ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
 ฉบับหลวง   บาลีอักษรไทย    PaliRoman 
แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๔ ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑
พระสุตตันตปิฎก
เล่ม ๒๔
ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พุทธวรรคที่ ๑
พุทธาปทานที่ ๑
ว่าด้วยเหตุให้สำเร็จเป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้า
[๑] พระอานนท์เวเทหมุนี มีอินทรีย์สำรวมแล้วได้ทูลถามพระตถาคตผู้ประทับ อยู่ ณ พระวิหารเชตวันว่า ได้ทราบว่า พระสัพพัญญูพุทธเจ้ามีจริงหรือ เพราะเหตุไรจึงได้เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้าผู้เป็นนักปราชญ์? ในกาลนั้น พระผู้มีพระภาคผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ เป็นพระสัพพัญญูผู้ประเสริฐ ได้ตรัสกะท่านพระอานนท์ ด้วยพระสุรเสียงอันไพเราะว่า ชนเหล่าใด สร้างสมกุศลสมภารในพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ ยังไม่ได้โมกขธรรมใน ศาสนาของพระชินเจ้า ชนเหล่านั้นเป็นนักปราชญ์โดยมุข คือ การ ตรัสรู้นั้นแล แม้มีอัธยาศัย มีกำลังมาก มีปัญญาแก่กล้า ย่อมได้บรรลุ ความเป็นพระสัพพัญญูด้วยเหตุแห่งปัญญา แม้เราเป็นธรรมราชาผู้สมบูรณ์ ด้วยบารมี ๓๐ ทัศ ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า ในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ นับไม่ถ้วน นมัสการพระพุทธเจ้าผู้เป็นนายกของโลกพร้อมด้วยสงฆ์ด้วย นิ้วทั้ง ๑๐ แล้วกราบไหว้สัมโพธิญาณของพระพุทธเจ้า ผู้ประเสริฐสุด ทั้งหลายด้วยเศียรเกล้า รัตนะทั้งที่มีในอากาศและอยู่ที่พื้นดิน ในพุทธ- เขต มีประมาณเท่าใด เราจักนำรัตนะทั้งหมดนั้นมาด้วยใจ ณ พื้นที่เป็น รูปิยะนั้น เราได้นิรมิตปราสาทหลายชั้น อันสำเร็จด้วยรัตนะ สูง ตระหง่านจรดฟ้า มีเสาอันวิจิตร ได้สัดส่วน จัดไว้ดี ควรค่ามาก มี คันทวยทำด้วยทองคำ ประดับด้วยนกกระเรียนและฉัตร พื้นชั้นแรกเป็น แก้วไพฑูรย์ งามปราศจากมลทิน ไม่มีฝ้า เกลื่อนกลาดด้วยดอกบัวหลวง มีพื้นทองคำอย่างดี พื้นบางชั้นมีสีดังแก้วประพาฬ เป็นกิ่งน่ารื่นเริง บาง ชั้นแดงงาม บางชั้นเปล่งรัศมี ดังสีแมลงค่อมทอง บางชั้นสว่างทั่วทิศ ในปราสาทนั้น มีศาลาสี่หน้ามุข มีประตูหน้าต่างจัดไว้เรียบร้อย มีชุกชี และหลุมตาข่ายสี่แห่ง มีพวงมาลัยหอมน่ารื่นรมย์ใจห้อยอยู่ ยอด ปราสาทนั้นประดับด้วยแก้ว ๗ ประการ มีสีเขียว เหลือง แดง ขาว ดำล้วน ประกอบด้วยยอดเรือนชั้นเยี่ยม มีสระประทุมชูดอกบานสะพรั่ง งามด้วยฝูงเนื้อและนก บางชั้นดาดาษด้วยดาวนักษัตร ประดับด้วยรูป ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ ปกคลุมด้วยพวงดอกไม้ทอง ดาดาษด้วยตาข่าย ทองน่ารื่นรมย์ ห้อยย้อยด้วยกระดิ่งทอง เปล่งเสียงด้วยกำลังลม ปรา- สาทนั้นวิจิตรด้วยธงสีต่างๆ คือ ธงสีชมพู สีแดง สีเหลือง สีเขียว และสีทอง ปักไว้เป็นระเบียบ แผ่นกระดานต่างๆ มากหลายร้อย ทำ ด้วยเงิน ทำด้วยแก้วมณี ทับทิม ทำด้วยแก้วมรกต วิจิตรด้วยที่นอน ต่างๆ ลาดด้วยผ้าเมืองกาสีละเอียดอ่อน เราปูลาดเครื่องลาดต่างๆ ด้วยผ้ากัมพล ผ้าทุกุลพัสตร์ ผ้าเมืองจีน ผ้าเมืองแขก และผ้าห่มเหลือง ทุกแห่ง ด้วยใจ ที่พื้นนั้นๆ ประดับด้วยยอดแก้ว คนหลายร้อยยืน ถือประทีปแก้วมณีอันส่งแสงเรืองอยู่ เสาระเนียด เสาซุ้มประตู ทำด้วย ทองชมพูนุท ไม้แก่นและเงินบ้าง มีที่ต่อหลายแห่ง จัดไว้เรียบดี วิจิตร ด้วยบานประตูและกลอน ย่อมยังปราสาทให้งาม สองข้างปราสาทนั้น มีกระถางน้ำเต็มเปี่ยมหลายกระถาง ปลูกบัวหลวงและอุบลไว้เต็ม เรา นิรมิตพระพุทธเจ้าในอดีต ผู้เป็นนายกของโลกทุกพระองค์ พร้อมด้วย พระสงฆ์สาวก ด้วยวรรณและรูปตามปกติ พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ พร้อมด้วยพระสาวกเข้าไปทางประตูนั้น หมู่พระอริยเจ้านั่งบนตั่งอันทำ ด้วยทองคำล้วนๆ พระพุทธเจ้าผู้ยอดเยี่ยมในโลก มีอยู่ ณ บัดนี้ก็ดี เป็นอดีตก็ดี ปัจจุบันก็ดี ทุกพระองค์ได้ขึ้นปราสาทของเรา พระสยัมภู ปัจเจกพุทธเจ้าหลายร้อย ผู้ไม่พ่ายแพ้ ทั้งในอดีตและปัจจุบันได้ขึ้น ปราสาทของเราทั้งหมด ต้นกัลปพฤกษ์ทั้งเป็นของทิพย์และของมนุษย์ มีมาก เรานำเอาผ้าทุกอย่างจากต้นกัลปพฤกษ์นั้น มาทำไตรจีวรถวายให้ ท่านเหล่านั้นครอง ของเคี้ยว ของฉัน ของลิ้ม น้ำและข้าวมีสมบูรณ์ เราใส่อาหารเต็มบาตรงามทำด้วยมณีแล้วถวายพระอริยเจ้าทั้งผองครองผ้า ทิพย์ ครองจีวรเนื้อเกลี้ยงอิ่มหนำสำราญด้วยน้ำตาลกรวด น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อยรสหวานฉ่ำและด้วยข้าวปายาส หมู่อริยเจ้าเหล่านี้เข้าห้องแก้ว สำเร็จสีหไสยาบนที่นอนอันควรค่ามาก ดังไกรสรีนอนในถ้ำที่อยู่ รู้สึกตัว ลุกขึ้นนั่งคู้บัลลังก์บนที่นอน เป็นผู้เพียบพร้อมด้วยความยินดีในฌานอัน เป็นโคจรของพุทธเจ้าทุกพระองค์ บางพวกแสดงธรรม บางพวกเข้าฌาน ด้วยฤทธิ์ บางพวกเข้าอัปปนาฌาน และบางพวกอบรมอภิญญาวสี บาง พวกแผลงฤทธิ์ คนเดียวเป็นได้หลายร้อยหลายพัน แม้พระพุทธเจ้าก็ถาม ปัญหาอันเป็นอารมณ์ คือ วิสัยของพระสัพพัญญูกะพระพุทธเจ้า ท่าน เหล่านั้น ย่อมตรัสรู้เหตุอันละเอียดลึกซึ้งด้วยพระปัญญา พระสาวกทูล ถามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตรัสถามพระสาวก ท่านเหล่านั้นถามกัน และกัน และพยากรณ์กันและกัน พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระสาวกต่างเป็นศิษย์ ท่านเหล่านั้นรื่นรมย์อยู่ด้วยความยินดีอย่างนี้ อภิรมย์อยู่ในปราสาทของเรา ฉัตรและฉัตรซ้อน มีรัศมีดังไม้ไผ่แก้วตั้งไว้ ทุกๆ องค์ทรงไว้ซึ่งฉัตรอันห้อยย้อยด้วยตาข่ายทอง ขจิตด้วยตาข่ายเงิน วงรอบด้วยตาข่ายมุกดา บนเศียรมีเพดานผ้า แวววาวด้วยดาวทอง งดงาม ดาดาษด้วยพวงมาลัยทุกๆ องค์ ทรงไว้รอบๆ ฉัตรดาดาษด้วยพวงมาลัย งามด้วยพวงดอกไม้หอม เกลื่อนด้วยพวงผ้า ประดับด้วยพวงแก้ว เกลื่อนกลาดด้วยดอกไม้ งดงามยิ่งนัก รมด้วยของหอมน่าพอใจ ทำด้วย ของหอมยาวห้านิ้ว มุงด้วยเครื่องมุงทอง ในสี่ทิศแห่งปราสาท มีสระ อันดาดาษด้วยปทุมและอุบล หอมตลบด้วยเกสรดอกปทุม ปรากฏ ดังสีทองคำ โดยรอบปราสาท มีต้นไม้ทุกชนิด ดอกบานสะพรั่ง และ ดอกไม้หล่นลงเอง เรี่ยรายอยู่ยังปราสาท ใกล้ๆ ปราสาทนั้นมีฝูงนกยูง รำแพนหาง ฝูงหงส์ทิพย์ส่งเสียง ฝูงนกการวิกขับขาน หมู่นกร้องอยู่ โดยรอบปราสาท เสียงกลองเภรีทุกอย่างจงเป็นไป เสียงพิณทุกชนิดจง ดีด เสียงสังคีตทุกอย่างจงขับขาน โดยรอบปราสาท ขอบัลลังก์ทองใหญ่ สมบูรณ์ด้วยรัศมี ไม่มีช่องประดับด้วยแก้ว จงตั้งอยู่ ในกำหนดพุทธเขต และในหมื่นจักรวาล ขอต้นไม้ประจำทวีปจงรุ่งเรือง เป็นไม้สว่างไสว เช่นเดียวกัน สืบต่อกันไปตั้งหมื่นต้น หญิงเต้นรำ หญิงขับร้อง จงเต้นรำ ขับร้อง หมู่นางอัปสรผู้มีอวัยวะต่างๆ กัน จงปรากฏ (ฟ้อน) อยู่โดย รอบปราสาท เราให้ชักธงทุกชนิดมีห้าสีงามวิจิตรขึ้นอยู่บนยอดไม้ ยอด ภูเขา และบนยอดสิเนรุ หมู่ชน ฝูงนาค คนธรรพ์ และเทวดาทุกท่าน นั้น จงมาประนมหัตถ์นมัสการเรา แวดล้อมปราสาทอยู่ กุศลกรรมอย่าง ใดอย่างหนึ่ง เป็นกิริยาที่เราพึงทำด้วยกาย วาจา และใจ กุศลกรรมนั้นเรา ทำแล้วไปในไตรทศ สัตว์เหล่าใดมีสัญญา และสัตว์เหล่าใดไม่มีสัญญา มีอยู่ ขอสัตว์ทั้งหมดนั้นจงเป็นผู้มีส่วนแห่งผลบุญ ที่เราทำแล้ว สัตว์ เหล่าใดทราบบุญที่เราทำแล้ว เราให้ผลบุญแก่สัตว์เหล่านั้น บรรดาสัตว์ เหล่านั้น สัตว์เหล่าใดไม่รู้ ขอทวยเทพจงไปบอกแก่สัตว์เหล่านั้น ปวง สัตว์ในโลกผู้อาศัยอาหารเป็นอยู่ทุกจำพวก ขอจงได้อาหารอันพึงใจ ด้วย ใจของเรา เรามีใจเลื่อมใสในทานที่เราให้แล้วด้วยใจอันผ่องใส เราบูชา พระสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์แล้ว บูชาแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย เพราะกุศลกรรมที่เราทำดีแล้วนั้น และเพราะความปรารถนาแห่งใจ เราละ กายมนุษย์แล้ว ได้ไปยังดาวดึงส์พิภพ เราย่อมรู้ทั่วความเป็นเทวดาและ มนุษย์ในสองภพ ย่อมไม่รู้จักคติอื่น นี้เป็นผลแห่งความปรารถนาด้วยใจ เราเป็นใหญ่กว่าเทวดา เป็นใหญ่กว่ามนุษย์ เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยรูปลักษณะ ไม่มีใครเสมอเราด้วยปัญญา โภชนะต่างๆ อย่างประเสริฐ และรัตนะ มากมาย ผ้าต่างชนิด ย่อมจากฟ้ามาหาเราพลัน เราชี้มือไปในที่ใด คือ ที่แผ่นดิน ภูเขา บนอากาศ ในน้ำและในป่า อาหารทิพย์ย่อมมาหาเรา เอง เราชี้มือไปในที่ใด คือ ที่แผ่นดิน ภูเขา บนอากาศ ในน้ำและ ในป่า รัตนะทุกอย่างย่อมมาหาเรา เราชี้มือไปในที่ใด คือ ที่แผ่นดิน ภูเขา บนอากาศ ในน้ำและในป่า ของหอมทุกชนิดย่อมมาหาเราเอง เราชี้มือไปในที่ใด คือที่แผ่นดิน ภูเขา บนอากาศ ในน้ำและในป่า ยวดยานทุกอย่างย่อมมาหาเรา เราชี้มือไปในที่ใด คือ ที่แผ่นดิน ภูเขา บนอากาศ ในน้ำและในป่า ดอกไม้ทุกชนิดย่อมมาหาเรา เราชี้มือไปใน ที่ใด คือ ที่แผ่นดิน ภูเขา บนอากาศ ในน้ำและในป่า เครื่องประดับ ย่อมมาหาเรา เราชี้มือไปในที่ใด คือ ที่แผ่นดิน ภูเขา บนอากาศ ในน้ำและในป่า ปวงนางกัญญาย่อมมาหาเรา เราชี้มือไปในที่ใด คือ ที่ แผ่นดิน ภูเขา บนอากาศ ในน้ำและในป่า น้ำผึ้งและน้ำตาลกรวด ย่อมมาหาเรา เราชี้มือไปในที่ใด คือ ที่แผ่นดิน ภูเขา บนอากาศ ใน น้ำและในป่า ของเคี้ยวทุกอย่างย่อมมาหาเรา เราได้ให้ทานอันประเสริฐ นั้นในคนไม่มีทรัพย์ คนเดินทางไกล ยาจก และคนเดินทางเปลี่ยว เพื่อต้องการบรรลุสัมโพธิญาณอันประเสริฐ เรายังภูเขาหินให้บันลืออยู่ ยังเขาอันแน่นหนาให้กระหึ่มอยู่ ยังมนุษยโลก พร้อมทั้งเทวโลกให้ร่าเริง อยู่ จะเป็นพระพุทธเจ้าในโลก ทิศ ๑๐ มีอยู่ในโลก ที่สุดไม่มีแก่บุคคล ผู้ไปอยู่ ก็ในทิศาภาคนั้น พุทธเขตนับไม่ได้ รัศมีของเราปรากฏเปล่ง ออกเป็นคู่ๆ ข่าย (หมู่,คู่) รัศมีมีอยู่ในระหว่างนี้ เราเป็นผู้มีแสง สว่างมาก ปวงชนในโลกธาตุประมาณเท่านี้จงเห็นเรา จงมีใจยินดีทั้ง หมดเทียว จงประพฤติตามเราทั้งหมด เราตีกลองอมฤต มีเสียงบันลือ ไพเราะสละสลวย ปวงชนในระหว่างนี้ จงได้ยินเสียงอันไพเราะของเรา เมื่อฝนคือธรรมเทศนาตกลง ปวงชนจงเป็นผู้ไม่มีอาสวะ บรรดาชน เหล่านั้น สัตว์ผู้เกิดสุดท้ายภายหลัง จงเป็นพระโสดาบัน เราให้ทานที่ ควรให้แล้ว บำเพ็ญศีลโดยไม่เหลือ ถึงที่สุดเนกขัมมบารมีแล้ว พึงได้ บรรลุสัมโพธิญาณอันอุดม เราเรียนถามบัณฑิตแล้ว ทำความเพียรอย่าง สูงสุด ถึงที่สุดขันติบารมีแล้ว พึงได้บรรลุสัมโพธิญาณอันอุดม เรา กระทำอธิษฐานจิตมั่นคงแล้ว บำเพ็ญสัจจบารมีถึงที่สุด เมตตาบารมีแล้ว พึงได้บรรลุสัมโพธิญาณอันอุดม เราเป็นผู้มีใจเสมอในอารมณ์ทั้งปวง คือ ในลาภ ความเสื่อมลาภ สุข ทุกข์ สรรเสริญ และนินทา พึง ได้บรรลุสัมโพธิญาณอันอุดม ท่านทั้งหลายเห็นความเกียจคร้านโดยเป็น ภัย และเห็นความเพียรโดยความเกษมแล้ว จงปรารภความเพียร นี้เป็น อนุศาสนีของพระพุทธเจ้า ท่านทั้งหลายเห็นความวิวาทโดยเป็นภัย และ เห็นความไม่วิวาทโดยเกษมแล้ว จงสมัครสมานกัน กล่าววาจาอ่อนหวาน แก่กัน นี้เป็นอนุศาสนีของพระพุทธเจ้า ท่านทั้งหลายเห็นความประมาท โดยเป็นภัย และเห็นความไม่ประมาทโดยเกษมแล้ว จงอบรมอัฏฐังคิกมรรค นี้เป็นอนุศาสนีของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลาย มาประชุมกันอยู่มาก ทุกประการ ท่านทั้งหลายจงกราบไหว้นมัสการพระ- สัมพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้ พระพุทธเจ้า (และ) ธรรมของพระพุทธเจ้า ใครๆ ไม่อาจคิดได้ เมื่อบุคคลเลื่อมใสใน พระพุทธเจ้าและพระธรรม อันใครๆ ไม่อาจคิดได้ ย่อมมีผลอันใครๆ คิดไม่ได้. ทราบว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคจะทรงให้ท่านพระอานนท์รู้พระพุทธจิตของพระองค์ จึง ได้ตรัสธรรมบรรยายชื่อพุทธาปนิยะ ด้วยประการฉะนี้.
พุทธาปทานจบบริบูรณ์.
-----------------------------------------------------
ปัจเจกพุทธาปทานที่ ๒
ว่าด้วยการให้สำเร็จเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า
[๒] ลำดับนี้ ขอฟังปัจเจกพุทธาปทาน พระอานนท์เวเทหมุนี ผู้มีอินทรีย์อัน สำรวมแล้ว ได้ทูลถามพระตถาคต ผู้ประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันว่า ทราบด้วยเกล้าฯ ว่า พระปัจเจกพุทธเจ้ามีจริงหรือ เพราะเหตุไรท่าน เหล่านั้นจึงได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ผู้เป็นนักปราชญ์? ในกาลครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคสัพพัญญูผู้ประเสริฐ แสวงหาคุณใหญ่ ตรัสตอบท่าน พระอานนท์ผู้เจริญ ด้วยพระสุรเสียงไพเราะว่า พระปัจเจกพุทธเจ้า สร้างบุญในพระพุทธเจ้าทั้งปวง ยังไม่ได้โมกขธรรมในศาสนาของพระชิน เจ้า ด้วยมุข คือ ความสังเวชนั้นแล ท่านเหล่านั้นเป็นนักปราชญ์ มีปัญญาแก่กล้า ถึงจะเว้นพระพุทธเจ้าก็ย่อมบรรลุปัจเจกโพธิญาณได้ แม้ด้วยอารมณ์นิดหน่อย ในโลกทั้งปวง เว้นเราแล้ว ไม่มีใครเสมอ พระปัจเจกพุทธเจ้าเลย เราจักบอกคุณเพียงสังเขปนี้ ของท่านเหล่านั้น ท่านทั้งหลาย จงฟังคุณของพระมหามุนีให้ดี ท่านทั้งปวงปรารถนานิพพาน อันเป็นโอสถวิเศษ จงมีจิตผ่องใส ฟังถ้อยคำดี อันอ่อนหวานไพเราะ ของพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณใหญ่ ตรัสรู้เอง คำพยากรณ์โดยสืบๆ กันมาเหล่าใด ของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายผู้มาประชุมกัน โทษ เหตุ ปราศจากราคะ และพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย บรรลุโพธิญาณด้วย ประการใด พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย มีสัญญาในวัตถุอันมีราคะว่า ปราศจากราคะ มีจิตปราศจากกำหนัดในโลกอันกำหนัด ละธรรมเครื่อง เนิ่นช้า การแพ้และความดิ้นรน แล้ว จึงบรรลุปัจเจกโพธิญาณ ณ สถานที่ เกิดนั้นเอง ท่านวางอาญาในสรรพสัตว์ ไม่เบียดเบียนแม้ผู้หนึ่งในสัตว์ เหล่านั้น มีจิตประกอบด้วยเมตตา หวังประโยชน์เกื้อกูล เที่ยวไปผู้เดียว เปรียบเหมือนนอแรด ฉะนั้น ท่านวางอาญาในปวงสัตว์ ไม่เบียดเบียน แม้ผู้หนึ่งในสัตว์เหล่านั้น ไม่ปรารถนาบุตร ที่ไหนจะปรารถนาสหาย เที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น ความเสน่หาย่อมมีแก่บุคคล ผู้เกิดความเกี่ยวข้อง ทุกข์ที่อาศัยความเสน่หานี้มีมากมาย ท่านเล็งเห็น โทษอันเกิดแต่ความเสน่หา จึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น ผู้มีจิตพัวพัน ช่วยอนุเคราะห์มิตรสหาย ย่อมทำตนให้เสื่อมประโยชน์ ท่านมองเห็นภัยนี้ ในความสนิทสนม จึงเที่ยวไปแต่ผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น ความเสน่หาในบุตรและภรรยา เปรียบเหมือนไม้ไผ่กอใหญ่เกี่ยว กันอยู่ ท่านไม่ข้องในบุตรและภริยา ดังหน่อไม้ไผ่ เที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น ท่านเป็นวิญญูชนหวังความเสรี จึงเที่ยวไป ผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น เหมือนเนื้อที่ไม่ถูกผูกมัด เที่ยวหาเหยื่อ ในป่าตามความปรารถนา ฉะนั้น ต้องมีการปรึกษากันในท่ามกลางสหาย ทั้งในที่อยู่ ที่บำรุง ที่ไป ที่เที่ยว ท่านเล็งเห็นความไม่โลภ ความเสรี จึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น การเล่น (เป็น) ความยินดี มีอยู่ในท่ามกลางสหาย ส่วนความรักในบุตรเป็นกิเลสใหญ่ ท่านเกลียด ความวิปโยคเพราะของที่รัก จึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น ท่านเป็นผู้แผ่เมตตาไปในสี่ทิศ และไม่โกรธเคือง ยินดีด้วยปัจจัยตามมี ตามได้ เป็นผู้อดทนต่อมวลอันตรายได้ ไม่หวาดเสียว เที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น แม้บรรพชิตบางพวก และพวกคฤหัสถ์ผู้ครองเรือน สงเคราะห์ได้ยาก ท่านเป็นผู้มีความขวนขวายน้อยในบุตรคนอื่น จึงเที่ยว ไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น ท่านปลงเครื่องปรากฏ (ละเพศ) คฤหัสถ์ กล้าหาญ ตัดกามอันเป็นเครื่องผูกของคฤหัสถ์ เปรียบเหมือน ไม้ทองหลางมีใบขาดหมด เที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น ถ้า จะพึงได้สหายผู้มีปัญญารักษาตน ประพฤติเช่นเดียวกัน อยู่ด้วยกรรมดี เป็นนักปราชญ์ พึงครอบงำอันตรายทั้งสิ้นเสียแล้ว พึงดีใจ มีสติเที่ยว ไปกับสหายนั้น ถ้าจะไม่ได้สหายผู้มีปัญญารักษาตน ประพฤติเช่นเดียวกัน อยู่ด้วยกรรมดี เป็นนักปราชญ์ พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนพระราชาทรง ละแว่นแคว้นที่ทรงชนะแล้ว เที่ยวไปผู้เดียว ดังช้างมาตังคะ ละโขลง อยู่ในป่า ความจริง เราย่อมสรรเสริญสหายสมบัติ พึงซ่องเสพสหายที่ ประเสริฐกว่า หรือที่เสมอกัน (เท่านั้น) เมื่อไม่ได้สหายเหล่านี้ ก็พึง คบหากับกรรมอันไม่มีโทษ เที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น ท่าน เห็นกำไลมือทองคำอันผุดผ่องที่นายช่างทองทำสำเร็จสวยงาม กระทบกัน อยู่ที่แขนทั้งสอง จึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น การเปล่ง วาจา หรือวาจาเครื่องข้องของเรานั้น พึงมีกับเพื่อนอย่างนี้ ท่านเล็งเห็น ภัยนี้ต่อไป จึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น ก็กามทั้งหลายอัน วิจิตร หวาน อร่อย เป็นที่รื่นรมย์ใจ ย่อมย่ำยีจิตด้วยสภาพต่างๆ ท่านเห็นโทษในกามคุณทั้งหลาย จึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น ความจัญไร หัวฝี อุบาทว์ โรค กิเลสดุจลูกศร และภัยนี้ ท่านเห็น ภัยนี้ในกามคุณทั้งหลาย จึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น ท่าน ครอบงำอันตรายแม้ทั้งหมดนี้ คือ หนาว ร้อน ความหิว ความกระหาย ลม แดด เหลือบ ยุง และสัตว์เลื้อยคลาน แล้วเที่ยวไปผู้เดียว เช่น กับนอแรด ฉะนั้น ท่านเที่ยวไปผู้เดียว เช่นนอแรด เปรียบเหมือน ช้างละโขลงไว้แล้ว มีขันธ์เกิดพร้อมแล้ว มีสีกายดังดอกปทุมใหญ่โต อยู่ในป่านานเท่าที่ต้องการ ฉะนั้น ท่านใคร่ครวญถ้อยคำของพระพุทธเจ้า ผู้เป็นเผ่าพันธุ์พระอาทิตย์ว่า บุคคลพึงถูกต้องวิมุติอันเกิดเองนี้ มิใช่ ฐานะของผู้ทำความคลุกคลีด้วยหมู่ จึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น ท่านเป็นไปล่วงทิฏฐิอันเป็นข้าศึก ถึงความแน่นอน มีมรรคอัน ได้แล้ว เป็นผู้มีญาณเกิดขึ้นแล้ว อันบุคคลอื่นไม่ต้องแนะนำ เที่ยวไป ผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น ท่านไม่มีความโลภ ไม่โกง ไม่กระหาย ไม่ลบหลู่คุณท่าน มีโมโหดุจน้ำฝาดอันกำกัดแล้ว เป็นผู้ไม่มีตัณหาในโลก ทั้งปวง เที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น กุลบุตรพึงเว้นสหาย ผู้ลามก ผู้มักชี้อนัตถะ ตั้งมั่นอยู่ในฐานะผิดธรรมดา ไม่พึงเสพสหาย ผู้ขวนขวาย ผู้ประมาทด้วยตน พึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น กุลบุตรพึงคบมิตรผู้เป็นพหูสูต ทรงธรรม มีคุณยิ่ง มีปฏิภาณ ท่านรู้ ประโยชน์ทั้งหลาย บรรเทาความสงสัยแล้ว เที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับ นอแรด ฉะนั้น ท่านไม่พอใจในการเล่น ความยินดี และกามสุขในโลก ไม่เพ็งเล็งอยู่ คลายยินดีจากฐานะที่ตกแต่ง มีปกติกล่าวคำสัตย์ เที่ยวไป ผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น ท่านละบุตร ภริยา บิดา มารดา ทรัพย์ ข้าวเปลือก เผ่าพันธ์ และกามทั้งหลายตามที่ตั้งลง เที่ยวไปผู้เดียว เช่น กับนอแรด ฉะนั้น ในความเกี่ยวข้องนี้มีความสุขนิดหน่อย มีความ พอใจน้อย มีทุกข์มากยิ่ง บุรุษผู้มีความรู้ทราบว่า ความเกี่ยวข้องนี้ ดุจลูก ธนู พึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น กุลบุตรพึงทำลายสังโยชน์ ทั้งหลาย เปรียบเหมือนปลาทำลายข่าย แล้วไม่กลับมา ดังไฟไหม้เชื้อ ลามไปแล้วไม่กลับมา พึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น พึง ทอดจักษุลง ไม่คะนองเท้า มีอินทรีย์อันคุ้มครองแล้ว รักษามนัส อัน ราคะไม่ชุ่มแล้ว อันไฟกิเลสไม่เผาลน พึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น พึงละเครื่องเพศคฤหัสถ์แล้ว ถึงความตัดถอน เหมือนไม้ทอง กวาวที่มีใบขาดแล้ว นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกบวชแล้ว เที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น ไม่พึงทำความกำหนัดในรส ไม่โลเล ไม่ต้อง เลี้ยงผู้อื่น เที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอก มีจิตไม่ข้องเกี่ยวในสกุล เที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น พึงละนิวรณ์เครื่องกั้นจิต ๕ ประการ พึงบรรเทาอุปกิเลสเสียทั้งสิ้น ไม่อาศัยตัณหาและทิฏฐิ ตัดโทษ อันเกิดแต่สิเนหาแล้ว เที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น พึงทำสุข ทุกข์ โทมนัสและโสมนัสก่อนๆ ไว้เบื้องหลัง ได้อุเบกขา สมถะ ความหมดจดแล้ว เที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น พึงปรารภ ความเพียรเพื่อบรรลุนิพพาน มีจิตไม่หดหู่ ไม่ประพฤติเกียจคร้าน มี ความเพียรมั่น (ก้าวออก) เข้าถึงด้วยกำลัง เรี่ยวแรง เที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น ไม่พึงละการหลีกเร้นและฌาน มีปกติประพฤติ ธรรมสมควรแก่ธรรมเป็นนิตย์ พิจารณาเห็นโทษในภพทั้งหลาย เที่ยว ไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น พึงปรารถนาความสิ้นตัณหา ไม่ ประมาท เป็นผู้ฉลาดเฉียบแหลม มีการสดับ มีสติ มีธรรมอันพิจารณา แล้ว เป็นผู้เที่ยง มีความเพียร เที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น ไม่พึงสะดุ้งในเพราะเสียง ดังสีหะ ไม่ขัดข้อง อยู่ในตัณหาและทิฏฐิ เหมือนลมไม่ติดตาข่าย ไม่ติดอยู่ในโลก ดุจดอกปทุม ไม่ติดน้ำ พึง เที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น พึงเสพเสนาสนะอันสงัด เหมือนราชสีห์มีเขี้ยวเป็นกำลัง เป็นราชาของเนื้อ มีปกติประพฤติข่มขี่ ครอบงำ พึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น พึงเจริญเมตตา วิมุติ กรุณาวิมุติ มุทิตาวิมุติ และอุเบกขาวิมุติทุกเวลา ไม่พิโรธด้วย สัตว์โลกทั้งปวง เที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น พึงละราคะ โทสะและโมหะ พึงทำลายสังโยชน์ทั้งหลายเสีย ไม่สะดุ้งในเวลาสิ้น ชีวิต พึงเที่ยวไปแต่ผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น ชนทั้งหลายมีเหตุ เป็นประโยชน์ จึงคบหาสมาคมกัน มิตรทั้งหลายไม่มีเหตุ หาได้ยากใน วันนี้ มนุษย์ทั้งหลายมีปัญญามองประโยชน์ตน ไม่สะอาด พึงเที่ยวไป ผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น พึงมีศีลบริสุทธิ์ มีปัญญาหมดจดดี มีจิตตั้งมั่น ประกอบความเพียร เจริญวิปัสสนา มีปกติเห็นธรรม วิเศษ พึงรู้แจ้งธรรมอันสัมปยุตด้วยองค์มรรคและโพชฌงค์ (พึงรู้แจ้ง องค์มรรคและโพชฌงค์) นักปราชญ์เหล่าใดเจริญสุญญตวิโมกข์ อนิมิตต- วิโมกข์ และอัปปณิหิตวิโมกข์ ไม่บรรลุความเป็นพระสาวกในศาสนา พระชินเจ้า นักปราชญ์เหล่านั้นย่อมเป็นพระสยัมภูปัจเจกพุทธเจ้า มีธรรม ใหญ่ มีธรรมกายมาก มีจิตเป็นอิสระ ข้ามห้วงทุกข์ ทั้งมวลได้ มีจิต โสมนัส มีปกติเห็นประโยชน์อย่างยิ่ง เปรียบดังราชสีห์ เช่นกับนอแรด พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านี้ มีอินทรีย์ระงับ มีใจสงบ มีจิตมั่นคง มีปกติ ประพฤติด้วยความกรุณาในสัตว์เหล่าอื่น เกื้อกูลแก่สัตว์ รุ่งเรืองในโลกนี้ และโลกหน้า เช่นกับประทีป ปฏิบัติเป็นประโยชน์แก่สัตว์ พระปัจเจก พุทธเจ้าเหล่านี้ ละกิเลสเครื่องกั้นทั้งปวงหมดแล้ว เป็นจอมแห่งชน เป็นประทีปส่องโลกให้สว่าง เช่นกับรัศมีแห่งทองชมพูนุท เป็นทักขิไณย- บุคคลชั้นดีของโลก โดยไม่ต้องสงสัย บริบูรณ์อยู่เนืองนิตย์ คำสุภาษิต ของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมเป็นไปในโลกทั้งเทวโลก ชน เหล่าใดผู้เป็นพาลได้ฟังแล้ว ไม่ทำเหมือนดังนั้น ชนเหล่านั้นต้องเที่ยว ไปในสังขารทุกข์บ่อยๆ คำสุภาษิตของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย เป็น คำไพเราะ ดังน้ำผึ้งรวงอันหลั่งออกอยู่ ชนเหล่าใดได้ฟังแล้ว ประกอบ การปฏิบัติตามนั้น ชนเหล่านั้น ย่อมเป็นผู้มีปัญญา เห็นสัจจะ คาถาอัน โอฬารอันพระปัจเจกพุทธชินเจ้าออกบวชกล่าวแล้ว คาถาเหล่านั้น พระตถาคตผู้สีหวงศ์ศากยราชผู้สูงสุดกว่านรชน ทรงประกาศแล้ว เพื่อให้ รู้แจ้งธรรม คาถาเหล่านี้ พระปัจเจกเจ้าเหล่านั้นรจนาไว้อย่างวิเศษ เพื่อ ความอนุเคราะห์โลก อันพระสยัมภูผู้สีหะทรงประกาศแล้ว เพื่อยังความ สังเวช การไม่คลุกคลีและปัญญาให้เจริญ ฉะนี้แล.
จบ ปัจเจกพุทธาปทาน
จบ อปาทานที่ ๒
-----------------------------------------------------


             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๒ บรรทัดที่ ๑-๒๘๙ หน้าที่ ๑-๑๒. http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=32&A=1&Z=289&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/read/byitem_s.php?book=32&item=1&items=2              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- http://84000.org/tipitaka/read/byitem_s.php?book=32&item=1&items=2&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=32&item=1&items=2              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลีอักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_item_s.php?book=32&item=1&items=2              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=32&i=1              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_32

แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :