ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
 ฉบับหลวง   บาลีอักษรไทย    PaliRoman 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๑ ขุททกนิกาย มหานิทเทส
             [๗๐๑] ชื่อว่า วิเวก ในคำว่า ผู้สงัด มีสันติบท แสวงหาคุณใหญ่ดังนี้ วิเวกมี
๓ อย่าง คือ กายวิเวก ๑ จิตวิเวก ๑ อุปธิวิเวก ๑.
             กายวิเวกเป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมซ่องเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า
โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง และเป็นผู้สงัดด้วยกายอยู่
เธอเดินผู้เดียว ยืนผู้เดียว นั่งผู้เดียว นอนผู้เดียว เข้าสู่บ้านเพื่อบิณฑบาตผู้เดียว กลับผู้เดียว
นั่งในที่หลีกเร้นผู้เดียว อธิษฐาน จงกรมผู้เดียว ผู้เดียวเที่ยวไป ยับยั้งอยู่ ผลัดเปลี่ยน
อิริยาบถ เป็นไป รักษา บำรุง เยียวยา นี้ชื่อว่า กายวิเวก.
             จิตวิเวกเป็นไฉน? ภิกษุบรรลุปฐมฌาน มีจิตสงัดจากนิวรณ์ บรรลุทุติยฌาน มี
จิตสงัดจากวิตกวิจาร บรรลุตติยฌาน มีจิตสงัดจากปีติ บรรลุจตุตถฌาน มีจิตสงัดจากสุข
และทุกข์ บรรลุอากาสานัญจายตนฌาน มีจิตสงัดจากรูปสัญญา ปฏิฆสัญญา และนานัตต-
*สัญญา บรรลุวิญญาณัญจายตนฌาน มีจิตสงัดจากอากาสานัญจายตนสัญญา บรรลุอากิญ-
*จัญญายตนฌาน มีจิตสงัดจากวิญญาณัญจายตนสัญญา บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน มี
จิตสงัดจากอากิญจัญญายตนสัญญา (เมื่อภิกษุนั้น) เป็นพระโสดาบัน มีจิตสงัดจากสักกายทิฏฐิ
วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ทิฏฐานุสัย วิจิกิจฉานุสัย และจากกิเลสที่ตั้งอยู่ในเหล่าเดียวกัน
กับสักกายทิฏฐิเป็นต้นนั้น เป็นพระสกทาคามี มีจิตสงัดจากกามราคสังโยชน์ ปฏิฆสังโยชน์
กามราคานุสัย ปฏิฆานุสัย อย่างหยาบๆ และจากกิเลสที่ตั้งอยู่ในเหล่าเดียวกันกับกามราค-
*สังโยชน์เป็นต้นนั้น เป็นพระอนาคามี มีจิตสงัดจากกามราคสังโยชน์ ปฏิฆสังโยชน์ กาม-
*ราคานุสัย ปฏิฆานุสัยอย่างละเอียดๆ และจากกิเลสที่ตั้งอยู่ในเหล่าเดียวกันกับกามราคสังโยชน์
เป็นต้นนั้น เป็นพระอรหันต์ มีจิตสงัดจากรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา
มานานุสัย ภวราคานุสัย อวิชชานุสัย กิเลสที่ตั้งอยู่ในเหล่าเดียวกันกับรูปราคะเป็นต้นนั้น
และจากสังขารนิมิตทั้งปวงในภายนอก นี้ชื่อว่า จิตวิเวก.
             อุปธิวิเวกเป็นไฉน? กิเลสก็ดี ขันธ์ก็ดี อภิสังขารก็ดี เรียกว่า อุปธิ. อมตนิพพาน
เรียกว่าอุปธิวิเวก. ได้แก่ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่สละคืนอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้น
ตัณหา เป็นที่สำรอกตัณหา เป็นที่ดับตัณหา เป็นที่ออกไปจากตัณหาเครื่องร้อยรัด นี้ชื่อว่า
อุปธิวิเวก.
             ก็กายวิเวกย่อมมีแก่บุคคลผู้มีกายหลีกออก ยินดียิ่งในเนกขัมมะ จิตวิเวก ย่อมมีแก่
บุคคลผู้มีจิตบริสุทธิ์ ถึงซึ่งความเป็นผู้มีจิตผ่องแผ้วอย่างยิ่ง อุปธิวิเวก ย่อมมีแก่บุคคลผู้หมด
อุปธิ ถึงซึ่งนิพพานอันเป็นวิสังขาร.
             คำว่า สันติ ได้แก่สันตบ้าง สันติบทบ้าง โดยอาการอย่างเดียวกัน ก็สันติบทนั้น
นั่นแล คือ อมตนิพพาน ได้แก่ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง .... เป็นที่ออกจากตัณหาเครื่อง
ร้อยรัด. สมจริงตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า บทใด คือ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง ....
เป็นที่ออกจากตัณหาเครื่องร้อยรัด บทนั้น เป็นความสงบ เป็นธรรมชาติประณีต. อีกอย่างหนึ่ง
โดยอาการอื่น ธรรมเหล่าใด ย่อมเป็นไปเพื่อบรรลุความสงบ เพื่อถูกต้องความสงบ เพื่อ
ทำให้แจ้งความสงบ คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕
โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ ธรรมเหล่านี้ เรียกว่าสันติบท บทสงบ ตาณบท บทที่
ต้านทาน เลณบท บทที่ซ่อนเร้น สรณบท บทที่พึ่ง อภยบท บทไม่มีภัย อัจจุตบท บท
ไม่เคลื่อน อมตบท บทไม่ตาย นิพพานบท บทดับตัณหา.
             คำว่า ผู้แสวงหาคุณใหญ่ ความว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหาคุณใหญ่ คือ ทรง
แสวงหา เสาะหา ค้นหา ซึ่งศีลขันธ์ใหญ่ สมาธิขันธ์ใหญ่ ปัญญาขันธ์ใหญ่ วิมุตติขันธ์ใหญ่
วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ใหญ่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้แสวงหาคุณใหญ่.
             พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา เสาะหา ค้นหา ซึ่งความทำลายกองมืดใหญ่ ความ
ทำลายวิปลาสใหญ่ ความถอนลูกศร คือ ตัณหาใหญ่ ความปลดเปลื้องโครงทิฏฐิใหญ่ ความ
กำจัดธงคือมานะใหญ่ ความระงับอภิสังขารใหญ่ ความปิดกั้นโอฆะใหญ่ ความปลงภาระใหญ่
ความตัดสังสารวัฏใหญ่ ความดับความเดือดร้อนใหญ่ ความระงับความเร่าร้อนใหญ่ ความยก
ขึ้นซึ่งธงคือธรรมใหญ่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้แสวงหาคุณใหญ่.
             พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา เสาะหา ค้นหา ซึ่งสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔
อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ อมตนิพพานเป็นปรมัตถ์
ใหญ่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้แสวงหาคุณใหญ่.
             อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้อันสัตว์ทั้งหลายที่มีศักดิ์มาก แสวงหา เสาะหา
ค้นหาว่า พระพุทธเจ้าเสด็จอยู่ที่ไหน พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ไหน พระพุทธเจ้าเป็นเทวดา
ยิ่งกว่าเทวดาประทับอยู่ที่ไหน พระพุทธเจ้าผู้องอาจกว่านรชนประทับอยู่ที่ไหน เพราะฉะนั้น
จึงชื่อว่า ผู้แสวงหาคุณใหญ่ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ผู้สงัด มีสันติบท แสวงหาคุณใหญ่.


             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ บรรทัดที่ ๗๖๙๗-๗๗๔๘ หน้าที่ ๓๒๓-๓๒๖. http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=29&A=7697&Z=7748&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/read/byitem_s.php?book=29&item=701&items=1&mode=bracket              อ่านโดยใช้เนื้อความเป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- http://84000.org/tipitaka/read/byitem_s.php?book=29&item=701&items=1              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=29&item=701&items=1&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลีอักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_item_s.php?book=29&item=701&items=1&mode=bracket              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=29&i=701              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ http://84000.org/tipitaka/read/?index_29

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :