ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
 ฉบับหลวง   บาลีอักษรไทย    PaliRoman 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๑ ขุททกนิกาย มหานิทเทส
             [๗๐๐] ชื่อว่าปุจฉา ในคำว่า ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ผู้เป็นเผ่าพันธุ์พระอาทิตย์
ปุจฉามี ๓ อย่าง คือ อทิฏฐโชตนาปุจฉา ๑ ทิฏฐสังสันทนาปุจฉา ๑ วิมติเฉทนาปุจฉา ๑.
             อทิฏฐโชตนาปุจฉาเป็นไฉน? ลักษณะใดที่ยังไม่รู้ ไม่เห็น ไม่พิจารณา ไม่เทียบเคียง
ไม่กระจ่าง ไม่แจ่มแจ้งโดยปกติ บุคคลย่อมถามปัญหาเพื่อจะรู้ เพื่อเห็น เพื่อพิจารณา เพื่อ
เทียบเคียง เพื่อกระจ่าง เพื่อแจ่มแจ้ง ซึ่งลักษณะนั้น นี้ชื่อว่า อทิฏฐโชตนาปุจฉา.
             ทิฏฐสังสันทนาปุจฉาเป็นไฉน? ลักษณะใดที่รู้ เห็น พิจารณา เทียบเคียง กระจ่าง
แจ่มแจ้งแล้วโดยปกติ บุคคลย่อมถามเพื่อต้องการสอบสวนลักษณะนั้นกับบัณฑิตอื่นๆ นี้ชื่อว่า
ทิฏฐสังสันทนาปุจฉา.
             วิมติเฉทนาปุจฉาเป็นไฉน? บุคคลเป็นผู้แล่นไปสู่ความเคลือบแคลงสงสัยเป็นสองทาง
ว่า เป็นอย่างนี้หรือหนอ หรือไม่เป็นอย่างนี้ เป็นอะไรหนอ หรือเป็นอย่างไร บุคคลนั้นถาม
ปัญหาเพื่อต้องการตัดความเคลือบแคลงสงสัย นี้ชื่อว่า วิมติเฉทนาปุจฉา. ปุจฉามี ๓ อย่างนี้.
             ปุจฉาอีก ๓ อย่าง คือ มนุสสปุจฉา ๑ อมนุสสปุจฉา ๑ นิมมิตปุจฉา ๑.
             มนุสสปุจฉาเป็นไฉน? มนุษย์ทั้งหลายเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ย่อม
ทูลถามปัญหา คือ พวกภิกษุย่อมทูลถาม พวกภิกษุณีย่อมทูลถาม พวกอุบาสกย่อมทูลถาม
พวกอุบาสิกาย่อมทูลถาม พระราชาย่อมทูลถาม กษัตริย์ย่อมทูลถาม พราหมณ์ย่อมทูลถาม
แพศย์ย่อมทูลถาม ศูทรย่อมทูลถาม คฤหัสถ์ย่อมทูลถาม บรรพชิตย่อมทูลถาม นี้ชื่อว่า
มนุสสปุจฉา.
             อมนุสสปุจฉาเป็นไฉน? พวกอมนุษย์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว ย่อมทูล
ถามปัญหา คือ นาคย่อมทูลถาม ครุฑย่อมทูลถาม ยักษ์ย่อมทูลถาม อสูรย่อมทูลถาม คน
ธรรพ์ย่อมทูลถาม ท้าวมหาราชย่อมทูลถาม พระอินทร์ย่อมทูลถาม พรหมย่อมทูลถาม เทวดา
ย่อมทูลถาม นี้ชื่อว่า อมนุสสปุจฉา.
             นิมมิตปุจฉาเป็นไฉน? พระผู้มีพระภาคทรงนิรมิตพระพุทธรูปใด อันสำเร็จด้วยพระ
หฤทัย มีอวัยวะครบทุกอย่าง มีอินทรีย์ไม่วิการ พระพุทธนิมิตนั้น เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ผู้ตรัสรู้แล้ว ตรัสถามปัญหา พระผู้มีพระภาค ทรงวิสัชนา นี้ชื่อว่า  นิมมิตปุจฉา. ปุจฉามี ๓
อย่างนี้.
             ปุจฉามีอีก ๓ อย่าง คือ การถามถึงประโยชน์ตน ๑ การถามถึงประโยชน์ผู้อื่น ๑ การ
ถามถึงประโยชน์ทั้งสองอย่าง ๑.
             ปุจฉามีอีก ๓ อย่าง คือ การถามถึงประโยชน์ในภพนี้ ๑ การถามถึงประโยชน์ใน
ภพหน้า ๑ การถามถึงประโยชน์อย่างยิ่ง ๑.
             ปุจฉามีอีก ๓ อย่าง คือ การถามถึงประโยชน์ไม่มีโทษ ๑ การถามถึงประโยชน์ไม่มี
กิเลส ๑ การถามถึงประโยชน์แห่งธรรมขาว ๑.
             ปุจฉามีอีก ๓ อย่าง คือ การถามถึงธรรมส่วนอดีต ๑ การถามถึงธรรมส่วนอนาคต ๑
การถามถึงธรรมส่วนปัจจุบัน ๑.
             ปุจฉามีอีก ๓ อย่าง คือ การถามถึงธรรมเป็นภายใน ๑ การถามถึงธรรมเป็นภาย
นอก ๑ การถามถึงธรรมทั้งเป็นภายในและภายนอก ๑.
             ปุจฉามีอีก ๓ อย่าง คือ การถามถึงกุศลธรรม ๑ การถามถึงอกุศลธรรม ๑ การ
ถามถึงอัพยากตธรรม ๑.
             ปุจฉามีอีก ๓ อย่าง คือ การถามถึงขันธ์ ๑ การถามถึงธาตุ ๑ การถามถึงอายตนะ ๑.
             ปุจฉามีอีก ๓ อย่าง คือ การถามถึงสติปัฏฐาน ๑ การถามถึงสัมมัปปธาน ๑ การ
ถามถึงอิทธิบาท ๑.
             ปุจฉามีอีก ๓ อย่าง คือ การถามถึงอินทรีย์ ๑ การถามถึงพละ ๑ การถามถึง
โพชฌงค์ ๑.
             ปุจฉามีอีก ๓ อย่าง คือ การถามถึงมรรค ๑ การถามถึงผล ๑ การถามถึงนิพพาน ๑.
             คำว่า ขอทูลถามพระองค์ ความว่า ขอทูลถาม ขออ้อนวอน ขอเชื้อเชิญ ขอ
วิงวอนว่า ขอได้โปรดตรัสบอกธรรมนั้นแก่ข้าพระองค์ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ขอทูลถาม
พระองค์.
             คำว่า ผู้เป็นเผ่าพันธุ์พระอาทิตย์ ความว่า พระสุริยะ เรียกว่า พระอาทิตย์. พระ
อาทิตย์เป็นโคดมโดยโคตร แม้พระผู้มีพระภาค ก็เป็นโคดมโดยพระโคตร. พระผู้มีพระภาค
ผู้ปรากฏโดยโคตรพระอาทิตย์ เป็นเผ่าพันธุ์พระอาทิตย์ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า พระพุทธเจ้า
เป็นเผ่าพันธุ์พระอาทิตย์ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ขอทูลถามพระองค์ ผู้เป็นเผ่าพันธุ์
พระอาทิตย์.
ว่าด้วยวิเวก ๓ อย่าง


             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ บรรทัดที่ ๗๖๔๕-๗๖๙๖ หน้าที่ ๓๒๑-๓๒๓. http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=29&A=7645&Z=7696&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/read/byitem_s.php?book=29&item=700&items=1&mode=bracket              อ่านโดยใช้เนื้อความเป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- http://84000.org/tipitaka/read/byitem_s.php?book=29&item=700&items=1              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=29&item=700&items=1&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลีอักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_item_s.php?book=29&item=700&items=1&mode=bracket              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=29&i=700              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ http://84000.org/tipitaka/read/?index_29

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :