ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
 ฉบับหลวง   บาลีอักษรไทย    PaliRoman 
แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๙ สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค
พระสุตตันตปิฎก
เล่ม ๙
สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
๑. ขันธสังยุต
มูลปัณณาสก์
นกุลปิตวรรคที่ ๑
๑. นกุลปิตาสูตร
ว่าด้วยกายเปรียบด้วยฟองไข่
[๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เภสกฬาวัน (ป่าเป็นที่นางยักษ์ชื่อเภสกฬา อยู่อาศัย) อันเป็นสถานที่ให้อภัยแก่หมู่มฤค ใกล้เมืองสุงสุมารคิระในภัคคชนบท ฯลฯ ครั้งนั้นแล คฤหบดีชื่อนกุลบิดาเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์เป็นผู้แก่เฒ่า เป็นผู้ใหญ่ ล่วงกาลผ่านวัยแล้วโดยลำดับ มีกายกระสับกระส่าย เจ็บป่วยเนืองๆ พระพุทธเจ้าข้า ก็ข้าพระองค์มิได้เห็นพระผู้มีพระภาคและภิกษุทั้งหลาย ผู้ให้เจริญใจอยู่เป็นนิตย์ ขอพระผู้มี พระภาคโปรดสั่งสอนข้าพระองค์ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดพร่ำสอนข้าพระองค์ ด้วยธรรมที่เป็น ไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ข้าพระองค์ตลอดกาลนานเถิด. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า นั่น ถูกแล้วๆ คฤหบดี อันที่จริง กายนี้กระสับกระส่าย เป็นดังว่าฟองไข่ อันผิวหนังหุ้มไว้ ดูกร คฤหบดี ก็บุคคลผู้บริหารกายนี้อยู่ พึงรับรองความเป็นผู้ไม่มีโรคได้แม้เพียงครู่เดียว จะมีอะไร เล่า นอกจากความเป็นคนเขลา ดูกรคฤหบดี เพราะเหตุนั้นแหละ ท่านพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เมื่อเรามีกายกระสับกระส่ายอยู่ จิตของเราจักไม่กระสับกระส่าย ดูกรคฤหบดี ท่านพึงศึกษา อย่างนี้แล. [๒] ครั้งนั้นแล คฤหบดีชื่อนกุลบิดา ชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ลุก จากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้ว เข้าไปหาท่านพระสารีบุตร อภิวาทแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ท่านพระสารีบุตร ได้กล่าวกะนกุลปิตคฤหบดีว่า คฤหบดี อินทรีย์ของท่านผ่องใสนัก สีหน้าของท่านบริสุทธิ์ เปล่งปลั่ง วันนี้ ท่านได้ฟัง ธรรมีกถาในที่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคหรือ? นกุลปิตคฤหบดีตอบว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ไฉนจะไม่เป็นอย่างนี้เล่า พระผู้มีพระภาคทรงหลั่งอมฤตธรรมรดข้าพเจ้าด้วยธรรมีกถา. ส. ดูกรคฤหบดี พระผู้มีพระภาคทรงหลั่งอมฤตธรรมรดท่านด้วยธรรมีกถาอย่างไรเล่า? น. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ (ข้าพเจ้าจะเล่าถวาย) ข้าพเจ้าเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวาย อภิวาทแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์เป็นผู้แก่เฒ่า เป็นผู้ใหญ่ ล่วงกาลผ่านวัยแล้วโดยลำดับ มีกายกระสับกระส่าย เจ็บป่วยเนืองๆ พระพุทธเจ้าข้า ก็ข้าพระองค์มิได้เห็นพระผู้มีพระภาคและภิกษุทั้งหลาย ผู้ให้ เจริญใจอยู่เป็นนิตย์ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดสั่งสอนข้าพระองค์ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดพร่ำ สอนข้าพระองค์ด้วยธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ข้าพระองค์ตลอดกาลนานเถิด. เมื่อข้าพเจ้ากราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสว่า นั่น ถูกแล้วๆ คฤหบดี อันที่จริง กายนี้กระสับกระส่าย เป็นดังว่าฟองไข่ อันผิวหนังหุ้มไว้ ดูกรคฤหบดี ก็บุคคลผู้บริหารกายนี้อยู่ พึงรับรองความเป็นผู้ไม่มีโรคได้แม้เพียงครู่เดียว จะมีอะไรเล่า นอกจากความเป็นคนเขลา ดูกร คฤหบดี เพราะเหตุนั้นแหละ ท่านพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เมื่อเรามีกายกระสับกระส่ายอยู่ จิตของ เราจักไม่กระสับกระส่าย ดูกรคฤหบดี ท่านพึงศึกษาอย่างนี้แล. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มี พระภาคทรงหลั่งอมฤตธรรมรดข้าพเจ้าด้วยธรรมีกถาอย่างนี้แล. [๓] ส. ดูกรคฤหบดี ก็ท่านมิได้ทูลสอบถามพระผู้มีพระภาคต่อไปว่า พระพุทธเจ้าข้า ด้วยเหตุเท่าไรหนอ? บุคคลจึงชื่อว่าเป็นผู้มีกายกระสับกระส่ายและเป็นผู้มีจิตกระสับกระส่าย และก็ด้วยเหตุเท่าไรหนอ? บุคคลแม้เป็นผู้มีกายกระสับกระส่าย แต่หาเป็นผู้มีจิตกระสับกระส่าย ไม่. น. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้ามาแม้แต่ที่ไกล เพื่อจะทราบเนื้อความแห่งภาษิตนั้นใน สำนักท่านพระสารีบุตร ดีละหนอ ขอเนื้อความแห่งภาษิตนั้นจงแจ่มแจ้งกะท่านพระสารีบุตรเถิด. ส. ดูกรคฤหบดี ถ้าเช่นนั้น ท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว. นกุลปิตคฤหบดีรับคำท่านพระสารีบุตรแล้ว. ท่านพระสารีบุตรจึงได้กล่าวว่า
สักกายทิฏฐิ ๒๐
[๔] ดูกรคฤหบดี ก็อย่างไรเล่า? บุคคลจึงชื่อว่าเป็นผู้มีกายกระสับกระส่ายด้วย จึง ชื่อว่าเป็นผู้มีจิตกระสับกระส่ายด้วย. ดูกรคฤหบดี คือ ปุถุชนผู้มิได้สดับแล้วในโลกนี้ มิได้ เห็นพระอริยะทั้งหลาย ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ มิได้รับแนะนำในอริยธรรม มิได้เห็น สัตบุรุษทั้งหลาย ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ มิได้รับแนะนำในสัปปุริสธรรม ย่อมเห็นรูปโดย ความเป็นตน ๑ ย่อมเห็นตนมีรูป ๑ ย่อมเห็นรูปในตน ๑ ย่อมเห็นตนในรูป ๑ เป็นผู้ตั้งอยู่ ด้วยความยึดมั่นว่า เราเป็นรูป รูปของเรา. เมื่อเขาตั้งอยู่ด้วยความยึดมั่นว่า เราเป็นรูป รูป ของเรา รูปนั้นย่อมแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป เพราะรูปแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาสจึงเกิดขึ้น. ย่อมเห็นเวทนาโดยความเป็นตน ๑ ย่อมเห็น ตนมีเวทนา ๑ ย่อมเห็นเวทนาในตน ๑ ย่อมเห็นตนในเวทนา ๑ เป็นผู้ตั้งอยู่ด้วยความยึดมั่นว่า เราเป็นเวทนา เวทนาของเรา. เมื่อเขาตั้งอยู่ด้วยความยึดมั่นว่า เราเป็นเวทนา เวทนาของเรา เวทนานั้นย่อมแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป เพราะเวทนาแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาสจึงเกิดขึ้น. ย่อมเห็นสัญญา โดยความเป็นตน ๑ ย่อมเห็นตนมี สัญญา ๑ ย่อมเห็นสัญญาในตน ๑ ย่อมเห็นตนในสัญญา ๑ เป็นผู้ตั้งอยู่ด้วยความยึดมั่นว่า เราเป็นสัญญา สัญญาของเรา. เมื่อเขาตั้งอยู่ด้วยความยึดมั่นว่า เราเป็นสัญญา สัญญาของเรา สัญญานั้นย่อมแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป เพราะสัญญาแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาสจึงเกิดขึ้น. ย่อมเห็นสังขารโดยความเป็นตน ๑ ย่อมเห็นตนมี สังขาร ๑ ย่อมเห็นสังขารในตน ๑ ย่อมเห็นตนในสังขาร ๑ เป็นผู้ตั้งอยู่ด้วยความยึดมั่นว่า เราเป็นสังขาร สังขารของเรา. เมื่อเขาตั้งอยู่ด้วยความยึดมั่นว่า เราเป็นสังขาร สังขารของเรา สังขารนั้นย่อมแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป เพราะสังขารแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาสจึงเกิดขึ้น. ย่อมเห็นวิญญาณโดยความเป็นตน ๑ ย่อมเห็นตนมี วิญญาณ ๑ ย่อมเห็นวิญญาณในตน ๑ ย่อมเห็นตนในวิญญาณ ๑ เป็นผู้ตั้งอยู่ด้วยความยึดมั่นว่า เราเป็นวิญญาณ วิญญาณของเรา เมื่อเขาตั้งอยู่ด้วยความยึดมั่นว่า เราเป็นวิญญาณ วิญญาณ ของเรา วิญญาณนั้นย่อมแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป เพราะวิญญาณแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาสจึงเกิดขึ้น. ดูกรคฤหบดี ด้วยเหตุอย่างนี้แล บุคคลจึงชื่อว่าเป็นผู้มีกายกระสับกระส่าย และเป็นผู้มีจิตกระสับกระส่าย. [๕] ดูกรคฤหบดี ก็อย่างไรเล่า? บุคคลแม้เป็นผู้มีกายกระสับกระส่าย แต่หาเป็นผู้มี จิตกระสับกระส่ายไม่. ดูกรคฤหบดี คือ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้วในธรรมวินัยนี้ ผู้เห็นพระอริยะ ทั้งหลาย ผู้ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ผู้ได้รับแนะนำดีแล้วในอริยธรรม ผู้เห็นสัตบุรุษ ทั้งหลาย ผู้ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ผู้ได้รับแนะนำดีแล้วในสัปปุริสธรรม ย่อมไม่เห็นรูปโดย ความเป็นตน ๑ ย่อมไม่เห็นตนมีรูป ๑ ย่อมไม่เห็นรูปในตน ๑ ย่อมไม่เห็นตนในรูป ๑ ไม่เป็นผู้ ตั้งอยู่ด้วยความยึดมั่นว่า เราเป็นรูป รูปของเรา. เมื่ออริยสาวกนั้นไม่ตั้งอยู่ด้วยความยึดมั่นว่า เราเป็นรูป รูปของเรา รูปนั้นย่อมแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป เพราะรูปแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาสจึงไม่เกิดขึ้น. ย่อมไม่เห็นเวทนาโดยความเป็นตน ๑ ย่อมไม่เห็นตนมีเวทนา ๑ ย่อมไม่เห็นเวทนาในตน ๑ ย่อมไม่เห็นตนในเวทนา ๑ ไม่เป็นผู้ตั้ง อยู่ด้วยความยึดมั่นว่า เราเป็นเวทนา เวทนาของเรา. เมื่ออริยสาวกนั้นไม่ตั้งอยู่ด้วยความยึดมั่น ว่า เราเป็นเวทนา เวทนาของเรา เวทนานั้นย่อมแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป เพราะเวทนาแปร ปรวนเป็นอย่างอื่นไป โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาสจึงไม่เกิดขึ้น. ย่อมไม่เห็น สัญญาโดยความเป็นตน ๑ ย่อมไม่เห็นตนมีสัญญา ๑ ย่อมไม่เห็นสัญญาในตน ๑ ย่อมไม่เห็น ตนในสัญญา ๑ ไม่เป็นผู้ตั้งอยู่ด้วยความยึดมั่นว่าเราเป็นสัญญา สัญญาของเรา. เมื่ออริยสาวก นั้นไม่ตั้งอยู่ด้วยความยึดมั่นว่า เราเป็นสัญญา สัญญาของเรา. สัญญานั้นย่อมแปรปรวนเป็น อย่างอื่นไป เพราะสัญญาแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและ อุปายาสจึงไม่เกิดขึ้น. ย่อมไม่เห็นสังขารโดยความเป็นตน ๑ ย่อมไม่เห็นตนมีสังขาร ๑ ย่อมไม่ เห็นสังขารในตน ๑ ย่อมไม่เห็นตนในสังขาร ๑ ไม่เป็นผู้ตั้งอยู่ด้วยความยึดมั่นว่า เราเป็นสังขาร สังขารของเรา. เมื่ออริยสาวกนั้นไม่ตั้งอยู่ด้วยความยึดมั่นว่า เราเป็นสังขาร สังขารของเรา สังขารนั้นย่อมแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป เพราะสังขารแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาสจึงไม่เกิดขึ้น. ย่อมไม่เห็นวิญญาณโดยความเป็นตน ๑ ย่อมไม่เห็น ตนมีวิญญาณ ๑ ย่อมไม่เห็นวิญญาณในตน ๑ ย่อมไม่เห็นตนในวิญญาณ ๑ ไม่เป็นผู้ตั้งอยู่ด้วย ความยึดมั่นว่า เราเป็นวิญญาณ วิญญาณของเรา. เมื่ออริยสาวกนั้นไม่ตั้งอยู่ด้วยความยึดมั่นว่า เราเป็นวิญญาณ วิญญาณของเรา วิญญาณนั้นย่อมแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป เพราะวิญญาณ แปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาสจึงไม่เกิดขึ้น. ดูกร คฤหบดี อย่างนี้แล บุคคลแม้มีกายกระสับกระส่าย แต่หาเป็นผู้มีจิตกระสับกระส่ายไม่. ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวคำเช่นนี้แล้ว นกุลปิตคฤหบดี ชื่นชมยินดีภาษิตของท่าน พระสารีบุตร ฉะนี้แล.
จบ สูตรที่ ๑
๒. เทวทหสูตร
ว่าด้วยการกำจัดฉันทราคะในขันธ์ ๕
[๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้;- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมเทวทหะของศากยะทั้งหลายในสักกชนบท. ครั้งนั้นแล ภิกษุมากรูปด้วยกัน ปรารถนาจะไปสู่ปัจฉาภูมชนบทเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวาย อภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระองค์ปรารถนาจะไปสู่ปัจฉาภูมชนบท เพื่อสำเร็จการอยู่อาศัยในปัจฉา ภูมชนบท. พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เธอทั้งหลายลาสารีบุตรแล้วหรือ? ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระองค์ยังมิได้ลาท่านพระสารีบุตร. พระผู้มี พระภาคตรัสว่าดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงไปลาสารีบุตรเถิด. สารีบุตรเป็นบัณฑิตอนุเคราะห์ เพื่อนพรหมจารี. ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคว่าอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า. [๗] ก็สมัยนั้นแล ท่านพระสารีบุตรนั่งอยู่ในมณฑปเล็กๆ แห่งหนึ่งที่มุงด้วยตะใคร่น้ำ ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค. ครั้งนั้นแล ภิกษุเหล่านั้น ชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาท ทำประทักษิณพระผู้มีพระภาคแล้ว พากันเข้าไปหาท่านพระสารีบุตร กล่าวคำปราศรัยกับท่านพระสารีบุตร ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกัน ไปแล้ว จึงนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าวกะท่านพระสารีบุตรว่า ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร ข้าพเจ้า ทั้งหลายปรารถนาจะไปปัจฉาภูมชนบท เพื่อสำเร็จการอยู่อาศัยในปัจฉาภูมชนบท. ท่านพระ- *สารีบุตรกล่าวว่า ท่านทั้งหลาย กราบทูลลาพระศาสดาแล้วหรือ? ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็กษัตริย์ผู้เป็นบัณฑิตบ้าง พราหมณ์ผู้เป็นบัณฑิตบ้าง คฤหบดีผู้เป็นบัณฑิตบ้าง สมณะผู้เป็น บัณฑิตบ้าง เป็นผู้ถามปัญหากะภิกษุผู้ไปไพรัชชประเทศต่างๆ มีอยู่ ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็พวกมนุษย์ที่เป็นบัณฑิตทดลองถามว่า พระศาสดาของพวกท่านมีวาทะอย่างไร? ตรัสสอน อย่างไร? ธรรมทั้งหลายพวกท่านฟังดีแล้ว เรียบร้อยดีแล้ว ใส่ใจดีแล้ว ทรงจำดีแล้ว แทง ตลอดดีแล้ว ด้วยปัญญาบ้างหรือ? ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่อพยากรณ์อย่างไร? จึงจะชื่อว่าเป็นผู้ กล่าวตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว จะไม่กล่าวตู่พระผู้มีพระภาค ด้วยคำไม่จริง และพยากรณ์ ธรรมสมควรแก่ธรรม ทั้งการคล้อยตามวาทะที่ถูกไรๆ จะไม่พึงถึงฐานะอันวิญญูชนจะติเตียนได้. ภิ. ข้าแต่ท่านผู้มีอายุ ข้าพเจ้าทั้งหลาย มาแม้แต่ที่ไกล เพื่อจะรู้เนื้อความแห่งภาษิต นั้นในสำนักท่านพระสารีบุตร ดีละหนอ ขอเนื้อความแห่งภาษิตนั้น จงแจ่มแจ้งกะท่านพระ- *สารีบุตรเถิด. [๘] ส. ถ้าเช่นนั้น ท่านทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว. ภิกษุเหล่านั้น รับคำท่านพระสารีบุตรแล้ว. ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็กษัตริย์เป็น บัณฑิตบ้าง พราหมณ์เป็นบัณฑิตบ้าง คฤหบดีเป็นบัณฑิตบ้าง สมณะเป็นบัณฑิตบ้าง เป็นผู้ถาม ปัญหากะภิกษุผู้ไปไพรัชชประเทศต่างๆ มีอยู่ ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็มนุษย์ทั้งหลายที่เป็น บัณฑิต จะทดลองถามว่า พระศาสดาของท่านผู้มีอายุทั้งหลาย มีวาทะว่าอย่างไร ตรัสสอน อย่างไร? ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระศาสดาของเราทั้งหลายตรัสสอนให้กำจัดฉันทราคะ. เมื่อท่าน ทั้งหลายพยากรณ์อย่างนี้แล้ว กษัตริย์ผู้เป็นบัณฑิตบ้าง พราหมณ์ผู้เป็นบัณฑิตบ้าง คฤหบดีผู้ เป็นบัณฑิตบ้าง สมณะผู้เป็นบัณฑิตบ้าง พึงถามปัญหายิ่งขึ้นไป ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็มนุษย์ทั้งหลายที่เป็นบัณฑิต จะทดลองถามว่า ก็พระศาสดาของท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ตรัสสอน ให้กำจัดฉันทราคะในสิ่งอะไร. ท่านทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า ดูกรท่าน ผู้มีอายุทั้งหลาย พระศาสดาตรัสสอนให้กำจัดฉันทราคะในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่อท่านทั้งหลายพยากรณ์อย่างนี้แล้ว กษัตริย์ผู้เป็นบัณฑิตบ้าง พราหมณ์ผู้เป็นบัณฑิตบ้าง คฤหบดีผู้เป็นบัณฑิตบ้าง สมณะผู้เป็นบัณฑิตบ้าง พึงถามปัญหา ยิ่งขึ้นไป ก็มนุษย์ทั้งหลายที่เป็นบัณฑิต จะทดลองถามว่า ก็พระศาสดาของท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ทรงเห็นโทษอะไร จึงตรัสสอนให้กำจัดฉันทราคะในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ? ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้มี อายุทั้งหลาย เมื่อบุคคลมีความกำหนัด ความพอใจ ความรัก ความกระหาย ความกระวน กระวาย ความทะยานอยากในรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ยังไม่ปราศจากไปแล้ว โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาสย่อมเกิดขึ้น เพราะรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ แปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระศาสดาของเราทั้งหลาย ทรงเห็นโทษนี้แล จึงตรัสสอนให้กำจัดฉันทราคะในรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย แม้เมื่อท่านทั้งหลายพยากรณ์อย่างนี้แล กษัตริย์ผู้เป็นบัณฑิตบ้าง พราหมณ์ผู้เป็นบัณฑิตบ้าง คฤหบดีผู้เป็นบัณฑิตบ้าง สมณะผู้เป็นบัณฑิตบ้าง พึงถามปัญหา ยิ่งขึ้นไป ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็มนุษย์ทั้งหลายที่เป็นบัณฑิตจะทดลองถามว่า ก็พระศาสดา ของท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ทรงเห็นอานิสงส์อะไร? จึงตรัสสอนให้กำจัดให้ฉันทราคะในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ. ท่านทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่อบุคคลมีความกำหนัด ความพอใจ ความรัก ความกระหาย ความ กระวนกระวาย ความทะยานอยากในรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณปราศจากไปแล้ว โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาสย่อมไม่เกิดขึ้นเพราะรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ แปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระศาสดาของเราทั้งหลาย ทรงเห็นอานิสงส์นี้แล จึงตรัสสอนให้กำจัดฉันทราคะในรูป เวทนา สัญญา สังขาร และ วิญญาณ. [๙] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็เมื่อบุคคลเข้าถึงอกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ จักได้มีการอยู่ สบาย ไม่มีความลำบาก ไม่มีความคับแค้น ไม่มีความเดือดร้อน ในปัจจุบันนี้ และเมื่อตาย ไปแล้ว ก็พึงหวังสุคติไซร้ พระผู้มีพระภาคก็จะไม่พึงทรงสรรเสริญ การละอกุศลธรรมทั้งหลาย. ก็เพราะเมื่อบุคคลเข้าถึงอกุศลธรรมทั้งหลาย ย่อมมีการอยู่เป็นทุกข์ มีความลำบาก มีความ คับแค้น มีความเดือดร้อน ในปัจจุบัน และเมื่อตายไปแล้ว ก็พึงหวังได้ทุคติ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาค จึงทรงสรรเสริญ การละอกุศลธรรมทั้งหลาย. [๑๐] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย แต่เมื่อบุคคลเข้าถึงกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ จักได้มีการ อยู่เป็นทุกข์ มีความลำบาก มีความคับแค้น มีความเดือดร้อน ในปัจจุบันนี้ และเมื่อตายไป แล้ว ก็พึงหวังได้ทุคติไซร้ พระผู้มีพระภาค ก็จะไม่พึงทรงสรรเสริญ การเข้าถึงกุศลธรรม ทั้งหลาย. ก็เพราะเมื่อบุคคลเข้าถึงกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ มีการอยู่สบาย ไม่มีความลำบาก ไม่มีความคับแค้น ไม่มีความเดือดร้อน ในปัจจุบันนี้ และเมื่อตายไปแล้ว ก็พึงหวังได้สุคติ ฉะนั้นพระผู้มีพระภาค จึงทรงสรรเสริญ การเข้าถึงกุศลธรรมทั้งหลาย. ท่านพระสารีบุตรได้ กล่าวคำนี้แล้ว. ภิกษุเหล่านั้น ชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระสารีบุตร ฉะนี้แล.
จบ สูตรที่ ๒.
๓. หลิททิกานิสูตรที่ ๑
ว่าด้วยลักษณะมุนี
[๑๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:- สมัยหนึ่ง ท่านพระมหากัจจานะอยู่ ณ ภูเขาชันข้างหนึ่ง ใกล้กุรรฆรนครแคว้นอวันตีรัฐ ครั้งนั้นแล คฤหบดีชื่อว่าหลิททิกานิ เข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะถึงที่อยู่ อภิวาทแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าวกะท่านมหากัจจานะว่า ข้าแต่ท่านพระผู้เจริญ พระผู้มีพระภาค ตรัสพระภาษิตนี้ในมาคัณฑิยปัญหา อันมีในอัฏฐกวรรคว่า มุนีละที่อยู่แล้ว ไม่มีที่พักเที่ยวไป ไม่ทำความสนิทสนมในบ้าน เป็นผู้ว่างจากกามทั้งหลาย ไม่มุ่งถึงกาลข้างหน้า ไม่ทำถ้อยคำ แก่งแย่งกับชนอื่น ดังนี้. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เนื้อความแห่งพระพุทธวจนะที่พระผู้มีพระภาคตรัสโดยย่อนี้ จะพึง เห็นได้โดยพิสดารอย่างไร? [๑๒] พระมหากัจจานะได้กล่าวว่า ดูกรคฤหบดี รูปธาตุเป็นที่อยู่อาศัยของวิญญาณ ก็แหละมุนีใด มีวิญญาณพัวพันด้วยราคะในรูปธาตุ มุนีนั้น ท่านกล่าวว่า มีที่อยู่อาศัยเที่ยวไป ดูกรคฤหบดี เวทนา ... สัญญา ... สังขารธาตุเป็นที่อยู่อาศัยของวิญญาณ ก็แหละมุนีใด มีวิญญาณ พัวพันด้วยราคะในสังขารธาตุ มุนีนั้น ท่านกล่าวว่า มีที่อยู่อาศัยเที่ยวไป. ดูกรคฤหบดี มุนี ชื่อว่าเป็นผู้มีที่อยู่อาศัยเที่ยวไป ด้วยประการฉะนี้แล. [๑๓] ดูกรคฤหบดี ก็มุนีเป็นผู้ไม่มีที่อยู่อาศัยเที่ยวไปอย่างไร? ดูกรคฤหบดี ความ พอใจ ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก ความเข้าถึง ความยึดมั่น อัน เป็นที่ตั้งที่อยู่อาศัยแห่งจิตเหล่าใด ในรูปธาตุ ความพอใจเป็นต้นเหล่านั้น อันพระตถาคต ทรงละเสียแล้ว ทรงตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นดังตาลยอดด้วน ทรงกระทำให้ไม่มี มีอันไม่ เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น พระตถาคต บัณฑิตจึงกล่าวว่า เป็นผู้ไม่มีที่อยู่อาศัย เที่ยวไป. ดูกรคฤหบดี ความพอใจ ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก ความเข้าถึง ความยึดมั่น อันเป็นที่ตั้งที่อยู่อาศัยแห่งจิตเหล่าใดในเวทนาธาตุ ... ในสัญญาธาตุ ... ในสังขารธาตุ ... ในวิญญาณธาตุ ความพอใจเป็นต้นเหล่านั้น อันพระตถาคต ทรงละเสียแล้ว ทรงตัดรากขาดแล้ว ทรงทำให้เป็นดังตาลยอดด้วน ทรงกระทำให้ไม่มี มีอันไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็น ธรรมดา เพราะฉะนั้น พระตถาคต บัณฑิตจึงกล่าวว่า เป็นผู้ไม่มีที่อยู่อาศัยเที่ยวไป. ดูกร คฤหบดี มุนีชื่อว่าเป็นผู้ที่ไม่มีที่อยู่อาศัยเที่ยวไปอย่างนี้แล. [๑๔] ดูกรคฤหบดี ก็มุนีเป็นผู้มีที่พักเที่ยวไปอย่างไร? ดูกรคฤหบดี มุนีท่านกล่าวว่า เป็นผู้มีที่พักเที่ยวไป เพราะซ่านไปและพัวพันในรูป อันเป็นนิมิตและเป็นที่พัก. ดูกรคฤหบดี มุนีท่านกล่าวว่าเป็นผู้มีที่พักเที่ยวไป เพราะซ่านไปและพัวพันในเสียง ... ในกลิ่น ... ในรส ... ใน โผฏฐัพพะ ... ในธรรมารมณ์อันเป็นนิมิตและเป็นที่พัก. ดูกรคฤหบดี มุนีเป็นผู้มีที่พักเที่ยวไป อย่างนี้แล. [๑๕] ดูกรคฤหบดี ก็มุนีเป็นผู้ไม่มีที่พักเที่ยวไปอย่างไร? ดูกรคฤหบดี กิเลสเป็น เหตุซ่านไปและพัวพันในรูปอันเป็นนิมิตและที่พัก อันพระตถาคต ทรงละเสียแล้ว ทรงตัดรากขาด แล้ว ทำให้เป็นดังตาลยอดด้วน ทรงกระทำให้ไม่มี มีอันไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา เพราะ ฉะนั้น พระตถาคต บัณฑิตจึงกล่าวว่าเป็นผู้ไม่มีที่พักเที่ยวไป. ดูกรคฤหบดี กิเลสเป็นเหตุ ซ่านไปและพัวพันในเสียง ... ในกลิ่น ... ในรส ... ในโผฏฐัพพะ ... ในธรรมารมณ์อันเป็นนิมิตและเป็น ที่พักอันพระตถาคต ทรงละเสียแล้ว ทรงตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นดังตาลยอดด้วน ทรงกระ ทำให้ไม่มี มีอันไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น พระตถาคต บัณฑิตจึงกล่าวว่า เป็นผู้ ไม่มีที่พักเที่ยวไป. ดูกรคฤหบดี มุนีชื่อว่าเป็นผู้ไม่มีที่พักเที่ยวไปอย่างนี้แล. [๑๖] ดูกรคฤหบดี ก็มุนีเป็นผู้สนิทสนมในบ้านอย่างไร? ดูกรคฤหบดีมุนีบางคนใน โลกนี้ เป็นผู้คลุกคลีกับพวกคฤหัสถ์อยู่ คือเป็นผู้พลอยชื่นชมกับเขา พลอยโศกกับเขา เมื่อ พวกคฤหัสถ์มีสุขก็สุขด้วย มีทุกข์ ก็ทุกข์ด้วย เมื่อพวกคฤหัสถ์มีกรณียกิจที่ควรทำเกิดขึ้น ก็ขวนขวายในกรณียกิจเหล่านั้นด้วยตนเอง. ดูกรคฤหบดี มุนีเป็นผู้สนิทสนมในบ้าน อย่างนี้แล. [๑๗] ดูกรคฤหบดี ก็มุนีไม่เป็นผู้สนิทสนมในบ้านอย่างไร? ดูกรคฤหบดี ภิกษุใน ธรรมวินัยนี้ ไม่เป็นผู้คลุกคลีกับพวกคฤหัสถ์ คือ ไม่พลอยชื่นชมกับเขา ไม่พลอยโศกกับเขา เมื่อพวกคฤหัสถ์มีสุข ก็ไม่สุขด้วย มีทุกข์ ก็ไม่ทุกข์ด้วย เมื่อคฤหัสถ์มีกรณียกิจที่ควรทำเกิดขึ้นก็ ไม่ขวนขวายในกรณียกิจเหล่านั้นด้วยตนเอง. ดูกรคฤหบดีมุนีไม่เป็นผู้สนิทสนมในบ้าน อย่างนี้แล. [๑๘] ดูกรคฤหบดี ก็มุนีเป็นผู้ไม่ว่างจากกามทั้งหลายอย่างไร? ดูกรคฤหบดี มุนีบาง คนในโลกนี้ ยังเป็นผู้ไม่ปราศจากความกำหนัด ความพอใจ ความรัก ความกระหาย ความ กระวนกระวาย ความทะยานอยากในกามทั้งหลาย. ดูกรคฤหบดี มุนีเป็นผู้ไม่ว่างจากกามทั้ง หลาย อย่างนี้แล. [๑๙] ดูกรคฤหบดี ก็มุนีเป็นผู้ว่างจากกามทั้งหลายอย่างไร? ดูกรคฤหบดี ภิกษุบางรูป ในธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นผู้ปราศจากความกำหนัด ความพอใจ ความรัก ความกระหาย ความ กระวนกระวาย ความทะยานอยากในกามทั้งหลาย. ดูกรคฤหบดี มุนีเป็นผู้ว่างจากกามทั้งหลาย อย่างนี้แล. [๒๐] ดูกรคฤหบดี ก็มุนีเป็นผู้มุ่งถึงกาลข้างหน้าอย่างไร? ดูกรคฤหบดี มุนีบางคน ในโลกนี้ มีความปรารถนาอย่างนี้ว่า ในกาลข้างหน้า ขอเราพึงเป็นผู้มีรูปอย่างนี้ มีเวทนาอย่าง นี้ มีสัญญาอย่างนี้ มีสังขารอย่างนี้ มีวิญญาณอย่างนี้. ดูกรคฤหบดี มุนีเป็นผู้มุ่งถึงกาลข้าง หน้า อย่างนี้แล. [๒๑] ดูกรคฤหบดี ก็มุนีเป็นผู้ไม่มุ่งถึงกาลข้างหน้าอย่างไร? ดูกรคฤหบดี ภิกษุบาง รูปในธรรมวินัยนี้ ไม่มีความปรารถนาอย่างนี้ว่า ในกาลข้างหน้า ขอเราพึงเป็นผู้มีรูปอย่างนี้ มี เวทนาอย่างนี้ มีสัญญาอย่างนี้ มีสังขารอย่างนี้ มีวิญญาณอย่างนี้. ดูกรคฤหบดี มุนีเป็นผู้ไม่มุ่ง ถึงกาลข้างหน้า อย่างนี้แล. [๒๒] ดูกรคฤหบดี ก็มุนีเป็นผู้ทำถ้อยคำแก่งแย่งกับชนอื่นอย่างไร? ดูกรคฤหบดี มุนี บางคนในโลกนี้ ย่อมเป็นผู้ทำถ้อยคำเห็นปานนี้ว่า ท่านไม่รู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ เรารู้ทั่วถึงธรรม วินัยนี้ ไฉนท่านจักรู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ได้ ท่านเป็นผู้ปฏิบัติผิด เราเป็นผู้ปฏิบัติชอบ คำที่ควร กล่าวก่อน ท่านกล่าวทีหลัง คำที่ควรกล่าวทีหลัง ท่านกล่าวก่อน คำของเรามีประโยชน์ คำ ของท่านไม่มีประโยชน์ ข้อที่ท่านเคยประพฤติมาผิดเสียแล้ว เรายกวาทะแก่ท่านแล้ว ท่าน จงประพฤติเพื่อปลดเปลื้องวาทะเสีย ท่านเป็นผู้อันเราข่มได้แล้ว หรือจงปลดเปลื้องเสียเองถ้า ท่านสามารถ. ดูกรคฤหบดี มุนีเป็นผู้ทำถ้อยคำแก่งแย่งกับชนอื่น อย่างนี้แล. [๒๓] ดูกรคฤหบดี ก็มุนีไม่เป็นผู้ทำคำแก่งแย่งกับชนอื่นอย่างไร? ดูกรคฤหบดี ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นผู้ไม่ทำถ้อยคำเห็นปานนี้ว่า ท่านย่อมไม่รู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ เรารู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ ไฉนท่านจักรู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ได้ ท่านเป็นผู้ปฏิบัติผิด เราเป็นผู้ปฏิบัติ ชอบ คำที่ควรกล่าวก่อน ท่านกล่าวทีหลัง คำที่ควรกล่าวทีหลัง ท่านกล่าวก่อน คำของเรามี ประโยชน์ คำของท่านไม่มีประโยชน์ ข้อที่ท่านเคยปฏิบัติมาผิดเสียแล้ว เรายกวาทะแก่ท่านแล้ว ท่านจงประพฤติเพื่อปลดเปลื้องวาทะเสีย ท่านเป็นผู้อันเราข่มได้แล้ว หรือจงปลดเปลื้องเสียเอง ถ้าท่านสามารถ. ดูกรคฤหบดี มุนีไม่เป็นผู้ทำถ้อยคำแก่งแย่งกับชนอื่น อย่างนี้แล. [๒๔] ดูกรคฤหบดี พระพุทธวจนะ ที่พระผู้มีพระภาค ตรัสแล้วในมาคัณฑิยปัญหา อันมีในอัฏฐกวรรคว่า มุนีละที่อยู่แล้ว ไม่มีที่พักเที่ยวไป ไม่ทำความสนิทสนมใน บ้าน เป็นผู้ว่างจากกามทั้งหลาย ไม่มุ่งถึงกาลข้างหน้า ไม่ทำ ถ้อยคำแก่งแย่งกับชนอื่น ดังนี้. ดูกรคฤหบดี เนื้อความแห่งพระพุทธพจน์ ที่พระผู้มีพระภาคตรัส โดยย่อนี้แล พึง เห็นโดยพิสดารอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้.
จบ สูตรที่ ๓
๔. หลิททิกานิสูตรที่ ๒
ว่าด้วยผู้สำเร็จล่วงส่วน
[๒๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:- สมัยหนึ่ง ท่านพระมหากัจจานะอยู่ ณ ภูเขาชันข้างหนึ่ง ใกล้เมืองกุรรฆรนคร แคว้นอวันตีรัฐ. ครั้งนั้นแล คฤหบดีชื่อว่าหลิททิกานิเข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะถึงที่อยู่ อภิวาท แล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควรข้างหนึ่งแล้ว ได้ถามท่านพระมหากัจจานะว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พระผู้มี พระภาคตรัสพระภาษิตนี้ในสักกปัญหาว่า สมณพราหมณ์เหล่าใด หลุดพ้นแล้ว เพราะความสิ้นไป แห่งตัณหา สมณพราหมณ์เหล่านั้น เป็นผู้สำเร็จล่วงส่วน เป็นผู้มีความเกษมจากโยคธรรมล่วง ส่วน เป็นพรหมจารีบุคคลล่วงส่วน มีที่สุดล่วงส่วน เป็นผู้ประเสริฐสุดกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้ง หลายดังนี้. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เนื้อความแห่งพระพุทธพจน์ ที่พระผู้มีพระภาคตรัส โดยย่อนี้ จะพึงเห็นได้โดยพิสดารอย่างไร.? [๒๖] พระมหากัจจานะได้กล่าวว่า ดูกรคฤหบดี ความพอใจ ความกำหนัด ความ เพลิดเพลิน ความทะยานอยาก ความเข้าถึง ความยึดมั่น อันเป็นที่ตั้งที่อยู่อาศัยแห่งจิตเหล่า ใด ในรูปธาตุ จิต ท่านกล่าวว่าพ้นดีแล้ว เพราะความสิ้น เพราะความคลายกำหนัด เพราะความ ดับ เพราะความสละ เพราะความสละคืน ซึ่งความพอใจเป็นต้นเหล่านั้น, ดูกรคฤหบดี ความ พอใจ ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก ความเข้าถึง ความยึดมั่น อันเป็น ที่ตั้งที่อยู่อาศัยแห่งจิตเหล่าใด ในเวทนาธาตุ ... ในสัญญาธาตุ ... ในสังขารธาตุ ... ในวิญญาณ ธาตุ จิต ท่านกล่าวว่าพ้นดีแล้ว เพราะความสิ้น เพราะความคลายกำหนัด เพราะความดับ เพราะความสละ เพราะความสละคืน ซึ่งความพอใจเป็นต้นเหล่านั้น. ดูกรคฤหบดี พระภาษิต ที่พระผู้มีพระภาคตรัสในสักกปัญหาว่าสมณพราหมณ์เหล่าใดพ้นแล้ว เพราะความสิ้นไปแห่งตัณหา สมณพราหมณ์เหล่านั้น เป็นผู้สำเร็จล่วงส่วน มีความเกษมจากโยคธรรมล่วงส่วน เป็นพรหมจารี บุคคลล่วงส่วน มีที่สุดล่วงส่วน เป็นผู้ประเสริฐสุดกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายดังนี้. ดูกร คฤหบดี เนื้อความแห่งพระพุทธพจน์ ที่พระผู้มีพระภาคตรัสโดยย่อนี้แล พึงเห็นได้โดยพิสดาร อย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้แล.
จบ สูตรที่ ๔.
๕. สมาธิสูตร
ว่าด้วยสมาธิเป็นเหตุเกิดปัญญา
[๒๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก- *เศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาค ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย. ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสแล้ว. พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเจริญสมาธิ. ภิกษุมีจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริง. ก็ภิกษุย่อมรู้ชัดตามเป็น จริงอย่างไร. ย่อมรู้ชัดซึ่งความเกิดและความดับแห่งรูป ความเกิดและความดับแห่งเวทนา ความ เกิดและความดับแห่งสัญญา ความเกิดและความดับแห่งสังขาร ความเกิดและความดับแห่ง วิญญาณ. [๒๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเป็นความเกิดแห่งรูป อะไรเป็นความเกิดแห่ง เวทนา อะไรเป็นความเกิดแห่งสัญญา อะไรเป็นความเกิดแห่งสังขาร อะไรเป็นความเกิดแห่ง วิญญาณ? ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลในโลกนี้ ย่อมเพลิดเพลิน ย่อมพร่ำถึง ย่อมดื่มด่ำอยู่. ก็บุคคลย่อมเพลิดเพลิน ย่อมพร่ำถึง ย่อมดื่มด่ำอยู่ ซึ่งอะไร. ย่อมเพลิดเพลิน ย่อมพร่ำถึง ย่อมดื่มด่ำอยู่ซึ่งรูป เมื่อเพลิดเพลิน พร่ำถึง ดื่มด่ำอยู่ซึ่งรูป ความยินดีก็เกิดขึ้น ความยินดีในรูป นั่นเป็นอุปาทาน เพราะอุปาทานของบุคคลนั้นเป็นปัจจัย จึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์โทมนัสและอุปายาส. ความ เกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนั้น ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้. บุคคลย่อมเพลิดเพลินซึ่งเวทนา ฯลฯ ย่อมเพลิดเพลินซึ่งสัญญา ฯลฯ ย่อมเพลิดเพลินซึ่งสังขาร ฯลฯ ย่อมเพลิดเพลิน ย่อมพร่ำถึง ย่อมดื่มด่ำอยู่ซึ่งวิญญาณ เมื่อเพลิดเพลิน พร่ำถึง ดื่มด่ำอยู่ซึ่งวิญญาณ ความยินดีย่อมเกิดขึ้น ความยินดีในวิญญาณ นั่นเป็นอุปาทาน เพราะอุปาทานของบุคคลนั้นเป็นปัจจัย จึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส. ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้. ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย นี่เป็นความเกิดแห่งรูป นี่เป็นความเกิดแห่งเวทนา นี่เป็นความเกิดแห่งสัญญา นี่เป็น ความเกิดแห่งสังขาร นี่เป็นความเกิดแห่งวิญญาณ. [๒๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเป็นความดับแห่งรูป อะไรเป็นความดับแห่งเวทนา อะไรเป็นความดับแห่งสัญญา อะไรเป็นความดับแห่งสังขาร อะไรเป็นความดับแห่งวิญญาณ? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมไม่เพลิดเพลิน ย่อมไม่พร่ำถึง ย่อมไม่ดื่มด่ำอยู่. ก็ภิกษุย่อมไม่เพลิดเพลิน ย่อมไม่พร่ำถึง ย่อมไม่ดื่มด่ำอยู่ซึ่งอะไร. ย่อมไม่เพลิดเพลิน ย่อม ไม่พร่ำถึง ย่อมไม่ดื่มด่ำอยู่ซึ่งรูป เมื่อเธอไม่เพลิดเพลิน ไม่พร่ำถึง ไม่ดื่มด่ำอยู่ซึ่งรูป ความ ยินดีในรูปย่อมดับไป เพราะความยินดีของภิกษุนั้นดับไป อุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ ฯลฯ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้. ภิกษุย่อมไม่ เพลิดเพลิน ย่อมไม่พร่ำถึง ย่อมไม่ดื่มด่ำ ซึ่งเวทนา ... ซึ่งสัญญา ... ซึ่งสังขาร ... ซึ่งวิญญาณ เมื่อเธอไม่เพลิดเพลิน ไม่พร่ำถึง ไม่ดื่มด่ำอยู่ซึ่งเวทนา ... ซึ่งสัญญา ... ซึ่งสังขาร ... ซึ่งวิญญาณ ความยินดีในเวทนา ... ในสัญญา ... ในสังขาร ... ในวิญญาณ ย่อมดับไป เพราะความ ยินดีของภิกษุนั้นดับไป อุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ ฯลฯ ความดับแห่งกอง ทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นความดับแห่งรูป นี้เป็นความดับ แห่งเวทนา นี้เป็นความดับแห่งสัญญา นี้เป็นความดับแห่งสังขาร นี้เป็นความดับแห่งวิญญาณ.
จบ สูตรที่ ๕.
๖. ปฏิสัลลานสูตร
ว่าด้วยการหลีกเร้นเป็นเหตุเกิดปัญญา
[๓๐] พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล ฯลฯ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงประกอบความเพียรในการหลีกออกเร้น. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้หลีก ออกเร้น ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริง ก็ภิกษุย่อมรู้ชัดตามเป็นจริงอย่างไร ย่อมรู้ชัดซึ่งความเกิดและ ความดับแห่งรูป ... แห่งเวทนา ... แห่งสัญญา ... แห่งสังขาร ... แห่งวิญญาณ (ความต่อไปนี้เหมือน ข้อ ๒๘-๒๙).
จบ สูตรที่ ๖.
๗. อุปาทานปริตัสสนาสูตรที่ ๑
ว่าด้วยความสะดุ้งและไม่สะดุ้ง
[๓๑] พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล ฯลฯ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เราจักแสดงความสะดุ้งเพราะความถือมั่น และความไม่สะดุ้งเพราะความไม่ถือมั่น แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว. ภิกษุเหล่านั้น ทูลรับพระดำรัส พระผู้มีพระภาคแล้ว. พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังต่อไปนี้ [๓๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ความสะดุ้งเพราะความถือมั่น ย่อมมีอย่างไร? ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้สดับแล้วในโลกนี้ มิได้เห็นพระอริยะทั้งหลาย ไม่ฉลาดในธรรมของ พระอริยะ มิได้รับแนะนำในอริยธรรม มิได้เห็นสัตบุรุษทั้งหลาย ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ มิได้รับแนะนำในสัปปุริสธรรม ย่อมเห็นรูปโดยความเป็นตน ๑ ย่อมเห็นตนมีรูป ๑ ย่อมเห็นรูป ในตน ๑ ย่อมเห็นตนในรูป ๑ รูปของเขานั้น ย่อมแปรปรวน ย่อมเป็นอย่างอื่นไป เพราะ รูปของเขาแปรปรวนและเป็นอย่างอื่นไป วิญญาณจึงมีความหมุนเวียนไปตามความแปรปรวน แห่งรูปความสะดุ้ง และความเกิดขึ้นแห่งธรรมที่เกิดแต่ความหมุนเวียนไปตามความแปรปรวน แห่งรูปย่อมครอบงำจิตของปุถุชนนั้นตั้งอยู่ เพราะจิตถูกครอบงำ ปุถุชนนั้นย่อมมีความหวาดเสียว มีความลำบากใจมีความห่วงใย และสะดุ้งอยู่ เพราะความถือมั่น. ย่อมเห็นเวทนาโดยความเป็น ตน ๑ ย่อมเห็นตนมีเวทนา ๑ ย่อมเห็นเวทนาในตน ๑ ย่อมเห็นตนในเวทนา ๑ เวทนา ของเขานั้น ย่อมแปรปรวน ย่อมเป็นอย่างอื่นไป ฯลฯ ย่อมเห็นสัญญาโดยความเป็นตน ๑ ย่อมเห็นตนมีสัญญา ๑ ย่อมเห็นสัญญาในตน ๑ ย่อมเห็นตนในสัญญา ๑ สัญญาของเขานั้น ย่อมแปรปรวน ย่อมเป็นอย่างอื่นไป ฯลฯ ย่อมเห็นสังขารโดยความเป็นตน ๑ ย่อมเห็นตนมี สังขาร ๑ ย่อมเห็นสังขารในตน ๑ ย่อมเห็นตนในสังขาร ๑ สังขารของเขานั้น ย่อมแปรปรวน ย่อมเป็นอย่างอื่นไป ฯลฯ ย่อมเห็นวิญญาณโดยความเป็นตน ๑ ย่อมเห็นตนมีวิญญาณ ๑ ย่อม เห็นวิญญาณในตน ๑ ย่อมเห็นตนในวิญญาณ ๑ วิญญาณของเขานั้น ย่อมแปรปรวน ย่อม เป็นอย่างอื่นไป เพราะวิญญาณแปรปรวนและเป็นอย่างอื่นไป วิญญาณจึงมีความหมุนเวียนไป ตามความแปรปรวนแห่งวิญญาณ ความสะดุ้ง และความบังเกิดขึ้นแห่งธรรมที่เกิดแต่ความหมุน เวียนไปตามความแปรปรวนแห่งวิญญาณ ย่อมครอบงำจิตของปุถุชนนั้นตั้งอยู่ เพราะจิตถูกครอบ งำ ปุถุชนนั้นย่อมมีความหวาดเสียว มีความลำบากใจ มีความห่วงใยและสะดุ้งอยู่ เพราะความ ถือมั่น. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความสะดุ้งเพราะความถือมั่นย่อมมีอย่างนี้แล. [๓๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ความไม่สะดุ้งเพราะความไม่ถือมั่น ย่อมมีอย่างไร? ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ผู้ได้สดับแล้ว ได้เห็น พระอริยะทั้งหลาย ผู้ฉลาด ในธรรมวินัยของพระอริยะ ผู้ได้รับแนะนำดีแล้วในอริยธรรม ผู้เห็นสัตบุรุษทั้งหลาย ผู้ฉลาด ในธรรมของสัตบุรุษ ผู้ได้รับแนะนำดีแล้วในสัปปุริสธรรม ย่อมไม่เห็นรูปโดยความเป็นตน ๑ ย่อมไม่เห็นตนมีรูป ๑ ย่อมไม่เห็นรูปในตน ๑ ย่อมไม่เห็นตนในรูป ๑ รูปของอริยสาวกนั้น ย่อมแปรปรวน ย่อมเป็นอย่างอื่นไป เพราะรูปแปรปรวนและเป็นอย่างอื่นไป วิญญาณจึง ไม่มี ความหมุนเวียนไปตามความแปรปรวนแห่งรูป ความสะดุ้ง และความบังเกิดขึ้นแห่งธรรม ที่เกิดแต่ความหมุนเวียนไปตามความแปรปรวนแห่งรูป ย่อมไม่ครอบงำ จิตของอริยสาวกนั้นตั้ง อยู่ เพราะจิตไม่ถูกครอบงำ อริยสาวกนั้นย่อมไม่มีความหวาดเสียว ไม่มีความลำบากใจ ไม่มี ความห่วงใย และไม่สะดุ้ง เพราะไม่ถือมั่น. ย่อมไม่เห็นเวทนาโดยความเป็นตน ๑ ย่อมไม่ เห็นตนมีเวทนา ๑ ย่อมไม่เห็นเวทนาในตน ๑ ย่อมไม่เห็นตนในเวทนา ๑ เวทนาของอริย สาวกนั้น ย่อมแปรปรวน ย่อมเป็นอย่างอื่นไป ... ย่อมไม่เห็นสัญญาโดยความเป็นตน ๑ ย่อมไม่ เห็นตนมีสัญญา ๑ ย่อมไม่เห็นสัญญาในตน ๑ ย่อมไม่เห็นตนในสัญญา ๑ สัญญาของอริยสาวก นั้น ย่อมแปรปรวน ย่อมเป็นอย่างอื่นไป ... ย่อมไม่เห็นสังขารโดยความเป็นตน ๑ ย่อมไม่เห็นตน มีสังขาร ๑ ย่อมไม่เห็นตนในสังขาร ๑ ย่อมไม่เห็นสังขารในตน ๑ สังขารของอริยสาวกนั้น ย่อมแปรปรวน ย่อมเป็นอย่างอื่นไป ... ย่อมไม่เห็นวิญญาณโดยความเป็นตน ๑ ย่อมไม่เห็นตนมี วิญญาณ ๑ ย่อมไม่เห็นวิญญาณในตน ๑ ย่อมไม่เห็นตนในวิญญาณ ๑ วิญญาณของอริยสาวก นั้น ย่อมแปรปรวน ย่อมเป็นอย่างอื่นไป เพราะวิญญาณแปรปรวนและเป็นอย่างอื่นไป วิญญาณ จึงไม่มีความหมุนเวียนไปตามความแปรปรวนแห่งวิญญาณ ความสะดุ้ง และความบังเกิดขึ้นแห่ง ธรรมที่เกิดแต่ความหมุนเวียนไปตามความแปรปรวนแห่งวิญญาณ ย่อมไม่ครอบงำจิตของอริย สาวกนั้นตั้งอยู่ เพราะจิตไม่ถูกครอบงำ อริยสาวกนั้นย่อมไม่มีความหวาดเสียว ไม่มีความลำบาก ใจ ไม่มีความห่วงใย และไม่สะดุ้ง เพราะไม่ถือมั่น. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความไม่สะดุ้งเพราะ ความไม่ถือมั่นย่อมมีอย่างนี้แล.
จบ สูตรที่ ๗.
๘. อุปาทานปริตัสสนาสูตรที่ ๒
ว่าด้วยความสะดุ้งและไม่สะดุ้ง
[๓๔] พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงความสะดุ้ง เพราะความถือมั่น และความไม่สะดุ้งเพราะความไม่ถือมั่น แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ความสะดุ้งเพราะความถือมั่น ย่อมมีอย่างไร? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่สดับแล้วในโลกนี้ ย่อมตามเห็นรูปว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา รูปของเขานั้น ย่อมแปรปรวน ย่อมเป็นอย่างอื่นไป เพราะรูปแปรปรวน และเป็นอย่างอื่นไป โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาสจึงเกิดขึ้น. ย่อมเห็นเวทนาว่า นั่นของเรา ฯลฯ ย่อมเห็นสัญญาว่า นั่นของเรา ฯลฯ ย่อมเห็นสังขารทั้งหลายว่า นั่นของเรา ฯลฯ ย่อมเห็นวิญญาณว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา วิญญาณของเขานั้น ย่อมแปรปรวน ย่อมเป็นอย่างอื่นไป เพราะวิญญาณแปรปรวนและเป็นอย่างอื่นไป โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาสจึงเกิดขึ้น. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความสะดุ้งเพราะถือมั่น ย่อมมีอย่างนี้แล. [๓๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ความไม่สะดุ้งเพราะความไม่ถือมั่น ย่อมมีอย่างไร? ดูกร- *ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ผู้ได้สดับแล้ว ย่อมพิจารณาเห็นรูปว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา รูปของอริยสาวกนั้น ย่อมแปรปรวน ย่อมเป็นอย่างอื่นไป เพราะรูปแปรปรวนและเป็นอย่างอื่นไป โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาสจึงไม่เกิดขึ้น. ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาว่า นั่นไม่ใช่ของเรา ฯลฯ ย่อมพิจารณาเห็นสัญญาว่า นั่นไม่ใช่ของเรา ฯลฯ ย่อมพิจารณาเห็นสังขารว่า นั่นไม่ใช่ของเรา ฯลฯ ย่อมพิจารณาเห็นวิญญาณว่า นั่นไม่ใช่ ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวของเรา วิญญาณของอริยสาวกนั้น ย่อมแปรปรวน ย่อมเป็น อย่างอื่นไป เพราะวิญญาณแปรปรวนและเป็นอย่างอื่นไป โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและ อุปายาสจึงไม่เกิดขึ้น. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความไม่สะดุ้งเพราะความไม่ถือมั่น ย่อมมีอย่างนี้แล.
จบ สูตรที่ ๘.
๙. อตีตานาคตปัจจุปันนสูตรที่ ๑
ว่าด้วยความเป็นอนิจจังแห่งขันธ์ ๕ ในสามกาล
[๓๖] พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปที่เป็นอดีต อนาคต ไม่เที่ยง จักกล่าวถึงรูปที่เป็นปัจจุบันไปไยเล่า? ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับ แล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเป็นผู้ไม่มีความอาลัยในรูปที่เป็นอดีต ไม่เพลิดเพลินรูปที่เป็นอนาคต ย่อมเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับรูปที่เป็นปัจจุบัน. เวทนาที่ เป็นอดีต เวทนาที่เป็นอนาคต ไม่เที่ยง ฯลฯ สัญญาที่เป็นอดีต สัญญาที่เป็นอนาคตไม่เที่ยง ฯลฯ สังขารที่เป็นอดีต สังขารที่เป็นอนาคตไม่เที่ยง ฯลฯ วิญญาณที่เป็นอดีต วิญญาณที่เป็นอนาคต ไม่เที่ยง จักกล่าวถึงวิญญาณที่เป็นปัจจุบันไปไยเล่า? ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเป็นผู้ไม่มีความอาลัยในวิญญาณที่เป็นอดีต ไม่เพลิดเพลินวิญญาณที่เป็น อนาคต ย่อมเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับวิญญาณที่เป็น ปัจจุบัน.
จบ สูตรที่ ๙.
๑๐. อตีตานาคตปัจจุปันนสูตรที่ ๒
ว่าด้วยความเป็นทุกข์แห่งขันธ์ ๕ ในสามกาล
[๓๗] พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปที่เป็นอดีต รูปที่เป็น อนาคตเป็นทุกข์ จักกล่าวถึงรูปที่เป็นปัจจุบันไปไยเล่า? ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับ แล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเป็นผู้ไม่มีความอาลัยในรูปที่เป็นอดีต ไม่เพลิดเพลินรูปที่เป็นอนาคต ย่อมเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับรูปที่เป็นปัจจุบัน. เวทนาที่เป็น อดีต เวทนาที่เป็นอนาคต เป็นทุกข์ ฯลฯ สัญญาที่เป็นอดีต สัญญาที่เป็นอนาคต เป็นทุกข์ ฯลฯ สังขารที่เป็นอดีต สังขารที่เป็นอนาคต เป็นทุกข์ ฯลฯ วิญญาณที่เป็นอดีต วิญญาณที่เป็น อนาคต เป็นทุกข์ จักกล่าวถึงวิญญาณที่เป็นปัจจุบันไปไยเล่า? ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้- *สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเป็นผู้ไม่มีความอาลัยในวิญญาณที่เป็นอดีต ไม่เพลิดเพลินวิญญาณ ที่เป็นอนาคต ย่อมเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับวิญญาณ ที่เป็นปัจจุบัน.
จบ สูตรที่ ๑๐.
๑๑. อตีตานาคตปัจจุปันนสูตรที่ ๓
ว่าด้วยความเป็นอนัตตาแห่งขันธ์ ๕ ในสามกาล
[๓๘] พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปที่เป็นอดีต รูปที่เป็น อนาคต เป็นอนัตตา จักกล่าวถึงรูปที่เป็นปัจจุบันไปไยเล่า? ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับ แล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเป็นผู้ไม่มีความอาลัยในรูปที่เป็นอดีต ไม่เพลิดเพลินในรูปที่เป็นอนาคต ย่อมเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับรูปที่เป็นปัจจุบัน. เวทนาที่ เป็นอดีต เวทนาที่เป็นอนาคต เป็นอนัตตา ฯลฯ สัญญาที่เป็นอดีต สัญญาที่เป็นอนาคต เป็น อนัตตา ฯลฯ สังขารที่เป็นอดีต สังขารที่เป็นอนาคต เป็นอนัตตา ฯลฯ วิญญาณที่เป็นอดีต วิญญาณที่เป็นอนาคต เป็นอนัตตา จักกล่าวถึงวิญญาณที่เป็นปัจจุบันไปไยเล่า? ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเป็นผู้ไม่มีความอาลัยในวิญญาณที่เป็นอดีต ไม่ เพลิดเพลินวิญญาณที่เป็นอนาคต ย่อมเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อ ความดับวิญญาณที่เป็นปัจจุบัน.
จบ สูตรที่ ๑๑.
จบ นกุลปิตวรรคที่ ๑.
-----------------------------------------------------
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. นกุลปิตาสูตร ๒. เทวทหสูตร ๓. หลิททิกานิสูตรที่ ๑ ๔.หลิททิกานิสูตรที่ ๒ ๕. สมาธิสูตร ๖. ปฏิสัลลานสูตร ๗. อุปาทานปริตัสสนาสูตรที่ ๑ ๘.อุปาทานปริตัส- *สนาสูตรที่ ๒ ๙.อตีตานาคตปัจจุปันนสูตรที่ ๑ ๑๐. อตีตานาคตปัจจุปันนสูตรที่ ๒ ๑๑. อตีตานาคตปัจจุปันนสูตรที่ ๓.
-----------------------------------------------------
อนิจจวรรคที่ ๒
อนิจจสูตรที่ ๑
ว่าด้วยความเป็นอนิจจังแห่งขันธ์ ๕
[๓๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิก- *เศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายแล้วตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป แม้ในเวทนา แม้ในสัญญา แม้ในสังขาร แม้ในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จึงหลุดพ้น. เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว. อริยสาวกนั้น ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.
จบ สูตรที่ ๑.
๒. ทุกขสูตรที่ ๑
ว่าด้วยความเป็นทุกข์แห่งขันธ์ ๕
[๔๐] พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปเป็นทุกข์ เวทนาเป็น ทุกข์ สัญญาเป็นทุกข์ สังขารเป็นทุกข์ วิญญาณเป็นทุกข์. อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่ อย่างนี้ ฯลฯ ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่น เพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.
จบ สูตรที่ ๒.
๓. อนัตตสูตรที่ ๑
ว่าด้วยความเป็นอนัตตาแห่งขันธ์ ๕
[๔๑] พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปเป็นอนัตตา เวทนา เป็นอนัตตา สัญญาเป็นอนัตตา สังขารเป็นอนัตตา วิญญาณเป็นอนัตตา ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป แม้ในเวทนา แม้ในสัญญา แม้ในสังขาร แม้ในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จึงหลุดพ้น. เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว. ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.
จบ สูตรที่ ๓.
๔. อนิจจสูตรที่ ๒
ว่าด้วยความเป็นอนิจจังแห่งขันธ์ ๕
[๔๒] พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้นไม่ใช่ของเรา ไม่ เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา ข้อนี้ อริยสาวก พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริง อย่างนี้ เวทนาไม่เที่ยง ฯลฯ สัญญาไม่เที่ยง ฯลฯ สังขารไม่เที่ยง ฯลฯ วิญญาณไม่เที่ยง สิ่งใดไม่ เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้นไม่ใช่ของ เรา ไม่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา ข้อนี้อริยสาวก พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็น จริงอย่างนี้ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.
จบ สูตรที่ ๔.
๕. ทุกขสูตรที่ ๒
ว่าด้วยความเป็นทุกข์แห่งขันธ์ ๕
[๔๓] พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็น ทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้นไม่ใช่ของเรา ไม่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา ข้อนี้อริยสาวก พึงเห็นด้วยสัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ เวทนาเป็นทุกข์ ฯลฯ สัญญา เป็นทุกข์ ฯลฯ สังขารเป็นทุกข์ ฯลฯ วิญญาณเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใด เป็นอนัตตา สิ่งนั้นไม่ใช่ของเรา ไม่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา ข้อนี้อริยสาวก พึงเห็นด้วย ปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้. อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ ย่อมรู้ ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่าง นี้มิได้มี.
จบ สูตรที่ ๕.
๖. อนัตตสูตรที่ ๒
ว่าด้วยความเป็นอนัตตาแห่งขันธ์ ๕
[๔๔] พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปเป็นอนัตตา รูปนั้นไม่ใช่ของเรา ไม่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา ข้อนี้ อริยสาวก พึงเห็นด้วยปัญญาอัน ชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ เวทนาเป็นอนัตตา ฯลฯ สัญญาเป็นอนัตตา ฯลฯ สังขารเป็น อนัตตา ฯลฯ วิญญาณเป็นอนัตตา ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่ อย่างนี้ ฯลฯ ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.
จบ สูตรที่ ๖.
๗. อนิจจเหตุสูตร
ว่าด้วยความเป็นอนิจจังแห่งเหตุปัจจัย
[๔๕] พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปไม่เที่ยง แม้เหตุ ปัจจัยที่ให้รูปเกิดขึ้น ก็ไม่เที่ยง. ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปที่เกิดจากสิ่งที่ไม่เที่ยง ที่ไหนจัก เที่ยงเล่า? เวทนาไม่เที่ยง ฯลฯ สัญญาไม่เที่ยง ฯลฯ สังขารไม่เที่ยง ฯลฯ วิญญาณไม่เที่ยง แม้เหตุปัจจัยที่ให้วิญญาณเกิดขึ้น ก็ไม่เที่ยง. ดูกรภิกษุทั้งหลายวิญญาณที่เกิดจากสิ่งไม่เที่ยง ที่ ไหนจะเที่ยงเล่า? อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.
จบ สูตรที่ ๗.
๘. ทุกขเหตุสูตร
ว่าด้วยความเป็นทุกข์แห่งเหตุปัจจัย
[๔๖] พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปเป็นทุกข์ แม้ เหตุปัจจัยที่ให้รูปเกิดขึ้น ก็เป็นทุกข์. ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปที่เกิดจากสิ่งที่เป็นทุกข์ ที่ไหนจะ เป็นสุขเล่า? เวทนาเป็นทุกข์ ฯลฯ สัญญาเป็นทุกข์ ฯลฯ สังขารเป็นทุกข์ ฯลฯ วิญญาณ เป็นทุกข์ แม้เหตุปัจจัยที่ให้วิญญาณเกิดขึ้น ก็เป็นทุกข์. ดูกรภิกษุทั้งหลาย วิญญาณที่เกิด จากสิ่งที่เป็นทุกข์ ที่ไหนจักเป็นสุขเล่า? อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ ย่อมรู้ ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็น อย่างนี้มิได้มี.
จบ สูตรที่ ๘.
๙. อนัตตเหตุสูตร
ว่าด้วยความเป็นอนัตตาแห่งเหตุปัจจัย
[๔๗] พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปเป็นอนัตตา แม้เหตุปัจจัยที่ให้รูปเกิดขึ้น ก็เป็นอนัตตา. ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปเกิดจากสิ่งที่เป็นอนัตตา ที่ไหนจักเป็นอัตตาเล่า? เวทนาเป็นอนัตตา ฯลฯ สัญญาเป็นอนัตตา ฯลฯ สังขารเป็นอนัตตา ฯลฯ วิญญาณเป็นอนัตตา แม้เหตุปัจจัยที่ให้วิญญาณเกิดขึ้น ก็เป็นอนัตตา ดูกรภิกษุทั้งหลาย วิญญาณที่เกิดจากสิ่งที่เป็นอนัตตา ที่ไหนจักเป็นอัตตาเล่า? อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่ อย่างนี้ ฯลฯ ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.
จบ สูตรที่ ๙.
๑๐. อานันทสูตร
ว่าด้วยความดับแห่งขันธ์ ๕
[๔๘] พระนครสาวัตถี. ฯลฯ ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ ประทับ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มี พระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความดับเรียกว่านิโรธ ความดับแห่งธรรมเหล่าไหนแล เรียกว่า นิโรธ. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ รูปแลเป็นของไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่ง อาศัย ปัจจัยเกิดขึ้น มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีความคลายไปเป็นธรรมดา มีความดับไปเป็นธรรมดา ความดับแห่งรูปนั้น เรียกว่านิโรธ. เวทนาไม่เที่ยง ฯลฯ สัญญาไม่ เที่ยง ฯลฯ สังขารไม่เที่ยง ฯลฯ วิญญาณไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่งอาศัยปัจจัยเกิดขึ้นมี ความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีความคลายไปเป็นธรรมดา มีความดับ ไปเป็นธรรมดา ความดับแห่งวิญญาณนั้น เรียกว่านิโรธ. ดูกรอานนท์ ความดับแห่งธรรม เหล่านี้แล เรียกว่านิโรธ.
จบ สูตรที่ ๑๐
จบ อนิจจวรรคที่ ๒.
-----------------------------------------------------
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. อนิจจสูตรที่ ๑ ๖. อนัตตสูตรที่ ๒ ๒. ทุกขสูตรที่ ๑ ๗. อนิจจเหตุสูตร ๓. อนัตตสูตรที่ ๑ ๘. ทุกขเหตุสูตร ๔. อนิจจสูตรที่ ๒ ๙. อนัตตเหตุสูตร ๕. ทุกขสูตรที่ ๒ ๑๐. อานันทสูตร.
-----------------------------------------------------
ภารวรรคที่ ๓
๑. ภารสูตร
ว่าด้วยขันธ์ ๕ เป็นภาระ
[๔๙] พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงภาระ ผู้แบกภาระ เครื่องถือมั่นภาระ และเครื่องวางภาระ แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้น ทูลรับสนองพระพุทธดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภาระเป็นไฉน? พึงกล่าวว่า ภาระ คืออุปาทานขันธ์ ๕ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นไฉน? คือ อุปาทานขันธ์ คือรูป อุปาทานขันธ์ คือเวทนา อุปาทานขันธ์ คือสัญญา อุปาทาน ขันธ์ คือสังขาร และอุปาทานขันธ์ คือวิญญาณ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าภาระ. [๕๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ผู้แบกภาระเป็นไฉน? พึงกล่าวว่าบุคคล บุคคลนี้นั้น คือ ท่านผู้มีชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าผู้แบกภาระ. [๕๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เครื่องถือมั่นภาระเป็นไฉน? ตัณหานี้ใด นำให้เกิดภพใหม่ ประกอบด้วยความกำหนัด ด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน มีปกติเพลิดเพลินยิ่งในภพหรืออารมณ์ นั้นๆ ได้แก่กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา. ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าเครื่องถือมั่นภาระ. [๕๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็การวางภาระเป็นไฉน? ความที่ตัณหานั่นแลดับไปด้วย สำรอกโดยไม่เหลือ ความสละ ความสละคืน ความพ้น ความไม่อาลัย. ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าการวางภาระ. พระผู้มีพระภาคผู้พระสุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลง แล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกในภายหลังว่า [๕๓] ขันธ์ ๕ ชื่อว่าภาระแล และผู้แบกภาระคือบุคคล เครื่องถือมั่น ภาระเป็นเหตุนำมาซึ่งความทุกข์ในโลก การวางภาระเสียได้เป็นสุข บุคคลวางภาระหนักเสียได้แล้ว ไม่ถือภาระอื่น ถอนตัณหาพร้อม ทั้งมูลรากแล้ว เป็นผู้หายหิว ดับรอบแล้วดังนี้.
จบ สูตรที่ ๑.
๒. ปริญญาสูตร
ว่าด้วยธรรมที่ควรกำหนดรู้และความรอบรู้
[๕๔] พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมที่ ควรกำหนดรู้และความรอบรู้ เธอทั้งหลายจงฟัง. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมที่ควรกำหนดรู้เป็น ไฉน? ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปเป็นธรรมที่ควรกำหนดรู้ เวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณ เป็น ธรรมที่ควรกำหนดรู้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้เรียกว่าธรรมที่ควรกำหนดรู้. [๕๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ความรอบรู้เป็นไฉน? คือความสิ้นไปแห่งราคะ ความสิ้น ไปแห่งโทสะ ความสิ้นไปแห่งโมหะ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าความรอบรู้.
จบ สูตรที่ ๒.
๓. ปริชานสูตร
ว่าด้วยผู้ไม่ควรและผู้ควรสิ้นทุกข์
[๕๖] พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลเมื่อไม่รู้ยิ่ง ไม่กำหนดรู้ ไม่หน่าย ไม่ละซึ่งรูป เป็นผู้ไม่ควรเพื่อสิ้นทุกข์ บุคคลเมื่อไม่รู้ยิ่ง ไม่กำหนดรู้ ไม่หน่าย ไม่ละซึ่งเวทนา ซึ่งสัญญา ซึ่งสังขาร ซึ่งวิญญาณ เป็นผู้ไม่ควรเพื่อสิ้นทุกข์. [๕๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลเมื่อรู้ยิ่ง เมื่อกำหนดรู้ เมื่อหน่าย เมื่อละได้ซึ่งรูป จึงเป็นผู้ควรเพื่อสิ้นทุกข์ บุคคลเมื่อรู้ยิ่ง เมื่อกำหนดรู้ เมื่อหน่าย เมื่อละได้ซึ่งเวทนา ซึ่งสัญญา ซึ่งสังขาร ซึ่งวิญญาณ จึงเป็นผู้ควรเพื่อสิ้นทุกข์.
จบ สูตรที่ ๓.
๔. ฉันทราคสูตร
ว่าด้วยการละฉันทราคะในขันธ์ ๕
[๕๘] พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จงละ ฉันทราคะในรูปเสีย ด้วยการละอย่างนี้ รูปนั้นจักเป็นอันเธอทั้งหลายละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว กระทำให้เป็นดังตาลยอดด้วน ทำให้ถึงความไม่มี ไม่ให้เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา. เธอทั้งหลาย จงละฉันทราคะในเวทนาเสีย ฯลฯ เธอทั้งหลาย จงละฉันทราคะในสัญญาเสีย ฯลฯ เธอทั้งหลาย จงละฉันทราคะในสังขารเสีย ฯลฯ เธอทั้งหลาย จงละฉันทราคะในวิญญาณเสีย ด้วยการละ อย่างนี้ วิญญาณนั้นจักเป็นอันเธอทั้งหลายละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว กระทำให้เป็นดังตาล ยอดด้วน ทำให้ถึงความไม่มี ไม่ให้เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา.
จบ สูตรที่ ๔.
๕. อัสสาทสูตรที่ ๑
ว่าด้วยความปริวิตกของพระโพธิสัตว์
เกี่ยวกับขันธ์ ๕
[๕๙] พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก่อนแต่ตรัสรู้ เมื่อ เรายังเป็นโพธิสัตว์ ยังไม่ได้ตรัสรู้ ได้มีความปริวิตกอย่างนี้ว่า อะไรหนอเป็นคุณของรูป อะไร เป็นโทษ อะไรเป็นเครื่องสลัดออก. อะไรเป็นคุณของเวทนา ... อะไรเป็นคุณของสัญญา ... อะไรเป็นคุณของสังขาร ... อะไรเป็นคุณของวิญญาณ อะไรเป็นโทษ อะไรเป็นเครื่องสลัดออก. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรานั้นได้ปริวิตกต่อไปว่า สุขโสมนัสอันใด อาศัยรูปเกิดขึ้น นี้เป็นคุณของรูป รูปใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษของรูป การกำจัดฉันทราคะ การละฉันทราคะในรูปเสียได้ นี้เป็นเครื่องสลัดออกแห่งรูป. สุขโสมนัสอันใด อาศัยเวทนา เกิดขึ้น ... สุขโสมนัสอันใด อาศัยสัญญาเกิดขึ้น ... สุขโสมนัสอันใด อาศัยสังขารเกิดขึ้น ... สุขโสมนัสอันใด อาศัยวิญญาณเกิดขึ้น นี้เป็นคุณแห่งวิญญาณ วิญญาณใด ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษแห่งวิญญาณ การกำจัดฉันทราคะ การละฉันทราคะใน วิญญาณเสียได้ นี้เป็นเครื่องสลัดออกแห่งวิญญาณ. [๖๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรายังไม่รู้ยิ่งซึ่งคุณโดยความเป็นคุณ โทษโดยความเป็นโทษ และเครื่องสลัดออกโดยความเป็นเครื่องสลัดออก แห่งอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ ตามความเป็น จริงอย่างนี้ เพียงใด เราก็ยังไม่ปฏิญาณว่าเป็นผู้ตรัสรู้ซึ่งอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในโลก พร้อม ทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ เพียงนั้น. เมื่อใด เรารู้ยิ่งซึ่งคุณโดยความเป็นคุณ ซึ่งโทษโดยความเป็นโทษ ซึ่งเครื่องสลัดออก โดยความเป็นเครื่องสลัดออก แห่งอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ เมื่อนั้น เราจึงปฏิญาณว่า เป็นผู้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์. ก็แลญาณทัสสนะได้เกิดขึ้น แล้วแก่เราว่า วิมุติของเราไม่กำเริบ ชาตินี้เป็นที่สุด บัดนี้ภพใหม่ไม่มี.
จบ สูตรที่ ๕.
๖. อัสสาทสูตรที่ ๒
ว่าด้วยสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงค้นพบ
[๖๑] พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราได้เที่ยวค้นหาคุณแห่ง รูป เราได้พบคุณแห่งรูปแล้ว เราได้เห็นคุณแห่งรูปเท่าที่มีอยู่ ด้วยปัญญาดีแล้ว. เราได้เที่ยว ค้นหาโทษแห่งรูป เราได้พบโทษแห่งรูปแล้ว เราได้เห็นโทษแห่งรูปเท่าที่มีอยู่ ด้วยปัญญาดีแล้ว. เราได้เที่ยวค้นหา เครื่องสลัดออกแห่งรูป เราได้พบเครื่องสลัดออกแห่งรูปแล้ว เราได้เห็นเครื่อง สลัดออกแห่งรูปเท่าที่มีอยู่ ด้วยปัญญาดีแล้ว. เราได้เที่ยวค้นหาคุณแห่งเวทนา ฯลฯ เราได้เที่ยว ค้นหาคุณแห่งสัญญา ฯลฯ เราได้เที่ยวค้นหาคุณแห่งสังขาร ฯลฯ เราได้เที่ยวค้นหาคุณแห่ง วิญญาณ เราได้พบคุณแห่งวิญญาณแล้ว เราได้เห็นคุณแห่งวิญญาณเท่าที่มีอยู่ ด้วยปัญญาดีแล้ว. เราได้เที่ยวค้นหาโทษแห่งวิญญาณ เราได้พบโทษแห่งวิญญาณแล้ว เราได้เห็นโทษแห่งวิญญาณ เท่าที่มีอยู่ด้วยปัญญาดีแล้ว. เราได้เที่ยวค้นหาเครื่องสลัดออกแห่งวิญญาณ เราได้พบเครื่อง สลัดออกแห่งวิญญาณแล้ว เราได้เห็นเครื่องสลัดออกแห่งวิญญาณเท่าที่มีอยู่ ด้วยปัญญาดี แล้ว. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรายังไม่รู้ยิ่งซึ่งคุณ โดยความเป็นคุณ โทษโดยความเป็นโทษ เครื่อง สลัดออกโดยความเป็นเครื่องสลัดออก แห่งอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ ตามความเป็นจริง เพียงใด ๑- เราก็ยังไม่ปฏิญาณ ฯลฯ เพียงนั้น. ก็แลญาณทัสสนะได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราว่า วิมุติของเราไม่กำเริบ ชาตินี้เป็นที่สุด บัดนี้ภพใหม่ไม่มี.
จบ สูตรที่ ๖.
@๑. ตรงนี้ บาลีไม่มีคำว่า "เอวํ" เหมือนข้อ ๖๐
๗. อัสสาทสูตรที่ ๓
ว่าด้วยคุณโทษและเครื่องสลัดออกแห่งขันธ์ ๕
[๖๒] พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าคุณแห่งรูปจักไม่มี ไซร้ สัตว์ทั้งหลายก็จะไม่พึงกำหนัดในรูป. แต่เพราะคุณแห่งรูปมีอยู่ ฉะนั้น สัตว์ทั้งหลาย จึง กำหนัดในรูป. ถ้าโทษแห่งรูปจักไม่มีไซร้ สัตว์ทั้งหลายก็จะไม่พึงเบื่อหน่ายในรูป. แต่เพราะโทษ แห่งรูปมีอยู่ ฉะนั้น สัตว์ทั้งหลาย จึงเบื่อหน่ายในรูป. ถ้าเครื่องสลัดออกแห่งรูปจักไม่มีไซร้ สัตว์ทั้งหลาย ก็จะไม่พึงออกไปจากรูปได้. แต่เพราะเครื่องสลัดออกแห่งรูปมีอยู่ ฉะนั้น สัตว์ ทั้งหลาย จึงออกไปจากรูปได้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าคุณแห่งเวทนา ฯลฯ แห่งสัญญา ฯลฯ แห่งสังขาร ฯลฯ แห่งวิญญาณจักไม่มีไซร้ สัตว์ทั้งหลาย ก็จะไม่พึงกำหนัดในวิญญาณ. แต่ เพราะคุณแห่งวิญญาณมีอยู่ ฉะนั้น สัตว์ทั้งหลาย จึงกำหนัดในวิญญาณ. ถ้าโทษแห่งวิญญาณ จักไม่มีไซร้ สัตว์ทั้งหลาย ก็จะไม่พึงเบื่อหน่ายในวิญญาณ. แต่เพราะโทษแห่งวิญญาณมีอยู่ ฉะนั้น สัตว์ทั้งหลาย จึงเบื่อหน่ายในวิญญาณ. ถ้าเครื่องสลัดออกแห่งวิญญาณจักไม่มีไซร้ สัตว์ทั้งหลาย ก็จะไม่พึงออกไปจากวิญญาณได้. แต่เพราะเครื่องสลัดออกแห่งวิญญาณมีอยู่ ฉะนั้น สัตว์ทั้งหลาย จึงออกไปจากวิญญาณได้. [๖๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย ยังไม่รู้ยิ่งซึ่งคุณโดยความเป็นคุณ โทษโดยความ เป็นโทษ และเครื่องสลัดออกโดยความเป็นเครื่องสลัดออก แห่งอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ ตาม ความเป็นจริง เพียงใด สัตว์ทั้งหลาย ก็ยังไม่เป็นผู้ออกไป พรากไป หลุดพ้นไป มีใจอันหา ขอบเขตมิได้อยู่ในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้ง สมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ เพียงนั้น. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อใด สัตว์ทั้งหลาย รู้ยิ่งซึ่ง คุณโดยความเป็นคุณ ซึ่งโทษโดยความเป็นโทษ ซึ่งเครื่องสลัดออกโดยความเป็นเครื่องสลัดออก แห่งอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ ตามความเป็นจริง เมื่อนั้น สัตว์ทั้งหลายจึงเป็นผู้ออกไป พรากไป หลุดพ้นไป มีใจอันหาขอบเขตมิได้อยู่ในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่ สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์.
จบ สูตรที่ ๗.
๘. อภินันทนสูตร
ว่าด้วยผลแห่งความเพลิดเพลินและไม่เพลิดเพลิน
ในขันธ์ ๕
[๖๔] พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดเพลิดเพลินรูป ผู้นั้น ชื่อว่าเพลิดเพลินทุกข์ ผู้ใดเพลิดเพลินทุกข์ เรากล่าวว่า ผู้นั้นไม่พ้นไปจากทุกข์. ผู้ใดเพลิด เพลินเวทนา ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขาร ฯลฯ วิญญาณ ผู้นั้นชื่อว่าเพลิดเพลินทุกข์ ผู้ใดเพลิด เพลินทุกข์ เรากล่าวว่า ผู้นั้นไม่พ้นไปจากทุกข์. [๖๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดแล ไม่เพลิดเพลินรูป ผู้นั้นชื่อว่าไม่เพลิดเพลินทุกข์ ผู้ใดไม่เพลิดเพลินทุกข์ เรากล่าวว่า ผู้นั้นพ้นไปจากทุกข์. ผู้ใดไม่เพลิดเพลินเวทนา ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขาร ฯลฯ วิญญาณ ผู้นั้นชื่อว่าไม่เพลิดเพลินทุกข์ ผู้ใดไม่เพลิดเพลินทุกข์ เรา กล่าวว่า ผู้นั้นพ้นไปจากทุกข์ได้.
จบ สูตรที่ ๘.
๙. อุปปาทสูตร
ว่าด้วยความเกิดและความดับทุกข์
[๖๖] พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความเกิดขึ้น ความตั้งอยู่ ความบังเกิด ความปรากฏแห่งรูป นี้เป็นความเกิดขึ้นแห่งทุกข์ เป็นความตั้งอยู่แห่งโรค เป็น ความปรากฏแห่งชราและมรณะ. ความเกิดขึ้น ความตั้งอยู่ ความบังเกิด ความปรากฏแห่ง เวทนา ฯลฯ แห่งสัญญา ฯลฯ แห่งสังขาร ฯลฯ แห่งวิญญาณ นี้เป็นความเกิดแห่งทุกข์ เป็น ความตั้งอยู่แห่งโรค เป็นความปรากฏแห่งชราและมรณะ. [๖๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความดับ ความเข้าไประงับ ความตั้งอยู่ไม่ได้แห่งรูป นี้ เป็นความดับแห่งทุกข์ เป็นความเข้าไประงับแห่งโรค เป็นความตั้งอยู่ไม่ได้แห่งชราและมรณะ. ความดับ ความเข้าไประงับ ความตั้งอยู่ไม่ได้แห่งเวทนา ฯลฯ แห่งสัญญา ฯลฯ แห่งสังขาร ฯลฯ แห่งวิญญาณ นี้เป็นความดับแห่งทุกข์ เป็นความเข้าไประงับแห่งโรค เป็นความตั้งอยู่ไม่ได้แห่ง ชราและมรณะ.
จบ สูตรที่ ๙.
๑๐. อฆมูลสูตร
ว่าด้วยทุกข์และมูลเหตุแห่งทุกข์
[๖๘] พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงทุกข์และมูล เหตุแห่งทุกข์แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกข์เป็นไฉน? ทุกข์คือ รูป ทุกข์คือเวทนา ทุกข์คือสัญญา ทุกข์คือสังขาร ทุกข์คือวิญญาณ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้ เรียกว่าทุกข์. [๖๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็มูลเหตุแห่งทุกข์เป็นไฉน? ตัณหานี้ใด นำให้เกิดในภพ ใหม่ ประกอบด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน มีปกติเพลิดเพลินยิ่งในอารมณ์ นั้นๆ ได้แก่กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่ามูลเหตุแห่งทุกข์.
จบ สูตรที่ ๑๐.
๑๑. ปภังคสูตร
ว่าด้วยความสลายและไม่สลายแห่งทุกข์
[๗๐] พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงภาวะสลาย และภาวะไม่สลาย เธอทั้งหลายจงฟัง. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเป็นภาวะสลาย อะไรเป็น ภาวะไม่สลาย? รูปเป็นภาวะสลาย ความดับ ความเข้าไประงับ ความตั้งอยู่ไม่ได้แห่งรูปนั้น นี้เป็นภาวะไม่สลาย. เวทนาเป็นภาวะสลาย ฯลฯ สัญญาเป็นภาวะสลาย ฯลฯ สังขารเป็นภาวะ สลาย ฯลฯ วิญญาณเป็นภาวะสลาย ความดับ ความเข้าไประงับ ความตั้งอยู่ไม่ได้ แห่งวิญญาณ นั้น นี้เป็นภาวะไม่สลาย.
จบ สูตรที่ ๑๑.
จบ ภารวรรคที่ ๓.
-----------------------------------------------------
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. ภารสูตร ๒. ปริญญาสูตร ๓. ปริชานสูตร ๔. ฉันทราคสูตร ๕. อัสสาทสูตรที่ ๑ ๖. อัสสาทสูตรที่ ๒ ๗. อัสสาทสูตรที่ ๓ ๘. อภินันทนสูตร ๙. อุปปาทสูตร ๑๐. อฆมูลสูตร ๑๑. ปภังคสูตร.
-----------------------------------------------------
นตุมหากวรรคที่ ๔
๑. นตุมหากสูตรที่ ๑
ว่าด้วยการละขันธ์ ๕ อันไม่ใช่ของใคร
[๗๑] พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดไม่ใช่ของเธอทั้ง หลาย เธอทั้งหลายจงละสิ่งนั้นเสีย สิ่งนั้นอันเธอทั้งหลายละได้แล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์ เกื้อกูล เพื่อสุข. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย. รูปไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละรูปนั้นเสีย รูปนั้นอันเธอทั้งหลายละได้แล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข. เวทนา ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขาร ฯลฯ วิญญาณไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จงละวิญญาณนั้นเสีย วิญญาณนั้นอันเธอทั้งหลายละได้แล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข. [๗๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนชนพึงนำไป พึงเผา หรือพึงกระทำตามปัจจัย ซึ่งหญ้า ไม้ กิ่งไม้ และใบไม้ ในเชตวันวิหารนี้ ก็เธอทั้งหลาย พึงคิดอย่างนี้หรือว่า ชน ย่อมนำไป ย่อมเผา หรือย่อมกระทำตามปัจจัยซึ่งเราทั้งหลาย. ภิกษุทั้งหลาย กราบทูลว่า ไม่ ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า. พ. ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร? ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะสิ่งนั้น ไม่ใช่ตน หรือสิ่งที่นับเนื่องในตนของข้า พระองค์ทั้งหลาย. พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน รูปไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จง ละรูปนั้นเสีย รูปนั้นอันเธอทั้งหลายละได้แล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข. เวทนา ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขาร ฯลฯ วิญญาณไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จงละ วิญญาณนั้นเสีย วิญญาณนั้น อันเธอทั้งหลายละได้แล้วจักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข.
จบ สูตรที่ ๑.
๒. นตุมหากสูตรที่ ๒
ว่าด้วยการละขันธ์ ๕ อันไม่ใช่ของใคร
[๗๓] พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดไม่ใช่ของเธอทั้ง หลาย เธอทั้งหลาย จงละสิ่งนั้นเสีย สิ่งนั้นอันเธอทั้งหลาย ละได้แล้ว จักเป็นไปเพื่อประ- *โยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย. ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จงละรูปนั้นเสีย รูปนั้นอันเธอทั้งหลาย ละได้แล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข. เวทนา ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขาร ฯลฯ วิญญาณ ไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จงละวิญญาณนั้นเสีย วิญญาณนั้นอันเธอทั้งหลาย ละได้แล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข. ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย เธอ ทั้งหลาย จงละสิ่งนั้นเสีย สิ่งนั้นอันเธอทั้งหลายละได้ จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข.
จบ สูตรที่ ๒.
๓. ภิกขุสูตรที่ ๑
ว่าด้วยเหตุได้ชื่อว่าเป็นผู้กำหนัดขัดเคือง
และลุ่มหลง
[๗๔] พระนครสาวัตถี ฯลฯ ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่ง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึง ที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มี พระภาคว่า ขอประทานวโรกาส พระเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาค ทรงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์ โดยย่อ ที่ข้าพระองค์ฟังแล้ว พึงเป็นผู้ๆ เดียวหลีกออกจากหมู่ ไม่ประมาท มีความเพียร มี ใจมั่นคงอยู่เถิด. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ บุคคลย่อมครุ่นคิดถึงสิ่งใด ย่อมถึงการนับเพราะสิ่ง นั้น บุคคลย่อมไม่ครุ่นคิดถึงสิ่งใด ย่อมไม่ถึงการนับเพราะสิ่งนั้น. ภิ. ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์เข้าใจแล้ว ข้าแต่พระสุคต ข้าพระองค์เข้าใจแล้ว. พ. ดูกรภิกษุ ก็เธอเข้าใจเนื้อความแห่งคำที่เรากล่าว โดยย่อได้โดยพิสดารอย่างไร? ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าบุคคลครุ่นคิดถึงรูป ย่อมถึงการนับเพราะรูปนั้น. ถ้าครุ่นคิด ถึงเวทนา ฯลฯ ถ้าครุ่นคิดถึงสัญญา ฯลฯ ถ้าครุ่นคิดถึงสังขาร ฯลฯ ถ้าครุ่นคิดถึงวิญญาณ ย่อม ถึงการนับเพราะวิญญาณนั้น. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าบุคคลไม่ครุ่นคิดถึงรูป ก็ไม่ถึงการนับเพราะ รูปนั้น ถ้าไม่ครุ่นคิดถึงเวทนา ฯลฯ ถ้าไม่ครุ่นคิดถึงสัญญา ฯลฯ ถ้าไม่ครุ่นคิดถึงสังขาร ฯลฯ ถ้าไม่ครุ่นคิดถึงวิญญาณ ก็ไม่ถึงการนับเพราะวิญญาณนั้น. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ เข้าใจเนื้อความแห่งพระภาษิตที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้วโดยย่อได้ โดยพิสดารอย่างนี้แล. [๗๕] พ. ถูกแล้ว ถูกแล้ว ภิกษุ เธอเข้าใจเนื้อความแห่งคำที่เรากล่าวโดยย่อได้ โดยพิสดารดีนักแล. ดูกรภิกษุ ถ้าบุคคลครุ่นคิดถึงรูป ก็ย่อมถึงการนับเพราะรูปนั้น ถ้าบุคคลครุ่น คิดถึงเวทนา ฯลฯ ถ้าครุ่นคิดถึงสัญญา ฯลฯ ถ้าครุ่นคิดถึงสังขาร ฯลฯ ถ้าครุ่นคิดถึงวิญญาณ ก็ ย่อมถึงการนับเพราะวิญญาณนั้น. ดูกรภิกษุ ถ้าบุคคลไม่ครุ่นคิดถึงรูป ก็ย่อมไม่ถึงการนับเพราะ รูปนั้น ถ้าไม่ครุ่นคิดถึงเวทนา ฯลฯ ถ้าไม่ครุ่นคิดถึงสัญญา ฯลฯ ถ้าไม่ครุ่นคิดถึงสังขาร ฯลฯ ถ้าไม่ครุ่นคิดถึงวิญญาณ ก็ย่อมไม่ถึงการนับเพราะวิญญาณนั้น. ดูกรภิกษุ เธอพึงเห็นเนื้อความ แห่งคำที่เรากล่าวโดยย่อ โดยพิสดารอย่างนี้แล. [๗๖] ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปนั้น เพลิดเพลินอนุโมทนาพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ลุกจากอาสนะ ถวายบังคม กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป. ครั้งนั้นแล เธอได้เป็นผู้ๆ เดียว หลีกออกจากหมู่ ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจมั่นคงอยู่ ไม่นานเท่าไร ก็กระทำให้แจ้งซึ่งที่ สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ที่กุลบุตรทั้งหลาย ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบ ต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหม- *จรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี. ก็ภิกษุนั้นได้เป็น พระอรหันต์องค์หนึ่งในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย.
จบ สูตรที่ ๓.
๔. ภิกขุสูตรที่ ๒
ว่าด้วยเหตุได้ชื่อว่าเป็นผู้กำหนัดขัดเคือง
และลุ่มหลง
[๗๗] พระนครสาวัตถี ฯลฯ ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่ง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ ประทับ ฯลฯ ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ขอประทานวโรกาส พระเจ้าข้า ขอพระผู้ มีพระภาค ทรงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์โดยย่อ ที่ข้าพระองค์ฟังแล้วพึงเป็นผู้ๆ เดียว หลีก ออกจากหมู่ ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจมั่นคงอยู่เถิด. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ บุคคลครุ่นคิดถึงสิ่งใด ย่อมหมกมุ่นสิ่งนั้น หมก มุ่นสิ่งใด ย่อมถึงการนับเพราะสิ่งนั้น ไม่ครุ่นคิดถึงสิ่งใด ย่อมไม่หมกมุ่นสิ่งนั้น ไม่หมกมุ่น สิ่งใด ย่อมไม่ถึงการนับเพราะสิ่งนั้น. ภิ. ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์เข้าใจแล้ว ข้าแต่พระสุคต ข้าพระองค์เข้าใจแล้ว. พ. ดูกรภิกษุ ก็เธอเข้าใจเนื้อความแห่งคำที่เรากล่าวโดยย่อได้ โดยพิสดารอย่างไร? ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าบุคคลครุ่นคิดถึงรูป ย่อมหมกมุ่นรูปใด ย่อมถึงการนับ เพราะรูปนั้น ถ้าครุ่นคิดถึงเวทนา ฯลฯ ถ้าครุ่นคิดถึงสัญญา ฯลฯ ถ้าครุ่นคิดถึงสังขาร ฯลฯ ถ้า ครุ่นคิดถึงวิญญาณ ย่อมหมกมุ่นวิญญาณนั้น หมกมุ่นวิญญาณใด ย่อมถึงการนับเพราะวิญญาณ นั้น. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าบุคคลไม่ครุ่นคิดถึงรูป ย่อมไม่หมกมุ่นรูปนั้น ไม่หมกมุ่นรูปใด. ย่อมไม่ถึงการนับเพราะรูปนั้น. ถ้าไม่ครุ่นคิดถึงเวทนา ฯลฯ ถ้าไม่ครุ่นคิดถึงสัญญา ฯลฯ ถ้าไม่ ครุ่นคิดถึงสังขาร ฯลฯ ถ้าไม่ครุ่นคิดถึงวิญญาณ ย่อมไม่หมกมุ่นวิญญาณนั้น ไม่หมกมุ่นวิญญาณ ใด ย่อมไม่ถึงการนับเพราะวิญญาณนั้น. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เข้าใจเนื้อความแห่ง พระภาษิต ที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้วโดยย่อได้ โดยพิสดารอย่างนี้แล. [๗๘] พ. ถูกแล้ว ถูกแล้ว ภิกษุ เธอเข้าใจเนื้อความแห่งคำที่เรากล่าว โดยย่อได้ โดยพิสดารดีนักแล. ดูกรภิกษุ ถ้าบุคคลครุ่นคิดถึงรูป ย่อมหมกมุ่นรูปนั้น หมกมุ่นรูปใด ย่อมถึงการนับเพราะรูปนั้น. ถ้าครุ่นคิดถึงเวทนา ฯลฯ ถ้าครุ่นคิดถึงสัญญา ฯลฯ ถ้าครุ่นคิดถึง สังขาร ฯลฯ ถ้าครุ่นคิดถึงวิญญาณ ย่อมหมกมุ่นวิญญาณนั้น หมกมุ่นวิญญาณใด ย่อมถึงการ นับเพราะวิญญาณนั้น. ดูกรภิกษุ ถ้าบุคคลไม่ครุ่นคิดถึงรูป ย่อมไม่หมกมุ่นรูปนั้น ไม่หมกมุ่น รูปใด ย่อมไม่ถึงการนับเพราะรูปนั้น. ถ้าไม่ครุ่นคิดถึงเวทนา ฯลฯ ถ้าไม่ครุ่นคิดถึงสัญญา ฯลฯ ถ้าไม่ครุ่นคิดถึงสังขาร ฯลฯ ถ้าไม่ครุ่นคิดถึงวิญญาณ ย่อมไม่หมกมุ่นวิญญาณนั้น ไม่หมกมุ่น วิญญาณใด ย่อมไม่ถึงการนับเพราะวิญญาณนั้น. ดูกรภิกษุ เธอพึงเข้าใจเนื้อความแห่งคำนี้ที่เรา กล่าวแล้วโดยย่อ โดยพิสดารอย่างนี้ ฯลฯ ก็ภิกษุรูปนั้นได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง ในจำนวน พระอรหันต์ทั้งหลาย.
จบ สูตรที่ ๔.
๕. อานันทสูตรที่ ๑
ว่าด้วยความเป็นอนิจจังแห่งขันธ์ ๕
[๗๙] พระนครสาวัตถี ฯลฯ ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์ออกจากที่พักผ่อนในเวลาเย็น เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้าง หนึ่ง ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ ถ้าภิกษุทั้งหลาย พึงถามเธออย่างนี้ว่า ท่านอานนท์ ความเกิดขึ้นแห่งธรรมเหล่าไหนย่อมปรากฏ ความเสื่อมแห่ง ธรรมเหล่าไหน ย่อมปรากฏ ความเป็นอย่างอื่นแห่งธรรมเหล่าไหนที่ตั้งอยู่แล้ว ย่อมปรากฏ ดังนี้ไซร้. เธอถูกถามอย่างนี้แล้ว จะพึงพยากรณ์ว่าอย่างไร? ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ฯลฯ ข้าพระองค์ถูกถามอย่างนี้ พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ความบังเกิดขึ้นแห่งรูปแลย่อมปรากฏ ความเสื่อม แห่งรูปย่อมปรากฏ ความเป็นอย่างอื่นแห่งรูปที่ตั้งอยู่แล้วย่อมปรากฏ. ความบังเกิดขึ้นแห่งเวทนา สัญญา ฯลฯ สังขาร ฯลฯ วิญญาณย่อมปรากฏ ความเสื่อมแห่งวิญญาณย่อมปรากฏ ความ เป็นอย่างอื่นแห่งวิญญาณย่อมปรากฏ. ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ความบังเกิดขึ้นแห่งธรรมเหล่านี้แล ย่อมปรากฏ ความเสื่อมแห่งธรรมเหล่านี้แล ย่อมปรากฏ ความเป็นอย่างอื่นแห่งธรรมที่ตั้งอยู่แล้ว ย่อมปรากฏ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์อย่างนี้แล. [๘๐] พ. ถูกแล้ว ถูกแล้ว อานนท์ ความบังเกิดขึ้นแห่งรูปแลย่อมปรากฏ ความ เสื่อมแห่งรูปแล ย่อมปรากฏ ความเป็นอย่างอื่นแห่งรูปที่ตั้งอยู่แล้ว ย่อมปรากฏ ความ บังเกิดขึ้นแห่ง เวทนา ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขาร ฯลฯ วิญญาณย่อมปรากฏ ความเสื่อม แห่งวิญญาณย่อมปรากฏ ความเป็นไปอย่างอื่นแห่งวิญญาณที่ตั้งอยู่แล้ว ย่อมปรากฏ. ดูกรอานนท์ ความบังเกิดขึ้นแห่งธรรมเหล่านี้แล ย่อมปรากฏ ความเสื่อมแห่งธรรมเหล่านี้แล ย่อมปรากฏ ความเป็นอย่างอื่นแห่งธรรมเหล่านี้ที่ตั้งอยู่แล้ว ย่อมปรากฏ. ดูกรอานนท์ เธอถูกถามอย่างนี้ แล้วพึงพยากรณ์อย่างนี้.
จบ สูตรที่ ๕.
๖. อานันทสูตรที่ ๒
ว่าด้วยความเป็นอนิจจังแห่งขันธ์ ๕
ในสามกาล
[๘๑] พระนครสาวัตถี ฯลฯ ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ ถ้าภิกษุทั้งหลายพึงถามเธออย่างนี้ว่า ท่านอานนท์ ความบังเกิดขึ้นแห่งธรรมเหล่าไหน ปรากฏแล้ว ความเสื่อมแห่งธรรมเหล่าไหนปรากฏแล้ว ความเป็นอย่างอื่นแห่งธรรมเหล่าไหนที่ ตั้งอยู่ปรากฏแล้ว. ความบังเกิดขึ้นแห่งธรรมเหล่าไหนจักปรากฏ ความเสื่อมแห่งธรรมเหล่าไหน จักปรากฏ ความเป็นอย่างอื่นแห่งธรรมที่ตั้งอยู่แล้วเหล่าไหนจักปรากฏ. ความบังเกิดขึ้นแห่ง ธรรมเหล่าไหนย่อมปรากฏ ความเสื่อมแห่งธรรมเหล่าไหนย่อมปรากฏ ความเป็นอย่างอื่นแห่ง ธรรมที่ตั้งอยู่แล้วเหล่าไหนย่อมปรากฏ. ดูกรอานนท์เธอถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์อย่างไร? ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ฯลฯ ข้าพระองค์ถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย รูปใดแลที่ล่วงไปแล้ว ดับแล้ว แปรไปแล้ว ความ บังเกิดขึ้นแห่งรูปนั้นปรากฏแล้ว ความเสื่อมแห่งรูปนั้นปรากฏแล้ว ความเป็นอย่างอื่นแห่งรูปที่ ตั้งอยู่แล้วนั้น ปรากฏแล้ว. เวทนา ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขาร ฯลฯ วิญญาณใดที่ ล่วงไปแล้ว ดับแล้ว แปรไปแล้ว ความบังเกิดขึ้นแห่งวิญญาณนั้นปรากฏแล้ว ความเสื่อมแห่ง วิญญาณนั้นปรากฏแล้ว ความเป็นอย่างอื่นแห่งวิญญาณที่ตั้งอยู่แล้วนั้นปรากฏแล้ว. ดูกรอาวุโส ทั้งหลาย ความบังเกิดขึ้นแห่งธรรมเหล่านี้แลปรากฏแล้ว ความเสื่อมแห่งธรรมเหล่านี้แลปรากฏ แล้ว ความเป็นอย่างอื่นแห่งธรรมที่ตั้งอยู่แล้วเหล่านี้แลปรากฏแล้ว. ดูกรอาวุโสทั้งหลาย รูปใด แลยังไม่เกิด ยังไม่ปรากฏ ความบังเกิดขึ้นแห่งรูปนั้นจักปรากฏ ความเสื่อมแห่งรูปนั้นจักปรากฏ ความเป็นอย่างอื่นแห่งรูปที่ตั้งอยู่แล้วนั้นจักปรากฏ. เวทนา ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขาร ฯลฯ วิญญาณใดยังไม่เกิด ยังไม่ปรากฏ ความบังเกิดขึ้นแห่งวิญญาณนั้นจักปรากฏ ความเสื่อมแห่ง วิญญาณนั้นจักปรากฏ ความเป็นอย่างอื่นแห่งวิญญาณที่ตั้งอยู่แล้วนั้นจักปรากฏ ดูกรอาวุโส ทั้งหลาย ความบังเกิดขึ้นแห่งธรรมเหล่านี้แลจักปรากฏ ความเสื่อมแห่งธรรมเหล่านี้แลจักปรากฏ ความเป็นอย่างอื่นแห่งธรรมเหล่านี้ที่ตั้งอยู่แล้วแลจักปรากฏ. ดูกรอาวุโสทั้งหลาย รูปใดแลที่เกิด ที่ปรากฏ ความบังเกิดขึ้นแห่งรูปนั้นย่อมปรากฏ ความเสื่อมแห่งรูปนั้นย่อมปรากฏ ความเป็น อย่างอื่นแห่งรูปที่ตั้งอยู่แล้วนั้นย่อมปรากฏ. เวทนา ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขาร ฯลฯ วิญญาณ ใดที่เกิด ที่ปรากฏ ความบังเกิดขึ้นแห่งวิญญาณนั้นย่อมปรากฏ ความเสื่อมแห่งวิญญาณ นั้นย่อมปรากฏ ความเป็นอย่างอื่นแห่งวิญญาณที่ตั้งอยู่แล้วนั้นย่อมปรากฏ. ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ความบังเกิดขึ้นแห่งธรรมเหล่านี้แลย่อมปรากฏ ความเสื่อมแห่งธรรมเหล่านี้แลย่อมปรากฏ ความเป็นอย่างอื่นแห่งธรรมที่ตั้งอยู่แล้วเหล่านี้แลย่อมปรากฏ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ ถูกถามอย่างนี้แล้วพึงพยากรณ์อย่างนี้แล. [๘๒] พ. ถูกแล้ว ถูกแล้ว อานนท์ รูปใดที่ล่วงไปแล้ว ดับแล้ว แปรไปแล้ว ความบังเกิดขึ้นแห่งรูปนั้นปรากฏแล้ว ฯลฯ ๑- ดูกรอานนท์ ความบังเกิดขึ้นแห่งธรรมเหล่านี้แล ย่อมปรากฏ ความเสื่อมแห่งธรรมเหล่านี้แลย่อมปรากฏ ความเป็นอย่างอื่นแห่งธรรมที่ตั้งอยู่เหล่า นี้แลย่อมปรากฏ. ดูกรอานนท์ เธอถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์อย่างนี้.
จบ สูตรที่ ๖.
๗. อนุธัมมสูตรที่ ๑
ว่าด้วยความหน่ายในขันธ์ ๕
[๘๓] พระนครสาวัตถี ฯลฯ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ภิกษุผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ ธรรม ย่อมมีธรรมอันเหมาะสม คือ พึงเป็นผู้มากไปด้วยความหน่ายในรูปอยู่ พึงเป็นผู้มากไป ด้วยความหน่ายในเวทนาอยู่ พึงเป็นผู้มากไปด้วยความหน่ายในสัญญาอยู่ พึงเป็นผู้มากไป @๑. แยกเป็นเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้ง ๓ กาล เหมือนข้อ ๘๑ ด้วยความหน่ายในสังขารอยู่ พึงเป็นผู้มากไปด้วยความหน่ายในวิญญาณอยู่. ภิกษุนั้น เมื่อเป็น ผู้มากไปด้วยความหน่ายในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณอยู่ ย่อมกำหนด รู้รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ. เมื่อกำหนดรู้รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ. ย่อมหลุดพ้นจากรูป ย่อมหลุดพ้นจากเวทนา ย่อมหลุดพ้นจากสัญญา ย่อมหลุดพ้นจากสังขาร ย่อมหลุดพ้นจากวิญญาณ ย่อมหลุดพ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส เรากล่าวว่า ย่อมหลุดพ้นจากทุกข์.
จบ สูตรที่ ๗.
๘. อนุธัมมสูตรที่ ๒
ว่าด้วยการพิจารณาเห็นอนิจจังในขันธ์ ๕
[๘๔] พระนครสาวัตถี ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ย่อมมีธรรมอันเหมาะสม คือ พึงเป็นผู้พิจารณาเห็นความไม่เที่ยงในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณอยู่. เมื่อเธอพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงในรูป ในเวทนา ในสัญญา ใน สังขาร ในวิญญาณอยู่ ย่อมกำหนดรู้รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ. เมื่อเธอกำหนดรู้รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ย่อมหลุดพ้นจากรูป ย่อมหลุดพ้นจากเวทนา ย่อมหลุดพ้น จากสัญญา ย่อมหลุดพ้นจากสังขาร ย่อมหลุดพ้นจากวิญญาณ ย่อมหลุดพ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส เรากล่าวว่า ย่อมหลุดพ้นจากทุกข์.
จบ สูตรที่ ๘.
๙. อนุธัมมสูตรที่ ๓
ว่าด้วยการพิจารณาเห็นทุกข์ในขันธ์ ๕
[๘๕] พระนครสาวัตถี ฯลฯ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ย่อมมีธรรมอันเหมาะสม คือ พึงเป็นผู้พิจารณาเห็นทุกข์ในรูป ใน เวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณอยู่. เมื่อเธอพิจารณาเห็นทุกข์ในรูป ในเวทนา ใน สัญญา ในสังขาร ในวิญญาณอยู่ ย่อมกำหนดรู้รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ. เมื่อกำหนดรู้รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ. ย่อมหลุดพ้นจากรูป ย่อมหลุดพ้นจากเวทนา ย่อมหลุดพ้นจากสัญญา ย่อมหลุดพ้นจากสังขาร ย่อมหลุดพ้นจากวิญญาณ ย่อมหลุดพ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส เรากล่าวว่า ย่อมหลุดพ้นจากทุกข์.
จบ สูตรที่ ๙.
๑๐. อนุธัมมสูตรที่ ๔
ว่าด้วยการพิจารณาเห็นอนัตตาในขันธ์ ๕
[๘๖] พระนครสาวัตถี ฯลฯ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ย่อมมีธรรมอันเหมาะสม คือ พึงเป็นผู้พิจารณาเห็นอนัตตาในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณอยู่. เมื่อเธอพิจารณาเห็นอนัตตาในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณอยู่ ย่อมกำหนดรู้รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ. เมื่อเธอกำหนดรู้รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ย่อมหลุดพ้นจากรูป ย่อมหลุดพ้นจาก เวทนา ย่อมหลุดพ้นจากสัญญา ย่อมหลุดพ้นจากสังขาร ย่อมหลุดพ้นจากวิญญาณ ย่อมหลุด พ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส เรากล่าวว่า ย่อมหลุด พ้นจากทุกข์.
จบ สูตรที่ ๑๐.
จบ นตุมหากวรรคที่ ๔.
-----------------------------------------------------
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. นตุมหากสูตรที่ ๑ ๒. นตุมหากสูตรที่ ๒ ๓. ภิกขุสูตรที่ ๑ ๔. ภิกขุสูตรที่ ๒ ๕. อานันทสูตรที่ ๑ ๖. อานันทสูตรที่ ๒ ๗. อนุธัมมสูตรที่ ๑ ๘. อนุธัมมสูตรที่ ๒ ๙. อนุธัมมสูตรที่ ๓ ๑๐. อนุธัมมสูตรที่ ๔.
-----------------------------------------------------
อัตตทีปวรรคที่ ๕
๑. อัตตทีปสูตร
ว่าด้วยการพึ่งตนพึ่งธรรม
[๘๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิก- *เศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพระภิกษุทั้งหลายแล้วตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเป็นผู้มีตนเป็นที่พึ่ง มีตนเป็นสรณะ ไม่มีสิ่งอื่นเป็นสรณะ จงเป็นผู้มีธรรมเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นสรณะ ไม่มีสิ่งอื่นเป็นสรณะ อยู่เถิด. ดูกรภิกษุทั้ง หลาย เมื่อเธอทั้งหลายจะมีตนเป็นที่พึ่ง มีตนเป็นสรณะ ไม่มีสิ่งอื่นเป็นสรณะ มีธรรมเป็น ที่พึ่ง มีธรรมเป็นสรณะ ไม่มีสิ่งอื่นเป็นสรณะอยู่ จะต้องพิจารณาโดยแยบคายว่า โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส มีกำเนิดมาอย่างไร เกิดมาจากอะไร? ดูกรภิกษุทั้ง หลาย ก็โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส มีกำเนิดมาอย่างไร เกิดมาจากอะไร? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้สดับแล้วในโลกนี้ ไม่ได้เห็นพระอริยเจ้าทั้งหลาย ไม่ฉลาดใน ธรรมของพระอริยเจ้า ไม่ได้รับแนะนำในอริยธรรม ไม่ได้เห็นสัตบุรุษทั้งหลาย ไม่ฉลาดในธรรม ของสัตบุรุษ ไม่ได้รับแนะนำในสัปปุริสธรรม ย่อมตามเห็นรูปโดยความเป็นตน ๑ ย่อมเห็น ตนมีรูป ๑ ย่อมเห็นรูปในตน ๑ ย่อมเห็นตนในรูป ๑ รูปนั้นของเขาย่อมแปรไป ย่อมเป็นอย่าง อื่นไป โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ย่อมเกิดขึ้นแก่เขา เพราะรูปแปรไปและ เป็นอื่นไป. ย่อมเห็นเวทนาโดยความเป็นตน ฯลฯ ย่อมเห็นสัญญาโดยความเป็นตน ฯลฯ ย่อม เห็นสังขารโดยความเป็นตน ฯลฯ ย่อมเห็นวิญญาณโดยความเป็นตน ๑ ย่อมเห็นตนมีวิญญาณ ๑ ย่อมเห็นวิญญาณในตน ๑ ย่อมเห็นตนในวิญญาณ ๑ วิญญาณนั้นของเขาย่อมแปรไป ย่อม เป็นอย่างอื่นไป โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ย่อมเกิดขึ้นแก่เขา เพราะ วิญญาณแปรไปและเป็นอย่างอื่นไป. [๘๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อภิกษุรู้ว่ารูปไม่เที่ยง แปรปรวนไป คลายไป ดับไป เห็นตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้ว่า รูปในกาลก่อนและรูปทั้งมวลในบัดนี้ ล้วนไม่ เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ดังนี้ ย่อมละโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และ อุปายาสได้ เพราะละโสกะเป็นต้นเหล่านั้นได้ จึงไม่สะดุ้ง เมื่อไม่สะดุ้ง ย่อมอยู่เป็นสุข ภิกษุผู้มีปกติอยู่เป็นสุข เรากล่าวว่า ผู้ดับแล้วด้วยองค์นั้น. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อภิกษุรู้ว่า เวทนาไม่เที่ยง ฯลฯ สัญญาไม่เที่ยง ฯลฯ สังขารไม่เที่ยง ฯลฯ วิญญาณไม่เที่ยง แปรปรวนไป คลายไป ดับไป เห็นตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้ว่า วิญญาณในกาลก่อน และ วิญญาณทั้งมวลในบัดนี้ ล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ดังนี้ ย่อมละ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสได้ เพราะละโสกะเป็นต้นเหล่านั้นได้ ย่อมไม่ สะดุ้ง เมื่อไม่สะดุ้ง ย่อมอยู่เป็นสุข ภิกษุผู้มีปกติอยู่เป็นสุข เรากล่าวว่า ผู้ดับแล้วด้วยองค์นั้น.
จบ สูตรที่ ๑.
๒. ปฏิปทาสูตร
ว่าด้วยข้อปฏิบัติเพื่อความเกิดและความดับ
สักกายทิฏฐิ
[๘๙] พระนครสาวัตถี ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงปฏิปทาอันจะยังสัตว์ให้ถึง สักกายสมุทัย (ความเกิดขึ้นแห่งกายตน) และปฏิปทาอันจะยังสัตว์ให้ถึงสักกายนิโรธ (ความดับ แห่งกายตน) เธอทั้งหลาย จงฟังปฏิปทาทั้ง ๒ นั้น. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ปฏิปทาอันจะยังสัตว์ ให้ถึงสักกายสมุทัยเป็นไฉน? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้สดับแล้วในโลกนี้ ไม่ได้เห็น พระอริยเจ้าทั้งหลาย ไม่ฉลาดในธรรมแห่งพระอริยะ มิได้รับการแนะนำในอริยธรรม ไม่ได้เห็น สัตบุรุษทั้งหลาย ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้รับการแนะนำในสัปปุริสธรรม ย่อมตาม เห็นรูปโดยความเป็นตน ๑ ย่อมเห็นตนมีรูป ๑ ย่อมเห็นรูปในตน ๑ ย่อมเห็นตนในรูป ๑ ย่อม เห็นเวทนาโดยความเป็นตน ฯลฯ ย่อมเห็นสัญญาโดยความเป็นตน ฯลฯ ย่อมเห็นสังขารโดย ความเป็นตน ฯลฯ ย่อมเห็นวิญญาณโดยความเป็นตน ๑ ย่อมเห็นตนมีวิญญาณ ๑ ย่อมเห็น วิญญาณในตน ๑ ย่อมเห็นตนในวิญญาณ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ปฏิปทาอันจะยังสัตว์ ให้ถึงสักกายสมุทัย. ดูกรภิกษุทั้งหลาย คำที่กล่าวแล้วนี้ เรียกว่า การตามเห็นอันจะยังสัตว์ ให้ถึงทุกขสมุทัย (ความเกิดขึ้นแห่งทุกข์) นี้แล เป็นใจความข้อนี้. [๙๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ปฏิปทาอันจะยังสัตว์ให้ถึงสักกายนิโรธเป็นไฉน? ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้วในศาสนานี้ ได้เห็นพระอริยะทั้งหลาย ฉลาดในธรรม ของพระอริยะ ได้รับการแนะนำดีแล้วในอริยธรรม ได้เห็นสัตบุรุษทั้งหลาย ฉลาดในธรรมของ สัตบุรุษ ได้รับการแนะนำดีแล้วในสัปปุริสธรรม ย่อมไม่ตามเห็นรูปโดยความเป็นตน ๑ ย่อมไม่ ตามเห็นตนมีรูป ๑ ย่อมไม่ตามเห็นรูปในตน ๑ ย่อมไม่ตามเห็นตนในรูป ๑ ไม่ตามเห็นเวทนาโดย ความเป็นตน ฯลฯ ไม่ตามเห็นสัญญาโดยความเป็นตน ฯลฯ ไม่ตามเห็นสังขารโดยความเป็นตน ฯลฯ ไม่ตามเห็นวิญญาณโดยความเป็นตน ๑ ไม่ตามเห็นตนมีวิญญาณ ๑ ไม่ตามเห็นวิญญาณใน ตน ๑ ไม่ตามเห็นตนในวิญญาณ ๑. ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ปฏิปทาอันจะยังสัตว์ให้ถึง สักกายนิโรธ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย คำที่กล่าวแล้วนี้ เรียกว่า การพิจารณาเห็นอันจะยังสัตว์ให้ ถึงทุกขนิโรธ นี้แล เป็นใจความในข้อนี้.
จบ สูตรที่ ๒.
๓. อนิจจสูตรที่ ๑
ว่าด้วยความเป็นไตรลักษณ์แห่งขันธ์ ๕
[๙๑] พระนครสาวัตถี ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้น เป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา เธอทั้งหลาย พึงเห็นสิ่งนั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา. นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตน ของเรา. เมื่อเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ จิตย่อมคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้น จากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น. เวทนาไม่เที่ยง ... สัญญาไม่เที่ยง ... สังขารไม่เที่ยง ... วิญญาณ ไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา เธอทั้งหลาย พึงเห็นสิ่งนั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา. นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา เมื่อเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความจริงอย่างนี้ จิตย่อม คลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น. [๙๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าจิตของภิกษุคลายกำหนัดแล้วจากรูปธาตุ หลุดพ้นแล้ว จากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น. ถ้าจิตของภิกษุคลายกำหนัดแล้วจากเวทนาธาตุ ... จาก สัญญาธาตุ ... จากสังขารธาตุ ... จากวิญญาณธาตุ หลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือ มั่น. เพราะหลุดพ้นแล้ว จิตจึงดำรงอยู่ เพราะดำรงอยู่ จึงยินดีพร้อม เพราะยินดีพร้อม จึง ไม่สะดุ้ง เมื่อไม่สะดุ้ง ย่อมดับรอบเฉพาะตนเท่านั้น ภิกษุนั้น ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.
จบ สูตรที่ ๓.
๔. อนิจจสูตรที่ ๒
ว่าด้วยความเป็นไตรลักษณ์แห่งขันธ์ ๕
[๙๓] พระนครสาวัตถี ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็น ทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา เธอทั้งหลาย พึงเห็นสิ่งนั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตน ของเรา. เวทนาไม่เที่ยง ... สัญญาไม่เที่ยง ... สังขารไม่เที่ยง ... วิญญาณไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้น เป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา เธอทั้งหลาย พึงเห็นสิ่งนั้น ด้วย ปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา. เมื่อเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ ทิฏฐิเป็นไปตามส่วนเบื้องต้น (อดีต) ย่อม ไม่มี เมื่อทิฏฐิเป็นไปตามส่วนเบื้องต้นไม่มี ทิฏฐิเป็นไปตามส่วนเบื้องปลาย (อนาคต) ย่อมไม่มี เมื่อทิฏฐิเป็นไปตามส่วนเบื้องปลายไม่มี ความยึดมั่นอย่างแรงกล้า ย่อมไม่มี. เมื่อความยึดมั่นอย่าง แรงกล้าไม่มี จิตย่อมคลายกำหนัดในรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ย่อมหลุดพ้น จากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น. เพราะหลุดพ้น จิตจึงดำรงอยู่ เพราะดำรงอยู่ จึงยินดีพร้อม เพราะยินดีพร้อม จึงไม่สะดุ้ง เมื่อไม่สะดุ้ง ย่อมดับรอบเฉพาะตนเท่านั้น ภิกษุนั้น ย่อมรู้ชัด ว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มี.
จบ สูตรที่ ๔.
๕. สมนุปัสสนาสูตร
ว่าด้วยการพิจารณาเห็นอุปาทานขันธ์ ๕
[๙๔] พระนครสาวัตถี ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง เมื่อพิจารณาเห็น ย่อมพิจารณาเห็นตนเป็นหลายวิธี สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมด ย่อม พิจารณาเห็นอุปาทานขันธ์ ๕ หรือแต่อย่างใดอย่างหนึ่ง. อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นไฉน? ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ปุถุชนไม่ได้สดับแล้วในโลกนี้ ไม่ได้เห็นพระอริยเจ้าทั้งหลาย ฯลฯ ไม่ได้รับการแนะนำ ในสัปปุริสธรรม ย่อมตามเห็นรูปโดยความเป็นตน ๑ ย่อมตามเห็นตนมีรูป ๑ ย่อมตามเห็นรูปใน ตน ๑ ย่อมตามเห็นตนในรูป ๑ ย่อมตามเห็นเวทนาโดยความเป็นตน ... ย่อมตามเห็นสัญญาโดย ความเป็นตน ... ย่อมตามเห็นสังขารโดยความเป็นตน ... ย่อมตามเห็นวิญญาณโดยความเป็นตน ๑ ย่อมตามเห็นตนมีวิญญาณ ๑ ย่อมตามเห็นวิญญาณในตน ๑ ย่อมตามเห็นตนในวิญญาณ ๑. การ ตามเห็นด้วยประการดังนี้แล เป็นอันผู้นั้นยึดมั่นถือมั่นว่า เราเป็น เมื่อผู้นั้น ยึดมั่นถือมั่นว่า เรา เป็นในกาลนั้นอินทรีย์ ๕ คือ จักขุนทรีย์ โสตินทรีย์ ฆานินทรีย์ ชิวหินทรีย์ กายินทรีย์ ย่อมหยั่ง ลง ดูกรภิกษุทั้งหลาย มนะมีอยู่ ธรรมทั้งหลายมีอยู่ อวิชชาธาตุมีอยู่. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อ ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับแล้ว อันความเสวยอารมณ์ ซึ่งเกิดจากอวิชชาสัมผัสถูกต้องแล้ว เขาย่อมมี ความยึดมั่นถือมั่นว่า เราเป็นดังนี้บ้าง นี้เป็นเราดังนี้บ้าง เราจักเป็นดังนี้บ้าง จักไม่เป็นดังนี้บ้าง จักมีรูปดังนี้บ้าง จักไม่มีรูปดังนี้บ้าง จักมีสัญญาดังนี้บ้าง จักไม่มีสัญญาดังนี้บ้าง จักมีสัญญาก็ หามิได้ ไม่มีสัญญาก็หามิได้ดังนี้บ้าง. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อินทรีย์ ๕ ย่อมตั้งอยู่ ในเพราะการ ตามเห็นนั้นทีเดียว เมื่อเป็นเช่นนี้ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ย่อมละอวิชชาเสียได้ วิชชาย่อมเกิด ขึ้น เพราะความคลายไปแห่งอวิชชา เพราะความเกิดขึ้นแห่งวิชชา อริยสาวกนั้น ย่อมไม่มีความ ยึดมั่นถือมั่นในอินทรีย์เหล่านั้นว่า เราเป็นดังนี้บ้าง นี้เป็นเราดังนี้บ้าง เราจักเป็นดังนี้บ้าง จักไม่ เป็นดังนี้บ้าง จักมีรูปดังนี้บ้าง จักไม่มีรูปดังนี้บ้าง จักมีสัญญาดังนี้บ้าง จักไม่มีสัญญาดังนี้บ้าง จักมีสัญญาก็หามิได้ ไม่มีสัญญาก็หามิได้ดังนี้บ้าง.
จบ สูตร ๕.
๖. ปัญจขันธสูตร
ว่าด้วยขันธ์และอุปาทานขันธ์ ๕
[๙๕] พระนครสาวัตถี ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงขันธ์ ๕ และอุปาทานขันธ์ ๕ เธอทั้งหลายจงฟัง. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ขันธ์ ๕ เป็นไฉน? ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปอย่างใดอย่าง หนึ่ง เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือ ประณีต อยู่ในที่ไกลหรือใกล้. นี้เรียกว่า รูปขันธ์. เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ สัญญาอย่าง ใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ฯลฯ วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือใกล้. นี้เรียกว่า วิญญาณขันธ์. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้เรียกว่า ขันธ์ ๕. [๙๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นไฉน? ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูป อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือใกล้ เป็นไปกับด้วยอาสวะ เป็นปัจจัยแก่อุปาทาน. นี้เรียกว่า อุปาทานขันธ์คือรูป. เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ฯลฯ วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน เป็น ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือใกล้ เป็นไปกับด้วย อาสวะ เป็นปัจจัยแก่อุปาทาน. นี้เรียกว่า. อุปาทานขันธ์คือวิญญาณ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้ เรียกว่า อุปาทานขันธ์ ๕.
จบ สูตรที่ ๖
๗. โสณสูตรที่ ๑
ว่าด้วยขันธ์ ๕ มิใช่ของเรา
[๙๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน ใกล้ พระนครราชคฤห์. ครั้งนั้นแล คฤหบดีบุตรชื่อโสณะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาค ได้ ตรัสกะคฤหบดีบุตรชื่อโสณะว่า ดูกรโสณะ ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ย่อมพิจารณา เห็นว่า เราเป็นผู้ประเสริฐกว่าเขา พิจารณาเห็นว่า เราเป็นผู้เสมอเขา หรือพิจารณาเห็นว่า เรา เป็นผู้เลวกว่าเขา ด้วยรูปอันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ที่เป็นดังนี้มิใช่ อื่นไกล นอกจากการไม่เห็นธรรม ตามความเป็นจริง. ย่อมพิจารณาเห็นว่า เราเป็นผู้ประเสริฐ กว่าเขา พิจารณาเห็นว่า เราเป็นผู้เสมอเขา หรือพิจารณาเห็นว่า เราเป็นผู้เลวกว่าเขา ด้วย เวทนาอันไม่เที่ยง ... ด้วยสัญญาอันไม่เที่ยง ... ด้วยสังขารอันไม่เที่ยง ... ด้วยวิญญาณอันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ที่เป็นดังนี้มิใช่อื่นไกล นอกจากการไม่เห็นธรรม ตาม ความเป็นจริง. [๙๘] ดูกรโสณะ ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ย่อมไม่พิจารณาเห็นว่า เรา เป็นผู้ประเสริฐกว่าเขา ไม่พิจารณาเห็นว่า เราเป็นผู้เสมอเขา หรือไม่พิจารณาเห็นว่า เราเป็นผู้ เลวกว่าเขา ด้วยรูปอันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ที่เป็นดังนี้มิใช่อื่นไกล นอกจากการเห็นธรรม ตามความเป็นจริง. ย่อมไม่พิจารณาเห็นว่า เราเป็นผู้ประเสริฐกว่าเขา ไม่ พิจารณาเห็นว่า เราเป็นผู้เสมอเขา หรือไม่พิจารณาเห็นว่า เราเป็นผู้เลวกว่าเขา ด้วยเวทนาอัน ไม่เที่ยง ... ด้วยสัญญาอันไม่เที่ยง ... ด้วยสังขารอันไม่เที่ยง ... ด้วยวิญญาณอันไม่เที่ยง ... ด้วยสังขาร อันไม่เที่ยง ... ด้วยวิญญาณอันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ที่เป็นดังนี้มิใช่ อื่นไกล นอกจากการเห็นธรรม ตามความเป็นจริง. [๙๙] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรโสณะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง? คฤหบดีบุตรชื่อโสณะทูลว่า ไม่เที่ยงพระเจ้าข้า. พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า? ส. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า. พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยงเป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอ ที่จะ พิจารณาเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นตัวตนของเรา? ส. ข้อนั้นไม่ควรเลย พระเจ้าข้า. พ. เวทนาเที่ยงหรือไม่เที่ยง? ส. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯลฯ พ. สัญญาเที่ยงหรือไม่เที่ยง? ส. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯลฯ พ. สังขารเที่ยงหรือไม่เที่ยง? ส. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯลฯ พ. วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง? ส. ไม่เที่ยงพระเจ้าข้า พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า? ส. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า. พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอ ที่จะ พิจารณาเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นตัวตนของเรา? ส. ข้อนั้นไม่ควรเลย พระเจ้าข้า. [๑๐๐] ดูกรโสณะ เพราะเหตุนั้นแล ท่านพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง อย่างนี้ว่า รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือใกล้ รูปทั้งหมดนั่น ไม่ใช่ของเรา ไม่ เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา. เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ... สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ... สังขารเหล่าใด เหล่าหนึ่ง ... วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือใกล้ วิญญาณทั้งหมดนั่น ไม่ใช่ของเรา ไม่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา. ดูกรโสณะ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่าย แม้ในรูป แม้ ในเวทนา แม้ในสัญญา แม้ในสังขาร แม้ในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด เพราะ คลายกำหนัด จิตย่อมหลุดพ้น เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว. ย่อม ทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความ เป็นอย่างนี้มิได้มี.
จบ สูตรที่ ๗.
๘. โสณสูตรที่ ๒
ว่าด้วยผู้ควรยกย่องและไม่ควรยกย่องเป็นสมณพราหมณ์
[๑๐๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน ใกล้ พระนครราชคฤห์ ครั้งนั้นแล คฤหบดีบุตรชื่อโสณะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาค ได้ ตรัสกะคฤหบดีบุตรชื่อโสณะว่า ดูกรโสณะ ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ไม่ทราบ ชัดรูป ไม่ทราบชัดเหตุเกิดแห่งรูป ไม่ทราบชัดความดับแห่งรูป ไม่ทราบชัดข้อปฏิบัติให้ถึงความ ดับแห่งรูป. ไม่ทราบชัดเวทนา ... ไม่ทราบชัดสัญญา ... ไม่ทราบชัดสังขาร ... ไม่ทราบชัดวิญญาณ ไม่ทราบชัดเหตุเกิดแห่งวิญญาณ ไม่ทราบชัดความดับแห่งวิญญาณ ไม่ทราบชัดข้อปฏิบัติให้ถึง ความดับแห่งวิญญาณ. ดูกรโสณะ สมณะหรือพราหมณ์ เหล่านี้เราไม่ยกย่องว่าเป็นสมณะใน หมู่สมณะ หรือว่าเป็นพราหมณ์ในหมู่พราหมณ์ อนึ่ง ท่านเหล่านั้น หาทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ แห่งความเป็นสมณะ หรือประโยชน์แห่งความเป็นพราหมณ์ ด้วยปัญญาอันรู้ยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ไม่. [๑๐๒] ดูกรโสณะ ส่วนสมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งทราบชัดรูป ทราบชัด เหตุเกิดแห่งรูป ทราบชัดความดับแห่งรูป ทราบชัดข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งรูป. ทราบชัด เวทนา ... ทราบชัดสัญญา ... ทราบชัดสังขาร ... ทราบชัดวิญญาณ ทราบชัดเหตุเกิดแห่งวิญญาณ ทราบชัดความดับแห่งวิญญาณ ทราบชัดข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งวิญญาณ. ดูกรโสณะ สมณะหรือพราหมณ์ เหล่านี้แล เรายกย่องว่าเป็นสมณะในหมู่สมณะ และว่าเป็นพราหมณ์ใน หมู่พราหมณ์ อนึ่ง ท่านเหล่านั้น ย่อมทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์แห่งความเป็นสมณะ และ ประโยชน์แห่งความเป็นพราหมณ์ ด้วยปัญญาอันรู้ยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่.
จบ สูตรที่ ๘.
๙. นันทิขยสูตรที่ ๑
ว่าด้วยการสิ้นความยินดีเป็นเหตุหลุดพ้นจากทุกข์
[๑๐๓] พระนครสาวัตถี ฯลฯ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุ เห็นรูปอันไม่เที่ยงนั่นแหละ ว่าไม่เที่ยง ความเห็นของเธอนั้นเป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อเธอเห็นโดย ชอบ ย่อมเบื่อหน่าย. เพราะสิ้นความยินดี จึงสิ้นความกำหนัด เพราะสิ้นความกำหนัด จึง สิ้นความยินดี เพราะสิ้นความยินดี และความกำหนัด จิตหลุดพ้นแล้ว เรียกว่า หลุดพ้นดีแล้ว. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเห็นเวทนาอันไม่เที่ยงนั่นแหละ ว่าไม่เที่ยง ฯลฯ เห็นสัญญาอันไม่เที่ยง นั่นแหละ ว่าไม่เที่ยง ฯลฯ เห็นสังขารอันไม่เที่ยงนั่นแหละ ว่าไม่เที่ยง ฯลฯ เห็นวิญญาณอัน ไม่เที่ยงนั่นแหละ ว่าไม่เที่ยง ความเห็นของเธอนั้นเป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อเธอเห็นโดยชอบ ย่อม เบื่อหน่าย เพราะสิ้นความยินดี จึงสิ้นความกำหนัด เพราะสิ้นความกำหนัด จึงสิ้นความยินดี เพราะสิ้นความยินดีและความกำหนัด จิตหลุดพ้นแล้ว เรียกว่า หลุดพ้นดีแล้ว.
จบ สูตรที่ ๙.
๑๐. นันทิขยสูตรที่ ๒
ว่าด้วยการสิ้นความยินดีเป็นเหตุหลุดพ้นจากทุกข์
[๑๐๔] พระนครสาวัตถี ฯลฯ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอ ทั้งหลาย จงทำไว้ในใจซึ่งรูปโดยอุบายอันแยบคาย และจงพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงแห่งรูป ตาม ความเป็นจริง. เมื่อภิกษุทำไว้ในใจซึ่งรูปโดยอุบายอันแยบคาย และพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง แห่งรูป ตามความเป็นจริง ย่อมเบื่อหน่ายในรูป เพราะสิ้นความยินดี จึงสิ้นความกำหนัด เพราะสิ้นความกำหนัด จึงสิ้นความยินดี เพราะสิ้นความยินดีและความกำหนัด จิตหลุดพ้นแล้ว เรียกว่า หลุดพ้นดีแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงทำไว้ในใจซึ่งเวทนาโดยอุบายอันแยบ คาย ฯลฯ ซึ่งสัญญาโดยอุบายอันแยบคาย ฯลฯ ซึ่งสังขารโดยอุบายอันแยบคาย ฯลฯ ซึ่ง วิญญาณโดยอุบายอันแยบคาย และจงพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงแห่งวิญญาณ ตามความเป็นจริง. เมื่อภิกษุทำไว้ในใจซึ่งวิญญาณโดยอุบายอันแยบคาย และพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงแห่งวิญญาณ ตามความเป็นจริง ย่อมเบื่อหน่ายในวิญญาณ. เพราะสิ้นความยินดี จึงสิ้นความกำหนัด เพราะสิ้น ความกำหนัด จึงสิ้นความยินดี เพราะสิ้นความยินดีและความกำหนัด จึงหลุดพ้นแล้ว เรียกว่า หลุดพ้นดีแล้ว.
จบ สูตรที่ ๑๐.
จบ อัตตทีปวรรคที่ ๕.
-----------------------------------------------------
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. อัตตทีปสูตร ๒. ปฏิปทาสูตร ๓. อนิจจสูตรที่ ๑ ๔. อนิจจสูตรที่ ๒ ๕. สมนุปัสสนาสูตร ๖. ปัญจขันธสูตร ๗. โสณสูตรที่ ๑ ๘. โสณสูตรที่ ๒ ๙. นันทิขยสูตรที่ ๑ ๑๐. นันทิขยสูตรที่ ๒.
จบ มูลปัณณาสก์.
-----------------------------------------------------
รวมวรรคที่มีในมูลปัณณาสก์นี้ คือ
๑. นกุลปิตาวรรค ๒. อนิจจวรรค ๓. ภารวรรค ๔. นตุมหากวรรค ๕. อัตตทีปวรรค รวม ๕ วรรค ปฐมปัณณาสก์ก็เรียกในขันธสังยุตนั้น.
-----------------------------------------------------
มัชฌิมปัณณาสก์
อุปายวรรคที่ ๑
๑. อุปายสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่เป็นความหลุดพ้นและไม่หลุดพ้น
[๑๐๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิก- *เศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความเข้า ถึง (ด้วยอำนาจตัณหา มานะ ทิฏฐิ) เป็นความไม่หลุดพ้น ความไม่เข้าถึง เป็นความหลุดพ้น. ดูกรภิกษุทั้งหลาย วิญญาณเข้าถึงรูปก็ดี เมื่อตั้งอยู่ พึงตั้งอยู่ วิญญาณที่มีรูปเป็นอารมณ์ มีรูป เป็นที่ตั้ง มีความยินดีเป็นที่เข้าไปซ่องเสพ ถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ ฯลฯ วิญญาณที่มี สังขารเป็นอารมณ์ มีสังขารเป็นที่ตั้ง มีความยินดีเป็นที่เข้าไปซ่องเสพ พึงถึงความเจริญงอกงาม ไพบูลย์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราจักบัญญัติการมา การไป จุติ อุปบัติ หรือความเจริญงอกงามไพบูลย์แห่งวิญญาณ เว้นจากรูป เวทนา สัญญา สังขาร ข้อนี้ไม่เป็น ฐานะที่จะมีได้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าความกำหนัดในรูปธาตุ ในเวทนาธาตุ ในสัญญาธาตุ ใน สังขารธาตุ ในวิญญาณธาตุ เป็นอันภิกษุละได้แล้วไซร้ เพราะละความกำหนัดเสียได้ อารมณ์ ย่อมขาดสูญ ที่ตั้งแห่งวิญญาณย่อมไม่มี วิญญาณอันไม่มีที่ตั้ง ไม่งอกงาม ไม่แต่งปฏิสนธิ หลุด พ้นไป เพราะหลุดพ้นไป จึงดำรงอยู่ เพราะดำรงอยู่ จึงยินดีพร้อม เพราะยินดีพร้อม จึงไม่ สะดุ้ง เมื่อไม่สะดุ้ง ย่อมดับรอบเฉพาะตนเท่านั้น ภิกษุนั้น ย่อมทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.
จบ สูตรที่ ๑.
๒. พีชสูตร
ว่าด้วยอุปมาวิญญาณด้วยพืช
[๑๐๖] พระนครสาวัตถี ฯลฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พืช ๕ อย่าง นี้. ๕ อย่างเป็นไฉน? คือ พืชงอกจากเหง้า ๑ พืชงอกจากลำต้น ๑ พืชงอกจากข้อ ๑ พืชงอกจาก ยอด ๑ พืชงอกจากเมล็ด ๑. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็พืช ๕ อย่างนี้ มิได้ถูกทำลาย ไม่เน่า ไม่ถูก ลมแดดทำให้เสีย ยังเพาะขึ้น อันบุคคลเก็บไว้ดี แต่ไม่มีดิน ไม่มีน้ำ. พืช ๕ อย่าง พึงถึงความ เจริญงอกงามไพบูลย์ได้หรือ? ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ข้อนั้นไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า. พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พืช ๕ อย่างนี้ มิได้ถูกทำลาย ฯลฯ อันบุคคลเก็บไว้ดี และมี ดิน มีน้ำ. พืช ๕ อย่างนี้ พึงถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ได้หรือ? ภิ. ได้ พระพุทธเจ้าข้า. [๑๐๗] พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย พึงเห็นวิญญาณฐิติ ๔ เหมือนปฐวีธาตุ พึงเห็นความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิน เหมือนอาโปธาตุ. พึงเห็นวิญญาณพร้อมด้วยอาหาร เหมือนพืช ๕ อย่าง. ดูกรภิกษุทั้งหลาย วิญญาณที่เข้าถึงรูปก็ดี เมื่อตั้งอยู่ พึงตั้งอยู่ วิญญาณ ที่มีรูปเป็นอารมณ์ มีรูปเป็นที่ตั้ง มีความยินดีเป็นที่เข้าไปซ่องเสพ พึงถึงความเจริญงอกงาม ไพบูลย์. ดูกรภิกษุทั้งหลาย วิญญาณที่เข้าถึงเวทนาก็ดี ฯลฯ วิญญาณที่เข้าถึงสัญญาก็ดี ฯลฯ วิญญาณที่เข้าถึงสังขารก็ดี เมื่อตั้งอยู่ พึงตั้งอยู่ วิญญาณที่มีสังขารเป็นอารมณ์ มีสังขารเป็นที่ตั้ง มีความยินดีเป็นที่เข้าไปซ่องเสพ พึงถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดพึง กล่าวอย่างนี้ว่า เราจักบัญญัติการมา การไป จุติ อุปบัติ หรือความเจริญงอกงามไพบูลย์แห่ง วิญญาณ เว้นจากรูป เวทนา สัญญา สังขาร ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าความกำหนัดในรูปธาตุ ในเวทนาธาตุ ในสัญญาธาตุ ในสังขารธาตุ ในวิญญาณธาตุ เป็นอันภิกษุละได้แล้วไซร้ เพราะละความกำหนัดเสียได้ อารมณ์ย่อมขาดสูญ ที่ตั้งแห่งวิญญาณ ย่อมไม่มี วิญญาณอันไม่มีที่ตั้งนั้น ไม่งอกงาม ไม่แต่งปฏิสนธิ หลุดพ้นไป เพราะหลุดพ้นไป จึงดำรงอยู่ เพราะดำรงอยู่ จึงยินดีพร้อม เพราะยินดีพร้อม จึงไม่สะดุ้ง เมื่อไม่สะดุ้ง ย่อม ดับรอบเฉพาะตนเท่านั้น. เธอย่อมทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.
จบ. สูตรที่ ๒.
๓. อุทานสูตร
ว่าด้วยการตัดสังโยชน์และความสิ้นอาสวะ
[๑๐๘] พระนครสาวัตถี. ฯลฯ ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาค ทรงเปล่งอุทานว่า ภิกษุ น้อมใจไปอย่างนี้ว่า ถ้าว่าเราไม่พึงมี ขันธปัญจกของเราก็ไม่พึงมี กรรมสังขารจักไม่มี การ ปฏิสนธิก็จักไม่มีแก่เรา ดังนี้ พึงตัดโอรัมภาคิยสังโยชน์ได้. [๑๐๙] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอุทานอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่ง ได้ทูลถามว่า ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ ก็ภิกษุน้อมใจไปอย่างนี้ว่า ถ้าว่าเราไม่พึงมี ขันธปัญจกของเราก็ไม่พึงมี กรรม สังขารจักไม่มี ปฏิสนธิก็จักไม่มีแก่เรา ดังนี้ พึงตัดโอรัมภาคิยสังโยชน์ได้อย่างไร พระเจ้าข้า? พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับแล้วในโลกนี้ ไม่ได้เห็นพระอริยเจ้า ฯลฯ ไม่ได้รับการแนะนำในสัปปุริสธรรม ย่อมตามเห็นรูปโดยความเป็นตน ๑ ย่อมเห็นตนมีรูป ๑ ย่อมเห็นรูปในตน ๑ ย่อมเห็นตนในรูป ๑ ตามเห็นเวทนาโดยความเป็นตน ฯลฯ ตามเห็นสัญญา โดยความเป็นตน ฯลฯ ตามเห็นสังขารโดยความเป็นตน ฯลฯ ตามเห็นวิญญาณโดยความเป็นตน ๑ ย่อมเห็นตนมีวิญญาณ ๑ ย่อมเห็นวิญญาณในตน ๑ ย่อมเห็นตนในวิญญาณ ๑. เขาย่อมไม่ทราบ ชัดรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันไม่เที่ยง ตามความเป็นจริงว่า เป็นของไม่เที่ยง. ไม่ทราบชัดรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นทุกข์ตามความเป็นจริงว่า เป็นทุกข์. ไม่ทราบชัดรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นอนัตตา ตามความเป็นจริงว่า เป็น อนัตตา. ไม่ทราบชัดรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันปัจจัยปรุงแต่ง ตามความเป็น จริงว่า อันปัจจัยปรุงแต่ง. ไม่ทราบชัดตามความเป็นจริงว่า แม้รูป แม้เวทนา แม้สัญญา แม้ สังขาร แม้วิญญาณ จักมี. [๑๑๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนอริยสาวกผู้ได้สดับแล้วแล ผู้ใดเห็นพระอริยเจ้า ฉลาดในธรรมของพระอริยเจ้า ได้รับการแนะนำดีในอริยธรรม ได้เห็นสัตบุรุษ ฉลาดในธรรม ของสัตบุรุษ ได้รับการแนะนำดีในสัปปุริสธรรม ย่อมไม่พิจารณาเห็นรูปโดยความเป็นตน ฯลฯ ไม่ พิจารณาเห็นเวทนาโดยความเป็นตน ฯลฯ ไม่พิจารณาเห็นสัญญาโดยความเป็นตน ฯลฯ ไม่ พิจารณาเห็นสังขารโดยความเป็นตน ฯลฯ ไม่พิจารณาเห็นวิญญาณโดยความเป็นตน ฯลฯ เธอ ย่อมทราบชัดรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันไม่เที่ยง ตามความเป็นจริงว่า ไม่เที่ยง. ย่อมทราบชัดรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นทุกข์ ตามความเป็นจริงว่า เป็นว่า ทุกข์. ย่อมทราบชัดรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นอนัตตา ตามความเป็นจริงว่า เป็นอนัตตา. ย่อมทราบชัดรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันปัจจัยปรุงแต่ง ตามความ เป็นจริงว่า อันปัจจัยปรุงแต่ง. ย่อมทราบชัดตามความเป็นจริงว่า แม้รูป แม้เวทนา แม้สัญญา แม้สังขาร แม้วิญญาณ จักมี. ย่อมทราบชัดตามความเป็นจริงเช่นนั้น เพราะเห็นความเป็น ต่างๆ แห่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ. ดูกรภิกษุ เมื่อภิกษุน้อมใจไปอย่างนี้แล ว่า ถ้าว่าเราไม่พึงมี ขันธปัญจกของเราก็ไม่พึงมี กรรมสังขารจักไม่มี ปฏิสนธิก็จักไม่มีแก่เรา ดังนี้ พึงตัดโอรัมภาคิยสังโยชน์ได้ ด้วยอาการอย่างนี้แล. [๑๑๑] ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุน้อมใจไปอยู่อย่างนี้ พึงตัดโอรัมภาคิยสังโยชน์ เสียได้. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อภิกษุรู้เห็นอย่างไร อาสวะทั้งหลายจึงจะสิ้นไปในกาลเป็น ลำดับ. พ. ดูกรภิกษุ ปุถุชนผู้มิได้สดับแล้วในโลกนี้ ฯลฯ ย่อมถึงความสะดุ้ง ในฐานะอันไม่ควร สะดุ้ง. ดูกรภิกษุ ก็ปุถุชนผู้มิได้สดับแล้ว ย่อมมีความสะดุ้ง ดังนี้ว่า ถ้าเราไม่พึงมี แม้ขันธ- *ปัญจกของเราก็ไม่พึงมี กรรมสังขารจักไม่มี ปฏิสนธิของเราก็จักไม่มี ดังนี้. ดูกรภิกษุ ส่วนอริย- *สาวกผู้ได้สดับแล้วแล ฯลฯ ย่อมไม่ถึงความสะดุ้งในฐานะอันไม่ควรสะดุ้ง. ดูกรภิกษุ อริยสาวกผู้ ได้สดับแล้ว ไม่มีความสะดุ้งดังนี้ว่า ถ้าเราไม่พึงมี ขันธปัญจกของเราก็ไม่พึงมี กรรมสังขารจักไม่มี ปฏิสนธิของเราก็จักไม่มี ดังนี้. ดูกรภิกษุ วิญญาณที่เข้าถึงรูปก็ดี เมื่อตั้งอยู่ พึงตั้งอยู่ วิญญาณที่มีรูป เป็นอารมณ์ มีรูปเป็นที่ตั้ง มีความยินดีเป็นที่เข้าไปซ่องเสพ พึงถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์. วิญญาณที่เข้าถึงเวทนาก็ดี ฯลฯ วิญญาณที่เข้าถึงสัญญาก็ดี ฯลฯ วิญญาณที่เข้าถึงสังขารก็ดี เมื่อ ตั้งอยู่ พึงตั้งอยู่ วิญญาณที่มีสังขารเป็นอารมณ์ มีสังขารเป็นที่ตั้ง มีความยินดีเป็นที่เข้าไปซ่อง เสพ พึงถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์. ภิกษุนั้นพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราจักบัญญัติการมา การไป จุติ อุปบัติ หรือความเจริญงอกงามไพบูลย์แห่งวิญญาณ เว้นจากรูป เวทนา สัญญา สังขาร ดังนี้ ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าความกำหนัดในรูปธาตุ ในเวทนาธาตุ ในสัญญาธาตุ ในสังขารธาตุ ในวิญญาณธาตุ เป็นอันภิกษุละได้แล้วไซร้ เพราะละความกำหนัด เสียได้ อารมณ์ย่อมขาดสูญ ที่ตั้งแห่งวิญญาณย่อมไม่มี วิญญาณอันไม่มีที่ตั้งนั้น ไม่งอกงาม ไม่แต่งปฏิสนธิ หลุดพ้นไป เพราะหลุดพ้นไป จึงดำรงอยู่ เพราะดำรงอยู่ จึงยินดีพร้อม เพราะยินดีพร้อม จึงไม่สะดุ้ง เมื่อไม่สะดุ้ง ย่อมดับรอบเฉพาะตนเท่านั้น. เธอย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มี. ดูกรภิกษุ เมื่อบุคคลรู้เห็นอย่างนี้แล อาสวะทั้งหลายย่อมสิ้นไป ในกาลเป็นลำดับ.
จบ สูตรที่ ๓.
๔. ปริวัฏฏสูตร
ว่าด้วยการรู้อุปาทานขันธ์โดยเวียนรอบ ๔
[๑๑๒] พระนครสาวัตถี. ฯลฯ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน? คือ อุปาทานขันธ์คือรูป อุปาทานขันธ์คือเวทนา อุปาทานขันธ์คือสัญญา อุปาทานขันธ์คือสังขาร อุปาทานขันธ์คือวิญญาณ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรายังไม่รู้ยิ่งซึ่งอุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้ โดยเวียนรอบ ๔ ตามความเป็นจริง เพียงใด เราก็ยัง ไม่ปฏิญาณว่า เป็นผู้ตรัสรู้ชอบยิ่งซึ่งสัมมาสัมโพธิญาณ อย่างยอดเยี่ยม ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์เพียงนั้น. ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดแล เรารู้ยิ่งซึ่งอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ โดยเวียนรอบ ๔ ตามความเป็น จริง เมื่อนั้น เราจึงปฏิญาณว่า เป็นผู้ตรัสรู้ชอบยิ่งซึ่งสัมมาสัมโพธิญาณ อย่างยอดเยี่ยม ในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและ มนุษย์. เวียนรอบ ๔ อย่างไร? คือ เรารู้ยิ่งซึ่งรูป ความเกิดแห่งรูป ความดับแห่งรูป ปฏิปทา อันให้ถึงความดับแห่งรูป รู้ยิ่งซึ่งเวทนา ฯลฯ รู้ยิ่งซึ่งสัญญา ฯลฯ รู้ยิ่งซึ่งสังขาร ฯลฯ รู้ยิ่งซึ่ง วิญญาณ ความเกิดแห่งวิญญาณ ความดับแห่งวิญญาณ ปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งวิญญาณ. [๑๑๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็รูปเป็นไฉน? คือ มหาภูตรูป ๔ และรูปที่อาศัยมหาภูต รูป ๔. นี้เรียกว่ารูป. ความเกิดขึ้นแห่งรูป ย่อมมีเพราะความเกิดขึ้นแห่งอาหาร ความดับแห่งรูป ย่อมมีเพราะความดับแห่งอาหาร อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ. นี้แลเป็นปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งรูป. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะหรือ พราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง รู้ยิ่งซึ่งรูปอย่างนี้ รู้ยิ่งซึ่งความเกิดแห่งรูปอย่างนี้ รู้ยิ่งซึ่งความดับ แห่งรูปอย่างนี้ รู้ยิ่งซึ่งปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งรูปอย่างนี้ ปฏิบัติแล้วเพื่อความหน่าย เพื่อ ความคลายกำหนัด เพื่อความดับรูป สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่าปฏิบัติดีแล้ว ชนเหล่าใด ปฏิบัติดีแล้ว ชนเหล่านั้น ชื่อว่าย่อมหยั่งลงในธรรมวินัยนี้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะหรือ พราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง รู้ยิ่งซึ่งรูปอย่างนี้ รู้ยิ่งซึ่งความเกิดแห่งรูปอย่างนี้ รู้ยิ่งซึ่งความดับ แห่งรูปอย่างนี้ รู้ยิ่งซึ่งข้อปฏิบัติอันให้ถึงความดับแห่งรูปอย่างนี้ เป็นผู้หลุดพ้นแล้ว เพราะเบื่อ หน่าย เพราะคลายกำหนัด เพราะความดับ เพราะไม่ถือมั่นรูป สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่า หลุดพ้นแล้วดี สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด หลุดพ้นดีแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่า นั้น เป็นผู้มีกำลังสามารถเป็นของตน สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด เป็นผู้มีกำลังสามารถเป็น ของตน ความเวียนวนเพื่อปรากฏ ย่อมไม่มีแก่สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น. [๑๑๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เวทนาเป็นไฉน? เวทนา ๖ หมวดนี้ คือ เวทนาเกิดแต่ จักขุสัมผัส เวทนาเกิดแต่โสตสัมผัส เวทนาเกิดแต่ฆานสัมผัส เวทนาเกิดแต่ชิวหาสัมผัส เวทนาเกิดแต่กายสัมผัส เวทนาเกิดแต่มโนสัมผัส. ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าเวทนา ความ เกิดขึ้นแห่งเวทนา ย่อมมีเพราะความเกิดขึ้นแห่งผัสสะ ความดับแห่งเวทนา ย่อมมีเพราะความ ดับแห่งผัสสะ อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ. นี้ แลเป็นปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งเวทนา. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด เหล่าหนึ่ง รู้ยิ่งซึ่งเวทนาอย่างนี้ รู้ยิ่งซึ่งความเกิดแห่งเวทนาอย่างนี้ รู้ยิ่งซึ่งความดับแห่งเวทนา อย่างนี้ รู้ยิ่งซึ่งปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งเวทนาอย่างนี้ ปฏิบัติแล้วเพื่อความหน่าย เพื่อ ความคลายกำหนัด เพื่อความดับเวทนา สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่าปฏิบัติดีแล้ว ชน เหล่าใด ปฏิบัติดีแล้ว ชนเหล่านั้น ชื่อว่า ย่อมหยั่งลงในธรรมวินัยนี้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง รู้ยิ่งซึ่งเวทนาอย่างนี้ รู้ยิ่งซึ่งความเกิดแห่งเวทนาอย่างนี้ รู้ยิ่งซึ่งความดับแห่งเวทนาอย่างนี้ รู้ยิ่งซึ่งข้อปฏิบัติอันให้ถึงความดับแห่งเวทนาอย่างนี้ เป็นผู้ หลุดพ้นแล้ว เพราะเบื่อหน่าย เพราะคลายกำหนัด เพราะความดับ เพราะไม่ถือมั่นเวทนา สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่า หลุดพ้นดีแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด หลุดพ้นดีแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น เป็นผู้มีกำลังสามารถเป็นของตน สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด เป็นผู้มีกำลังสามารถเป็นของตน ความเวียนวนเพื่อความปรากฏ ย่อมไม่มีแก่สมณะหรือพราหมณ์ เหล่านั้น. [๑๑๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัญญาเป็นไฉน? ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัญญา ๖ หมวดนี้ คือ ความสำคัญในรูป ความสำคัญในเสียง ความสำคัญในกลิ่น ความสำคัญในรส ความสำคัญ ในโผฏฐัพพะ ความสำคัญในธรรมารมณ์. ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าสัญญา. ความเกิดขึ้น แห่งสัญญา ย่อมมี เพราะความเกิดขึ้นแห่งผัสสะ ความดับแห่งสัญญา ย่อมมี เพราะความดับแห่ง ผัสสะ อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ. นี้แลเป็น ปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งสัญญา. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง รู้ยิ่งซึ่งสัญญาอย่างนี้ ฯลฯ ความวนเวียนเพื่อความปรากฏ ย่อมไม่มี แก่สมณะหรือพราหมณ์ เหล่านั้น. [๑๑๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สังขารเป็นไฉน? ดูกรภิกษุทั้งหลาย เจตนา ๖ หมวดนี้ คือ รูปสัญเจตนา สัททสัญเจตนา คันธสัญเจตนา รสสัญเจตนา โผฏฐัพพสัญเจตนา ธรรม สัญเจตนา. ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าสังขาร. ความเกิดขึ้นแห่งสังขาร ย่อมมีเพราะความ เกิดขึ้นแห่งผัสสะ ความดับแห่งสังขาร ย่อมมี เพราะความดับแห่งผัสสะ อริยมรรคประกอบ ด้วยองค์ ๘ ประการ คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ. นี้แลเป็นปฏิปทาอันให้ถึงความดับ แห่งสังขาร. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง รู้ยิ่งซึ่งสังขารอย่าง นี้ ฯลฯ ความวนเวียนเพื่อปรากฏ ย่อมไม่มี แก่สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น [๑๑๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย วิญญาณเป็นไฉน? ดูกรภิกษุทั้งหลาย วิญญาณ ๖ หมวดนี้ คือ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ. ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย นี้เรียกว่าวิญญาณ. ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณ ย่อมมี เพราะความเกิดขึ้นแห่งนามรูป ความดับแห่งวิญญาณย่อมมี เพราะความดับแห่งนามรูป อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ คือสัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ. นี้แลเป็นปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งวิญญาณ. ดูกรภิกษุทั้ง หลาย ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง รู้ยิ่งซึ่งวิญญาณอย่างนี้ รู้ยิ่งซึ่งเหตุเกิดแห่ง วิญญาณอย่างนี้ รู้ยิ่งซึ่งความดับแห่งวิญญาณอย่างนี้ รู้ยิ่งซึ่งข้อปฏิบัติอันให้ถึงความดับแห่งวิญญาณ อย่างนี้ ปฏิบัติแล้ว เพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับวิญญาณ สมณะ หรือพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่าปฏิบัติดีแล้ว ชนเหล่าใด ปฏิบัติดีแล้ว ชนเหล่านั้น ชื่อว่าย่อม หยั่งลงในธรรมวินัยนี้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง รู้ยิ่งซึ่ง วิญญาณอย่างนี้ รู้ยิ่งซึ่งความเกิดแห่งวิญญาณอย่างนี้ รู้ยิ่งซึ่งความดับแห่งวิญญาณอย่างนี้ รู้ยิ่งซึ่ง ข้อปฏิบัติอันให้ถึงความดับแห่งวิญญาณอย่างนี้ เป็นผู้หลุดพ้นแล้ว เพราะเบื่อหน่าย เพราะคลาย กำหนัด เพราะความดับ เพราะไม่ถือมั่นวิญญาณ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่าหลุด พ้นดีแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด หลุดพ้นดีแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น เป็นผู้มี กำลังสามารถเป็นของตน สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเป็นผู้มีกำลังสามารถเป็นของตน ความ วนเวียนเพื่อความปรากฏ ย่อมไม่มีแก่สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น.
จบ สูตรที่ ๔.
๕. สัตตัฏฐานสูตร
ว่าด้วยการรู้ขันธ์ ๕ โดยฐานะ
[๑๑๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิก- *เศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ฉลาดในฐานะ ๗ ประการ ผู้เพ่งพินิจโดยวิธี ๓ ประการ เราเรียกว่า ยอดบุรุษ ผู้เสร็จกิจ อยู่จบพรหมจรรย์ ในธรรมวินัยนี้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุผู้ฉลาดใน ในฐานะ ๗ ประการ เป็นอย่างไร? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ รู้ชัดซึ่งรูป เหตุเกิด แห่งรูป ความดับแห่งรูป ปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งรูป คุณแห่งรูป โทษแห่งรูป และ อุบายเครื่องสลัดออกแห่งรูป. รู้ชัดเวทนา ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขาร ฯลฯ วิญญาณ เหตุเกิด แห่งวิญญาณ ความดับแห่งวิญญาณ ปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งวิญญาณ คุณแห่งวิญญาณ โทษแห่งวิญญาณ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งวิญญาณ. [๑๑๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็รูปเป็นไฉน? มหาภูตรูป ๔ และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ นี้เรียกว่ารูป. ความเกิดขึ้นแห่งรูป ย่อมมีเพราะความเกิดขึ้นแห่งอาหาร ความดับแห่งรูป ย่อม มีเพราะความดับแห่งอาหาร อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ. นี้แลเป็นปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งรูป. ความสุขโสมนัสอาศัยรูปนี้เกิดขึ้น นี้เป็นคุณแห่งรูป รูปไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษแห่งรูป การกำจัดฉันทราคะ การละฉันทราคะในรูปเสียได้ นี้เป็นอุบายเครื่องสลัดออกแห่งรูป. ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะ หรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง รู้ยิ่งซึ่งรูป เหตุเกิดแห่งรูป ความดับแห่งรูป ปฏิปทาอันให้ถึง ความดับแห่งรูป คุณแห่งรูป โทษแห่งรูป และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งรูป อย่างนี้ๆ แล้ว ปฏิบัติ เพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับรูป สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ปฏิบัติดีแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดปฏิบัติดีแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่า ย่อมหยั่งลงในธรรมวินัยนี้. ส่วน สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง รู้ยิ่งซึ่งรูป เหตุเกิด แห่งรูป ความดับแห่งรูป ปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งรูป คุณแห่งรูป โทษแห่งรูป และ อุบายเครื่องสลัดออกแห่งรูป อย่างนี้ๆ แล้ว หลุดพ้นไป เพราะความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด ความดับ (และ) เพราะไม่ถือมั่นรูป สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่าหลุดพ้นดีแล้ว สมณะ หรือพราหมณ์เหล่าใด หลุดพ้นดีแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น เป็นอันเสร็จกิจ สมณะ หรือพราหมณ์เหล่าใดเสร็จกิจ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมไม่มีวัฏฏะเพื่อความปรากฏอีก. [๑๒๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เวทนาเป็นไฉน? เวทนา ๖ หมวดนี้ คือ เวทนาเกิด เพราะจักขุสัมผัส ฯลฯ เวทนาเกิดเพราะมโนสัมผัส. นี้เรียกว่าเวทนา. ความเกิดขึ้นแห่งเวทนา ย่อมมีเพราะความเกิดขึ้นแห่งผัสสะ ความดับแห่งเวทนา ย่อมมีเพราะความดับแห่งผัสสะ อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ. นี้แลเป็นปฏิปทาอันให้ถึง ความดับแห่งเวทนา ฯลฯ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมไม่มีวัฏฏะเพื่อความปรากฏอีก. [๑๒๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัญญาเป็นไฉน? สัญญา ๖ หมวดนี้ คือ รูปสัญญา สัททสัญญา คันธสัญญา รสสัญญา โผฏฐัพพสัญญา ธรรมสัญญา. นี้เรียกว่าสัญญา. ความ เกิดขึ้นแห่งสัญญา ย่อมมีเพราะความเกิดขึ้นแห่งผัสสะ ความดับแห่งสัญญา ย่อมมีเพราะความ ดับแห่งผัสสะ อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ. นี้แลเป็น ปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งสัญญา ฯลฯ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมไม่มีวัฏฏะเพื่อ ความปรากฏอีก. [๑๒๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังขารเป็นไฉน? เจตนา ๖ หมวดนี้ คือรูปสัญเจตนา ฯลฯ ธรรมสัญเจตนา. นี้เรียกว่าสังขาร. ความเกิดขึ้นแห่งสังขาร ย่อมมีเพราะความเกิดขึ้น แห่งผัสสะ ความดับแห่งสังขาร ย่อมมีเพราะความดับแห่งผัสสะ อริยมรรคอันประกอบ ด้วยองค์ ๘ คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ. นี้แลเป็นปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่ง สังขาร ฯลฯ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมไม่มีวัฏฏะเพื่อความปรากฏอีก. [๑๒๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็วิญญาณเป็นไฉน? วิญญาณ ๖ หมวดนี้ คือ จักขุ วิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ นี้เรียกว่า วิญญาณ. ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณ ย่อมมีเพราะความเกิดขึ้นแห่งนามรูป ความดับแห่ง วิญญาณ ย่อมมีเพราะความดับแห่งนามรูป อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ. นี้แล เป็นปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งวิญญาณ. สุขโสมนัสอาศัยวิญญาณเกิดขึ้น นี้เป็นคุณแห่งวิญญาณ วิญญาณไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษ แห่งวิญญาณ การกำจัดฉันทราคะ การละฉันทราคะในวิญญาณ นี้เป็นความสลัดออกแห่ง วิญญาณ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง รู้ยิ่งซึ่งวิญญาณ เหตุ เกิดแห่งวิญญาณ ความดับแห่งวิญญาณ ปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งวิญญาณ คุณแห่ง วิญญาณ โทษแห่งวิญญาณ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งวิญญาณ อย่างนี้ๆ แล้ว ปฏิบัติ เพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับวิญญาณ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่า ปฏิบัติดีแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด ปฏิบัติดีแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่า ย่อมหลั่งลงในธรรมวินัยนี้. สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง รู้ยิ่งซึ่งวิญญาณ เหตุเกิด แห่งวิญญาณ ความดับแห่งวิญญาณ ปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งวิญญาณ คุณแห่งวิญญาณ โทษแห่งวิญญาณ อุบายเครื่องสลัดออกแห่งวิญญาณ อย่างนี้ๆ แล้ว หลุดพ้นไป เพราะความ เบื่อหน่าย เพราะคลายกำหนัด เพราะดับ เพราะไม่ถือมั่นวิญญาณ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น หลุดพ้นดีแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด หลุดพ้นดีแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น เป็นอันเสร็จกิจแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเสร็จกิจแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมไม่มีวัฏฏะเพื่อความปรากฏอีก. [๑๒๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้เพ่งพินิจโดยวิธี ๓ ประการ เป็นอย่างไร? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเพ่งพินิจโดยความเป็นธาตุประการหนึ่ง โดยความเป็นอายตนะประการ หนึ่ง โดยความเป็นปฏิจจสมุปบาทประการหนึ่ง. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุย่อมเป็นผู้ เพ่งพินิจโดยวิธี ๓ ประการ. ภิกษุฉลาดในฐานะ ๗ ประการ ผู้เพ่งพินิจโดยวิธี ๓ ประการ เรา เรียกว่า ยอดบุรุษ ผู้เสร็จกิจ อยู่จบพรหมจรรย์ในธรรมวินัยนี้.
จบ สูตรที่ ๕.
๖. พุทธสูตร
ว่าด้วยเหตุให้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า
[๑๒๕] พระนครสาวัตถี ฯลฯ ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หลุดพ้นเพราะเบื่อหน่าย เพราะคลายกำหนัด เพราะดับ เพราะไม่ถือมั่นรูป ... เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณ เทวดาและมนุษย์ ต่างพากันเรียกว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า. ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ภิกษุผู้หลุดพ้นได้ด้วยปัญญา หลุดพ้นแล้ว เพราะเบื่อหน่าย เพราะคลายกำหนัด เพราะดับ เพราะไม่ถือมั่นรูป ... เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณ เราเรียกว่า ผู้หลุดพ้นได้ด้วยปัญญา. [๑๒๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในข้อนั้นจะมีอะไรเป็นข้อแปลกกัน จะมีอะไรเป็นข้อ ประสงค์ที่ยิ่งกว่ากัน จะมีอะไรเป็นเหตุทำให้ต่างกัน ระหว่างพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า กับภิกษุผู้หลุดพ้นได้ด้วยปัญญา? ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมของข้าพระองค์ทั้งหลาย มีพระผู้ มีพระภาคเป็นรากฐาน เป็นแบบฉบับ เป็นที่อิงอาศัย ขอประทานพระวโรกาส ขออรรถแห่ง ภาษิตนี้ จงแจ่มแจ้งกะพระผู้มีพระภาคทีเดียวเถิด ภิกษุทั้งหลาย ได้สดับต่อพระผู้มีพระภาคแล้ว จักทรงจำไว้. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ถ้าอย่างนั้น เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว. ภิกษุเหล่านั้น ทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว. พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังทางที่ยังไม่เกิด ให้เกิด ยังประชุมชนให้รู้จักมรรคที่ใครๆ ไม่รู้จัก บอกทางที่ยังไม่มีใครบอก เป็นผู้รู้จักทาง ประกาศทางให้ปรากฏ ฉลาดในทาง. ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็สาวกทั้งหลาย ในบัดนี้ เป็นผู้ที่ดำเนินไปตามทาง เป็นผู้ตามมาในภายหลัง. อันนี้แล เป็นข้อแปลกกัน อันนี้ เป็นข้อประสงค์ยิ่งกว่ากัน อันนี้ เป็นเหตุทำให้ต่างกัน ระหว่างพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า กับภิกษุผู้หลุดพ้นได้ด้วยปัญญา.
จบ สูตรที่ ๖.
๗. ปัญจวัคคิยสูตร
ว่าด้วยลักษณะแห่งอนัตตา
[๑๒๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้ พระนครพาราณสี. ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาค ตรัสเรียกภิกษุเบญจวัคคีย์ ฯลฯ แล้ว ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปมิใช่ตัวตน. ก็หากว่ารูปนี้จักเป็นตัวตนแล้วไซร้ รูปนี้ ก็คงไม่เป็น ไปเพื่ออาพาธ ทั้งยังจะได้ตามความปรารถนาในรูปว่า ขอรูปของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้ เป็นอย่างนั้นเลย. ก็เพราะเหตุที่รูปมิใช่ตัวตน ฉะนั้นรูปจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และไม่ได้ตาม ความปรารถนาในรูปว่า ขอรูปของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย. ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เวทนา มิใช่ตัวตน. ก็หากเวทนานี้ จักเป็นตัวตนแล้วไซร้ ก็คงไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ ทั้งยังจะได้ตามความปรารถนาในเวทนาว่า ขอเวทนาของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย. ก็เพราะเหตุที่เวทนามิใช่ตัวตน ฉะนั้น เวทนาจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และไม่ได้ตามความปรารถนา ในเวทนาว่า ขอเวทนาของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย. ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัญญามิใช่ตัวตน. ก็หากสัญญานี้จักเป็นตัวตนแล้วไซร้ ก็คงไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ ทั้งยังจะได้ ตามความปรารถนาในสัญญาว่า ขอสัญญาของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย. ก็ เพราะเหตุที่สัญญามิใช่ตัวตน ฉะนั้น สัญญาจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และไม่ได้ตามความปรารถนาใน สัญญาว่า ขอสัญญาของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย. ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังขารมิใช่ตัวตน. ก็หากสังขารนี้ จักเป็นตัวตนแล้วไซร้ ก็คงไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ ทั้งยังจะได้ ตามความปรารถนาในสังขารว่า ขอสังขารของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย. ก็เพราะเหตุที่สังขารมิใช่ตัวตน ฉะนั้น สังขารจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และไม่ได้ตามความปรารถนา ในสังขารว่า ขอสังขารของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย. ดูกรภิกษุทั้งหลาย วิญญาณมิใช่ตัวตน ก็หากวิญญาณนี้ จักเป็นตัวตนแล้วไซร้ ก็คงไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ ทั้งยังจะ ได้ตามความปรารถนาในวิญญาณว่า ขอวิญญาณของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้น เลย. ก็เพราะเหตุที่วิญญาณมิใช่ตัวตน ฉะนั้น วิญญาณจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และไม่ได้ตาม ความปรารถนาในวิญญาณว่า ขอวิญญาณของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย. [๑๒๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูปเที่ยง หรือ ไม่เที่ยง? ภิกษุเหล่านั้น กราบทูลว่า ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า. พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า? ภิ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า. พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอ ที่จะ ตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นตัวตนของเรา? ภิ. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า. พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง? ภิ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า. พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือสุขเล่า? ภิ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า. พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอ ที่จะตาม เห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นตัวตนของเรา? ภิ. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า. [๑๒๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแหละ รูปอย่างใดอย่างหนึ่งทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ทั้งที่อยู่ ในที่ไกลหรือใกล้ รูปทั้งหมดนั้น เธอทั้งหลายพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริง อย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา. เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคตและปัจจุบัน ฯลฯ ทั้งที่อยู่ไกลหรือใกล้ เวทนาทั้งหมดนั้น เธอ ทั้งหลาย พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริง อย่างนี้ว่า นั้นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่ เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา. สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และ ปัจจุบัน ฯลฯ ทั้งที่อยู่ไกลหรือใกล้ สัญญาทั้งหมดนั้น เธอทั้งหลาย พึงเห็นด้วยปัญญา อันชอบ ตามความเป็นจริง อย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา. สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ฯลฯ ทั้งที่อยู่ไกลหรือใกล้ สังขารทั้งหมดนั้น เธอทั้งหลาย พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริง อย่างนี้ว่า นั่น ไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา. วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ทั้งที่อยู่ ไกลหรือใกล้ วิญญาณทั้งหมดนั้น เธอทั้งหลาย พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริง อย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา. [๑๓๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ใน รูป แม้ในเวทนา แม้ในสัญญา แม้ในสังขาร แม้ในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จึงหลุดพ้น. เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว. รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มี. พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสอนัตตลักขณสูตรนี้ จบลงแล้ว ภิกษุเบญจวัคคีย์ต่างมีใจยินดี ชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ก็แหละเมื่อพระผู้มีพระภาคกำลังตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่ ภิกษุ เบญจวัคคีย์ ก็มีจิตหลุดพ้นจากอาสวะ เพราะไม่ถือมั่น.
จบ สูตรที่ ๗.
๘. มหาลิสูตร
ว่าด้วยเหตุปัจจัยแห่งความบริสุทธิ์
[๑๓๑] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลาป่ามหาวัน ใกล้พระนคร เวสาลี. ครั้งนั้นแล เจ้ามหาลิลิจฉวีได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่าน ปูรณกัสสปพูดอย่างนี้ว่า เหตุไม่มี ปัจจัยไม่มี เพื่อความเศร้าหมองของสัตว์ สัตว์ทั้งหลายไม่มี เหตุ ไม่มีปัจจัย ย่อมเศร้าหมองเอง เหตุไม่มี ปัจจัยไม่มี เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ สัตว์ ทั้งหลาย ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย ย่อมบริสุทธิ์เอง. ในข้อนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสอย่างไร? พระผู้ มีพระภาคตรัสว่า ดูกรมหาลิ เหตุมี ปัจจัยมี เพื่อความเศร้าหมองของสัตว์ สัตว์ทั้งหลายมี เหตุ มีปัจจัย ย่อมเศร้าหมอง เหตุมี ปัจจัยมี เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ สัตว์ทั้งหลายมีเหตุ มีปัจจัย ย่อมบริสุทธิ์. ม. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เหตุปัจจัยเพื่อความเศร้าหมองของสัตว์เป็นไฉน? สัตว์ ทั้งหลายมีเหตุ มีปัจจัย ย่อมเศร้าหมองอย่างไร? พ. ดูกรมหาลิ ก็หากรูปนี้ จะเป็นทุกข์ถ่ายเดียว รังแต่ทุกข์ตามสนอง หยั่งลงสู่ความ ทุกข์ มิได้ประกอบด้วยสุขบ้างแล้ว สัตว์ทั้งหลาย ก็จะไม่พึงกำหนัดในรูป. ก็เพราะรูปเป็นสุข สุขตามสนอง หยั่งลงสู่ความสุข มิได้ประกอบด้วยทุกข์เสมอไป ฉะนั้น สัตว์ทั้งหลาย จึง กำหนัดในรูป เพราะกำหนัด จึงถูกประกอบเข้าไว้ เพราะถูกประกอบ จึงเศร้าหมอง ดูกรมหาลิ แม้ข้อนี้ก็เป็นเหตุ เป็นปัจจัย เพื่อความเศร้าหมองของสัตว์. สัตว์ทั้งหลาย มีเหตุ มีปัจจัย จึงเศร้าหมอง แม้ด้วยอาการอย่างนี้. ดูกรมหาลิ ก็หากเวทนานี้ เป็นทุกข์ถ่ายเดียว ฯลฯ ก็หาก สัญญานี้ เป็นทุกข์ถ่ายเดียว ฯลฯ ก็หากสังขารนี้ เป็นทุกข์ถ่ายเดียว ฯลฯ ก็หากวิญญาณนี้ เป็นทุกข์ถ่ายเดียว รังแต่ทุกข์ตามสนอง หยั่งลงสู่ความทุกข์ มิได้ประกอบด้วยสุขบ้างแล้ว สัตว์ทั้งหลาย ก็จะไม่พึงกำหนัดในวิญญาณ. ก็เพราะวิญญาณเป็นสุข สุขตามสนอง หยั่งลง สู่ความสุข มิได้ประกอบด้วยทุกข์เสมอไป ฉะนั้น สัตว์ทั้งหลาย จึงกำหนัดในวิญญาณ เพราะ กำหนัด จึงถูกประกอบเข้าไว้ เพราะถูกประกอบ จึงเศร้าหมอง. ดูกรมหาลิ แม้ข้อนี้แล ก็ เป็นเหตุ เป็นปัจจัย เพื่อความเศร้าหมองของสัตว์. สัตว์ทั้งหลาย มีเหตุ มีปัจจัย จึงเศร้าหมอง แม้ด้วยอาการอย่างนี้. [๑๓๒] ม. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ส่วนเหตุปัจจัย เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์เป็น ไฉน? สัตว์ทั้งหลาย มีเหตุ มีปัจจัย ย่อมบริสุทธิ์ได้อย่างไร? พ. ดูกรมหาลิ ก็หากว่ารูปนี้ จักเป็นสุขถ่ายเดียว สุขตามสนอง หยั่งลงสู่ความสุข มิได้ประกอบด้วยทุกข์บ้างแล้ว สัตว์ทั้งหลาย ก็จะไม่พึงเบื่อหน่ายในรูป. ก็เพราะรูปเป็นทุกข์ ทุกข์ตามสนอง หยั่งลงสู่ความทุกข์ มิได้ประกอบด้วยสุขเสมอไป ฉะนั้น สัตว์ทั้งหลาย จึง เบื่อหน่ายในรูป เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัดจึงบริสุทธิ์. แม้ข้อนี้แล ก็เป็นเหตุ เป็นปัจจัย เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์. สัตว์ทั้งหลาย มีเหตุ มีปัจจัย จึงบริสุทธิ์ แม้ด้วยอาการอย่างนี้. ดูกรมหาลิ ก็หากว่าเวทนาเป็นสุขถ่ายเดียว ฯลฯ สัญญาเป็นสุขถ่ายเดียว ฯลฯ สังขารเป็นสุขถ่ายเดียว ฯลฯ วิญญาณเป็นสุขถ่ายเดียว สุขตามสนอง หยั่งลงสู่ ความสุข มิได้ประกอบด้วยทุกข์บ้างแล้วไซร้ สัตว์ทั้งหลาย ก็จะไม่พึงเบื่อหน่ายในวิญญาณ. ก็เพราะวิญญาณเป็นทุกข์ ทุกข์ตามสนอง หยั่งลงสู่ความทุกข์ มิได้ ประกอบด้วยสุขเสมอไป ฉะนั้น สัตว์ทั้งหลาย จึงเบื่อหน่ายในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลาย กำหนัด จึงบริสุทธิ์ แม้ข้อนี้แล ก็เป็นเหตุ เป็นปัจจัย เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์. สัตว์ ทั้งหลายมีเหตุ มีปัจจัย จึงบริสุทธิ์ แม้ด้วยอาการอย่างนี้.
จบ สูตรที่ ๘.
๙. อาทิตตสูตร
ว่าด้วยความเป็นของร้อนแห่งขันธ์ ๕
[๑๓๓] พระนครสาวัตถี ฯลฯ ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณร้อนนัก. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่าย แม้ในรูป แม้ในเวทนา แม้ในสัญญา แม้ใน สังขาร แม้ในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณหยั่งรู้แล้ว หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.
จบ สูตรที่ ๙.
๑๐. นิรุตติปถสูตร
ว่าด้วยวิถีทางแห่งนิรุตติ ๓ ประการ
[๑๓๔] พระนครสาวัตถี. ฯลฯ ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย วิถีทาง ๓ ประการ คือ หลักภาษา ชื่อ และบัญญัตินี้? ไม่ถูกทอดทิ้ง และยังไม่ เคยถูกทอดทิ้ง ย่อมไม่ถูกทอดทิ้ง จักไม่ถูกทอดทิ้ง อันสมณพราหมณ์ผู้วิญญูชนไม่คัดค้านแล้ว. ๓ ประการเป็นไฉน? ดูกรภิกษุทั้งหลาย การนับรูปผ่านพ้นไปแล้ว ดับแล้ว แปรปรวนไปแล้ว ว่าได้มีแล้ว การให้ชื่อรูปนั้นว่า ได้มีแล้ว การบัญญัติรูปนั้นว่า ได้มีแล้ว รูปนั้นไม่นับว่า มี อยู่ ไม่นับว่า จักมี. การนับเวทนาที่ผ่านพ้นไปแล้ว ดับแล้ว แปรปรวนแล้วว่าได้มีแล้ว การให้ ชื่อเวทนานั้นว่า ได้มีแล้ว การบัญญัติเวทนานั้นว่า ได้มีแล้ว เวทนานั้นไม่นับว่า มีอยู่ ไม่นับว่า จักมี. การนับสัญญาที่ผ่านพ้นไปแล้ว ดับแล้ว แปรปรวนไปแล้วว่า ได้มีแล้ว การให้ชื่อ สัญญานั้นว่า ได้มีแล้ว การบัญญัติสัญญานั้นว่า ได้มีแล้ว สัญญานั้นไม่นับว่า มีอยู่ ไม่นับ ว่า จักมี การนับสังขารที่ผ่านพ้นไปแล้ว ดับแล้ว แปรปรวนไปแล้วว่า ได้มีแล้ว การให้ชื่อ สังขารนั้นว่า ได้มีแล้ว การบัญญัติสังขารนั้นว่า ได้มีแล้ว สังขารเหล่านั้นไม่นับว่า มีอยู่ ไม่ นับว่า จักมี การนับวิญญาณที่ผ่านพ้นไปแล้ว ดับแล้ว แปรปรวนไปแล้วว่า ได้มีแล้ว การ ให้ชื่อวิญญาณนั้นว่า ได้มีแล้ว การบัญญัติวิญญาณนั้นว่า ได้มีแล้ว วิญญาณนั้นไม่นับว่า มีอยู่ ไม่นับว่า จักมีฯ [๑๓๕] การนับรูปที่ยังไม่เกิด ยังไม่ปรากฏว่า จักมี การให้ชื่อรูปเช่นนั้นว่า จักมี และการบัญญัติรูปเช่นนั้นว่า จักมี รูปนั้นไม่นับว่า มีอยู่ ไม่นับว่า มีแล้ว. การนับเวทนาที่ ยังไม่เกิด ยังไม่ปรากฏว่า จักมี การให้ชื่อเวทนาเช่นนั้นว่า จักมี และการบัญญัติเวทนาเช่นนั้น ว่า จักมี เวทนานั้นไม่นับว่า มีอยู่ ไม่นับว่า มีแล้ว. การนับสัญญาที่ยังไม่เกิด ยังไม่ปรากฏว่า จักมี การให้ชื่อสัญญาเช่นนั้นว่า จักมี และการบัญญัติสัญญาเช่นนั้นว่า จักมี สัญญานั้นไม่นับ ว่า มีอยู่ ไม่นับว่า มีแล้ว. การนับสังขารที่ยังไม่เกิด ยังไม่ปรากฏว่า จักมี การให้ชื่อสังขาร เช่นนั้นว่า จักมี และการบัญญัติ สังขารเช่นนั้นว่า จักมี สังขารเหล่านั้นไม่นับว่า มีอยู่ ไม่นับว่า มีแล้ว. การนับวิญญาณที่ยังไม่เกิด ยังไม่ปรากฏว่า จักมี การให้ชื่อวิญญาณเช่นนั้นว่า จักมี และการบัญญัติวิญญาณเช่นนั้นว่า จักมี วิญญาณนั้นไม่นับว่า มีอยู่ ไม่นับว่า มีแล้ว. [๑๓๖] การนับรูปที่เกิดแล้ว ปรากฏแล้วว่า มีอยู่ การให้ชื่อรูปนั้นว่า มีอยู่ และ การบัญญัติรูปเช่นนั้นว่า มีอยู่ รูปนั้นไม่นับว่า มีแล้ว ไม่นับว่า จักมี. การนับเวทนาที่เกิดแล้ว ปรากฏแล้วว่า มีอยู่ การให้ชื่อเวทนาเช่นนั้นว่า มีอยู่ และการบัญญัติเวทนาเช่นนั้นว่า มีอยู่ เวทนานั้นไม่นับว่า มีแล้ว ไม่นับว่า จักมี. การนับสัญญาที่เกิดแล้ว ปรากฏแล้วว่า มีอยู่ การให้ชื่อสัญญาเช่นนั้นว่า มีอยู่ และการบัญญัติสัญญาเช่นนั้นว่า มีอยู่ สัญญานั้นไม่นับว่า มี แล้ว ไม่นับว่า จักมี. การนับสังขารที่เกิดแล้ว ปรากฏแล้วว่า มีอยู่ การให้ชื่อสังขารเช่นนั้นว่า มีอยู่ และการบัญญัติสังขารเช่นนั้นว่า มีอยู่ สังขารเหล่านั้น ไม่นับว่า มีแล้ว ไม่นับว่า จักมี. การนับวิญญาณที่เกิดแล้ว ปรากฏแล้วว่า มีอยู่ การให้ชื่อวิญญาณเช่นนั้นว่า มีอยู่ และการบัญญัติ วิญญาณเช่นนั้นว่า มีอยู่ วิญญาณนั้นไม่นับว่า มีแล้ว ไม่นับว่า จักมี. ดูกรภิกษุทั้งหลาย วิถีทาง ๓ ประการ คือ หลักภาษา การตั้งชื่อ และบัญญัติ เหล่านี้แล ไม่ถูกทอดทิ้งแล้ว ยังไม่เคยถูกทอดทิ้ง ย่อมไม่ถูกทอดทิ้ง จักไม่ถูกทอดทิ้ง อันสมณพราหมณ์ผู้เป็นวิญญูชนไม่ คัดค้านแล้ว. [๑๓๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ชนชาวอุกกลชนบท กับชนชาววัสสภัญญชนบททั้งสอง นั้น ล้วนพูดว่าไม่มีเหตุ บุญบาปที่ทำไปแล้ว ไม่เป็นอันทำ ทานที่บุคคลให้แล้วไม่มีผล ก็ได้ สำคัญวิถีทาง ๓ ประการนี้ คือ หลักภาษา การตั้งชื่อ และข้อบัญญัติว่า ไม่ควรติ ไม่ควรคัดค้าน ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร? เพราะกลัวถูกนินทา กลัวกระทบกระทั่ง กลัวใส่โทษ และกลัวจะต่อ ความยาว.
จบ สูตรที่ ๑๐.
จบ อุปายวรรคที่ ๑.
-----------------------------------------------------
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. อุปายสูตร ๖. พุทธสูตร ๒. พีชสูต ๗. ปัญจวัคคิยสูตร ๓. อุทานสูตร ๘. มหาลิสูตร ๔. ปริวัฏฏสูตร ๙. อาทิตตสูตร ๕. สัตตัฏฐานสูตร ๑๐. นิรุตติปถสูตร.
-----------------------------------------------------
อรหันตวรรคที่ ๒
๑. อุปาทิยสูตร
ว่าด้วยการถูกมารผูกมัดเพราะถือมั่น
[๑๓๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถ- *บิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี. ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระ องค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดประทานพระวโรกาส แสดงพระธรรมเทศนา โดยสังเขป แก่ข้าพระองค์ ที่ข้าพระองค์ได้สดับแล้ว เป็นผู้ๆ เดียว หลีกออกจากหมู่ ไม่ประมาท มีความ เพียร มีใจมั่นคงอยู่เถิด. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ เมื่อบุคคลยังยึดมั่น ก็ต้องถูกมารมัดไว้ เมื่อไม่ยึด มั่น จึงหลุดพ้นจากมาร. ภิ. ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทราบแล้ว ข้าแต่พระสุคต ข้าพระองค์ทราบแล้ว. พ. ดูกรภิกษุ ก็เธอรู้ซึ้งถึงอรรถแห่งคำที่กล่าวแล้วอย่างย่อ โดยพิสดารได้อย่างไรเล่า? ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อบุคคลยังยึดรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ มั่นอยู่ ก็ต้องถูกมารมัดไว้ เมื่อไม่ยึดมั่นจึงหลุดพ้นจากมาร. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ รู้ซึ้งถึงอรรถ แห่งพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้วอย่างย่อ โดยพิสดารอย่างนี้แล. พ. ดีแล้วๆ ภิกษุ เธอรู้ซึ้งถึงอรรถแห่งคำที่เรากล่าวแล้วอย่างย่อ โดยพิสดารอย่างดี แล้ว. ดูกรภิกษุ บุคคลยังยึดรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณมั่นอยู่ ก็ต้องถูกมาร มัดไว้ เมื่อไม่ยึดมั่น จึงหลุดพ้นจากมาร เธอพึงทราบอรรถแห่งคำนี้ที่เรากล่าวแล้วอย่างย่อ โดย พิสดารอย่างนี้เถิด. [๑๓๙] ครั้งนั้นแล. ภิกษุรูปนั้นเพลิดเพลิน อนุโมทนาพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ลุกจากอาสนะ ถวายบังคม กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป ครั้งนั้นแล เธอเป็นผู้ๆ เดียว หลีกออกจากหมู่ ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจมั่นคงอยู่ ไม่นานเท่าไร ก็ทำให้แจ้งซึ่งที่สุด แห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ที่กุลบุตรทั้งหลายออกบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการนั้น ด้วย ปัญญาอันยิ่งด้วยตนเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่. รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี. ก็ภิกษุรูปนั้น ได้เป็นพระอรหันต์ องค์หนึ่ง ในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย.
จบ สูตรที่ ๑.
๒. มัญญมานสูตร
ว่าด้วยการถูกมารผูกมัดเพราะสำคัญในขันธ์ ๕
[๑๔๐] พระนครสาวัตถี ฯลฯ ภิกษุรูปหนึ่ง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย อภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระ องค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดประทานพระวโรกาส โปรดแสดงพระธรรมเทศนา โดย สังเขปแก่ข้าพระองค์ ที่ข้าพระองค์ได้สดับแล้ว เป็นผู้ๆ เดียว หลีกออกจากหมู่ ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจมั่นคงอยู่เถิด. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ เมื่อบุคคลยังมัวสำคัญอยู่ ก็ต้องถูกมารมัดไว้ เมื่อ ไม่สำคัญ จึงหลุดพ้นจากบ่วงมาร. ภิ. ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทราบแล้ว ข้าแต่พระสุคต ข้าพระองค์ทราบแล้ว. พ. ดูกรภิกษุ ก็เธอรู้ซึ้งถึงอรรถแห่งคำที่กล่าวแล้วอย่างย่อ โดยพิสดารได้อย่างไรเล่า? ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อบุคคลสำคัญรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ อยู่ ก็ต้องถูกมารมัดไว้ เมื่อไม่สำคัญ จึงหลุดพ้นจากบ่วงมาร. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระ องค์รู้ซึ้งถึงอรรถแห่งพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้วอย่างย่อ โดยพิสดารอย่างนี้แล. พ. ดีแล้วๆ ภิกษุ เธอรู้ซึ้งถึงอรรถแห่งคำที่เรากล่าวแล้วอย่างย่อ โดยพิสดารอย่างดี แล้ว. ดูกรภิกษุ เมื่อบุคคลสำคัญรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณอยู่ ก็ต้องถูก มารมัดไว้ เมื่อไม่สำคัญ จึงหลุดพ้นจากบ่วงมาร. เธอพึงทราบอรรถแห่งคำนี้ที่เรากล่าวแล้วอย่าง ย่อโดยพิสดารอย่างนี้เถิด. ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปนั้น เพลิดเพลิน อนุโมทนาพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ลุกจาก อาสนะ ถวายบังคม กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป ครั้งนั้นแล เธอเป็นผู้ๆ เดียว หลีกออก จากหมู่ ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจมั่นคงอยู่ไม่นานเท่าไร ก็ทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์ อันยอดเยี่ยม ที่กุลบุตรทั้งหลายออกบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วย ตนเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่. รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จ แล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี. ก็ภิกษุรูปนั้น ได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง ในจำนวน พระอรหันต์ทั้งหลาย.
จบ สูตรที่ ๒.
๓. อภินันทมานสูตร
ว่าด้วยการถูกมารผูกมัดเพราะมัวเพลิดเพลิน
[๑๔๑] พระนครสาวัตถี ฯลฯ ภิกษุรูปหนึ่ง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย อภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระ องค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดประทานพระวโรกาส โปรดแสดงพระธรรมเทศนา โดย สังเขปแก่ข้าพระองค์ ที่ข้าพระองค์ได้สดับแล้ว ฯลฯ มีใจมั่นคงอยู่เถิด. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ บุคคลเมื่อยังมัวเพลิดเพลินอยู่ ก็ต้องถูกมารมัดไว้ เมื่อไม่เพลิดเพลิน จึงพ้นจากบ่วงมารได้. ภิ. ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทราบแล้ว ข้าแต่พระสุคต ข้าพระองค์ทราบแล้ว. พ. ดูกรภิกษุ ก็เธอรู้ซึ้งถึงอรรถแห่งคำที่เรากล่าวแล้วอย่างย่อ โดยพิสดารได้อย่างไร เล่า? ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคลเมื่อยังมัวเพลิดเพลินรูป เวทนาสัญญา สังขาร และวิญญาณอยู่ ก็ต้องถูกมารมัดไว้ เมื่อไม่เพลิดเพลิน จึงพ้นจากบ่วงมารได้. ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ข้าพระองค์รู้ซึ้งถึงอรรถแห่งพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้วอย่างย่อ โดยพิสดาร อย่างนี้แล. พ. ดีแล้วๆ ภิกษุ เธอรู้ซึ้งถึงอรรถแห่งคำที่เรากล่าวแล้วอย่างย่อ โดยพิสดารอย่างดี แล้ว. ดูกรภิกษุ บุคคลเมื่อเพลิดเพลินรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณอยู่ ก็ต้อง ถูกมารมัดไว้ เมื่อไม่เพลิดเพลิน จึงหลุดพ้นจากบ่วงมาร. เธอพึงทราบอรรถแห่งคำที่เรากล่าวแล้ว อย่างย่อ โดยพิสดารอย่างนี้เถิด. ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปนั้นเพลิดเพลิน อนุโมทนาพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ลุกจาก อาสนะ ถวายบังคม กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป ครั้งนั้นแล เธอเป็นผู้ๆ เดียว หลีกออก จากหมู่ ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจมั่นคงอยู่ไม่นานเท่าไร ก็ทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหม- *จรรย์อันยอดเยี่ยม ที่กุลบุตรทั้งหลายออกบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญาอัน ยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่. รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำ เสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี. ก็ภิกษุรูปนั้นได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง ใน จำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย.
จบ สูตรที่ ๓.
๔. อนิจจสูตร
ว่าด้วยการละความพอใจในสิ่งที่เป็นอนิจจัง
[๑๔๒] พระนครสาวัตถี ฯลฯ ภิกษุรูปหนึ่ง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย อภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดประทานพระวโรกาส โปรดแสดงพระธรรมเทศนา โดยสังเขป แก่ข้าพระองค์ ที่ข้าพระองค์ได้สดับแล้ว ฯลฯ มีใจมั่นคงอยู่เถิด. พ. ดูกรภิกษุ สิ่งใดแล เป็นของไม่เที่ยง เธอควรละความพอใจในสิ่งนั้นเสีย. ภิ. ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทราบแล้ว ข้าแต่พระสุคต ข้าพระองค์ทราบแล้ว. พ. ดูกรภิกษุ ก็เธอรู้ซึ้งถึงอรรถแห่งคำที่เรากล่าวแล้วอย่างย่อ โดยพิสดารได้อย่างไร เล่า? ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณเป็นของไม่เที่ยง ข้าพระองค์ควรละความพอใจในสิ่งนั้นๆ เสีย. ข้าพระองค์รู้ซึ้งถึงอรรถแห่งพระดำรัสที่พระผู้มี พระภาคตรัสแล้วอย่างย่อ โดยพิสดารอย่างนี้แล. พ. ดีแล้วๆ ภิกษุ เธอรู้ซึ้งถึงอรรถแห่งคำที่เรากล่าวแล้วอย่างย่อ โดยพิสดารอย่างดี แล้ว. ดูกรภิกษุ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เป็นของไม่เที่ยง ควรละความ พอใจในสิ่งนั้นๆ เสีย. เธอพึงทราบอรรถแห่งคำที่เรากล่าวแล้วอย่างย่อ โดยพิสดารอย่างนี้เถิด ฯลฯ ก็ภิกษุนั้น ได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง ในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย.
จบ สูตรที่ ๔.
๕. ทุกขสูตร
ว่าด้วยการละความพอใจในสิ่งที่เป็นทุกข์
[๑๔๓] พระนครสาวัตถี ฯลฯ ภิกษุรูปหนึ่ง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ. ถวาย อภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระ องค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดประทานพระวโรกาส โปรดแสดงพระธรรมเทศนา โดย สังเขปแก่ข้าพระองค์ ที่ข้าพระองค์ได้สดับแล้ว ฯลฯ มีใจมั่นคงอยู่เถิด. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ สิ่งใดแลเป็นทุกข์ เธอควรละความพอใจในสิ่งนั้น เสีย. ภิ. ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทราบแล้ว ข้าแต่พระสุคต ข้าพระองค์ทราบแล้ว. พ. ดูกรภิกษุ ก็เธอรู้ซึ้งถึงอรรถแห่งคำที่เรากล่าวแล้วอย่างย่อ โดยพิสดารได้อย่างไรเล่า? ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เป็นทุกข์ ข้าพระองค์ควรละความพอใจในสิ่งนั้นๆ เสีย. ข้าพระองค์รู้ซึ้งถึงอรรถแห่งพระดำรัสที่พระผู้มี พระภาคตรัสแล้วอย่างย่อ โดยพิสดารอย่างนี้แล. พ. ดีแล้วๆ ภิกษุ เธอรู้ซึ้งถึงอรรถแห่งคำที่เรากล่าวแล้วอย่างย่อ โดยพิสดารอย่างดี แล้ว. ดูกรภิกษุ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เป็นทุกข์ ควรละความพอใจใน สิ่งนั้นๆ เสีย. เธอพึงทราบอรรถแห่งคำที่เรากล่าวแล้วอย่างย่อ โดยพิสดารอย่างนี้เถิด ฯลฯ ภิกษุรูปนั้น ได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง ในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย.
จบ สูตรที่ ๕.
๖. อนัตตสูตร
ว่าด้วยการละความพอใจในสิ่งที่เป็นอนัตตา
[๑๔๔] พระนครสาวัตถี ฯลฯ ภิกษุรูปหนึ่ง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย อภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระ องค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดประทานพระวโรกาส โปรดแสดงพระธรรมเทศนา โดย สังเขปแก่ข้าพระองค์ ที่ข้าพระองค์ได้สดับแล้ว ฯลฯ มีใจมั่นคงอยู่เถิด. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ สิ่งใดแล เป็นอนัตตา เธอควรละความพอใจใน สิ่งนั้นเสีย. ภิ. ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทราบแล้ว ข้าแต่พระสุคต ข้าพระองค์ทราบแล้ว. พ. ดูกรภิกษุ ก็เธอรู้ซึ้งถึงอรรถแห่งคำที่เรากล่าวแล้วอย่างย่อ โดยพิสดารได้อย่างไรเล่า? ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เป็นอนัตตา ข้าพระองค์ควรละความพอใจในสิ่งนั้นๆ เสีย. ข้าพระองค์รู้ซึ้งถึงอรรถแห่งพระดำรัสที่พระผู้มี พระภาคตรัสแล้วอย่างย่อ โดยพิสดารอย่างนี้แล. พ. ดีแล้วๆ ภิกษุ เธอรู้ซึ้งถึงอรรถแห่งคำที่เรากล่าวอย่างย่อ โดยพิสดารอย่างดีแล้ว. ดูกรภิกษุ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เป็นอนัตตา ควรละความพอใจในสิ่งนั้นๆ เสีย. เธอพึงทราบอรรถแห่งคำที่เรากล่าวแล้วอย่างย่อ โดยพิสดารอย่างนี้เถิด ฯลฯ ภิกษุรูปนั้น ได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง ในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย.
จบ สูตรที่ ๖.
๗. อนัตตนิยสูตร
ว่าด้วยการละความพอใจในสิ่งที่มิใช่ของตน
[๑๔๕] พระนครสาวัตถี ฯลฯ ภิกษุรูปหนึ่ง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดประทานพระวโรกาส โปรดแสดงพระธรรมเทศนา โดยสังเขปแก่ข้าพระองค์ ที่ข้าพระองค์ได้สดับแล้ว ฯลฯ มีใจมั่นคงอยู่เถิด. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ สิ่งใดแล ไม่ใช่เป็นของตน เธอควรละความพอใจ ในสิ่งนั้นเสีย. ภิ. ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทราบแล้ว ข้าแต่พระสุคต ข้าพระองค์ทราบแล้ว. พ. ดูกรภิกษุ ก็เธอรู้ซึ้งถึงอรรถแห่งคำที่เรากล่าวแล้วอย่างย่อ โดยพิสดารได้อย่างไร เล่า? ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ มิใช่เป็นของตน ข้าพระองค์ควรละความพอใจในสิ่งนั้นๆ เสีย. ข้าพระองค์รู้ซึ้งถึงอรรถแห่งพระดำรัสที่พระผู้มี พระภาคตรัสแล้วอย่างย่อ โดยพิสดารอย่างนี้แล. พ. ดีแล้วๆ ภิกษุ เธอรู้ซึ้งถึงอรรถแห่งคำที่เรากล่าวแล้วอย่างย่อ โดยพิสดารอย่างดี แล้ว. ดูกรภิกษุ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ มิใช่เป็นของตน ควรละความ พอใจในสิ่งนั้นๆ เสีย. เธอพึงทราบอรรถแห่งคำที่เรากล่าวแล้วอย่างย่อ โดยพิสดารอย่างนี้เถิด ฯลฯ ภิกษุรูปนั้น ได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง ในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย.
จบ สูตรที่ ๗.
๘. รชนิยสัณฐิตสูตร
ว่าด้วยการละความพอใจในสิ่งที่จูงใจให้กำหนัด
[๑๔๖] พระนครสาวัตถี ฯลฯ ภิกษุรูปหนึ่ง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย อภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระ- *องค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดประทานพระวโรกาส โปรดแสดงพระธรรมเทศนา โดย สังเขปแก่ข้าพระองค์ ที่ข้าพระองค์ได้สดับแล้ว ฯลฯ มีใจมั่นคงอยู่เถิด. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ สิ่งใดแล จูงใจให้กำหนัด เธอควรละความพอใจ ในสิ่งนั้นเสีย. ภิ. ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทราบแล้ว ข้าแต่พระสุคต ข้าพระองค์ทราบแล้ว. พ. ดูกรภิกษุ ก็เธอรู้ซึ้งถึงอรรถแห่งคำที่เรากล่าวแล้วอย่างย่อ โดยพิสดารได้อย่างไร เล่า? ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ล้วนจูงใจให้ กำหนัด ข้าพระองค์ควรละพอใจในสิ่งนั้นๆ เสีย. ข้าพระองค์รู้ซึ้งถึงอรรถแห่งพระดำรัสที่ พระผู้มีพระภาคตรัสแล้วอย่างย่อ โดยพิสดารอย่างนี้แล. พ. ดีแล้วๆ ภิกษุ เธอรู้ซึ้งถึงอรรถแห่งคำที่เรากล่าวแล้วอย่างย่อ โดยพิสดารอย่างดี แล้ว. ดูกรภิกษุ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ล้วนจูงใจให้กำหนัด ควรละ ความพอใจในสิ่งนั้นๆ เสีย. เธอพึงทราบอรรถแห่งคำที่เรากล่าวแล้วอย่างย่อ โดยพิสดารอย่าง นี้เถิด ฯลฯ ภิกษุรูปนั้น ได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง ในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย.
จบ สูตรที่ ๘.
๙. ราธสูตร
ว่าด้วยการไม่มีอหังการมมังการและมานานุสัย
[๑๔๗] พระนครสาวัตถี ฯลฯ ณ ที่นั้นแล ท่านพระราธะ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคลรู้เห็นอย่างไร จึงจะไม่มีอหังการ มมังการ และมานานุสัย ในกายที่มีวิญญาณนี้ และในสรรพนิมิตภายนอก. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรราธะ รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และ ปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือใกล้ อริยสาวก ย่อมพิจารณาเห็นรูปทั้งหมดนั้น ด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริง อย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวของเรา. เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง สัญญาอย่างใด อย่างหนึ่ง สังขาร เหล่าใดเหล่าหนึ่ง วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และ ปัจจุบัน ฯลฯ อยู่ในที่ไกลหรือใกล้ อริยสาวก ย่อมพิจารณาเห็นวิญญาณทั้งหมดนั้นด้วยปัญญา อันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา. ดูกรราธะ บุคคลรู้เห็นอย่างนี้แล จึงไม่มีอหังการ มมังการ และมานานุสัย ในกายที่มีวิญญาณนี้ และในสรรพนิมิตภายนอก ฯลฯ ท่านพระราธะได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง ในจำนวนพระ- *อรหันต์ทั้งหลาย.
จบ สูตรที่ ๙.
๑๐. สุราธสูตร
ว่าด้วยการมีใจปราศจากอหังการมมังการและมานานุสัย
[๑๔๘] พระนครสาวัตถี ฯลฯ ณ ที่นั้นแล ท่านพระสุราธะ ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาค ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อบุคคลรู้เห็นอย่างไร จึงจะมีใจปราศจากอหังการ มมังการ และมานานุสัย ในกายที่มีวิญญาณนี้ และในสรรพนิมิตภายนอก ก้าวล่วงมานะด้วยดี สงบ ระงับ พ้นวิเศษแล้ว. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรสุราธะ รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ฯลฯ อยู่ในที่ไกลหรือใกล้ อริยสาวก พิจารณาเห็นรูปทั้งหมดนั้น ด้วยปัญญาอัน ชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ดังนี้แล้ว เป็นผู้หลุดพ้นเพราะไม่ถือมั่น. เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่ง วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง อริยสาวก พิจารณาเห็นวิญญาณทั้งหมดนั้น ด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริง อย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ ตัวตนของเรา ดังนี้แล้ว เป็นผู้หลุดพ้นเพราะไม่ถือมั่น. ดูกรสุราธะ บุคคลเมื่อรู้เห็นอย่างนี้แล จึงจะมีใจปราศจากอหังการ มมังการ และมานานุสัย ในกายที่มีวิญญาณนี้ และในสรรพนิมิต ภายนอก ก้าวล่วงมานะด้วยดี สงบระงับ พ้นวิเศษแล้ว ฯลฯ ท่านพระสุราธะ ได้เป็นพระอรหันต์ องค์หนึ่ง ในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย.
จบ สูตรที่ ๑๐.
จบ อรหันตวรรคที่ ๒.
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. อุปาทิยสูตร ๖. อนัตตสูตร ๒. มัญญมานสูตร ๗. อนัตตนิยสูตร ๓. อภินันทมานสูตร ๘. รชนิยสัณฐิตสูตร ๔. อนิจจสูตร ๙. ราธสูตร ๕. ทุกขสูตร ๑๐. สุราธสูตร.
-----------------------------------------------------
ขัชชนิยวรรคที่ ๓
๑. อัสสาทสูตร
ว่าด้วยคุณโทษและอุบายสลัดออกแห่งขันธ์ ๕
[๑๔๙] พระนครสาวัตถี ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับแล้ว ย่อมไม่ รู้ชัดตามความเป็นจริง ซึ่งคุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งรูป ฯลฯ แห่งเวทนา ฯลฯ แห่งสัญญา ฯลฯ แห่งสังขาร ฯลฯ แห่งวิญญาณ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนอริยสาวก ผู้ได้ สดับแล้ว ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริง ซึ่งคุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งรูป ฯลฯ แห่งเวทนา ฯลฯ แห่งสัญญา ฯลฯ แห่งสังขาร ฯลฯ แห่งวิญญาณ.
จบ สูตรที่ ๑.
๒. สมุทยสูตรที่ ๑
ว่าด้วยการไม่รู้ความเกิดดับแห่งขันธ์ ๕
[๑๕๐] พระนครสาวัตถี ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับแล้ว ย่อมไม่ ทราบชัดตามความเป็นจริง ซึ่งความเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่ง รูป ฯลฯ แห่งเวทนา ฯลฯ แห่งสัญญา ฯลฯ แห่งสังขาร ฯลฯ แห่งวิญญาณ. ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ส่วนอริยสาวก ผู้ได้สดับแล้ว ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริง ซึ่งความเกิด ความ ดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งรูป ฯลฯ แห่งเวทนา ฯลฯ แห่งสัญญา ฯลฯ แห่งสังขาร ฯลฯ แห่งวิญญาณ.
จบ สูตรที่ ๒.
๓. สมุทยสูตรที่ ๒
ว่าด้วยการรู้ความเกิดดับแห่งขันธ์ ๕
[๑๕๑] พระนครสาวัตถี ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ย่อมรู้ชัด ตามความเป็นจริง ซึ่งความเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งรูป ฯลฯ แห่งเวทนา ฯลฯ แห่งสัญญา ฯลฯ แห่งสังขาร ฯลฯ แห่งวิญญาณ.
จบ สูตรที่ ๓.
๔. อรหันตสูตรที่ ๑
ว่าด้วยพระอรหันต์เป็นผู้เลิศในโลก
[๑๕๒] พระนครสาวัตถี ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปไม่เที่ยง ฯลฯ เวทนาไม่เที่ยง ฯลฯ สัญญาไม่เที่ยง ฯลฯ สังขารไม่เที่ยง ฯลฯ วิญญาณไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็น ทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้นควรเห็นตามความเป็นจริง ด้วยปัญญาอันชอบ อย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา. ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในรูป ทั้งในเวทนา ทั้งในสัญญา ทั้งในสังขาร ทั้งในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลาย กำหนัด จิตย่อมหลุดพ้น. เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว. ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้ มี. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระอรหันต์ทั้งหลาย เป็นผู้เลิศ เป็นผู้ประเสริฐสุดในโลก กว่าสัตตาวาส และภวัคคภพ. พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้ จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถา ประพันธ์ต่อไปว่า [๑๕๓] พระอรหันต์ทั้งหลาย มีความสุขหนอ เพราะท่านไม่มีตัณหา ตัดอัสมิมานะได้เด็ดขาด ทำลายข่ายคือโมหะได้แล้ว. พระอรหันต์ เหล่านั้น ถึงซึ่งความไม่หวั่นไหว มีจิตไม่ขุ่นมัว ท่านเหล่านั้นไม่แปด เปื้อนแล้ว ด้วยเครื่องแปดเปื้อนคือตัณหาและทิฏฐิในโลก เป็นผู้ ประเสริฐ ไม่มีอาสวะ. เป็นสัตบุรุษ เป็นพุทธบุตร เป็นพุทธโอรส กำหนดรู้เบญจขันธ์มีสัทธรรม ๗ เป็นโคจร ควรสรรเสริญ. ท่านมหา วีรบุรุษ ผู้สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ ศึกษาแล้วในไตรสิกขา ละความกลัวและความขลาดได้เด็ดขาดแล้ว ย่อมท่องเที่ยวไป โดย ลำดับ. ท่านมหานาคผู้สมบูรณ์ด้วยองค์ ๑๐ ประการ มีจิตตั้งมั่น ประเสริฐสุดในโลก ท่านเหล่านั้นไม่มีตัณหา. มีอเสขญาณเกิดขึ้นแล้ว มีร่างกายนี้เป็นครั้งสุดท้าย ไม่ต้องอาศัยผู้อื่น ในคุณที่เป็นแก่นสารแห่ง พรหมจรรย์. ท่านเหล่านั้นไม่หวั่นไหวเพราะมานะ หลุดพ้นจากภพใหม่ ถึงอรหัตภูมิแล้ว ชนะเด็ดขาดแล้วในโลก. ท่านเหล่านั้นไม่มีความ เพลิดเพลินอยู่ในส่วนเบื้องบน ท่ามกลาง และเบื้องล่าง เป็นพุทธ ผู้ยอดเยี่ยมในโลก ย่อมบันลือสีหนาท.
จบ สูตรที่ ๔.
๕. อรหันตสูตรที่ ๒
ว่าด้วยพระอรหันต์เป็นผู้เลิศในโลก
[๑๕๔] พระนครสาวัตถี ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปไม่เที่ยง ฯลฯ เวทนาไม่เที่ยง ฯลฯ สัญญาไม่เที่ยง ฯลฯ สังขารไม่เที่ยง ฯลฯ วิญญาณไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็น ทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้นควรเห็นตามความเป็นจริง ด้วยปัญญาอันชอบ อย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในรูป ทั้งในเวทนา ทั้งในสัญญา ทั้งในสังขาร ทั้งในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลาย กำหนัด จิตย่อมหลุดพ้น. เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว. ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้ มี. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระอรหันต์ทั้งหลายเป็นผู้เลิศ เป็นผู้ประเสริฐสุดในโลก กว่าสัตตาวาส และภวัคคภพ.
จบ สูตรที่ ๕.
๖. สีหสูตร
ว่าด้วยอุปมาพระพุทธเจ้ากับพญาราชสีห์
[๑๕๕] พระนครสาวัตถี ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พญาสีหมฤคราช เวลาเย็นออกจากที่ อาศัยแล้ว เหยียดกายแล้ว. เหลียวแลดูทิศทั้ง ๔ โดยรอบแล้ว บันลือสีหนาท ๓ ครั้ง แล้วออก เดินไปเพื่อหากิน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกสัตว์ดิรัจฉานทุกหมู่เหล่าได้ยินเสียงพญาสีหมฤคราช บันลือสีหนาทอยู่ โดยมากย่อมถึงความกลัว ความตกใจ และความสะดุ้ง จำพวกที่อาศัยอยู่ ในรู ย่อมเข้ารู จำพวกที่อาศัยอยู่ในน้ำ ย่อมดำน้ำ จำพวกที่อาศัยอยู่ในป่า ย่อมเข้าป่า จำพวกปักษี ย่อมบินขึ้นสู่อากาศ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถึงพระยาช้างทั้งหลายของพระมหากษัตริย์ ซึ่งถูกผูกด้วยเครื่องผูก คือ เชือกหนังอันมั่นคง ในคามนิคมและราชธานี ก็สลัดทำลายเครื่อง ผูกเหล่านั้นจนขาด กลัวจนมูตรคูถไหล หนีเตลิดไป. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พญาสีหมฤคราช มีฤทธิ์ศักดานุภาพยิ่งใหญ่กว่าสัตว์ดิรัจฉานทั้งหลาย เช่นนี้แล. [๑๕๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้ง ซึ่งโลก ทรงเป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควร ฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า ทรงเป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ทรงเบิกบานแล้ว เป็นผู้ จำแนกธรรม เสด็จอุบัติขึ้นในโลก พระองค์ทรงแสดงธรรมว่า รูปเป็นดังนี้ เหตุเกิดขึ้นแห่งรูป เป็นดังนี้ ความดับแห่งรูปเป็นดังนี้ เวทนาเป็นดังนี้ ฯลฯ สัญญาเป็นดังนี้ ฯลฯ สังขารเป็น ดังนี้ ฯลฯ วิญญาณเป็นดังนี้ เหตุเกิดขึ้นแห่งวิญญาณเป็นดังนี้ ความดับแห่งวิญญาณเป็นดังนี้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้เทวดาทั้งหลายที่มีอายุยืน มีวรรณะมากด้วยความสุข ซึ่งดำรงอยู่ได้นาน ในวิมานสูง ได้สดับธรรมเทศนาของพระตถาคตแล้ว โดยมากต่างก็ถึงความกลัว ความสังเวช ความสะดุ้งว่า ผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า เราทั้งหลาย เป็นผู้ไม่เที่ยงแท้ แต่ได้เข้าใจว่าเที่ยง เราทั้งหลายเป็นผู้ไม่ยั่งยืนเลย แต่ได้เข้าใจว่ายั่งยืน เราทั้งหลายเป็นผู้ไม่แน่นอนเลย แต่ ได้เข้าใจว่าแน่นอน ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ถึงพวกเราก็เป็นผู้ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่แน่นอน นับเนื่องแล้วในกายตน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคต มีฤทธิ์ศักดานุภาพ ยิ่งใหญ่กว่าโลก กับทั้งเทวโลกเช่นนี้แล. พระผู้มีพระภาค ผู้สุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้ จบแล้ว จึงได้ตรัส คาถาประพันธ์ต่อไปว่า [๑๕๗] เมื่อใด พระพุทธเจ้า ผู้เป็นศาสดา หาบุคคลเปรียบมิได้ ตรัสรู้ด้วยปัญญาอันยิ่งแล้ว ทรงประกาศธรรมจักร คือ ความเกิดพร้อม แห่งกายตน ความดับแห่งกายตน และอัฏฐังคิกมรรคอันประเสริฐ อันให้ถึงความสงบทุกข์ แก่โลกกับทั้งเทวโลก. เมื่อนั้น แม้ถึงเทวดา ทั้งหลาย ผู้มีอายุยืน มีวรรณะ มียศก็กลัว ถึงความสะดุ้งว่า ท่านผู้ เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า พวกเราไม่เที่ยง ไม่ล่วงพ้นกายตนไปได้ ดังนี้ เพราะได้สดับถ้อยคำของพระอรหันต์ผู้หลุดพ้น ผู้คงที่ เหมือนหมู่มฤค สะดุ้งต่อพญาสีหมฤคราชฉะนั้น.
จบ สูตรที่ ๖.
๗. ขัชชนิยสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่ถูกขันธ์ ๕ เคี้ยวกิน
[๑๕๘] พระนครสาวัตถี ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่า หนึ่ง เมื่อตามระลึก ย่อมตามระลึกถึงชาติก่อน ได้เป็นอันมาก สมณะหรือพราหมณ์ทั้งปวงนั้น ก็ย่อมตามระลึกถึงอุปาทานขันธ์ ๕ หรือกองใดกองหนึ่ง. อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นไฉน? คือ ย่อม ตามระลึกถึงรูปดังนี้ว่า ในอดีตกาล เราเป็นผู้มีรูปอย่างนี้. ย่อมตามระลึกถึงเวทนาดังนี้ว่า ใน อดีตกาล เราเป็นผู้มีเวทนาอย่างนี้. ย่อมตามระลึกถึงสัญญาดังนี้ว่า ในอดีตกาล เราเป็นผู้มี สัญญาอย่างนี้. ย่อมตามระลึกถึงสังขารดังนี้ว่า ในอดีตกาล เราเป็นผู้มีสังขารอย่างนี้. ย่อมตาม ระลึกถึงวิญญาณดังนี้ว่า ในอดีตกาล เราเป็นผู้มีวิญญาณอย่างนี้. [๑๕๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะอะไรจึงเรียกว่ารูป เพราะสลายไป จึงเรียกว่า รูป สลายไปเพราะอะไร สลายไปเพราะหนาวบ้าง เพราะร้อนบ้าง เพราะหิวบ้าง เพราะกระหายบ้าง เพราะสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลานบ้าง. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะ อะไร จึงเรียกว่า เวทนา เพราะเสวย จึงเรียกว่า เวทนา เสวยอะไร เสวยอารมณ์สุขบ้าง เสวย อารมณ์ทุกข์บ้าง เสวยอารมณ์ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขบ้าง. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะอะไร จึงเรียก ว่า สัญญา เพราะจำได้หมายรู้ จึงเรียกว่า สัญญา จำได้หมายรู้อะไร จำได้หมายรู้สีเขียวบ้าง สีเหลืองบ้าง สีแดงบ้าง สีขาวบ้าง. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะอะไรจึงเรียกว่า สังขาร เพราะ ปรุงแต่งสังขตธรรม จึงเรียกว่า สังขาร ปรุงแต่งสังขตธรรมอะไร ปรุงแต่งสังขตธรรม คือ รูป โดยความเป็นรูป ปรุงแต่ง สังขตธรรม คือ เวทนา โดยความเป็นเวทนา ปรุงแต่งสังขตธรรม คือ สัญญา โดยความเป็นสัญญา ปรุงแต่งสังขตธรรม คือ สังขาร โดยความเป็นสังขาร ปรุงแต่งสังขตธรรม คือ วิญญาณ โดยความเป็นวิญญาณ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะอะไรจึงเรียก ว่า วิญญาณ เพราะรู้แจ้ง จึงเรียกว่า วิญญาณ รู้แจ้งอะไร รู้แจ้งรสเปรี้ยวบ้าง รสขมบ้าง รสเผ็ดบ้าง รสหวานบ้าง รสขื่นบ้าง รสไม่ขื่นบ้าง รสเค็มบ้าง รสไม่เค็มบ้าง. [๑๖๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในข้อนั้น อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า บัดนี้เราถูกรูปกินอยู่ แม้ในอดีตกาล เราก็ถูกรูปกินแล้ว เหมือนกับที่ถูกรูปปัจจุบันกินอยู่ในบัดนี้ ก็เรานี้แล พึงชื่นชมรูปอนาคต แม้ในอนาคตกาล เราก็พึงถูกรูปกิน เหมือนกับที่ถูกรูปปัจจุบัน กินอยู่ในบัดนี้. เธอพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมไม่มีความอาลัยในรูปอดีต ย่อมไม่ชื่นชมรูปอนาคต ย่อมปฏิบัติเพื่อเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับรูปในปัจจุบัน. อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า บัดนี้เราถูกเวทนากินอยู่ ... บัดนี้เราถูกสัญญากินอยู่ ... บัดนี้เราถูกสังขาร กินอยู่ ... บัดนี้เราถูกวิญญาณกินอยู่ แม้ในอดีตกาล เราก็ถูกวิญญาณกินแล้ว เหมือนกับที่ถูก วิญญาณปัจจุบันกินอยู่ในบัดนี้. ก็เรานี้แล พึงชื่นชมวิญญาณอนาคต แม้ในอนาคตกาล เราก็พึง ถูกวิญญาณกินอยู่เหมือนกับที่ถูกวิญญาณปัจจุบันกินอยู่ในบัดนี้. เธอพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อม ไม่มีความอาลัยในวิญญาณ แม้ที่เป็นอดีต ย่อมไม่ชื่นชมวิญญาณอนาคต ย่อมปฏิบัติเพื่อความ เบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับวิญญาณปัจจุบัน. [๑๖๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้น เป็นไฉน รูปเที่ยงหรือไม่ เที่ยง? ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ไม่เที่ยงพระเจ้าข้า. พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า? ภิ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า. พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอ ที่จะตาม เห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา? ภิ. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า. พ. เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง? ภิ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า. พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า? ภิ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า. พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอ ที่จะตาม เห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา? ภิ. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า. [๑๖๒] พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และ ปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือใกล้ รูปทั้งหมดนั้น เธอทั้งหลาย พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริง อย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา. เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง สัญญาอย่างใดอย่าง หนึ่ง สังขารอย่างใดอย่างหนึ่ง วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และ ปัจจุบัน ฯลฯ อยู่ในที่ไกลหรือใกล้ วิญญาณทั้งหมดนั้น เธอทั้งหลาย พึงเห็นด้วยปัญญาอัน ชอบตามความเป็นจริง อย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกนี้ เราเรียกว่า ย่อมทำให้พินาศ ย่อมไม่ก่อ ย่อมละทิ้ง ย่อมไม่ถือ มั่น ย่อมเรี่ยราย ย่อมไม่รวบรวมเข้าไว้ ย่อมทำให้มอด ไม่ก่อให้ลุกโพลงขึ้น. [๑๖๓] อริยสาวก ย่อมทำอะไรให้พินาศ ย่อมไม่ก่ออะไร? ย่อมทำรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ให้พินาศ ย่อมไม่ก่อรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ. ย่อมละทิ้งอะไร ย่อมไม่ถือมั่นอะไร? ย่อมละทิ้งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ย่อมไม่ถือมั่นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ. ย่อมเรี่ยรายอะไร ย่อมไม่รวบรวมอะไรไว้? ย่อมเรี่ยรายรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ย่อมไม่รวบรวมรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ. ย่อมทำอะไร ให้มอด ย่อมไม่ก่ออะไรให้ลุกโพลงขึ้น? ย่อมทำรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ให้มอด ย่อมไม่ก่อรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ให้ลุกโพลงขึ้น. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวก ผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในรูป ทั้งในเวทนา ทั้งในสัญญา ทั้งในสังขาร ทั้งในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้น. เมื่อหลุด พ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว. รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกนี้ เราเรียกว่า ย่อมไม่ก่อ ย่อมไม่ทำให้พินาศ แต่เป็นผู้ทำให้พินาศได้แล้วตั้งอยู่ ย่อมไม่ละ ย่อม ไม่ถือมั่น แต่เป็นผู้ละได้แล้วตั้งอยู่ ย่อมไม่เรี่ยราย ย่อมไม่รวบรวมไว้ แต่เป็นผู้เรี่ยรายได้แล้ว ตั้งอยู่ ย่อมไม่ทำให้มอด ย่อมไม่ก่อให้ลุกโพลงขึ้น แต่เป็นผู้ทำให้มอดได้แล้วตั้งอยู่. [๑๖๔] อริยสาวก ย่อมไม่ก่ออะไร ย่อมไม่ทำอะไรให้พินาศ แต่ทำให้พินาศแล้ว ตั้งอยู่. ย่อมไม่ก่อรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ให้พินาศ แต่เป็นผู้ทำให้พินาศได้ แล้วตั้งอยู่. ย่อมไม่ละอะไร ย่อมไม่ถือมั่นอะไร แต่เป็นผู้ละได้แล้วตั้งอยู่ ย่อมไม่ละรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ย่อมไม่ถือมั่นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ เป็นผู้ละได้แล้วตั้งอยู่. ย่อมไม่เรี่ยรายอะไร ย่อมไม่รวบรวมอะไรไว้ แต่เป็นผู้เรี่ยรายได้แล้ว ตั้งอยู่. ย่อมไม่เรี่ยรายรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ย่อมไม่รวบรวมรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่เป็นผู้เรี่ยรายได้แล้วตั้งอยู่. ย่อมไม่ทำอะไรให้มอด ย่อมไม่ก่อ อะไรให้ลุกโพลงขึ้น แต่เป็นผู้ทำให้มอดได้แล้วตั้งอยู่. ย่อมไม่ทำรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ให้มอด ย่อมไม่ก่อรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ให้ลุกโพลงขึ้น แต่เป็น ผู้ทำให้มอดได้แล้วตั้งอยู่. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เทวดาพร้อมด้วยอินทร์ พรหม และท้าวปชาบดี ย่อมนมัสการ ภิกษุผู้มีจิตพ้นแล้ว อย่างนี้แล แต่ที่ไกลทีเดียวว่า ข้าแต่ท่านผู้เป็นบุรุษอาชาไนย ข้าพเจ้าทั้งหลายขอนอบน้อม ต่อท่าน ข้าแต่ท่านผู้เป็นอุดมบุรุษ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอนอบน้อม ต่อท่าน ผู้ซึ่งข้าพเจ้าทั้งหลายมิได้รู้จักโดยเฉพาะ และผู้ซึ่งได้ อาศัยเพ่งท่านพินิจอยู่ ดังนี้.
จบ สูตรที่ ๗.
๘. ปิณโฑลยสูตร
ว่าด้วยเหตุที่ต้องดำรงชีพด้วยบิณฑบาต
[๑๖๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธาราม ใกล้พระนครกบิลพัสดุ์ สักกชนบท. ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงขับไล่พระภิกษุสงฆ์ในเพราะเหตุเรื่องหนึ่งแล้ว เวลาเช้า ทรงผ้าอันตรวาสก ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังพระนครกบิลพัสดุ์ ครั้นแล้ว ในเวลาปัจฉาภัต เสด็จกลับจากบิณฑบาต เสด็จไปยังป่ามหาวัน เพื่อประทับพักใน กลางวัน ครั้นเสด็จถึงป่ามหาวันแล้ว ได้ประทับนั่งพักกลางวัน ณ โคนต้นมะตูมหนุ่ม ครั้งนั้น แล พระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกออกเร้นอยู่ในที่ลับ ได้เกิดพระปริวิตกขึ้นว่า เราแลได้ขับไล่ ภิกษุสงฆ์ให้ไปแล้ว ในภิกษุสงฆ์เหล่านี้ พวกภิกษุใหม่ บวชยังไม่นาน เพิ่งมาสู่ธรรมวินัยนี้ มีอยู่ เมื่อภิกษุเหล่านั้นไม่เห็นเรา พึงเป็นผู้มีความกินแหนง มีใจแปรปรวน เหมือนลูกโค น้อยๆ เมื่อไม่เห็นแม่ พึงมีความกินแหนง มีใจแปรปรวน ฉะนั้น เหมือนกับพืชที่ยังอ่อนๆ ไม่ได้น้ำ พึงมีความผันแปรไป มีความเปลี่ยนแปรไป ฉะนั้น ถ้ากระไรเราพึงอนุเคราะห์ภิกษุสงฆ์ ในบัดนี้ เหมือนกับที่ได้อนุเคราะห์มาแล้วในก่อนๆ ฉะนั้นเถิด. [๑๖๖] ครั้งนั้นแล ท้าวสหัมบดีพรหม ได้ทราบพระปริวิตกของพระผู้มีพระภาค ด้วย ใจของตนแล้ว ได้หายไปจากพรหมโลก มาปรากฏเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค เหมือนกับ บุรุษผู้มีกำลังเหยียดแขนที่คู้ หรือคู้แขนที่เหยียด ฉะนั้น ลำดับนั้นแล ท้าวสหัมบดีพรหม ทำ ผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง แล้วประนมมือ กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ข้าแต่พระสุคต ข้อนี้เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคได้ทรงขับไล่ ภิกษุสงฆ์ไปแล้ว ในภิกษุสงฆ์เหล่านี้ พวกภิกษุที่ยังใหม่ บวชยังไม่นาน เพิ่งมาสู่ธรรมวินัยนี้ มีอยู่ เมื่อภิกษุสงฆ์เหล่านั้นไม่เห็นพระผู้มีพระภาค พึงเป็นผู้มีความกินแหนง มีใจแปรปรวน เหมือนกับลูกโคน้อยๆ เมื่อไม่เห็นแม่ พึงมีความกินแหนง มีใจแปรปรวน ฉะนั้น เหมือน กับพืชที่ยังอ่อนๆ เมื่อไม่ได้น้ำ พึงมีความผันแปรไป มีความเปลี่ยนแปลงไป ฉะนั้น พระเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงชื่นชมกะภิกษุสงฆ์ ขอพระผู้มีพระภาค จงทรงพร่ำสอนภิกษุสงฆ์ จงทรงอนุเคราะห์ภิกษุสงฆ์ในบัดนี้ เหมือนกับที่ได้ทรงอนุเคราะห์มาแล้วแต่ก่อนๆ ฉะนั้นเถิด. พระผู้มีพระภาค ทรงรับอาราธนาโดยดุษณีภาพ. ลำดับนั้นแล ท้าวสหัมบดีพรหม ทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงรับอาราธนาแล้ว จึงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคกระทำประทักษิณแล้ว อันตร- *ธานไปจากสำนักของพระผู้มีพระภาคนั่นแล. [๑๖๗] ลำดับนั้นแล เป็นเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออก จากที่พักผ่อนแล้ว เสด็จไปยังนิโครธาราม แล้วประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูไว้ ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงบันดาล ด้วยอิทธาภิสังขาร ให้ภิกษุเหล่านั้นเกรงกลัว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคจนถึงที่ประทับ ทีละรูป บ้าง สองรูปบ้าง ครั้นแล้วต่างก็ถวายบังคมแล้ว นั่งลง ณ สถานที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ครั้น ภิกษุเหล่านั้น นั่งลงเรียบร้อยแล้ว พระผู้มีพระภาค จึงได้ตรัสพระพุทธวจนะว่า ดูกรภิกษุทั้ง- *หลาย ข้อเลวทรามของการเลี้ยงชีพทั้งหลาย ก็คือการแสวงหาบิณฑบาต. ภิกษุทั้งหลาย ย่อม ได้รับคำแช่งด่าในโลกว่า เป็นผู้มีมือถือบาตรเที่ยวแสวงหาบิณฑบาต. ดูกรภิกษุทั้งหลายก็กุลบุตร ทั้งหลาย เป็นผู้เป็นไปในอำนาจแห่งเหตุ อาศัยอำนาจแห่งเหตุ จึงเข้าถึงความเป็นผู้แสวงหา บิณฑบาตนี้แล ไม่ใช่เป็นคนหนีราชทัณฑ์ ไม่ใช่เป็นคนขอให้โจรปล่อยตัวไปบวช ไม่ใช่เป็น คนมีหนี้ ไม่ใช่เป็นคนมีภัย ไม่ใช่เป็นคนมีอาชีพแร้นแค้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อีกอย่าง หนึ่ง กุลบุตรนี้บวชแล้ว โดยที่คิดเช่นนี้ว่า เราทั้งหลายเป็นผู้อันชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ครอบงำแล้ว ชื่อว่าเป็นผู้มีทุกข์ครอบงำแล้ว มีทุกข์ประจำ แล้ว ไฉนหนอ ความทำที่สุดแห่งกองทุกข์ ทั้งมวลนี้ จะพึงปรากฏ. แต่ว่ากุลบุตรนั้น เป็นผู้ มากด้วยอภิชฌา มีราคะกล้าในกามทั้งหลาย มีจิตพยาบาท มีความดำริแห่งใจ อันโทสะประทุษ ร้ายแล้ว มีสติหลงลืม ไม่มีสัมปชัญญะ มีใจไม่เป็นสมาธิ มีจิตหมุนไปผิด ไม่สำรวมอินทรีย์. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวบุคคลผู้เสื่อมแล้ว จากโภคะแห่งคฤหัสถ์ด้วย ไม่ทำประโยชน์ คือ ความเป็นสมณะให้บริบูรณ์ด้วยว่า มีอุปมาเหมือนกับดุ้นฟืนในที่เผาศพ ซึ่งไฟติดทั้งสองข้าง ตรงกลางก็เปื้อนคูถจะใช้เป็นฟืนในบ้านก็ไม่ได้ ฉะนั้น. [๑๖๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อกุศลวิตก ๓ อย่างนี้ คือ กามวิตก ๑ พยาบาทวิตก ๑ วิหิงสาวิตก ๑. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลมีจิตตั้งมั่นดีแล้วในสติปัฏฐาน ๔ หรือเจริญอนิมิตต- *สมาธิ อกุศลวิตก ๓ อย่างนี้แล ย่อมดับโดยไม่เหลือ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนิมิตตสมาธิควร แท้ ที่จะเจริญจนกว่าจะละอกุศลวิตกนี้ได้. อนิมิตตสมาธิที่บุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก. [๑๖๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทิฏฐิ ๒ อย่างนี้ คือ ภวทิฏฐิ ๑ วิภวทิฏฐิ ๑. ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย อริยสาวก ผู้ได้สดับแล้ว ย่อมพิจารณาเห็นในทิฏฐิ ๒ อย่างนั้น ดังนี้ว่า เรายึดถือ สิ่งใด ในโลกอยู่ จะพึงเป็นผู้ไม่มีโทษ สิ่งนั้นมีอยู่บ้างไหม? เธอย่อมทราบชัดอย่างนี้ว่า เรา เรายึดถือสิ่งใดในโลกอยู่ พึงเป็นผู้ไม่มีโทษ สิ่งนั้นไม่มีเลย. เธอย่อมทราบชัดอย่างนี้ ก็เราเมื่อ ยึดถือ พึงยึดถือรูปนั้นเอง เมื่อยึดถือ พึงยึดถือเวทนานั้นเอง เมื่อยึดถือ พึงยึดถือสัญญา นั่นเอง เมื่อยึดถือ พึงยึดถือสังขารนั่นเอง เมื่อยึดถือ พึงยึดถือวิญญาณนั้นเอง ภพพึงมีแก่ เรา เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ชาติมีเพราะภพเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสมี เพราะชาติเป็นปัจจัย ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ พึงมีได้ ด้วยประการอย่างนี้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญ ความข้อนั้นเป็นไฉน รูป ฯลฯ เวทนา ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขาร ฯลฯ วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง? ภิกษุทั้งหลายกราบทูล ว่า ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า. พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า? ภิ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า. พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอ ที่จะตาม เห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวของตัวเรา? ภิ. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า. พ. เพราะฉะนั้นแหละ ภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้วเห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.
จบ สูตรที่ ๘.
๙. ปาลิเลยยสูตร
ว่าด้วยการรู้เห็นที่ทำให้สิ้นอาสวะ
[๑๗๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม ใกล้พระนครโกสัมพี. ครั้งนั้นแล เป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาค ทรงผ้าอันตรวาสก ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้า ไปยังพระนครโกสัมพีเพื่อบิณฑบาต ครั้นเสด็จเที่ยวบิณฑบาตในพระนครโกสัมพีแล้ว ในเวลา ปัจฉาภัต เสด็จกลับจากบิณฑบาตแล้ว ทรงเก็บงำเสนาสนะด้วยพระองค์เอง ทรงถือบาตรและ จีวร มิได้รับสั่งเรียกพวกภิกษุที่เป็นอุปัฏฐาก มิได้ตรัสอำลาพระภิกษุสงฆ์ พระองค์เดียวไม่มี เพื่อนเสด็จหลีกไปสู่ที่จาริก. [๑๗๑] ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่ง เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จไปแล้วไม่นาน ได้เข้าไป หาท่านพระอานนท์จนถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว ได้กล่าวกะท่านพระอานนท์ว่า มาเถอะท่านพระอานนท์ พระผู้มีพระภาคทรงเก็บงำเสนาสนะด้วยพระองค์เอง ทรงถือบาตรและจีวร มิได้ทรงรับสั่งเรียก พวกภิกษุที่เป็นอุปัฏฐาก มิได้ตรัสอำลาพระภิกษุสงฆ์ พระองค์เดียว ไม่มีเพื่อน เสด็จไปสู่ที่ จาริก. ท่านพระอานนท์ได้ตอบว่า อาวุโส สมัยใด พระผู้มีพระภาค ทรงเก็บงำเสนาสนะ ด้วยพระองค์เอง ทรงถือบาตรและจีวร มิได้ทรงรับสั่งเรียกพวกภิกษุที่เป็นอุปัฏฐาก มิได้ตรัส อำลาภิกษุสงฆ์ พระองค์เดียว ไม่มีเพื่อน เสด็จหลีกไปสู่ที่จาริก สมัยนั้น พระผู้มีพระภาค ย่อมทรงพระประสงค์ ที่จะประทับแต่พระองค์เดียว สมัยนั้น พระผู้มีพระภาค ย่อมเป็นผู้อัน ใครๆ ไม่พึงติดตาม. [๑๗๒] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาค เสด็จเที่ยวจาริกไปโดยลำดับ เสด็จถึงป่าปาลิ- *เลยยกะ. ข่าวว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โคนไม้รังอันเจริญ ในป่าปาลิเลยยกะนั้น. ครั้งนั้นแล ภิกษุมากรูปด้วยกัน ได้เข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่ ครั้นแล้วต่างก็สนทนา ปราศรัยกับท่านพระอานนท์ ครั้นผ่านการปราศรัย พอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่ง ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง. ครั้นแล้ว ได้พากันกล่าวกะท่านพระอานนท์ว่า ท่านอานนท์ นานแล้ว ที่พวก ผมได้สดับธรรมีกถาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค ท่านอานนท์ พวกผมปรารถนาที่จะสดับธรรมี- *กถาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค. ลำดับนั้นแล ท่านพระอานนท์พร้อมกับภิกษุเหล่านั้น พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ณ โคนไม้รังอันเจริญ ในป่าปาลิเลยยกะ ครั้นแล้ว ต่างถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคทรง ยังภิกษุเหล่านั้น ให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริงด้วยธรรมีกถา. [๑๗๓] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่ง ได้เกิดความปริวิตกแห่งใจขึ้นว่า เมื่อบุคคล รู้อย่างไร เห็นอย่างไรหนอ อาสวะทั้งหลาย จึงสิ้นไปโดยลำดับ? พระผู้มีพระภาค ทรงทราบ ความปริวิตกแห่งใจของภิกษุนั้น ด้วยพระทัย จึงตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เราแสดงธรรมด้วยการเลือกเฟ้น แสดงสติปัฏฐาน ๔ ด้วยการเลือกเฟ้น แสดง สัมมัปปธาน ๔ ด้วยการเลือกเฟ้น แสดงอิทธิบาท ๔ ด้วยการเลือกเฟ้น แสดงอินทรีย์ ๕ ด้วย การเลือกเฟ้น แสดงพละ ๕ ด้วยการเลือกเฟ้น แสดงโพชฌงค์ ๗ ด้วยการเลือกเฟ้น แสดง อริยมรรคมีองค์ ๘ ด้วยการเลือกเฟ้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราได้แสดงธรรม ด้วยการเลือกเฟ้น เช่นนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมอันเราแสดงแล้ว ด้วยการเลือกเฟ้นเช่นนี้ เออก็มีภิกษุบางรูป ในธรรมวินัยนี้ ยังเกิดความปริวิตกแห่งใจขึ้นว่า เมื่อบุคคลรู้ได้อย่างไร เห็นอย่างไรหนอ อาสวะทั้งหลาย จึงสิ้นไปโดยลำดับ. [๑๗๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลรู้ได้อย่างไร เห็นอย่างไร อาสวะทั้งหลาย จึงสิ้นไปโดยลำดับ? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้สดับแล้ว ในโลกนี้ ไม่ได้เห็นพระอริยเจ้า ทั้งหลาย ไม่ฉลาดในอริยธรรม มิได้รับแนะนำในอริยธรรม ไม่ได้เห็นสัตบุรุษ ไม่ฉลาด ในสัปปุริสธรรม ไม่ได้รับแนะนำในสัปปุริสธรรม ย่อมตามเห็นรูปโดยความเป็นตน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็การตามเห็นดังนั้นแล เป็นสังขาร ก็สังขารนั้น มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไร เป็นเครื่องก่อให้เกิดขึ้น มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด? ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังขาร นั้น เกิดจากตัณหาที่เกิดขึ้น แก่ปุถุชนผู้มิได้สดับแล้ว ผู้อันความเสวยอารมณ์ที่เกิดแต่อวิชชา สัมผัสถูกต้องแล้ว. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้แล แม้สังขารนั้นก็ไม่เที่ยง ปัจจัยปรุง แต่ง อาศัยเหตุเกิดขึ้น แม้ตัณหานั้น แม้เวทนานั้น แม้ผัสสะนั้น แม้อวิชชานั้น ก็ไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยเหตุเกิดขึ้น. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลรู้อยู่ แม้อย่างนี้ เห็นอยู่ อย่างนี้ อาสวะทั้งหลาย ย่อมสิ้นไปโดยลำดับ. [๑๗๕] ปุถุชน ย่อมไม่ตามเห็นรูป โดยความเป็นตนเลย แต่ว่าตามเห็นตนมีรูป ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็การตามเห็นดังนั้นเป็นสังขาร. ก็สังขารนั้นมีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็น เครื่องก่อให้เกิดขึ้น มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด? ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังขารนั้น เกิดจากตัณหาที่เกิดขึ้น แก่ปุถุชนผู้มิได้สดับ ผู้อันความเสวยอารมณ์ที่เกิดแต่อวิชชา สัมผัส ถูกต้องแล้ว. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้แล แม้สังขารนั้น ก็ไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุง แต่ง อันอาศัยเหตุเกิดขึ้น แม้ตัณหานั้น แม้เวทนานั้น แม้ผัสสะนั้น แม้อวิชชานั้น ก็ไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยเหตุเกิดขึ้น. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลรู้อยู่ แม้อย่างนี้ เห็นอยู่ อย่างนี้ อาสวะทั้งหลาย ย่อมสิ้นไปโดยลำดับ. [๑๗๖] ปุถุชน ย่อมไม่ตามเห็นรูป โดยความเป็นตนเลย ย่อมไม่ตามเห็นตนมีรูป แต่ว่าตามเห็นรูปในตน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็การตามเห็นดังนั้นแลเป็นสังขาร ก็สังขารนั้น มี อะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นเครื่องก่อให้เกิดขึ้น มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด? ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สังขารนั้น เกิดจากตัณหาที่เกิดขึ้น แก่ปุถุชนผู้มิได้สดับ ผู้อันความเสวยอารมณ์ ที่เกิดแต่อวิชชาสัมผัสถูกต้องแล้ว. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้ แม้สังขารนั้นก็ไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยเหตุเกิดขึ้น แม้ตัณหานั้น แม้เวทนานั้น แม้ผัสสะนั้น แม้อวิชชานั้น ก็ไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยเหตุเกิดขึ้น. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลรู้อยู่แม้อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ อาสวะทั้งหลาย ย่อมสิ้นไปโดยลำดับ. [๑๗๗] ปุถุชน ย่อมไม่ตามเห็นรูป โดยความเป็นตนเลย ย่อมไม่ตามเห็นตนมีรูป ย่อมไม่ตามเห็นรูปในตน แต่ว่าตามเห็นตนในรูป. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็การตามเห็นดังนั้นแล เป็นสังขาร ก็สังขารนั้น มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นเครื่องก่อให้เกิดขึ้น มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด? ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังขารนั้นเกิดจากตัณหาที่เกิดขึ้น แก่ปุถุชนผู้มิได้สดับ ผู้อันความเสวยอารมณ์ที่เกิดแต่อวิชชาสัมผัสถูกต้องแล้ว. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้ แล แม้สังขารนั้น ก็ไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยเหตุเกิดขึ้น แม้ตัณหานั้น แม้เวทนา นั้น แม้ผัสสะนั้น แม้อวิชชานั้น ก็ไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยเหตุเกิดขึ้น. ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย บุคคลรู้อยู่แม้อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ อาสวะทั้งหลาย ย่อมสิ้นไปโดยลำดับ. [๑๗๘] ปุถุชน ย่อมไม่ตามเห็นรูป โดยความเป็นตนเลย ย่อมไม่ตามเห็นตนมีรูป ย่อมไม่ตามเห็นรูปในตน ย่อมไม่ตามเห็นตนในรูป แต่ว่าตามเห็นเวทนา โดยความเป็นตน ฯลฯ แต่ว่าตามเห็นตนมีเวทนา ฯลฯ แต่ว่าตามเห็นเวทนาตนใน ฯลฯ แต่ว่าตามเห็นตนใน เวทนา ฯลฯ แต่ว่าตามเห็นสัญญา โดยความเป็นตน ฯลฯ แต่ว่าตามเห็นตนมีสัญญา ฯลฯ แต่ว่า ตามเห็นสัญญาในตน ฯลฯ แต่ว่าตามเห็นตนในสัญญา ฯลฯ แต่ว่าตามเห็นสังขาร โดยความ เป็นตน ฯลฯ แต่ว่าตามเห็นตนมีสังขาร ฯลฯ แต่ว่าตามเห็นสังขารในตน ฯลฯ แต่ว่าตาม เห็นตนในสังขาร ฯลฯ แต่ว่าตามเห็นวิญญาณ โดยความเป็นตน ฯลฯ แต่ว่าตามเห็นตนมี วิญญาณ ฯลฯ แต่ว่าตามเห็นวิญญาณในตน ฯลฯ แต่ว่าตามเห็นตนในวิญญาณ. ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ก็การตามเห็นดังนั้นแล เป็นสังขาร ก็สังขารนั้น มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นเครื่อง ก่อให้เกิดขึ้น มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด? สังขารนั้น เกิดจากตัณหาที่เกิดขึ้น แก่ปุถุชนผู้มิได้สดับ ผู้อันความเสวยอารมณ์ที่เกิดแต่อวิชชาสัมผัสถูกต้องแล้ว. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้แล แม้สังขารนั้น ก็ไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยเหตุเกิดขึ้น แม้ตัณหานั้น แม้เวทนานั้น แม้สัมผัสะนั้น แม้อวิชชานั้น ก็ไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยเหตุเกิดขึ้น. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลรู้อยู่แม้อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ อาสวะทั้งหลาย ย่อมสิ้นไปโดย ลำดับ. [๑๗๙] ปุถุชน ย่อมไม่ตามเห็นรูป โดยความเป็นตนเลย ฯลฯ ย่อมไม่ตามเห็นเวทนา โดยความเป็นตน ฯลฯ ย่อมไม่ตามเห็นสัญญา โดยความเป็นตน ฯลฯ ย่อมไม่ตามเห็นสังขาร โดยความเป็นตน ฯลฯ ย่อมไม่ตามเห็นวิญญาณ โดยความเป็นตน ฯลฯ แต่ว่าเป็นผู้มี ทิฏฐิ เช่นนี้ ว่า ตนก็อันนั้น โลกก็อันนั้น เรานั้นละโลกนี้ไปแล้ว จักเป็นผู้เที่ยง ยั่งยืน มั่นคง มีความไม่เปลี่ยนแปลงเป็นธรรม. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทิฏฐิความเห็นว่าเที่ยงเช่นนั้น เป็นสังขาร ก็สังขารนั้น มีอะไรเป็นเหตุ ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลรู้อยู่แม้อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ อาสวะทั้งหลาย ย่อมสิ้นไปโดยลำดับ. [๑๘๐] ปุถุชนย่อมไม่ตามเห็นรูป โดยความเป็นตนเลย ฯลฯ ย่อมไม่ตามเห็นเวทนา โดยความเป็นตน ฯลฯ ย่อมไม่ตามเห็นสัญญา โดยความเป็นตน ฯลฯ ย่อมไม่ตามเห็นสังขาร โดยความเป็นตน ฯลฯ ย่อมไม่ตามเห็นวิญญาณ โดยความเป็นตน ฯลฯ เป็นผู้ไม่มีทิฏฐิ เช่นนี้ ว่า ตนก็อันนั้น โลกก็อันนั้น เรานั้นละโลกนี้ไปแล้ว จักเป็นผู้เที่ยง ยั่งยืน มั่นคง มีความ ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดา แต่ว่าเป็นผู้มีทิฏฐิ เช่นนี้ว่า เราไม่พึงมี และบริขารของเราไม่พึงมี เราจักไม่มี บริขารของเราจักไม่มี ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็มีทิฏฐิความเห็นว่าขาดสูญเช่นนั้นเป็น สังขาร. ก็สังขารนั้น มีอะไรเป็นเหตุ ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลแม้รู้อยู่อย่างนี้ เห็น อยู่อย่างนี้ อาสวะทั้งหลาย ย่อมสิ้นไปโดยลำดับ. [๑๘๑] ปุถุชน ย่อมไม่ตามเห็นรูป โดยความเป็นตน ฯลฯ ย่อมไม่เห็นเวทนา โดยความเป็นตน ฯลฯ ย่อมไม่ตามเห็นสัญญา โดยความเป็นตน ฯลฯ ย่อมไม่ตามเห็นสังขาร โดยความเป็นตน ฯลฯ ย่อมไม่ตามเห็นวิญญาณ โดยความเป็นตน ฯลฯ เป็นผู้ไม่มีทิฏฐิ เช่นนี้ ว่า ตนก็อันนั้น โลกก็อันนั้น เรานั้นละโลกนี้ไปแล้ว จักเป็นผู้เที่ยง ยั่งยืน มั่นคง มีความ ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดา และเป็นผู้ไม่มีทิฏฐิ เช่นนี้ว่า เราไม่พึงมี และบริขารของเราไม่พึง มี เราจักไม่มี บริขารของเราจักไม่มี แต่ว่ายังเป็นผู้มีความสงสัย เคลือบแคลง ไม่แน่ใจใน สัทธรรม. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ความเป็นผู้มีความสงสัย เคลือบแคลง ไม่แน่ใจในสัทธรรม เช่นนั้นเป็นสังขาร. ก็สังขารนั้น มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นเครื่องก่อให้เกิดขึ้น มีอะไรเป็น กำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด? ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังขารนั้น เกิดจากตัณหาที่เกิดขึ้น แก่ปุถุชน ผู้มิได้สดับ ผู้อันความเสวยอารมณ์ที่เกิดแต่อวิชชาสัมผัสถูกต้อง. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วย ประการฉะนี้แล แม้สังขารนั้น ก็ไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยเหตุเกิดขึ้น แม้ตัณหานั้น แม้เวทนานั้น แม้ผัสสะนั้น แม้อวิชชานั้น ก็ไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยเหตุเกิดนั้น. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลแม้รู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ อาสวะทั้งหลาย ย่อมสิ้นไปโดย ลำดับ.
จบ สูตรที่ ๙.
๑๐. ปุณณมสูตร
ว่าด้วยอุปาทานขันธ์ ๕
[๑๘๒] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ มิคารมาตุปราสาท ในพระวิหาร บุพพาราม ใกล้พระนครสาวัตถี พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์เป็นอันมาก. ก็ในสมัยนั้นแล ในคืน วันอุโบสถขึ้น ๑๕ ค่ำ เป็นวันเพ็ญ มีพระจันทร์เต็มดวง พระผู้มีพระภาค อันภิกษุสงฆ์ห้อม ล้อมแล้ว ประทับนั่งอยู่ในที่แจ้ง. [๑๘๓] ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่งลุกจากอาสนะ ทำผ้าอุตตราสงฆ์เฉวียงบ่าข้างหนึ่งแล้ว ประนมมือไปทางพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้า- *พระองค์จะพึงทูลถามเหตุประการหนึ่ง กะพระผู้มีพระภาค ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงประทานโอกาส ที่จะพยากรณ์ปัญหา แก่ข้าพระองค์. พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรภิกษุ ถ้าเช่นนั้นเธอจง นั่ง ณ อาสนะของตนแล้ว ถามปัญหาที่เธอมุ่งจำนงเถิด ภิกษุนั้น รับพระดำรัสของพระผู้มี พระภาคแล้วนั่ง ณ อาสนะของตน ทูลถามปัญหาพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อุปาทานขันธ์ ๕ ได้แก่อุปาทานขันธ์คือรูป อุปาทานขันธ์คือเวทนา อุปาทานขันธ์คือสัญญา อุปาทานขันธ์คือสังขาร อุปาทานขันธ์คือวิญญาณ เหล่านี้ ใช่ไหม พระเจ้าข้า? พ. ดูกรภิกษุ อุปาทานขันธ์ ๕ ได้แก่อุปาทานขันธ์ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เหล่านี้แหละภิกษุ.
ว่าด้วยมูลแห่งอุปาทานขันธ์ ๕
[๑๘๔] ภิกษุนั้น ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า ดีแล้วพระเจ้าข้า แล้ว ได้ทูลถามปัญหาที่ยิ่งขึ้นไปว่า อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้แล มีอะไรเป็นมูลเหตุ พระเจ้าข้า? พ. ดูกรภิกษุ อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้แล มีฉันทะเป็นมูลเหตุ ฯลฯ ภิ. อุปาทานก็อันนั้น และอุปาทานขันธ์ ๕ ก็อันนั้น หรือว่าอุปาทานอื่นจากอุปาทาน- *ขันธ์ ๕ พระเจ้าข้า? พ. ดูกรภิกษุ อุปาทานก็อันนั้น และอุปาทานขันธ์ ๕ ก็อันนั้น หามิได้ และอุปาทาน อื่นจากอุปาทานขันธ์ ๕ ก็หามิได้ แต่ฉันทราคะในอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านั้นเป็นตัวอุปาทาน
ว่าด้วยฉันทราคะในอุปาทานขันธ์ ๕
[๑๘๕] ภิกษุนั้น ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า ดีแล้วพระเจ้าข้า แล้วได้ ทูลถามปัญหาที่ยิ่งขึ้นไปว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ฉันทราคะในอุปาทานขันธ์ ๕ แตกต่างกัน หรือ? พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ต่างกันภิกษุ ดังนี้แล้ว ได้ตรัสต่อไปว่า ดูกรภิกษุ บุคคลบางคนในโลกนี้ มีความปรารถนาอย่างนี้ว่า ในอนาคตกาล ขอเราพึงมีรูปเช่นนี้ พึงมี เวทนาเช่นนี้ พึงมีสัญญาเช่นนี้ พึงมีสังขารเช่นนี้ พึงมีวิญญาณเช่นนี้. ดูกรภิกษุ ฉันทราคะ ในอุปาทานขันธ์ ๕ ต่างกันด้วยประการฉะนี้แล.
ว่าด้วยเหตุที่เรียกว่าขันธ์
[๑๘๖] ภิกษุนั้น ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า ดีแล้วพระเจ้าข้า แล้วได้ทูลถามปัญหาที่ยิ่งขึ้นไปว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ ขันธ์ จึงชื่อว่า ขันธ์? พ. ดูกรภิกษุ รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็น ภายในก็ดี ภายนอกก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี มีในที่ไกลก็ดี ในที่ใกล้ ก็ดี นี้เรียกว่ารูปขันธ์ เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ นี้เรียกว่าเวทนาขันธ์ สัญญาอย่างใดอย่าง หนึ่ง ฯลฯ นี้เรียกว่าสัญญาขันธ์ สังขารอย่างใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ นี้เรียกว่าสังขารขันธ์ วิญญาณ อย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในก็ดี ภายนอกก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี มีในที่ไกลก็ดี ในที่ใกล้ก็ดี นี้เรียกว่าวิญญาณขันธ์. ดูกรภิกษุ ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล ขันธ์จึงชื่อว่าขันธ์.
ว่าด้วยเหตุปัจจัยแห่งขันธ์ ๕
[๑๘๗] ภิกษุนั้น ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า ดีแล้วพระเจ้าข้า แล้ว ได้ทูลถามปัญหาที่ยิ่งขึ้นไปว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ปรากฏ? พ. ดูกรภิกษุ มหาภูตรูป ๔ แล เป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้รูปขันธ์ปรากฏ. ผัสสะ เป็น เหตุเป็นปัจจัยทำให้เวทนาขันธ์ปรากฏ. ผัสสะ เป็นเหตุเป็นปัจจัย ทำให้สัญญาขันธ์ปรากฏ. ผัสสะ เป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้สังขารขันธ์ปรากฏ. นามรูปเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้วิญญาณขันธ์ ปรากฏ.
ว่าด้วยเหตุเกิดสักกายทิฏฐิ
[๑๘๘] ภิกษุนั้น ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า ดีแล้วพระเจ้าข้า แล้ว ได้ทูลถามปัญหาที่ยิ่งขึ้นไปว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สักกายทิฏฐิมีได้อย่างใดหนอ? พ. ดูกรภิกษุ ปุถุชนในโลกนี้ ผู้ยังมิได้สดับ เป็นผู้ไม่ได้เห็นพระอริยเจ้า ไม่ฉลาด ในอริยธรรม ไม่ได้รับแนะนำในอริยธรรม เป็นผู้ไม่ได้เห็นสัตบุรุษ ไม่ฉลาดในสัปปุริสธรรม ไม่ได้รับแนะนำในสัปปุริสธรรม ย่อมเห็นรูปโดยความเป็นตน ย่อมเห็นตนมีรูป ย่อมเห็นรูป ในตน ย่อมเห็นตนในรูป ย่อมเห็นเวทนา โดยความเป็นตน ย่อมเห็นตนมีเวทนา ย่อมเห็น เวทนาในตน ย่อมเห็นตนในเวทนา ย่อมเห็นสัญญา โดยความเป็นตน ย่อมเห็นตนมีสัญญา ย่อมเห็นสัญญาในตน ย่อมเห็นตนในสัญญา ย่อมเห็นสังขาร โดยความเป็นตน ย่อมเห็น ตนมีสังขาร ย่อมเห็นสังขารในตน ย่อมเห็นตนในสังขาร ย่อมเห็นวิญญาณ โดยความเป็นตน ย่อมเห็นตนมีวิญญาณ ย่อมเห็นวิญญาณในตน ย่อมเห็นตนในวิญญาณ. ดูกรภิกษุ สักกาย- *ทิฏฐิมีได้ด้วยอาการเช่นนี้แล.
ว่าด้วยเหตุจะไม่มีสักกายทิฏฐิ
[๑๘๙] ภิกษุนั้น ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า ดีแล้วพระเจ้าข้า แล้วได้ทูลถามปัญหาที่ยิ่งขึ้นไปว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สักกายทิฏฐิย่อมไม่มีได้อย่างไร? พ. ดูกรภิกษุ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ผู้ได้สดับแล้ว เป็นผู้ได้เห็นพระอริยเจ้า ฉลาดในอริยธรรม ได้รับแนะนำแล้วเป็นอย่างดีในอริยธรรม เป็นผู้ได้เห็นสัตบุรุษ ฉลาดใน สัปปุริสธรรม ได้รับแนะนำแล้วเป็นอย่างดีในสัปปุริสธรรม ย่อมไม่เห็นรูป โดยความเป็นตน ไม่เห็นตนมีรูป ไม่เห็นรูปในตน หรือไม่เห็นตนในรูป ย่อมไม่เห็นเวทนา โดยความเป็นตน ไม่เห็นตนมีเวทนา ไม่เห็นเวทนาในตน หรือไม่เห็นตนในเวทนา ย่อมไม่เห็นสัญญา โดยความ เป็นตน ไม่เห็นตนมีสัญญา ไม่เห็นสัญญาในตน หรือไม่เห็นตนในสัญญา ย่อมไม่เห็นสังขาร โดยความเป็นตน ไม่เห็นตนมีสังขาร ไม่เห็นสังขารมีในตน หรือไม่เห็นตนในสังขาร ย่อมไม่ เห็นวิญญาณ โดยความเป็นตน ไม่เห็นตนมีวิญญาณ ไม่เห็นวิญญาณในตน หรือไม่เห็นตนใน วิญญาณ. ดูกรภิกษุ สักกายทิฏฐิ ย่อมไม่มีด้วยอาการเช่นนี้แล.
ว่าด้วยคุณโทษและอุบายสลัดออกแห่งอุปาทานขันธ์
[๑๙๐] ภิกษุนั้น ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า ดีแล้วพระเจ้าข้า แล้ว ได้ทูลถามปัญหาที่ยิ่งขึ้นไปว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอ เป็นคุณ เป็นโทษ เป็นเครื่อง สลัดออก แห่งรูป แห่งเวทนา แห่งสัญญา แห่งสังขาร แห่งวิญญาณ? พ. ดูกรภิกษุ สุขโสมนัส อาศัยรูปเกิดขึ้น นี้เป็นคุณแห่งรูป รูปไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษแห่งรูป การกำจัดฉันทราคะ การละฉันทราคะในรูป เสียได้ นี้เป็นเครื่องสลัดออกแห่งรูป สุขโสมนัส อาศัยเวทนาเกิดขึ้น ฯลฯ อาศัยสัญญาเกิด ขึ้น ฯลฯ อาศัยสังขารเกิดขึ้น อาศัยวิญญาณเกิดขึ้น นี้เป็นคุณแห่งวิญญาณ วิญญาณไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษแห่งวิญญาณ. การกำจัดฉันทราคะ การละฉันทราคะในวิญญาณเสียได้ นี้เป็นเครื่องสลัดออกแห่งวิญญาณ.
ว่าด้วยการไม่มีอหังการมมังการและมานานุสัย
[๑๙๑] ภิกษุนั้น ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า ดีแล้วพระเจ้าข้า แล้ว ได้ทูลถามปัญหาที่ยิ่งขึ้นไปอีกว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อบุคคลรู้อยู่อย่างไร เห็นอยู่อย่างไร จึงจะไม่มีอหังการ มมังการ และมานานุสัย ในกายที่มีวิญญาณนี้ และในสรรพนิมิตภายนอก? พ. ดูกรภิกษุ รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นภายใน ก็ดี ภายนอกก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี มีในที่ไกลก็ดี ในที่ใกล้ก็ดี อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นรูปทั้งหมดนั้น ด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่น ไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา. เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง สัญญาอย่างใด อย่างหนึ่ง สังขารอย่างใดอย่างหนึ่ง วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และ ปัจจุบัน เป็นภายในก็ดี ภายนอกก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี มีในที่ไกล ก็ดี ในที่ใกล้ก็ดี อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นวิญญาณทั้งหมดนั้น ด้วยปัญญาอันชอบ ตามความ เป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา. ดูกรภิกษุ เมื่อบุคคล รู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้แล จึงจะไม่มีอหังการ มมังการ และมานานุสัย ในกายที่มีวิญญาณนี้ และสรรพนิมิตภายนอก.
ว่าด้วยกรรมที่อนัตตากระทำจะถูกต้องอัตตา
[๑๙๒] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่ง ได้เกิดความปริวิตกแห่งใจขึ้นว่า ท่านผู้เจริญ ทั้งหลาย ได้ยินว่า ด้วยประการดังนี้แล รูปเป็นอนัตตา เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็น อนัตตา กรรมที่อนัตตากระทำ จักถูกต้องอัตตาคือกรรมได้อย่างไร? ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาค ทรงทราบความปริวิตกแห่งใจของภิกษุนั้นด้วยพระทัยแล้ว ได้ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่โมฆบุรุษบางคน ในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ตกอยู่ในอำนาจอวิชชา มีใจถูกตัณหา ครอบงำ จะพึงสำคัญสัตถุศาสน์ ว่าเป็นคำสอนที่ควรคิดให้ตระหนักว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ด้วยประการดังนี้แล รูปเป็นอนัตตา เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนัตตา กรรมที่อนัตตากระทำ จักถูกต้องอัตตาคือกรรมได้อย่างไร? นี้เป็นฐานะที่จะมีได้. ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เธอทั้งหลาย อันเราได้แนะนำไว้แล้ว ด้วยการทวนถามในธรรมนั้นๆ ในบาลีประเทศ นั้นๆ จะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง? ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า. พ. เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง? ภิ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า. พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า? ภิ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า. พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอ ที่จะตาม เห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา? ภิ. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า. พ. เพราะเหตุนั้นแล ฯลฯ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ ย่อมทราบ ชัดว่า ฯลฯ กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ฉะนี้แล.
จบ สูตรที่ ๑๐.
จบ ขัชชนิยวรรคที่ ๓.
-----------------------------------------------------
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. อัสสาทสูตร ๖. สีหสูตร ๒. สมุทยสูตร ๑ ๗. ขัชชนิยสูตร ๓. สมุทยสูตร ๒ ๘. ปิณโฑลยสูตร ๔. อรหันตสูตรที่ ๑ ๙. ปาลิเลยยกสูตร ๕. อรหันตสูตรที่ ๒ ๑๐. ปุณณมสูตร.
-----------------------------------------------------
เถรวรรคที่ ๔
๑. อานันทสูตร
ว่าด้วยปัจจัยให้มีและไม่ให้มีตัณหามานะทิฏฐิ
[๑๙๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิก- *เศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล ท่านพระอานนทเถระเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้วกล่าว ว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย. ภิกษุเหล่านั้น รับคำท่านพระอานนท์แล้ว. ท่านพระอานนท์ จึงได้ กล่าวว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ท่านพระปุณณมันตานีบุตร มีอุปการะมากแก่พวกเราเหล่าภิกษุใหม่ ท่านกล่าวสอนพวกเราด้วยโอวาทอย่างนี้ว่า ดูกรท่านอานนท์ เพราะถือมั่น จึงมีตัณหา มานะ ทิฏฐิว่า เป็นเรา เพราะไม่ถือมั่น จึงไม่มีตัณหา มานะ ทิฏฐิว่า เป็นเรา. เพราะถือมั่น อะไร จึงมีตัณหา มานะ ทิฏฐิว่า เป็นเรา เพราะไม่ถือมั่นอะไร จึงไม่มีตัณหา มานะ ทิฏฐิว่า เป็นเรา. เพราะถือมั่นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงมีตัณหา มานะ ทิฏฐิว่า เป็นเรา เพราะไม่ถือมั่นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงไม่มีตัณหา มานะ ทิฏฐิว่า เป็น เรา. ดูกรท่านอานนท์ เปรียบเสมือนสตรีหรือบุรุษรุ่นหนุ่มรุ่นสาว มีนิสัยชอบแต่งตัว ส่องดู เงาหน้าของตน ที่กระจกหรือที่ภาชนะน้ำ อันใสบริสุทธิ์ผุดผ่อง เพราะยึดถือจึงเห็น เพราะ ไม่ยึดถือจึงไม่เห็นฉันใด. ดูกรท่านอานนท์ เพราะถือมั่นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงมีตัณหา มานะ ทิฏฐิว่า เป็นเรา เพราะไม่ถือมั่นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงไม่มีตัณหา มานะ ทิฏฐิว่า เป็นเรา ฉันนั้นเหมือนกันแล. ดูกรท่านอานนท์ ท่านจะสำคัญ ความข้อนั้นเป็นไฉน รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง? อ. ไม่เที่ยง อาวุโส. ป. เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง? อ. ไม่เที่ยง อาวุโส ฯลฯ ป. เพราะเหตุนี้แล อริยสาวกผู้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ รู้ชัดว่า ฯลฯ กิจอื่น เพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี. (โดยเหตุนี้แล ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า) ดูกรอาวุโส ท่านพระปุณณ- *มันตานีบุตร เป็นผู้มีอุปการะมาก แก่พวกเราเหล่าภิกษุใหม่ ท่านสอนพวกเราด้วยโอวาทนี้ ก็ เราได้ตรัสรู้ธรรม เพราะฟังธรรมเทศนานี้ ของท่านพระปุณณมันตานีบุตร.
จบ สูตรที่ ๑.
๒. ติสสสูตร
ว่าด้วยปัจจัยให้เกิดและไม่ให้เกิดโสกะ
[๑๙๔] พระนครสาวัตถี ฯลฯ ก็สมัยนั้น ท่านพระติสสะซึ่งเป็นโอรสของพระปิตุจฉา ของพระผู้มีพระภาค บอกแก่ภิกษุหลายรูปอย่างนี้ว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย กายของข้าพเจ้า เป็น ดุจภาระอันหนักโดยแท้ แม้ทิศทั้งหลายไม่ปรากฏแก่ข้าพเจ้า แม้ธรรมทั้งหลาย ไม่แจ่มแจ้งแก่ ข้าพเจ้า ถีนมิทธะ ย่อมครอบงำจิตของข้าพเจ้าอยู่ ข้าพเจ้าไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ และ ความสงสัยในธรรมทั้งหลาย ย่อมเกิดมีแก่ข้าพเจ้า. [๑๙๕] ครั้งนั้นแล ภิกษุหลายรูป พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย บังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ครั้นแล้วจึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่าน ติสสะผู้เป็นโอรสของปิตุจฉาของพระผู้มีพระภาค บอกแก่ภิกษุหลายรูปว่า อาวุโสทั้งหลาย กาย ของข้าพเจ้า เป็นดุจภาระอันหนักโดยแท้ แม้ทิศทั้งหลาย ย่อมไม่ปรากฏแก่ข้าพเจ้า แม้ธรรม ทั้งหลาย ก็ไม่แจ่มแจ้งแก่ข้าพเจ้า ถีนมิทธะ ย่อมครอบงำจิตของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่ยินดีประพฤติ พรหมจรรย์ และความสงสัยในธรรมทั้งหลาย ย่อมเกิดมีแก่ข้าพเจ้า. ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาค ตรัสเรียกภิกษุรูปหนึ่งมาแล้ว รับสั่งว่า ดูกรภิกษุ เธอจงไปเรียกติสสภิกษุตามคำของเราว่า ท่าน ติสสะ พระศาสดารับสั่งให้หาท่าน ภิกษุนั้นรับพระดำรัสแล้ว เข้าไปหาท่านติสสะถึงที่อยู่แล้ว บอกแก่ท่านติสสะอย่างนี้ว่า ท่านติสสะ พระศาสดารับสั่งให้หาท่าน. ท่านพระติสสะรับคำภิกษุ นั้นแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามท่านพระติสสะว่า ดูกรติสสะ ทราบว่า เธอได้บอกแก่ ภิกษุหลายรูปว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย กายของข้าพเจ้า เป็นดุจภาระอันหนักโดยแท้ ฯลฯ และ ความสงสัยในธรรมทั้งหลาย ย่อมเกิดมีแก่ข้าพเจ้า จริงหรือ? ท่านพระติสสะกราบทูลว่า จริง อย่างนั้นพระเจ้าข้า. พ. ดูกรติสสะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ย่อมบังเกิดแก่บุคคลผู้ไม่ปราศจากความกำหนัด ความพอใจ ความรักใคร่ ความ กระหาย ความเร่าร้อน ความทะเยอทะยานในรูป เพราะความที่รูปนั้นแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป ใช่ไหม? ต. ใช่ พระเจ้าข้า. พ. ดีละๆ ติสสะ ก็ข้อนี้ย่อมเป็นอย่างนี้ สำหรับบุคคลผู้ไม่ปราศจากความกำหนัดใน รูป. ดูกรติสสะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส ย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ไม่ปราศจากความกำหนัด ความพอใจ ความรักใคร่ ความกระหาย ความ เร่าร้อน ความทะเยอทะยาน ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ เพราะวิญญาณ นั้นแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป ใช่ไหม? ต. ใช่ พระเจ้าข้า. พ. ดีละๆ ติสสะ ก็ข้อนี้ย่อมเป็นอย่างนี้ สำหรับบุคคลผู้ยังไม่ปราศจากความกำหนัด ในวิญญาณ. [๑๙๖] พ. ดูกรติสสะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส ย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ปราศจากความกำหนัด ความพอใจ ความรักใคร่ ความกระหาย ความเร่าร้อน ความทะเยอทะยานในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เพราะความที่วิญญาณแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป ใช่ไหม? ต. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า. พ. ดีละๆ ติสสะ ก็ข้อนี้ย่อมเป็นอย่างนี้ สำหรับบุคคลผู้ปราศจากความกำหนัดใน วิญญาณ. ดูกรติสสะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง? ต. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯลฯ พ. เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง? ต. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯลฯ พ. เพราะเหตุนั้นแล ติสสะ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ กิจอื่น เพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีอีก. [๑๙๗] พ. ดูกรติสสะ เปรียบเหมือน มีบุรุษ ๒ คน คนหนึ่งไม่ฉลาดในหนทาง คนหนึ่งฉลาดในหนทาง บุรุษคนที่ไม่ฉลาดในหนทางนั้น จึงถามทางบุรุษผู้ฉลาดในหนทาง บุรุษ ผู้ฉลาดในหนทางนั้น พึงบอกอย่างนี้ว่า ดูกรบุรุษผู้เจริญ ท่านจงไปตามทางนี้แหละสักครู่หนึ่ง แล้ว จักพบทาง ๒ แพร่ง ในทาง ๒ แพร่งนั้น ท่านจงละทางซ้ายเสีย ถือเอาทางขวาไปตาม ทางนั้นสักครู่หนึ่งแล้ว จักพบราวป่าอันทึบ ท่านจงไปตามนั้นสักพักหนึ่งแล้ว จักพบที่กลุ่มใหญ่ มีเปือกตม จงไปตามทางนั้นสักครู่หนึ่งแล้ว จักพบหนองบึง จงไปตามทางนั้นสักครู่หนึ่งแล้ว จักพบภูมิภาคอันราบรื่น. ดูกรติสสะ เรากระทำอุปมานี้แล เพื่อให้เข้าใจเนื้อความ ในข้อนี้มี อธิบายอย่างนี้. คำว่าบุรุษผู้ไม่ฉลาดในหนทางนี้แล เป็นชื่อแห่งปุถุชน. คำว่าบุรุษผู้ฉลาดใน หนทางนี้แล เป็นชื่อแห่งตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า. คำว่าทาง ๒ แพร่งนี้แล เป็นชื่อแห่ง วิจิกิจฉา. คำว่าทางซ้ายนี้แล เป็นชื่อแห่งมรรคผิดอันประกอบด้วยองค์ ๘ คือ มิจฉาทิฏฐิ ฯลฯ มิจฉาสมาธิ. คำว่าทางขวานี้แล เป็นชื่อแห่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ. คำว่าราวป่าอันทึบนี้แล เป็นชื่อแห่งอวิชชา. คำว่าที่ลุ่มใหญ่มีเปือกตมนี้แล เป็นชื่อแห่งกามทั้งหลาย. คำว่าหนองบึงนี้แล เป็นชื่อแห่งความโกรธและความคับแค้น. คำว่า ภูมิภาคอันราบรื่นนี้แล เป็นชื่อแห่งนิพพาน. เธอจงยินดีเถิด ติสสะ เธอจงยินดีเถิด ติสสะ ตามโอวาทของเราตามความอนุเคราะห์ของเรา ตามคำพร่ำสอนของเรา พระผู้มีพระภาคได้ตรัส พระพุทธพจน์นี้แล้ว ท่านพระติสสะปลื้มใจ ชื่นชม พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคฉะนี้แล.
จบ สูตรที่ ๒.
๓. ยมกสูตร
ว่าด้วยพระขีณาสพตายแล้วสูญหรือไม่
[๑๙๘] สมัยหนึ่ง ท่านพระสารีบุตร อยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถ- *บิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี. ก็โดยสมัยนั้นแล ยมกภิกษุเกิดทิฏฐิอันชั่วช้าเห็นปานนี้ว่า เราย่อมรู้ทั่วถึงธรรม ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วว่า พระขีณาสพเมื่อตายไปแล้ว ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่เกิดอีก. ภิกษุหลายรูป ได้ฟังแล้วว่า ได้ยินว่า ยมกภิกษุเกิด ทิฏฐิอันชั่วช้าเป็นปานนี้ว่า เรารู้ทั่วถึงธรรม ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วว่า พระขีณาสพ เมื่อตายไปแล้ว ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่เกิดอีก. ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้น จึงพากัน เข้าไปหาท่านยมกภิกษุถึงที่อยู่ ได้สนทนาปราศรัยกับท่านยมกภิกษุ ครั้นผ่านการสนทนาปราศรัย ชวนให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ครั้นแล้ว จึงถามท่านยมกภิกษุว่า ดูกรท่านยมกะ ทราบว่า ท่านเกิดทิฏฐิอันชั่วช้า เห็นปานนี้ว่า เรารู้ว่าทั่วถึงธรรม ตามที่พระผู้มี- *พระภาคทรงแสดงแล้วว่า พระขีณาสพเมื่อตายไปแล้ว ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่เกิดอีก จริงหรือ? ท่านยมกะกล่าวว่า อย่างนั้น อาวุโส. ภิ. ดูกรอาวุโสยมกะ ท่านอย่าได้พูดอย่างนั้น อย่าได้กล่าวตู่พระผู้มีพระภาค เพราะ การกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคไม่ดีเลย เพราะพระผู้มีพระภาคไม่พึงตรัสอย่างนี้ว่า พระขีณาสพเมื่อ ตายไปแล้ว ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่เกิดอีก. ท่านยมกะ เมื่อถูกภิกษุเหล่านั้นกล่าวแม้อย่างนี้ ยังขืนกล่าวถือทิฏฐิอันชั่วช้านั้น อย่าง หนักแน่นอย่างนั้นว่า เรารู้ทั่วถึงธรรม ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วว่า พระขีณาสพเมื่อ ตายไปแล้ว ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่เกิดอีก. ภิกษุเหล่านั้น ย่อมไม่อาจเพื่อจะยังท่านยมกะ ให้ถอนทิฏฐิอันชั่วช้านั้นได้ จึงลุกจาก อาสนะ เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรจนถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว จึงกล่าวกะท่านพระสารีบุตรว่า ข้าแต่ ท่านสารีบุตร ยมกภิกษุเกิดทิฏฐิอันชั่วช้าเห็นปานนี้ว่า เรารู้ทั่วถึงธรรม ตามที่พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงแล้วว่า พระขีณาสพเมื่อตายไปแล้ว ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่เกิดอีก ขอ โอกาสนิมนต์ท่านพระสารีบุตรไปหายมกภิกษุถึงที่อยู่ เพื่ออนุเคราะห์เถิด. ท่านพระสารีบุตรรับ นิมนต์โดยดุษณีภาพ. [๑๙๙] ครั้งนั้น เวลาเย็น ท่านพระสารีบุตรออกจากที่พักผ่อนแล้วเข้าไปหาท่านยมกะ ถึงที่อยู่ ได้สนทนาปราศรัยกับท่านยมกะ ครั้นผ่านการสนทนาปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ถามท่านยมกะว่า ดูกรอาวุโสยมกะ ทราบว่า ท่านเกิด ทิฏฐิอันชั่วช้าเห็นปานนี้ว่า เรารู้ทั่วถึงธรรม ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วว่า พระขีณาสพ เมื่อตายไปแล้ว ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่เกิดอีก ดังนี้ จริงหรือ? ท่านยมกะตอบว่า อย่างนั้นแล ท่านสารีบุตร. สา. ดูกรท่านยมกะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง? ย. ไม่เที่ยง ท่าน ฯลฯ สา. เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง? ย. ไม่เที่ยง ท่าน ฯลฯ สา. เพราะเหตุนี้นั้นแล ยมกะ พระอริยสาวกผู้ใดสดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ รู้ชัดว่า ฯลฯ กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีอีก. [๒๐๐] สา. ดูกรท่านยมกะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ท่านเห็นรูปว่าเป็น สัตว์เป็นบุคคลหรือ? ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน. สา. ท่านเห็นเวทนาว่าสัตว์เป็นบุคคลหรือ? ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน. สา. ท่านเห็นสัญญาว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคลหรือ? ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน. สา. ท่านเห็นสังขารว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคลหรือ? ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน. สา. ท่านเห็นวิญญาณว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคลหรือ? ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๗ บรรทัดที่ ๑-๒๔๙๔ หน้าที่ ๑-๑๐๘. http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=17&A=1&Z=2494&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/read/byitem_s.php?book=17&item=1&items=611              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- http://84000.org/tipitaka/read/byitem_s.php?book=17&item=1&items=611&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=17&item=1&items=611              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลีอักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_item_s.php?book=17&item=1&items=611              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=17&i=1              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๗ http://84000.org/tipitaka/read/?index_17

แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :