อยละลาย อีนางโจร อีนางนักเลง อีเผลอเลอ อีใจง่าย อีไม่รู้จักคุณคน อีไปตามใจเหมือนลม ครั้น กล่าวรุกรานแล้ว ได้เข้าไปหาพระยานกปุณณมุขะ แล้วร้องเรียกว่า เฮ้ยสหายปุณณมุขะ พระยานกปุณณมุขะขานรับว่า หาสหายกุณาละ ได้ยินว่า พระยานกกุณาละเข้าไปประคบ ประหงมพระยานกปุณณมุขะด้วยปีกและจะงอยปาก พอให้ลุกขึ้นได้แล้วให้ดื่มยาต่างๆ อาพาธ ของพระยานกปุณณมุขะก็สงบระงับ. [๓๐๐] ได้ยินว่า พระยานกกุณาละได้กล่าวกะพระยานกปุณณมุขะผู้หายจากไข้ยังไม่ นานนักว่า ดูกรสหายปุณณมุขะ เราเห็นมาแล้ว นางกัณหาสองพ่อ นางมีผัว ๕ คน ยังมีจิต ปฏิพัทธ์ในบุรุษคนที่ ๖ ซึ่งเป็นคนเปลี้ย เหมือนตัวกระพันธ์. และในเรื่องนี้มีคำเป็นคาถาอีกส่วนหนึ่งว่า ครั้งนั้น นางคนหนึ่งล่วงละเมิดสามี ๕ คน คือ พระเจ้าอัชชุนะ พระเจ้า นกุละ พระเจ้าภีมเสน พระเจ้ายุธิษฐิล และพระเจ้าสหเทพ แล้วได้ กระทำลามกกับบุรุษเปลี้ยแคระ. ดูกรสหายปุณณมุขะ เราเห็นมาแล้ว นางสมณีชื่อปัญจตปาวี อยู่ในท่ามกลางป่าช้า อดอาหาร ๔ วันจึงบริโภคครั้งหนึ่ง ได้กระทำกรรมอันลามกกับนักเลงสุรา ดูกรสหายปุณณมุขะ เราเห็นมาแล้ว นางเทวีนามว่า กากวดี อยู่ในท่ามกลางสมุทร เป็นภรรยาของพระยาครุฑชื่อว่า ท้าวเวนไตรย ได้กระทำกรรมอันลามกกับกุเวรผู้เจนจบในการฟ้อน ดูกรสหายปุณณมุขะ เรา เห็นมาแล้ว นางขนงามนามว่า กุรุงคเทวี รักใคร่ได้เสียกับเอฬกกุมาร ได้กระทำกรรมอัน ลามกกับฉฬังคกุมารเสนาบดี และธนันเตวาสีผู้เป็นคนใช้ของฉฬังคกุมาร เป็นความจริง เราได้ รู้มาอย่างนี้แล พระมารดาของพระเจ้าพรหมทัตต์ ทรงทอดทิ้งพระเจ้าโกศลราช ได้ทรงกระทำ กรรมอันลามกกับพราหมณ์ชื่อปัญจาลจัณฑะ หญิง ๕ คนนี้ก็ดี หญิงอื่นก็ดี ได้กระทำมาแล้วซึ่งกรรมอันลามก เพราะเหตุนั้น เราจึงไม่วิสาสะ ไม่สรรเสริญหญิงทั้งหลาย มหาปฐพี อันทรงไว้ซึ่งสรรพสัตว์ ย้อมแล้วเสมอกัน เป็นที่รับรองสิ่งดีและสิ่งชั่ว ทนทานได้หมด ไม่ดิ้นรน ไม่หวั่นไหว ฉันใด หญิงทั้งหลายก็เหมือนกัน นรชนจึงไม่ควรวิสาสะกับหญิงเหล่านี้ ราชสีห์ซึ่งเป็นสัตว์ดุร้าย กิน เนื้อและเลือดเป็นอาหารมีอาวุธ ๕ อย่าง เป็นสัตว์หยาบช้า ยินดีในการ เบียดเบียนสัตว์อื่น ข่มขี่สัตว์ทั้งหลายกิน ฉันใด หญิงทั้งหลายก็ฉันนั้น นรชนจึงไม่ควรวิสาสะกับหญิงเหล่านั้น. ดูกรปุณณมุขะ ได้ยินว่า หญิงทั้งหลายไม่ใช่แพศยา ไม่ใช่นางงาม ไม่ใช่หญิงสัญจร ชื่อทั้ง ๓ นี้ ไม่ใช่ชื่อโดยกำเนิด ชื่อโดยกำเนิดว่าแพศยา ว่านางงาม ว่าหญิงสัญจร ก็คือเป็น ผู้ฆ่าหญิงทั้งหลายมุ่นมวยผมเหมือนพวกโจร ประทุษร้ายเป็นพิษเหมือนสุราเจือยาพิษ พูดโอ้อวด เหมือนคนขายของ ตลบตะแลงพลิกแพลงเหมือนเขาเนื้อ สองลิ้นเหมือนงู ปกปิดเหมือน หลุมคูถที่ปิดด้วยกระดาน ให้เต็มได้ยากเหมือนไฟ ให้ยินดีได้ยากเหมือนรากษส นำไปโดย ส่วนเดียวเหมือนพระยายม กินทุกอย่างเหมือนไฟ พัดพาไปทุกอย่างเหมือนแม่น้ำ ประพฤติตาม ปรารถนาเหมือนลม ไม่ทำอะไรให้วิเศษเหมือนเขาเมรุมาศ ผลิตผลเป็นนิตย์เหมือนต้นไม้มีพิษ. และในเรื่องนี้มีคำกล่าวเป็นคาถาไว้อีกส่วนหนึ่งว่า หญิงทั้งหลายมุ่นมวยผมเหมือนโจร ประทุษร้ายเหมือนสุราเจือยาพิษ พูดโอ้อวดเหมือนคนขายของ ตลบตะแลงพลิกแพลงเหมือนเขาเนื้อ สองลิ้นเหมือนงู ปกปิดเหมือนหลุมคูถที่ปิดด้วยกระดาน ให้เต็มได้ยาก เหมือนไฟ ให้ยินดีได้ยากเหมือนรากษส นำไปส่วนเดียวเหมือน พระยายม กินทุกอย่างเหมือนไฟ พัดพาไปทุกอย่างเหมือนแม่น้ำ ประพฤติตามปรารถนาเหมือนลม ไม่ทำอะไรให้วิเศษเหมือนเขาเมรุมาศ ผลิตผลเป็นนิตย์เหมือนต้นไม้มีพิษ หญิงทั้งหลายเป็นผู้กำสัตว์ไว้ในมือ จนนับไม่ถ้วน ทำโภคสมบัติในเรือนให้พินาศ. [๓๐๑] ดูกรปุณณมุขะ ทรัพย์ ๔ อย่างนี้ คือ โคผู้ โคนม ยาน ภรรยา ไม่ควร ให้อยู่ในสกุลอื่น บัณฑิตไม่พึงรักษาทรัพย์ ๔ อย่างนี้ให้อยู่พลาดจากเรือน. คนฉลาดย่อมไม่ฝากทรัพย์ ๔ อย่างนี้ คือ โคผู้ ๑ โคนม ๑ ยาน พาหนะ ๑ ภรรยา ๑ ไว้ในตระกูลญาติ เพราะว่า คนที่ไม่มียานพาหนะ ย่อมใช้รถที่ฝากไว้ ย่อมฆ่าโคผู้เสีย เพราะใช้ลากเข็นเกินกำลัง ย่อม ฆ่าลูกโคเพราะรีดนม ภรรยาย่อมประทุษร้ายในตระกูลญาติ. [๓๐๒] ดูกรสหายปุณณมุขะ สิ่งของ ๖ อย่างนี้ เมื่อกิจธุระเกิดขึ้น ใช้ประโยชน์อะไร ไม่ได้ คือ ธนูไม่มีสาย ๑ ภรรยาอยู่ในตระกูลญาติ ๑ เรือที่ฝั่งโน้น ๑ ยาน พาหนะที่เพลาหัก ๑ มิตรอยู่ไกล ๑ สหายลามก ๑ สิ่งของทั้ง ๖ นี้ เมื่อกิจธุระเกิดขึ้น ใช้ประโยชน์ไม่ได้. [๓๐๓] ดูกรสหายปุณณมุขะ หญิงย่อมดูหมิ่นสามีเพราะเหตุการ ๘ ประการ คือ เพราะสามีเป็นคนจน ๑ เพราะสามีเจ็บกระเสาะกระแสะ ๑ เพราะสามีเป็นคนแก่ ๑ เพราะสามีเป็นนักเลงสุรา ๑ เพราะสามีเป็นคนโง่ ๑ เพราะสามีเป็นคนมัวเมา ๑ เพราะคล้อย ตามในกิจทุกอย่าง ๑ เพราะไม่ก่อให้ทรัพย์ทุกอย่างเกิดขึ้น ๑ ดูกรสหายปุณณมุขะ ได้ยินว่า หญิงย่อมดูหมิ่นสามีด้วยเหตุ ๘ ประการนี้. และในเรื่องนี้มีถ้อยคำเป็นคาถาอีกส่วนหนึ่งว่า หญิงย่อมดูหมิ่นสามีด้วยเหตุ ๘ ประการ คือ ความจน ๑ เจ็บ กระเสาะกระแสะ ๑ เป็นคนแก่ ๑ เป็นนักเลงสุรา ๑ เป็นคนโง่ ๑ เป็นคนมัวเมา ๑ คล้อยตามในกิจทุกอย่าง ๑ ไม่ก่อสิ่งปรารถนาทุกอย่าง ให้เกิดขึ้น ๑. [๓๐๔] ดูกรสหายปุณณมุขะ หญิงย่อมนำความประทุษร้ายมาให้สามีด้วยเหตุ ๙ ประการ คือ หญิงเป็นคนมักไปป่า ๑ มักไปสวน ๑ มักไปท่าน้ำ ๑ มักไปหาตระกูลญาติ ๑ มักไปหา ตระกูลอื่น ๑ มักชอบใช้กระจกและชอบประดับประดา ๑ มักดื่มน้ำเมา ๑ มักเยี่ยมมอง หน้าต่าง ๑ มักยืนแอบประตู ๑ ดูกรสหายปุณณมุขะ ได้ยินว่า หญิงย่อมนำความประทุษร้ายมา ให้สามีเพราะเหตุ ๙ ประการนี้แล. และในเรื่องนี้มีถ้อยคำกล่าวเป็นคาถาไว้อีกส่วนหนึ่งว่า หญิงย่อมนำความประทุษร้ายมาให้สามีด้วยเหตุ ๙ ประการนี้ คือ มัก ไปป่า ๑ มักไปสวน ๑ มักไปท่าน้ำ ๑ มักไปหาตระกูลญาติ ๑ มักไปหาตระกูลอื่น ๑ มักชอบใช้กระจกและชอบประดับประดา ๑ มักดื่มน้ำเมา ๑ มักเยี่ยมมองหน้าต่าง ๑ มักยืนแอบประตู ๑ [๓๐๕] ดูกรสหายปุณณมุขะ หญิงย่อมยั่วยวนชายด้วยเหตุ ๔๐ ประการคือ ดัดกายหนึ่ง ก้มตัว กรีดกราย ทำอาย แกะเล็บ เอาเท้าเหยียบกัน เอาไม้ขีดแผ่นดิน ทำกระโดดเอง ให้เด็กกระโดด เล่นเอง ให้เด็กเล่น จุมพิตเด็ก ให้เด็กจุมพิต กินเอง ให้เด็กกิน ให้ของแก่เด็ก ขอของจากเด็ก ทำตามที่เด็กกระทำ พูดเสียงสูง พูดเสียงต่ำ พูดเปิดเผย พูดกระซิบ ทำซิกซี้ด้วยการฟ้อน การขับ การประโคม ร้องไห้ กรีดกราย ด้วยการแต่งกาย ทำปึ่ง ยักเอว ส่ายผ้าที่ปิดของลับ เลิกขา ปิดขา ให้เห็นนม ให้เห็นรักแร้ ให้เห็น ท้องน้อย หลิ่วตา เลิกคิ้ว เม้มปาก แลบลิ้น ขยายผ้า กลับนุ่งผ้า สยายผม มุ่นผม ดูกรสหายปุณณมุขะ ได้ยินว่า หญิงย่อมยั่วยวนชายด้วยเหตุ ๔๐ ประการนี้แล. [๓๐๖] ดูกรสหายปุณณมุขะ พึงทราบเถิดว่า หญิงเป็นคนประทุษร้ายสามีด้วยเหตุ ๒๕ ประการ คือ ย่อมพรรณนาการไปแรมคืนของสามี ย่อมไม่ระลึกถึงสามีที่ไปแรมคืน ย่อมไม่ ยินดีกะสามีที่มาแล้ว ย่อมกล่าวโทษสามี ไม่กล่าวคุณแห่งสามี ย่อมประพฤติสิ่งที่ไม่เป็น ประโยชน์แก่สามี ย่อมไม่ประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่สามี ย่อมกระทำกิจที่ไม่สมควรแก่สามี ย่อมไม่กระทำกิจที่สมควรแก่สามี ย่อมคลุมหัวนอน นอนเบือนหน้าไปทางอื่น ย่อมนอนพลิก กลับไปมา ย่อมทำวุ่นวายนอนถอนหายใจยาว ย่อมทำระทมทุกข์ ย่อมไปอุจจาระ ปัสสาวะบ่อยๆ ย่อมประพฤติตรงกันข้าม ได้ยินเสียงชายอื่นย่อมเงี่ยหูฟัง ย่อมล้างผลาญทรัพย์สมบัติ ย่อมทอด สนิทชิดชอบกับชายผู้คุ้นเคย ย่อมออกนอกบ้านเสมอ ประพฤติผิดจากความดี ย่อมประพฤติ นอกใจไม่เคารพในสามี มีใจประทุษร้าย ย่อมยืนอยู่ที่ประตูเนืองๆ ย่อมทำให้เห็นรักแร้ นม ย่อม ไปเพ่งดูทิศต่างๆ ดูกรสหายปุณณมุขะ พึงทราบเถิดว่า หญิงเป็นคนประทุษร้ายสามีด้วยเหตุ ๒๕ ประการนี้แล. และในเรื่องนี้มีคำกล่าวเป็นคาถาอีกส่วนหนึ่งว่า หญิงย่อมพรรณนาการไปแรมทางไกลของสามี ย่อมไม่เศร้าโศกถึงการไป ของสามี ครั้นเห็นสามีกลับมาก็ไม่แสดงความยินดี ย่อมไม่กล่าวคุณ แห่งสามีในกาลไหนๆ อาการเหล่านี้เป็นลักษณะของหญิงผู้ประทุษร้าย หญิงผู้ไม่สำรวม ย่อมประพฤติสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่สามี ย่อมทำ ประโยชน์ของสามีให้เสื่อม ย่อมกระทำกิจที่ไม่สมควรแก่สามี ย่อมคลุม หัวนอน นอนเบือนหน้าไปทางอื่น อาการเหล่านี้เป็นลักษณะของหญิง ผู้ประทุษร้าย หญิงย่อมนอนพลิกกลับไปมา ย่อมทำวุ่นวาย นอนถอน หายใจยาว ย่อมทำระทมทุกข์ ย่อมไปอุจจาระปัสสาวะบ่อยๆ อาการ เหล่านี้เป็นลักษณะของหญิงผู้ประทุษร้าย หญิงย่อมประพฤติตรงกันข้าม ไม่กระทำกิจที่สมควรแก่สามี ย่อมเงี่ยหูฟังเมื่อชายอื่นพูด ล้างผลาญ โภคสมบัติ กระทำความสนิทสนมชมชอบกับชายอื่น อาการเหล่านี้ เป็นลักษณะของหญิงผู้ประทุษร้าย หญิงย่อมทำทรัพย์สมบัติที่สามีได้มา โดยความลำบาก หามาได้โดยฝืดเคือง เก็บสะสมไว้ได้ด้วยความยาก แค้นให้พินาศ อนึ่ง ย่อมกระทำความสนิทสนมชมชอบกับชายที่คุ้นเคย กัน อาการเหล่านี้เป็นลักษณะของหญิงผู้ประทุษร้าย หญิงออกนอกบ้าน เสมอ ประพฤติผิดจากความดี มีใจคิดประทุษร้ายในสามีอยู่เป็นนิตย์ เป็นผู้ประพฤตินอกใจ ปราศจากความเคารพ อาการเหล่านี้เป็นลักษณะ ของหญิงผู้ประทุษร้าย หญิงย่อมยืนอยู่ที่ใกล้ประตูเนืองๆ แสดงนมบ้าง รักแร้บ้างให้เห็น มีจิตวอกแวกเพ่งดูทิศต่างๆ อาการเหล่านี้เป็นลักษณะ ของหญิงผู้ประทุษร้าย แม่น้ำทั้งปวงมีทางคดเคี้ยว และป่าทั้งปวงรกเรี้ยว ด้วยต้นไม้ ฉันใด หญิงทั้งปวงเมื่อได้ช่อง (ที่ลับ) พึงกระทำกรรมอัน ลามกฉันนั้น ถ้าว่าพึงได้โอกาส ที่ลับ หรือพึงได้ช่องเช่นนั้น หญิง ทั้งปวงพึงกระทำกรรมอันลามกเป็นแน่ ไม่ได้ชายที่สมบูรณ์อื่น ก็ย่อม ทำกับคนเปลี้ย ในพวกนารีที่หลายใจ เป็นผู้กระทำความยั่วยวนแก่ชาย ทั้งหลาย ไม่มีใครข่มขี่ได้ ถ้านารีเหล่าใดแม้จะทำให้พอใจโดยประการ ทั้งปวง ก็ไม่ควรวางใจในนารีเหล่านั้น เพราะว่า นารีเหล่านั้นเสมอด้วย ท่าน้ำ. [๓๐๗] บัณฑิตได้เห็นเรื่องอย่างไร ของพระเจ้ากินนรและพระนางกินนรีเทวี แล้วพึงรู้เถิดว่า หญิงทั้งปวงย่อมไม่ยินดีในเรือนของตน พระนาง กินนรีเทวีทรงเห็นบุรุษอื่น แม้จะเป็นคนง่อยเปลี้ย ยังละทิ้งพระราช- สวามีเช่นพระเจ้ากินนร ไปทำกรรมอันลามกกับบุรุษเปลี้ยนั้นได้. [๓๐๘] พระเจ้าพกะและพระเจ้าพาวรีย์ ทรงหมกมุ่นอยู่ในกามเกินส่วน พระ มเหสียังประพฤติอนาจารกับคนรับใช้ใกล้ชิด ซ้ำตกอยู่ในอำนาจ พึงมีหรือที่ หญิงจะไม่ประพฤติล่วงชายอื่น นอกจากคนนั้น. [๓๐๙] พระนางปิงคิยานีพระนางมเหสีที่รักของพระเจ้าพรหมทัตผู้เป็นใหญ่ในโลก ทั้งปวง ได้ประพฤติอนาจารกับคนเลี้ยงม้าผู้ใกล้ชิดและเป็นไปในอำนาจ พระนางปิงคิยานีผู้ใคร่กามนั้น ไม่ได้ประสบความใคร่ทั้งสองราย. [๓๑๐] บุรุษผู้ไม่ถูกผีสิง ไม่ควรเชื่อหญิงทั้งหลายผู้หยาบช้า ใจเบา อกตัญญู ประทุษร้ายมิตร หญิงเหล่านั้นไม่รู้จักสิ่งที่กระทำแล้ว สิ่งที่ควรกระทำ ไม่รู้จักมารดาบิดาหรือพี่น้อง ไม่มีละอาย ล่วงเสียซึ่งธรรม ย่อมเป็น ไปตามอำนาจจิตของตนเมื่อมีอันตราย และเมื่อกิจเกิดขึ้น ย่อมละทิ้ง สามีแม้จะอยู่ด้วยกันมานาน เป็นที่รัก เป็นที่พอใจ เป็นที่อนุเคราะห์ แม้เสมอกับชีวิต เพราะเหตุนั้น เราจึงไม่วิสาสะกับหญิงทั้งหลาย จริง อยู่ จิตของหญิงเหมือนจิตของวานร ลุ่มๆ ดอนๆ เหมือนเงาไม้ หัวใจของหญิงไหวไปไหวมา เหมือนล้อรถที่กำลังหมุน เมื่อใด หญิง ทั้งหลายผู้มุ่งหวัง เห็นทรัพย์ของบุรุษที่ควรจะถือเอาได้ เมื่อนั้น ก็ใช้ วาจาอ่อนหวานชักนำบุรุษไปได้ เหมือนชาวกัมโพชลวงม้าด้วยสาหร่าย ฉะนั้น เมื่อใด หญิงทั้งหลายผู้มุ่งหวัง ไม่เห็นทรัพย์ของบุรุษที่ควรถือ เอาได้ เมื่อนั้น ย่อมละทิ้งบุรุษนั้นไป เหมือนคนข้ามฟากถึงฝั่งโน้นแล้ว ละทิ้งแพไป ฉะนั้น หญิงทั้งหลายเปรียบด้วยเครื่องผูกรัด กินทุกอย่าง เหมือนเปลวไฟ มีมายากล้าแข็ง เหมือนแม่น้ำมีกระแสเชี่ยว ย่อมคบ บุรุษได้ ทั้งที่น่ารัก ทั้งที่ไม่น่ารัก เหมือนเรือจอดไม่เลือกฝั่งนี้ฝั่งโน้น ฉะนั้น หญิงทั้งหลายไม่ใช่ของบุรุษคนเดียวหรือสองคน ย่อมรับรองทั่ว ไปเหมือนร้านตลาด ผู้ใดสำคัญมั่นหมายหญิงเหล่านั้นว่าของเรา ก็ เท่ากับดักลมด้วยตาข่าย แม่น้ำ หนทาง ร้านเหล้า สภาและบ่อน้ำ ฉันใด หญิงในโลกก็ฉันนั้น เขตแดนของหญิงเหล่านั้นไม่มี หญิงทั้ง หลายเสมอด้วยไฟกินเปรียง เปรียบด้วยงูเห่า ย่อมเลือกคบแต่บุรุษที่ มีทรัพย์ เหมือนโคเลือกกินหญ้าที่ดีๆ ในภายนอก ฉะนั้น ไฟกิน เปรียง ๑ ช้างสาร ๑ งูเห่า ๑ พระราชาผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว ๑ หญิง ทั้งปวง ๑ สิ่งทั้ง ๕ นี้ นรชนพึงคบด้วยความระวังเป็นนิตย์ เพราะ สิ่งทั้ง ๕ นี้ มีความแน่นอนที่รู้ได้ยากแท้ หญิงที่งามเกินไป ๑ หญิง ที่คนหมู่มากไม่รักใคร่ ๑ หญิงที่เหมือนมือขวา ๑ หญิงที่เป็นภรรยาคน อื่น ๑ หญิงที่คบหาด้วยเพราะเหตุแห่งทรัพย์ ๑ หญิง ๕ จำพวกนี้ ไม่ ควรคบ. [๓๑๑] ได้ยินว่า ในครั้งนั้น พญาแร้งชื่ออานนท์ รู้แจ้งซึ่งคาถาทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด ของพญานกกุณาละแล้ว ได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ในเวลานั้นว่า ถ้าบุรุษจะพึงให้แผ่นดินอันเต็มด้วยทรัพย์นี้ แก่หญิงที่ตนนับถือไซร้ หญิงนั้นได้โอกาสก็จะพึงดูหมิ่นบุรุษนั้น เราจึงไม่ยอมตกอยู่ในอำนาจ ของพวกหญิงเผอเรอ เมื่อมีอันตรายและเมื่อกิจธุระเกิดขึ้น หญิงย่อม ละทิ้งผัวหนุ่มผู้หมั่นขยัน มีความประพฤติไม่เหลาะแหละ เป็นที่รัก เป็นที่พอใจ เพราะฉะนั้น เราจึงไม่วิสาสะกับหญิงทั้งหลาย บุรุษไม่ ควรวางใจว่า หญิงคนนี้ปรารถนาเรา ไม่ควรวางใจว่า หญิงคนนี้ร้องไห้ กระซิกกระซี้เรา เพราะว่า หญิงทั้งหลายย่อมคบได้ทั้งบุรุษที่น่ารัก ทั้ง บุรุษที่ไม่น่ารัก เหมือนเรือจอดได้ทั้งฝั่งโน้นฝั่งนี้ ฉะนั้น ไม่ควรวิสาสะ กะใบไม้ลาดที่เก่า ไม่ควรวิสาสะกะมิตรเก่าที่เป็นโจร ไม่ควรวิสาสะกะ พระราชาว่า เป็นเพื่อนของเรา ไม่ควรวิสาสะกะหญิงแม้จะมีลูก ๑๐ คน แล้ว ไม่ควรวิสาสะในหญิงที่กระทำความยินดีให้ เป็นผู้ล่วงศีล ไม่ สำรวม ถึงแม้ภรรยาจะพึงเป็นผู้มีความรักแน่นแฟ้น ก็ไม่ควรวางใจ เพราะว่าหญิงทั้งหลายเสมอกับท่าน้ำ หญิงทั้งหลายพึงฆ่าชายก็ได้ พึงตัด เองก็ได้ พึงใช้ให้ผู้อื่นตัดก็ได้ พึงตัดคอแล้วดื่มเลือดกินก็ได้ อย่าพึง กระทำความสิเนหาในหญิงผู้มีความรักใคร่อันเลวทราม ผู้ไม่สำรวม ผู้ เปรียบเทียบด้วยท่าน้ำ คำเท็จของหญิงเหมือนคำจริง คำจริงของหญิง เหมือนคำเท็จ หญิงทั้งหลายย่อมเลือกคบแต่ชายที่มีทรัพย์ ดังโคเลือก กินหญ้าที่ดีๆ ในภายนอก หญิงทั้งหลายย่อมประเล้าประโลมชายด้วย การเดิน การจ้องดู ยิ้มแย้ม นุ่งผ้าหลุดๆ ลุ่ยๆ และพูดเพราะ หญิง ทั้งหลายเป็นโจร หัวใจแข็ง ดุร้าย เป็นน้ำตาลกรวด ย่อมไม่รู้อะไรๆ ว่าเป็นเครื่องล่อลวงในมนุษย์ธรรมดาหญิงในโลกเป็นคนลามก ไม่มีเขต แดน กำหนัดนักทุกเมื่อ และคะนอง กินไม่ควร เหมือนเปลวไฟ ไหม้เชื้อทุกอย่าง บุรุษชื่อว่าเป็นที่รักของหญิงไม่มี ไม่เป็นที่รักก็ไม่มี เพราะหญิงทั้งหลาย ย่อมคบบุรุษได้ทั้งที่รักทั้งที่ไม่รัก เหมือนเรือจอด ได้ทั้งฝั่งนี้และฝั่งโน้น บุรุษชื่อว่าเป็นที่รักของหญิงไม่มี ไม่เป็นที่รัก ก็ไม่มี หญิง ย่อมผูกพันชายเพราะต้องการทรัพย์เหมือนเถาวัลย์พันไม้ หญิงทั้งหลาย ย่อมติดตามชายที่มีทรัพย์ ถึงจะเป็นคนเลี้ยงช้าง เลี้ยงม้า เลี้ยงโค คนจัณฑาล สัปเหร่อ คนเทหยากเยื่อ ก็ช่าง หญิงทั้งหลาย ย่อมละทิ้งชายผู้มีตระกูล แต่ไม่มีอะไร เหมือนซากศพ แต่ติดตามชายเช่นนั้นได้เพราะเหตุแห่งทรัพย์. [๓๑๒] ได้ยินว่า ในครั้งนั้น พราหมณ์ผู้ประเสริฐชื่อนารทะ รู้ชัดซึ่งคาถาทั้งเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุดของพญาแร้งอานนท์แล้ว ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ ในเวลานั้นว่า ดูกรพญานก ท่านทั้งหลายจงฟังข้าพเจ้ากล่าว มหาสมุทร ๑ พราหมณ์ ๑ พระราชา ๑ หญิง ๑ สี่อย่างนี้ ย่อมไม่ เต็มแม่น้ำสายใด สายหนึ่งอาศัย แผ่นดิน ไหลไปสู่มหาสมุทร แม่น้ำเหล่านั้นก็ยังมหาสมุทรให้เต็มไม่ได้ เพราะฉะนั้นมหาสมุทรชื่อว่าไม่เต็ม เพราะยังพร่อง ส่วนพราหมณ์เรียน เวทอันมีการบอกเป็นที่ห้าได้แล้ว ยังปรารถนาการเรียนยิ่งขึ้นไปอีก เพราะฉะนั้น พราหมณ์จึงชื่อว่าไม่เต็ม เพราะยังพร่อง พระราชาทรง ชนะแผ่นดินทั้งหมด อันบริบูรณ์ด้วยรัตนะนับไม่ถ้วน พร้อมทั้ง มหาสมุทรและภูเขา ครอบครองอยู่ ก็ยังปรารถนามหาสมุทรฝั่งโน้นอีก เพราะฉะนั้น พระราชาจึงชื่อว่าไม่เต็ม เพราะยังพร่อง หญิงคนหนึ่งๆ มีสามีคนละ ๘ คน สามีล้วนเป็นคนแกล้วกล้า มีกำลังสามารถนำมาซึ่ง กามรสทุกอย่าง หญิงยังกระทำความพอใจในชายคนที่ ๙ อีก เพราะฉะนั้น หญิงจึงชื่อว่าไม่เต็ม เพราะยังพร่อง หญิงทุกคนกินทุกอย่างเหมือน เปลวไฟ พาไปได้ทุกอย่างเหมือนแม่น้ำ เหมือนกิ่งไม้มีหนาม ย่อมละ ชายไปเพราะเหตุแห่งทรัพย์ ชายใดพึงวางความรักทั้งหมดในหญิง ชาย นั้นเหมือนดักลมด้วยตาข่าย เหมือนตักน้ำใส่มหาสมุทรด้วยมือข้างเดียว จะพึงได้ยินแต่เสียงมือของตน ภาวะของหญิงที่เป็นโจร รู้มาก หาความ จริงได้ยาก เป็นอาการที่ใครๆ รู้ได้ยาก เหมือนรอยทางปลาในน้ำฉะนั้น หญิงไม่มีความพอ อ่อนโยน พูดเพราะ ให้เต็มได้ยาก เสมอแม่น้ำ ทำ ให้ล่มจม บุคคลรู้ดังนี้แล้ว พึงเว้นเสียให้ห่างไกล หญิงเป็นเหมือน น้ำวน มีมายามาก ทำพรหมจรรย์ให้กำเริบ ทำให้ล่มจม บุคคลรู้ดังนี้ แล้ว พึงเว้นเสียให้ห่างไกล เมื่อหญิงคบบุรุษใด เพราะความพอใจ หรือเพราะเหตุแห่งทรัพย์ ย่อมเผาบุรุษนั้นโดยพลัน เหมือนไฟป่าเผา สถานที่เกิดของตน ฉะนั้น. [๓๑๓] ได้ยินว่า ในครั้งนั้น พญานกกุณาละรู้แจ้งแล้ว ซึ่งเบื้องต้นท่ามกลาง และที่สุดแห่งคาถา ของนารทพราหมณ์ผู้ประเสริฐ จึงได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ในเวลานั้นว่า บัณฑิตพึงเจรจากับบุรุษผู้ถือดาบอย่างคมกล้า พึงเจรจากับปีศาจผู้ดุร้าย แม้จะพึงเข้าไปนั่งใกล้งูพิษร้าย แต่ไม่ควรเจรจากับหญิงตัวต่อตัว เพราะ ว่าหญิงเป็นผู้ย่ำยีจิตของโลก ถืออาวุธ คือ การฟ้อนรำ ขับร้องและการ เจรจา ย่อมเบียดเบียนบุรุษผู้ไม่ตั้งสติไว้ เหมือนหมู่รากษสที่เกาะเบียด เบียนพวกพ่อค้าฉะนั้น หญิงไม่มีวินัย ไม่มีสังวร ยินดีในน้ำเมาและ เนื้อสัตว์ ไม่สำรวม ผลาญทรัพย์ที่บุรุษหามาได้โดยยากให้ฉิบหาย เหมือนปลาติมิงคละกลืนกินมังกรในทะเล ฉะนั้น หญิงมีกามคุณ ๕ อัน น่ายินดี เป็นทำเลหากิน เป็นคนหยิ่ง จิตไม่เที่ยงตรง ไม่สำรวม ย่อม เข้าไปหาชายผู้ประมาทเหมือนแม่น้ำทั้งหลาย อันไหลไปสู่มหาสมุทร ฉะนั้น หญิงได้ชื่อว่าฆ่าชายด้วยราคะ และโทสะ เข้าไปหาชายคนใด เพราะความพอใจ เพราะความกำหนัด หรือเพราะต้องการทรัพย์ ย่อม เผาชายเช่นนั้นเสีย เช่นดังเปลวไฟ หญิงรู้ว่าชายมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก ย่อมเข้าไปหาชาย ยอมให้ทั้งทรัพย์และตนเอง ย่อมเกาะชายที่มีจิตถูก ราคะย้อม เหมือนเถาย่านทรายเกาะไม้สาละในป่า ฉะนั้น หญิงประดับ ร่างกายหน้าตาให้สวย เข้าไปหาชายด้วยความพอใจมีประการต่างๆ ทำ ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ ใช้มารยาตั้งร้อย เหมือนดังคนเล่นกลและอสุรินทรราหู หญิงประดับประดาด้วยทอง แก้วมณีและมุกดา ถึงจะมีคนสักการะและ รักษาไว้ในตระกูลสามี ก็ยังประพฤตินอกใจสามี ดังหญิงที่อยู่ใน ทรวงอก ประพฤตินอกใจทานพ ฉะนั้น จริงอยู่ นรชนผู้มีปัญญาเครื่อง พิจารณา แม้จะมีเดช มีมหาชนสักการะบูชา ถ้าตกอยู่ในอำนาจของ หญิงแล้ว ย่อมไม่รุ่งเรือง เหมือนพระจันทร์ ถูกราหูจับฉะนั้น โจรผู้มี จิตโกรธ คิดประทุษร้าย พึงกระทำแก่โจรอื่นซึ่งเป็นข้าศึกที่มาประจัญ หน้า ส่วนผู้ตกอยู่ในอำนาจหญิง ไม่มีอุเบกขา ย่อมเข้าถึงความ พินาศยิ่งกว่านั้นอีก หญิงถึงจะถูกชายฉุดกระชากลากผมและหยิกข่วน ด้วยเล็บ คุกคามทุบตีด้วยเท้า ด้วยมือและท่อนไม้ ก็กลับวิ่งเข้าหา เหมือนหมู่แมลงวันที่ซากศพ ฉะนั้น บุรุษผู้มีจักษุ คือปัญญา ปรารถนา ความสุขแก่ตน พึงเว้นหญิงเสียเหมือนกับบ่วงและข่ายที่ดักไว้ในสกุล ในถนนสายหนึ่ง ในราชธานี หรือในนิคม ผู้ใดสละเสียแล้วซึ่งตบะคุณ อันเป็นกุศล ประพฤติจริตอันมิใช่ของพระอริยะ ผู้นั้นต้องกลับจาก เทวโลกไปคลุกเคล้าอยู่กับนรก เหมือนพ่อค้าซื้อหม้อแตก ฉะนั้น บุรุษ ผู้ตกอยู่ในอำนาจของหญิง ย่อมถูกติเตียนทั้งในโลกนี้และโลกหน้า กรรมของตนกระทบแล้ว เป็นคนโง่เขลา ย่อมไปพลั้งๆ พลาดๆ โดย ไม่แน่นอน เหมือนรถที่เทียมด้วยลาโกง ย่อมไปผิดทาง ฉะนั้น ผู้ตกอยู่ ในอำนาจของหญิง ย่อมเข้าถึงนรกเป็นที่เผาสัตว์ให้รุ่มร้อน และนรกอัน มีป่าไม้งิ้ว มีหนามแหลมดังหอกเหล็ก แล้วมาในกำเนิดสัตว์ ดิรัจฉาน ย่อมไม่พ้นจากวิสัยเปรตและอสุรกาย หญิงย่อมทำลายความ เล่นหัว ความยินดี ความเพลิดเพลินอันเป็นทิพย์ และจักรพรรดิสมบัติ ในมนุษย์ของชายผู้ประมาทให้พินาศ และยังทำชายนั้นให้ถึงทุคติอีกด้วย ชายเหล่าใดไม่ต้องการหญิง ประพฤติพรหมจรรย์ ชายเหล่านั้นพึงได้ การเล่นหัว ความยินดีอันเป็นทิพย์ จักรพรรดิสมบัติในมนุษย์ และนาง เทพอัปสรอันอยู่ในวิมานทอง โดยไม่ยากเลย ชายเหล่าใดไม่ต้องการ หญิง ประพฤติพรหมจรรย์ ชายเหล่านั้นพึงได้คติที่ก้าวล่วงเสียซึ่ง กามธาตุ รูปธาตุ สมภพ และคติที่เข้าถึงวิสัยความปราศจากราคะ โดยไม่ยากเลย ชายเหล่าใดไม่ต้องการหญิง ประพฤติพรหมจรรย์ ชาย เหล่านั้นเป็นผู้ดับแล้ว สะอาด พึงได้นิพพานอันเกษม อันก้าวล่วงเสีย ซึ่งทุกข์ทั้งปวง ล่วงส่วน ไม่หวั่นไหว ไม่มีอะไรปรุงแต่ง โดยไม่ยาก เลย. [๓๑๔] พญานกกุณาละในครั้งนั้นเป็นเรา พญานกดุเหว่าขาวเป็นพระอุทายี พญา แร้งเป็นพระอานนท์ นารทฤาษีเป็นพระสารีบุตร บริษัททั้งหลายเป็น พุทธบริษัท เธอทั้งหลายจงทรงจำกุณาลชาดกไว้อย่างนี้แล.
จบ กุณาลชาดกที่ ๔

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ บรรทัดที่ ๑๘๙๗-๒๒๕๗ หน้าที่ ๗๕-๘๘. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=28&A=1897&Z=2257&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=28&item=296&items=19              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=28&item=296&items=19&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=28&item=296&items=19              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=28&item=296&items=19              ศึกษาอรรถกถาชาดกนี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=28&i=296              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ https://84000.org/tipitaka/read/?index_28 https://84000.org/tipitaka/english/?index_28

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]