ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวรรค ภาค ๑

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

๖๕. จัตตาริอกรณียะ

๖๔. จัตตารินิสสยะ
ว่าด้วยนิสสัย ๔
เรื่องทรงอนุญาตให้บอกนิสสัย ๔
[๑๒๘] ขณะนั้นแหละ พึงวัดเงาแดด บอกประมาณแห่งฤดู บอกส่วนแห่งวัน บอกสังคีติ๑- บอกนิสสัย ๔ ว่า ๑. บรรพชาอาศัยโภชนะคือคำข้าวที่พึงได้ด้วยปลีแข้ง เธอพึงทำอุตสาหะใน โภชนะคือคำข้าวที่พึงได้ด้วยปลีแข้งจนตลอดชีวิต อติเรกลาภ คือ๒- สังฆภัต อุทเทสภัต นิมันตนภัต สลากภัต ปักขิกภัต อุโปสถิกภัต ปาฏิปทิกภัต ๒. บรรพชาอาศัยผ้าบังสุกุล เธอพึงทำอุตสาหะในผ้าบังสุกุลนั้นจนตลอดชีวิต อติเรกลาภ คือ ผ้าเปลือกไม้ ผ้าฝ้าย ผ้าไหม ผ้าขนสัตว์ ผ้าป่าน ผ้าเจือกัน ๓. บรรพชาอาศัยเสนาสนะคือควงไม้ เธอพึงทำอุตสาหะในเสนาสนะคือควงไม้ นั้นจนตลอดชีวิต อติเรกลาภ คือ วิหาร เรือนมุงแถบเดียว ปราสาท เรือนโล้น ถ้ำ ๔. บรรพชาอาศัยยาคือน้ำมูตรเน่า เธอพึงทำอุตสาหะในยาคือน้ำมูตรเน่านั้น จนตลอดชีวิต อติเรกลาภ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย
จัตตารินิสสยะ จบ
๖๕. จัตตาริอกรณียะ
ว่าด้วยอกรณียกิจ ๔
เรื่องทิ้งภิกษุบวชใหม่ไว้ตามลำพัง
[๑๒๙] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายได้ให้ภิกษุรูปหนึ่งอุปสมบทแล้ว ทิ้งไว้ตาม ลำพังหลีกไป ภิกษุรูปนั้นเดินมาทีหลังเพียงรูปเดียว ได้พบภรรยาเก่าระหว่างทาง @เชิงอรรถ : @ วัดเงา คือวัดเงาคนว่า ๑ ชั่วคน หรือ ๒ ชั่วคน บอกประมาณแห่งฤดู คือบอกว่าเป็นฤดูฝน เป็นฤดูหนาว @เป็นฤดูร้อน บอกส่วนแห่งวัน คือบอกว่าเป็นเวลาเช้า หรือเป็นเวลาเย็น บอกสังคีติ คือ บอกทั้งหมด @พร้อมกันว่าถ้าท่านถูกถามว่าได้ฤดูอะไร ได้ฉายาอะไร ได้เวลาในช่วงไหนของวัน พึงบอกว่า ได้ฤดูนี้ @ฉายานี้ เวลาในช่วงนี้ของวัน (วิ.อ. ๓/๑๒๘/๑๐๔) @ ดูข้อ ๗๓ หน้า ๑๐๑ ในเล่มนี้ (เชิงอรรถ) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๑๙๗}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

๖๕. จัตตาริอกรณียะ

นางได้ถามว่า “เวลานี้ท่านบรรพชาแล้วหรือ” ภิกษุรูปนั้นตอบว่า “จ้ะ ฉันบรรพชาแล้ว” นางจึงพูดชวนว่า “เมถุนธรรมสำหรับพวกบรรพชิตหาได้ยาก ขอท่านมาเสพ เมถุนธรรมกันเถิด” ภิกษุรูปนั้นได้เสพเมถุนธรรมกับภรรยาเก่าแล้ว จึงมาถึงล่าช้า ภิกษุทั้งหลายถามว่า “ท่าน ทำไมท่านจึงมาถึงช้าเช่นนี้” ภิกษุรูปนั้นได้บอกเรื่องนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค ให้ทรงทราบ
ทรงอนุญาตให้บอกอกรณียกิจ ๔
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า ”ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้อุปสมบทแล้วให้มีภิกษุ เป็นเพื่อน และให้บอกอกรณียกิจ ๔ ดังนี้ ๑. ภิกษุผู้อุปสมบทแล้ว ไม่พึงเสพเมถุนธรรมโดยที่สุดแม้กับสัตว์ดิรัจฉาน ตัวเมีย ภิกษุใดเสพเมถุนธรรม ย่อมไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร ภิกษุเสพเมถุนธรรมแล้ว ย่อมไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร เปรียบเหมือน คนถูกตัดศีรษะ ไม่อาจมีชีวิตอยู่ได้ โดยการต่อศีรษะเข้ากับร่างกายนั้น การเสพ เมถุนธรรมนั้น อันเธอไม่พึงกระทำจนตลอดชีวิต ๒. ภิกษุผู้อุปสมบทแล้ว ไม่พึงถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ โดยส่วนแห่งจิต คิดจะลัก โดยที่สุดกระทั่งหญ้าเส้นเดียว ภิกษุใดถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ โดยส่วนแห่งจิตคิดจะลัก ๑ บาทบ้าง ควรแก่ ๑ บาทบ้าง เกินกว่า ๑ บาทบ้าง ย่อมไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร ภิกษุถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ โดยส่วนแห่งจิตคิดจะลัก ๑ บาทบ้าง ควรแก่ ๑ บาทบ้าง เกินกว่า ๑ บาทบ้าง ย่อมไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร เปรียบเหมือน ใบไม้เหี่ยวเหลือง หลุดจากขั้วแล้ว ไม่อาจเป็นของเขียวสดต่อไปได้ การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ นั้น อันเธอไม่พึงกระทำจนตลอดชีวิต {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๑๙๘}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

๖๖. อาปัตติอทัสสนอุกขิตตวัตถุ

๓. ภิกษุผู้อุปสมบทแล้ว ไม่พึงจงใจพรากสัตว์เสียจากชีวิตโดยที่สุดกระทั่งมด ดำ มดแดง ภิกษุใดจงใจพรากกายมนุษย์จากชีวิตโดยที่สุดกระทั่งยังครรภ์ให้ตกไป ย่อมไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร ภิกษุจงใจพรากกายมนุษย์เสียจาก ชีวิต ย่อมไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร เปรียบเหมือนแผ่นศิลาหนา แตกออกเป็น ๒ เสี่ยง จะประสานให้สนิทเป็นแผ่นเดียวกันอีกไม่ได้ การจงใจพราก กายมนุษย์เสียจากชีวิตนั้น อันเธอไม่พึงกระทำจนตลอดชีวิต ๔. ภิกษุผู้อุปสมบทแล้ว ไม่พึงกล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรมโดยที่สุดพูดว่า ข้าพเจ้ายินดีในเรือนว่าง ภิกษุใดมีความปรารถนาชั่ว ถูกความอยากครอบงำ กล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรมที่ไม่มีอยู่ ไม่เป็นจริง คือ ฌานก็ดี วิโมกข์ก็ดี สมาธิก็ดี สมาบัติก็ดี มรรคก็ดี ผลก็ดี ย่อมไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร ภิกษุ มีความปรารถนาชั่ว ถูกความอยากครอบงำ กล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรมที่ไม่มีอยู่ ไม่เป็นจริง ย่อมไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร เปรียบเหมือนต้นตาล ยอดด้วนที่ไม่อาจงอกได้ต่อไป การกล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรมนั้น อันเธอไม่พึง กระทำจนตลอดชีวิต”
จัตตาริอกรณียะ จบ
๖๖. อาปัตติอทัสสนอุกขิตตวัตถุ
ว่าด้วยภิกษุถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่เห็นอาบัติ
[๑๓๐] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่เห็นอาบัติ ได้สึกไป เขากลับมาขออุปสมบทกับภิกษุทั้งหลายอีก ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไป กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงวิธีปฏิบัติดังนี้ “ภิกษุทั้งหลาย ก็ ในกรณีนี้ ภิกษุถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่เห็นอาบัติ ได้สึกไป เขากลับมาขออุปสมบทกับภิกษุทั้งหลายอีก พึงถามเขาว่า ‘เจ้าเห็นอาบัติ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๑๙๙}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

๖๖. อาปัตติอทัสสนอุกขิตตวัตถุ

นั้นหรือ’ ถ้าเขาตอบว่า ‘กระผมเห็น ขอรับ’ พึงให้บรรพชา ถ้าเขาตอบว่า ‘กระผม ไม่เห็น ขอรับ’ ไม่พึงให้บรรพชา ครั้นให้บรรพชาแล้วพึงถามว่า ‘เจ้าเห็นอาบัตินั้น หรือ’ ถ้าเขาตอบว่า ‘กระผมเห็น ขอรับ’ พึงให้อุปสมบท ถ้าเขาตอบว่า ‘กระผมไม่ เห็นขอรับ’ ไม่พึงให้อุปสมบท ครั้นให้อุปสมบทแล้วพึงถามว่า ‘ท่านเห็นอาบัตินั้น หรือ’ ถ้าเขาตอบว่า ‘กระผมเห็น ขอรับ’ พึงเรียกเข้าหมู่ ถ้าเขาตอบว่า ‘กระผมไม่ เห็นขอรับ’ ไม่พึงเรียกเข้าหมู่ ครั้นเรียกเข้าหมู่แล้วพึงถามว่า ‘ท่านเห็นอาบัตินั้นหรือ’ ถ้าเขาเห็นเอง นั่นเป็นการดี ถ้าไม่เห็น เมื่อได้สามัคคี พึงลงอุกเขปนียกรรมอีก เมื่อไม่ได้สามัคคี ไม่ต้องอาบัติเพราะกินร่วมและอยู่ร่วม
เรื่องภิกษุถูกลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่ทำคืนอาบัติ
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่ทำคืน อาบัติ ได้สึกไป เขากลับมาขออุปสมบทกับภิกษุทั้งหลายอีก พึงถามเขาว่า ‘เจ้าจักทำคืนอาบัตินั้นหรือ’ ถ้าเขาตอบว่า ‘กระผมจักทำคืน ขอรับ’ พึงให้บรรพชา ถ้าเขาตอบว่า ‘กระผมจักไม่ทำคืน ขอรับ’ ไม่พึงให้บรรพชา ครั้นให้บรรพชาแล้ว พึงถามว่า ‘เจ้าจักทำคืนอาบัตินั้นหรือ’ ถ้าเขาตอบว่า ‘กระผมจักทำคืน ขอรับ’ พึงให้อุปสมบท ถ้าเขาตอบว่า ‘กระผมจะไม่กระทำคืน’ ไม่พึงให้อุปสมบท ครั้นให้ อุปสมบทแล้วพึงถามว่า ‘ท่านจักทำคืนอาบัตินั้นหรือ’ ถ้าเขาตอบว่า ‘กระผม จักทำคืน ขอรับ’ พึงเรียกเข้าหมู่ ถ้าเขาตอบว่า ‘กระผมจะไม่กระทำคืน’ ไม่พึง เรียกเข้าหมู่ ครั้นเรียกเข้าหมู่แล้วพึงกล่าวว่า ‘จงทำคืนอาบัตินั้นเสีย’ ถ้าเขา ทำคืน นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ทำคืน เมื่อได้สามัคคี พึงลงอุกเขปนียกรรมอีก เมื่อไม่ได้สามัคคี ไม่ต้องอาบัติเพราะกินร่วมและอยู่ร่วม
เรื่องภิกษุถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่สละทิฏฐิบาป
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ภิกษุถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่สละ ทิฏฐิบาปสึกไป เขากลับมาขออุปสมบทกับภิกษุทั้งหลายอีก พึงถามเขาว่า ‘เจ้าจัก สละทิฏฐิบาปนั้นหรือ’ ถ้าเขาตอบว่า ‘กระผมจักสละ ขอรับ’ พึงให้บรรพชา ถ้าเขา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๒๐๐}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

๖๗. รวมเรื่องที่มีในมหาขันธกะ

ตอบว่า ‘กระผมจักไม่สละ ขอรับ’ ไม่พึงให้บรรพชา ครั้นให้บรรพชาแล้วพึงถามว่า ‘เจ้าจักสละทิฏฐิบาปนั้นหรือ’ ถ้าเขาตอบว่า ‘กระผมจักสละ ขอรับ’ พึงให้ อุปสมบท ถ้าเขาตอบว่า ‘กระผมจักไม่สละ’ ไม่พึงให้อุปสมบท ครั้นให้อุปสมบท แล้วพึงถามว่า ‘ท่านจักสละทิฏฐิบาปนั้นหรือ’ ถ้าเขาตอบว่า ‘กระผมจักสละ ขอรับ’ พึงเรียกเข้าหมู่ ถ้าเขาตอบว่า ‘กระผมจักไม่สละ’ ไม่พึงเรียกเข้าหมู่ ครั้นเรียกเข้าหมู่แล้วพึงกล่าวว่า ‘จงสละทิฏฐิบาปนั้นเสีย’ ถ้าเขาสละ นั่นเป็นการดี ถ้าไม่สละ เมื่อได้สามัคคี พึงลงอุกเขปนียกรรมอีก เมื่อไม่ได้สามัคคี ไม่ต้อง อาบัติเพราะกินร่วมและอยู่ร่วม”
เรื่องภิกษุถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่เห็นอาบัติ จบ
มหาขันธกะที่ ๑ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๔ หน้าที่ ๑๙๗-๒๐๑. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=4&siri=51              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=4&A=3870&Z=3957                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=4&i=143              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=4&item=143&items=3              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=4&item=143&items=3                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu4              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/04i001-e.php#topic77 https://suttacentral.net/pli-tv-kd1/en/brahmali#pli-tv-kd1:77.1.0 https://suttacentral.net/pli-tv-kd1/en/horner-brahmali#Kd.1.77



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :