ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
 ฉบับหลวง   บาลีอักษรไทย    PaliRoman 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๓ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต
โทณสูตร
[๓๖] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จดำเนินทางไกลในระหว่างเมือง อุกกัฏฐะและเมืองเสตัพยะ แม้โทณพราหมณ์ก็เดินทางไกลในระหว่างเมือง อุกกัฏฐะและเมืองเสตัพยะ โทณพราหมณ์ได้เห็นรอยกงจักรในรอยพระบาทของ พระผู้มีพระภาคมีซี่ตั้งพัน ประกอบด้วยกงและดุม บริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง ครั้นเห็นแล้วจึงรำพึงว่า อัศจรรย์จริงหนอท่านผู้เจริญ สิ่งไม่เคยมีมามีขึ้น รอยเท้า เหล่านี้ชะรอยจักไม่ใช่รอยเท้ามนุษย์ ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเสด็จแวะออก จากทาง ประทับนั่งที่โคนไม้ต้นหนึ่ง ทรงคู้บัลลังก์ ตั้งพระกายตรง ดำรงสติไว้ เฉพาะหน้า ครั้งนั้น โทณพราหมณ์ติดตามรอยพระบาทของพระผู้มีพระภาค ได้ เห็นพระผู้มีพระภาคประทับนั่งที่โคนไม้แห่งหนึ่ง น่าพอใจ ควรแก่ความเลื่อมใส มีพระอินทรีย์อันสงบ มีพระทัยอันสงบ ถึงความฝึกฝนและความสงบอันยอดเยี่ยม มีตนอันฝึกแล้วคุ้มครองแล้ว มีอินทรีย์อันรักษาแล้ว เป็นผู้ประเสริฐ ครั้น เห็นแล้วจึงเข้าไปเฝ้าถึงที่ประทับ แล้วทูลถามว่า ท่านผู้เจริญเป็นเทวดาหรือ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรพราหมณ์ เรามิใช่เป็นเทวดา ฯ โท. ท่านผู้เจริญเป็นคนธรรพ์หรือ ฯ พ. ดูกรพราหมณ์ เรามิใช่เป็นคนธรรพ์ ฯ โท. ท่านผู้เจริญเป็นยักษ์หรือ ฯ พ. ดูกรพราหมณ์ เรามิใช่เป็นยักษ์ ฯ โท. ท่านผู้เจริญเป็นมนุษย์ใช่ไหม ฯ พ. ดูกรพราหมณ์ เรามิใช่เป็นมนุษย์ โท. เราถามท่านว่า เป็นเทวดาหรือ ท่านตอบว่าไม่ใช่ เราถามว่าเป็น- *คนธรรพ์หรือ ท่านตอบว่าไม่ใช่ เราถามว่าเป็นยักษ์หรือ ท่านตอบว่าไม่ใช่ เรา ถามว่าเป็นมนุษย์หรือ ท่านก็ตอบว่าไม่ใช่ ถ้าอย่างนั้นท่านผู้เจริญเป็นอะไรแน่ ฯ พ. ดูกรพราหมณ์ เราพึงเป็นเทวดา เพราะยังละอาสวะเหล่าใดไม่ได้ อาสวะเหล่านั้นเราละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว กระทำให้เป็นดุจตาลยอดด้วน กระทำให้ไม่มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา ดูกรพราหมณ์ เราพึงเป็น- *คนธรรพ์ ... เราพึงเป็นยักษ์ ... เราพึงเป็นมนุษย์ เพราะยังละอาสวะเหล่าใดไม่ได้ อาสวะเหล่านั้น เราละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว กระทำให้เป็นดุจตาลยอดด้วน กระทำให้ไม่มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา ดูกรพราหมณ์ เปรียบเหมือน ดอกอุบล ดอกปทุม หรือดอกบัวขาว เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ ตั้งอยู่พ้นน้ำ แต่ น้ำมิได้แปดเปื้อน แม้ฉันใด ดูกรพราหมณ์ เราก็ฉันนั้นเหมือนกัน เกิดในโลก เติบโตขึ้นในโลก อยู่ครอบงำโลก อันโลกมิได้แปดเปื้อน ดูกรพราหมณ์ ท่าน จงทรงจำเราไว้ว่าเป็นพระพุทธเจ้า ฯ ความบังเกิดเป็นเทวดา หรือคนธรรพ์ ผู้เที่ยวไปในเวหา พึงมีแก่เราด้วยอาสวะใด เราพึงถึงความเป็นยักษ์ และ เข้าถึงความเป็นมนุษย์ด้วยอาสวะใด อาสวะเหล่านั้นของเรา สิ้นไปแล้ว เรากำจัดเสียแล้ว กระทำให้ปราศจากเครื่อง ผูกพัน ดอกบัวตั้งอยู่พ้นน้ำ ย่อมไม่แปดเปื้อนด้วยน้ำ ฉันใด เราก็ย่อมไม่แปดเปื้อนด้วยโลก ฉันนั้น ดูกรพราหมณ์ เพราะฉะนั้น เราจึงเป็นพระพุทธเจ้า ฯ
จบสูตรที่ ๖
อปริหานิสูตร
[๓๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ เป็นผู้ ไม่ควรเพื่อเสื่อมรอบ ชื่อว่าย่อมประพฤติใกล้นิพพานทีเดียว ธรรม ๔ ประการ เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ๑ เป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ๑ เป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ ๑ เป็นผู้ ประกอบเนืองๆ ซึ่งมีความเพียรเครื่องตื่นอยู่ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้ สมบูรณ์ด้วยศีลอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีลสำรวมระวังในพระ ปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปรกติเห็นภัยในโทษมีประมาณน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีลอย่างนี้แล ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายอย่างไร ภิกษุในธรรม วินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่ถือเอาโดยนิมิต ไม่ถือเอาโดยอนุพยัญชนะ ย่อมประพฤติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรม อันลามก คือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ ชื่อว่ารักษาจักขุนทรีย์ ชื่อว่าถึง ความสำรวมในจักขุนทรีย์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ฟังเสียงด้วยหู ... ดมกลิ่นด้วย จมูก ... ลิ้มรสด้วยลิ้น ... ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย ... รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจ แล้ว ไม่ถือเอาโดยนิมิต ไม่ถือเอาโดยอนุพยัญชนะ ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวม มนินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌา และโทมนัสครอบงำได้ ชื่อว่ารักษามนินทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ภิกษุเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายอย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุ เป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว ย่อมกลืนกินซึ่งอาหารมิใช่เพื่อจะเล่น มิใช่เพื่อจะมัวเมา มิใช่เพื่อประเทืองผิว มิใช่เพื่อจะตกแต่ง เพียงเพื่อร่างกายนี้ดำรงอยู่ได้ เพื่อยังอัตภาพให้เป็นไป เพื่อกำจัดความลำบาก เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ ด้วยหวังว่า จักกำจัดเวทนาเก่า และจักไม่ยังเวทนาใหม่ให้บังเกิดขึ้น ความเป็นไป ความที่ร่างกายไม่มีโทษ และ ความอยู่สำราญจักมีแก่เรา ด้วยอาการอย่างนี้ ภิกษุเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ อย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้ประกอบเนืองๆ ซึ่งความเพียรเครื่องตื่น อยู่อย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมเครื่องกั้นด้วยการ เดินจงกรม ด้วยการนั่งตลอดวัน ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมเครื่องกั้นด้วย การเดินจงกรม ด้วยการนั่งตลอดปฐมยามแห่งราตรี ย่อมสำเร็จสีหไสยาโดยข้าง เบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ มนสิการความสำคัญในอันจะ ลุกขึ้น ตลอดมัชฌิมยามแห่งราตรี ลุกขึ้นแล้วย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรม เครื่องกั้นด้วยการเดินจงกรม ด้วยการนั่ง ตลอดปัจฉิมยามแห่งราตรี ภิกษุเป็นผู้ ประกอบเนืองๆ ซึ่งความเพียรเครื่องตื่นอยู่อย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุ ผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล เป็นผู้ไม่ควรเพื่อเสื่อมรอบ ชื่อว่าย่อม ประพฤติใกล้นิพพานทีเดียว ฯ ภิกษุผู้ดำรงอยู่ในศีล สำรวมในอินทรีย์ทั้งหลาย รู้ประมาณใน โภชนะ และย่อมประกอบเนืองๆ ซึ่งความเพียรเครื่องตื่น อยู่ ภิกษุผู้มีปรกติพากเพียรอยู่อย่างนี้ ไม่เกียจคร้านตลอด วันและคืน บำเพ็ญกุศลธรรมเพื่อถึงความเกษมจากโยคะ ภิกษุผู้ยินดีในความไม่ประมาท หรือมีปรกติเห็นภัยในความ ประมาทเป็นผู้ไม่ควรเพื่อความเสื่อม ชื่อว่าประพฤติใกล้ นิพพานทีเดียว ฯ
จบสูตรที่ ๗


             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑ บรรทัดที่ ๑๐๐๙-๑๐๙๒ หน้าที่ ๔๓-๔๗. http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=21&A=1009&Z=1092&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/read/byitem_s.php?book=21&item=36&items=2              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- http://84000.org/tipitaka/read/byitem_s.php?book=21&item=36&items=2&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=21&item=36&items=2              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลีอักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_item_s.php?book=21&item=36&items=2              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=21&i=36              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑ http://84000.org/tipitaka/read/?index_21

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :