ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๑ ขุททกนิกาย มหานิทเทส
             [๙๑๗] คำว่า เธอพึงเป็นผู้มีโคจรในศาสนานี้อย่างไร? ความว่า พระเถระ ย่อมทูลถาม
ถึงโคจรว่า ภิกษุนั้น พึงเป็นผู้ประกอบด้วยโคจรเช่นไร คือ ด้วยโคจรที่ดำรงไว้อย่างไร มีชนิด
อย่างไร มีส่วนเปรียบอย่างไร? อโคจรมีอยู่โคจรมีอยู่
ว่าด้วยอโคจร
อโคจรเป็นไฉน? ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีหญิงแพศยาเป็นโคจรบ้าง เป็นผู้ มีหญิงหม้ายเป็นโคจรบ้าง เป็นผู้มีสาวเทื้อเป็นโคจรบ้าง เป็นผู้มีบัณเทาะก์เป็นโคจรบ้าง เป็นผู้ มีภิกษุณีเป็นโคจรบ้าง เป็นผู้มีโรงสุราเป็นโคจรบ้าง อยู่คลุกคลีด้วยพวกพระราชา พวกมหา- *อำมาตย์ของพระราชา พวกเดียรถีย์ พวกสาวกของเดียรถีย์ ด้วยความคลุกคลีกับคฤหัสถ์อัน ไม่สมควร อนึ่ง สกุลบางแห่งไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใส ไม่เป็นดุจบ่อน้ำ มักด่า มักบริภาษ มุ่งความเสื่อม มุ่งสิ่งไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล มุ่งความไม่สบาย มุ่งความไม่ปลอดโปร่ง จากโยคกิเลส แก่พวกภิกษุ พวกภิกษุณี พวกอุบาสก พวกอุบาสิกา ภิกษุย่อมซ่องเสพ

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๔๕๖.

คบหา ติดต่อกับสกุลเห็นปานนั้น นี้เรียกว่าอโคจร. อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุเข้าไปสู่ละแวกบ้าน เดินไปตามถนน เป็นผู้ไม่สำรวมเดินไป คือ แลดูช้าง แลดูม้า แลดูรถ แลดูพลเดินเท้า แลดูสตรี แลดูบุรุษ แลดูกุมาร แลดูกุมารี แลดูร้านตลาด แลดูหน้ามุขเรือน แลดูข้างบน แลดูข้างล่าง แลดูทิศน้อยทิศใหญ่เดินไป แม้เช่นนี้ก็เรียกว่าอโคจร. อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุเห็น รูปด้วยจักษุแล้ว ถือนิมิต ถืออนุพยัญชนะ ย่อมไม่ปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่ สำรวมแล้ว จะพึงเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ย่อม ไม่รักษาจักขุนทรีย์ ย่อมถึงความไม่สำรวมในจักขุนทรีย์ ฯลฯ รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ถือ นิมิต ถืออนุพยัญชนะ ย่อมไม่ปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะพึงเป็น เหตุให้อกุศลธรรมอันลามกคือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ย่อมไม่รักษามนินทรีย์ ย่อม ถึงความไม่สำรวมในมนินทรีย์ แม้เช่นนี้ก็เรียกว่าอโคจร. อีกอย่างหนึ่ง เหมือนอย่างว่า ท่าน สมณพราหมณ์บางพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ขวนขวายดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่ กุศลเห็นปานนี้ คือการฟ้อน การขับ การประโคม มหรสพ มีการรำเป็นต้น การเล่านิยาย เพลงปรบมือ ฆ้อง ระนาด หนัง เพลงขอทาน ไต่ราว การเล่นหน้าศพ ชนช้าง แข่งม้า ชนกระบือ ชนโค ชนแพะ ชนแกะ ชนไก่ ชนนกกระทา รำกระบี่กระบอง ชกมวย มวย ปล้ำ การรบ การตรวจพล การจัดกระบวนทัพ กองทัพ ท่านสมณพราหมณ์บางพวก ขวนขวายดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศลเห็นปานนี้ แม้เช่นนี้ก็เรียกว่าอโคจร. แม้กามคุณ ๕ ก็ชื่อว่าอโคจร. สมจริงตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงอย่าเที่ยวไป ในแดนอื่นซึ่งเป็นอโคจร ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเที่ยวไปในแดนอื่นซึ่งเป็นอโคจร มารจักได้ช่อง ได้อารมณ์ ดูกรภิกษุทั้งหลายก็แดนอื่นซึ่งเป็นอโคจรของภิกษุ คืออะไร คือ กามคุณ ๕ กามคุณ ๕ เป็นไฉน? คือ รูปที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา พอใจ ชอบใจ รักใคร่ ประกอบด้วยกามเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด เสียงที่พึงรู้แจ้งด้วยหู กลิ่นที่พึงรู้แจ้งด้วย จมูก รสที่พึงรู้แจ้งด้วยลิ้น โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งด้วยกาย อันน่าปรารถนา พอใจ ชอบใจ รักใคร่ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เราเรียกว่าแดนอื่น เป็นอโคจรของภิกษุ. แม้เช่นนี้ก็เรียกว่าอโคจร.

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๔๕๗.

โคจรเป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไม่เป็นผู้มีหญิงแพศยาเป็นโคจร ไม่เป็นผู้มี หญิงหม้ายเป็นโคจร ไม่เป็นผู้มีสาวเทื้อเป็นโคจร ไม่เป็นผู้มีบัณเฑาะก์เป็นโคจร ไม่เป็นผู้มี ภิกษุณีเป็นโคจร ไม่เป็นผู้มีโรงสุราเป็นโคจร ไม่อยู่คลุกคลีด้วยพวกพระราชา พวกมหาอำมาตย์ ของพระราชา พวกเดียรถีย์ พวกสาวกของเดียรถีย์ ด้วยความคลุกคลีกับคฤหัสถ์อันไม่สมควร อนึ่ง สกุลบางแห่งมีศรัทธาเลื่อมใส เป็นดุจบ่อน้ำ รุ่งเรืองด้วยผ้ากาสาวพัสตร์ เป็นที่เดิน สวนกันเข้าออกแห่งภิกษุผู้แสวงหา มุ่งความเจริญ มุ่งประโยชน์เกื้อกูล มุ่งความสบาย มุ่ง ความปลอดโปร่งจากโยคกิเลส แก่พวกภิกษุ พวกภิกษุณี พวกอุบาสก พวกอุบาสิกา ภิกษุ ย่อมซ่องเสพ คบหา ติดต่อกับสกุลเห็นปานนั้น นี้เรียกว่าโคจร. อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุเข้าไปสู่ ละแวกบ้าน เดินไปตามถนน ย่อมเป็นผู้สำรวมเดินไป คือ ไม่แลดูช้าง ไม่แลดูม้า ไม่แลดู รถ ไม่แลดูพลเดินเท้า ฯลฯ ไม่แลดูทิศน้อยทิศใหญ่ แม้เช่นนี้ก็เรียกว่าโคจร. อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุเห็นรูปด้วยจักษุแล้วไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ ฯลฯ ย่อมถึงความสำรวมในมนินทรีย์ แม้เช่นนี้ก็เรียกว่าโคจร. อีกอย่างหนึ่ง เหมือนอย่างว่า ท่านสมณพราหมณ์บางพวกฉันโภชนะ ที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ไม่ขวนขวายดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศลเห็นปานนี้ คือ การฟ้อน การขับ การประโคม ฯลฯ กองทัพ ภิกษุเป็นผู้เว้นขาดจากการขวนขวายดูการเล่นอันเป็นข้าศึก แก่กุศลเห็นปานนี้ แม้เช่นนี้ก็เรียกว่าโคจร. แม้สติปัฏฐาน ๔ ก็ชื่อว่าโคจร. สมจริงตามที่พระ ผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเที่ยวไปในแดนเป็นของบิดาของตนซึ่งเป็น โคจร ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเธอทั้งหลายเที่ยวไปในแดนเป็นของบิดาของตนซึ่งเป็นโคจร มาร ย่อมไม่ได้ช่อง ไม่ได้อารมณ์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แดนเป็นของบิดาของตน ซึ่งเป็นโคจรของ ภิกษุคืออะไร คือ สติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรม วินัยนี้ ย่อมเป็นผู้พิจารณาเห็นกายในกาย มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกอยู่ เป็นผู้พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย เป็นผู้พิจารณาเห็นจิตในจิต เป็นผู้พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและ โทมนัสในโลกอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า แดนเป็นของบิดาของตนซึ่งเป็นโคจรของภิกษุ. แม้เช่นนี้ก็เรียกว่าโคจร. ภิกษุพึงเป็นผู้ประกอบด้วยโคจรเช่นนี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พึงเป็น ผู้มีโคจรในศาสนานี้อย่างไร.

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๔๕๘.

ว่าด้วยศีลและวัตร

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ บรรทัดที่ ๑๐๘๔๘-๑๐๙๐๙ หน้าที่ ๔๕๕-๔๕๘. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=29&A=10848&Z=10909&pagebreak=1 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=29&item=917&items=1&pagebreak=1&mode=bracket              อ่านโดยใช้เนื้อความเป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=29&item=917&items=1&pagebreak=1              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=29&item=917&items=1&pagebreak=1&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=29&item=917&items=1&pagebreak=1&mode=bracket              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=29&i=917              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ https://84000.org/tipitaka/read/?index_29 https://84000.org/tipitaka/english/?index_29

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]