ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๓ ภิกขุนีวิภังค์
ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๔
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา
[๑๑๐] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ- *บิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น ภิกษุณีถุลลนันทาอาพาธ มีอุบาสกคนหนึ่งเข้าไป เยี่ยมภิกษุณีถุลลนันทาถึงสำนัก แล้วได้ถามนางดังนี้ว่า ข้าแต่แม่เจ้า ท่านไม่สบายหรือ จงกรุณา ใช้ข้าพเจ้า ให้นำของสิ่งไรมาถวาย. นางตอบว่า อาวุโส ฉันต้องการเนยใส. จึงอุบาสกนั้นได้ไปนำเนยใสราคาหนึ่งกหาปณะ จากร้านของชาวตลาดคนหนึ่ง มาถวาย ภิกษุณีถุลลนันทา. นางกล่าวอย่างนี้ว่า อาวุโส ความต้องการของฉันไม่ใช่เนยใส ฉันต้องการน้ำมัน. จึงอุบาสกนั้นได้เดินกลับเข้าไปหาชาวตลาดคนนั้นแล้วบอกกะเขาดังนี้ว่า แม่เจ้าไม่ต้องการ เนยใสจ้ะ ต้องการน้ำมัน ขอท่านจงรับคืนเนยใสของท่าน โปรดให้น้ำมันแก่ข้าพเจ้า. ชาวตลาดตอบว่า นี่นาย ถ้าพวกข้าพเจ้ารับสิ่งของที่ขายไปแล้วคืนมาอีก เมื่อไรสินค้าของ พวกข้าพเจ้าจึงจักขายหมดไป เนยใสท่านซื้อไปด้วยราคาเนยใสแล้ว จงนำราคาค่าน้ำมันมา จึงจัก นำน้ำมันไปได้. อุบาสกผู้นั้นจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาขึ้นในทันใดนั้นแลว่า แม่เจ้าถุลลนันทา ออกปากขอของอย่างหนึ่งแล้ว ไฉนจึงได้ออกปากขอของอย่างอื่นอีกเล่า. ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินอุบาสกนั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่. บรรดาที่เป็นผู้มักน้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน แม่เจ้าถุลลนันทาออกปากขอของอย่างหนึ่งได้แล้ว จึงได้ ออกปากขอของอย่างอื่นอีกเล่า แล้วได้แจ้งเรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายได้กราบทูล เรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
ทรงสอบถาม
พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่าภิกษุณีถุลลนันทา ออกปากขอของอย่างหนึ่งได้แล้ว ออกปากขอของอย่างอื่นอีก จริงหรือ? ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีถุลลนันทาออกปาก ขอของอย่างหนึ่งได้แล้ว จึงได้ออกปากขอของอย่างอื่นอีกเล่า การกระทำของนางนั่น ไม่เป็นไป เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุณีทั้งหลายจงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
พระบัญญัติ
๒๙.๔. อนึ่ง ภิกษุณีใด ออกปากขอของอย่างหนึ่งได้แล้ว พึงออกปากขอของอื่น อีกอย่าง เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์.
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา จบ.
สิกขาบทวิภังค์
[๑๑๑] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ... บทว่า ภิกษุณี ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุณี เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ... นี้ชื่อว่า ภิกษุณี ที่ทรงประสงค์ในอรรถนี้. บทว่า ออกปากขอของอย่างหนึ่งได้แล้ว คือ ขอของสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้แล้ว. บทว่า พึงออกปากขอของอื่นอีกอย่าง ความว่า เว้นของอย่างใดอย่างหนึ่งที่ขอแล้วนั้น ขอของอย่างอื่นอีก เป็นทุกกฏในประโยค เป็นนิสสัคคีย์ด้วยได้ของมา ต้องเสียสละแก่สงฆ์ คณะ หรือภิกษุณีรูปหนึ่ง. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลของที่ขอได้มานั้น ภิกษุณีพึงเสียสละอย่างนี้.
วิธีเสียสละ
เสียสละแก่สงฆ์
ภิกษุณีรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ... แม่เจ้า ของอื่นอีกอย่าง สิ่งนี้ของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าขอ ของอย่างหนึ่งได้แล้ว จึงขอได้มา เป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละของอื่นอีกอย่าง สิ่งนี้แก่สงฆ์ ... สงฆ์พึงให้ของอื่นอีกอย่าง สิ่งนี้แก่ภิกษุณีมีชื่อนี้ ดังนี้.
เสียสละแก่คณะ
ภิกษุณีรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุณีหลายรูป ... แม่เจ้าทั้งหลาย พึงให้ของอื่นอีกอย่าง สิ่งนี้ แก่ภิกษุณีมีชื่อนี้ ดังนี้.
เสียสละแก่ภิกษุณีรูปหนึ่ง
ภิกษุณีรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุณีรูปหนึ่ง ... ข้าพเจ้าให้ของอื่นอีกอย่างสิ่งนี้แก่แม่เจ้า ดังนี้.
บทภาชนีย์
ติกะนิสสัคคิยปาจิตตีย์
[๑๑๒] ของอย่างหนึ่ง ภิกษุณีสำคัญว่า ของอย่างหนึ่ง ขอของอื่นอีกอย่าง เป็น นิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์. ของอย่างหนึ่ง ภิกษุณีสงสัย ขอของอื่นอีกอย่าง เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์. ของอย่างหนึ่ง ภิกษุณีสำคัญว่า มิใช่ของอย่างหนึ่ง ขอของอื่นอีกอย่าง เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
ทุกะทุกกฏ
มิใช่ของอย่างหนึ่ง ภิกษุณีสำคัญว่า ของอย่างหนึ่ง ต้องอาบัติทุกกฏ. มิใช่ของอย่างหนึ่ง ภิกษุณีสงสัย ต้องอาบัติทุกกฏ.
ไม่ต้องอาบัติ
มิใช่ของอย่างหนึ่ง ภิกษุณีสำคัญว่า มิใช่ของอย่างหนึ่ง ไม่ต้องอาบัติ.
อนาปัตติวาร
[๑๑๓] ขอของสิ่งหนึ่งนั้น และขอแถมของอื่นอีกอย่างรวมกัน ๑ แสดงอานิสงส์แล้ว ขอ ๑ วิกลจริต ๑ อาทิกัมมิกา ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.
ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๔ จบ.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓ บรรทัดที่ ๑๕๗๑-๑๖๔๐ หน้าที่ ๖๖-๖๘. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=3&A=1571&Z=1640&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=3&item=110&items=4              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=3&item=110&items=4&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=3&item=110&items=4              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=3&item=110&items=4              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=3&i=110              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓ https://84000.org/tipitaka/read/?index_3 https://84000.org/tipitaka/english/?index_3

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]