ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวิภังค์ ภาค ๒

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๔. โภชนวรรค ๒. คณโภชนสิกขาบท นิทานวัตถุ

๔. โภชนวรรค
๒. คณโภชนสิกขาบท
ว่าด้วยการฉันคณโภชนะ
เรื่องพระเทวทัต
[๒๐๙] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่ ให้เหยื่อกระแต เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น พระเทวทัตพร้อมกับบริษัทเสื่อมลาภ สักการะ จึงพากันออกปากขอภัตตาหารในตระกูลทั้งหลายมาฉัน พวกชาวบ้านพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกพระสมณะเชื้อ สายศากยบุตรจึงเที่ยวออกปากขอภัตตาหารในตระกูลทั้งหลายมาฉันเล่า ภัตตาหาร ที่ดีใครจะไม่พอใจ ภัตตาหารอร่อยใครจะไม่ชอบเล่า” พวกภิกษุได้ยินพวกชาวบ้านตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุผู้ มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระเทวทัตพร้อมกับ บริษัทจึงเที่ยวออกปากขอภัตตาหารในตระกูลทั้งหลายมาฉันเล่า” ครั้นภิกษุเหล่านั้น ตำหนิพระเทวทัตโดยประการต่างๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง สอบถามพระเทวทัตว่า “เทวทัต ทราบว่า เธอพร้อมกับบริษัทเที่ยวออกปากขอ ภัตตาหารในตระกูลทั้งหลายมาฉัน จริงหรือ” พระเทวทัตทูลรับว่า “จริง พระพุทธ เจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “โมฆบุรุษ ไฉนเธอพร้อมกับบริษัท จึงเที่ยวออกปากขอภัตตาหารในตระกูลทั้งหลายมาฉันเล่า โมฆบุรุษ การกระทำ อย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใส ยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๓๗๐}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๔. โภชนวรรค ๒. คณโภชนสิกขาบท พระอนุบัญญัติ

พระบัญญัติ
ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะฉันคณโภชนะ๑- สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องพระเทวทัต จบ
เรื่องภิกษุเป็นไข้
[๒๑๐] สมัยนั้น พวกชาวบ้านนิมนต์พวกภิกษุเป็นไข้ฉันภัตตาหาร ภิกษุ เหล่านั้นมีความยำเกรงอยู่ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงห้ามการฉันคณโภชนะ” จึงไม่รับ นิมนต์ ภิกษุทั้งหลายนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงอนุญาตให้ฉันคณโภชนะได้ในสมัยที่เป็นไข้
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุเป็นไข้ฉันคณโภชนะได้” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระอนุบัญญัติ
ภิกษุ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะฉันคณโภชนะนอกสมัย สมัยในข้อนั้น คือ สมัยที่เป็นไข้ นี้เป็นสมัยในข้อนั้น สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องภิกษุเป็นไข้ จบ
@เชิงอรรถ : @ การฉันคณโภชนะ มีได้ ๒ กรณี (๑) ทายกนิมนต์ไปฉัน (๒) ภิกษุออกปากขอภัตตาหารมาฉัน @(วิ.ป. ๘/๓๒๒/๒๖๑) คือทายกนิมนต์ภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไปพร้อมกันไปฉันโดยออกชื่ออาหาร ภิกษุไปพร้อมกัน @รับประเคนพร้อมกัน ฉันพร้อมกัน แต่ถือการรับประเคนพร้อมกันเป็นประมาณ ถ้ารับประเคนแยกกัน @ไม่ต้องอาบัติ นี้จัดเป็นคณโภชนะโดยทายกนิมนต์ และอีกกรณีหนึ่ง ภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป ยืนหรือนั่ง @อยู่ด้วยกันเห็นอุบาสกแล้วออกปากขอว่า ท่านจงถวายภัตตาหารแก่อาตมาทั้ง ๔ รูป หรือเห็นต่างคราว @กัน แล้วต่างออกปากขอร่วมกัน หรือต่างคราวกันว่า ท่านจงถวายภัตตาหารแก่อาตมา ท่านจงถวาย @ภัตตาหารแก่อาตมา แล้วจะไปพร้อมกัน หรือไปแยกกัน จะรับประเคนภัตตาหารแล้วฉันพร้อมกัน หรือ @แยกกันฉันก็ตาม ต้องอาบัติเพราะถือการรับประเคนพร้อมกันเป็นประมาณ นี้จัดเป็นคณโภชนะโดยการ @ออกปากขอ (วิ.อ. ๒/๒๑๗-๒๑๘/๓๔๖-๓๔๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๓๗๑}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๔. โภชนวรรค ๒. คณโภชนสิกขาบท พระอนุบัญญัติ

ทรงอนุญาตให้ฉันคณโภชนะได้ในสมัยที่ถวายจีวร
[๒๑๑] สมัยนั้น พวกชาวบ้านตระเตรียมภัตตาหารพร้อมจีวรในสมัยที่จะ ถวายจีวร แล้วนิมนต์ภิกษุทั้งหลายด้วยตั้งใจว่า “พวกเรานิมนต์ภิกษุทั้งหลายฉัน แล้วจะให้ครองจีวร” ภิกษุทั้งหลายมีความยำเกรงอยู่ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงห้ามการฉันคณโภชนะ” ไม่รับนิมนต์ จึงได้จีวรเพียงเล็กน้อย ภิกษุทั้งหลายนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระ ภาคให้ทรงทราบ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ฉันคณโภชนะได้ในสมัยที่ถวาย จีวร” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระอนุบัญญัติ
ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะฉันคณโภชนะนอกสมัย สมัยในข้อนั้น คือ สมัยที่เป็นไข้ สมัยที่ถวายจีวร นี้เป็นสมัยในข้อนั้น สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องทรงอนุญาตให้ฉันคณโภชนะได้ในสมัยที่ทำจีวร
[๒๑๒] สมัยนั้น พวกชาวบ้านนิมนต์พวกภิกษุผู้ทำจีวรฉันภัตตาหาร ภิกษุ ทั้งหลายมีความยำเกรงอยู่ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงห้ามการฉันคณโภชนะ” จึงไม่ รับนิมนต์ ภิกษุทั้งหลายนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ฉันคณโภชนะได้ในสมัยที่ทำ จีวร” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๓๗๒}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๔. โภชนวรรค ๒. คณโภชนสิกขาบท พระอนุบัญญัติ

พระอนุบัญญัติ
ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะฉันคณโภชนะนอกสมัย สมัยในข้อนั้น คือ สมัยที่เป็นไข้ สมัยที่ถวายจีวร สมัยที่ทำจีวร นี้เป็นสมัยในข้อนั้น สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
ทรงอนุญาตให้ฉันคณโภชนะได้ในสมัยที่เดินทางไกล
[๒๑๓] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายเดินทางไกลไปกับพวกชาวบ้าน ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้นได้กล่าวกับพวกชาวบ้านเหล่านั้นดังนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย พวกท่าน โปรดรอสักครู่ พวกอาตมาจะไปบิณฑบาต” พวกชาวบ้านได้กล่าวกับภิกษุเหล่านั้นอย่างนี้ว่า “พระคุณเจ้าทั้งหลาย นิมนต์ พวกท่านฉันที่นี่แหละ” ภิกษุทั้งหลายมีความยำเกรงอยู่ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงห้ามการฉันคณโภชนะ” จึงไม่รับแล้วได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ฉันคณโภชนะได้ในสมัยที่เดินทาง ไกล” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระอนุบัญญัติ
ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะฉันคณโภชนะนอกสมัย สมัยในข้อนั้น คือ สมัยที่เป็นไข้ สมัยที่ถวายจีวร สมัยที่ทำจีวร สมัยที่เดินทางไกล นี้เป็น สมัยในข้อนั้น สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๓๗๓}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๔. โภชนวรรค ๒. คณโภชนสิกขาบท พระอนุบัญญัติ

เรื่องทรงอนุญาตให้ฉันคณโภชนะได้ในสมัยที่โดยสารเรือ
[๒๑๔] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายโดยสารเรือไปกับพวกชาวบ้าน ครั้งนั้นภิกษุ เหล่านั้นได้กล่าวกับพวกชาวบ้านเหล่านั้นอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย พวกท่านโปรด นำเรือเข้าเทียบที่ฝั่งสักครู่ พวกอาตมาจะไปบิณฑบาต” พวกชาวบ้านเหล่านั้นจึงกล่าวอย่างนี้ว่า “พระคุณเจ้าทั้งหลาย นิมนต์พวก ท่านฉันที่นี่แหละ” ภิกษุทั้งหลายมีความยำเกรงอยู่ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงห้ามการฉันคณโภชนะ” จึงไม่รับ แล้วได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ฉันคณโภชนะได้ในสมัยที่โดยสาร เรือ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระอนุบัญญัติ
ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะฉันคณโภชนะนอกสมัย สมัยในข้อนั้น คือ สมัยที่เป็นไข้ สมัยที่ถวายจีวร สมัยที่ทำจีวร สมัยที่เดินทางไกล สมัยที่โดย สารเรือ นี้เป็นสมัยในข้อนั้น สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องทรงอนุญาตให้ฉันคณโภชนะได้ในมหาสมัย
[๒๑๕] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายในถิ่นต่างๆ ออกพรรษาแล้ว ได้เดินทางมา เฝ้าพระผู้มีพระภาคที่กรุงราชคฤห์ พวกชาวบ้านเห็นภิกษุทั้งหลายผู้มาจากต่างถิ่น จึงนิมนต์ฉันภัตตาหาร ภิกษุทั้งหลายมีความยำเกรงอยู่ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงห้ามการฉันคณโภชนะ” จึงไม่รับนิมนต์ แล้วได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๓๗๔}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๔. โภชนวรรค ๒. คณโภชนสิกขาบท พระอนุบัญญัติ

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ฉันคณโภชนะได้ในมหาสมัย” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระอนุบัญญัติ
ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะฉันคณโภชนะนอกสมัย สมัยในข้อนั้น คือ สมัยที่เป็นไข้ สมัยที่ถวายจีวร สมัยที่ทำจีวร สมัยที่เดินทางไกล สมัยที่โดย สารเรือ มหาสมัย นี้เป็นสมัยในข้อนั้น สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
ทรงอนุญาตให้ฉันคณโภชนะได้ในสมัยที่เป็นภัตตาหารของสมณะ
[๒๑๖] สมัยนั้น พระญาติร่วมสายโลหิตของพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ ทรงผนวชในสำนักของอาชีวกทั้งหลาย ครั้งนั้น อาชีวกนั้นได้เข้าไปเฝ้าพระเจ้า พิมพิสารถึงพระราชสำนัก ครั้นถึงแล้วได้ถวายพระพรพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ ดังนี้ว่า “มหาบพิตร อาตมาปรารถนาจะจัดภัตตาหารถวายนักบวชผู้เป็นเจ้าลัทธิ ทั้งหมด” พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธตรัสว่า “พระคุณเจ้า ถ้าท่านนิมนต์ภิกษุสงฆ์มี พระพุทธเจ้าเป็นประมุขให้มาฉันก่อน โยมจึงจะจัดถวาย” ครั้งนั้น อาชีวกนั้นส่งทูตไปหาภิกษุทั้งหลายให้อาราธนาว่า “ขอนิมนต์ภิกษุ ทั้งหลายรับภัตตาหารของข้าพเจ้าเพื่อฉันในวันพรุ่งนี้” ภิกษุทั้งหลายมีความยำเกรงอยู่ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงห้ามการฉันคณโภชนะ” จึงไม่รับนิมนต์ ครั้งนั้น อาชีวกนั้นจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้ สนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคพอเป็นที่บรรเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกัน แล้วได้ ยืนอยู่ ณ ที่สมควร อาชีวกผู้ยืนอยู่ ณ ที่สมควรนั้นได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๓๗๕}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๔. โภชนวรรค ๒. คณโภชนสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์

ดังนี้ว่า “ท่านพระโคดมก็เป็นบรรพชิต ข้าพเจ้าก็เป็นบรรพชิต บรรพชิตควรจะรับ ภัตตาหารของบรรพชิต ขอท่านพระโคดมพร้อมกับภิกษุสงฆ์โปรดรับภัตตาหารของ ข้าพเจ้าเพื่อฉันในวันพรุ่งนี้เถิด” พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ ครั้นอาชีวกทราบว่าพระผู้มี พระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว จึงถวายอภิวาทแล้วจากไป ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลายเราอนุญาตให้ฉันคณโภชนะได้ในสมัยที่เป็น ภัตตาหารของสมณะ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระอนุบัญญัติ
[๒๑๗] ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะฉันคณโภชนะนอกสมัย สมัยใน ข้อนั้น คือ สมัยที่เป็นไข้ สมัยที่ถวายจีวร สมัยที่ทำจีวร สมัยที่เดินทางไกล สมัยที่โดยสารเรือ มหาสมัย สมัยที่เป็นภัตตาหารของสมณะ นี้เป็นสมัยใน ข้อนั้น
สิกขาบทวิภังค์
[๒๑๘] ที่ชื่อว่า ฉันคณโภชนะ คือ ภิกษุ ๔ รูปที่เขานิมนต์ด้วยโภชนะ ๕ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วไปฉัน นี้ชื่อว่าฉันคณโภชนะ๑- คำว่า นอกสมัย คือ ยกเว้นสมัย ที่ชื่อว่า สมัยที่เป็นไข้ คือ ที่สุดแม้กระทั่งเท้าแตก ภิกษุคิดว่า เป็นสมัยที่เป็นไข้ พึงฉันได้ ที่ชื่อว่า สมัยที่ถวายจีวร คือ เมื่อยังไม่ได้กรานกฐิน กำหนดเอาเดือนสุดท้าย แห่งฤดูฝน เมื่อกรานกฐินแล้วมีกำหนดเวลา ๕ เดือน ภิกษุคิดว่า เป็นสมัยที่ถวาย จีวร พึงฉันได้ @เชิงอรรถ : @ คณโภชนํ ฉันคณโภชนะ คือ คณสฺส โภชเน ฉันโภชนะ(อาหาร)ของคณะ (วิ.อ. ๒/๒๑๗-๒๑๘/๓๔๖), @คเณน ลทฺธตฺตา คณสฺส สนฺตเก โภชเน ฉันโภชนะที่เป็นของคณะซึ่งคณะได้มา (กงฺขา.ฏีกา ๔๐๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๓๗๖}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๔. โภชนวรรค ๒. คณโภชนสิกขาบท บทภาชนีย์

ที่ชื่อว่า สมัยที่ทำจีวร คือ เมื่อภิกษุกำลังทำจีวร ภิกษุคิดว่า เป็นสมัยที่ทำ จีวร พึงฉันได้ ที่ชื่อว่า สมัยที่เดินทางไกล คือ ภิกษุคิดว่า เราจะเดินทางครึ่งโยชน์ พึงฉัน ได้ เมื่อภิกษุนั้นไป พึงฉันได้ กลับมาถึงแล้ว พึงฉันได้ ที่ชื่อว่า สมัยที่โดยสารเรือ คือ ภิกษุคิดว่า เราจะโดยสารเรือ พึงฉันได้ เมื่อภิกษุนั้นโดยสารไป พึงฉันได้ ขากลับ พึงฉันได้ ที่ชื่อว่า มหาสมัย คือ คราวมีภิกษุ ๒-๓ รูปเที่ยวบิณฑบาตพอเลี้ยงกัน เมื่อ มีภิกษุรูปที่ ๔ มารวมด้วย ไม่พอเลี้ยงกัน ภิกษุคิดว่า เป็นมหาสมัย พึงฉันได้ ที่ชื่อว่า สมัยที่เป็นภัตตาหารของสมณะ คือ ในคราวมีปริพาชกจัดภัตตาหาร ถวาย ภิกษุคิดว่า เป็นสมัยที่เป็นภัตตาหารของสมณะ พึงฉันได้ ภิกษุรับด้วยคิดว่า “จะฉัน” นอกสมัย ต้องอาบัติทุกกฏ ฉัน ต้องอาบัติ ปาจิตตีย์ทุกๆ คำกลืน
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๒๑๙] คณโภชนะ ภิกษุสำคัญว่าคณโภชนะ ฉันนอกสมัย ต้องอาบัติปาจิตตีย์ คณโภชนะ ภิกษุไม่แน่ใจ ฉันนอกสมัย ต้องอาบัติปาจิตตีย์ คณโภชนะ ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่คณโภชนะ ฉันนอกสมัย ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ทุกทุกกฏ
ไม่ใช่คณโภชนะ ภิกษุสำคัญว่าคณโภชนะ ฉันนอกสมัย ต้องอาบัติทุกกฏ ไม่ใช่คณโภชนะ ภิกษุไม่แน่ใจ ฉันนอกสมัย ต้องอาบัติทุกกฏ ไม่ใช่คณโภชนะ ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่คณโภชนะ ฉันนอกสมัย ไม่ต้องอาบัติ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๓๗๗}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๔. โภชนวรรค ๒. คณโภชนสิกขาบท อนาปัตติวาร

อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ [๒๒๐] ๑. ภิกษุฉันในสมัย ๒. ภิกษุ ๒-๓ รูปฉันร่วมกัน ๓. ภิกษุหลายรูปเที่ยวบิณฑบาตแล้วประชุมฉันร่วมกัน ๔. ภิกษุฉันภัตตาหารที่เขาถวายเป็นนิตย์ ๕. ภิกษุฉันภัตตาหารที่เขาถวายตามสลาก ๖. ภิกษุฉันภัตตาหารที่เขาถวายในปักษ์ ๗. ภิกษุฉันภัตตาหารที่เขาถวายในวันอุโบสถ ๘. ภิกษุฉันภัตตาหารที่เขาถวายในวันปาฏิบท๑- ๙. ภิกษุฉันภัตตาหารทุกชนิด ยกเว้นโภชนะ ๕ ๑๐. ภิกษุวิกลจริต ๑๑. ภิกษุต้นบัญญัติ
คณโภชนสิกขาบทที่ ๒ จบ
@เชิงอรรถ : @ วันปาฏิบท คือวันแรม ๑ ค่ำ ทายกคิดว่าวันอุโบสถมีผู้ศรัทธาเลื่อมใสถวายภัตตาหารกันมาก ส่วนวันแรม @๑ ค่ำ ภิกษุทั้งหลายลำบากเรื่องภัตตาหาร ทานที่ถวายในวันปาฏิบท เป็นการถวายภิกษาหารที่หาได้ยาก @อีกประการหนึ่ง ภิกษุสงฆ์ลงปาติโมกข์แล้ววันรุ่งขึ้นจึงมีศีลบริสุทธิ์ การถวายทานแก่ท่านย่อมมีผลานิสงส์ @มาก การถวายทานในวันปาฏิบท คือถวายถัดจากวันขึ้น ๑๕ ค่ำ ไปหนึ่งวัน (วิ.อ. ๓/๓๗๗-๓๗๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๓๗๘}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๓๗๐-๓๗๘. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=2&siri=68              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=2&A=10269&Z=10443                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=2&i=475              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=2&item=475&items=11              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=8111              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=2&item=475&items=11              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=8111                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu2              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-pc32/en/brahmali



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :